ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 4342
ตอบกลับ: 7
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

~ หลวงปู่พระสุพรหมยานเถร(พรหมา พรหมจักโก) วัดพระพุทธบาทตากผ้า ~

[คัดลอกลิงก์]
หลวงปู่พระสุพรหมยานเถร (พรหมา พรหมจักโก)
วัดพระพุทธบาทตากผ้า จ.ลำพูน




ชาติกำเนิดและชีวิตปฐมวัย

ครูบามีนามเดิมว่า พรหมา พิมสาร ถือกำเนิดเมื่อวันอังคารที่ ๓๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๔๑ ขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๑๐ (เดือน ๑๒ เหนือ ปีจอ พ.ศ. ๒๔๔๑) ณ บ้านป่าแพ่ง อ.ป่าซาง จ.ลำพูน (ป่าซางปัจจุบัน) เป็นบุตรของคุณพ่อเป็ง และคุณแม่บัวถา มีพี่น้องร่วมกัน ๑๓ คน โดยท่านเป็นคนที่ ๗ โดยพี่น้องของครูบาต่อมาได้บวชเป็นพระตลอดชีวิตจำนวน ๓ ท่าน ได้แก่ พี่ชายคนที่ ๖ ของท่านคือ พระสุธรรมยานเถร (ครูบาอินทรจักรรักษา) และ น้องชายคนที่ ๘ คือ พระครูสุนทรคัมภีรญาณ (ครูบาคัมภีระ วัดดอยน้อย)

บิดามารดาเป็นผู้มีฐานะพอมีอันจะกิน มีอาชีพทำนา ทำสวน ประกอบสัมมาอาชีวะ ไม่มีการยิงนกตกปลา ไม่เลี้ยงเป็ดเลี้ยงไก่ และไม่มีการเลี้ยงหมูขาย มีความขยันถี่ถ้วนในการงาน ปกครองลูกหลานโดยยุติธรรม ไม่มีอคติ หนักแน่นในการกุศล ไปนอนวัดรักษาศีลอุโบสถเป็นประจำทุกวันพระ บิดาท่านได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ได้ถึงแก่กรรมในสมณเพศเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๔ อายุ ๙๐ ส่วนมารดาของท่านได้นุ่งขาวรักษาอุโบสถศีลทุกวันพระตลอดอายุได้ถึงแก่กรรมเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๗ อายุ ๗๐

เมื่อเด็กชายพรหมาวัยพอสมควรได้ช่วยพ่อแม่ทำงาน งานประจำคือตักน้ำ ตำข้าว ปัดกวาดทำความสะอาดบ้านเรือนเป็นการตอบแทนบุญคุณของบิดามารดาเท่าที่พอจะทำได้ตามวิสัยของเด็ก ครูบาพรหมมาได้เรียนหนังสืออักษรลานนาและไทยกลางที่บ้านจากพี่ชายที่ได้บวชเรียนแล้วได้สึกออกไป เพราะสมัยนั้นตามชนบทยังไม่มีโรงเรียนสอนกันอย่างปัจจุบันแม้แต่กระดาษจะเขียนก็หายาก ผู้สอนคือพี่ชายก็มีงานมาก ไม่ค่อยได้อยู่สอนเป็นประจำ จึงเป็นการยากแก่การเล่าเรียน อาศัยความตั้งใจและความอดทนเป็นกำลังจึงพออ่านออกเขียนได้

ชีวิตสมณะ การแสวงหาธรรม และปฏิปทา

เมื่ออายุ ๑๕ ปี ครูบาได้ขอบรรพชาเป็นสามเณรที่วัดป่าเหียง ตำบลแม่แรง อำเภอปากบ่วง (ป่าซางในปัจจุบัน) จ.ลำพูน โดยมีเจ้าอธิการแก้ว ขัตติโย เป็นพระอุปัชฌาย์ และเมื่ออายุครบบวช จึงได้ทำการอุปสมบท ณ วัดป่าเหียง เมื่อวันที่ ๑๖ ม.ค. ๒๔๖๑ เจ้าอธิการแก้ว ขัตติโย (ครูบาขัตติยะ) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์ฮอน โพธิโก เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์สม สุวินโท เป็นพระอนุสาวนาจารย์ได้รับฉายาว่า"พรหมจักโก" ซึ่งท่านได้หมั่นศึกษาเล่าเรียน และได้สอบผ่านนักธรรมในปี พ.ศ.๒๔๖๒

ลุถึงอายุ ๒๔ พรรษาที่ ๔ วันอังคารที่ ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๔ เดือนเพ็ญ ๘ (เดือน ๑๐ทางหนือ) ซึ่งเป็นวันเข้าพรรษา ครูบาพรหมาได้ตัดสนใจกราบลาพระอุปัชฌาย์ โยมพ่อ โยมแม่ พร้อมทั้งญาติพี่น้องเพื่อออกไปอยู่ป่าบำเพ็ญสมณธรรม เมื่อเดินทางออกจากวัด ท่านได้มุ่งตรงสู่ดอยน้อย ซึ่งตั้งอยู่ฝากแม่น้ำปิง เขต อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ระยะทางประมาณ ๑๒ กิโลเมตร มีสามเณรอุ่นเรือน (ต่อมาเป็นพระอธิการอุ่นเรือน โพธิโก วัดบ้านหวาย) ติดตามไปด้วย วันต่อมาก็มีท่านพระครูพิทักษ์พลธรรม (ครูบาหวัน วัดป่าเหียง) ได้กรุณาติดตามไปอีกท่าหนึ่ง โดยได้พักจำพรรษาอยู่ในศาลาเก่าคนละหลัง บำเพ็ญสมณธรรมได้รับความอุปถัมภ์จากญาติโยมที่อยู่แถวนั้นเป็นอย่างดี พอออกพรรษาท่านครูบาพร้อมคณะที่ติดตามได้พากันเดินทางกลับมาคาราวะพระอุปัชฌาย์ พักอยู่ ๓ คืนก็ได้กราบลาท่านพระอุปัชฌาย์เพื่อเดินทางสู่ป่า พอได้เวลาประมาณตี ๓ ก็ถือเอาบาตร จีวรกับหนังสือ ๒-๓ เล่ม พร้อมทั้งกาน้ำและผ้ากรองน้ำและออกเดินทางเข้าสู่ป่า เพื่อแสวงหา ความสงบ บำเพ็ญสมณธรรมให้เต็มความสามารถน้อมจิตไปในทางปฏิบัติ

ครูบาท่านออกธุดงค์ ไปตามป่าเขาเกือบทุกจังหวัดในภาคเหนือ เดินทางเข้าไปเขตพม่าและจำพรรษาอยู่ในเขตพม่าเป็นเวลานาน ๕ ปี หรือตามหมู่บ้านกระเหรี่ยงชาวเขา จนท่านครูบาสามารถพูดภาษากระเหรี่ยงได้เป็นอย่างดี

เมื่อคราวจำพรรษาอยู่ในที่ต่างๆ ท่านถือธุดงค์วัตร อยู่ป่าเป็นวัตร ออกบิณฑบาตเป็นกิจวัตร ฉันภัตตาหารวันละ ๑ มื้อ นุ่งห่มผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ภายหลังจากที่ท่านครูบาพรหมาได้ออกจาริกธุดงค์ไปตามป่า ตามนิคมต่างๆ หลายแห่งเป็นเวลา ๒๐ พรรษา ท่านได้ต่อสู้ฟันฝ่าอุปสรรคได้รับความสุข ความทุกข์ ความลำบาก บางครั้งไม่ได้ฉันท์ภัตตาหาร ๑-๒ วัน ท่านเพียรพยายามอดทนด้วยวัตรปฏิบัติอันเคร่งครัดที่สุด

หลังจากที่ท่านได้เดินธุดงค์ไปตามป่าและตามนิคมหลายที่หลายแห่งเป็นเวลานานหลายสิบปี ได้รับความสุข ความทุกข์ทรมาน ได้ผ่านประสบการณ์มามากต่อมากแล้ว ท่านก็ได้มาพักอยู่วัดป่าหนองเจดีย์ ตำบลท่าตุ้ม อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน ซึ่งเป็นวัดร้างมาหลายร้อยปี ตามคำนิมนต์ของครูบาอาจารย์ญาติโยม ได้มาประจำอยู่ที่นั้น ๔ พรรษา หลังจากนั้นก็ได้ย้ายมาอยู่วัดพระพุทธบาทตากผ้า อันเป็นปูชนียสถานสำคัญแห่งหนึ่งในจังหวัดลำพูน ซึ่งเป็นวัดร้างมาตั้งพันกว่าปีได้ อยู่ได้พรรษาเดียวก็ได้ย้ายไปอยู่ป่าม่อนมะหิน ประจำอยู่ที่นั่น ๒ พรรษาแล้วได้ย้ายไปอยู่วัดป่าหนองเจดีย์อีก ๒ พรรษา

พ.ศ.๒๔๙๑ ท่านจึงได้กลับมาจำพรรษา ณ วัดพระพุทธบาทตากผ้า และได้จำพรรษาอยู่ที่วัดแห่งนี้ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา แม้ท่านจะชราภาพและได้จำพรรษาในวัดเป็นประจำแล้ว แต่ท่านยังถือธุดงค์ศรัทธาเป็นประจำ ในฤดูแล้งปีไหนมีโอกาส ท่านก็อุตส่าห์พาภิกษุสามเณรไปเดินธุดงค์อยู่ตามป่าหรือป่าช้าเป็นครั้งคราว เพื่อให้ลูกศิษย์ลูกหาได้ทราบปฏิปทาในการเดินธุดงค์ แล้วกลับมาจำพรรษาที่วัดพระพุทธบาทตากผ้า บำเพ็ญสมณธรรมอยู่ยังวัด

ท่านพร่ำสอนลูกศิษย์ลูกหาให้อยู่ในศีลธรรม จัดตั้งสำนักโรงเรียนพระปริยัติ นักธรรมบาลี จัดตั้งสำนักปฏิบัติธรรมวิปัสสนากัมมัฏฐาน พัฒนาวัดพระพุทธบาทตากผ้าให้เจริญรุ่งเรืองจนได้รับการยกย่องว่าเป็นวัดพัฒนาตัวอย่างที่มีความสำคัญทางศาสนาแห่งหนึ่งของจังหวัดลำพูน และด้วยการสั่งสมบุญบารมี คุณงามความดีของท่านนี้เองทำให้ ท่านได้รับความเคารพศรัทธาจากพระภิกษุสงฆ์ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา ศรัทธาประชาชนทุกเพศทุกวัยทั้งในประเทศ และนานาประเทศ พระครูบาเจ้าพรหมา พรหมจักโก ทรงไว้ซึ่งคุณแห่งพระสุปฏิปันโน พระอริยสงฆ์ ผู้มีความบริสุทธิ์ ปราศจากกิเลสโดยสิ้นเชิงมีจริยาวัตรอันงดงาม มีวัตรปฏิบัติเคร่งครัด มีปฏิปทาอันอุดมและมั่นคง บำเพ็ญสมณธรรมอยู่เนืองนิจ คือผู้นำประโยชน์ความสุข ความสงบให้เกิดแก่หมู่คณะ ทรงไว้คือสังฆรัตนะคุณควรบูชาสักการะแก่มนุษย์และเทวดาทั้งหลาย

2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-11-30 10:39 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
มรณภาพ

ครูบาเจ้าพรหมจักรได้บำเพ็ญสมณธรรมจนเข้าสู่วัยชราภาพ สังขารของท่านชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา อาการเจ็บไข้ได้ป่วยจึงเกิดขึ้นเป็นธรรมดา ท่านครูบาเจ้าได้เข้ารับการรักษา ณ โรงพยาบาลนครเชียงใหม่ ก่อนที่ท่านครูบาท่านจะละสังขาร ท่านครูบาได้ตื่นจากจำวัด แต่เช้าปฏิบัติธรรมตามกิจวัตร เมื่อถึงเวลาท่านลุกนั่งสมาธิ สำรวมจิตตั้งมั่นสงบระงับ ครูบาเจ้าพรหมจักรได้ดับขันธ์ (มรณภาพ) ในท่านั่งสมาธิภานา เมื่อวันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๒๗ เวลา ๐๖.๐๐ น.อายุ ๘๗ ปี ๖๗ พรรษา คณะศิษยานุศิษย์ได้ตั้งศพบำเพ็ญกุศลเป็นเวลา ๓ ปี ได้รับพระราชทานเพลิงศพ วันที่ ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๑ ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จมาพระราชดำเนินพระราชทานเพลิงครูบาเจ้าพรหมจักรด้วยพระองค์เอง หลังจากพระราชทานเพลิงเสร็จสิ้นแล้วได้เก็บอัฐิ ปรากฏว่าอัฐิของครูบาเจ้าพรหมจักรได้กลายเป็นพระธาตุ มีวรรณะสีต่างๆ หลายสี

ธรรมโอวาท

๑. คนโง่เอาใจไว้ที่ปาก คนฉลาดเอาปากไว้ที่ใจ

๒. "ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ขอให้ท่านทั้งหลายจงเก็บกำข้อธรรมะไว้ประจำจิตประจำใจ ธรรมะที่ควรตั้งไว้ในจิตในใจนั้น ท่านแสดงไว้ ๔ ประการด้วยกัน

ข้อ ๑. ปัญญา ความรอบรู้
ข้อ ๒. สัจจะ ความจริงใจ คือประพฤติสิ่งใดก็ให้ได้จริง
ข้อ ๓. จาคะ สละสิ่งเป็นข้าศึกแก่ความจริงใจ และ
ข้อ ๔. อุปปสมะ สงบใจจากสิ่งเป็นข้าศึกแก่ความสงบรวมเป็น ๔ ประการด้วยกัน

ท่านทั้งหลาย ธรรมะ ๔ ประการนี้ ท่านเรียกว่า อธิษฐานธรรม คือ ธรรมที่ควรตั้งไว้ในใจ มี ๔ อย่างตามใจความที่ได้กล่าวมานี้"

ภาพพระธาตุ



                                    


แหล่งข้อมูล-ภาพประกอบ: ตัดทอนข้อมูลจากคุณ สาธุการ (202.29.60.207) เมื่อวันที่ 21/2/2549 กระทู้
ป่องโกษา. ม.ป.ป. ล่าพระอาจารย์และท่องเชียงแสน โดยฤาษีลิงดำ. เยลโล่การพิมพ์, กรุงเทพฯ

................................................................................................

ที่มา http://www.relicsofbuddha.com/marahun/page8-2-02.htm

3#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-11-30 10:41 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
เกร็ดประวัติพระสุพรหมยานเถร
"ยิ่งกว่าน้ำแข็ง..!?!?"


จดหมายเหตุ ครูบาพรหมจักร วัดพระพุทธบาทตากผ้า
จากเวบ phuttawong.net>> จดหมายเหตุพุทธวงศ์  
โพสท์โดย เนาวสถิตย์ เมื่อ: 17 สิงหาคม 2552      
               
                                หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร
เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์แก่ผู้ได้สมาธิจิตกันทั่วไปว่า อัน "จิตหนึ่ง" ของหลวงปู่สิม พุทฺธาจาโรนั้น นอกจากจะมีพลานุภาพอันแรงกล้าอย่างมหาศาลแล้ว ก็ยังมีความเยือกเย็นอย่างยิ่งยวดแฝงอยู่ภายในอย่างท่วมท้นอีกด้วย
ความเย็นของจิตหลวงปู่สิมนั้น ช่างเย็นฉ่ำเสียยิ่งกว่าอะไรทั้งหมด
เย็นจนไม่รู้จะเปรียบเทียบกับอะไรดี
เย็นเสียจนแม้ไฟที่กำลังร้อนๆ ตกลงมา ก็แทบจะถูกความเย็นของท่าน "แช่แข็งคาที่" จนกลายเป็นไฟเย็นก็เปรียบได้.!!!!
ก็ใครที่เคยอยู่ในเหตุการณ์ตอนที่หลวงปู่ท่านโดน "ใครบางคน" กล่าววาจาล่วงเกินกลางถ้ำผาปล่องต่อหน้าธารกำนัล อันมีคณะสงฆ์และอุบาสกอุบาสิกาจำนวนมากอย่างไม่ไว้หน้า แต่ท่านกลับ "สงบเย็น" อยู่ได้เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น พลางแก้สถานการณ์ด้วยความใจเย็นจนถึงที่สุด โดยไม่ปรากฏอาการของโทสะความโกรธให้พบเห็นเลยแม้แต่เพียงน้อยเดียว ก็จะ "รู้ดี" ถึงแก่นแกนใจว่า อันหลวงปู่สิมนั้น ท่าน "นิพพุติ" อย่างสิ้นเชิงถึงเพียงไหน..???
ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องจริงแท้แน่นอนที่สุด ที่ "พุทธวงศ์" อยู่และประสพอยู่ในเหตุการณ์มาด้วยตนเอง ทำให้ซาบซึ้งถึงใจอย่างที่สุดพลางอุทานขึ้นมาในใจว่า
"นี่แหละ ท่านผู้สิ้นตัณหาแล้ว ท่านผู้สิ้นความโกรธแล้ว ย่อมเป็นดังนี้นี่แล..!!!!"
หรือแม้แต่ขณะที่หลวงปู่สิมท่านนั่งประธานปรก "พระพุทธสุริโยทัยสิริกิติฑีฆายุมงคล" ในพระอุโบสถ วัดพระแก้วเมื่อปีพ.ศ. 2534 นั้น คุณนัดดา เศรษฐบุตร เพื่อนรุ่นพี่ ศิษย์สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช วัดบวรนิเวศวิหารก็ได้ไปร่วมพิธีด้วย จนเมื่อได้กราบหลวงปู่สิมที่ธรรมาสน์ปรกเอก ก็มีเหตุให้สัมผัสได้ถึงความเย็นที่ยิ่งใหญ่ของหลวงปู่สิม ที่แผ่ซ่านออกมาจนถึงกับต้องร้องออกมาในทันทีทีเดียวว่า
"โอ้..เต็มๆ เลย เย็นไปหมดเลย..!!!???"
ก็เพราะความที่หลวงปู่ท่านเย็นสนิท เพราะดับไฟคือราคะ โทสะ โมหะออกจากจิตได้หมดสิ้นดังนี้  บางท่านถึงขนานนามให้ท่านด้วยสมัญญาพิเศษ ด้วยความเลื่อมใสเอาเสียทีเดียวว่า

4#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-11-30 10:43 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
"พระน้ำแข็ง.!!??!!"

ซึ่งเรื่อง "พระน้ำแข็ง" นี้  "พุทธวงศ์" ไม่เคยนำไปเล่าให้หลวงปู่สิมฟังเลยแม้เพียงครั้งเดียว
เพราะอยู่กับ "พระอริยเจ้าชั้นสูง" ขนาดนี้  การจะพูดจะคิดจะทำอะไร  ก็ต้องพิจารณาให้รอบคอบระแวดระวังไปทุกกระดิกที่สุด เพื่อมิให้เกิดเป็นบาปเป็นกรรมในทุกแง่มุมก่อนเสมอ
ก็การอยู่กับพระอริยเจ้านั้น "บุญ" แม้มีมาก แต่ "บาป" ก็จะมากตามไปด้วย (หากทำ,พูด, คิด ผิด)เช่นกัน
และเหตุที่หลวงปู่สิมท่านมีความเป็น "ผู้ดี" (มารยาทแบบกษัตริย์อย่างพระพุทธเจ้า-สำนวนเจ้าคุณนรรัตน์ฯ) ในเนื้อหาถึงขนาดนั้น  อีกสิ่งที่คนวงในจะเกรงกลัวกันมากก็คือ หากทำผิดท่าผิดทางแล้ว ก็อาจจะถูกหลวงปู่ท่านมองด้วยหางตาพลาง "ย้อน" กลับมาเพียงคำครึ่งคำแบบ "เชือดนิ่มๆ" (แต่กรีดลึกอย่างสุดๆ) ตามสไตล์ผู้ดีของท่าน ก็มีสิทธิ์ที่จะ "เสียศูนย์" บาดเจ็บสาหัสเจียนตายแทบจะดับดิ้นสิ้นชีวิตเอาได้ง่ายๆ..!!!!
ไม่รู้เหมือนกันว่า คนสมัยนี้จะมีวาสนาได้สัมผัสหรือเข้าใจใน "สภาวะอารมณ์เบื้องสูง" แบบ "ผู้ดีๆ" นี้บ้างหรือไม่..????
บอกได้แต่เพียงว่า  ยามใดที่ "พุทธวงศ์" เข้าไปกราบไหว้หลวงปู่สิมนั้น ก็ต้องทำบีบต้วตนกายใจให้เล็กลีบต่ำเตี้ยติดดิน เรียบร้อยมากที่สุด ไม่ต่างอะไรกับการ "เข้าเจ้าเข้านาย" เลยแม้แต่เพียงน้อยเดียว
แต่แล้วอยู่มาวันหนึ่ง ขณะที่ "พุทธวงศ์" กำลังนั่งอยู่ต่อหน้าหลวงปู่สิมที่บ้านกรุงเทพภาวนาอยู่นั่นเอง  เหมือนหลวงปู่สิมท่านจะ "สแกน(พฤติ)กรรม" ของ "พุทธวงศ์" จนล่วงรู้ที่มาที่ไปจนหมดสิ้น ว่าไปพูดไปคิด ไปทำ ไปฟัง อะไรที่ไหนกับใครมา  หลวงปู่ท่านจึงได้ "ย้อนศร" เปรี้ยงออกมาแบบ ชนิดไม่มีมโหรีปี่กลองมโหระทึกสังข์แตรดุริยางค์โหมโรงประโคมให้รู้เนื้อรู้ตัวก่อนเลยแม้แต่เพียงนิด ทำเอา "พุทธวงศ์" แทบจะผงะหงายหลังออกมาไม่ทันเลยทีเดียวว่า
"ครูบาพรหมจักรน่ะ เย็นยิ่งกว่าน้ำแข็งอีกน๊ะ..!!!???!!!"
เมื่อได้ฟัง "พุทธวงศ์" ก็แทบสะดุ้งเฮือก..!!!!!
"โดน" เข้าให้แล้ว....
"เต็มๆ จะๆ" เลย.......
หลวงปู่รู้เรื่อง "น้ำแข็ง" ได้อย่างไร..????

5#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-11-30 10:45 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้


ภาพไฟที่โชนไหม้เมรุและสรีระของครูบาพรหมจักร วันพระราชทานเพลิง อันได้ก่อตัวเป็นรูป "พระนั่งสมาธิกลางกองกูณฑ์" อย่างน่าตื่นใจยิ่งนี้ ซึ่ง "พุทธวงศ์" ถ่ายไว้ได้ด้วยตนเอง (ก่อนขึ้นไปถ่ายรูปพระธาตุ 4 ครูบา ซึ่งได้นำมาเป็นแบบต้นร่างของ "พระสุธรรมเจดีย์" ในกาลต่อมา) ก็เพิ่งจะนำมาเปิดเผยแสดงเป็นการสาธารณะให้โอกาสนี้อีกเช่นเดียวกัน
หมายเหตุ : เรื่อง "เย็นกว่าน้ำแข็ง" ที่แม้จะเป็นเรื่องประสบการณ์อภินิหารแห่งอภิญญาญาณของหลวงปู่สิม พุทฺธาจาโรเกือบตลอด แต่ก็เกี่ยวเนื่องเป็นเชิงยกย่อง ในอัจฉริยคุณอันยอดเยี่ยม ของครูบาพรหมจักร ที่หลวงปู่สิมท่านพูดกับปากของท่านเองดังนี้  เป็นเรื่องที่ "พุทธวงศ์" ไม่เคยเปิดเผยในสื่อที่ไหนมาก่อน
คงเก็บงำเงียบๆ มาเนิ่นนานถึงกว่า17 ปีเต็มๆ
เพิ่งจะนำมาแสดงเป็นวาระแรกสุดให้ปรากฏต่างเครื่องสักการบูชาไหว้สาถวายแด่ "หลวงพ่อพระพุทธบาทตากผ้า" เนื่องในวันคล้ายวันมรณภาพของ (17 สิงหาคม) นี้เป็นกรณีพิเศษโดยเฉพาะเท่านั้น
ขออำนาจแห่งคุณพระศรีรัตนตรัย อันมีพระพุทธ พระธรรม พระอริยสงฆ์เป็นที่ตั้ง จงดลบันดาลให้ชื่อเสียงเกียรติคุณและคุณธรรมสัมมาปฏิบัติอันไม่มีใดเทียบได้ของพระสุพรหมยานเถร (พรหมา พรหมจักโก) วัดพระพุทธบาทตากผ้า ต.มะกอก อ.ป่าซาง จ.ลำพูน จงบันลือลั่นภิญโญยิ่งๆ ขึ้นไปตามกาลเวลาที่ผ่านพ้น และสถิตสถาพรอยู่คู่กับแผ่นดินแผ่นฟ้า เป็นมหาสิริมงคลอันยิ่งแก่ชาติบ้านเมืองและโลกทั้งสิ้นสืบต่อไปมิรู้สิ้นสูญเที่ยงแท้ด้วยเทอญฯ
"เนาว์สถิตย์" (NAOSATITT)

.......................................................
ที่มา http://www.dharma-gateway.com/mo ... -bhroma_hist-05.htm





สาธุ....เมื่อไรที่ดับกิเลสที่ใจได้เมื่อนั้นก็จะดับร้อนได้....
ขอบคุณครับผม
ธรรมโอวาท

๑. คนโง่เอาใจไว้ที่ปาก คนฉลาดเอาปากไว้ที่ใจ

๒. "ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ขอให้ท่านทั้งหลายจงเก็บกำข้อธรรมะไว้ประจำจิตประจำใจ ธรรมะที่ควรตั้งไว้ในจิตในใจนั้น ท่านแสดงไว้ ๔ ประการด้วยกัน

ข้อ ๑. ปัญญา ความรอบรู้
ข้อ ๒. สัจจะ ความจริงใจ คือประพฤติสิ่งใดก็ให้ได้จริง
ข้อ ๓. จาคะ สละสิ่งเป็นข้าศึกแก่ความจริงใจ และ
ข้อ ๔. อุปปสมะ สงบใจจากสิ่งเป็นข้าศึกแก่ความสงบรวมเป็น ๔ ประการด้วยกัน

ท่านทั้งหลาย ธรรมะ ๔ ประการนี้ ท่านเรียกว่า อธิษฐานธรรม คือ ธรรมที่ควรตั้งไว้ในใจ มี ๔ อย่างตามใจความที่ได้กล่าวมานี้"



ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้