ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 2414
ตอบกลับ: 4
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

เหตุใดจึงต้องเผาศพ

[คัดลอกลิงก์]
ประเพณีงานศพ



            เหตุใดจึงต้องเผาศพ            



เรื่องนี้ทำกันมานานจนเป็นประเพณี ที่จริงแล้วการเผาศพก็เพื่อให้ศพนั้นสูญสิ้นไป มิให้ซากศพเต็มบ้านเต็มเมือง เพราะมนุษย์จะต้องตายทุกคน  ถ้าเราต้องเก็บศพไว้  สถานที่สำหรับเก็บศพก็ต้องใช้พื้นที่กว้างขวาง แทนที่จะใช้พื้นที่ให้เป็นประโยชน์อย่างอื่น  การเผาศพยังเป็นอุบายให้ผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ มีโอกาสทำบุญทำกุศล ด้วยการให้ทาน ฟังธรรมจากพระสงฆ์ที่มาแสดงธรรม เพื่อให้รู้ว่าทุกคนเกิดมาแล้วต้องแก่ ต้องเจ็บและต้องตาย เช่นเดียวกันกับ ผู้ที่กำลังนอนอยู่ในโลงศพ และที่สำคัญทุกอย่างเป็น อนัตตา    แม้แต่ร่างกายที่เป็นตัวเป็นตน ประกอบธาตุ ๔  ขันธ์  ๕ ก็ยังต้องดับสูญสิ้นไป  ไม่มีอะไรเหลือ เป็นการสอนให้มนุษย์ละความโลภ ความโกรธ ความหลง ชำระกิเลส ตัณหา ราคะ ให้ลดน้อย และหมดไปในที่สุด

            ที่จริงเจตนาของพระพุทธเจ้า ประสงค์จะสอนให้มนุษย์รู้ตัวว่า ทุกชีวิตต้องตาย เมื่อตายแล้วก็ควรต้องเผา  ถึงแม้ว่าจะนำไปฝังไว้  ก็ไม่มีประโยชน์อะไร กายที่ปราศจากวิญญาณ ทำดีก็ไม่ได้ ทำชั่วก็ไม่ได้ หากเก็บไว้ก็จะเกิดความกังวล ห่วงใยของผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ เช่น เกิดการเข้าใจผิดว่าผู้ที่อยู่ในหลุมศพยังมีวิญญาณ จึงห่วงใย มีกังวล  ผู้เป็นลูก เมื่อพ่อแม่ตาย  ถ้าไม่เผาเราก็ต้องนึกถึงตลอดเวลาว่า พ่อแม่ของเรายังอยู่ที่นั่น อาจนำข้าวปลาอาหารไปวางไว้หน้าหลุมศพ ซึ่งก็ไม่เป็นประโยชน์อะไร แต่มนุษย์ยึดถือการบูชาเป็นที่ตั้ง  การบูชานั้น เราจะต้องใช้ปัญญา เช่นเดียวกัน



            การบูชาพ่อแม่ที่ตายไปแล้ว มิใช่บูชาด้วยการนำอาหารไปให้กิน หรือนำข้าวตอกดอกไม้ไปบูชาที่หน้าศพ ซึ่งซากศพนั้นไม่สามารถจะลุกขึ้นมากินอาหารเหล่านั้นได้ แทนที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น กลับเน่าเสียอยู่กับซากศพนั้น และทำให้ลูกมีจิตผูกพันอยู่กับพ่อแม่ตลอดเวลา คิดว่าพ่อแม่ยังไม่จากไป  ฉะนั้นท่านจึงให้เผาซากศพเสีย เพื่อจะได้เข้าใจว่าพ่อแม่ได้จากไปแล้ว  จะได้หมดความกังวล ความห่วงใยอีกต่อไป




            อันที่จริงการสวดมนต์ในงานศพ  ไม่ได้สวดให้ศพฟัง เพราะคนที่ตายแล้ววิญญาณได้ออกจากร่างไปตามกฎแห่งกรรม  แต่ท่านประสงค์จะให้ผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ได้ฟังพระธรรมคำสอน ที่สอนว่า เกิด แก่ เจ็บตายเป็นของธรรมดา เราจะต้องตาย เช่นเดียวกับผู้ที่อยู่ในโลงศพ ผู้ที่ตายไปนั้นเอาอะไรไปได้บ้าง ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สมบัติ บุตร ภรรยา ยศถาบรรดาศักดิ์ เอาไปไม่ได้สักอย่างเดียว  ตายแล้ววิญญาณย่อมไปสู่ภพภูมิตามกฎแห่งกรรมที่กระทำไว้เมื่อยังมีชีวิตอยู่   แต่ผู้ที่จัดงานศพนั้นต่างหากเป็นผู้ได้บุญได้กุศล คือได้มานั่งฟังธรรม เกิดความสลดสังเวชขึ้นในใจ ว่า อนิจจัง ไม่เที่ยง พ่อแม่ของเราตายไป อะไรก็เอาไปไม่ได้สักอย่างเดียว ต่อไปเราจะเป็นเช่นนี้เหมือนกัน นี้คือประโยชน์ของการจัดงานศพ เพราะในสมัยพุทธกาล  พระสงฆ์จะแสดงธรรมบทใด  ผู้ฟังรู้และเข้าใจภาษาบาลี  แต่ในสมัยนี้พระสงฆ์สวดมนต์เป็นภาษาบาลี  คนไทยฟังไม่เข้าใจ ดังนั้นพระสงฆ์ที่



สวดมนต์ในงานศพนั้น ควรแปลเป็นภาษาไทย  เพื่อผู้ฟังชาวไทยจะได้เข้าใจ  ความหมายว่า  พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสสอนว่าอย่างไร  การจัดงานศพสมัยก่อนก็ทำกันง่าย ๆ เพียงเพื่อให้ผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่เห็นว่า ต่อไปจะมีสภาพเดียวกันกับผู้ที่ตายไปแล้ว เกิดความกลัว คิดได้ว่าเมื่อตายไปตนจะได้อะไรไปบ้าง  ถ้าหากไม่มีคุณงามความดีติดตัวตามตนไป  จึงจำเป็นต้องสร้างคุณงามความดี  ด้วยการให้ทาน นำศีลมารักษา  กาย วาจา  เจริญสมาธิเพื่อให้จิตสงบ  แล้วนำพระธรรมคำสอนมาพิจารณาเพื่อให้เกิดปัญญารู้แจ้งเห็นจริง  เพื่อมาชำระกิเลสคือ  ความโลภ ความโกรธ ความหลง ให้หมดสิ้นไปจากจิตใจ  เข้าสู่แดนวิมุตหลุดพ้น ไม่ต้องมาเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป  



            อีกประการหนึ่ง งานศพนั้นมีการทำบุญเลี้ยงพระ เป็นการให้ทานกับพระสงฆ์ที่ไม่มีอาชีพ และเราได้ประโยชน์ที่ได้ฟังบทสวดมนต์จากท่าน เพื่อมาสอนใจเรา ซึ่งพระพุทธองค์ตรัสสอนไว้ในบทสวดมนต์  ถึง การเกิด แก่ เจ็บ ตาย ว่าหาความสุขมิได้ ความสงบเท่านั้นที่เป็นสุข แต่ความสงบที่เกิดจากการตายนั้นก็มิใช่เป็นความสุขดังที่มนุษย์เข้าใจกัน  ถ้าผู้ตายยังไม่หมดกิเลส และวิญญาณยังต้องไปรับกรรมที่ได้ทำไว้เมื่อยังมีชีวิตอยู่


            การจัดงานศพให้ผู้ตายอย่างมโหฬารนั้น ใช่ว่าผู้ตายจะไปสู่สุคติเพราะการจัดงานศพก็หาไม่ หรือผู้ตายจะตกนรกเพราะไม่ได้เผาศพก็ไม่ใช่  ความเข้าใจผิดในเรื่องนี้มีมานานแล้ว จนยึดติดเป็นประเพณี ว่าถ้าตายแล้วจัดงานศพให้ใหญ่โต วิญญาณของผู้ตายจะเป็นสุขไปอยู่ในที่ดี  อันที่จริงถ้าผู้ตายกระทำชั่วไว้  ต่อให้ลูกหลานจัดงานศพให้ใหญ่โตมโหฬารเพียงใด ผู้ตายก็ต้องไปสู่อบาย งานศพมิได้ช่วยให้เขาพ้นอบายภูมิได้เลย เปรียบเสมือนผู้ทำผิดกฎหมาย ศาลตัดสินจำคุก แม้ว่าจะมีเงินเท่าไร ก็ไม่อาจเอาเงินมาซื้ออิสรภาพให้ตนเองได้ เช่นเดียวกับวิญญาณที่ทำชั่วต้องไปสู่อบายภูมิ ซึ่งมีอยู่ ๔ อย่าง คือ นรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน  ใครก็ช่วยไม่ได้



            มนุษย์ยังเข้าใจผิดว่า การจัดงานศพให้พ่อแม่อย่างใหญ่โตหรูหรา เป็นการทดแทนพระคุณของพ่อแม่  ที่จริงแล้วการทดแทนพระคุณของท่าน จะต้องกระทำเมื่อท่านยังมีชีวิตอยู่ เช่น พาท่านนำอาหารไปถวายพระภิกษุ สามเณรที่วัด  ให้ท่านรับศีลจากพระภิกษุ  แล้วนำศีลมารักษากาย วาจา  ให้สะอาด ปราศจากความชั่ว  ตามศีลแต่ละข้อ  พาท่านฟังธรรม เพื่อให้เกิดปัญญา และมีคุณธรรมประจำใจ  เพื่อให้ท่านละชั่วประพฤติดี ทำจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์ปราศจากกิเลส  ตามหลักพระธรรมคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า หาอาหารที่ดีมีประโยชน์  ที่ท่านชอบมาให้ท่านรับประทาน  หาเครื่องนุ่งห่ม  ที่อยู่อาศัย  ยารักษาโรค  ยามท่านเจ็บป่วยก็ต้องให้การดูแลรักษาท่านเป็นอย่างดี   มิใช่เมื่อท่านตายไปแล้ว  ถึงทำบุญอุทิศไปให้ เพราะอาจจะไม่มีโอกาสได้รับ  สิ่งใดที่ท่านชอบพอใจควรหามาบำรุงเลี้ยงดูขณะที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ เมื่อท่านตายไปแล้ว วิญญาณของท่านจะไป


สู่สุคติ ตามผลของกรรมดีที่ท่านได้กระทำไว้ขณะที่ยังมีชีวิตอยู่



            ดังนั้น ขอให้ทราบเถิดว่า งานศพที่มีการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต มีการดื่มสุรา มีมหรสพต่าง ๆ ไม่ใช่เป็นวิธีที่จะทำให้ผู้ตายไปสวรรค์ได้เลย แต่การที่มีผู้คนส่วนมากทำเช่นนี้เพราะเขาไม่รู้  ไม่เข้าใจอย่างแท้จริง หรือไม่มีผู้แนะนำให้รู้ การที่เจ้าภาพเชิญแขกมามากมายในงาน ไม่ได้ช่วยให้เกิดประโยชน์อะไรแก่ผู้ตายเลย บางรายบอกแขกเพื่อหวังจะได้เงินก็มี งานศพที่ถูกต้องควรจะทำบุญเลี้ยงพระ  นิมนต์พระสงฆ์ มาสวดมนต์ในบทต่าง ๆ ให้ฟัง หากเรารู้คำแปลในบทสวดมนต์ของพระสงฆ์  ก็จะรู้ได้ทันทีว่า พระสงฆ์ท่านสวดมนต์มีความหมายอย่างไร  เราจะรู้ความหมายของบทสวดมนต์ในบทนั้น ๆ และถ้าหากเป็นไปได้  พระสงฆ์ที่สวดมนต์ควรจะอธิบายให้ผู้ฟัง ได้รับทราบด้วยว่าบทสวดมนต์แต่ละบทนั้น  มีความหมายอย่างไรบ้าง ก็จะเกิดประโยชน์อย่างยิ่ง



            ขอให้เข้าใจเถิดว่า วิญญาณของผู้ที่ตายไปแล้วนั้น เมื่อญาติทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้ บางวิญญาณก็รับรู้ได้ บางวิญญาณก็ไม่สามารถรับรู้ได้ เพราะผลของกรรมดีและกรรมชั่ว  ที่ได้ทำไว้ต่างกัน แต่ผู้ที่ได้บุญโดยตรงนั้น ไม่ใช่ใครอื่น คือตัวของผู้ทำบุญนั่นเอง  แต่ควรทำให้ถูกวิธี  ถ้าเราทำบุญงานศพที่ถูกต้อง เราก็จะได้บุญกุศล วิญญาณผู้ตายก็จะได้อนุโมทนา  ที่ญาติพี่น้องทำความดีและอุทิศส่วนบุญให้  แต่หากผู้ตายทำชั่วไว้มาก ไปตกนรก ก็จะไม่รู้เลยว่าญาติพี่น้องกำลังทำอะไรให้  เปรียบเหมือนคนที่คิดคุก จะไม่รู้เลยว่าทางบ้านเขาทำอะไรกัน ดังนั้นการจะส่งผลบุญให้ผู้ตาย ก็จะต้องอาศัยพระสงฆ์ผู้บริสุทธิ์ และรู้ทางว่าจะส่งผลบุญโดยวิธีใด เมื่อทำบุญแล้วจึงต้องอุทิศส่วนบุญอีกต่อหนึ่ง  ผู้ตายบางคนทำความดีหรือความชั่วไว้ปานกลาง ตายแล้วจะเกิดเป็นมนุษย์อีก เขาจะไม่รู้ว่าญาติพี่น้องทำอะไรไปให้  แต่ถ้าผู้ใดทำบุญกุศลไว้มาก ผลของบุญจะส่งให้ไปเกิดเป็นเทวดา เขาจะรู้ทันทีว่าญาติทำบุญอะไรให้เขาบ้าง เพราะเทวดาเป็นผู้มีหูทิพย์ตาทิพย์ หากเราทำถูกต้องเขาก็จะอนุโมทนา อีกประการหนึ่ง บางวิญญาณยังไม่ได้เกิดเป็นมนุษย์ หรือไม่ได้ไปเกิดเป็นเทวดา วิญญาณยังวนเวียนอยู่ เมื่อมาดูงานศพของตนก็จะเสียอกเสียใจ ที่ลูกหลานฆ่าสัตว์ตัดชีวิตมาเลี้ยงในงานศพ บางรายมีการฆ่ากันตายในงานศพก็มี เขาก็จะมายืนร้องไห้ด้วยความเสียใจ  เพราะฉะนั้น  การทำบุญงานศพนั้นควรทำให้ถูกวิธี  อย่าทำให้ใหญ่โตเกินไป  จนมีคำพูดที่ว่า


“คนตายขายคนเป็น”


            ผู้ที่จะแก้ไขความเข้าใจผิดอันนี้ได้ คือพระสงฆ์ซึ่งจะต้องแนะนำสั่งสอนพุทธศาสนิกชนให้เข้าใจ ชี้ให้เห็นประโยชน์ของการทำบุญ  ด้วยวิธีที่ถูกต้องว่าการทำบุญ เกี่ยวกับงานศพนั้นที่จะได้บุญจริง ๆ ควรทำอย่างไร    และชี้ให้เห็นโทษของการทำบุญที่ไม่ถูกต้อง การกระทำที่ฟุ่มเฟือย ตลอดจนการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตมาทำบุญ  ผลที่ได้รับจะได้บาปมากกว่าได้บุญ   พระสงฆ์ไม่ควรสนับสนุนให้มี งานศพที่ใหญ่โตหรูหรา และทำผิดวัตถุประสงค์ ของพระผู้มีพระภาคเจ้า ถ้าทำโดยถูกต้อง ผู้ตายจะได้รับประโยชน์จากการกระทำของเรา และผู้จัดงานศพก็จะได้รับความสุขใจจากการทำบุญในครั้งนี้



            การจัดงานศพยังมีการเข้าใจผิดอยู่อีกอย่างหนึ่ง คือการบวชลูกหลานเพื่อจูงศพ หรือที่เรียกว่าบวชหน้าไฟ  เข้าใจผิดว่า ถ้าผู้ใดบวชจูงศพแล้วจะช่วยให้วิญญาณของผู้ตายไปสวรรค์ได้นั้น  ก็ไม่เป็นความจริง  ถ้าผู้ตายทำความชั่วไว้มาก  วิญญาณก็ต้องไปสู่อบายภูมิ  ถึงแม้จะมีลูกหลานบวชให้สักร้อยคน  ก็ไม่สามารถช่วยให้วิญญาณนั้นไปสู่สวรรค์ได้เลย  แต่ถ้าผู้ตายเป็นผู้ที่ประกอบแต่กรรมดี  วิญญาณก็จะไปสู่สวรรค์ชั้นใดชั้นหนึ่ง  ถึงแม้จะไม่มีใครบวชจูงศพให้เลย  วิญญาณก็ไม่ลงสู่อบายภูมิ  อีกประการหนึ่งคือผู้บวช ก็บวชเพียงหนึ่งวัน หรือสองวัน ศีลก็ยังไม่รู้ ธรรมก็ยังไม่ได้ปฏิบัติ จะเอาคุณงามความดีที่ไหนมาส่งวิญญาณของผู้ตายให้ขึ้นสวรรค์ได้  และยิ่งไปกว่านั้น บางรายจับเอาเด็กที่ไร้เดียงสา มาโกนผมห่มผ้าเหลือง ให้เด็กบวชเป็นสามเณรรับศีล ๑๐ เด็กนั้นอาจทำผิดศีลเพราะความหิวโหย หรือเพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์  ยังเป็นการสร้างบาปให้เด็กอีกด้วย



ขอให้ท่านทั้งหลายพิจารณาดูเถิดว่า  การกระทำดังที่กล่าวมาแล้วนี้ ได้กุศลหรือไม่  คำว่า กุศล คือความฉลาด ผู้ที่ฉลาดย่อมทำแต่สิ่งที่ดีมีประโยชน์  ทั้งต่อตนเองและผู้อื่น ถ้าการทำนั้นไม่เป็นประโยชน์  จะเรียกว่าเป็นผู้ที่ฉลาดได้อย่างไร  อีกอย่างในเรื่องของการตาย  แม้ผู้นั้นจะตายอยู่ในป่า  ปล่อยให้นกกากิน ไม่มีการเผา การฝังหรือไม่มีการบวชจูงศพ  แต่ถ้าผู้ที่ตายนั้น  เป็นพระอรหันต์ ก็สามารถเข้าสู่พระนิพพานได้ เข้าสู่แดนวิมุตหลุดพ้นไม่ต้องมาเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารอีกต่อไป   นี้คือความจริง
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย ธี เมื่อ 2015-2-13 11:04

สาธุครับ
การบวชลูกเป็นสิ่งดี เป็นการสืบต่อพระพุทธศาสนา แม้จะบวชเด็กก็ดีกว่าไม่บวช เพราะเด็กจะได้เข้าไปฟังธรรมและปฏิบัติตามแนวทางพระพุทธศาสนา การให้ลูกหลานบวชและจูงศพ แม้เป็นความเชื่อ แต่ไม่มีคนพิสูจน์ได้ ผมขอเล่าเรื่องหนึ่งที่รับรู้มาครับ.....เกี่ยวกับคนตาย ผู้ชราท่านหนึ่งเล่าให้ฟังว่า ..มีหญิงคนหนึ่งที่เป็นญาติได้เสียชีวิตที่โรงพยาบาล มีการนำศพกลับบ้าน แต่ไม่มีการทำพิธีซื้อทางให้ดวงวิญญาญกลับบ้าน ในงานศพ มีญาติที่เป็นหลานชื่อ"ไข่" บวชหน้าไฟให้ 7 วัน หลังจากงานศพล่วงเลยมา 7 วัน ญาติก็ฝันเห็นผู้หญิงคนนี้มาหา บอกว่า ตอนที่กลับบ้านจากโรงพยาบาลได้รับความลำบากมาก ต้องเดินผ่านบางที่ก็มีหนาม บางที่ก็ร้อน เท้าพองเลย และตนเองก็ถูกนำตัวไปนรก อยูหลายวัน โชคดีที่ไอ้ไข่มันบวชให้ ยมพบาลท่านจึงอนุญาติให้กลับบ้านมาเยียมญาติได้ .....อานิสงฆ์ของการบวชมีอยู่...แม้จะบวชเด็กก็ตาม...
ขอบคุณครับ
ขอบคุณครับ
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้