ประวัติโดยย่อของท่านอาจารย์ แปลก ร้อยบาง
เดิมท่านบวชครั้งแรกที่ไหนไม่ปรากฏหลักฐาน แต่ต่อมาท่านได้มาจำวัดอยู่ที่วัดท่าเกวียน จ. ปทุมธานี เป็นเพียงพระลูกวัดธรรมดา แต่ได้มีวิชาอาคมจนถือได้ว่าเป็นผู้แก่กล้าอาคมท่านหนึ่ง
แต่เสียที่ว่าท่านมิได้เป็นผู้ที่มีแหล่งกำเนิดในบริเวณนั้น แต่มีลูกศิษย์จำนวนมาก ในขณะที่ท่านได้สร้างอนุสรณ์ที่ยังคงอยู่ที่วัดท่าเกวียนจนถึงทุกวันนี้ก็คือ รอยฝ่าพระพุทธบาท ซึ่งท่านได้นำเงินที่ลูกศิษย์และชาวร่วมทำบุญทองเหลือ นำมาหลอมหล่อเป็น ฝ่าพระพุทธบาท โลหะที่เหลือจากการหล่อท่านได้หล่อพระศรีอริยเมตไตยขึ้นจำนวน 1 องค์ เป็นพระบูชาองค์ไม่ใหญ่มากนัก สูงประมาณ 1 ศอก พระองค์ดังกล่าวเป็นพระบูชาที่ท่านนำติดตัวไว้ตลอดเวลา
หลังจากท่านได้หล่อฝ่าพระพุทธบาทแล้ว ท่านได้จัดให้มีการปิดทอง 2 ครั้ง วิธีการคือท่านจะสานไม้ไผ่ที่มีอยู่บริเวณวัดจำนวนมากเป็นฝาแฝกสานไม้ไผ่ทำทางเป็นแบบเขาวงกต กั้นทางเดินสลับไปสลับมา เป็นค่ายกลลวง เหตุที่ทำเช่นนี้เข้าใจว่าเป็นปริศนาธรรมอย่างหนึ่ง ความหมายน่าจะเป็นการสอนให้คนรู้ว่าการเข้าถึงพระธรรมนั้น ไม่ยากแต่ไม่ง่าย อยู่ที่สมาธิ สติ ปัญญา ก็จะถึงซึ่งพระธรรมนั่นเอง
ในเวลาต่อมา สมภารได้สิ้นอายุลง ในขณะนั้นเห็นจะมีแต่ท่านเท่านั้นที่อาวุโส ทั้งวัยวุฒิและคุณวุฒิ แก่กลัววิชาอาคม สามารถที่จะปกครองวัดได้ เสียแต่ว่าท่านมิใช่ผู้ที่มีแหล่งกำเนิด ณ ที่นั้น จึงได้รับการต่อต้านจากผู้มีอิทธิพลในพื้นที่นั้น ไม่ให้ขึ้นเป็นใหญ่ในวัด และต้องการให้พระอีกองค์ ซึ่งเป็นญาติได้ขึ้นครองวัดแทน ด้วยเพราะท่านเป็นผู้รักสันโดษสงบ เรียบง่าย ไม่วุ่นวาย ไม่ปรารถนาในลาภยศสรรเสริญบารมี จึงได้ย้ายไปจำวัดอยู่ที่วัดย่านคลองสอง ซึ่งเป็นบ้านเกิด
หลังจากย้ายมาจำวัดใกล้บ้านเกิด ซึ่งสมัยก่อนมีสภาพทุรกันดาร เป็นวัดเล็กๆ มีพระจำพรรษาน้อยองค์ เหตุที่ท่านต้องสึกจากสงฆ์ เกิดจากสมภารในสมัยนั้น ได้นำสิ่งของล้ำค่าของวัดไปขาย นำรายได้มาใช้ส่วนตัว หรือจะนำมาใช้ในการซ่อมแซมวัด ไม่มีหลักฐานยืนยันชัดเจน ทำให้ท่านลุกขึ้นคัดค้าน เพราะของในวัดทุกชิ้นเป็นสมบัติของสงฆ์ มิใช่ของพระสงฆ์รูปใดรูปหนึ่ง
จนสร้างความไม่พอใจให้กับสมภาร ถึงกับออกปากไล่ หรืออยู่ได้ก็อยู่ อยู่ไม่ได้ก็สึกออกไป การคัดค้านไม่เป็นผล เพราะท่านเป็นเพียงพระลูกวัด โดยวินัยของสงฆ์แล้ว ไม่สามารถฟ้องทางโลกได้ ประกอบกับได้มีการท้าทายว่า ถ้าท่านแน่จริงให้สึกออกมาสู้กันว่าใครจะแพ้ชนะ
เมื่อเป็นเช่นนั้น ท่านจึงต้องสึกออกมาต่อสู้ทางโลก ผลปรากฏว่าสมภารกระทำผิดจริง จึงต้องสึกออกไปรับโทษทางกบินเมือง ตัวท่านอาจารย์แปลกเองก็มิได้กลับมาบวชอีก คงใช้ชีวิตสันโดษอยู่ในเรือประทุนลำน้อย ลอยเรือไปตามแม่น้ำลำคลอง เดินทางไปไม่มีจุดหมายปลายทาง ค่ำไหนนอนนั่น
ส่วนใหญ่จะเป็นหน้าวัดที่เรือลอยผ่าน เรือของท่านจะไม่มีพาย แต่จะมีไม้ไผ่ใช้สำหรับปักหลักผูกเชือก
มีการเล่าขานกันจากปากต่อปาก จากรุ่นปู่ย่าตายาย สู่รุ่นพ่อแม่ มาถึงรุ่นหลาน เหลน ว่าครั้งหนึ่งท่านอาจารย์แปลก ร้อยบาง ได้ลอยเรือผ่านมาทางวัดสะพานสูงเจริญราษฏร์ (วัดสะพานสูงปัจจุบัน) เรือของท่านได้ลอยมาชนกับตลิ่งวัดสะพานสูง
หลังจากนั้นท่านได้ผูกไว้กับเสาหลักที่ตลิ่งวัด แล้วเดินเข้าไปยังกุฏิพระท่านหนึ่ง ท่านจึงก้มลงกราบแล้วกล่าวขึ้นว่า “ท่านอาจารย์จูงเรือกระผมมาทำไม” พระรูปนั้นกล่าวตอบว่า
*
“เห็นว่าน้ำจะหลากกลัวว่าจะลำบาก จึงอยากให้มาพักอยู่ที่วัดก่อน” จากคำบอกเล่าต่อกันมา ทำให้ทราบว่า พระองค์นั้นคือหลวงปู่กลิ่น และคำกล่าวของท่านเป็นที่น่าอัศจรรย์ยิ่งนัก ในเวลาต่อมาไม่นานน้ำหลากท่วมใหญ่ ซึ่งสามารถกล่าวได้ว่า ทั้งท่านหลวงปู่กลิ่นและท่านอาจารย์แปลก ร้อยบาง สามารถสนทนาได้อย่างผู้รู้ ผู้ถึง ไม่ต้องกล่าวสาธยายให้มากความ รู้เขา รู้เรา รู้ระดับ รู้ชนะ รู้วรรณะ วางตัวได้อย่างเหมาะเจาะเหมาะสม ไม่ก้าวล่วง ไม่เกินเลย อยู่อย่างผู้รู้ มีแต่ความเคารพกับความศรัทธาให้กันและกัน
สำหรับชีวประวัติของท่านอาจารย์แปลกฯ หลวงพ่อวาส ซึ่งเป็นศิษย์องค์หนึ่ง ท่านได้กล่าวว่าใครจะเล่าอย่างไรก็ว่าอย่างนั้น ใครเขาจะว่าอย่างไรก็ช่างเขา ไม่อยากจะกล่าวอะไรมากเดี๋ยวจะไปขัดคัดค้านกับผู้ที่พยายามจะเขียนชีวประวัติ เรื่องของเขาก็เรื่องของเขา เรื่องของเราก็ของเรา รู้เท่าที่รู้ ก็พอสังเขปแล้ว
สำหรับชีวิตบั้นปลายของท่านอาจารย์แปลก ร้อยบาง ท่านได้ย้ายไปที่ปากคลองบางซื่อริมแม่น้ำเจ้าพระยา ฝั่งตรงข้ามวัดแก้วฟ้า สี่แยกเกียกกาย กรุงเทพ โดยลูกศิษย์ที่เป็นทหารเรือ ได้ชัดชวนท่านให้มาอยู่บ้านเช่าบริเวณดังกล่าว
และต่อมาได้ย้ายเข้าไปอยู่ที่บ้านใกล้วัดประดู่ธรรมาธิปัตย์ ที่อยู่ในคลองบางซื่อนั้น โดยลูกศิษย์ที่เป็นทหารเรือเป็นผู้สร้างให้เป็นหลังไม่ใหญ่ชั้นเดียวมีห้องกลางหนึ่งห้อง ฝากั้น ประตูเปิด สำหรับห้องนอน มีนอกชานแล่นสำหรับรับลูกศิษย์ลูกหา ทำให้ท่านหมดความจำเป็นต้องใช้เรืออีก จึงได้ขายไป
ขณะนั้นท่านมีครอบครัวแล้ว มีลูกผู้หญิง สองคน ลูกชายคนเล็กหนึ่งคน ต่อมามีลูกศิษย์ที่เป็นชาวต่างประเทศมาขอลูกสาวไปเป็นบุตรบุญธรรม แต่ท่านไม่ให้ ลูกศิษย์คนดังกล่าวได้อ้อนวอนอยู่นาน ซึ่งท่านได้พิจารณาแล้วเห็นว่าศิษย์คนดังกล่าวนั้น มีความศรัทธาท่านจริงและเป็นคนดีมีศีลธรรม ท่านจึงมอบลูกชายคนเล็กให้ไปพร้อมกันมอบตะกรุดเงินให้ติดตัวไปหนึ่งดอก
ในระหว่างที่อยู่ที่บ้านใกล้วัดประดู่ฯ นั้น มีลูกศิษย์ชื่อ “จั๊ว” บ้านอยู่แถวหัวลำโพงได้ไปมาหาสู่ประจำคอยดูแลรับใช้ไม่ให้ขัดสน ในเวลาต่อมาท่านได้สิ้นบุญ ณ ที่แห่งนั้น
ปัจจุบันหลวงพ่อวาส ได้นำอัฐิของท่านอาจารย์แปลก มาบรรจุรวมกันกับอัฐิโยมบิดา โยมมารดาอยู่ในเจดีย์เดียวกัน ณ วัดสะพานสูง ปากเกร็ด นนทบุรี แสดงให้เห็นว่าหลวงพ่อวาส ซึ่งเป็นศิษย์มีความกตัญญูกตเวทีต่อ บิดา มารดา ครูบาอาจารย์ ไม่ให้หวังสิ่งตอบแทน แม้แต่ตะกรุดของท่านอาจารย์ หลวงพ่อก็ไม่มีติดตัว ที่ได้มาเมื่อครั้งท่านอาจารย์มีชีวิต ก็มอบต่อให้ผู้อื่นหมด คงมีแต่วิชาที่ได้ร่ำเรียนมาจนถึงทุกวันนี้ สำหรับสมบัติชิ้นสุดท้ายที่ท่านอาจารย์แปลก ฯ ได้เก็บไว้ให้ศิษย์ชื่อ “จั๊ว ” คือตะกรุดโทนเงิน จำนวน 2 ดอก แต่ได้ถูกผู้คุ้นเคยท่านหนึ่งหยิบไป โดยไม่ได้รับอนุญาต แต่จะเป็นเพราะเหตุใดไม่ทราบ ผู้ครองตะกรุดดังกล่าวต้องประสบกับเหตุการณ์ ไฟไหม้บ้านถึงสองครั้ง ทำให้ต้องขายตะกรุดดังกล่าวให้หลวงพ่อวาส เพื่อใช้เป็นทุนในการสร้างบ้านในเวลาต่อมา
เรื่องตะกรุดดังกล่าวนี้ หลวงพ่อวาส ท่านได้ทราบเรื่องมาแต่ต้นและติดตามตะกรุดดังกล่าวคืนมาได้เพียง 1 ดอก แล้วนำไปคืนให้กับ “จั๊ว”
สิ่งที่เป็นถาวรวัตถุที่ท่านอาจารย์แปลก ร้อยบาง ได้สร้างไว้เป็นอนุสรณ์แห่งมงคลชีวิต ในปัจจุบันที่หลงเหลืออยู่ คือ ตะกรุดโทน กับตะกรุดพวง และสร้างฝ่าพระพุทธบาท หล่อที่วัดท่าเกวียน ในสมัยอาจารย์ดี (สมภารในยุคต่อมาเมื่อท่านได้สึกแล้ว)
รวมทั้งพระพุทธรูปบูชา “พระศรีอาริยเมตไตย” ซึ่งปัจจุบันไม่ทราบว่าอยู่ที่ใด หรือใครครองอยู่
ที่มา...http://shop.mongkhonphra.com/content/14-arjanpag
|