พญากาฬนาคราช หรือ พญากาฬภุชคินทร์ มีอายุมากจะหลับอยู่เป็นนิตย์ จะตื่นต่อเมื่อได้ยินเสียงถาดทองที่พระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ทรงลอยลงไปกระทบกับถาดที่มีอยู่เดิม ตามประวัติว่ามีอยู่แล้ว ๓ ถาด เป็นของพระพุทธกุกกุสันธ ๑ พระพุทธโกนาคมน์ ๑ และพระพุทธกัสสป ๑ แสดงว่าพญากาฬนาคราชได้พบพระพุทธเจ้ามาแล้ว ๓ พระองค์ มาตื่นอีกครั้งเมื่อพระพุทธเจ้าองค์ที่ ๔ และจะมีอายุยืนต่อไปจนถึงพระศรีอารยเมตไตรยมาตรัส ขณะนี้กำลังนอนหลับอยู่ เรียกว่านอนคอยพระพุทธเจ้าโดยแท้ นอกจากพญากาฬภุชคินทร์แล้วยังมีนาคสำคัญอีกตนหนึ่ง บังเกิดสระโบกขรณี (โปรกขรณี = สระบัวหรือตระพังน้ำ) ซึ่งอยู่ใกล้ต้นจิกที่ประทับของพระพุทธเจ้าคือหลังจากประทับ ณ ภายใต้ไม้อัชปาลนิโครธ (ต้นไทร) ครบ ๗ วันแล้ว ได้เสด็จไปสู่มุจลินท์ไม้จิกประทับภาคใต้ร่มไม้จิกอีก ๗ วันในระหว่างนั้นมีเมฆครื้มและมีฝนตกตลอดทั้ง ๗ วัน พญามุจลินทนาคราชทราบเหตุแปรปรวนของเมฆฝน จึงขึ้นมาจากสระก็แลเห็นบุรุษหนึ่งนั่งอยู่ใต้ต้นจิก มีลักษณะงามเปล่งปลั่งก็นึกในใจว่า “ท่านผู้นี้มีสิริวิลาศเลิศ ชะรอยจะเป็นเทพดาพิเศษประดับด้วยฉัพพรรณรังสี” ฉัพพรรณรังสีได้แก่รัศมี ๖ ประการ ได้แก่ ๑. นีล สีเขียวเหมือนดอกอัญชัน ๒. ปีต สีเหลืองเหมือนหรดาลทอง ๓. โลหิต สีแดงเหมือนตะวันอ่อน ๔. โอทาต สีขาวเหมือนแผ่นเงิน ๕. มัญเชฐ สีหงสบาท สีเหมือนดอกเซ่งหรือหงอนไก่ ๖. ประภัสสร สีเสื่อมพรายเหมือนแก้วผลึก ฉัพพรรณรังสีนี้น้อยคนนักที่จะได้เห็น พญามุจลินทนาคราชเห็นแล้วก็ทราบชัดว่าเป็นพระพุทธเจ้ามาตรัส และที่เสด็จมาสู่นิวาสสถานแห่งตนนั้น ก็ด้วยพระมหากรุณา เป็นมหาบุญลาภอันใหญ่ยิ่ง สมควรที่ตนจะต้องช่วยปกป้องมิให้พระองค์ถูกต้องลมฝน เมื่อคิดเช่นนั้นแล้วก็เข้าไปขดขนดกายได้ ๗ รอบแวดล้อมองค์พระศาสดาจารย์ แล้วก็แผ่พังพานอันใหญ่ขึ้นป้องปกเบื้องบน เพื่อให้พ้นจากอากาศร้อนและเย็น เมื่อต้องแดดลมและฝน ทั้งยังช่วยปัดเป่ายุงและงูต่างๆ มิให้มาสัมผัสพระวรกาย ครั้นล่วง ๗ วันไปแล้วฝนก็หยุด พญามุจลินท์จึงคลี่คลายขนดกายออก แปลงกายเป็นมนุษย์น้อมกายถวายอัญชลีเฉพาะพระพักตร์สมเด็จพระสัพพัญญู
http://www.siamganesh.com/hindu/archives/346
|