ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 1865
ตอบกลับ: 1
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

ช้างปราบจักรวาฬ ช้างปราบเมืองมารยักษ์

[คัดลอกลิงก์]

ประวัติประตูช้างเผือกและตำนานอนุสาวรีย์ช้างเผือก ช้างปราบจักรวาฬ ช้างปราบเมืองมารยักษ์




“ประตูช้างเผือก เป็น ๑ ใน ๕ ประตูเมืองเชียงใหม่ตามชัยภูมิเดิม ซึ่งมีอายุกว่า ๗๐๐ ปีสร้างพร้อมกับเมืองเชียงใหม่ ถือเป็นประตูชัย ประตูเดชเมืองเชียงใหม่ เมื่อมีสิ่งกีดขวางอยู่ ย่อมทำให้บ้านเมืองวุ่นวาย ตามความเชื่อของบรรพชนที่ให้เปิดทักษาประตูเมืองให้รับพลังเดชแห่งเมืองทางทิศเหนือของเมืองเชียงใหม่”










                       การที่ระบบทักษาเมืองเชียงใหม่ ถือประตูหัวเวียง หรือประตูช้างเผือก เป็นมงคล ก็อาจจะทำให้ประตูแห่งนี้มีการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างวัตถุมากที่สุดในประตูเมืองต่าง ๆ ของเชียงใหม่ด้านทิศอื่น ๆ อีก ๔ แห่ง คือประตูท่าแพ ประตูเชียงใหม่ ประตูสวนปรุง  และประตูสวนดอก




                     

                       ประตูช้างเผือกตั้งอยู่ที่ ถนนช้างเผือก ใกล้กับสถานีขนส่งเชียงใหม่ ๑ อยู่เขตเทศบาลนครเชียงใหม่  ประตูช้างเผือกมาตามถนนช้างเผือกประมาณ ๕๐๐ เมตร ก็จะถึงอนุสาวรีย์ช้างเผือกซึ่งอยุ่ทางด้านขวามือหรือสี่แยกข่วงสิงห์เข้าเมืองตามถนนช้างเผือก ผ่านสถาบันราชภัฏเชียงใหม่ไปประมาณ ๗๐๐ เมตร อนุสาวรีย์จะอยู่ด้านซ้ายมือ









         

                     ตามประวัติกล่าวว่า  รูปปั้นช้างที่สร้างขึ้นในเมืองเชียงใหม่ มีทั้งช้างเผือกที่เป็นอนุสาวรีย์ซึ่งต่อมากลายเป็นช้างเผือกอารักษ์เมืองหรือเสื้อเมือง และช้างในฐานะอารักษ์เมืองเช่นกัน แต่ตั้งอยู่อีกแห่งหนึ่ง รูปช้างเผือกและช้างดังกล่าวมีความสำคัญต่อเมืองเชียงใหม่ ทั้งทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมความเชื่อซึ่งมีรายละเอียดที่น่าสนใจไม่น้อย  เฉพาะรูปช้างเผือกที่เป็นอนุสาวรีย์ มีประวัติความเป็นมาปรากฏในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ว่าในสมัยพระเจ้าแสนเมืองมา กษัตริย์ลำดับที่ ๗ ในราชวงศ์มังรายนั้น ล้านนากับสุโขทัยมีสัมพันธ์ไมตรีอันดีต่อกัน ครั้งหนึ่งกษัตริย์ของสุโขทัย คือ พระเจ้าไสยลือไท เกิดความขัดแย้งกับกษัตริย์อยุธยา จึงได้มีราชสาส์นมาของกองทัพเชียงใหม่ไปช่วยรบกับอยุธยา   พระเจ้าแสนเมืองมาทรงยกกองทัพไปช่วย เมื่อถึงสุโขทัยได้ตั้งทัพอยู่นอกเมืองแล้วพักพลรอให้พระเจ้าไสยลือไทออกมาต้อนรับ แต่การณ์กลับเป็นว่าสุโขทัยยกทัพเข้ารอบโจมตีทัพเชียงใหม่ในเวลาดึกของคืนหนึ่งโดยไม่ทันได้ตั้งตัว ทัพเชียงใหม่แตกพ่าย พระเจ้าแสนเมืองมาพลัดหลงออกนอกจากกองทัพ เสด็จหนีไปทางทับสลิด และได้พบกับชายสองคน คนหนึ่งชื่ออ้ายออบ อีกคนหนึ่งชื่ออ้ายยี่ระ บุคคลทั้งสองได้ผลัดกันแบกพระองค์มาตามทางจนถึงเมืองเชียงใหม่ คุณความดีครั้งนั้นพระญาแสนเมืองมาทรงได้ปูนบำเหน็ดทั้งสองเป็น  ขุนช้างซ้าย  ขุนช้างขวา แล้วให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ทางทิศใต้ของเชียงโฉมทางทิศตะวันออก จากนั้นทั้งสองได้ ให้สร้างรูปช้างเผือกไว้ซ้ายขวา โดยให้มีช่องทางเดินระหว่างช้างทั้งสองเชือก ความตอนนี้ ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับวัดพระงาม เชียงใหม่ (พ.ศ. ๒๔๖๙) ผูกที่ ๓ กล่าวว่า "…ยามเดิก เจ้าเมืองสุโขทัย แปรยอพลเสิกเข้ารบเจ้าแสนเมืองมา หมู่ชุมแตกพ่ายหนี เจ้าแสนเมืองมาพลัดช้างม้าหมู่ชุม ออกหนีมาทางทับสลิด เจ้าพบขา ๒ ฅน ผู้ ๑ ชื่ออ้ายออบ ผู้ ๑ ชื่อว่ายี่ระ ขาเปลี่ยนกันแบกเจ้าแสนเมืองมา มาต่อเท้ารอดเมืองเชียงใหม่ เจ้าแสนเมืองมาเลี้ยงขาหื้อเปนพวกช้างซ้ายขวา ขาตั้งบ้านอยู่ทางใต้เชียงโฉมฟากทางเบื้องวันออก ขาหื้อแปลงรูปช้างเผือก ๒ ตัวไว้ซ้ายขวา เทียวเข้าออกตามรูปช้างนั้น มาต่อเท้าบัดนี้แล"

ข้อความต้นฉบับจากตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับวัดพระงามเชียงใหม่



                        สมัยกรุงรัตนโกสินทร์  พระเจ้ากาวิละ เจ้าประเทศราชเชียงใหม่ได้สร้างรูปปั้นช้างเผือก 2 เชือกมีขนาดโตเท่ากับช้างตัวจริง และค่าซุ้มโค้งคลุมช้างเอาไว้ให้มองเข้าไปทางด้านหัวช้าง มีกำแพงล้อมรอบทั้ง ๔ ทิศและมีประตูเข้าออกได้ ทาด้วยสีขาวทั้งตัวช้างและกำแพง  ช้างเชือกที่หันหน้าไปทางทิศตะวันออกชื่อ ปราบจักรวาล  ช้างเชือกที่หันหน้าไปทางทิศเหนือชื่อ ปราบเมืองมาร หรือปราบเมืองมารยักษ์เมื่อวันเสาร์ขึ้น ๑๑ ค่ำ  เดือน ๗ พ.ศ.๒๓๔๓ ไว้ทางหัวเวียงนอกประตูช้างเผือก และทางฝั่งฟากตะวันออกของถนนช้างเผือก  จากการสร้างอนุสาวรีย์ช้างเผือก ๒ เชือกนี้จึงเป็นเหตุให้ในสมัยหลัง ชื่อประตูเมืองเชียงใหม่ ด้านเหนือเดิมชื่อ ประตูหัวเวียง เปลี่ยนชื่อเรียกเป็น ประตูช้างเผือก ตามชื่ออนุสาวรีย์ในปัจจุบัน


                        รูปช้างเผือกอนุสาวรีย์ของอ้ายออบกับอ้ายยี่ระ จะตั้งอยู่ที่ใดมีรูปร่างอย่างไร ผู้คนในสมัยปัจจุบันไม่มีใครพบเห็น กระนั้นก็มีนักวิชาการหลายท่านเห็นตรงกันว่าอยู่บริเวณข้างทางเข้าออกฝังซ้ายขวาของประตูหัวเวียงและด้วยเหตุนี้ ชื่อประตูหัวเวียงจึงเรียกประตูช้างเผือกแต่นั้นมา ส่วนรูปร่างคงเป็นรูปช้างเผือกตั้งอยู่คนละฟากถนน เพราะในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ระบุว่า "แปลงรูปช้างเผือก ๒ ตัวไว้ซ้ายขวาเทียว (เดิน) เข้าออกตามรูปช้างนั้น" อย่างไรก็ตาม รูปอนุสาวรีย์ดังกล่าวจะมีอายุยืนนานเพียงใดไม่ปรากฏหลักฐาน แต่พบว่ามีการสร้างรูปช้างเผือกขึ้นใหม่ ณ บริเวณใกล้เคียงกัน ในสมัยพระญาติโลกราชครั้งหนึ่งและในสมัยพระเจ้ากาวิละอีกครั้งหนึ่ง แต่การสร้างสองครั้งหลังนี้เป็นการสร้างขึ้นในฐานะอารักษ์เมืองหรือเสื้อเมือง ซึ่งต่างจากการสร้างครั้งแรกที่สร้างในฐานะเป็นอนุสาวรีย์การสร้างรูปช้างเผือกในสมัยพระญาติโลกราช อ้างตามตำนานเชียงใหม่ปางเดิม (เอกสารวิชาการร่วมสมโภช ๗๐๐ ปีเชียงใหม่ อันดับที่ ๒ สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ๒๕๓๗ หน้า ๓๓) ที่พระญาติโลกราชโปรดให้มหาอามาตย์ชื่อหมื่นด้ามพร้าคดสร้างเจดีย์หลวง ความตอนหนึ่งว่า "…หมื่นด้ำพร้าคดก่อมหาเจติยะหลวงเจ้าหลังนี้นานได้ ๑๘ ปี จิ่งบัวรมวลแล้วแล หมื่นด้ำพร้าคดก็ไปก่อพระยาช้างเผือก ๒ ตัวหัวเวียง… หมื่นด้ำพร้าคดก็สวาดทิพมนต์ศาสตรเพทในหัวใจพระยาช้างเผือก…" ถ้าเชื่อตามตำนานนี้ ก็ถือว่ามีการสร้างเป็นคำรบสองในสมัยพระญาติโลกราชกษัตริย์ลำดับที่ ๑๐ แห่งราชวงศ์มังราย และหากดูตามเจตนาจากการ "สวาดทิพมนต์ศาสตรเพทในหัวใจพระยาช้างเผือก" คือสวดร่ายมนต์ทิพย์ตามตำราศาสตรเพทใส่เป็นหัวใจพระญาช้าง ก็เป็นการสร้างเพื่อให้รูปช้างเผือกเป็นอารักษ์เมือง

   
                ส่วนการสร้างในสมัยต่อมา ปรากฏในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับวัดพระงามเชียงใหม่ลูกที่ ๗ ว่า "…อยู่มาเถิงศักราช ๑๑๖๒ ตัว ปีกดสัน …เถิงเดือน ๗ ออก ๑๑ ฅ่ำ วัน ๗ (เสาร์) ได้ก่อรูปช้างเผือก ๒ ตัวไว้ทางหัวเวียง ตัวเบ่นหน้าไปหนเหนือชื่อ ปราบจักรวาฬ ตัวเบ่นหน้าไปวันตกชื่อ ปราบเมืองมารเมืองยักษ์…" การสร้างก็เพื่อ "หื้อเปนไชยมังคละแก่รัฎฐปัชชานราษฎร์บ้านเมืองทั้งมวล" คือเป็นชัยมงคลในฐานะ อารักษ์เมือง นั่นเอง
2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-11-16 06:31 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
   
              กล่าวถึงรูปช้างนอกเหนือจากช้างเผือกดังกล่าว ยังมีช้างที่สร้างเพื่อเป็นอารักษ์เมือง อันตั้งอยู่อีกแห่งหนึ่งคือ พระญาช้างทั้งแปดที่รายล้อมอยู่ ณ องค์พระธาตุเจดีย์หลวง เรื่องนี้ตำนานเชียงใหม่ปางเดิมฉบับเดียวกันที่กล่าวอ้างมาก่อน หน้า ๓๑ - ๓๒ บอกว่า "หมื่นด้ำพร้าคดก็มาแต่งแปงก่อ พระยาช้างทัง ๘ ตัวไว้ตุ้มตีนปราสาท (องค์เจดีย์ ) หลังนั้นแล้ว ก็สวาดธิยายมนต์ทังหลายใส่แล้วใส่ยันตรเพทในหัวช้างทัง ๘ ตัวนั้น ใส่เบื้องวันออกชุตัว…"
   ทีนี้ปัญหามีอยู่ว่าในความเป็นจริง จำนวนรูปช้างที่ล้อมพระเจดีย์มีทั้งหมด ๒๘ เชือก ทำไมมีการกล่าวถึงเพียง ๘ เชือกเท่านั้นตรงนี้ มีข้อสันนิษฐานว่า ช้างทั้งแปดเป็นพระญาช้างสร้างไว้ประจำทิศทั้งแปด ส่วนที่เหลืออีก ๒๐ เชือก ถือว่าเป็นพลช้างหรือ
   




   ช้างบริวาร และเฉพาะช้างทั้งแปดขณะที่สร้างนั้นได้ลงเลขยันต์ แล้วตั้งชื่อตามชื่อยันต์ได้แก่
   ทิศอิสาน ชื่อ เมฆบังวัน
   ทิศเหนือ ชื่อ ข่มพลแสน
   ทิศพายัพ ชื่อ ดาบแสนด้าม
   ทิศประจิม ชื่อ หอกแสนลำ
   ทิศหรดี ชื่อ ปืนแสนแหล้ง
   ทิศทักษิณ ชื่อ หน้าไม้แสนเกี๋ยง
   ทิศอาคเนย์ ชื่อ แสนเขื่อนค้าน
   (อ่าน - แสนเขื่อนก๊าน)
   ทิศบูรพา ชื่อ ไฟแสนเต๋า

ชื่อของช้างทั้งแปดมีความหมายไปในทางปกป้อง ข่มขู่ และทำลาย ซึ่งอธิบายได้ดังนี้
๑.เมื่ออริราชศัตรูยกพลทัพมาประชิดเมือง ย่อมเกิดปาฏิหาริย์อาเพท เป็นเหตุให้ท้องฟ้ามัวมืดด้วยเมฆหมอกบดบังตะวัน(พระอาทิตย์)ดูน่าสะพรึงกลัว จึงได้ชื่อ "เมฆบังวัน"


๒. แม้ศัตรูจะยกพลโยธามาเป็นจำนวนมาก (แสน) ก็จะเกิดอาการมึนเมาครองสติมิได้ ด้วยอานุภาพแห่งมนต์ขลังที่ข่มไว้ จึงเรียก "ข่มพลแสน"

๓. แม้ข้าศึกศัตรูจะยกทัพมาโดยมีดาบเป็นอาวุธเป็นจำนวนแสนก็ตาม ในที่สุดก็ต้องพ่ายหนี จึงได้ชื่อ "ดาบแสนด้าม"

๔. แม้พลศึกจะถือหอกยกมาเป็นแสน ก็มีอาจทำร้ายเมืองได้ จึงได้ชื่อ "หอกแสนลำ"

๕. แม้ผู้รุกรานจะมีปืน (โบราณเรียกลูกศรว่าปืน) ที่มีแล่ง (กระบอกหรือซองบรรจุลูกศร) มาเป็นแสน ก็ต้องกระจัดกระจายพ่ายแพ้ไป จึงได้ชื่อ "ปืนแสนแหล้ง"

๖. แม้อริราชศัตรูจะมีมากมายถือหน้าไม้มาราวีเป็นแสน ก็ต้องพ่ายแพ้ไป จึงได้ชื่อ "หน้าไม้แสนเกี๋ยง"

๗. แม้ศัตรูจะมีสิ่งป้องกันภัยยกมาเป็นจำนวนมาก ก็ต้องแตกพ่ายไป จึงได้ชื่อ "แสนเขื่อนค้าน"

๘. เมื่อศัตรูยกทัพมาประชิด ก็จะเกิดอาการร้อนเร่าดุจเพลิงเผาอยู่ไม่ได้ ต้องพ่ายแพ้ไป จึงได้ชื่อ "ไฟแสนเต๋า"




พิธีเซ่นสรวงบูชา

ช้างอารักษ์เมืองไม่ว่าจะเป็นช้างเผือกที่ประตูช้างเผือก หรือช้างทั้งแปดที่วัดเจดีย์หลวง ทั้งสองแห่งถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำเมืองเชียงใหม่ คราใดที่มีข้าศึกประชิดเมืองหรือถึงกาลสมัยประจำปีจะมีพิธีเซ่นสรวงบูชา ซึ่งจะมีองค์ประกอบที่สำคัญอยู่ ๓ ประการ คือผู้ประกอบพิธี เครื่องพลีกรรมและคำโอกาสบูชา เฉพาะผู้ประกอบพิธีต้องเป็นผู้รู้และชำนาญในพิธีกรรมเป็นอย่างดี หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย ส่วนเครื่องพลีกรรมและคำโอกาสบูชา ก็ให้ถูกต้องตามที่โบราณกำหนดไว้ ซึ่งในที่นี้ขอนำเอาตัวอย่างที่ปรากฏในคัมภีร์โบราณประเภทพับสา สมบัติของคุณ จำพงษ์ ตั้งตระกูล มาเสนอเป็นลำดับไป

เครื่องพลีกรรมช้างเผือก

ในคัมภีร์โบราณกล่าวถึงเครื่องพลีกรรมช้างเผือกว่า "เครื่องบูชาช้างเผือก ๒ ตัว หัวเวียง แลตัวไหนมีฉันนี้ เทียน ๔ คู่ สวยดอก ๔ สวย พลู ๔ ช่อ ช้างขาว ๑ ฉัตรขาว ๑ ผ้าแดงลวาดหัวช้าง ๑ หม้อใหม่ ๑ พร้าว ๔ ตั้ง กล้วย ๔ หวี ชนะ ๕ เยื่อง หื้อช้างซ้าย ช้างขวาแต่งบูชา ทุงขาวยาวตัว ๑" ถอดความได้ว่า เครื่องบูชาช้างเผือก ๒ เชือกที่หัวเวียง (ทิศเหนือของเมืองเชียงใหม่) แต่ละเชือกให้มี

- เทียน ๔ คู่
- กรวยดอกไม้ ๔ กรวย
- พลู ๔ มัด
- ช่อช้าง (ธงสามเหลี่ยม) ๑ ผืน
- ฉัตรขาว ๑ คัน
- หม้อใหม่ ๑ ใบ
- มะพร้าว ๔ ทะลาย
- กล้วย ๔ หวี
- โภชนะ (อาหารคาวหวาน) ๕ อย่าง
- ตุงสีขาวขนาดยาว ๑ ผืน

ผู้ที่ทำหน้าที่บูชาแต่โบราณ ในเอกสารนี้ระบุว่า "หื้อช้างซ้าย ช้างขวาแต่งบูชา" คือให้ผู้มีตำแหน่ง "ช้างซ้าย ช้างขวา" เป็นผู้ประกอบพิธี

อิทธิฤทธิ์ของรูปช้างอารักษ์เมือง

ในตำนานเชียงใหม่ปางเดิม (เอกสารวิชาการร่วมสมโภช ๗๐๐ ปี เชียงใหม่ อันดับที่ ๒ สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ๒๕๓๗ หน้า ๓๕) กล่าวถึงอิทธิฤทธิ์ของรูปช้างเผือกในเมืองสมัยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช - ล้านช้าง (พ.ศ. ๒๐๘๙ - ๒๐๙๐) กษัตริย์ในราชวงศ์มังรายลำดับที่ ๑๗ เสด็จจากล้านช้างมาครองเมืองเชียงใหม่ ครานั้นพระองค์ในหมอช้างเสกช้างอาคมไปชนกับช้างเผือกเสื้อเมือง ๒ เชือก แต่สู้ไม่ได้ ความตอนนี้มีว่า "…เมื่อพระยาล้านช้างมากินเมือง พระยาล้านช้างว่าเมืองลูกนี้เขาเท่ามีแต่เสนาบ่ดาย เรามาเอาจักดาบ่ได้ เหตุว่าเสื้อเมืองเขาเป็นช้างเผือกเพื่ออั้นแล พระยาล้านช้างก็หื้อหมอช้างสวาดธิยายมนต์ช้างแล้ว ก็หื้อขึ้นขี่ช้างเข้าชนพระยาช้างเผือกตัวใต้แล้วก็ซ้ำชนพระยาช้างเผือกตัว เหนือเล่าหั้นแล พระยาล้านช้างก็อยู่บ่ได้ก็ลวดพ่ายหนีไปเพื่ออั้นแล คือเพื่อว่าเตชะพระยาช้างเผือกนั้นแล อันนี้ก็เปนฤทธีแห่งพระยาช้างเผือกสองตัวหัวเวียงแล"

ส่วนช้างทั้งแปดตำนานดังกล่าวมิได้กล่าวถึงเหตุการณ์ใด แต่ก็มีข้อความบอกว่าหากได้บูชาแต่ละเชือกก็เกิดฤทธานุภาพมากมาย ดังข้อความที่ว่า "พระยาช้างตัวนั้นดั่งฤาแลชื่อว่าเมฆบังวันนั้นชา คือว่าถ้าข้าเสิกมาแต่ทิศทัง ๔ ทัง ๘ ดั่งอั้นก็ดี คันว่าปูชาก็หากมืดมัวพอพรึสสะเพิงกลัวมากนัก เหตุนั้นจิ่งได้ชื่อว่าเมฆบังวัน …คันปูชาตัวถ้วน ๒ นั้น ข้าเสิกมาเขาก็เมาอยู่บ่ได้ หากพ่ายหนีไปก่อนพอเขาแล …จิ่งชื่อว่าข่มพลแสน… คันปูชาตัวถ้วน ๓ นั้น ข้าเสิกมาพอดาบแสนด้ำดั่งอั้นก็ดี เขาก็หากพ่ายหนีไปแล …จิ่งได้ชื่อว่าดาบแสนด้ำ… ปูชาตัวถ้วน ๔ นั้น ข้าเสิกมาพอหอกแสนคันก็ดี เขาก็บ่อาจจักจั้งอยู่ได้ ก็หากพ่ายหนีไปแล …จิ่งได้ชื่อว่าหอกแสนคัน… ปูชาตัวถ้วน ๕ นั้น ข้าเสิกมาพอกอนแสนแหล้งก็ดี เขาก็หากพ่ายหนีไปแล…จิ่งได้ชื่อว่ากอนแสนแหล้ง… ปูชาตัวถ้วน ๖ นั้น ข้าเสิกมาพอหน้าไม้แสนเกียงก็ดี เขาก็สดุ้งหากแตกพ่ายหนีไปเสี้ยงแล …จิ่งได้ชื่อว่าหน้าไม้แสนเกียง…ปูชาตัวถ้วน ๗ นั้น คันข้าเสิกมาช้างแสนเขื่อนค้านก็ดี ก็ตื่นท้วงแตก หากพ่ายหนีไปเสี้ยงแล …จิ่งได้ชื่อว่าแสนเขื่อนค้าน.. ปูชาตัวถ้วน ๘ นั้น ข้าเสิกมาพอไฟแสนเตาก็ดี เขาอยู่ไหนกินไหนก็บ่ได้ ก็หากพ่ายหนีไปเสี้ยงแล …จิ่งได้ชื่อว่าไฟแสนตาเพื่ออั้นแล"









ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก
-http://www.oknation.net

-http://www.thainews70.com  จากบทความ อนุสาวรีย์ช้างเผือก - ช้างเผือกและช้างอารักษ์เมืองเชียงใหม่ (๔) [วันที่ ๒๒ มกราคม ๒๕๔๙]
โดย สนั่น ธรรมธิ (ภาพประกอบโดยอภิวันท์ พันธ์สุขและพิชัย แสงบุญ )
ไทยนิวส์ – มรดกล้านนา

-นภัสนันท์  พุ่มสุโข.๒๕๔๘.ตำนานพื้นบ้านภาคเหนือ.กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์บ้านหนังสือ.หน้า๕๗-๕๙



เขียนโดย ชัชวาลย์ คำงาม
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้