ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 6757
ตอบกลับ: 27
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

~ หลวงพ่อเกษม เขมโก สุสานไตรลักษณ์ ~

[คัดลอกลิงก์]
ประวัติหลวงพ่อเกษม เขมโก



"ท่าน เขมโกภิกขุ” หลวงปู่เกษม หรือ หลวงพ่อเกษม เขมโก ที่เราท่านเคารพบูชา และรำลึกภาวนา ขอบารมีจากท่านช่วยคุ้มครอง ปกป้องจากอันตราย ยามเมื่อเกิดความทุกข์ ไม่ว่าจะอยู่ที่ใด เพราะบารมี หลวงพ่อที่เพียรเจริญวิปัสสนากรรมฐานด้วยความมานะบากบั่น ยากที่จะมีผู้ปฏิบัติได้เสมือนนั้น สร้างศรัทธาและความเชื่อมั่นสูงยิ่งนัก" หลวงพ่อเกษมท่านเจริญวิปัสสนาด้วยถือสันโดษเป็นที่ตั้ง ใช้อำนาจจิต ควบคุมร่างกายเข้าสู่สมาธิภาวนา เบื้องหน้าเชิงตะกอน ท่านไม่ติดรสอาหารเมื่อมีผู้นำมาถวาย แม้อาหาร จะเสียจนราขึ้น ถ้าหลวงพ่อท่านยังมิได้แผ่เมตตา ท่านก็จะรับประเคนบาตรแล้วแผ่เมตตาให้ หลวงพ่อ เป็นผู้มีศีลอันบริสุทธิ์ และเมตตาธรรมสูงส่ง ท่านหมดสิ้นแล้วซึ่งกิเลส และเปี่ยมล้นด้วยบารมี ทุกวันนี้ หลวงพ่อยังเป็นดุจร่มโพธิ์ร่มไทรที่ให้ความร่มเย็นแก่พวกเราทุกคน

        ประวัติและเรื่องราวต่าง ๆ ของท่าน จึงถูกบันทึกเพื่อให้อนุชนรุ่นหลัง ได้รับรู้ถึงในยุคปัจจุบัน ประวัติบางตอนของ ครูบาศรีวิชัย ตอนหนึ่งกล่าวว่า ท่านครูบาศรีวิชัยได้พยากรณ์ไว้ว่า จะมีตนบุญมาเกิดที่ลำปาง ครั้นต่อมาครูบาศรีวิชัยได้มรณภาพไป โดยทิ้งคำพยากรณ์นี้ไว้ให้ชาวลำปางได้เฝ้ารอคอยการมาจุติของตนบุญ ที่ครูบาศรีวิชัยได้พยากรณ์ไว้ จนเวลาล่วงเลยไปหลายสิบปี ก็ยังไม่ปรากฏ แต่ชาวลำปางก็ยังเชื่อในคำพยากรณ์ของครูบาศรีวิชัย

        เมื่อปี  พ.ศ.2455  ได้มีครอบครัว เชื้อเจ้าผู้ครองนครลำปาง หรือเขลางค์นครในอดีต หัวหน้าครอบครัว คือ     เจ้าหนูน้อย ณ ลำปาง ภายหลังเปลี่ยนนามสกุลใหม่เป็น มณีอรุณ รับราชการเป็นปลัดอำเภอ ภรรยาชื่อ เจ้าแม่บัวจ้อน ณ ลำปาง ทั้งสองเป็นหลานเจ้าของพ่อบุญวาทย์ วงศ์มานิตย์ เจ้าผู้ครองนครลำปางองค์สุดท้าย

        ครอบครัวนี้ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ บ้านท่าเก๊าม่วง ริมแม่น้ำวัง อ.เมือง จ.ลำปาง อยู่กินกันมาอย่างมีความสุขในที่สุดเจ้าแม่บัวจ้อนได้ตั้งครรภ์  และพอถึงกำหนดคลอด ตรงกับวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ.2455 ตรงกับวันพุธ เดือนยี่ (เหนือ) ปีชวด ร.ศ.131 ค.ศ.1912 เจ้าแม่บัวจ้อนให้กำเนิดทารกเพศชาย เป็นลูกคนแรกของครอบครัว

        ขณะนั้นไม่มีใครทราบกันเลย ตนบุญ ที่ครูบาศรีวิชัยได้พยากรณ์ไว้นั้นได้ถือกำเนิดขึ้นแล้ว บิดามารดาก็ได้ตั้งชื่อทารกนั้น เกษม ณ ลำปาง เพราะเด็กชายเกษม ณ ลำปาง ได้เกิดมาในเชื้อสายของเจ้าทางเหนือ จึงได้รับการยกย่องของคนทั่วไป ทุกคนต่างเรียกกันว่า เจ้าเกษม ณ ลำปาง หลังจากที่ได้คลอดบุตรมาได้ไม่กี่ปี เจ้าแม่บัวจ้อนได้ให้กำเนิดทารกอีกคน แต่เป็นเพศหญิง ซึ่งมีศักดิ์เป็นน้องของ เจ้าเกษม สืบสายเลือด แต่ทว่าเจ้าแม่น้อยคนนี้วาสนาน้อย ได้เสียชีวิตตั้งแต่ยังเด็ก จึงไม่มีโอกาสได้รูว่าพี่ชายของเธอคือ ตนบุญ ที่ชาวลำปางรอคอยเป็นสิบ ๆ ปี

        ข้อมูลตรงนี้ คุณพัลลภ ทิพย์วงศ์ ซึ่งมีศักดิ์เป็นหลานหลวงปู่เกษม โดยคุณแม่ของคุณพัลลภ เป็นพี่สาวแท้ ๆของโยมแม่หลวงปู่ ได้ทักท้วงมาว่า ที่แท้จริงแล้ว เจ้าแม่บัวจ้อน ได้ให้กำเนิดทารกน้อยอีกคนหนึ่ง เป็นเพศชาย ชื่อ "สวาสดิ์" และได้เสียชีวิตแต่เล็ก โดยมีหลักฐานใบเกิดเก็บไว้กับญาติใกล้ชิด ระบุชื่อ เพศ วันเดือนปีเกิด คือ เกิดเมื่อวันที่ ๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๕๘ ร.ศ. ๑๓๔ ตรงกับวันพุธ แรม ๗ ค่ำ จุลศักราช ๑๒๗๗ จึงได้ทักท้วง เพื่อให้ผมแก้ไขข้อมูลที่ถูกต้องเป็นจริง จึงต้องขอขอบคุณ คุณพัลลภ ไว้ ณ ที่นี้ (อ.เล็ก  พลูโต - ๓๐  ตุลาคม ๒๕๔๗)

ขออภัย! โพสต์นี้มีไฟล์แนบหรือรูปภาพที่ไม่ได้รับอนุญาตให้คุณเข้าถึง

คุณจำเป็นต้อง ลงชื่อเข้าใช้ เพื่อดาวน์โหลดหรือดูไฟล์แนบนี้ คุณยังไม่มีบัญชีใช่ไหม? ลงทะเบียน

x
2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-5-22 18:09 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
เมื่อวัยเด็ก เจ้าเกษม ณ ลำปาง เป็นคนมีลักษณะค่อนข้างเล็กบอบบาง ผิวขาวแต่ดูเข้มแข็ง คล่องแคล่ว และมีสติปัญญาเฉลียวฉลาด เป็นเด็กที่ชอบซน คืออยากรู้อยากเห็น เมื่อถึงวัยเรียน เจ้าเกษม ณ ลำปาง ได้รับการศึกษาระดับประถมที่โรงเรียนบุญทวงศ์อนุกูล ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำ อ.เมือง  จ.ลำปาง สมัยนั้นเปิดเรียนชั้นสูงสุดแค่ชั้นประถมปีที่ 5 เท่านั้น เจ้าเกษม ณ ลำปาง ได้ศึกษาจนจบชั้นสูงของโรงเรียน คือชั้นประถมปีที่ 5 ใน พ.ศ.2466 ขณะนั้นอายุ 11 ปี

        เมื่อออกจากโรงเรียนก็ไม่ได้เรียน อยู่บ้าน 2 ปี ใน พ.ศ.2468 อายุขณะนั้นได้ 13 ปี เจ้าเกษม ณ ลำปาง ก็ได้มีโอกาสเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ โดยบรรพชาเป็นสามเณร เนื่องในโอกาสบรรพชาหน้าศพ (บวชหน้าไฟ) ของเจ้าอาวาสวัดป่าดั๊ว ครั้นบวชได้เพียง 7 วันก็ลาสิกขาออกไป ต่อมาอีก 2 ปี ราว พ.ศ.2470 ขณะนั้นมีอายุ 15 ปี เจ้าเกษม ณ ลำปาง ก็ได้มีโอกาสเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์อีกครั้งหนึ่ง โดยบรรพชาเป็นสามเณรอยู่ที่วัดบุญยืน จ.ลำปาง เมื่อบรรพชาแล้วสามเณรเจ้าเกษม ณ ลำปาง ก็ได้จำพรรษาศึกษาพระธรรมวินัยที่วัดบุญยืนนั่นเอง สามเณรเจ้าเกษม ณ ลำปาง เป็นคนที่ทำอะไรจริงจัง เรียนทางด้านปริยัติศึกษาธรรมะจนถึง ปี พ.ศ.2474 สามเณรเจ้าเกษม ก็สามารถสอบนักธรรมชั้นโทได้ ครั้นมีอายุได้ 21 ปี อายุครบที่จะอุปสมบทเป็นพระภิกษุได้แล้ว จึงได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุในปี พ.ศ.2475 ณ พัทธสีมาวัดบุญยืน โดยมีพระเดชพระคุณ ท่านเจ้าคุณพระ ธรรมจินดานายก (ฝ่าย) เจ้าอากาสวัดบุญวาทย์วิหาร ซึ่งดำรงตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอในขณะนั้นเป็นพระอุปัชฌาย์ พระคุณเจ้าท่านพระครูอุตตรวงศ์ธาดา หรือที่ชาวบ้านเหนือรู้จักกันในนาม ครูบาปัญญาลิ้นทอง เจ้าอาวาสวัดหมื่นเทศ และดำรงตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอเมือง จังหวัดลำปางในขณะนั้น เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และยังพระเดชพระคุณ ท่านพระธรรมจินดานายก(อุ่นเรือน) เจ้าอาวาสวัดป่าดั๊วเป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า เขมโก แปลว่า ผู้มีธรรมอันเกษม

        หลังจากได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุแล้ว พระภิกษุเกษม เขมโกก็ได้ศึกษาทางด้านภาษาบาลี ซึ่งเป็นการศึกษาปริยัติอีกแขนงหนึ่ง ที่สำนักวัดศรีล้อม สมัยนั้นก็มีอาจารย์หลายรูป เช่น มหาตาคำ พระมหามงคล เป็นครูผู้สอน และยังได้ไปศึกษาที่สำนักวัดบุญวาทย์วิหาร ซึ่งมีพระมหามั่ว พรหมวงศ์ และพระมหาโกวิทย์ โกวิทญาโน เป็นครูสอน
3#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-5-22 18:09 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ในเวลาเดียวกันนั้น พระภิกษุเจ้าเกษม เขมโก ก็ได้ไปศึกษาทางด้านปริยัติ ในแผนกนักธรรมต่อที่สำนักวัดเชียงราย ครูผู้สอนคือ พระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณ พระเทพวิสุทธิโสภณ  ซึ่งเป็นเจ้าคณะจังหวัดลำปางสมัยนั้น  ปรากฎว่าพระภิกษุเจ้าเกษม เขมโก ก็สามารถสอบนักธรรมชั้นเอกได้ในปี พ.ศ.2479 ส่วนทางด้านการศึกษาบาลีนั้น ท่านเรียนรู้จนสามารถเขียนและแปลได้เป็น (มคธ) เป็นอย่างดี แต่ก็ไม่ยอมสอบเอาวุฒิ จนครูบาอาจารย์ทุกองค์ต่างเข้าใจว่า พระภิกษุเกษม เขมโก ไม่ต้องการมีสมณศักดิ์สูง ๆ เรียนเพื่อจะนำเอาวิชาความรู้มาใช้ในการศึกษาค้นคว้าพระธรรมคำสอนของพระบรมศาสดาเท่านั้น

        เมื่อสำเร็จทางด้านปริยัติพอควรแล้ว สามารถนำไปปฏิบัติได้โดยไม่หลงทาง ท่านจึงหันมาปฏิบัติต่อไปจนแตกฉาน แค่นั้นยังไม่พอ พระภิกษุเกษม เขมโก ได้เสาะแสวงหาครูบาอาจารย์ ที่มีความรู้และมีความเชี่ยวชาญในด้านนี้ จนกระทั่งได้ทราบข่าวภิกษุรูปหนึ่งมีชื่อเสียงในด้านวิปัสสนา ภิกษุรูปนี้ คือ ครูบาแก่น  สุมโน อดีตเจ้าอาวาสวัดประตูป่อง

            ครูบาแก่น สุมโน เป็นพระภิกษุสายวิปัสสนา ถือธุดงค์เป็นวัตร หรือที่เรียกกันว่า พระป่า หรือภาษา ทางการเรียกว่า พระภิกษุฝ่ายอรัญญวาสี ตอนนั้นครูบาแก่น ท่านได้ธุดงค์แสวงหาความวิเวกทั่วไป ยึดถือป่าเป็นที่บำเพ็ญเพียร นอกจากมีชื่อเสียงในด้านวิปัสสนาแล้ว ท่านยังเก่งรอบรู้ในด้านพระธรรมวินัยอย่างแตกฉานอีกด้วย

     พระภิกษุเกษม เขมโก จึงเดินทางไปขอฝากตัวเป็นศิษย์ และได้อธิบายความต้องการที่จะศึกษาในด้านวิปัสสนาให้ครูบาแก่นฟัง ครูบาแก่น สุมโน เห็นความตั้งใจจริงของภิกษุเกษม เขมโก ท่านจึงรับไว้เป็นศิษย์ และได้นำภิกษุเกษม เขมโก ออกท่องธุดงค์ไปแสวงหาความวิเวก และบำเพ็ญเพียรตามป่าลึกตามที่ภิกษุเกษม เขมโก ต้องการ จึงถือได้ว่า ครูบาแก่น สุมโน รูปนี้เป็นอาจารย์ทางวิปัสสนากรรมฐานรูปแรกของ พระภิกษุเจ้าเกษม เขมโก

        ดังนั้น พระภิกษุเกษม เขมโก จึงได้เริ่มก้าวไปสัมผัสชีวิตของภิกษุฝ่ายอรัญญวาสี ประกอบกับจิตของท่านโน้มเอียงมาทางสายนี้อยู่แล้ว จึงไม่ใช่เป็นเรื่องลำบากสำหรับในการไปธุดงค์ กลับเป็นการได้พบความสงบสุขโดยแท้จริง กับความเงียบสงบ ซ้ำยังได้ดื่มด่ำกับรสพระธรรมอันบังเกิดท่ามกลางความวิเวก พระภิกษุเกษม เขมโก จึงมุ่งมั่นปฏิบัติธรรมอย่างจริงจัง โดยมีครูบาแก่นแนะอุบายธรรมอย่างใกล้ชิด ระหว่างท่องธุดงค์แสวงหาความวิเวกในที่สงัดตามป่าเขาและป่าช้าต่าง ๆ การฉันอาหารในบาตร คือ อาหารหวานคาวรวมกัน เรียกว่า ฉันเอกา ไม่รวมอาสนะกับสงฆ์อื่น ฉันมื้อเดียว ช่วงบ่ายก็จะเดินจงกรม เพื่อเปลี่ยนอิริยาบถ พร้อมกำหนดจิตจนกระทั่งถึงเย็น เมื่อเสร็จจากการเดินจงกรม ก็กลับมานั่งบำเพ็ญภาวนาต่อไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งถึงประมาณ 5 ทุ่ม เสร็จจากการบำเพ็ญภาวนาก็สวดมนต์ทำวัตรเย็น ในตอนดึกก่อนจำวัดท่านก็ไม่นอนเหมือนคนธรรมดาทั่วไป ท่านจะหมอบเท่านั้น และท่านจะทำเป็นกิจวัตร คือการกรวดน้ำอุทิศส่วนบุญส่วนกุศล แผ่เมตตาไปให้กับสรรพสัตว์ทั้งหลาย
4#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-5-22 18:10 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
จนกระทั่งถึงช่วงเข้าพรรษา ที่พระภิกษุจำเป็นต้องยุติการท่องธุดงค์ชั่วคราว ต้องอยู่กับที่ ณ ที่ใดที่หนึ่ง จะเป็นวัดอาราม หรือถือเอาป่าช้าเป็นวัด โดยกำหนดเขตเอาตามพุทธบัญญัติ ดังนั้นภิกษุเจ้าเกษม เขมโก จึงต้องแยกทางกับอาจารย์ คือ ครูบาแก่น ตั้งแต่นั้นมาภิกษุเจ้าเกษม เขมโก กลับมาจำพรรษาที่วัดบุญยืนตามเดิม พอครบกำหนดออกพรรษาภิกษุเกษม เขมโก ก็ติดตามอาจารย์ของท่าน คือครูบาแก่น ออกธุดงค์บำเพ็ญภาวนา ท่านถือปฏิบัติเช่นนี้เรื่อยมา

        ต่อมาเจ้าอธิการคำเหมย เจ้าอาวาสวัดบุญยืนถึงแก่มรณภาพลง ทำให้ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบุญยืนว่าง ทางคณะสงฆ์จึงต้องเลือกภิกษุที่มีคุณสมบัติมาปกครองดูแลวัด เพื่อเป็นเจ้าอาวาสสืบต่อไป คณะสงฆ์จึงได้ประชุมกันและต่างลงความเห็นพ้องต้องกันว่า ควรจะเป็นภิกษุเกษม เขมโก เพราะเป็นพระที่มีคุณสมบัติเหมาะสมกับตำแหน่งเจ้าอาวาส เมื่อท่านได้รับเลือกเป็นเจ้าอาวาสวัดบุญยืน ท่านก็ไม่ยินดียินร้าย แต่ท่านก็ห่วงทางวัด เพราะท่านเคยจำวัดนี้ ท่านก็เห็นว่าบัดนี้ทางวัดบุญยืนมีภารกิจต้องดูแล ก็ถือว่าเป็นภารกิจทางศาสนาเพราะท่านเองต้องการให้พระศาสนานี้ดำรงอยู่ จึงไม่อาจจะดูดายภารกิจนี้ได้ จึงยอมรับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบุญยืน

        ครูบาเจ้าเกษม เขมโก อยู่ในตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบุญยืนเรื่อยมาจนถึงปี พ.ศ.2492 ท่านก็ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งเจ้าอาวาส ทำหนังสือลาออกกับพระเดชพระคุณท่านเจ้าพระอินทรวิชาจารย์ (ท่านเจ้าคุณอิน อดีตเจ้าคณะจังหวัดลำปาง) แต่ก็ถูกท่านเจ้าคุณยับยั้งไว้ ครูบาเจ้าเกษม เขมโก จึงจำใจกลับไปเป็นเจ้าอาวาสวัดบุญยืนอีกระยะหนึ่งนานถึง 6 ปี ท่านคิดว่าควรจะหาภิกษุที่มีคุณสมบัติมาแทนท่าน เพราะท่านอยากจะออกธุดงค์ ดังนั้นท่านจึงตัดสินใจสละตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบุญยืน โดยยื่นใบลากับคณะสงฆ์ในเขตปกครอง ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ จึงเดินทางไปลาออกกับเจ้าคณะจังหวัด ซึ่งอยู่ที่วัดเชียงราย แต่ท่านเจ้าคณะจังหวัดก็ไม่อนุญาต

        เรื่องการลาออกจากการเป็นเจ้าอาวาสของครูบาเจ้าเกษม เขมโก นี้ดูค่อนข้างจะเป็นเรื่องแปลกพิสดาร แม้แต่การสละตำแหน่งลาภยศ ท่านยังต้องประสบกับอุปสรรคต่าง ๆ นานา ไม่เหมือนกับพระองค์อื่น ๆ ที่ฟันฝ่าเพื่อแสวงหาลาภยศ เมื่อท่านลาออกไม่สำเร็จประมาณปี พ.ศ.2492 ก่อนเข้าพรรษาในปีนั้น หลวงพ่อก็หนีออกจากวัดบุญยืนก่อนเข้าพรรษา เพียงวันเดียวโดยไม่มีใครรู้ พอเช้าวันรุ่งขึ้นเข้าพรรษา หมู่ศรัทธาก็นำอาหารมาเตรียมถวายในวิหาร ทุกคนรอแล้วรอเล่าก็ไม่เห็นหลวงพ่อเกษม จึงเกิดความวุ่นวายเที่ยวตามหาตามกุฏิก็ไม่พบหลวงพ่อเกษม พอมาที่ศาลาทุกคนเห็นกระดาษวางบนธรรมาสน์ เป็นข้อความที่หลวงพ่อเกษมเขียน ลาศรัทธาชาวบ้านยาวถึง 2 หน้ากระดาษ
5#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-5-22 18:10 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ข้อความบางตอนที่จำได้มีอยู่ว่า ทุกอย่างเราสอนดีแล้ว อย่าได้คิดไปตามเรา เพราะเราสละแล้วการเป็นเจ้าอาวาส เปรียบเหมือนหัวหน้าครอบครัวต้องรับผิดชอบภาระหลายอย่าง ไม่เหมาะสมกับเรา เราต้องการความวิเวกจะไม่ขอกลับมาอีก แต่พวกชาวบ้านก็ไม่ละความพยายาม เพราะชาวบ้านเหล่านี้ศรัทธาในตัวหลวงพ่อพอรู้ว่าหลวงพ่ออยู่ที่ไหนเมื่อรวมกันได้ 40-50 คน ก็ออกเดินทางไปตามหาหลวงพ่อเกษม และไปพบหลวงพ่อที่ศาลาวังทาน หลวงพ่อเกษมได้ปฏิบัติธรรมที่นั่น พวกชาวบ้านได้อ้อนวอนหลวงพ่อขอให้กลับวัด บางคนร้องไห้เพราะศรัทธาในตัวหลวงพ่อมาก แต่หลวงพ่อเกษมท่านก็นิ่งไม่พูดไม่ตอบ จนพวกชาวบ้านต้องยอมแพ้ ตลอดพรรษาปี 2492 หลวงพ่อเกษมท่านก็อยู่ที่ศาลาวังทานโดยไม่ยอมกลับวัดบุญยืน

        พวกชาวบ้านจึงพากันเข้าไปพบโยมแม่ของหลวงพ่อ โยมแม่รักหลวงพ่อเกษมมาก เพราะท่านมีลูกชายคนเดียว จึงให้คนพาไปหาหลวงพ่อที่ศาลาวังทาน โดยมี (เจ้าประเวทย์ ณ ลำปาง) ตอนนั้นยังบวชเป็นสามเณรอยู่ โยมแม่ได้ขอร้องให้หลวงพ่อเกษมกลับวัด แต่หลวงพ่อกลับบอกโยมแม่ว่า

        แม่เฮาบ่เอาแล้ว เฮาบ่เหมาะสมกับวัด เฮาชอบความวิเวก เฮาขออยู่อย่างวิเวกต่อไป เฮาจะไปอยู่ที่ป่าว แม่อาง จนทำให้โยมแม่หมดปัญญา ไม่รู้จะขอร้องยังไง ผลที่สุดก็ต้องตามใจหลวงพ่อ วันรุ่งขึ้นหลวงพ่อเกษมก็ออกจากศาลาวังทานเดินทางไปบ้านแม่อางด้วยเท้าเปล่า เช้ามืดไปถึงป่าวแม่อางก็ค่ำพอดี ฝ่ายโยมมารดาพอกลับมาบ้านก็เกิดคิดถึงพระลูกชาย เพราะเกรงว่าพระลูกชายจะลำบากจึงออกจากบ้านไปตามหาพระลูกชาย โดยมีคนติดตามไปด้วยชื่อ โกเกตุ โยมแม่สั่งให้โกเกตุขนของสัมภาระเพื่อจะไปอยู่บนดอย ของที่เหลือในร้านเพชรพลอยแจกให้ชาวบ้านจนหมดเกลี้ยง ไม่เอาอะไรเลย นอกจากของใช้ที่จำเป็นบางอย่างเท่านั้น

        เกตุ พงษ์พันธุ์ ซึ่งเป็นญาติใกล้ชิดก็พาโยมแม่ไปส่งที่แม่อาง และพวกชาวบ้านเห็นโยมแม่ของหลวงพ่อมาก็สร้างตูบกระท่อมอยู่ข้างวัดแม่อาง ส่วนหลวงพ่อเข้าบำเพ็ญภาวนาในป่าช้าบนดอยแม่อาง บำเพ็ญภาวนาบารมีวิปัสสนาปฏิบัติธรรมได้หนึ่งพรรษา ทิ้งให้โยมแม่ซึ่งอยู่กระท่อมตีนดอยก็คิดถึงพระลูกชาย โดยแม่ก็ตามไปหาที่ป่าช้าข้างเนินดอย ก็มีชาวบ้านแถวนั้นอาสาสร้างตูบกระท่อมให้โยมแม่พักใกล้ ๆ ที่หลวงพ่อปฏิบัติ ธรรม โดยมแม่บัวจ้อนได้พำนักที่ข้างเนินดอยได้พักหนึ่ง ก็ล้มป่วยลงด้วยโรคไข้ป่า ชาวบ้านก็ไปตามหมอทหารมาฉีดยารักษาให้ แต่โยมแม่ท่านมีสติที่เข้มแข็ง และยังได้สั่งเสียเณรเวทย์ว่ามีเงินซาวเอ็ดบาท ให้เก็บไว้ถ้าโยมแม่ตายให้เณรไปบอกลุงมา เมื่อสั่งเสร็จโยมแม่ก็หลับตา เณรเวทย์ก็ไปบอกหลวงพ่อเกษม หลวงพ่อก็มา ท่านได้นั่งดูอาการของโยมแม่ท่านนั่งสวดมนต์ เป็นที่น่าแปลกใจขณะที่หลวงพ่อสวดมนต์ มีผึ้งบินมาวนเวียนตอมไปตอมมาสักครู่ใหญ่ ๆ โยมแม่ก็ถอดจิตอย่างสงบ นัยน์ตาหลวงพ่อเกษมมีน้ำตาค่อย ๆ ไหลขณะที่ท่านแผ่บุญกุศลให้กับโยมแม่ ท่านยังเอ่ยว่า “แหม เฮาว่า เฮาจะบ่ไห้(ร้องไห้) แล้วนา…”
6#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-5-22 18:10 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ศพของโยมแม่บัวจ้อน มีเณรเวทย์และชาวบ้านได้มาช่วยจัดการจนเสร็จพิธี ชาวบ้านช่วยเป็นเงินในสมัยนั้นได้ 700 บาท ถือว่ามาก ศพของโยมแม่บัวจ้อนเผาที่ป่าช้าแม่อาง หลังจากที่เสร็จพิธีงานศพโยมแม่จ้อนแล้ว หลวงพ่อก็สั่งเณรเวทย์ให้กลับไปเรียนธรรมที่วัดบุญยืน อยู่มาไม่นานหลวงพ่อก็จากป่าช้าแม่อางกลับมาบำเพ็ญภาวนาที่ป่าช้าศาลาวังทานอีก เพียงหนึ่งพรรษาท่านก็เดินทางไปอยู่ที่ป่าช้านาป้อ และกลับมาอยู่ประตูม้า ซึ่งก็คือ สุสานไตรลักษณ์ ในปัจจุบัน

        หลวงพ่อเกษม เขมโก ท่านได้ปฏิบัติธรรมจนเป็นพระที่ขาวสะอาด และเป็นที่เคารพสักการะของคนทั่วประเทศ ศีลบริสุทธิ์ตามพระธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านเป็นพระไม่ติดยึดใคร ต้องการอะไร ขออะไร ไม่เคยปฏิเสธ จนสังขารของท่านดูแล้วไม่แข็งแรง แต่จิตของหลวงพ่อแข็งแรง และท้ายที่สุด หลวงพ่อเกษม เขมโก ได้ละสังขาร ณ ห้องไอซียู โรงพยาบาลศูนย์ภาคเหนือ จังหวัดลำปาง เมื่อเวลา 19.40 น. ของวันจันทร์ที่ 15 มกราคม 2539 ซึ่งตรงกับวันแรม 11 ค่ำ เดือน 2  ยังความอาลัยเศร้าโศกเสียใจมายังหมู่ศานุศิษย์ทั่วประเทศ…
7#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-5-22 18:12 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
บันทึกพระราชปุจฉาสนทนาธรรม





บันทึกโดย พระครูปลัดจันทร์ กตปุญโญ

ณ วัดคะตึกเชียงมั่น
ต.หัวเวียง อ.เมือง จ.ลำปาง

ต่อไปนี้เป็นพระราชดำรัสของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่ทรงปฏิสันถารกับ พระอินทรวิชยาจารย์ เจ้าอาวาสวัดคะตึกเชียงมั่น และ หลวงพ่อเกษม เขมโก ซึ่ง ข้าพเจ้า (พระครูปลัดจันทร์ กตปุญโญ) ได้มีโอกาสช่วยหลวงพ่อถวายพระพรด้วย ข้อความนี้ข้าพเจ้าบันทึกไว้หลังจากเสด็จพระราชดำเนินกลับแล้วดังนี้

ในหลวง : หลวงพ่อประจำอยู่ที่วัดนี้หรือ

หลวงพ่อเกษม : ขอถวายพระพร อาตมาประจำอยู่ที่สุสานไตรลักษณ์

ในหลวง : อยากไปหาหลวงพ่อเหมือนกัน แต่หาเวลาไม่ค่อยได้ ได้ทราบว่าเข้าพบหลวงพ่อยาก

หลวงพ่อเกษม : พระราชาเสด็จไปป่าช้าเป็นการไม่สะดวก เพราะสถานที่ไม่เรียบร้อย อาตมาภาพจึงมารอเสด็จที่นี่ ขอถวายพระพร มหาบพิตรสบายดีหรือ

ในหลวง : สบายดี

หลวงพ่อเกษม : ขอถวายพระพร มหาบพิตรพระชนมายุเท่าไร

ในหลวง : ได้ ๕๐ ปี

หลวงพ่อเกษม : อาตมาภาพได้ ๖๗ ปี

ในหลวง : หลวงพ่ออยู่ตามป่ามีความสงบ ย่อมจะมีโอกาสปฏิบัติธรรมได้มากกว่าพระที่วัดในเมือง ซึ่งมีภารกิจเกี่ยวกับการปกครองและงานอื่นๆ จะเป็นอย่างนั้นหรือเปล่า

หลวงพ่อเกษม : ขอถวายพระพร อาจจะเป็นอย่างนั้นก็ได้ เพราะอยู่ป่าไม่มีภารกิจอย่างอื่น แต่ก็ขึ้นอยู่กับศีลบริสุทธิ์ด้วย เพราะเมื่อศีลบริสุทธิ์จิตใจไม่ฟุ้งซ่าน นิวรณ์ไม่ครอบงำก็ปฏิบัติได้

ในหลวง : การปฏิบัติอย่างพระมีเวลามากย่อมจะได้ผลเร็ว ส่วนผู้ที่มีเวลาน้อยมีภารกิจมาก จะปฏิบัติอย่างหลวงพ่อก็ไม่อาจทำได้ แล้วจะมีวิธีปฏิบัติอย่างไร เราจะหั่นแลกช่วงเวลาช่วงเช้าให้สั้นเข้าจะได้ไหม คือ ซอยเวลาออกจากหนึ่งชั่วโมงเป็นครึ่งชั่วโมง จากครึ่งชั่วโมงเป็นสิบนาที หรือห้านาที แต่ให้ได้ผล คือ ได้รับความสุขเท่ากัน ยกตัวอย่างเช่น นั่งรถยนต์จากเชียงใหม่มาลำปางก็สามารถปฏิบัติได้ หรือระหว่างที่มาอยู่ในพิธีนี้มีช่วงที่ว่างอยู่ ก็ปฏิบัติเป็นระยะไป อย่างนี้จะถูกหรือเปล่าก็ไม่ทราบ อยากจะเรียนถาม

หลวงพ่อเกษม : ขอถวายพระพร จะปฏิบัติอย่างนั้นก็ได้ ถ้าแบ่งเวลาได้

ในหลวง : ไม่ถึงแบ่งเวลาต่างหากออกมาทีเดียว ก็อาศัยเวลาขณะที่ออกมาทำงานอย่างอื่นอยู่นั้นแหละ ได้หรือไม่ คือ ใช้สติอยู่ทุกขณะจิตที่เกิดดับ ทำงานด้วยความรอบคอบให้สติตั้งอยู่ตลอดเวลา

หลวงพ่อเกษม : ขอถวายพระพร มหาบพิตรทรงปฏิบัติอย่างนั้นถูกแล้ว การที่มหาบพิตรเสด็จพระราชดำเนินมาปฏิบัติงานอย่างนี้ ก็เรียกว่าได้ทรงเจริญเมตตาในพรหมวิหารอยู่

ในหลวง : ก็คิดว่าเป็นอย่างนั้น เช่นว่ามาตัดลูกนิมิตนี้ ก็ถือว่าเป็นการปฏิบัติธรรม ด้วยขี้เกียจมาจึงมีกำลังใจมา และเมื่อได้โอกาสได้เรียนถามพระสงฆ์ว่า การปฏิบัติธรรมเป็นระยะเวลาสั้นๆ เป็นตอนๆ อย่างนี้จะได้ผลไหม อุปมาเหมือนช่างทาสีผนังโบสถ์ เขาทาทางนี้ดีแล้วพัก ทาทางโน้นดีแล้วพัก ทำอยู่อย่างนี้ก็เสร็จได้ แต่ต้องใช้เวลาหน่อย จึงอยากเรียนถามว่าปฏิบัติอย่างนี้ จะมีผลสำเร็จไหม

หลวงพ่อเกษม : ปฏิบัติอย่างนั้นก็ได้โดยอาศัยหลัก ๓ อย่าง คือ มีศีลบริสุทธิ์ ทำบุญในชาติปางก่อนไว้มาก มีบาปน้อย ขอถวายพระพร

ขออภัย! โพสต์นี้มีไฟล์แนบหรือรูปภาพที่ไม่ได้รับอนุญาตให้คุณเข้าถึง

คุณจำเป็นต้อง ลงชื่อเข้าใช้ เพื่อดาวน์โหลดหรือดูไฟล์แนบนี้ คุณยังไม่มีบัญชีใช่ไหม? ลงทะเบียน

x
8#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-5-22 18:12 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
เจ้าคุณฯ : ได้ตามขั้นของสมาธิ คือ อุปจารสมาธิได้สมาธิเป็นแต่เฉียดๆ ขณิกสมาธิ ได้สมาธิเป็นขณะๆ เรียกว่า อัปปนาสมาธิ ได้สมาธิแน่วแน่ดิ่งลงไปได้นานๆ (อธิบายละเอียดกว่าที่บันทึกนี้)

ในหลวง : ครับ ที่หลวงพ่อว่ามีศีลบริสุทธิ์ ชาติก่อนทำบุญไว้มากอยากทราบว่าผมเกิดเป็นอะไร ได้ทำ อะไรไว้บ้าง จึงได้มาเป็นอย่างนี้ (หลวงพ่อยิ้มและนิ่ง แล้วหันมาทางข้าพเจ้าบอกว่าตอบยาก)

ข้าพเจ้า : ขอถวายพระพร หลวงพ่อไม่อาจจะพยากรณ์ถวายมหาบพิตรได้

เจ้าคุณฯ : หลวงพ่ออาจจะเกรงพระราชหฤทัยมหาบพิตรก็ได้ ขอถวายพระพร

ในหลวง : หลวงพ่อไม่ต้องเกรงใจว่าเป็นพระราชา ขอให้ถือว่าสนทนาธรรมก็แล้วกันยินดีรับฟังมีคน พูดกันว่า ชาติก่อนผมเกิดเป็นนักรบมีบริวารมาก ถ้าเป็นอย่างนั้น ศีล ๕ จะบริสุทธิ์ได้อย่าง ไร ? การเป็นนักรบนั้นจะต้องได้ฆ่าคนสงสัยอยู่” (หลวงพ่อหันมากระซิบกับข้าพเจ้าว่า เอใคร ทำนายถวายท่านอย่างนั้นก็ไม่รู้ เราไม่รู้ เราไม่มีอตีตังสญาณ อนาคตังสญาณ ตอบยาก ต้องหลวงพ่อเมืองซิ)

ข้าพเจ้า : ขอถวายพระพร หลวงพ่อยืนยันว่า มหาบพิตรมีศีลบริสุทธิ์และทรงมีบุญมาก

ในหลวง : เรื่องบุญกับกุศลนี้ก็อีกเรื่องหนึ่ง ตามที่รู้ผู้ทำบุญ หรือผู้มีบุญได้ผลแค่เทวดาอยู่สวรรค์ ผู้มี กุศลหรือทำกุศล มีผลให้ได้นิพพาน ถ้าอย่างนั้นที่ว่าพระราชามีบุญมากก็คงได้แค่เป็นเทวดา อยู่บนสวรรค์เท่านั้นไม่ได้นิพพาน ทำไมเราไม่พูดถึงกุศลกันมากๆ บ้าง หลวงพ่อสอนให้คน ปฏิบัติธรรมตามแนวปฏิบัติของหลวงพ่อบ้างหรือเปล่า

หลวงพ่อเกษม : ขอถวายพระพร อาตมาภาพได้ทราบว่าที่วัดปากน้ำ วัดมหาธาตุ ก็มีสอนวิปัสสนากัมมัฏฐาน มหาบพิตรเคยเสด็จไปบ้างไหม

ในหลวง : ทราบ แต่ไม่เคยไป หลวงพ่อสอนอย่างไร อยากฟังบ้างและอยากได้เป็นแนวปฏิบัติเอาอย่างนี้ ได้ไหม มีเครื่องหรือเปล่า” (นายชุมพลกระซิบข้าพเจ้าว่า...มีเทป)

ข้าพเจ้า : ขอถวายพระพร เครื่องเทปของวัดมี

ในหลวง : ขอให้หลวงพ่อสอนตามแนวของหลวงพ่อที่เคยสอน จะสอนอะไรก็ได้

หลวงพ่อเกษม : ขอถวายพระพร มีเป็นประเภทภาษิตคติธรรมต่างๆ

ในหลวง : อะไรก็ได้ ขอให้เป็นคำสอนก็ใช้ได้

หลวงพ่อเกษม : ได้ ขอถวายพระพร

ในหลวง : ขอนมัสการลา (ทรงกราบแล้วเสด็จพระราชดำเนินถึงประตูพระอุโบสถ เสด็จกลับมาที่หลวงพ่ออีก) แล้วตรัสว่า “หลวงพ่อจำหมอดนัยได้ไหม เคยส่งมาพยาบาลหลวงพ่อที่คราวหลวงพ่ออาพาธมาหลายปีแล้ว ผมจะให้เขานำเครื่องบันทึกมา”

หลวงพ่อเกษม : จำได้ ขอถวายพระพร


(หมายเหตุ :: เจ้าคุณฯ หมายถึง เจ้าคุณพระอินทรวิชยาจารย์ เจ้าอาวาสวัดคะตึกเชียงมั่น)

“สัพเพ ชนา สุชิโต โหนตุ”
หลวงพ่อเกษม เขมโก

(บทความทั้งหมดนี้ได้คัดลอกมาจากหนังสือหลวงพ่อเกษม เขมโก)

9#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-5-22 18:13 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ประวัติและปฏิปทา
หลวงพ่อเกษม เขมโก



สำนักสงฆ์สุสานไตรลักษณ์ (ประตูม้า)
ต.เวียงเหนือ อ.เมือง จ.ลำปาง


หลวงพ่อเกษม เขมโก มีนามเดิมว่า เกษม มณีอรุณ เกิดเมื่อวันพุธ แรม ๔ ค่ำ เดือนยี่ (เหนือ) ปีชวด ตรงกับวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๕ (ร.ศ. ๑๓๑, จ.ศ. ๑๒๗๔, ค.ศ. ๑๙๑๒) ณ บ้านท่าเก๊าม่วง ริมแม่น้ำวัง ตำบลเวียงเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง เป็นบุตรชายคนหัวปีคนเดียวของ เจ้าน้อยหนู มณีอรุณ และเจ้าแม่บัวจ้อน ณ ลำปาง และมีน้องสาวเสียชีวิตตั้งแต่เล็กๆ บิดารับราชการเป็นปลัดอำเภอ ชาติตระกูลทั้งบิดาและมารดามาจากตระกูล ณ ลำปาง เป็นหลานเจ้าพ่อบุญวาทย์ วงศ์มานิตย์ เจ้าผู้ครองนครลำปางองค์สุดท้าย

ท่านเป็นคนร่างสันทัด ผิวขาว แข็งแกร่ง บุคลิกลักษณะดีมาแต่กำเนิด ว่องไว และสติปัญญาเฉลียวฉลาด นุ่มนวล แสดงออกซึ่งลักษณะของการประนีประนอม แม้จะซุกซนก็เป็นธรรมดาของวัยเด็ก ไม่มีการแสดงออกซึ่งความแข็งกร้าว ไม่ยอมทำสิ่งที่ผิด

เจ้าเกษม ณ ลำปาง (หลวงพ่อเกษม) จบการศึกษาชั้นประถม ๕ การศึกษาสามัญ ณ โรงเรียนบุญทวงศ์อนุกูล อันเป็นขั้นสูงสุดของโรงเรียนในสมัยนั้น เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๖ ขณะนั้นอายุได้ ๑๑ ปี

ปี พ.ศ. ๒๔๖๘ อายุได้ ๑๓ ปี ท่านได้บรรพชาเป็นครั้งแรก ณ วัดป่าดั๊วะ โดยการบวชหน้าไฟ ๗ วัน ต่อมาเมื่ออายุได้ ๑๕ ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณรอีกครั้ง ณ วัดบุญยืน จังหวัดลำปาง

ในปี พ.ศ. ๒๔๗๕ ขณะนั้นสามเณรเกษม อายุได้ ๒๐ ปี ก็สามารถเรียนนักธรรมสอบได้ชั้นโท มีความแตกฉานในด้านบาลีมาก

พ.ศ. ๒๔๗๖ อายุได้ ๒๑ ปีบริบูรณ์ ได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดบุญยืน จังหวัดลำปาง โดยมีพระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณธรรมจินดานายก (ฝาย) เจ้าคณะจังหวัดลำปาง (ในขณะนั้น) เป็นพระอุปัชฌาย์, ท่านพระครูอุตตรวงศ์ธาดา เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และท่านพระธรรมจินดานายก เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับนามฉายาว่า “เขมโก” ซึ่งแปลว่า “ผู้มีธรรมอันเกษม”

ขออภัย! โพสต์นี้มีไฟล์แนบหรือรูปภาพที่ไม่ได้รับอนุญาตให้คุณเข้าถึง

คุณจำเป็นต้อง ลงชื่อเข้าใช้ เพื่อดาวน์โหลดหรือดูไฟล์แนบนี้ คุณยังไม่มีบัญชีใช่ไหม? ลงทะเบียน

x
10#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-5-22 18:14 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
หลวงพ่อเกษม เขมโก ครั้งยังเป็นพระหนุ่ม

เมื่อบวชเป็นพระภิกษุสงฆ์แล้ว ท่านก็ยังศึกษาพระธรรมวินัยอยู่ในระยะแรกๆ โดยได้เข้าเรียนภาษาบาลีและปริยัติธรรมจากสำนักวัดศรีล้อม วัดบุญวาทย์วิหาร วัดเชตวัน และวัดเชียงราย ในจังหวัดลำปาง ซึ่งมีครูสอน อาทิ ท่านเจ้าคุณพระเทพวิสุทธิโสภณ (อดีตเจ้าคณะจังหวัดลำปาง), พระมหาตาคำ, พระมหามงคล บุญเฉลิม, มหามั่ว พรหมวงศ์, มหาปราโมทย์ (นาม) นวลนุช, พระมหาโกวิท โกวิทยากร

การศึกษาพระปริยัติธรรม ท่านสอบได้นักธรรมเอกในปี พ.ศ. ๒๔๗๙ ขณะนั้นอายุได้ ๒๔ ปี และเรียนภาษาบาลีที่สำนักวัดบุญวาทย์วิหาร สามารถแปลพระธรรมบทได้ ๘ ภาค เรียนพระปาติโมกข์ สวดพระปาติโมกข์ ในอุโบสถวัดบุญวาทย์วิหารหลายปี ถึงเวลาสอบเปรียญ ๓ ท่านไม่ยอมสอบทั้งๆ ที่มีความสามารถและมีความสนใจศึกษา

ต่อมา เจ้าอธิการเหมย เจ้าอาวาสวัดบุญยืน ถึงแก่มรณภาพ ทางคณะศรัทธาญาติโยมจึงได้นิมนต์หลวงพ่อเกษมให้มาเป็นเจ้าอาวาสวัดบุญยืน จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. ๒๔๙๒ ท่านเกิดเบื่อหน่ายและได้สละตำแหน่งเจ้าอาวาส เพื่อออกเดินธุดงค์ เนื่องจากท่านชอบความวิเวก โดยท่านกล่าวมีความตอนหนึ่งว่า “...ทุกอย่างเราสอนดีแล้ว อย่าได้คิดไปตามเรา เพราะเราสละแล้ว การเป็นเจ้าอาวาสเปรียบเหมือนหัวหน้าครอบครัวต้องรับผิดชอบภาระหลายอย่าง ไม่เหมาะสมกับเรา เราต้องการความวิเวก ไม่ขอกลับมาอีก...”

ทั้งนี้ ท่านจึงไปอาศัยอยู่ที่ป่าช้าศาลาวังทาน จากนั้นจึงย้ายเข้าไปอยู่ในป่าช้าแม่อาง บำเพ็ญภาวนาธรรม ซึ่งท่านได้รับอุบายธรรมมาจากหลวงพ่อครูบาแก่น (อุบล สุมโน) อดีตเจ้าอาวาสวัดประตูป่อง จังหวัดลำปาง ถือได้ว่าเป็นพระอาจารย์สอนกรรมฐานองค์แรก

การปฏิบัติท่านมีปฏิปทาเช่นเดียวกันกับ “พระป่า” ที่เที่ยววิเวกไปในทุกแห่งหนนั้นเอง อาศัยป่าที่สงบจากผู้คน โดยอาศัยเฉพาะป่าช้าในเขตจังหวัดลำปาง หลวงพ่อเกษม ท่านเป็นพระภิกษุสงฆ์ที่ทุกคนไม่เข้าใจในปฏิปทาของท่าน จะพากันสงสัยว่า “การปฏิบัติที่ตึงเปรี๊ยะ คือ การนั่งภาวนากลางแดดร้อนระอุบ้าง นั่งทั้งวันทั้งคืนโดยไม่ไหวกายเลยบ้าง อดอาหารเป็นเวลานานถึง ๔๙ วันบ้าง มิหนำซ้ำท่านยังไม่ติดรสในอาหารอีกด้วย”

ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้