ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 2207
ตอบกลับ: 1
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

อนาลโยวาท กัณฑ์ที่ ๑๗

[คัดลอกลิงก์]

หลวงปู่ขาว อนาลโย

ศีลานุสสติ
มีผู้ถามท่านว่า" การปฏิบัตินี้ ถ้าบริกรรมไม่สงบ จะพิจารณาอย่างเดียวได้ไหม หรือต้องให้จิตสงบก่อนพิจารณา "

ท่านก็สอนดังต่อไปนี้
อันหนึ่งสมถะ อันหนึ่งวิปัสสนา มันถูกกับจริตอันใด การภาวนามันสบาย ก็ให้เอาอันนั้น ถ้ามันถูกกับจริต จิตก็สงบสบาย ไม่ฟุ้งซ่านไปที่อื่น จิตรวมอยู่ นั่นแหละมันถูกนิสัย ครั้นมันไม่ถูกนิสัยแล้ว นึกพุทโธหรืออันใดมันก็ฟุ้งซ่าน หายใจยาก หายใจฝืดเคือง หมายความว่ามันไม่ถูกจริตของตน อันใดมันถูกจริตมันก็สบายใจ ใจสว่าง จิตไม่ฟุ้งซ่าน เบื้องต้นใครเอาอันใด ก็ต้องเอาอันนั้นเสียก่อน พิจารณาอาการสามสิบสอง นี่เรียกว่าวิปัสสนา เรียกว่าค้นคว้า เมื่อเราบริกรรมพุทโธหรืออะไรก็ตาม บริกรรมแล้วมันไม่สงบ เราก็ต้องค้นคว้าหาอุบาย มันเป็นการอบรมกัน มันเป็นเรื่องปัญญา จิตไม่สงบเราก็ต้องพิจารณาให้มันสงบ มันไม่สงบแล้วมันก็ไปที่อื่น ไปสู่อารมณ์ภายนอกที่อื่น เราก็ต้องเอามันมา ปลอบโยนมัน ค้นคว้าให้มัน พิจารณา ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ไปสุดตลอด ให้มันครบถึงอาการ ๓๒ ใช้สัญญาค้นไป ค้นไป ไม่ให้มันไปที่อื่น ค้นไป บางทีมันลงความเห็นเรื่องปัญญา เราค้นไป ว่าไป มันมีความเห็นตามแล้วมันก็สังเวช สลดใจ จิตมันจึงจะสงบลง ต้องเอาอย่างนั้นเสียก่อน แล้วจึงพัก เอาอย่างนี้ ต่างฝ่ายต่างอบรมกัน สมาธิอบรมปัญญาให้เกิด ปัญญาอบรมสมาธิให้เกิด ปัญญาล้อมรอบมัน แล้วมันไปไม่ได้ มันไปไม่ได้มันก็ลง เรียกว่าปัญญาอบรมมัน

สีลานุสสติ บริกรรมสีลานุสสติ โดยระลึกในอนุสสติ ๑๐ นี่อันหนึ่ง พระพุทธเจ้าว่า กรรมฐานมี ๔๐ อย่าง เลือกเอาอันหนึ่งอันใดทีถูกกับจริตของเรา ถ้ามันถูก ใจเราก็สงบ ถ้าไม่ถูก มันก็ไม่สงบ ก็เลือกเอาใหม่ เราบริกรรมแล้ว ใจสงบ สบาย ไม่ฟุ้งซ่าน รำคาญ นี่หมายความว่ามันถูกจริตของเรา อนุสสติ ๑๐ มี พุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ สีลานุสสติ จาคานุสสติ เทวตานุสสติ มรนัสสติ กายคตาสติ อานาปานสติ อุปสมานุสสติ ระลึกถึงคุณพระนิพพาน
สีลานุสสติ มาระลึกถึงศีลของตน ถ้าเราปฏิบัติ เราก็ต้องรักษากาย วาจา ใจ ของเราดี เช้ามา เราก็มีสติรักษากายของเรา รักษาวาจาใจของเราดีอยู่ กลางวันมา เราก็มีสติดี รักษากายวาจาใจของตนอยู่ พอค่ำมา เราก็มีสติอยู่ ไม่มีทุจริต มีแต่ความบริสุทธิ์ ระลึกไปอย่างนี้ บางทีใจมันจะดี ตั้งแต่เรารักษาศีล ๕ ของเรามา ศีลของเราไม่มีด่างพร้อย ศีลของเราบริสุทธิ์ดี นั่นแหละ ยกมัน มันจะดีใจ ความน่ายินดีที่ว่ารักษาดีปานนั้น ความดี ยกย่องมัน บางทีมันดีใจ หมายความว่า จิตที่ควรยกย่อง ก็ยกย่องมัน จิตที่ควรข่มก็ข่มมัน มันดื้อหลายก็ข่มมัน จิตที่ควรข่ม คือมาใช้ปัญญาพิจารณา เกศา ผม โลมา ขน ให้มันเห็นเป็นของปฏิกูลโสโครก นี่หมายความว่าข่มมัน ข่มไปนั่นแหละ เมื่อทำยังงั้น มันยังว่าไม่ฟังแล้ว เราก็นึกถึงศีลของเรา บางทีมันถูก มันอาจจะสงบ มันมักยอ มันชอบยอ ใครจะไม่มักยอไม่มี ยกย่องเข้ามันก็ดีใจ เป็นบุญลาภของเรา เราเกิดมาไม่เสียภพเสียชาติ เราตั้งใจนับแต่รู้เดียงสาขึ้นมา เรารักษาความสุจริตของเรา ศีลของเราไม่เศร้าหมอง ศีลของเราบริสุทธิ์ดี พิจารณาศีลของตน
ปุพพัณหสมยัง กาเยนะสุจริตัง จรันติ วาจายะสุจริตัง จรันติ มนะสาสุจริตัง จรันติ
ให้มีสติระลึกรักษากายของตนให้สะอาด รักษาวาจา รักษาใจของตนให้สะอาด

มัชฌันติโก กาเยนะสุจริตัง จรันติ วาจายะ สุจริตัง จรันติ มนะสาสุจริตัง จรันติ ตรวจดูกายใจของตนให้บริสุทธิ์
ปัจฉิมนัง สายัณหสมยัง กาเยนะ สุจริตัง วาจายะ สุจริตัง จรันติ มนะสา สุจริตัง จรันติ ให้มันมีสุจริตธรรม เช้าก็ให้มีสติรักษาอยู่ รักษากายวาจาใจของตนให้สุจริต บางทีเราพิจารณาไป เช้าเราก็รักษาดีอยู่ กลางวันเราก็รักษาดีอยู่ ค่ำมาเราก็รักษาดีอยู่ อันนี้ก็เป็นลาภของเรา เราไม่ปล่อยสติ เราไม่เผลอ รักษากายวาจาใจของเราอยู่ทุกขณะ ศีลของเราบริสุทธิ์ ไม่เศร้าหมอง มันพลาดเป็นอะไร มันตายเราก็ไม่เสียที เรามีสุคติเป็นแน่ไม่ต้องสงสัย
พิจารณาไป เมื่อถูกมัน มันถูกใจมัน ยอย่องมัน มันก็สามารถจะมีความสงบลงได้ อันนี้เรียกว่าสีลานุสสติ ระลึกถึงศีลของตน บริกรรมว่า สีลานุสสติ แล้วพิจารณาศีลของตน เมื่อตั้งใจไว้อย่างนี้ ตั้งความสัตย์ไว้อย่างนี้ ถ้ามันผิดละก็ มันโกรธละ

เมื่ออยู่แม่ปั๋ง อำเภอพร้าว ตื่นขึ้นมาตอนเช้า ตั้งความสัตย์ไว้ว่า เรารักษากาย วาจา ใจ ของเราไม่ให้ผิด ไม่ให้จิตไปสู่อารมณ์ภายนอก ให้รักษาจิตอยู่นี่ ให้มันรู้กันอยู่นี่ กลางวันเราก็รักษากาย วาจา ใจ ของเรา ค่ำมา เราก็จะรักษากาย วาจา ใจ ของเรา ตั้งความสัตย์ไว้แล้ว เราจะรักษาอย่างนี้ไว้จนตลอดวันตาย ตลอดชีวิต เอาไป เอามา กลางวันเดินไปเดินมา มันก็ลืมความสัตย์แล้ว มันไปที่ไหน สติไม่ทันมัน
ทีนี้จำเอาไว้ เรื่องข้อวัตรให้เรียบร้อย ไม่ให้มีความสงสัยเรื่องข้อวัตร เทกระโถน กวาดปัดตาดเสร็จ ทำอะไรบริสุทธิ์หมด

ทีนี้มันโกรธแล้ว ทำอย่างไรมันก็โกรธ มีแต่แข็งอยู่อย่างนั้น ใจน่ะ เอ ทำยังไง เดินจงกรม เดินวิบ มันก็แข็งอยู่อย่างนั้น มีแต่โกรธ มีแต่แค้น เลยกลับขึ้นกุฏิ รีบกลับไปไหว้พระ ทำวัตร ทำวัตรแล้วก็นั่งบริกรรมกำหนด มีแต่โกรธแต่เคียด
เอ มันเป็นอะไรนี่หือ มันจึงมาแข็งอยู่อย่างนี้ ว่าที่ไหนมันมีแต่แข็งแต่โกรธ มันผิดอะไรนี่หือ
ตรวจดู เช้ามาเราตื่นขึ้น เราได้ตั้งใจไว้แล้วว่า จะรักษากาย วาจา ใจ ของเรานี่ให้บริสุทธิ์ กลางวันก็ดี พลบค่ำมาก็ดี เราตั้งใจจะรักษาตรวจดูใจของเรา ผิดอะไร ตรวจดูไม่มี วาจาของเราได้พูดกับใคร ผิดอะไร ไม่มี ใจมาฆ่าหมอนี่เสียแล้ว หือ คิดอะไร อ้อ มันให้คิดไปตามอารมณ์ อันนั้นปรุงอันนี้ไปแล้ว แน่ มันเป็นแต่ใจนี่แหละ มันเป็นที่ใจนี่แหละ
เลยม่างสมาธิออก ม่างแล้วก็กราบลง ทำวัตรอีกแล้วกราบลงว่า
กาเยน วาจาย วเจตะสาวา พุทเธ กุกัมมัง ปกะตัง มยายัง บาปชั่วร้ายอันใดที่ข้าพเจ้าได้ล่วงในพระพุทธเจ้า ด้วยกายวาจาใจ บาปอันน่าเกลียดอันพระพุทธเจ้าติเตียน ข้าพเจ้าล่วงแล้ว พุทโธ ปฏิคคันหิตุ ขอพระพุทธเจ้าจงอดโทษให้ข้าพเจ้าด้วยเถิด อจฺจยนฺตํ กาลันตเร สังวริตุง วพุทเธ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ข้าพเจ้าจะสำรวมต่อไปจนวันตาย
มาวรรคธรรมก็ว่าอย่างเดียวกัน ข้าพเจ้าได้ผิดในพระธรรม ขอพระธรรมจงอดโทษให้ ข้าพเจ้าจะสำรวมในพระธรรมตลอดวันตาย
วรรคสงฆ์ก็เหมือนกัน ข้าพเจ้าจะสำรวมต่อไปจนวันตายตั้งแต่บัดนี้ไป ขอพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ จงอดโทษให้ข้าพเจ้าด้วยเถิด
สบายใจ ใจไม่แข็ง สบายใจ ดีใจ พอบ่าย ๓ คืนกลับ ......(เทปเสีย) .........

มันจึงสมกับที่มาว่า ภิกขุ สัตตานัง สัตฺตํ สติ คืออะไร เอ อย่างนี้ซิ ภิกษุ ได้พูดความสัตย์ความจริงไว้แล้ว ต้องมีสติ สัตตสติ สัตตะ ก็คือมีสติ อย่างนี้ได้ชื่อว่า ผู้ทำสติสัมโพชฌงค์ ๗ ให้เกิดขึ้น
ตั้งแต่นั้นมาก็สำรวมระวังไม่ให้มันคิดไปภายนอก เวลานั่งสมาธิมันก็ไป ไปภายนอกนั่นแหละ มันฉีกไปไปไม่รู้ แล้วมันก็ตั้งสำรวมดี เวลาทำเราก็ตั้งไว้อย่างงั้น เราจะไม่คิด เดี๋ยวนี้หน้าที่เรา นั่งภาวนา งานเของเราจำเพาะเรา ไม่ใช่งานคนอื่น งานของคนอื่นเราทำแล้ว กลางวันเราทำแล้ว บัดนี้ เรานั่งจำเพาะของเรา งานของเรา เราต้องไม่คิดไปเรื่องอื่นของคนอื่น ถ้าเราคิด ก็คิดอยู่ที่กายนี่ ให้มีสติประจำใจอยู่นี่ แล้วเราก็เอาปัญญานั่นแหละ ถ้าเรานั่งมันไม่ลง ไม่รวม เราก็เอาปัญญานั่นแหละ ล้อมมันเข้า ไม่ให้มันไป
หรือจะเอาอย่างนี้ก็ได้
ให้พิจารณา มันก็บริกครือกันนั่นแหละ
เกสา  ผม, โลมา  ขน, นขา เล็บ, ทนฺตา ฟัน, ตโจ หนัง,  มํสํ  เนื้อ, นหารู เอ็น, อฏฺฐิ กระดูก, อฏฺฐิมิญฺชํ  เยื่อในกระดูก, วกฺกํ ม้าม, หทยํ หัวใจ, ยกนํ ตับ,  กิโลมกํ พังผืด,  ปิหกํ  ไต,  ปปฺผาสํ  ปอด,  อนฺตํ ไส้ใหญ่,  อนฺตคุณํ  ไส้น้อย,  อุทริยํ  อาหารใหม่,  กรีสํ  อาหารเก่า,  มตฺถเก มตฺถลุงฺคํ เยื่อในสมอง,  ปิตฺตํ  น้ำดี,  เสมฺหํ  น้ำเสลด,  ปุพฺโพ น้ำเหลือง,  โลหิตํ  น้ำเลือด,  เสโท น้ำเหงื่อ,  เมโท น้ำมันข้น,  อสฺสุ น้ำตา,  วสา น้ำมันเหลว,  เขโฬ  น้ำลาย,  สิงฺฆาณิกา น้ำมูก,  ลสิกา  น้ำไขข้อ,  มุตฺตํ น้ำมูตร

อาการสามสิบสอง เอามันอยู่นั่นแหละ เดินจงกรมก็ตาม นั่งอยู่ก็ตาม เอามันอยู่นั่นแหละ ให้มันไปไม่ได้ ให้มีสติประจำ ไปไม่ได้
นี่แหละอาตมาทำอย่างนี้  ไม่ได้ นี่แหละอาตมาทำอย่างนี้ เอาอาการ ๓๒  บริกรรมอยู่อย่างนี้ เอาจนมันขาดจากอารมณ์ ไม่เกี่ยวกับอารมณ์ เอาให้มันอยู่กับอารมณ์ เอาให้มันอยู่กับ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ให้มันขาดจากอารมณ์ วันใด เดือนใด ก็เอามันพิจารณา เอาปัญญาพิจารณา ก็ปัญญาโลกีย์นั่นแหละ สัญญาเราจำได้ จำแบบจำแผน ได้ยินได้ฟังมา เอามันนี่แหละค้นคว้าพิจารณารอบ ๆ ไปเรื่อย ๆ จนไปไม่ได้ ถูกบ่อนมัน ตีมัน มันก็กลัวแล้ว กลัวแล้วมันจะสดชื่นขึ้น ที่ไหนมันจะเจ็บ ต้องตีมัน จิตมันก็เหมือนกันกับวอก ให้มีสติบังคับจิต เราภาวนา เราก็ต้องมีสตินั่นแหละ ต้องคุมจิตไม่ให้มันไป ให้มันอยู่กับที่
จิตฺตํ ทนฺตํ สุขาวหํ ผู้ที่ควบคุมจิตของตน ทรมานดีแล้ว จิตนำสุขมาให้ ผู้ที่ควบคุมจิตของตนทรมานจิตให้ดีแล้ว จิตเบิกบาน มันสงบแล้ว มีความสุข จิตสว่างไสว จิตสว่างไสว มันจะมีปัญญา ปัญญามันก็นั่นแหละ อยู่ที่ดวงจิตนั่นแหละ จิตเมื่อมันคลุกคลีกับอารมณ์ เอาอารมณ์เข้ามาครอบงำดวงจิตแล้ว จนมันเงยคอขึ้นไม่ได้ มันก็ไม่เห็นแล้ว มืด ต่อเมื่อเราชำระสิ่งเหล่านี้ได้ จิตมันสงบแล้ว จิตมันตั้งไม่ได้ อารมณ์ทับมัน มันไม่สงบ ตั้งไม่ได้ ต่อมามันมีปัญญาล้อมรอบ  เอาสิ่งเหล่านั้น ธรรมเหล่านั้น รูป รส กลิ่น เสียง เครื่องสัมผัส ธรรมารมณ์มันไม่เอาเข้ามาปรุงใจ ไม่เข้ามาปรุงใจแล้ว หมายความว่า ใจบริสุทธิ์ ใจบริสุทธิ์แล้วก็สงบตั้งมั่น หมายความว่าลืมตาขึ้นได้ มันก็เห็นเท่านั้นแหละ มันนั่นแหละ เป็นปัญญาเพราะมันเห็น จิตตั้งไม่ได้ ไม่สงบ เพราะไม่มีกำลัง จิตสงบตั้งได้แล้ว ไม่ง่อนแง่นคลอนแคลนแล้ว กระแสมันจึงพุ่งขึ้นมา เรียกว่าปัญญาเห็นหมด แล้วก็ค้นคว้าเข้าไปอีก
โอวาทของพระพุทธเจ้าว่า
สพฺพปาปสฺส อกรณํ  กุสลสฺสูปสมฺปทา  สจิตฺตปริโยทปนํ  เอตํ พุทฺธานสาสนํ ฯ  บาปทั้งหลาย อารมณ์ทั้งหลายไม่ให้มันเข้ามา
สพฺพปาปสฺส อกรณํ  เป็นเครื่องงดเว้นจากความชั่วทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้ง กาย วาจา ใจ กุสลสฺสูปสมฺปทา สิ่งที่เป็นประโยชน์ สิ่งที่ทำจิตให้บริสุทธิ์ผุดผ่อง อะไรก็ตาม คุณงามความดีที่ประกอบขึ้น ทานก็ตาม ศีลก็ตาม ศีล ๕ ศีล ๘ ก็ตาม การได้ฟังเทศน์ฟังธรรม การนั่งสมาธิก็ตาม ได้ชื่อว่าเป็นผู้ขวนขวายทำให้กุศลเกิดขึ้น กุศลที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้ว รักษาให้มันเจริญเต็มเปี่ยม บาปที่เกิดขึ้นแล้ว เพียรประหารเสีย บาปที่ยังไม่ทันเกิด มีสติระวังไม่ให้มันเกิดขึ้น จิตมีความเศร้าหมอง ก็เป็นการอบรมจิตอยู่ในเนื้อ ฝึกฝนทรมานจิต ให้มีสติทำความดี อนูปวาโท ไม่ไปว่าร้ายคนอื่น สัตว์อื่น อนูปฆาโต ไม่ฆ่าคนอื่นและสัตว์อื่น ปาติโมกฺเข จ สํวโร เป็นผู้สำรวมอินทรีย์คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่มีความยินดียินร้ายต่ออารมณ์ทั้งหลายทั้งปวง มตฺตญฺญุตา จ ภตฺตสฺมึ เป็นผู้รู้จักประมาณในภัต เรียกว่าภัตตาหาร ความเสวย สิ่งที่เราควรรับประทานจึงรับประทาน สิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย สิ่งที่จะไม่ทำให้เสื่อม บริโภคเข้าไปแล้ว มันทำให้เกิดความเจริญ เกิดความสุขอย่างนี้แหละจึงควรบริโภคเข้าไป สิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แก่ร่างกาย ถ้าบริโภคเข้าไปแล้วทำให้ร่างกายชำรุดทรุดโทรม หรือทำให้ร่างกายลำบาก อันนี้ไม่ควรบริโภค เรียกว่า มตฺตญฺญุตา จ ภตฺตสฺมึ อาหาร หมายเอา อารมณ์ ไม่เอาอาหารที่เราบริโภคเข้าไปก็ถูก พิจารณาอันไหนมันจะถูก จะพอยังร่างกายให้เป็นไป ไม่ทำให้เกิดโรค อันนี้ก็สำคัญเหมือนกัน  อาหารที่เราบริโภคเข้าไป อาหารอารมณ์นั่นไม่ควรบริโภคสักอย่าง ควรบริโภคเข้าไปแต่ธรรมารมณ์ คือธรรม คือใจควรบริโภคเข้าไป นอกจากนั้น รูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส ไม่ควรบริโภค สิ่งที่ควรบริโภคคือการรักษาให้มีสติ รักษาประจำ บริโภคบ่อย ๆ
กาเย  กายานุปสฺสี  วิหรติ  พิจารณาภายในกายคือตนนี่แหละ พิจารณาให้มันเห็นเป็นของปฏิกูล ของโสโครก มีสติพิจารณาภายนอก คือกายผู้อื่น อย่างนั้นก็ทั้งกายในกายนอกอย่างเดียวกัน ไม่ผิดกัน พระพุทธเจ้าจึงว่า อชฺฌตฺตา ภายในก็ดี ล้วนเป็นของปฏิกูล ของโสโครกหมดทั้งนั้น พหิทฺธา วา ภายนอกเป็นกายผู้อื่น ก็เป็นของปฏิกูลโสโครกเหมือนกัน โอฬาริกํ วา ส่วนหยาบก็ตาม สุขุมํ วา ส่วนละเอียดก็ตาม ล้วนแต่ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์หมดทั้งนั้น ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตนหมดทั้งนั้น ประณีตก็ตาม เลวทรามก็ตาม ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ให้พิจารณาเห็นอย่างนั้น สิ่งไหนก็ตามที่ไกลก็ตาม ที่อยู่ใกล้ก็ตาม ก็ล้วนแต่ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ พระพุทธเจ้าให้พิจารณาอย่างนี้ อันนี้เรียกว่าพิจารณา กาเย  กายานุปสฺสี  วิหรติ  อาตาปี  สมฺปชาโน  อาตาปี คือความเพียร มีสติสัมปชัญญะ รู้รอบ เพียรเผากิเลสให้เร่าร้อน พึงทำให้อภิชชา และโทมนัสในโลกนี้พินาศเสีย พระพุทธเจ้าจึงให้พิจารณาสติปัฏฐาน ๔ คือ กายหนึ่ง ให้กายเป็นอารมณ์ของสติ ให้สติพิจารณากาย จับอยู่ภายใน ไม่ให้มันหนีออกจากกาย พิจารณาเหมือนว่าของปฏิกูลโสโครก ภายในก็ตาม ภายนอกก็ตาม ไม่ใช่สัตว์ไม่ใช่คน พิจารณาไปอย่างนั้น
หรือไม่อย่างนั้นให้พิจารณาเอาเวทนาเป็นอารมณ์ของสติ เวทนาเป็นสุข เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เวทนาเป็นทุกข์ เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เวทนาเฉย ๆ เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ เวทนาเป็นตัวทุกข์ เราไม่ได้ทุกข์ เราไปยึดเอาเวทนาทั้งหลายมันก็ทุกข์ ดวงจิตไม่ได้ทุกข์กับเวทนา เมื่ออย่างนั้นก็เอาจิต เอาใจนี่แหละเป็นอารมณ์ของสติ เอาสติไปจับอยู่กับจิตนั่น นี่ให้เอาอย่างใดอย่างหนึ่ง

ถ้าไม่พิจารณากาย เอาสติไปไว้กายจับเอากาย ก็ต้องเอาเวทนา ความเป็นทุกข์ มีแต่ทุกข์นี่แหละแสนทุกข์ ให้พิจารณาทุกข์ จนใจเห็นชัดจริงลงไป ท่านหมายความว่า ถ้าเห็นทุกข์ก็ได้ชื่อว่าเห็นทุกขสัจจ์ มันเป็นทุกขสัจจ์ นั่นแหละเรื่องภาวนา เราต้องทำการพิจารณาทุกครั้ง เราบริกรรมแล้วมันไม่สงบเราจะพักเสีย นอนเสีย นั้นไม่ควร มันต้องทำไปพร้อม ต้องพิจารณาเรียกว่าวิปัสสนาพร้อมกัน ทำไปอยู่อย่างนั้นทุกครั้ง ไม่ทำอันเดียว มันเป็นคู่กัน ให้เป็นคู่กันไป นั่งบริกรรมจะเอาอันไหนก็ตาม อันไหนมันถูกกับนิสัยของตนก็เอา ถ้ามันไม่สงบแล้วก็พิจารณาค้นคว้า พิจารณากายนี่แหละ ไม่ต้องพิจารณาที่อื่น แม่นหมดทั้งก้อนที่เราอาศัยอยู่นี่ แม่นก้อนธรรมหมดทั้งนั้น มันไม่อยู่ที่อื่น






ถูกใจ ·  · แชร์


ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้