ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 5349
ตอบกลับ: 11
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

พระคาถาเนื่องด้วยพระโพธิสัตว์

[คัดลอกลิงก์]
ตำนานแห่งมนต์คาถามรดกภูมิปัญญาโลก

พระคาถา เนื่องด้วยพระโพธิสัตว์

.....ต้นทุนแห่งบุญกุศลที่พระโพธิสัตว์ท่านสั่งสมไว้นั้นไม่ได้หายไปไหน ยังมีให้ชาวพุทธเราพึ่งพาได้อยู่ตลอด.....  ...เมื่อยามที่เราอยู่โดดเดี่ยวสู้ปัญหาอยู่เพียงลำพังก็อย่าเพิ่งคิดว่าไม่มีใคร  แม้ผืนแผ่นดินที่ว่ากว้างใหญ่ไพศาลนี้ก็ยังเต็มไปด้วยซากสังขารที่พระโพธิสัตว์เคยสละชีวิตเพื่อสรรพสัตว์มาแล้วนับไม่ถ้วน แล้วจะกลัวไปไย.....

โดย ชลี
พุทธการกธรรม ธรรมที่ทำให้เป็นพระพุทธเจ้า

        คนสมัยก่อนเล่าขานพรรณนาตำนานการสร้างบารมีของพระโพธิสัตว์กันไว้อย่างพิสดารว่า

        ไม่ว่าจะเอานิ้วมือหรือเข็ม จิ้มลงไปในผืนแผ่นดิน ณ ที่แห่งใดก็ตาม  ไม่มีสักครั้งหรือไม่มีที่สักแห่งเดียวที่จะไม่ใช่เป็นที่ของซากสังขารอันพระโพธิสัตว์ได้เสวยชาติ เกิดแล้วตายเล่า นับไม่ถ้วน อุทิศชีวิตสั่งสมพุทธบารมีเพื่อสรรพสัตว์ทั้งหลาย

        คำเล่าขานพรรณนาจะเกี่ยวเนื่องด้วยข้อเท็จจริงในทางใดบ้างนั้นเราไม่อาจทราบได้ แต่ถ้าหากพรรณนาถึง น้ำใจอันวิเศษสุด ของพระโพธิสัตว์ที่สั่งสม พุทธการกธรรม(ธรรมที่ทำให้เป็นพระพุทธเจ้า) แล้ว ก็น่าจะทำให้เรารำลึกถึงความเป็นพระโพธิสัตว์และพระคุณอันนั้นได้บ้าง
        คนโบราณมีความเชื่อในลักษณะที่ว่า เหล่า เวไนยสัตว์ หรือ สัตว์ที่สั่งสอนได้ ซึ่งมีความเกี่ยวเนื่องและเกิดในร่มพระบารมีของพระพุทธเจ้า ย่อมสามารถจะน้อมเอาพระบารมีพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งและรวมถึงสามารถน้อมเอาพระบารมีของพระองค์ตั้งแต่เมื่อครั้งยังเสวยชาติเป็นพระโพธิสัตว์นั้นมาเป็นที่พึ่งอีกด้วย ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะว่าในแต่ละพระชาตินั้นมีความพิเศษและโดดเด่นที่หลากหลายแตกต่างกันในพระบารมีแต่ละด้าน
        พระเจ้าสิบชาติ หมายถึงสิบพระชาติหลังตามลำดับจนถึงสุดท้ายก่อนที่มาถึงชาติที่เป็น พระสิทธัตถะ อันได้แก่ พระเตมีย์ พระมหาชนก พระสุวรรณสาม พระเนมิราช พระมโหสถ พระภูริทัต พระจันทกุมาร พระพรหมนารอท พระวิทูรย์บัณฑิต และ พระเวสสันดร  มีความโดดเด่นคือความครบถ้วนบริบูรณ์ในพระบารมีทุกด้าน  คนโบราณถอดอักขระออกมาเป็น หัวใจทศชาติ คือ เต ชะ สุ เน มะ ภู จะ นา วิ เว

ต้นทุนบุญกุศล

        ถ้าศึกษาพระคาถาโบราณ เรามักจะพบข้อความบรรยายอานุภาพของพระคาถาในทำนองว่า “...กินมิรู้สิ้นแล.....” หรือ “...ใช้ได้สารพัด.....ฝอยท่วมหลังช้าง.....”  หากพิจารณาโดยรวมหรือความหมายโดยนัยก็พอจะประมวลได้ว่า คนโบราณท่านน่าจะหมายถึง พระคุณหรืออานุภาพอันไม่มีประมาณนั่นเอง
        อันที่จริงก็น่าจะเป็นเช่นนั้น  อย่าว่าแต่ความศักดิ์สิทธิ์ของพระคาถาเลย  แค่คนเรานึกถึง ความเพียรแหวกว่ายน้ำอยู่กลางมหาสมุทรที่มองไม่เห็นฝั่งของพระมหาชนก หรือ ความเพียรของกระแตโพธิสัตว์ที่เอาหางชุบน้ำไปสลัดบนฝั่งเพื่อค้นหาลูกน้อยที่จมในทะเล ก็เป็นต้นทุนกำลังใจเหลือที่จะกล่าวอยู่แล้ว
        กล่าวกันว่า ต้นทุนแห่งบุญกุศลที่พระโพธิสัตว์ท่านสั่งสมไว้นั้นไม่ได้หายไปไหน ยังมีให้ชาวพุทธเราพึ่งพาได้อยู่ตลอด
        ฉะนั้น ในยามใดที่คนเรารู้สึกว่าโลกนี้มันช่างขัดสนแล้งเข็ญขาดบุญกุศลเกื้อหนุนเสียเหลือเกิน ก็ลองรำลึกถึงคุณของพระโพธิสัตว์หรือพระคุณแต่อดีตชาติของพระพุทธบิดาของเราดูบ้าง  เมื่อยามที่เราอยู่โดดเดี่ยวสู้ปัญหาอยู่เพียงลำพังก็อย่าเพิ่งคิดว่าไม่มีใคร  แม้ผืนแผ่นดินที่ว่ากว้างใหญ่ไพศาลนี้ก็ยังเต็มไปด้วยซากสังขารที่พระโพธิสัตว์เคยสละชีวิตเพื่อสรรพสัตว์มาแล้วนับไม่ถ้วน แล้วจะกลัวไปไย
        บางที่เราก็อาจพบว่า การที่เรายังมีวิบากกรรมส่งผลอยู่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่มีบุญรอช่วย เพียงแต่สัตว์โลกต้องรับผลแห่งกรรมเป็นธรรมดาเท่านั้น  ขอเพียงเราตัดใจละเหตุแห่งบาปอกุศลและสู้อดทนอยู่ในความสุจริตต่อไป บุญเก่าของเราพร้อมทั้งบุญกุศลแห่งพระโพธิสัตว์ที่ท่านสั่งสมไว้ไม่มีประมาณก็พร้อมที่จะไหลหลั่งพร่างพรูเข้ามาช่วยหล่อเลี้ยงอยู่แล้วทุกเวลา

มีกินมีใช้

        เมื่อครั้งที่ยังทำงานราชการนั้น ผู้เขียนมีเพื่อนร่วมงานท่านหนึ่งซึ่งมีคาถาประจำตัวว่า เต ชะ สุ เน มะ ภู จะ นา วิ เว หรือที่เรียกว่า หัวใจทศชาติ  ท่านผู้นี้แม้ว่าจะมีตำแหน่งหน้าที่เป็นผู้น้อยเพราะวุฒิการศึกษาต่ำ แต่ก็เป็นคนมีอยู่มีกินไม่ขาด แถมยังมีแบ่งปันเผื่อแผ่ให้ลูกหลานได้ตลอด เวลามีเรื่องร้ายๆเข้ามาในชีวิตก็สามารถเอาตัวรอดผ่านไปได้ด้วยดี  เคยถามว่ามีคาถาอะไรดีขอให้บอกกันบ้างก็ได้รับคำตอบว่าบทนี้  ไม่ว่าจะถามกี่ครั้งๆท่านก็บอกเหมือนเดิมว่ามีอยู่บทเดียวนี่แหละ  ตอนที่ท่านเกษียณอายุก็ได้ข่าวว่าได้รับมรดกเป็นที่ดินอีกแล้ว ทั้งที่ตัวท่านเองก็ดูว่าไม่ได้ต้องการไปทวงสิทธิ์ยื้อแย่งแข่งขันกับใคร

อานุภาพพระคาถา

        พระคาถาหัวใจทศชาตินี้ ตามอุปเท่ห์วิธีใช้แต่โบราณกล่าวไว้ว่าใช้ได้สารพัดทั้ง เมตตา คงทน แคล้วคลาด  ใช้ทำน้ำมนต์ปัดเป่าถอนแก้  ทำน้ำมนต์ปะพรมเรือกสวนไร่นากันสัตว์รบกวนพืชผล  บางตำราทำเป็นยันต์มีทั้งแบบใช้ทางด้าน คงทน เมตตา และลาภผล  บางตำราระบุว่าผู้ใดหมั่นเจริญภาวนาจะเจริญสิริสวัสดิ์พิพัฒนมงคลในชาตินี้และตายไปในภพหน้าจะได้พบพระศรีอาริย์

อัศจรรย์แห่งพระโพธิสัตว์

        เนื่องจากพระบรมโพธิสัตว์ย่อมจะบำเพ็ญบารมีไปจนถึงถึงขั้นสุดยอด(ปรมัตถปารมี)ในพุทธการกธรรม อานุภาพอันยอดยิ่งวิเศษสุดจึงดำรงอยู่คู่กัปคู่กัลป์ ดังอานุภาพของ วัฏฏกะปริตร ที่ ลูกนกคุ่ม ทำสัจกิริยาแต่ครั้งอดีตกาล ก็ยังคงมีผลทำให้บริเวณนั้นไฟไม่อาจจะลุกไหม้หรือแม้จุดไฟก็ไม่ติดไปตลอดชั่วกาลนานของภัทรกัป  ในสมัยต่อๆมาเมื่อพุทธศาสนิกชนสวดสาธยาย วัฏฏกะปริตร ก็ยังคงมีอานุภาพป้องกันไฟอยู่ตลอดกาล  แม้พระคาถา หัวใจนกคุ่ม คือ สุ โป กัญ จะก็มีอานุภาพป้องกันไฟมาตลอด
        แม้เมื่อครั้งเสวยชาติเป็น พญาเต่าเรือน ทรงทราบว่าผู้คนเรือแตกมาติดเกาะที่พระองค์จำศีลอยู่ เขาเหล่านั้นอดอยากหิวโหยจนถึงจะฆ่ากันเองเป็นอาหาร ทรงเกิดความสลดสังเวชในพระทัยใคร่จะช่วยหมู่คนเคราะห์ร้ายให้พ้นทุกข์และเพื่อเป็นการบำเพ็ญพระบารมี จึงทรงไต่ขึ้นไปบนยอดเขาปล่อยพระองค์ให้กลิ้งตกลงมาถึงดินทำกาลกิริยาชีพแตกดับ  หมู่คนเหล่านั้นก็ได้อาศัยเนื้อพญาเต่าบริโภคพ้นความตายโดยไม่ต้องฆ่ากันเอง  จากนั้นยังได้ใช้กระดองเต่า ทำเป็นเรือแล่นใบกลับสู่บ้านเมืองโดยสวัสดี  ด้วยพระคุณอันวิเศษยิ่งใหญ่ของพญาเต่าเรือน โบราณาจารย์ในสมัยต่อมาจึงสอนว่าให้ระลึกเอาพระคุณเป็นที่พึ่ง  เมื่อยามได้รับเคราะห์กรรม โทษทัณฑ์ เป็นถ้อยร้อยคดีความ ให้ระลึกถึงพระคุณของพญาเต่าเรือนขอบุญบารมีให้ท่านช่วยให้พ้นทุกข์ โดยภาวนาพระคาถาหัวใจพญาเต่าเรือน คือ นา สัง สิ โม หรือ นา สัง สิ โม  ภะ คะ วา นา โถ  สะ สิ โม  พุท โธ ภะ คะ วา ก็จะพ้นจากทุกข์ได้  อนึ่ง พระคาถานี้ยังใช้ภาวนาระงับความโกรธของคนทั้งหลายได้ด้วย  แม้ว่าใครจะโกรธเกลียดสักเท่าใด ภาวนาพระคาถานี้เข้าไปหา ความโกรธเกลียดก็จะมลายหายไปสิ้น

พระคาถาพญาไก่เถื่อน

          เวทาสากุ  กุสาทาเว    ทายะสาตะ  ตะสายะทา
          สาสาทิกุ  กุทิสาสา    กุตะกุภู  ภูกุตะกุ

        พระคาถานี้ ได้เมื่อครั้งที่พระโพธิสัตว์เสวยชาติเป็นพญาไก่เถื่อน  มีอานุภาพมาก  ผู้ใดสวดภาวนาเป็นนิจสิน จะเกิดลาภยศมิรู้ขาด ทำมาค้าขึ้น จะทำไร่ทำสวนก็เจริญงอกงามดี ทั้งทำให้บังเกิดสติปัญญาด้วย  ถ้าเดินทางไปทางบกหรือเข้าป่าให้สวดภาวนาไว้ คลาดแคล้วโพยภัยอันตรายดีนักแล
       อนึ่ง ในพงศาวดารตอนต้นของกรุงรัตนโกสินทร์ยังได้จารึกไว้ว่าเป็นพระคาถาประจำตัวของ สมเด็จพระสังฆราชสุก(ไก่เถื่อน)ด้วย
       ผู้เขียนทราบมาว่ามีท่านที่เคยสวดพระคาถานี้เป็นประจำบอกว่า ได้รับผลจนทำให้เชื่อว่า เป็นพระคาถาที่ช่วยทำให้เกิดสติปัญญาเฉลียวฉลาด

คาถาพญากาน้ำ

        เทวากานิ  นิกาวาเท    วาหิกาสุ  สุกาหิวา
          กากาเรภะ  ภะเรกากา นิสุภะยะ  ยะภะสุนิ

       พระคาถานี้ ได้เมื่อครั้งที่พระโพธิสัตว์เสวยชาติเป็นพญากาน้ำ  มีอานุภาพเช่นเดียวกับพระคาถาพญาไก้เถื่อน ผิดกันแต่ว่าถ้าเดินไปทางน้ำให้สวดพระคาถานี้

มิ่งขวัญและจิตวิญญาณแห่งพระศาสนา

        พระคาถาโบราณอันเนื่องด้วยพระโพธิสัตว์ คือรากเหง้าอันเปรียบเสมือนส่วนหนึ่งของมิ่งขวัญและจิตวิญญาณแห่งพระศาสนาที่ควรดำรงไว้  ทำให้อนุชนรุ่นหลังได้แยกแยะเข้าใจว่าการนับถือบูชาสัญลักษณ์เกี่ยวกับสัตว์ของชาวพุทธ มิใช่แบบงมงายถือเอาสัตว์เดรัจฉานเป็นที่พึ่ง แต่เป็นการรำลึกบูชาพระคุณแห่งพระโพธิสัตว์อันไม่มีประมาณในพระชาติต่างๆ คือคุณแห่ง พุทธการกธรรม นั้นเป็นสำคัญ #
http://writtenbychalee.blogspot.com/2012/03/blog-post_28.html
สาธุคับพี่
เต ชะ สุ เน มะ ภู จะ นา วิ เว
สาธุ บทความนี้ดีมากครับ
Nujeab ตอบกลับเมื่อ 2015-2-9 11:45
เต ชะ สุ เน มะ ภู จะ นา วิ เว

ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้