ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 1842
ตอบกลับ: 0
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

ประวัติ สมเด็จพระบรมครู หลวงพ่อกบ วัดเขาสาริกา

[คัดลอกลิงก์]
เรื่องเล่าชาวสยาม
8 ชม. ·




ประวัติ สมเด็จพระบรมครู หลวงพ่อกบ วัดเขาสาริกา


หลวงพ่อกบ เป็นใคร ? มาจากไหน ? เป็นลูกเต้าเหล่าใคร ? ไม่มีใครรู้แน่ชัด เพราะท่านไม่เคยเล่าเรื่องส่วนตัวให้ใครฟังแม้แต่คนเดียว ใครถามมักตอบเพียงว่า “กูไม่มีอดีต กูมีแต่ปัจจุบันและอนาคต" และหากใครถามถึงอายุ ท่านจะว่า “กูจำไม่ได้" แล้วไม่ยอมพูดอะไรอีกเลย
คนใกล้ชิดและคนเฒ่าคนแก่ในหมู่บ้านเขาสาริกาเล่าว่า หลวงพ่อกบ น่าจะเป็นพระธุดงค์ รูปร่างสูงใหญ่ ผิวขาว คาดว่าน่าจะมีเชื้อสายจีน ท่านเดินด้วยเท้าเปล่ามาจากไหนไม่มีใครเห็น คาดว่ามาจากทางแม่น้ำน้อยหรือทางทิศตะวันตกของ อ.บ้านหมี่ จ.ลพบุรี มีท่าทีประหลาดไม่เหมือนพระทั่วไป ชาวบ้านพบครั้งแรกในสภาพนุ่งห่มจีวรเก่าคร่ำคร่า แบกไม้คานหาบกระบุงเปล่าไว้บนบ่า 2 ใบ เดินผ่านมาด้วยสีหน้าเรียบเฉย ชาวบ้านร้องทักว่า “หลวงพ่อหาบกระบุงเปล่าไปทำไม” ท่านก็พูดว่า “กูหาบมาใส่เงินใส่ทองโว้ย”ว่าแล้วก็เดินดุ่ม ๆ เข้าไปพำนักในวัดเขาสาริกา หมู่ 6 ต.สนามแจง อ.บ้านหมี่ จ.ลพบุรี ซึ่งสมัยนั้นเป็นวัดเก่า ๆ เกือบจะเป็นวัดร้าง ราวปี พ.ศ. 2430
หลวงพ่อกบมาถึงวัดเขาสาริกาไม่พูดจากับใคร นั่งบำเพ็ญเพียรภาวนา เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานอย่างเดียว ไม่ทำความรู้จักกับใครทั้งนั้น แม้พระภิกษุด้วยกันในวัดก็ไม่เคยพูดด้วย ท่านฉันภัตตาหารแต่น้อยไม่กี่คำก็เลิก ข้าวปลาอาหารที่ญาติโยมนำมาถวายก็โกยมากองรวมกันโยนให้สุนัขและแมวกินเป็นประจำ ใครนำเงินทองมาถวายก็โยนเข้ากองไฟหมดเกลี้ยงไม่เหลือแม้แต่ชิ้นเดียว
แรก ๆ หลวงพ่อกบนั่งบำเพ็ญเพียรอยู่ใต้ต้นไม้ใหญ่ในวัดเขาสาริกา ตากแดดตากฝนอยู่เพียงลำพัง ชาวบ้านสงสารปลูกเพิงพักหลังคามุงแฝกหลังเล็ก ๆ ให้พอหลบแดดฝน ท่านก็ไม่ว่าหรือทักท้วงอะไร ยอมขึ้นไปพำนักในเพิงพักโดยดี
นานหลายปีที่หลวงพ่อกบนั่งบำเพ็ญเพียรเพียงรูปเดียวอยู่เช่นนั้น ก็เริ่มมีคนต่างถิ่นและคนแปลกหน้าเดินทางมากราบไหว้ฝากตัวเป็นลูกศิษย์เล่าเรียนวิปัสสนากัมมัฏฐานที่วัดเขาสาริกามากขึ้นทุกที สร้างความแปลกใจให้ชาวบ้านและพระในวัด เพราะท่านไม่เคยออกจากวัดไปไหน สอบถามทุกคนจะตอบว่า “เคยใส่บาตรกับท่าน รู้สึกศรัทธาก็เลยมาหา" บางคนมาจากเชียงใหม่บ้าง กรุงเทพฯบ้าง สุราษฎร์ธานีหรือภูเก็ตก็มี ไม่เว้นแม้สงขลา ยะลา ปัตตานี ยิ่งทำให้ชาวบ้านกังขามากขึ้น ซึ่งนับวันผู้คนเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ท่านก็ไม่ค่อยพูดกับใครเหมือนเดิม ยกเว้นลูกศิษย์ใกล้ชิดไม่กี่คน
ต่อมาเพิงหลังคามุงแฝกของหลวงพ่อผุพังลง ลูกศิษย์และชาวบ้านที่ศรัทธารวบรวมเงินบริจาคสร้างกุฎิไม้ถวาย 1 หลัง มีขนาดกว้างขวางกว่าเดิม ใช้เป็นที่พำนักของหลวงพ่อและลูกศิษย์ที่บ้านอยู่ไกล เผื่อเดินทางมาหาหลวงพ่อจะได้ไม่ลำบากเรื่องที่นอน
นับวันวัดเขาสาริกาจะกลายเป็นศูนย์รวมผู้ศรัทธาในตัวหลวงพ่อ ทำให้ถูกทางการสมัยนั้นจับตามองกล่าวหาว่าเป็นแหล่งมั่วสุมผู้คน พ.ศ. 2450 ทางการส่งเจ้าหน้าที่มาสอบถามและตรวจสอบ แต่ไม่พบสิ่งผิดกฎหมาย พบเพียงผู้คนมาปฏิบัติธรรมและไม่ได้เป็นที่ซ่องสุมผู้คนจึงกลับไป
ต่อมามีคณะพระผู้ใหญ่เดินทางมาหา หลวงพ่อกบ อีกครั้ง เพื่อสอบสวนประวัติความเป็นมา เนื่องจากกลัวเป็นพวกลัทธิใหม่หรือพวกนอกรีต เนื่องจากพฤติกรรมของท่านค่อนข้างประหลาดไม่เหมือนพระทั่วไป แต่ท่านไม่ยอมบอกว่าเป็นใครและใครเป็นพระอุปัชฌาย์ จึงมีการทดสอบความรู้เรื่องธรรมะกันขึ้น ไม่ว่าจะถามเรื่องอะไร ในพระไตรปิฎกเล่มไหน หน้าอะไร หัวข้อเท่าไหร่ หลวงพ่อกบตอบถูกทั้งหมดและท่านถามกลับไปว่า “หัวใจของพระพุทธศาสนาคืออะไร”ปรากฎว่าไม่มีใครหรือพระเถรผู้ใหญ่ตอบได้แม้แต่รูปเดียว เงียบกันหมด ท่านจึงเฉลยให้ฟังว่าหัวใจพุทธศาสนาก็คือ “ศีล สมาธิ ปัญญา”เพราะเป็นหนทางแห่งการพ้นทุกข์
เท่านั้นเองกลายเป็นสาเหตุสำคัญที่พระผู้ใหญ่ไม่พอใจ สั่งให้ หลวงพ่อกบ ลาสิกขาบท กล่าวหาว่าเป็นพระเถื่อนไม่มีใบสุทธิบัตร พูดจาเพ้อเจ้อไร้สาระ ไม่น่าเชื่อถือ ท่านก็ไม่สนใจหรือเถียงอะไรยอมถอดจีวรออกลาสิกขาบทโดยดี หันมานุ่งขาวห่มขาวแทน ตอนนั้นลูกศิษย์ร้องไห้ระงมทั่ววัดเขาสาริกา เพราะสงสารท่าน จนหลวงพ่อบอกว่า “พวกมึงจะร้องทำไมกันวะ พระก็คือพระวันยังค่ำ จะใส่อะไรก็เป็นพระ เหมือนทองจมขี้โคลน ยังไงก็เป็นทองนั่นแหละ”ทำให้ลูกศิษย์คิดได้ว่า พระไม่ได้หมายถึงการนุ่งห่มผ้าเหลือง แต่หากสามารถลดละกิเลสได้ ไม่ว่าแต่งกายชุดอะไรก็ถือว่าเป็นพระอยู่วันยังค่ำ พระแท้พระดีจึงมิไช่อยู่ที่ผ้าเหลืองด้วยประการฉะนี้
หลวงพ่อกบมรณภาพและสังขารในวันที่ 17 ธ.ค. 2497 ท่ามกลางความเศร้าโศกของศิษยานุศิษย์ทั่วหน้า และน่าแปลกใจที่ว่าเช้าวัดถัดไปคือวันที่ 18 ธ.ค. หลวงพ่อโอภาสีเดินทางมาถึงวัดเขาสาริกาเพื่อมาเป็นธุระในการทำพิธีฌาปนกิจศพของหลวงพ่อกบ ผู้เป็นอาจารย์ เหตุการณ์ครั้งนั้นสร้างความงุนงงให้ผู้คนและลูกศิษย์ เนื่องจากสมัยก่อนการสื่อสารไม่รวดเร็วเหมือนปัจจุบัน การส่งข่าวไปหากันแต่ละครั้งใช้เวลาหลายวัน บ่งบอกได้ว่า หลวงพ่อโอภาสี ก็เป็นพระอภิญญาเหมือนอาจารย์ทุกประการ เพราะสามารถหยั่งรู้ความเป็นไปในโลกและรับรู้ว่าอาจารย์ละสังขารแล้วอย่างน่าอัศจรรย์ยิ่งนัก
ที่มาของชื่อ “หลวงพ่อกบ"
ชั่วชีวิตของ หลวงพ่อกบ ท่านไม่เคยบอกว่าชื่ออะไร ? มาจากไหน ? เป็นลูกเต้าเหล่าใคร ? เกิดเมื่อไหร่ ? บวชเมื่อไหร่ ? ใครเป็นพระอุปัชฌาย์ ? ลูกศิษย์ลูกหาจึงต้องหาชื่อมาเรียกกันไปต่าง ๆ นานา เช่น หลวงพ่อใหญ่บ้าง หลวงพ่อ เฉย ๆ บ้าง
วันหนึ่งฝนตกหนัก ฟ้าผ่าเสียงดังและลมพายุพัดแรงมากจนกุฎิสั่นคลอน ชาวบ้านและลูกศิษย์กลัวกุฏิพังชวนท่านหนี ท่านบอกว่า “มึงกลัวอะไรกัน เดี๋ยวก็หยุดตกแล้ว" พักเดียวฝนหยุดจริง ๆ และมีเสียงกบร้องดังลั่นทุ่งนา ชาวบ้านและลูกศิษย์ดีใจพากันไปจบกบมาแกงกิน แต่ไม่เจอสักตัวเดียว หลวงพ่อเลยอาสาไปจับมาให้เอง ปรากฎว่าจับมาเต็มข้องส่งให้ไปทำกินกันและท่านกำชับว่า “กินไม่หมดให้เอาไปปล่อยอย่าให้เหลือ" แต่มีชาวบ้านและลูกศิษย์บางคนแอบใส่ไหซ่อนไว้ รุ่งเช้ามาดูกลายเป็นใบสะแกและใบไม้อื่น ๆ อีกมากมาย สร้างความตกตะลึงให้ทุกคน ต่างขนานนามของท่านว่า “หลวงพ่อกบ" ด้วยเหตุนี้
แต่ในบรรดาลูกศิษย์ใกล้ชิดที่ได้รับการสอนธรรมะมักจะเรียกท่านว่า “สมเด็จพระบรมครู" หมายถึง ครูคนแรกในการสอนวิปัสสนากัมมัฏฐาน แต่ภายหลังกลายมาเป็น สมเด็จพระบรมครู หลวงพ่อเขาสาริกา หรือ หลวงพ่อเขาสาริกา แต่คนทั่วไปมักเรียกท่านว่า หลวงพ่อกบ วัดเขาสาริกา จนทุกวันนี้
ปริศนาธรรม “ทองหนึ่ง"
บนกุฎิหลังใหม่ลูกศิษย์นำระฆังทองเหลืองมาถวายหลวงพ่อกบหลายใบ วันดีคืนดีท่านก็จะลุกขึ้นมาตีระฆังเสียงดังกังวาน “หง่าง หง่าง" และตะโกนว่า “ทองหนึ่ง ทองหนึ่ง ทองหนึ่ง ทองหนึ่ง" และท่านชอบเขียนเลข ๑ หรือเครื่องหมาย + ตามข้าวของเครื่องใช้จนเปื้อนไปหมด
เคยมีลูกศิษย์ถามว่า “หลวงพ่อเจ้าค่ะ ทองหนึ่ง คืออะไรเจ้าค่ะ" ท่านหันมาตอบว่า “หนึ่งคือหนึ่งไม่มีสอง เปรียบเสมือนทองยังไงก็เป็นทองวันยังค่ำ" หมายถึง “ธรรมะ" หรือคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นที่หนึ่งในโลก ไม่ว่ากาลเวลาผ่านพ้นไปเท่าใดก็ยังคงเป็นที่หนึ่งเสมอนั่นเอง
(คำว่า “ทองหนึ่ง" มีหลายคนแปลความหมายผิดเพี้ยนคิดว่าเป็นคาถาประจำตัวของท่าน จริง ๆ แล้วเป็นปริศนาธรรมของหลวงพ่อกบ ข้อมูลนี้ได้รับการยืนยันจาก หลวงพ่อชื้น อริยธัมโม วัดปฐมเทศนาอรัญวาสี (เขาพลอง) จ.ชัยนาท ศิษย์สายตรงของหลวงพ่อกบและศิษย์ร่วมอาจารย์เดียวกับหลวงพ่อโอภาสี ผู้บูชาไฟเผากิเลสอาศรมบางมด ฝั่งธนบุรี ซึ่งมีการเล่าขานสืบต่อกันมาในหมู่ลูกศิษย์สายเดียวกัน)
ปาฏิหาริย์แห่ง "อภิญญา"
หลวงพ่อกบท่านเป็นพระอภิญญา อุดมไปด้วยอิทธิฤทธิ์ ปาฏิหาริย์และอภินิหารมากมาย วันหนึ่งท่านเห็นลูกศิษย์ของท่าน (เป็นผู้ชายไม่ทราบชื่อแน่ชัด) กำลังนั่งทุกข์ใจ เพราะมีปัญหาทางครอบครัว ทำกิจการขาดทุนสิ้นเนื้อประดาตัว หนี้สินท่วมหัว ท่านก็พูดว่า "เฮ้ย มึงจะเป็นอะไรนักหนาว่ะ อีแค่หมดตัวแค่นี้ไม่ถึงตายดอก เงินทองมันของนอกกาย ไม่ตายหาใหม่ได้ ถือว่าเป็นเวรเป็นกรรมก็แล้วกัน กูแนะนำให้มึงขึ้นไปทำมาหากินแถวภาคเหนือแล้วจะรวย" สิ้นคำหลวงพ่อ ท่านก็หันหลังไปนั่งท่องคำว่า "ทองหนึ่ง ทองหนึ่ง" ต่อไม่พูดอะไรอีกเลย ลูกศิษย์คนดังกล่าวพอได้ฟังก็ก้มกราบแทบเท้าท่านขอตัวกลับบ้าน ไปปรึกษาครอบครัวแล้วตัดสินใจขายบ้านและที่ดินย้ายไปปักหลักค้าขายที่ จ.เชียงใหม่ เวลาผ่านไป 1 ปี เหลือเชื่อชดใช้หนี้สินได้หมดและกิจการเจริญรุ่งเรืองร่ำรวยกลายเป็นพ่อเลี้ยงเมืองเหนือ
หลังกิจการเข้าที่เข้าทางแล้ว ลูกศิษย์ก็พาครอบครัวมากราบท่านที่วัดเขาสาริกา โดยถือชะลอมใส่ลำไย ลิ้นจี่ มาถวายท่านพะรุงพะรังไปหมด ท่านเหลือบเห็นเข้าก็หัวร่อบอกว่า "อ้าว ไอ้พ่อเลี้ยงเมืองเหนือมันมาหากูว่ะ เอ้าใครอยากกินลำไย ลิ้นจี่ เอาไปแบ่งกัน เหลือให้กู 2-3 ลูกก็พอ" ปรากฏว่าหวยงวดนั้นออกรางวัลเลขท้าย 23 อย่างน่าอัศจรรย์จนเป็นที่ฮือฮาในยุคนั้น
สอนธรรมะ "ชั่งเขา ชั่งมัน"
หลวงพ่อกบท่านชอบสอนปริศนาธรรมให้ลูกศิษย์และคนใกล้ชิดไปขบคิดกันเอาเอง อย่างเช่นวันหนึ่งท่านหยิบเขาควายและหัวมันมานั่งชั่งกิโลแล้วนั่งมองซ้ายมองขวา หยิบแล้วหยิบอีกอยู่อย่างนั้น จนลูกศิษย์เห็นเข้าถามว่า "หลวงพ่อทำอะไร" ท่านก็ตอบว่า "กูกำลังชั่งเขา ชั่งมันอยู่โว้ย อย่ามากวนใจ" ลูกศิษย์ฉุกคิดขึ้นมาได้ว่านี่ท่านกำลังสอนธรรมะพวกเราอยู่แน่ ๆ โดยการกระทำของท่านน่าจะหมายถึง การให้รู้จักปล่อยวางเดินตามทางสายกลาง ไม่ยึดติดด้านใดด้านหนึ่ง เพราะเป็นตัวถ่วงในการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานและการพิจารณาลดละกิเลสนั่นเอง
อัศจรรย์ละสังขารไปแล้วยังปรากฎกายได้
เรื่องนี้ได้รับการถ่ายทอดจากแม่ชีคนหนึ่ง (ปัจจุบันเสียชีวิตไปแล้ว) บนวัดปฐมเทศนาอรัญวาสี (เขาพลอง) อ.เมือง จ.ชัยนาท ราวก่อนเข้าพรรษาปี พ.ศ. 2521 สมัยนั้น หลวงพ่อชื้น เจ้าอาวาสยังไม่มรณภาพ ทางวัดได้จัดงานขึ้น โดยมีคณะศิษย์เก่าและใหม่หลายพันคนมาร่วมงานแน่นขนัดศาลาหลังใหญ่บนเขาพลอง ระหว่างมีพิธีสวดเพื่อถวายจตุปัจจุยไทยทานแด่พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แม่ชีเกิดปวดท้องไปเข้าห้องน้ำที่ศาลาเล็กด้านหลังศาลาใหญ่ พอเสร็จธุระออกมาเห็นพระภิกษุชรา นุ่งห่มจีวรสีกรักเก่าคร่ำคร่านั่งอยู่บนโต๊ะม้าหินอ่อนข้างศาลา 1 รูป แม่ชีถามว่า "หลวงพ่อเจ้าค่ะ นิมนต์ไปศาลาใหญ่ดีกว่าเจ้าค่ะ" แต่พระภิกษุชราไม่ไป บอกเพียงว่า "ข้ามาดูเฉย ๆ ว่างานเรียบร้อยดีไหม เดี๋ยวก็ไปแล้ว" แม่ชีก็ไม่คิดอะไร ทิ้งท่านนั่งอยู่รูปเดียว รีบเข้าไปร่วมพิธีในศาลาใหญ่จนเสร็จพิธีออกมามองหาพระภิกษุชราก็ไม่เห็นแล้ว ถามใครก็ไม่มีใครรู้ จนแม่ชีด้วยกันถามว่าหาใครอยู่หรือ จึงเล่าเรื่องราวให้ฟังสร้างความสงสัยให้ทุกคนว่าพระภิกษุชรามาจากไหน กระทั่งเม่ชีหลือบไปเห็นรูปถ่ายหลวงพ่อกบประดิษฐานที่โต๊ะหมู่บูชาถึงกับเข่าอ่อน ยืนยันว่าพระภิกษุชราที่ตามหากันอยู่คือพระในรูปนั่นเอง พอหลวงพ่อชื้นทราบเรื่องเข้าก็หัวร่อบอกว่า "หลวงพ่อเขาสาริกาท่านเป็นห่วงลูกศิษย์เลยแวะมาดู ไม่มีอะไรหรอก วันหลังเดี๋ยวท่านก็มาใหม่"
เรื่องปาฏิหาริย์นี้ถูกเล่าขานในหมู่ลูกศิษย์สมัยนั้นมาก จนหลวงพ่อชื้นต้องเฉลยว่า "ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะหลวงพ่อกบท่านเป็นพระอภิญญา มีกายและจิตเป็นทิพย์ สามารถไปไหนมาไหนได้ทั้ง 3 โลก (มนุษย์ สวรรค์ นรก) แม้สังขารหรือกายเนื้อท่านจะไม่อยู่ในโลกนี้แล้ว แต่จิตยังสำแดงอิทธิฤทธิ์ได้ จึงปรากฎกายให้เห็นได้ เหมือนหลวงพ่อโอภาสี อาศรมบางมด ฝั่งธนบุรี"
วัตถุมงคลของหลวงพ่อกบ
หลวงพ่อกบเป็นพระที่แปลก ชั่วชีวิตของท่านไม่เคยสร้างวัตถุมงคลหรือเครื่องรางของขลังให้เช่าบูชาเหมือนเกจิอาจารย์รูปอื่น ๆ ยกเว้นท่านจะทำแจกลูกศิษย์ใกล้ชิดและผู้ศรัทธาไม่กี่คน ซึ่งมีจำนวนน้อยและเป็นวัสดุที่หาไม่ยากในท้องถิ่น หลายคนอาจไม่เคยมีโอกาสได้เห็นและนึกไม่ถึงตามคำกล่าวที่ว่า "มีเงินมีทองไช่ว่าจะครอบครองของดีกันได้ง่าย ๆ"
แนะนำเรื่องเล่าโดยคุณ >>>>>> R'peaw Nonburi







ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้