ฉลามดึกดำบรรพ์ ปรากฏสายพันธุ์เมื่อ 80 ล้านปีก่อน ติดอวนชาวประมงในออสเตรเลีย เผยเป็นปลาหน้าตาประหลาด มีฟัน 300 ซี่ รูปร่างคล้ายปลาไหล
ชาวประมงทางตะวันออกของรัฐวิกตอเรียถึงกับอึ้งเมื่อเจอฉลามครุยติดอวนปะปนกับปลาชนิดอื่นๆที่คุ้นเคย เหตุที่อึ้งก็เพราะมันมีรูปร่างหน้าตาแปลก
ฉลามครุย หรือ frilled shark มีลำตัวยาวคล้ายปลาไหล สีน้ำตาลเข้ม มีเหงือก 6 คู่เรียงตามแนวครีบหลัง จุดเด่น คือ มันมีฟันถึง 300 ซี่
ปลาชนิดนี้เริ่มมีขึ้นบนโลกเมื่อ 80 ล้านปีก่อน นับเป็นหนึ่งในแค่สองชนิดของช่วงเวลานั้นที่ยังดำรงเผ่าพันธุ์จนถึงปัจจุบัน มันจึงได้ฉายาว่า ฟอสซิลที่มีชีวิต
ไซมอน โบแอ็ก นายกสมาคมอวนลากเขตเซาท์อีสต์ บอกว่า พวกชาวประมงที่เจอฉลามตัวนี้รู้สึกพิศวง “มันมีฟัน 300 ซี่เรียงกัน 25 แถว ตัวอะไรหลุดเข้าปากมัน คงหนีไม่รอด”
“หมอฟันคงชอบ แต่มันดูพิลึกพิลั่น คุณคงไม่อยากเอาให้เด็กๆดูตอนกำลังจะเข้านอน”
เจ้าตัวนี้มีความยาว 2 เมตร จับได้ที่ความลึก 700 เมตร ตามปกติ พวกมันอาศัยอยู่ที่ความลึก 1,500 เมตร นานๆครั้งจะมีคนพบเห็นฉลามครุยที่ความลึกตั้งแต่ 1,200 เมตรลงไป.