|
งู นาค ศักดิ์สิทธิ์ในคติชนสุวรรณภูมิ
ตีพิมพ์ในสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551-2554
งู นาค ศักดิ์สิทธิ์ในคติชนสุวรรณภูมิ
ผู้คนในภูมิภาคอุษาคเนย์ตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์ยกย่อง “งู “ เป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ เพราะงูมีอยู่ชุกชุมและเป็นสัตว์ที่มีพิษร้ายอันตรายเกินกว่าที่มนุษย์สมัยโบราณจะควบคุมได้ จากความกลัวจึงบูชานับถือเป็นสัตว์ที่มีพลังอำนาจเหนือธรรมชาติ แล้วยกย่องให้ยิ่งใหญ่เป็น นาค หรือ พญานาค สัตว์ในจินตนาการที่มีเรื่องเล่านิทานตำนานอยู่มากมายในกลุ่มชนแถบภูมิภาคอุษาคเนย์ ดังมีรวบรวมไว้ในหนังสือ นาค : ในประวัติศาสตร์อุษาคเนย์ ของ คุณสุจิตต์ วงษ์เทศ
ร่องรอยคติการบูชานับถืองู อาจดูได้จากการทำลวดลายเป็นรูปงูบนภาชนะดินเผา ยุคสุวรรณภูมิ เมื่อ 2,000-3,000 ปีมาแล้ว เช่น ภาชนะดินเผาที่พบจากบ้านเชียง อ.หนองหาน จ.อุดรธานี, บ้านเก่า จ.กาญจนบุรี, โคกไม้เดน อ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์ และจากแหล่งโบราณคดีหุบเขาวงพระจันทร์ อ.โคกสำโรง จ. ลพบุรี เป็นต้น
วัฒนธรรมหินตั้งหรือหินใหญ่ เมื่อราว 2,500 ปีก่อน บริเวณปราสาทวัดภู ของชาวเจนละ ก็มีรูปสลักจำพวกสัตว์เลื้อยคลาน อย่างงู และจระเข้ อยู่เช่นกัน
โดยที่ภาชนะดินเผา ซึ่งทำมาพิเศษสำหรับฝังอุทิศในพิธีฝังศพ และรูปสลักรูปงูหรือสัตว์เลื้อยคลาน บนลานพิธีศักดิ์สิทธิ์ บริเวณศาสนสถานวัดภู ที่รูปสลักจระเข้มีการสลักร่องทางน้ำไหล ที่อาจเป็นช่องสำหรับให้น้ำศักดิ์สิทธิ์จากการทำพิธีไหลลง ความ เกี่ยวข้องกับพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้ ช่วยยืนยันว่างูหรือนาคที่ปรากฎบนงานศิลปกรรมหรือข้าวของเครื่องใช้ประกอบในพิธีกรรม เป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ที่คนยุคเก่าก่อนนั้นยกย่องนับถือ
นอกจากนี้ ในชนบางกลุ่มที่นับถืองูเป็นบรรพบุรุษยังคงมีพิธีกรรมสืบทอดมาถึงปัจจุบันที่บ่งบอกความเชื่อดั้งเดิม เช่น ชาวอูรักลาโว้ย ชาวเลที่อาศัยอยู่ทางฝั่งทะเลอันดามัน ทางตอนใต้ของประเทศไทย ในพิธีลอยเรือเพื่อส่งวิญญาณกลับสู่ที่มา แสดงความเคารพต่อธรรมชาติและบรรพบุรุษ มีการสลักไม้บนเรือเป็น”ลายงู” ซึ่งหมายถึง “โต๊ะอาโฆะเบอราไตย” คือ บรรพบุรุษที่เป็นงู
รวมไปถึง ชาวจ้วงซึ่งมีถิ่นฐานอยู่ทางตอนใต้ของจีน แถบกวางสีและจังหวัดใกล้เคียง เครือญาติตระกูลไทยเก่าแก่ ก็นิยมสักตัวเป็นรูปจระเข้ รูปมังกร หรือเกร็ดจระเข้ ลายงู ในหนังสือ “วัฒนธรรมโบราณชาวเย่ว” ของหลอเซียงหลิน กล่าวว่า “คนเย่วโบราณ สักตัวด้วยลายมังกร งู สัตว์น้ำเป็นประเพณี” มีที่เล่ากันว่าเพื่อหลีกเลี่ยงตัวมังกรและจระเข้ ดังในหนังสือ “ฮั่นซู ภูมิศาสตร์” กล่าวว่า “ตัดผม สักตัว เพื่อป้องกันสัตว์ร้าย”
การสักตัวเพื่อแสดงถึงความเป็นพวกเดียวกัน คงเกี่ยวข้องกับความเชื่อถือในเรื่องบรรพบุรุษหรือกษัตริย์ที่สืบเชื้อสายจากนาค เช่น นิทานของชาวญวน ที่กล่าวถึงพระเจ้าหลากล็องกุนสืบซึ่งเชื้อสายมาจากนาค ในตระกูลสายมารดา ทำให้เกิดมีบรรดาสัตว์เลื้อยคลานมีอยู่เต็มเมืองของพระองค์ และประชาชนต้องล้มตายจากการถูกกัดเมื่อลงไปตามหนองคลองบึงไปมาก และด้วยความเชื่อกันว่ากษัตริย์ของพวกเขาสืบเชื้อสายมาจากนาค พระองค์จึงได้สั่งให้ประชาชนสักตัวเป็นรูปมังกร รูปงู เพื่อแสดงว่าเป็นพวกเดียวกัน
คติความเชื่อเรื่องสัตว์ศักดิ์สิทธิ์เช่นนี้ มีแพร่กระจายอยู่ทั่วไปในภูมิภาคอุษาคเนย์ อย่างน้อยเมื่อราว 2,000 ปีก่อน ในรูปของนิทานตำนาน ศิลปกรรม ความเชื่อ ในกลุ่มชนต่างๆบนภูมิภาคซึ่งมีวัฒนธรรมดั้งเดิมร่วมกัน ที่สามารถเชื่อมโยงไปถึงบรรพบุรุษที่เคยเกี่ยวข้องกันอย่างแน่นแฟ้น
ภาพประกอบ
ลายงูเขียนสีศักดิ์สิทธิ์ บนภาชนะดินเผา อายุราว 2,500 ปีมาแล้ว พบในบริเวณ อ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์ ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ในมิวเซียมท้องถิ่น วัดเขาไม้เดน ต.ท่าน้ำอ้อย อ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์
http://www.sujitwongthes.com |
|