ข้อมูลเบื้องต้น พระผงวัดปากน้ำ (พระของขวัญ) - พระของขวัญวัดปากน้ำ เป็นพระผง ขนาดเล็ก ที่พระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ได้สร้างขึ้น มีทั้งหมด 3 รุ่น ด้วยกัน คือ รุ่น 1 รุ่น 2 และ รุ่น 3 พระของขวัญแต่ละรุ่นดังกล่าวนี้ หลวงปู่กระทำให้สำเร็จขึ้นมาด้วยวิธีเจริญสมาธิภาวนา ตามหลักวิชาธรรมกาย ขนาดองค์พระโดยประมาณ กว้าง 1.4 เซตติเมตร ยาว 2 เซนติเมตร หนา 4 – 6 มิลลิเมตร
- พุทธลักษณะ เป็นพระนั่งสมาธิราบ ปางปฐมเทศนา องค์พระนั่งอยู่ในซุ้มเรือนแก้วยอดแหลม ด้านหลังองค์พระเป็นอักขระขอม อ่านว่า “ธรรมขันธ์”
- ส่วนผสมมีหลายอย่าง ส่วนใหญ่จะเป็นดอกมะลิแห้งที่บดละเอียดแล้ว, เส้นเกศาของหลวงปู่ และผงวิเศษที่หลวงปู่ทำขึ้นอีกส่วนหนึ่ง นอกจากนี้ ยังมีส่วนผสมอื่นๆอีกตามส่วน โดยได้นำเอาส่วนผสมดังกล่าว มาโขลกตำจนละเอียดเข้ากันดีแล้วจึงได้นำมาพิมพ์ (พระของขวัญ รุ่น 2 และรุ่น 3 ก็ใช้กรรมวิธีเดียวกัน)
พระผงวัดปากน้ำ (พระของขวัญ) รุ่น 1 พระของขวัญ รุ่น 1สร้างขึ้นเมื่อ ปี พ.ศ.2493 จำนวน 84,000 องค์ (เท่ากับจำนวนของพระธรรมขันธ์) เริ่มพิมพ์ขึ้นเมื่อประมาณกลางเดือน 7 (จันทรคติ) ก่อนเข้าพรรษา 1 เดือน หลังจากนั้น หลวงปู่ได้เริ่มทำพิธีบรรจุพุทธานุภาพตามหลักวิชชาธรรมกายตลอดพรรษา (ตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ไปจนถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11) และได้เริ่มแจกในวันแรม 6 ค่ำ เดือน 11 ปีเดียวกัน ในอภิลักขิตสมัยคล้ายวันเกิดของท่าน ณ พระอุโบสถ วันปากน้ำ ภาษีเจริญ จนกระทั่งหมดลงเมื่อ ปี พ.ศ.2497 พระของขวัญ รุ่น 1 นี้ มีแม่พิมพ์ทั้งหมด 10 แม่พิมพ์ ทำขึ้นจากทองเหลือง โดย หลวงภูมินาถสนิท (สืบ ตังครัตน์) ได้ให้ช่างแกะนำมาถวายหลวงปู่ เป็นแม่พิมพ์สี่เหลี่ยม ลักษณะขององค์พระทั้ง 10 พิมพ์ จะเหมือน หรือคล้ายกัน จะแตกต่างกันในด้านรายละเอียดของใบหน้า, การทอดแขน, การวางมือ และส่วนต่างๆขององค์พระ พระของขวัญ รุ่น 1 มีทั้งที่เคลือบทาเชลแล็กและที่ไม่ได้เคลือบทาเชลแล็ก (ส่วนมากจะไม่ได้เคลือบทาไว้ ที่เคลือบทาเชลแล็กในรุ่นนี้ จะมีบ้างก็เป็นส่วนน้อยเท่านั้น) เนื้อขององค์พระส่วนใหญ่ จะฟูยุ่ย ไม่ค่อยแน่นคงทน แต่ที่เนื้อแข็งแน่นก็มีด้วยเช่นกัน สีของเนื้อองค์พระโดยทั่วไปจะเป็นสีขาว, สีนวล หรือสีขาวอมเหลือง อีกทั้งที่เป็นสีคล้ายสีน้ำตาลเข้มหรือน้ำตาลอ่อน ก็มีเหมือนกัน จุดสังเกต: เส้นม่านมีข้างละ 13 เส้น, พระกรรณข้างขวาขององค์พระจะยาวกว่าข้างซ้าย, พระโอษฐ์เม้ม นูนหนา กว่าพิมพ์อื่นๆ, มีเส้นพระศอสองเส้น, สังฆาฏิเป็นแผ่นแบน, มีเส้นพิมพ์แตกตรงปลายพระอังคุฐ (นิ้วหัวแม่มือ) ด้านซ้าย, พระบาทซ้ายขององค์พระจะสั้น กลืนหายไปไม่เห็นฝ่าพระบาท
พระผงวัดปากน้ำ (พระของขวัญ) รุ่น 2 พระของขวัญ รุ่น 2สร้างขึ้นเมื่อ ปี พ.ศ. 2494 (หลังจากที่สร้างพระของขวัญรุ่น 1 ได้เพียงปีเดียว) จำนวนที่สร้าง 84,000 องค์ มาเริ่มแจกในปี พ.ศ.2497 และได้หมดลงในปี พ.ศ.2505 (ภายหลังจากที่หลวงปู่มรณภาพแล้ว) ใช้แม่พิมพ์รุ่น 1 ทั้ง 10 พิมพ์ กรรมวิธีและส่วนผสมอย่างเดียวกันกับรุ่น 1 เนื้อของพระรุ่น 2 จึงไม่แตกต่างจากรุ่น 1 มีความใกล้เคียงกัน กล่าวคือ เนื้อขององค์พระจะไม่แน่น ฟูยุ่ยพอๆกัน ดังนั้น ในรุ่น 2 นี้ ทางวัดปากน้ำได้เคลือบทาเชลแล็กไว้ทั้งหมด เพื่อรักษาเนื้อขององค์พระไว้ให้คงทน หมายเหตุ: พระของขวัญที่นำมาแจกภายหลังจากที่หลวงปู่มรณภาพแล้ว มีอยู่รุ่นหนึ่ง เรียกกันว่า “รุ่นตกค้าง” พระรุ่นตกค้าง คือ พระของขวัญรุ่น 1 และรุ่น 2 ที่เรียกว่า “ตกค้าง” เพราะว่าเหลือ หรือตกค้างอยู่ มิได้นำออกมาแจก ภายหลังจากที่หลวงปู่ได้มรณภาพแล้วจึงได้นำออกมาแจก สาเหตุเนื่องจากพระรุ่นตกค้างนี้เป็นพระที่มีพิมพ์ไม่สมบูรณ์, ไม่สวยงาม กล่าวคือ พิมพ์จะตื้น หรืออาจบิดเบี้ยวไปบ้าง ในการแจกพระของขวัญนั้น หลวงปู่จะไม่แจกพระผงที่ชำรุดเหล่านี้ออกไป ท่านสั่งให้คัดพระผงเหล่านี้ออกเสียแล้วเก็บไว้เป็นส่วนหนึ่งต่างหาก ภายหลังจากที่หลวงปู่ได้มรณภาพแล้ว จึงได้นำพระผงดังกล่าวนี้ออกมาจ่ายแจก คนทั่วไปจึงนิยมเรียกกันต่อๆมาว่า “รุ่นตกค้าง” (พระรุ่นตกค้างเหล่านี้ได้ผ่านพิธีบรรจุพุทธานุภาพตามหลักวิชชาธรรมกาย โดยสมบูรณ์ทุกประการ)
พระผงวัดปากน้ำ (พระของขวัญ) รุ่นตกค้าง พระของขวัญ รุ่น 3สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2499 มีจำนวน 84,000 องค์ โดยได้ทำพิธีบรรจุพุทธานุภาพตามหลักวิชาธรรมกาย โดยหลวงปู่จนกระทั่งตลอดอายุ ภายหลังจากที่ท่านได้มรณภาพได้แล้วถึง 3 ปี ทางวัดจึงได้นำพระรุ่น 3 นี้มาให้ประชาชนได้เช่าบูชา กล่าวคือ ได้เริ่มนำออกจ่ายแจกตั้งแต่ปี พ.ศ.2505 เป็นต้นมาจนกระทั่งหมดลงในปี พ.ศ.2514 เพราะเหตุที่พระของขวัญรุ่น 3 นี้ได้นำออกมาแจกในภายหลังจากที่หลวงปู่ได้มรณภาพแล้ว จึงทำให้มีผู้เข้าใจผิดคิดว่าพระรุ่น 3 นี้หลวงปู่มิได้เป็นผู้สร้างขึ้น พระของขวัญรุ่น 3 นี้ในการพิมพ์ระยะแรกนั้นได้ใช้แม่พิมพ์รุ่น 1 ทั้ง 10 พิมพ์ ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง แต่เมื่อพิมพ์ไปได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้นก็ต้องเปลี่ยนแก้ไขแม่พิมพ์ใหม่ เนื่องจากแม่พิมพ์รุ่น 1 ทั้ง 10 พิมพ์ ได้ใช้งานมามากแล้วถึง 2 รุ่น ด้วยกัน จึงทำให้แม่พิมพ์ดังกล่าวเหล่านี้ตื้น องค์พระที่ได้จึงรางเลือนไม่คมชัด ดังนั้น ทางวัดโดย พระภาวนาโกศลเถร (ธีระ คล้อสุวรรณ) ซึ่งได้รับมอบหมายจากหลวงปู่ให้เป็นผู้ดำเนินการพิมพ์ในครั้งนั้น ได้นำแม่พิมพ์ดังกล่าวเหล่านี้ไปให้ช่างตบแต่งแก้ไขใหม่ เพื่อให้แม่พิมพ์มีความคมชัดมากยิ่งขึ้น ดังนั้น แม่พิมพ์ที่ตบแต่งแก้ไขใหม่กับแม่พิมพ์เก่าจึงมีลักษณะที่แตกต่างกัน กล่าวคือ แม่พิมพ์เก่าที่ใช้พิมพ์ในคราวแรกนั้นมักนิยมเรียกกันว่า “พิมพ์ตื้น” ส่วนแม่พิมพ์ที่ตกแต่งแก้ไขขึ้นมาใหม่ มักนิยมเรียกกันว่า “พิมพ์ลึก” หรือ “พิมพ์นูน” เพราะว่าองค์พระจะนูนเด่นชัดเจน พระของขวัญรุ่น 3 นี้ จึงแยกแม่พิมพ์ออกได้เป็นสองชุดใหญ่ๆ คือ แม่พิมพ์ชุดแรก พิมพ์ตื้น (แม่พิมพ์เก่า) ใช้แม่พิมพ์รุ่น 1 ทั้ง 10 พิมพ์ องค์พระจะเหมือนกับพระรุ่น 1 ทุกประการ แต่จะสามารถสังเกตความแตกต่างกันได้ก็ตรงที่เนื้อและขนาดขององค์พระ (ส่วนผสมต่างๆของพระรุ่น 3 นี้ ก็เป็นอย่างเดียวกันกับรุ่น 1 และรุ่น 2 แต่ได้เพิ่มส่วนผสมต่างๆที่เป็นตัวประสานเนื้อขององค์พระไว้มากกว่าเดิม อย่างเช่น น้ำมันตั้งอิ๊ว และกล้วยน้ำว้า เป็นต้น เพื่อให้เนื้อขององค์พระมีความแน่นเหนียวกว่าสองรุ่นแรก สีเนื้อขององค์พระส่วนใหญ่จะเป็นสีเหลือง, สีขาวนวล, สีน้ำตาลอ่อน และสีคล้ำๆ ส่วนขนาดของพระรุ่น 3 จะเล็กกว่าและตื้นกว่ารุ่น 1และรุ่น 2) |