ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 2207
ตอบกลับ: 0
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

วัดพระธาตุลำปางหลวง

[คัดลอกลิงก์]
วัดพระธาตุลำปางหลวง เป็นสถานที่ประดิษฐานของพระอัฐินลาฎ (หน้าผาก) ข้างขวา และพระอัฐิลำคอข้างหน้า-หลังของพระพุทธเจ้า และยังเป็นวัดพระธาตุประจำปีเกิดของผู้ที่เกิดปีฉลู ตามคติความเชื่อของชาวล้านนา
ประวัติความเป็นมา
วัดพระธาตุลำปางหลวง มีประวัติที่ได้จากตำนานต่างๆ พอสรุปได้ความว่า วัดนี้มีความสำคัญตั้งแต่สมัยพุทธกาลแล้ว และยังคงความสำคัญเรื่อยมา ดังเช่น ในบางตำนานมีการกล่าวถึงการเสด็จมานมัสการพระธาตุของพระนางจามเทวี ในราวพ.ศ.1200 เศษ แต่จากลักษณะสถาปัตยกรรมภายในวัด น่าจะเชื่อว่าวัดนี้อายุอย่างน้อยก็อยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 20 ตอนปลาย และได้รับการบูรณะเสมอมา
ตามตำนานกล่าวว่า ในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระเถระสามองค์ได้เสด็จจาริกไปตามบ้านเมืองต่าง ๆ จนถึงบ้านลัมภะการีวัน (บ้านลำปางหลวง) พระพุทธเจ้าได้ประทับเหนือดอยม่อนน้อย มีชาวลัวะคนหนึ่งชื่อ ลัวะอ้ายกอน เกิดความเลื่อมใสได้นำน้ำผึ้งบรรจุกระบอกไม้ป้างมะพร้าว และมะตูมมาถวายพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ได้ฉันน้ำผึ้งแล้วทิ้งกระบอกไม้ป้างไปทางทิศเหนือ แล้วทรงพยากรณ์ว่า สถานที่แห่งนี้ต่อไปจะมีชื่อว่า ลัมพกัปปะนคร แล้วได้ทรงลูบพระเศียรได้พระเกศามาหนึ่งเส้น มอบให้แก่ลัวะอ้ายกอนผู้นั้น ลัวะอ้ายกอนได้นำพระเกศานั้นบรรจุในผอบทองคำและใส่ลงในอุโมงค์ พร้อมกับถวายแก้วแหวนเงินทองเป็นเครื่องบูชา แล้วแต่งยนต์ผัด (ยนต์หมุน) รักษาไว้ และถมดินให้เรียบเสมอกัน แล้วก่อเป็นพระเจดีย์สูงเจ็ดศอกเหนืออุโมงค์นั้น ในสมัยต่อมาก็ได้มีกษัตริย์เจ้าผู้ครองนครลำปางอีกหลายพระองค์มาก่อสร้างและบูรณะซ่อมแซม จนกระทั่งเป็นวัดที่มีความงามอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
ข้อมูลทั่วไป
วัดพระธาตุลำปางหลวง ตั้งอยู่ในเขตตำบลลำปางหลวง อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง อยู่ห่างจากตัวเมืองลำปางไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 18 กิโลเมตร ตัววัดตั้งอยู่บนเนินสูง มีการจัดวางผัง และส่วนประกอบของวัดสมบูรณ์แบบที่สุด มีสิ่งก่อสร้าง และสถาปัตยกรรมต่างๆ บริเวณพุทธาวาสประกอบด้วย องค์พระธาตุลำปางหลวงเป็นประธาน มีบันไดนาคนำขึ้นไปสู่ซุ้มประตูโขง ถัดซุ้มประตูโขงขึ้นไปเป็น วิหารหลวง
บริเวณองค์พระธาตุมีวิหารบริวารต่างๆ ตั้งอยู่ ได้แก่
  • ด้านทิศเหนือ มี วิหารน้ำแต้ม และวิหารต้นแก้ว
  • ด้านตะวันตก มี วิหารละโว้ และหอพระพุทธบาท
  • ด้านใต้ มี วิหารพระพุทธ และอุโบสถ
ทั้งหมดนี้จะแวดล้อมด้วยแนวกำแพงแก้วทั้งสี่ด้าน นอกกำแพงแก้วด้านใต้มีประตูที่จะนำไปสู่เขตสังฆาวาส ซึ่งประกอบด้วยอาคาร หอพระไตรปิฎก กุฏิประดิษฐานพระแก้วดอนเต้า อาคารพิพิธภัณฑ์ และกุฏิสงฆ์

จุดเด่นหรือสิ่งที่น่าสนใจ
วัดพระธาตุลำปางหลวง เป็นวัดไม้ที่สมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของไทย งดงามด้วยสถาปัตยกรรมเก่าแก่มากมาย ได้แก่
พระธาตุลำปางหลวง
องค์พระธาตุเจดีย์ภายในบรรจุพระบรมเกศาธาตุ ซึ่งพระพุทธเจ้ามอบให้ลัวะอ้ายกอนเมื่อครั้งพุทธกาล และลัวะอ้ายกอนได้สร้างเจดีย์สูง 7 ศอก เพื่อประดิษฐานพระเกศา เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานไปแล้ว 218 พรรษา พระกัสสะปะนำเอาอัฐิธาตุพระนลาฎข้างขวา และพระเมฆียะนำเอาอัฐิลำคอข้างหน้า-หลัง มาบรรจุไว้ พระธาตุเจดีย์ได้ถูกสร้างและบูรณะหลายครั้ง องค์ที่ปรากฏเห็นอยู่นี้ เจ้าเมืองหาญศรีธัตถะเป็นผู้สร้าง เมื่อ พ.ศ. 2039
เป็นพระธาตุประจำปีเกิดของคนปีฉลู ด้วยเริ่มสร้างในปีฉลูและเสร็จในปีฉลูเช่นกัน ฐานเป็นบัวลูกแก้ว ส่วนองค์เป็นทรงกลมแบบล้านนาภายนอกบุด้วยทองจังโก ยอดฉัตรทำด้วยทองคำ มีลายสลักดุนเป็นลวดลายประจำยามแบบต่าง ๆ ลักษณะเจดีย์แบบนี้ได้ส่งอิทธิพลต่อพระธาตุหริภุญไชย และพระบรมธาตุจอมทอง

วิหารหลวง
เป็นวิหารขนาดใหญ่ที่สร้างเมื่อ พ.ศ. 2019 โดยเจ้าหมื่นคำแพชร ภายในมีซุ้มมณฑปเป็นที่ประดิษฐานพระเจ้าล้านทองซึ่งหล่อขึ้นในพ.ศ. 2106 ด้านหลังเป็นที่ประดิษฐานพระเจ้าทันใจ บนแผงไม้คอสองมีภาพจิตรกรรมเก่าแก่งดงามเรื่องทศชาติและพรหมจักร ซึ่งเขียนเรื่องราวกลางพุทธศตวรรษที่ 25 นอกจากนี้ยังมีศิลปวัตถุที่สำคัญอีก ได้แก่ ธรรมาสน์สวด มรรมาสน์เทศน์ พุทธาภิเศก และอาสนสงฆ์ ซึ่งเจ้านายในสมัยโบราณและผู้มีศรัทธาถวายให้แก่วัด

วิหารพระพุทธ
ไม่ปรากฏว่าสร้างเมื่อใด และใครเป็นผู้สร้าง แต่ประมาณอายุไม่ต่ำกว่า 700 ปี เดิมเป็นวิหารเปิดโล่งหน้าบันเป็นลายดอกไม้ติดกระจกสี ภายในประดิษฐานพระประธานเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดใหญ่เต็มอาคารก่อด้วยอิฐถือปูน ศิลปะเชียงแสน และมีรูปเงาพระบรมธาตุปรากฏภายในวิหารด้วย

วิหารน้ำแต้ม
เมื่อหันหน้าเข้าหาวิหารหลวง ด้านขวามือ คือ วิหารน้ำแต้ม หรือวิหารภาพเขียนสี (“แต้ม” แปลว่า ภาพเขียน) สร้างเมื่อ พ.ศ. 2044 เป็นวิหารเปิดโล่งที่เก่าแก่ที่สุดอีกหลังหนึ่งทางภาคเหนือ คงรูปแบบของสถาปัตยกรรมไทยที่งดงาม ภายในไม่มีฝ้าเพดาน กำแพงด้านพระประธานเขียนภาพลายทองบนพื้นรักแดง มีภาพจิตรกรรมศิลปะล้านนาบนแผงไม้คอสองที่กล่าวกันว่าเก่าแก่ที่สุด และหลงเหลือเพียงแห่งเดียวในเมืองไทย อายุราวพุทธศตวรรษที่ 21 ลงมา แต่ปัจจุบันภาพเขียนลบเลือนไปมาก และประดิษฐานพระพุทธรูปสำริดปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 1.25 เมตร สูง 1.25 เมตร
ปล่องหนานทิพย์ช้าง
หนานทิพย์ช้างได้อาศัยปล่องนี้เล็ดลอดเข้าไปยิงท้าวมหายศแม่ทัพพม่าขณะพักไพร่พล อยู่ที่วัดนี้ ซึ่งขณะนั้นลำปางเป็นเมืองขึ้นของพม่าใน พ.ศ. 2275
ซุ้มพระบาท
สร้างครอบรอยพระพุทธบาท ฐานก่อขึ้นเป็นชั้นคล้ายฐานเจดีย์ สร้างเมื่อ พ.ศ. 1992 ภายในสามารถมองเห็นแสงหักเหปรากฏเป็นเงาพระธาตุและพระวิหารในด้านมุมกลับ แต่มีข้อห้ามไม่ให้ผู้หญิงขึ้น
พระแก้วดอนเต้า (พระแก้วมรกต)
ประดิษฐานอยู่ที่กุฏิพระแก้ว ไม่ปรากฏว่าใครเป็นผู้สร้างและสร้างเมื่อใด แต่ประมาณอายุไม่ต่ำกว่า 400 ปี มาแล้ว เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดลำปาง เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ ศิลปะล้านนาสลักด้วยหยกสีเขียว มีงานนมัสการพระแก้วดอนเต้าในวันเพ็ญเดือน 12 ของทุกปี
ประวัติพระแก้วดอนเต้า เล่าเป็นตำนานว่า สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสพยากรณ์ไว้ เมื่อทรงดับขันธ์ปรินิพพานล่วงมาแล้ว 1,000 ปี จะมีผู้มีบุญจากดาวดึงส์ลงมาจุติและได้บวชเป็นพระเถระ การณ์เป็นดังคำพยากรณ์ พระมหาเถระนั้นดำริสร้างพระพุทธรูป แต่ยังไม่ปลงใจเลือกวัสดุใด พญานาคในลำน้ำวังจึงนำแก้วมรกต(หรือ "แก้วกายสิทธิ์")ใส่ในหมากเต้า คือ แตงโมในไร่ของนางสุชาดาผู้อุปัฏฐาก นางสุชาดาเก็บแตงโมไปถวายพระมหาเถระเมื่อผ่าออกพบก้อนมรกตจึงนำมาจะแกะสลักเป็นพระพุทธรูป ก็พยายามแกะพระพุทธรูปขึ้น แต่ก็แกะไม่สำเร็จเพราะเนื้อแข็งมาก จนกระทั่งมีตาปะขาวซึ่งเป็นเทวดาปลอมตัวมาอาสาแกะพระให้ เมื่อแกะเสร็จตาปะขาวก็หายไป ครั้นเมื่อพระมหาเถรและนางสุชาดาทำการสมโภชแล้วก็ถวายพระนามพระพุทธรูปแก้วมรกตองค์นั้นว่า "พระแก้วดอนเต้า"
ต่อมาพระมหาเถระและนางสุชาดาถูกเจ้าผู้ครองนครลำปางสั่งประหาร โดยมีผู้ใส่ความว่าเป็นชู้กับพระมหาเถระ ก่อนตายนางได้ตั้งสัตยาธิษฐานว่า ถ้าตนไม่มีความผิดขอให้เลือดพุ่งขึ้นสู่อากาศ เป็นการประกาศความบริสุทธิ์เพื่อให้พระมหาเถระพ้นข้อครหา เหตุการณ์เป็นดังคำอธิษฐานของนาง เมื่อพระมหาเถระพ้นจากความผิดจึงอัญเชิญพระแก้วไปประดิษฐานยังวัดพระธาตุลำปางหลวงตราบถึงปัจจุบัน
พิพิธภัณฑ์
เป็นที่รวบรวมศิลปวัตถุจากที่ต่างๆ ที่หาชมได้ยาก เช่น สังเค็ด ธรรมาสน์ คานหาบ ตู้พระไตรปิฎก เป็นต้น

ผู้ที่มาวัดพระธาตุลำปางหลวงนอกจากจะได้นมัสการพระธาตุแล้ว ยังจะได้ชมเงาพระธาตุภายในวิหารพระพุทธและที่มณฑปพระพุทธบาท ซึ่งสามารถมองเห็นแสงหักเหปรากฏเป็นเงาพระธาตุและพระวิหารในด้านมุมกลับ
เหมาะสำหรับ
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้