แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย Sornpraram เมื่อ 2013-5-26 08:08
ตำนานการกวนเกษียรสมุทร
http://www.youtube.com/watch?v=dEExdnzXKnY
กล่าวถึงสรวงสวรรค์นั้นมีเหล่านางฟ้าที่งดงามอยู่เกินกว่าจะคณานับได้แต่นางฟ้าที่ได้ชื่อว่างามที่สุดมีนามว่าอุรวศีรองลงมาคือนางเมนะกา วันหนึ่งนางเมนะกานำพวงมาลัยไปถวายให้แก่ฤาษีทุรวาส ต่อมาพระอินทร์ได้ทรงเทพพาหนะคือช้างไอราวัตหรือช้างเอราวัณผ่านมา ฤาษีทุรวาสมีศรัทธาปรารถนาจะถวายพวงมาลัยที่ได้มาแต่นางเมวะกานั้นแด่พระอินทร์ผู้เป็นสวรรคาธิบดีปกครองสรวงสวรรค์ พระอินทร์รับพวงมาลัยแล้วจึงเอามาแขวนไว้ที่งวงช้าง พลันช้างเอราวัณไม่พึงใจกลิ่นจากพวงดอกไม้นั้นก็แกว่งงวงจนมาลัยตกลงพื้นยังเหตุให้ฤาษีทุรวาสบังเกิดโทสะจึงกล่าวแก่พระอินทร์ว่าพวงมาลัยนั้นเป็นที่สถิตแห่งมงคลทั้งปวงจึงควรได้รับการปฏิบัติดูแลดีกว่านี้ ด้วยเพลิงพิโรธนั้นจึงสาปให้เหล่าเทวดาทั้งหลายเสื่อมด้วยอิทธิฤทธิ์และอำนาจทั้งปวง
ข้างฝ่ายอสูรนั้นมีเรื่องบาดหมางกับเทวดามากมายมาแต่เดิม หนึ่งในนั้นคือความพยายามที่จะช่วงชิงสรวงสวรรค์มาจากหมู่เทพ ฝ่ายอสูรบ้างก็มีอาวุธวิเศษ บ้างก็มีพรวิเศษซึ่งได้รับประทานมาจากมหาเทพทั้งสาม(พระศิวะ พระวิษณุ พระพรหม) ซึ่งหากใครบำเพ็ญภาวนาถึงพระองค์จนสมควรแก่กาลแล้ว พระองค์จะร้อนรนจนต้องมาปรากฏต่อหน้าเพื่อประทานในสิ่งที่ผู้นั้นปรารถนาซึ่งบ่อยครั้งพรวิเศษเหล่านี้จะนำมาซึ่งปัญหาในภายหลังให้พระนารายณ์(พระผู้ดูแลสันติสุขของโลก) ต้องคอยตามบำราบอยู่ร่ำไป
เมื่ออสูรได้รับอาวุธและพรวิเศษจากมหาเทพแล้วก็มีอิทธิฤทธิ์เพิ่มพูนขึ้น อีกทั้งรูปร่างกายาก็แข็งแรงกว่าเทวดาที่มีรูปพรรณสัณฐานอ่อนช้อยซ้ำยังโดนคำสาปจากฤาษีทุรวาสให้มีฤทธิรุธเสื่อมถอยลงทำให้เหล่าเทวดาบาดเจ็บล้มตายไปเป็นอันมากในการต่อสู้ วันหนึ่งพระอินทร์นำความขึ้นทูลปรึกษาพระนารายณ์เรื่องเหล่าอสูรที่นับวันจะทวีฤทธานุภาพจนยากจะรับมือ พระนารายณ์สดับดังนั้นจึงแนะนำให้พระอินทร์ตั้งพิธีกวนเกษียรสมุทรเพื่อทำน้ำอมฤตซึ่งหากเทวดาได้ดื่มแล้วจะทำให้เป็นอมตะและเพิ่มพูนฤทธาขึ้นมาก เมื่อถึงครั้งนั้นต่อให้เหล่ายักษ์มีกำลังเท่าใดก็ไม่สามารถทำอันตรายปวงเทพได้
อันเกษียรสมุทรนั้นตั้งอยู่ในทิศตะวันออกของจักรวาลมีน้ำสีขาวคือเกษียรแปลว่าน้ำนมไหลเต็มอยู่ตลอดปี การจะกวนเกษียรสมุทรเพื่อให้ได้มาซึ่งน้ำอมฤตเป็นการใหญ่ที่หมู่เทวดาเพียงลำพังจะกระทำกันเองไม่ได้เพราะมีเรี่ยวแรงน้อย ดังนั้นจึงหลอกล่อเหล่าอสูรโดยสัญญาว่าเมื่อได้น้ำอมฤตแล้วก็จะแบ่งกันดื่มเพื่อความเป็นอมตะตลอดไป
เหล่าอสูรได้ฟังดังนั้นก็กระหยิ่มยิ้มย่องตกลงสมานฉันท์ร่วมแรงร่วมใจในพิธีครั้งนี้โดยเริ่มจากช่วยเหล่าเทวดาถอนเขามันทระซึ่งมีความสูงพ้นพื้นดิน 11000 โยชน์ และหยั่งฐานรากอยู่ใต้ดินอีก 11000 โยชน์(หลังๆมักสับสนกันว่าใช้เขาพระสุเมรุ) เพื่อใช้เป็นไม้กวนเกษียรสมุทร ใช้พญานาควาสุกรีผู้เป็นพี่ของพญาเศษะ(พญาอนันตนาคราชหรือพญานาคพันเศียรที่เป็นแท่นบรรทมของพระนารายณ์เวลาประทับอยู่เหนือเกษียรสมุทรหรือนารายณ์บรรทมสินธุ์) ต่างเชือกพันกับเขามัทระทั้งยังโปรยสมุนไพรอันเป็นทิพย์ลงในเกษียรสมุทรอีกด้วย ฝ่ายเทวดารู้ว่าเมื่อพญาวาสุกรีถูกชักลากไปมาจนเวียนหัวจะสำรอกพิษออกทางปากจึงออกอุบายเยินยอเหล่าอสูรว่าเป็นผู้มีกำลังมากสมควรได้รับเกียรติให้ถือฝั่งหัวพญานาคส่วนเหล่าเทพผู้มีฤทธิ์น้อยจะขอถือฝั่งหางเอง ข้างฝ่ายอสูรได้ยินคำเยินยอเช่นนั้นก็หลงเข้าใจว่าปวงเทวาให้เกียรติจึงรับคำจะถือฝั่งเศียรพญานาคเอง
พระนารายณ์ในฐานะองค์ต้นดำริการกวนเกษียรสมุทรมีส่วนช่วยให้การครั้งนี้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดีเป็นอันมาก โดยพระองค์ประทับนั่งเหนือเขามันทระที่ใช้ต่างไม้พาย แล้วแบ่งภาคหนึ่งลงช่วยเหล่าเทพชักพญาวาสุกรีเนื่องจากลำพังหมู่เทวะเองมีกำลังน้อย พระนารายณ์ยังทรงแจ้งด้วยทิพยญาณว่าเกษียรสมุทรเมื่อถูกเขามันทระกวนไปเรื่อยๆจะทะลุแล้วน้ำจะไหลไปท่วมมนุษยโลกพระองค์จึงแบ่งภาคเป็นเต่า(กุรมะ) ใช้กระดองรองรับเกษียรสมุทรไว้จึงเป็นที่มาของกุรมะวตารอันเป็นปางที่สามในนารายณ์สิบปาง ระหว่างที่กวนเกษียรสมุทรอยู่นั้น พญาวาสุกรีถูกดึงไปมาก็เกิดเวียนหัวจึงสำรอกพิษร้ายซึ่งกระเด็นไปโดนเหล่าอสูรเป็นที่ปวดแสบปวดร้อนจึงเป็นเหตุให้เหล่าอสูรมีหน้าตาผิวพรรณตะปุ่มตะป่ำนับแต่นั้นเป็นต้นมา
|