ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 1946
ตอบกลับ: 1
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

ปี่เซียะ (ผีซิว) วัตถุมงคลเรียกทรัพย์ ขจัดปัดเป่าสิ่งชั่วร้าย

[คัดลอกลิงก์]
ปี่เซียะ (ผีซิว) วัตถุมงคลเรียกทรัพย์ ขจัดปัดเป่าสิ่งชั่วร้าย


          ปี่เซียะ วัตถุมงคลเรียกทรัพย์ ขจัดปัดเป่าสิ่งไม่ดี มารู้จักประวัติความเป็นมาของปี่เซียะ พร้อมวิธีบูชา

          ปี่เซียะ วัตถุมงคลที่มีรูปร่างคล้ายสัตว์หลายชนิด เป็นสิ่งหนึ่งที่ชาวจีนนิยมบูชา บางคนก็พกพาติดตัว ด้วยความเชื่อที่ว่าจะช่วยเก็บทรัพย์ ให้โชคลาภ แต่ปี่เซียะมีประวัติความเป็นมาอย่างไร และควรจัดวาง บูชาปี่เซียะอย่างไรให้ถูกวิธี กระปุกดอทคอม มีคำแนะนำมาบอก

          ปี่เซียะ คือสัตว์ประหลาดตามความเชื่อของจีนมาแต่โบราณ โดยเชื่อว่าคือ เทพลก กวางสวรรค์ มี 1 เขา แต่ส่วนหน้า หัว และขาคล้ายสิงห์ มีปีกคล้ายนก ส่วนหลังคล้ายปลา และมีหางเป็นแมว มีปาก แต่ไม่มีทวาร ถือเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ที่ช่วยป้องกัน และปัดเป่าภูตผีปีศาล ขับไล่สิ่งไม่ดีต่าง ๆ

          คำว่า "ปี่เซียะ" เป็นภาษาจีนแต้จิ๋ว ถ้าภาษาจีนกลางจะอ่านว่า "ผีซิว" ส่วนจีนกวางตุ้งจะอ่านว่า "เผ่เย้า" และยังมีชื่อเรียกอื่น ๆ ตามสำเนียงภาษาจีนต่าง ๆ เช่น เถาปก ฝูปอ และคำว่า เทียนลก ที่เรียกกันในทางใต้ของจีน ซึ่งล้วนหมายถึง "ปี่เซียะ" ทั้งสิ้น

          ในจดหมายเหตุฮั่นชุ ในภาคที่ว่าด้วยดินแดนทางประจิมทิศ มีข้อความระบุไว้ว่าในแคว้นหลี แถบเขาอูเกอซานนั้น มีสัตว์ตระกูลนี้ปรากฏอยู่ลักษณะแตกต่างกันเล็กน้อย นั่นคือ เทียนลก เทียนลู่ ตัวคล้ายกวาง หางยาว มีเขาเดียว คำว่าเทียนลู่นั้นแปลตรงตัวว่า กวางสวรรค์ ครั้นต่อมาคำว่า ปี่เซียะ หรือ ผี่ชิว กลายเป็นคำที่คนทั่วไปคุ้นเคยกว่าเทียนลู่ จึงให้เรียกรวมกันไปในทางมายาศาสตร์จีน  

         แต่เดิม ปี่เซียะ เป็นสัตว์มงคลที่มีอนุภาพในทางกำจัดปีศาจ และสิ่งชั่วร้ายรวมทั้งปกป้องจากคุณไสย และมนตร์ดำต่าง ๆ กล่าวคือคำว่าปี่ หรือ ผี นั้น แปลว่า ปิด เร้นลับหลบซ่อน คำว่า ปี่เซียะ หรือ ซิว คือ อาถรรพ์ สิ่งไม่ดี คุณไสย ภูติปีศาจ คำว่าปี่เซียะ หรือ ผีซิว จึงแปลได้ว่า ขจัดอาถรรพ์

          หากมีตัวเดียวจะเป็นตัวเสี่ยงโชค แต่ถ้ามีเป็นคู่ คือ "ปี่" ตัวผู้ และ "เซียะ" คือตัวเมีย ถือเป็นวัตถุมงคล สำหรับขจัดสิ่งชั่วร้าย คนจีนสมัยก่อนจึงมักเขียนภาพ หรือตั้งประติมากรรม รูปปี่เซียะไว้ตามประตูบ้านและสุสานทั่วไป บางทีก็ประดับไว้บนหลังคาพระราชวังต่าง ๆ เพื่อให้มันช่วยขจัดสิ่งอัปมงคลทั้งหลายนั้นเอง ว่ากันว่ามีพลังในการกำราบสิ่งชั่วร้าย   

          อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันมีความเชื่อว่า ปี่เซียะ คือลูกตัวที่ 9 ของมังกร ซึ่งเป็นสัตว์ที่กินเก่ง มีปาก แต่ไม่มีรูทวาร จึงไม่มีการขับถ่าย ทำให้ปี่เซียะกลายเป็นสัญลักษณ์ของการเก็บทรัพย์ด้วย เพราะเก็บเงินไว้แล้วไม่รั่วไหลออก จึงนิยมบูชาปี่เซียะเพื่อความร่ำรวย


            ปี่เซียะ มีลักษณะ 8 ประการ คือ

              1. อ้าปากรับทรัพย์
              2. หางยาวกวักโชคลาภ
              3. ยกหัวข่มศัตรูคู่แข่ง
              4. เท้าตะปบเงิน (หาเงินเก่ง รักษาทรัพย์ให้งอกงาม)
              5. ก้าวขา-ก้าวหน้า
              6. ลิ้นยาว ตวัดโชคลาภเงินทอง
              7. องอาจน่าเกรงขาม
              8. ไม่มีรูทวาร เงินทองเข้าอย่างเดียวไม่ไหลออก

            เบญจธาตุของปี่เซียะ

          ปี่เซียะเป็นสัตว์มงคลลูกผสม 5 ชนิด คือ มังกร (หลง) - ธาตุไม้, พญาราชสีห์หรือสิงโต (ชีจื่อ) - ธาตุทอง, อินทรี (อิง) - ธาตุไฟ, กวาง (ลู่) - ธาตุ น้ำ และแมว (มาว) - ธาตุดิน

            อานุภาพพิเศษของปี่เซียะ  

          สัมผัสกลิ่นของโชคลาภได้รวดเร็ว ชัดเจนและแม่นยำ

            คุณสมบัติของปี่เซียะคู่กับปี่เซียะเดี่ยว

          เทพปี่เซียะแบบเดี่ยว (ขุนพล)
ใช้เรียกทรัพย์ สำหรับคนที่ทำอาชีพค้าขาย ธุรกิจ หรือต้องการให้เงินเข้า ไม่เป็นหนี้

          เทพปี่เซียะแบบคู่ (เทพพิทักษ์) ใช้เฝ้าทรัพย์ สำหรับคนที่หาเงินมาได้แต่ไม่ต้องการให้เงินไหลออก (เก็บเงินไม่อยู่)

          การที่จะใช้ปี่เซียะคู่หรือปี่เซียะเดี่ยว ให้ดูหลักธรรมชาติ หลักความสมดุล หรือความสวยงามเป็นหลัก

2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2015-1-13 19:36 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

            ข้อควรปฏิบัติในการบูชาปี่เซียะ

          1. จุดธูปเทียนบอกกล่าวพระ เทพเจ้า และเจ้าที่เจ้าทางในบ้านว่า ขอนำปี่เซียะเข้ามาในบ้านเพื่อนำโชคลาภ เงินทองมาให้กับเรา

          2. แสดงความรักเหมือนเป็นสัตว์คู่กาย ทำพิธีเปิดตาโดยนำปี่เซียะไปแช่ในแก้วน้ำเย็นและน้ำร้อนอย่างละเท่ากันครึ่ง ๆ เพื่อปรับหยิน-หยาง แช่ไว้ 2 วัน และหมั่นมองหน้าปี่เซียะบ่อย ๆ เพื่อให้รู้ว่าเราเป็นเจ้าของ

          3. เมื่อครบ 2 วัน ให้นำผ้าขนหนูสีขาว สะอาด ใหม่ มาซับปี่เซียะ และพูดประมาณว่า เราเป็นเจ้าของให้ช่วยหาทรัพย์สินเงินทองมาให้ด้วย และควรจัดภาชนะใส่น้ำ (ถ้วยแก้ว) ใส่น้ำสะอาดเปลี่ยนทุกวัน (หรือทุกอาทิตย์) วางไว้ใกล้ ๆ

          ข้อสำคัญ คือ ปี่เซียะที่ผ่านการประสิทธิมงคลแล้ว ไม่ควรวางไว้ที่ต่ำ ที่ใกล้ห้องน้ำ ใต้บันได หรือเดินข้าม และห้ามยุ่งเกี่ยวใด ๆ กับปากและลิ้นของปี่เซียะเป็นอันขาด เพราะจะเก็บทรัพย์ไม่อยู่ และห้ามนำไปงานอวมงคลด้วย

          นอกจากนี้ ปี่เซียะถือเป็นสัตว์มงคลเฉพาะบุคคล เมื่อบูชาแล้วถือเป็นของคนนั้น ไม่สามารถยกให้ใครได้ เพราะเท่ากับยกโชคให้คนนั้นด้วย และต้องระวังไม่ให้ใครมาจับปี่เซียะของเรา เพราะเท่ากับแบ่งลาภออกไป

            การจัดวางปี่เซียะ

          วางปี่เซียะไว้คู่กัน โดยให้เพศเมียที่ก้าวเท้าขวาอยู่ด้านขวา เพศผู้ที่ก้าวเท้าซ้ายอยู่ด้านซ้าย หันหน้าไปทางประตูหรือหน้าต่าง ทิศตะวันออกคือทิศที่ดีที่สุด และควรวางไว้ในที่สูงพอสมควร แต่ไม่ควรวางไว้บนหิ้งพระหรือปะปนกับเครื่องรางสัตว์มงคลอื่น ๆ

          หากปรารถนาโชคลาภ และป้องกันสิ่งชั่วร้าย ควรวางไว้ที่ห้องรับแขก หรือจุดสำคัญของบ้าน โดยวางไว้บนโต๊ะ หันหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ

          แต่หากใครเดินทางบ่อย ๆ ต้องการให้ปี่เซียะคุ้มครอง ควรตั้งปี่เซียะหันหน้าออกไปทางประตูหลัก หรือวางไว้ในรถอีก 1 ตัว

            ของบูชาปี่เซียะ

          1. ขนมจันอับ ชาวจีนเรียก โหงวเส็กทึ้งแต่เหลียง แปลว่าขนม 5 สี (แทนเบญจธาตุ)

          2. ผลไม้มงคล อาทิ

                 - ส้ม ชาวจีนเรียกว่า กา หรือไต้กิก หมายถึง เป็นมงคลยิ่ง โชคดี
                - องุ่น ชาวจีนเรียกว่า ผู่ท้อ หมายถึง งอกงาม เจริญ
                - สัปปะรด ชาวจีนเรียกว่า อั่งไล้ หมายถึง มีโชคมาหา
                 - กล้วย ชาวจีนเรียกว่า เฮียงเจีย หมายถึง มีลูกหลานสืบสกุล
                 - ลูกท้อ ชาวจีนเรียกว่า ท้อ หมายถึง ผลไม้สวรรค์ อายุยืน
                 - ทับทิม ชาวจีนเรียกว่า เสียะลิ้ว หมายถึง ผลไม้สวรรค์ มีความอุดมสมบูรณ์

            คาถาบูชา  

          อุ อา กะ สะ หรือ อุ อา กะ สะ ปี่เซี๊ยะ อานุภาโว เมตตาจิต ประสิทธิเม

            คุณสมบัติเศรษฐี

          อุ อา กะ สะ คือ คาถาหัวใจมหาเศรษฐี
          อุ หมายถึง อุฎฐานสัมปทา หมายถึง ความขยันหมั่นเพียรในการประกอบสัมมาอาชีพ
          อา หมายถึง อารักขสัมปทา หมายถึง การเก็บรักษาทรัพย์สินที่ได้มา โดยชอบธรรม
          กะ หมายถึง กัลยาณมิตตา หมายถึง การคบหาสมาคมกับคนดี มีคุณธรรมและน้ำใจ
          สะ หมายถึง สมชีวิตา หมายถึง การใช้จ่ายอย่างประหยัด พอเพียงไม่ฟุ่มเฟือย


***หมายเหตุ : อัพเดทข้อมูลล่าสุดเมื่อเวลา 15.28 น. วันที่ 7 มกราคม 2558


ขอขอบคุณข้อมูลจาก
- pantown.com
- pattani.org
- gotoknow.org

สนับสนุนบทความ โดยอาจารย์เทวฤทธิ์  อยู่สุนทร

ที่มา: http://hilight.kapook.com/view/17793

ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้