ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 5195
ตอบกลับ: 19
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

~ หลวงปู่ครูบาอิน อินโท วัดคันธาวาส(วัดทุ่งปุย) ~

[คัดลอกลิงก์]


ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่ครูบาอิน อินโท


วัดคันธาวาส (วัดทุ่งปุย)
ต.ยางคราม กิ่ง อ.ดอยหล่อ จ.เชียงใหม่



๏ อัตโนประวัติ

“พระครูวรวุฒิคุณ”  หรือ “หลวงปู่ครูบาอิน อินโท” หรือ “ครูบาฟ้าหลั่ง-ฟ้าลั่น” อมตะมหาเถราจารย์แห่งนพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่ ผู้สูงยิ่งด้วยศีล จริยาวัตร และพุทธาคม เชี่ยวชาญสรรพวิชาตามตำราโบราณล้านนา จนเป็นที่ประจักษ์ทั่วไป ดังคำกล่าวของบรรดาพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบที่ว่า

“ขอเธอจงไปกราบครูบาอินที่เชียงใหม่และขอศึกษาวิชาจากท่านให้ดีๆ เถิด ท่านเป็นพระผู้เก่งกล้าสามารถมากจริงๆ”   เป็นคำกล่าวของหลวงพ่อกวย ชุตินฺธโร วัดโฆสิตาราม บ้านบ้านเเค ตำบลบางขุด อำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท

“ดีอยู่แล้ว ดีอยู่แล้ว พระของครูบาอิน ไม่ต้องเสกอะไรอีกแล้ว” เป็นคำกล่าวของหลวงพ่อเกษม เขมโก สำนักสุสานไตรลักษณ์ (ป่าช้าศาลาดำ) ตำบลสบตุ๋ย อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง

“จิตของครูบาอิน ประภัสสรยิ่งแล้ว” เป็นคำกล่าวของหลวงพ่อชม วัดโป่ง จังหวัดชลบุรี

“ครูบาอิน ท่านมีจิตมีจิตบริสุทธิ์ผุดผ่องยิ่งเลยทีเดียว” เป็นคำกล่าวของครูบาเจ้าชัยยะวงศาพัฒนา (ครูบาวงศ์) วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม ตำบลนาทราย อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน

“หลวงปู่ครูบาอิน วัดฟ้าหลั่งนั้น ดีที่หนึ่งเลย” เป็นคำกล่าวของหลวงปู่สิม พุทธาจาโร สำนักสงฆ์ถ้ำผาปล่อง  ตำบลบ้านถ้ำ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่

“ครูบาอินท่านเป็นพระสุปฏิปันโน ผู้ประพฤติดี ปฏิบัติชอบนะ” เป็นคำกล่าวของหลวงพ่อดาบส สุมโน อาศรมไผ่มรกต บ้านลูกกลอน ตำบลป่าอ้อดอนชัย อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย  ฯลฯ

ขออภัย! โพสต์นี้มีไฟล์แนบหรือรูปภาพที่ไม่ได้รับอนุญาตให้คุณเข้าถึง

คุณจำเป็นต้อง ลงชื่อเข้าใช้ เพื่อดาวน์โหลดหรือดูไฟล์แนบนี้ คุณยังไม่มีบัญชีใช่ไหม? ลงทะเบียน

x
2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-10-22 14:27 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

หลวงพ่อกวย ชุตินฺธโร


หลวงพ่อเกษม เขมโก
3#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-10-22 14:27 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
หลวงปู่ครูบาอิน อินโท ถือเป็นพระเถระสำคัญผู้เจริญด้วยพรรษาสูงแห่งเชียงใหม่ อีกทั้งยังเพียบพร้อมด้วยคุณธรรมและเมตตาธรรม ที่มีให้แก่ผู้เคารพนับถือตราบวาระสุดท้ายของชีวิต อันเป็นเหตุให้สมควรนำเถรประวัติและคำสอนของท่าน มาเผยแพร่เป็นสังฆบูชาสืบต่อไป

พระครูวรวุฒิคุณ มีนามเดิมว่า  อิน วุฒิเจริญ เป็นบุตรของนายหนุ่ม-นางคำป้อ เขียวคำสุข ท่านเกิดเมื่อวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๔๖ (ตรงกับวันเสาร์ แรม ๕ ค่ำ เดือน ๓ เหนือ ปีเถาะ) ณ บ้านทุ่งปุย ตำบลยางคราม  กิ่งอำเภอดอยหล่อ จังหวัดเชียงใหม่ ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ (ปีที่ครองราชย์ พ.ศ.๒๔๑๑-๒๔๕๓) โดยเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ในขณะนั้นคือ เจ้าอินทรวโรรสสุริยวงษ์ (ครองเมืองเชียงใหม่ พ.ศ.๒๔๔๔-๒๔๕๒) ท่านได้เล่าชีวประวัติว่า ท่านมีพี่น้องร่วมบิดามารดา ๕ คนด้วยกัน คือ

๑. นายแก้ว  เขียวคำสุข (ถึงแก่กรรมแล้ว)
๒. พระครูวรวุฒิคุณ (มรณภาพแล้ว)
๓. นางกาบ  ใจสิทธิ์ (ถึงแก่กรรมแล้ว)
๔. พ่อหนานตัน เขียวคำสุข (ถึงแก่กรรมแล้ว)
๕. นางหนิ้ว ธัญญาชัย (ถึงแก่กรรมแล้ว)

พระครูวรวุฒิคุณ อธิบายถึงเรื่องที่ท่านใช้นามสกุลต่างไปจากบิดามารดาและพี่น้องว่า เนื่องจากสมัยก่อนไม่มีการใช้นามสกุล เมื่อมาเริ่มใช้ในสมัยหลัง (รัชกาลที่ ๖) ต่างคนต่างก็ตั้งนามสกุลกันเอง ตัวท่านบวชอยู่ ท่านก็แต่งนามสกุลเองว่า “วุฒิเจริญ” เพื่อให้เป็นความหมายมงคลในความเจริญในพระพุทธศาสนา

ท่านเล่าว่า ท่านเติบโตมาในครอบครัวชาวนา ชีวิตในวัยเด็กก็เรียบง่ายไม่ต่างไปจากเด็กสมัยนั้นโดยทั่วไป คือช่วยเหลือครอบครัวทำงาน พออายุได้ ๑๑-๑๒ ปี ก็ไปอยู่วัดเพื่อเรียนหนังสือ ท่านว่าสมัยก่อนเด็กอายุเท่านี้ก็ยังดูเป็นเด็กอยู่ ตัวไม่ใหญ่โต เนื่องจากสมัยก่อนเด็กกินนมแม่ ไม่ได้บำรุงด้วยนมวัวเช่นในปัจจุบัน เมื่อมีลูกศิษย์ถามถึงอุปนิสัยในวัยเด็กของท่านว่ามีแววอย่างไรบ้าง ถึงทำให้ท่านบวชอยู่ในพระพุทธศาสนานานจนถึงทุกวันนี้ ท่านตอบแต่เพียงว่าท่านก็มีความเมตตาเอ็นดูสัตว์ ไม่เคยทรมานสัตว์


หลวงพ่อชม วัดโป่ง จ.ชลบุรี


ครูบาเจ้าชัยยะวงศาพัฒนา (ครูบาวงศ์)
4#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-10-22 14:28 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๏ เป็นเด็กวัดทุ่งปุย

ท่านกำพร้าพ่อก่อนที่จะเข้าไปอยู่ในวัดทุ่งปุย พ่อของท่านเสียชีวิตตั้งแต่ยังหนุ่มอยู่ ท่านว่าอายุประมาณ ๕๐ ปี โดยมแม่จึงต้องรับพาระในการเลี้ยงดูบุตรธิดา โดยมีพี่ชายคนโตของท่านเป็นหลักช่วยครอบครัว ส่วนท่านเอง หลังจากเข้ามาเป็น “เด็กวัด” ที่วัดทุ่งปุย (วัดคันธาวาส) ตำบลยางคาม ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ประจำหมู่บ้าน แล้วท่านก็อยู่ในบวรพระพุทธศาสนามาโดยตลอด

ชีวิตการเป็นเด็กวัดสมัยก่อน คือการอยู่วัด นอนวัด ช่วยทำงานในวัด อุปัฏฐากครูบาอาจารย์ไปพร้อมๆ กับการศึกษาเล่าเรียน การเรียนเบื้องต้นจะเรียนตัวเมือง (ภาษาล้านนา) และเรียนสวดมนต์บทต่างๆ โดยมีพระภิกษุเป็นผู้สอน กิจวัตรประจำวันของเด็กวัดอย่างท่าน ตามที่ท่านได้เล่าให้ฟังก็คือ เช้าไหว้พระสวดมนต์ เสร็จแล้วก็ไปทวนหนังสือที่ศาลา สมัยก่อนเรียนด้วยกระดานดำ ครูเขียนให้ท่อง เมื่อจำได้แล้วก็ลบเพื่อต่อเรื่องใหม่ ทุกครั้งที่ต่อเรื่องใหม่ ครูผู้สอนจะให้ท่องของเก่าก่อน ถ้าท่องได้ถึงจะต่ออันใหม่ให้

ที่จริงแล้วการเรียนภาษาล้านนาและบทสวดมนต์ต่างๆ ของเด็กวัด ก็คือพื้นฐานของการบวชเณร ธรรมเนียมปฏิบัติของคนล้านนาในอดีต นิยมบวชเณรมากกว่าอุปสมบทเป็นพระภิกษุ คนที่จะบวชเณรได้จะต้องเป็นเด็กวัดก่อนสักหนึ่งหรือสองปี เพื่อศึกษาเตรียมตัว หลวงปู่ครูบาอินท่านได้บรรพชาเป็นสามเณร เมื่ออายุได้ ๑๔ ปี เมื่อวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ.๒๔๖๐ โดยมีเจ้าอธิการยศ (ครูบามหายศ อินทปัญโญ) เป็นพระอุปัชฌาย์ ที่วัดทุ่งปุย และอยู่ร่วมกับพระเณรรูปอื่นๆ ซึ่งในสมัยนั้น เณรจะมีมากกว่าพระ ซึ่งที่วัดทุ่งปุยมีเณรประมาณ ๑๐-๒๐ รูป

ตอนที่เป็นสามเณร นอกจากเรียนภาษาล้านนาต่อแล้ว ท่านก็หัดสวดมนต์ ๑๕ วาร สวดแผ่เมตตาและอีกหลายๆ อย่าง ครูจะเขียนใส่กระดานให้ท่อง พอท่องได้ก็ลบต่อใหม่ การเรียนที่วัดช่วงค่ำค่อนข้างลำบากเพราะยังไม่มีไฟฟ้าใช้ ต้องใช้น้ำมันจุดตะเกียงดูหนังสือ เด็กวัดและพระเณรแต่ละคนแต่ละรูปต้องหมั่นท่องจำบทสวดมนต์ต่างๆ ให้ขึ้นใจ ซึ่งวิธีการที่ครูบาอาจารย์จะตรวจสอบดูว่าเณรองค์ใดขยันหมั่นเพียรในการเรียนก็คือ อาจารย์จะจัดเวรให้เณรผลัดเปลี่ยนกันนำสวดมนต์ องค์ใดสวดช้า ติดขัด ครูอาจารย์จะฟาดหลังด้วยไม้เรียว เณรน้อยยังเป็นเด็ก ก็อดที่จะกลัวฤทธิ์ไม้เรียวไม่ได้

ฉะนั้น เวลาครองผ้า เณรบางองค์จะแอบเอาอาสนะรองนั่งซุกไว้ทางด้านหลัง เอาจีวรครองทับแล้วรัดอกแน่นๆ เผื่อโดนฟาดจะได้ไม่เจ็บนัก แต่ครูบาอินท่านไม่เคยทำ ท่านเล่าว่าเวลาฟาดจะมีเสียงดัง ครูบาอาจารย์ท่านก็ทราบแต่ก็ยิ้มเสีย ไม่ว่าอะไร ครูบาอินเองท่านก็เคยโดยฟาดอยู่ครั้งหนึ่งเหมือนกัน
5#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-10-22 14:28 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

หลวงปู่สิม พุทธาจาโร


หลวงพ่อดาบส สุมโน

6#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-10-22 14:29 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

หลวงปู่ครูบาอิน อินโท


๏ การเรียนสมถกรรมฐาน

การเรียนสมถกรรมฐานมีอยู่ทั่วไปทุกวัดในสมัยนั้น เมื่อท่านเป็นเณรอายุได้ ๑๕ ปี ท่านก็เริ่มปฏิบัติสมถกรรมฐาน แบบอานาปานสติใช้คำภาวนาว่า “พุทโธ”  โดยมีท่านครูบามหายศ พระอุปัชฌาย์ของท่านเป็นผู้สอน หลังจากท่านปฏิบัติกรรมฐานแล้วก็เกิดความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนามากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งวันหนึ่ง หลังจากดูหนังสือแล้วท่านก็ลุกมาอาบน้ำล้างหน้า และเอาข้าวมาถวายพระพุทธเจ้า กล่าวคำถวายว่า จะถวายชีวิตเป็นทาน วันนั้นไม่ฉันข้าวฉันแต่น้ำ และปฏิบัติตลอดหนึ่งวันกับหนึ่งคืน จนได้ความปิติเป็นพิเศษเกิดขึ้น

ตามธรรมเนียมเมื่อเณรเรียนจบแล้ว ก็จะมีการปรึกษาหารือกันระหว่างเณรกับครูบาอาจารย์เจ้าอาวาสว่า เห็นสมควรจะอุปสมบทเป็นพระต่อหรือไม่ ถ้าอุปสมบทพ่อแม่ก็จะดีใจ ถ้าไม่อุปสมบท ก็จะลาสิกขาออกไปใช้ชีวิตฆราวาส ผู้ที่ลาสิกขาจากการเป็นเณรไปเป็นฆราวาสจะมีคำเรียกนำหน้าชื่อว่า “น้อย” ต่างกับผู้ที่ลาสิกขาหลังจากอุปสมบทเป็นพระภิกษุแล้ว จะเรียกว่า “หนาน” หรือคำว่าทิดในภาษากลาง

ครูบาอินท่านได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุอยู่ที่วัดทุ่งปุย โดยอุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดป่าลาน ตำบลยางคราม กิ่งอำเภอดอยหล่อ จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ ๑๕ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๖๖ เวลา ๑๐.๐๐ น. อายุได้ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ฉายาในตอนนั้นคือ พระอิน อินโท โดยมีเจ้าอธิการยศ (ครูบามหายศ อินทปัญโญ) เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอธิการกว้าง วัดสองแคว เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอธิการอ้าย วัดทุ่งปุย เป็นพระอนุสาวนาจารย์

7#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-10-22 14:30 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

ครูบามหายศ อินทปัญโญ พระอุปัชฌาย์
ในคราวหลวงปู่ครูบาอิน อินโท อุปสมบทเป็นพระภิกษุ



ในระหว่างที่เป็นพระภิกษุ ท่านเริ่มเรียนภาษาไทย จาก ก ข เรื่อยมาจนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ โดยการเทียบเนื่องจากยังไม่มีโรงเรียนจริงๆ เมื่อเรียนภาษาไทยกลางจบแล้ว ท่านก็ตั้งใจศึกษานักธรรมตรีต่อ การเรียนนักธรรมตรีต้องเดินไปเรียนที่วัดศรีแดนเมือง ซึ่งเป็นวัดเจ้าคณะตำบลยางคราม อำเภอจอมทอง (ในขณะนั้น) วัดนี้อยู่ห่างจากวัดทุ่งปุยประมาณ ๕ กิโลเมตร ต้องเดินไปตามคันนา การเรียนในสมัยนั้นถึงแม้จะมีการกำหนดให้ใช้หลักสูตรนักธรรมชั้นตรี ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส สมเด็จพระสังฆราชในสมัยนั้น แต่สภาพที่เป็นจริงทางวัดขาดแคลนครูที่สอน ขาดแคลนตำราอย่างเช่น ภูมิศาสตร์ สังคมศาสตร์ ท่านว่าไม่มีครูสอน ต้องศึกษาเองซึ่งไม่ค่อยจะมีตำราและไม่ค่อยเข้าใจ

ครูผู้สอนก็เป็นพระภิกษุเข้าใจว่าจบนักธรรมโท พระครูวรวุฒิคุณเรียนจนจบนักธรรมตรี ท่านว่าด้วยการเทียบอีกเช่นกัน ไม่ได้ไปสอบ เพราะสมัยนั้นที่อำเภอจอมทองของท่านยังไม่มีสนามสอบ ต้องไปสอบที่กรุงเทพฯ ซึ่งการเดินทางก็ไม่สะดวก ไม่มีรถ การคมนาคมก็ลำบาก อีกประการหนึ่งท่านบอกว่าพระในสมัยก่อนไม่ใคร่ได้ให้ความสำคัญกับการได้เป็นนักธรรมเปรียญ ซึ่งจะช่วยให้ก้าวหน้าในสมณศักดิ์ การเรียนบาลี คือ “การเรียนเข้า” มาอยู่ในพระพุทธศาสนา ต่างจากในปัจจุบันที่ “เรียนออก” พอเรียนจบหางานทำได้ก็สึกออกไป

ในด้านการปฏิบัติ ท่านยังคงปฏิบัติพุทโธต่อไป โดยเรียนกับครูบามหายศ อินทปัญโญ พระอุปัชฌาย์ของท่าน การปฏิบัติเมื่อตอนเป็นพระภิกษุนั้น ท่านว่ายิ่งต้องระวังในศีลมากขึ้นกว่าตอนเป็นเณร เนื่องจากศีลของพระภิกษุมีถึง ๒๒๗ ข้อ ส่วนเณรมีศีลเพียง ๑๐ ข้อเท่านั้น

นอกจากการเรียนปริยัติและปฏิบัติแล้ว พระครูวรวุฒิคุณยังสนใจศึกษาหาความรู้จากตำราโบราณที่ครูบาอาจารย์จดไว้อยู่เสมอ เช่นเรื่องการทำตะกรุดชนิดต่างๆ ท่านมักกว่าวว่าท่านเรียนจากครูบาอาจารย์ ซึ่งหมายถึงตำรา กล่าวถึงเรื่องการทำตะกรุด ท่านเริ่มทำในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจแก่ญาติโยม ตะกรุดของท่านมีหลายแบบ ลักษณะแตกต่างกันตามแต่ท่านจะประสิทธิ์ประสาทพุทธาคม

8#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-10-22 14:30 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

ครูบาวัดป่าเหียง (พระอธิการแก้ว ขัตติโย)


ครูบาพรหมา พรหมจักโก


๏ ปฏิบัติสมถกรรมฐานรุกขมูล

หลังจากออกพรรษาแล้ว ท่านมักจะไปออกรุกมูลที่ป่าช้า ท่านเล่าว่าสมัยก่อนนั้นการออกธุดงค์ไม่เป็นที่นิยมของพระทางเหนือนัก ต่างจากพระทางอีสานที่เดินธุดงค์กันเก่งตามแนวทางครูบาอาจารย์สายอีสาน สำหรับครูบาอาจารย์สายของท่านไม่ได้ออกเดินธุดงค์ ท่านจึงไม้ได้ออกธุดงค์ ถือวัตรปฏิบัติกรรมฐานและการเข้ารุกขมูลเพื่อแสวงหาวิเวกและโปรดเวไนยสัตว์ ซึ่งถือปฏิบัติกันมาเป็นแนวทางธรรมเนียมของพระภิกษุในแถบถิ่นล้านนา

แต่กระนั้นก็มีพระทางเหนือที่ธุดงค์กันอยู่บ้าง องค์ที่สำคัญก็คือ ครูบาวัดป่าเหียงหรือครูบาขัตติยะ (พระอธิการแก้ว ขัตติโย) องค์พระอุปัชฌาย์ของพระสุพรหมยานเถร (ครูบาพรหมา พรหมจักโก) วัดพระพุทธบาทตากผ้า รวมทั้งองค์ครูบาพรหมา พรหมจักโก เองก็นิยมการธุดงค์เช่นกัน

พ่อหนานตันน้องชายของครูบาอินก็ชอบธุดงค์เช่นกัน โดยสมัยเมื่อบรรพชาเป็นสามเณรที่วัดทุ่งปุยแล้ว พออายุได้ ๑๘ ปี พ่อหนานตันก็ออกเดินธุดงค์ไปพม่าเพียงองค์เดียว เมื่อถึงพม่าแล้ว ได้ข่าวจากพวกยาง (กะเหรี่ยง) ว่ามีพระภิกษุสายครูบาพรหมจักรจำพรรษาอยู่ที่วัดป่าแห่งหนึ่งในพม่า สามเณรตันจึงได้ไปพักด้วย เมื่อเห็นการปฏิบัติก็เกิดความเลื่อมใส ดังนั้นเมื่ออายุครบอุปสมบท จึงได้อุปสมบทที่พม่า โดยมีพระภิกษุรูปนั้นเป็นพระอุปัชฌาย์ (หมายเหตุ : หลวงปู่ครูบาอิน จำชื่อไม่ได้) พระภิกษุตันอยู่พม่าได้ ๒ พรรษาก็กลับมาเยี่มโยมแม่ที่เมืองไทย จากนั้นก็ได้ถือปฏิบัติธุดงควัตรตามแนวทางของครูบาวัดป่าเหียงและครูบาพรหมจักร ต่อมาภายหลังพระภิกษุตันได้ลาสิกขาไปเป็นทหารและมีครอบครัว
9#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-10-22 14:31 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๏ บุญผ้าเหลือง

ในภาคเหนือสมัยก่อน ความนิยมในการบวชเป็นพระภิกษุมีน้อย และในจำนวนน้อยนั้น องค์ที่จะมีบุญอยู่ในผ้าเหลืองนานๆ ก็มีน้อย เพราะมักจะสึกออกไปเมื่อหมดครบพรรษา เพื่อนพระภิกษุรุ่นเดียวกับท่านก็ได้สึกออกไปหมดในพรรษาแรก เหลือท่านอยู่องค์เดียวเท่านั้น ถึงแม้ว่าตัวท่านเองจะมีความปิติสุขใจในเพศบรรพชิต แต่อีกใจหนึ่งก็อดเป็นห่วงโยมแม่ไม่ได้ เมื่อท่านบวชได้ ๕ พรรษา ท่านได้เล็งเห็นสังขารของโยมแม่ที่ร่วงโรยแก่เฒ่า เรี่ยวแรงที่จะทำไร่ไถนาก็อ่อนล้าลงไป ท่านจึงได้ปรารภกับโยมแม่ว่า “อยากลาสิกขา” แต่โยมแม่ของท่านก็ได้ทัดทานไว้ว่า “ตุ๊เหย อย่าไปลาสิกขาเลย อยู่กับวัดกับวาเต๊อะ ถ้าสิก (ลาสิกขา) ออกมาต้องตุ๊ก (ทุกข์) มายาก” นับตั้งแต่นั้นท่านก็ไม่เคยคิดเรื่องลาสิกขาอีกเลย

ความที่ท่านครูบาอินเมื่อครั้งยังเป็นพระหนุ่ม เป็นผู้มีรูปร่างหน้าตาดี จึงได้มีลูกศิษย์ได้เรียนถามว่า เมื่อท่านยังหนุ่มได้มี “สีกา” มาแสดงทีท่าสนใจท่านบ้างหรือไม่ ท่านตอบตามความคิดของท่านว่า มันอยู่ที่การวางตัวของตุ๊เจ้า ท่านเองอยู่กับครูบาอาจารย์ สนใจแต่การปฏิบัติตนให้เจริญในธรรมตามครูอาจารย์ของท่าน ไม่ได้ให้ความสนใจในเรื่องเหล่านี้เลย ท่านว่าคงเป็นเพราะท่านวางตัวเช่นนี้ก็เลยไม่มีใครมายุ่งกับท่าน


ครูบาเจ้าศรีวิชัย
10#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-10-22 14:32 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๏ ร่วมบุญกับครูบาเจ้าศรีวิชัย

เรื่องที่หลวงปู่ครูบาอินท่านประทับใจและเล่าถึง คือ เรื่องการสร้างทางขึ้นดอยสุเทพของพระครูบาเจ้าศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนาไทย และเรื่องที่ท่านได้ไปศึกษาวิปัสสนากรรมฐาน ที่วัดมหาธาตุ เขตพระนคร กรุงเทพฯ

โดยเรื่องการสร้างทางขึ้นดอยสุเทพของครูบาเจ้าศรีวิชัยนั้น ท่านเล่าว่า ครูบาศรีวิชัยได้รับความเคารพนับถือมากในสมัยนั้น เนื่องจากการปฏิบัติของท่านเป็นที่ศรัทธาของพระเณร ที่สำคัญคือการฉันเจและนั่งหนัก ครูบาเจ้าศรีวิชัยปฏิบัติธรรมโดยใช้คำภาวนาว่า “พุทโธ” เมื่อครูบาเจ้าศรีวิชัยสร้างทางขึ้นดอยสุเทพนั้น หลวงปู่ครูบาอินท่านได้เล่าว่า ตรงกับสมัยของพระยาพหลพลพยุหเสนา มีคนมาจากที่ต่างๆ มาช่วยกันสร้างถนน ทั้งพวกคนเมืองและพวกยาง พระเณรก็ไปด้วย แต่ละคนเอาขอบก (จอบ) ไปช่วยกัน บางคนก็เอามาถวายโดยไปซื้อมาจากตลาด เพื่อเป็นเครื่องมือในการแผ้วทางเส้นทางขึ้นดอยสุเทพ ร่วมบารมีกับครูบาเจ้าศรีวิชัย

ชาวบ้านทุ่งปุยก็ได้ไปร่วมงานในครั้งนี้ด้วย คราวนั้น หลวงปู่ครูบาอินและโยมแม่ก็ไปช่วยด้วย การสร้างทางจะแบ่งกันทำเป็นตอนๆ ครูบาท่านเล่าว่า สนุกมาก กิน นอน อยู่กันที่นั่น นอนกันตามป่า โดยทำซุ้ม ทำตูบ (กระท่อม) นอนกัน  กลางวันก็แผ้วถางเส้นทางตามสัดส่วนที่ได้รับมอบหมาย เหล่าพระภิกษุสงฆ์ที่มีความรู้ก็ทำชนวนจุดระเบิดหินตามแนวที่ถนนตัดผ่าน

นอกจากนี้ครูบาเจ้าศรีวิชัยยังมีดำริให้สร้างวัดตามรายทางขึ้นไป จนถึงวัดพระธาตุดอยสุเทพ ซึ่งเริ่มตั้งแต่วัดศรีโสดา วัดสกิทาคา และวัดอนาคามี แต่ปัจจุบันเหลือเพียงแต่วัดศรีโสดาเพียงวัดเดียวเท่านั้น วัดอื่นๆ ก็เสื่อมโทรมไปตามกาลเวลา งานสร้างทางครั้งนี้เป็นมหากุศลที่ผู้คนในแผ่นดินล้านนาต่างอยากมีส่วนร่วม จึงทำให้มีผู้คนมากมาย จากทั่วทุกสารทิศมาร่วมบุญกันคนละเล็กละน้อย ตามระยะที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยได้กำหนดให้ หลวงปู่ครูบาอินท่านอยู่ช่วยชาวบ้านทุ่งปุยสร้างทางจนหมดช่วงของวัดทุ่งปุย ก็เดินทางกลับ


๏ ปฏิบัติวิปัสสนาธุระ

หลวงปู่ครูบาอิน อินโท เมื่อครั้งอายุได้ ๕๑ ปี ได้เดินทางไปศึกษาวิปัสสนากรรมฐาน ณ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์  เขตพระนคร กรุงเทพฯ ซึ่งท่านได้เล่าถึงความแตกต่างระหว่างสมถกรรมฐานกับวิปัสสนาว่า สมถกรรมฐานคือการทำใจให้สงบ เป็นเรื่องของสมาธิ ส่วนวิปัสสนากรรมฐานเป็นเรื่องการฝึกสติ การฝึกตามแนวสติปัฏฐาน ๔ ท่านได้ฝึกกับพระเทพสิทธิมุณี โดยมี สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภเถระ) ซึ่งขณะนั้นดำรงสมณศักดิ์เป็น พระพิมลธรรม เป็นประธาน ครูบาอาจารย์จากทางเหนือที่ไปปฏิบัติวิปัสสนาในครั้งนั้นก็มี ครูบาพรหมา พรหมจักโก วัดพระพุทธบาทตากผ้า, ครูบาอินทจักร วัดน้ำบ่อหลวง, พระอาจารย์ทอง สิริมงฺคโล วัดร่ำเปิง (ปัจจุบันดำรงสมณศักดิ์เป็น พระธรรมมังคลาจารย์ วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร)

เมื่อศึกษาสำเร็จกลับมาแล้วก็มาฝึกอบรมสั่งสอนพระภิกษุ สามเณร คณะศรัทธาญาติโยม ตามวิธีนี้ท่านว่าลูกศิษย์ของท่านปฏิบัติกันได้ผล บางองค์ได้ผลดีมาก แต่น่าเสียดายที่ลาสิกขากันไปหมด ปัจจุบันท่านไม่ได้สอนในลักษณะเป็น “สำนัก” แต่ถ้าใครไปถามธรรมะหรือเรื่องการปฏิบัติจากท่าน ท่านก็มักจะเมตตาให้ความกระจ่างอยู่เสมอ อย่างไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้