ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 4925
ตอบกลับ: 13
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

~ พระพุทธพจนวราภรณ์(หลวงปู่จันทร์ กุสโล) วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร ~

[คัดลอกลิงก์]


ประวัติและปฏิปทา
พระพุทธพจนวราภรณ์
(หลวงปู่จันทร์ กุสโล)  


วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร
ต.พระสิงห์ อ.เมือง จ.เชียงใหม่



๏  ถิ่นกำเนิด

ณ เรือนไม้อันร่มรื่นริมน้ำปิง บ้านท่ากองิ้ว ตำบลปากบ่อง อำเภอปากซาง จังหวัดลำพูน ปีพุทธศักราช ๒๔๖๐ นายนาริน และนางต๊ะ แสงทอง ผู้ภรรยา ได้มีโอกาสรับขวัญทายาทเพศชายคนที่ ๖ ท่ามกลางความปิติยินดีของพี่ชายและพี่สาวทั้ง ๕ คน ในวันจันทร์ ขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือน ๑ ปีมะเส็ง ตรงกับวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๖๐ ทารากเพศชายสุขภาพร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ ผิวพรรณสะอาดหมดจด มีนามว่า “เด็กชายจันทร์ แสงทอง”


๏ ชีวิตปฐมวัย

หลังจากที่โยมบิดาและโยมมารดาแต่งงานกันไป ได้ไปทำการค้าขายอยู่ที่ตลาดท่ากองิ้ว ตำบลปากบ่อง อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน จนกระทั่งให้กำเนิดบุตรชายคนสุดท้อง (พระพุทธพจนวราภรณ์) เมื่อท่านอายุได้ ๘ เดือน โยมบิดาได้ถึงแก่กรรมด้วยโรคระบาด คือ กาฬโรค หลังจากโยมบิดาเสียชีวิตแล้ว โยมมารดาได้ย้ายถิ่นฐานครอบครัวมาอยู่ในตลาดเมืองลำพูน เพื่อทำกิจการค้าขาย ซึ่งต่อมาเมื่อไม่อาจที่จะดำเนินการค้าขายได้อีกต่อไป จึงได้ย้ายถิ่นฐานอีก ไปอยู่ที่บ้านป่าแดด ตำบลเวียงยอง อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน

เนื่องจากมีปัญาและอุปสรรคทางชีวิตครอบครัว คือโยมบิดาเสียชีวิตและต้องย้ายที่อยู่บ่อย จึงทำให้โอกาสทางการศึกษาผ่านไป จนกระทั่งอายุเลยเกณฑ์ภาคบังคับ (โรงเรียนในสมัยนั้น ถ้าเด็กอายุเลยเกณฑ์แล้วจะไม่รับเข้าเรียน) ท่านจึงต้องใช้ชีวิตอยู่แบบชาวบ้าน ที่ไม่มีโอกาสทางการศึกษา ต้องช่วยโยมมารดาทำงานตามฐานะ คือเลี้ยงวัว เลี้ยงควาย ท่านเล่าให้ฟังว่า สถานที่เลี้ยงวัวเลี้ยงควายของท่านในสมัยเด็กๆ นั้นคือบริเวณทางรถไฟตั้งแต่แม่น้ำกวง เรื่อยไปจนถึงบริเวณดอยติ (อนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย ในปัจจุบัน)

เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๗๔ เมื่อท่านอายุย่างเข้า ๑๔ ปี โยมมารดาได้พากันไปฝากเป็นศิษย์วัดป่าแดด ตำบลเวียงยอง อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน เป็นศิษย์วัดร่วมกับพี่ชาย (นายบุญปั๋น) ซึ่งบวชเป็นสามเณรอยู่ที่นั่น ท่านได้มีโอกาสเรียนอักษรพื้นเมือง ท่องบทสวดเจ็ดตำนาน และคำขอบวชเพื่อเตรียมตัวบวชเป็นสามเณร ในระหว่างเป็นศิษย์วัด ท่านเล่าให้ฟังว่า ลูกศิษย์ที่เป็นเพื่อนๆ กัน เมื่อพวกเขาได้รับประทานอาหารเช้าเสร็จแล้ว ได้ไปโรงเรียนกันหมด ส่วนตัวท่านไม่ได้ไปเรียน เนื่องจากอายุเลยเกณฑ์ เลยต้องทำหน้าที่ขโยม (เป็นภาษาเหนือ หมายถึง ศิษย์วัด) ไปเก็บอาหารจากชาวบ้านมาถวายท่านสมภาร

ประมาณเดือนพฤษภาคม พ.ศ.๒๔๗๕ ขณะที่ท่านกำลังตัดไม่ไผ่จะทำรั่ว พี่ชายได้มาตามให้ไปอยู่ที่วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร ตำบลพระสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เนื่องจากญาติที่อยู่ในเมืองลำพูนจะบวชเป็นสามเณรอยู่ที่นั่น ท่านจึงได้มีโอกาสเข้ามาเป็นศิษย์วัดเจดีย์หลวงฯ โดยได้รับการศึกษาชั้นเตรียม (ก่อนเรียนชั้นประถม) นับเป็นการเริ่มต้นเรียนภาษาไทยของท่าน ที่โรงเรียนพุทธโสภณ (ซึ่งในสมัยนั้นตั้งอยู่ในวัดเจดีย์หลวงฯ  ทางด้านเหนือของพระวิหาร ตรงที่เป็นศาลาเอนกประสงค์ในปัจจุบัน) เป็นเวลาประมาณ ๔ เดือน พออ่านออกเขียนได้แล้ว ท่านพระครูสังฆรักษ์ (แหวว ธมฺมทินโน) (ต่อมาได้รับสมณศักดิ์ในราชทินนามที่ พระพุทธโสภณ) เห็นว่าอายุมากแล้ว จึงให้บรรพชาเป็นสามเณร นับว่าเป็นการเริ่มต้นเข้าสู่ร่มเงาในบวรพระพุทธศาสนา

ขออภัย! โพสต์นี้มีไฟล์แนบหรือรูปภาพที่ไม่ได้รับอนุญาตให้คุณเข้าถึง

คุณจำเป็นต้อง ลงชื่อเข้าใช้ เพื่อดาวน์โหลดหรือดูไฟล์แนบนี้ คุณยังไม่มีบัญชีใช่ไหม? ลงทะเบียน

x
2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-10-7 08:57 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๏ การบรรพชา

ท่านได้บรรพชาเป็นสามเณรเมื่ออายุได้ ๑๕ ปี ในเดือนตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๗๕ ณ วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีพระครูนพีสีลพิศาลคุณ วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร เป็นพระอุปัชฌาย์


ซ้ายมือ : เมื่อครั้งยังเป็นสามเณร


เมื่อครั้งอุปสมบทเป็นพระภิกษุแล้ว
3#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-10-7 08:58 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (พิมพ์ ธมฺมธโร)


๏ การอุปสมบท

เมื่อท่านมีอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุในทางพระพุทธศาสนา เมื่อวันที่ ๖ กรกฎาคม พุทธศักราช  ๒๔๘๐ ณ วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร ตำบลพระสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ โดยมี พระพุทธโสภณ (แหวว ธมฺมทินโน) ครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระครูมหาเจติยาภิบาล วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร เป็นพระอุปัชฌาย์, สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (พิมพ์ ธมฺมธโร) ครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระญาณดิลก วัดพระศรีมหาธาตุฯ เขตบางเขน กรุงเทพฯ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และ พระครูพุทธิโสภณ (บุญปั๋น) วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร  เป็นพระอนุสานาจารย์ ได้รับนามฉายาว่า “กุสโล” ซึ่งแปลว่า “ผู้ฉลาด”  


๏ การศึกษาพระปริยัติธรรม

ในปี พ.ศ.๒๔๗๔ ท่านได้เข้าเรียนภาษาไทยที่โรงเรียนพุทธโสภณ ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณวัดเจดีย์หลวงฯ ด้วยความที่เป็นเด็กว่านอนสอนง่าย พูดจาสุภาพอ่อนน้อม กิริยามารยาทเรียบร้อย มีความมานะพยายามขยันท่องบ่น สวดมนต์ และเรียนนักธรรม

ซึ่งท่านสอบนักธรรมชั้นตรีได้เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๖, ในปี พ.ศ.๒๔๗๗ สอบได้บาลีไวยกรณ์, ในปี พ.ศ.๒๔๗๘ สอบได้นักธรรมชั้นโท, ในปี  พ.ศ.๒๔๘๑ ท่านได้ย้ายไปเรียนที่วัดบรมนิวาส ที่กรุงเทพฯ สอบได้เปรียญธรรม ๓ ประโยค, ในปี พ.ศ.๒๔๘๒ สอบได้นักธรรมชั้นเอก และเปรียญธรรม ๔ ประโยค, ในปี พ.ศ.๒๔๘๓ ท่านได้ย้ายกลับมาจำพรรษาอยู่ที่วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร และสอบได้เปรียญธรรม ๕ ประโยค

หลังจากนั้นท่านได้พยายามลงไปสอบเปรียญธรรม ๖ ประโยค ที่กรุงเทพฯ อยู่หลายปี แต่ไม่ผ่าน เนื่องจากในสมัยนั้นเต็มไปด้วยปัญหาอุปสรรคนานัปการ เพราะว่าอยู่ช่วงของสงครามโลก อีกทั้งการติดต่อสื่อสารกันลำบากมากโดยเฉพาะการเดินทางจากเชียงใหม่ไปกรุงเทพฯ


๏ ลำดับสมณศักดิ์

วันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๙๖ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตร ในราชทินนามที่ “พระครูวินัยโกศล”

วันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๑๒ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราช ในราชทินนามที่ “พระราชวินยาภรณ์ สุนทรธรรมสาธิต ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี”

วันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๒๖ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ในราชทินนามที่ “พระเทพกวี เมธีธรรมโฆษิต อรรถกิจจาทร ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี”

วันที่ ๑๒ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๓๕ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นธรรม เป็นกรณีพิเศษ ในราชทินนามที่ “พระธรรมดิลก ธรรมสาธก วิจิตราภรณ์สุนทร พิพิธธรรมวาที ตรีปิฎกวิภูสิต ธรรมมิกคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี”

วันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๔๔   ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นหิรัญบัฏหรือรองสมเด็จพระราชาคณะ ในราชทินนามที่ “พระพุทธพจนวราภรณ์ อดิศรวุฒิโสภณ วิมลศีลาจารวัตร วิสุทธิธรรมปฏิบัติวินยวาท พุทธศาสน์คณาธิกร ธรรมยุตติกคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี”


ถ่ายภาพกับโยมมารดาและญาติพี่น้อง
4#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-10-7 08:59 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๏  ลำดับงานปกครองคณะสงฆ์

พ.ศ.๒๔๘๗  ได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการสงฆ์ประจำอำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ และเจ้าคณะอำเภอ จังหวัดเชียงใหม่-ลำพูน-แม่ฮ่องสอน (ธรรมยุต)

พ.ศ.๒๔๘๘ ได้รับการแต่งตั้งเป็นพระวินัยธรชั้นต้น ภาค ๕ เขต ๑

พ.ศ.๒๔๙๕ ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะธรรมยุตผู้ช่วย จังหวัดเชียงใหม่-ลำพูน-ลำปาง-อุตรดิตถ์

พ.ศ.๒๕๐๒ ได้รับการแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์

พ.ศ.๒๕๑๒ ได้รับการแต่งตั้งเป็นรองเจ้าอาวาสวัดเจดีย์หลวงวรวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่

พ.ศ.๒๕๑๔ ได้รับการแต่งตั้งเป็นครูใหญ่โรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา โรงเรียน สามัคคีวิทยาทาน

พ.ศ.๒๕๑๖ ได้รับการแต่งตั้งรักษาการเจ้าอาวาสวัดป่าดาราภิรมย์ อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่

พ.ศ.๒๕๒๒ ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่-ลำพูน-แม่ฮ่องสอน (ธรรมยุต)

พ.ศ.๒๕๒๔ ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดป่าดาราภิรมย์ อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่

พ.ศ.๒๕๓๐ ได้รับการแต่งตั้งเป็นอนุกรรมการคณะธรรมยุต และเป็นประธานกรรมการโรงเรียน พระปริยัติธรรม และโรงเรียนธรรมสาธิตศึกษา จังหวัดลำพูน

พ.ศ.๒๕๓๔ ได้รับการแต่งตั้งเป็นรองเจ้าคณะภาค ๔-๕-๖-๗ (ธรรมยุต) และเป็นรองเลขาธิการสภาการศึกษามหามกุฎราชวิทยาลัย วิทยาเขตล้านนา

พ.ศ.๒๕๓๕ ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดเจดีย์หลวงวรวิหาร (พระอารามหลวง) อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ และเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิการศึกษา การศาสนา การวัฒณธรรม เขตการศึกษา ๘

พ.ศ.๒๕๓๖ ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้รักษาการแทนเจ้าคณะภาค ๔-๕-๖-๗ (ธรรมยุต)

พ.ศ.๒๕๓๗ ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะภาค ๔-๕-๖-๗ (ธรรมยุต)


หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน-พระพุทธพจนวราภรณ์ (จันทร์ กุสโล)


ซ้ายมือสุด : พระพุทธพจนวราภรณ์ (จันทร์ กุสโล)
5#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-10-7 08:59 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

พระพุทธพจนวราภรณ์ (จันทร์ กุสโล)


๏ ตำแหน่งงานอื่นๆ

พ.ศ.๒๕๐๒ เป็นประธานกรรมการมูลนิธิเมตตาศึกษา ได้ก่อตั้งโรงเรียนเมตตาศึกษา ซึ่งเป็นโรง เรียนเอกชนที่รับเด็กเรียนดี แต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ และมีความประพฤติเรียบร้อย เข้าเรียนโดยไม่เก็บค่าเล่าเรียน ในระดับมัธยมศึกษาปีที่ ๑-๓ ดำเนินงานมาจนถึงปัจจุบัน โดยอาศัยทุนทรัพย์จากผู้มีจิตศรัทธา ภายใต้การดำเนินงานของมูลนิธิเมตตาศึกษา ตั้งอยู่ที่บริเวณภายในวัดเจดีย์หลวงวรวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่

พ.ศ.๒๕๑๗ เป็นประธานกรรมการมูลนิธิศึกษาพัฒนาชนบท โดยจัดตั้งมูลนิธิศึกษาพัฒนาชนบท ซึ่งมีสำนักงานตั้งอยู่ที่วัดป่าดาราภิรมย์ (พระอารามหลวง) เลขที่ ๕๑๔ หมู่ที่ ๑ ตำบลริมใต้  อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่

พ.ศ.๒๕๑๘ เป็นประธานคณะกรรมการส่วนภูมิภาค ภาค ๕ ของสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย (ฝ่ายบรรพชิต), เป็นประธานชมรมศาสนิกสัมพันธ์เชียงใหม่

พ.ศ.๒๕๒๑ เป็นอาจารย์พิเศษของสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ ในจังหวัดเชียงใหม่ ทั้งระดับปริญญาตรีและปริญญาโท อาทิ คณะศึกษาศาสตร์, มนุษยศาสตร์, สังคมศาสตร์, พยาบาลศาสตร์ ฯลฯ  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสหวิทยาลัยครูเชียงใหม่

พ.ศ.๒๕๒๕ เป็นกรรมการที่ปรึกษาชมรมยาพื้นบ้านล้านนาไทย ซึ่งเป็นการรักษาและอนุรักษ์ยา พื้นบ้านของไทย

พ.ศ.๒๕๒๖ เป็นกรรมการอุปถัมภ์โรงเรียนพุทธิโสภณ

พ.ศ.๒๕๒๗ เป็นกรรมการที่ปรึกษาหน่วยงานสากล ที่ให้การส่งเสริมความร่วมมือ และประสานงานการพัฒนาชนบท ทุกระดับในประเทศไทย, เป็นกรรมการอุปถัมภ์มูลนิธิส่งเสริมโภชนาการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ

พ.ศ.๒๕๓๒ เป็นกรรมอุปถัมภ์ชมรมธรรมานามัยศูนย์เชียงใหม่, เป็นกรรมการวางแผนการศึกษา การศาสนา และศิลปวัฒนธรรม ประจำจังหวัดเชียงใหม่

พ.ศ.๒๕๓๔ ร่วมกับมูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กรุงเทพฯ  จัดตั้งมหาวิทยาลัยสงฆ์ทางพระพุทธศาสนาขึ้น ณ วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร จังหวัดเชียงใหม่ มีชื่อว่า “สภาการศึกษามหากุฎราชวิทยาลัย วิทยาเขตล้านนา”

พ.ศ.๒๕๓๕ เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิการศึกษา การศาสนา และการวัฒนธรรม เขตการศึกษา ๘


๏ งานเผยแผ่พระพุทธศาสนา

พ.ศ.๒๔๘๑ ให้การศึกษาอบรมทางด้านจิตใจแก่ประชาชน รับนิมนต์ไปแสดงธรรมตามวัดและ สถานที่ต่างๆ ในจังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดใกล้เคียง และต่างจังหวัด, แสดงพระธรรมเทศนสและข้อคิดเห็นอีกทั้งคติเตือนใจ ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงและทางสถานีโทรทัศน์ ตามรายการดังนี้

พ.ศ.๒๔๙๘ พระธรรมเทศนา รายการ ๓๐ นาที ทุกวันพระขึ้น ๑๕ ค่ำ เวลา ๐๙.๓๐-๑๐.๐๐ น. สถานีวิทยุกระจายเสียงทหารอากาศเชียงใหม่ ภาค AM

พ.ศ.๒๕๐๓ ข้อคิดประจำวัน รายการ ๕ นาที ทุกวันก่อนปิดสถานีวิทยุ วปถ. ๒ ค่ายกาวิละ เชียงใหม่ (ออกอากาศอยู่ ๑ ปี) ภายหลังเปลี่ยนเป็นรายการ ๑๕ นาที ทุกวัน เวลา ๐๕.๔๕-๐๖.๐๐ น. สถานีวิทยุทหารอากาศเชียงใหม่ ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๐๘-พ.ศ.๒๕๕๑

พ.ศ.๒๕๐๔ สนทนาธรรม รายการ ๓๐ นาที ทุกวันอาทิตย์ เวลา ๑๙.๐๐-๑๙.๓๐ น. ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงทหารอากาศเชียงใหม่

พ.ศ.๒๕๒๕ พระธรรมยามเย็น เป็นรายการชีวิตสอดแทรกธรรมะ ๓๐ นาที ออกอากาศทุกวันเสาร์- อาทิตย์ เวลา ๑๘.๐๐-๑๘.๓๐ น. ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงสื่อสารมวลชน คณะมนุษย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

พ.ศ.๒๕๒๘ ชีพจรลงเท้า เป็นรายการ ๓๐ นาที ถ่ายทอดทางสถานีโทรทัศน์ ช่อง ๗, แผ่นดินธรรม เป็นรายกาย ๓๐ นาที ถ่ายทอดทางสถานีโทรทัศน์ ช่อง ๓

พ.ศ.๒๕๒๙ ธรรมสวนะ เป็นรายการ ๓๐ นาที ถ่ายทอดทางสถานีโทรทัศน์ ช่อง ๓ และช่อง ๑๑ (ช่อง ๘ ลำปางเดิม)

พ.ศ.๒๕๓๐ ระเบียบวินัยคือหัวใจของชาติ เป็นรายการ ๓๐ นาที เดือนละครั้ง ทางสถานีวิทยุกรมประชาสัมพันธ์ กรุงเทพฯ  และรายการธรรมะ ๕ นาที เป็นรายการ ๕ นาที ทุกวันก่อนเข้าห้องเรียน โรงเรียนแม่ริมวิทยาคม อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่

พ.ศ.๒๕๓๒ บทบาทของพระสงฆ์กับการพัฒณาชนบท รายการ ๔๕ นาที ถ่ายทอดทางสถานี โทรทัศน์ ช่อง ๑๑ (ช่อง ๘ ลำปางเดิม)

พ.ศ.๒๕๓๓  การแสดงปาฐกถาและร่วมประชุมสัมนา “เกษตรสนทนา” นอกจากนั้นท่านยังได้รับนิมนต์ไปแสดงปาฐกถาและร่วมประชุมสัมนาเกี่ยวกับงานที่ทำ โดยเฉพาะงานด้านสภาพปัญหากับการพัฒนาชนบท งานเกี่ยวกับมูลนิธิศึกษาพัฒนาชนบท ที่ท่านดำรงตำแหน่งเป็นประธานอยู่ และงานเสริมสร้างคุณภาพชีวิต ตามสถานที่ต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
6#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-10-7 09:00 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

พระพุทธพจนวราภรณ์ (จันทร์ กุสโล)


๏ ผลงานในประเทศไทย

พ.ศ.๒๔๙๔ สถาบันการศึกษาทุกระดับในจังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดใกล้เคียง อาทิ เป็นครูสอนพิเศษวิชาศีลธรรมชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ โรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ, เป็นครูสอนพิเศษวิทยาลัยครู, วิทยาลัยอาชีวศึกษา และมหาวิทยาลัย ฯลฯ และการบรรยายพิเศษแก่นักศึกษาคณะพยาบาลศาสตร์  เป็นต้น

พ.ศ.๒๔๙๖ ทางสื่อมวลชน คือสถานีวิทยุกระจายเสียงและทางสถานีโทรทัศน์

พ.ศ.๒๕๑๓ องค์กรเอกชน อาทิ สภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย (บรรยายงานมูลนิธิ เมตตาศึกษา และมูลนิธิศึกษาพัฒนาชนบท ในการไปร่วมประชุมสัมมนา)

พ.ศ.๒๕๒๗ หน่วยงานรัฐบาล เช่นที่ทำเนียบรัฐบาล (บรรยายเกี่ยวกับการพัฒนาชนบท ปีละครั้ง ในระยะ ๓ ปี ติดต่อกัน ระหว่าง พ.ศ.๒๕๒๗-พ.ศ.๒๕๒๙)

  
๏ ผลงานในต่างประเทศ

พ.ศ.๒๔๙๙ ร่วมประชุมสังคายนาพระไตรปิฎก ครั้งที่ ๖ ณ ประเทศพม่า ในงานฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ

พ.ศ.๒๕๒๓ ร่วมอภิปรายในหัวข้อ “อิทธิพลของศาสนาและวัฒนธรรมในการพัฒนาชนบท” ในการประชุมสัมมนาองค์การเซนดร้า ณ ประเทศอินโดนีเซีย โดยรับนิมนต์จากสมาคม Y.M.C.A. เชียงใหม่

พ.ศ.๒๕๒๓ ร่วมอภิปรายในหัวข้อ “บทบาทของพระสงฆ์กับการพัฒนาชนบท” กับสถาบันฝึกผู้ประสานงานพัฒนา และสมาคม Y.M.C..A. เชียงใหม่ ณ ประเทศมาเลเซีย

พ.ศ.๒๕๒๕ รับนิมนต์ไปแสดงปาฐกธรรม ณ วัดไทยในรัฐต่างๆ ของประเทศสหรัฐอเมริกา เช่น ที่ลอสแองเจลิส, ชิคาโก, นิวยอร์ก, วอชิงตัน ดี.ซี. ฯลฯ


๏ การไปศึกษาและดูงานด้านศาสนาในต่างประเทศ

พ.ศ.๒๔๙๗ และ ๒๔๙๘ ประเทศสิงค์โปร์และปีนัง

พ.ศ.๒๔๙๙ ประเทศพม่า

พ.ศ.๒๕๑๐ และ ๒๕๓๕ ประเทศญี่ปุ่น

พ.ศ.๒๕๑๑ ประเทศอินเดีย

พ.ศ.๒๕๒๑ ประเทศอินโดนีเซีย

พ.ศ.๒๕๒๕ ประเทศสหรัฐอเมริกา

พ.ศ.๒๕๒๖ และ ๒๕๒๙ ประเทศศรีลังกา ๒ ครั้ง

พ.ศ.๒๕๓๑ ประเทศออสเตรเลีย

พ.ศ.๒๕๓๕ ประเทศจีน (สิบสองปันนา), ประเทศอินโดนีเซีย

พ.ศ.๒๕๓๗ ประเทศอเมริกาและยุโรป

พ.ศ.๒๕๓๙ ประเทศจีน

พ.ศ.๒๕๔๐ ประเทศจีน
7#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-10-7 09:01 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

ป้ายชื่อวัดเจดีย์หลวงวรวิหาร จ.เชียงใหม่  
        

๏ การพัฒนาการศึกษาและชนบท


พ.ศ.๒๕๐๒ จัดตั้งมูลนิธิเมตตาศึกษา และโรงเรียนเมตตาศึกษา ณ วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร จังหวัดเชียงใหม่ โดยความร่วมมือของเจ้าหน้าที่ปกครองระดับท้องถิ่น อาทิ นายอำเภอ, ศึกษาธิการอำเภอ, นักธุรกิจ และกรรมการยุวพุทธิกสมาคมเชียงใหม่ เป็นต้น

วัตถุประสงค์หลักของการจัดตั้งมูลนิธิเมตตาศึกษานั้น เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาอาชญากรรมซึ่งเกิดขึ้นในวัยรุ่น อีกทั้งช่วยปลูกฝังและส่งเสริมศีลธรรมไปพร้อมๆ กัน ตลอดจนช่วยให้เด็กชนบทที่เรียนดีแต่ยากจน ได้มีโอกาสเรียนต่อ หลังจากที่จบจากการศึกษาภาคบังคับ แบบให้เปล่า คือนอกจากจะไม่เก็บค่าเล่าเรียนและค่าบำรุงใดๆ แล้ว มูลนิธิเมตตาศึกษายังให้ความช่วยเหลือนักเรียนที่ผ่านการคัดเลือดเป็นกรณีพิเศษ ทั้งในด้านจัดหาทุนเรียน, จัดหาผู้อุปการะ, ที่พักอาศัย, ให้ขอยืมแบบเรียน และกรณีจำเป็นอื่นๆ
     
พ.ศ.๒๕๑๒ จัดตั้งมูลนิธิศึกษาพัฒนาชนบท ด้วยวัตถุประสงค์หลักที่จะให้โอกาสแก่เยาวชนชายหญิงในชนบทที่ต้องการศึกษา และคนชนบทที่ยากจนได้รับการพัฒนา จนกระทั่งถึงระดับที่ช่วยเหลือตนเองและชุมชนได้ ทั้งในด้านงานอาชีพทางเกษตรและงานฝีมือต่างๆ ตลอดจนส่งเสริมแนวทางการอนุรักษ์ทางศีลธรรม-วัฒนธรรมของชาติและท้องถิ่นไปพร้อมๆ กัน กล่าวคือ เป็นการพัฒนาชนบทตามแนวคิดและวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งมูลนิธิที่ว่า “เศรษฐกิจ จิตใจ ต้องแก้ไขพร้อมกัน”

พ.ศ.๒๕๓๔ จัดตั้ง “สภาการศึกษามหากุฎราชวิทยาลัย วิทยาเขตล้านนา” ให้เป็นมหาวิทยาลัยทางพระพุทธศาสนาในเขตภาคเหนือ มีสถานที่ตั้งอยู่ ณ วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร จังหวัดเชียงใหม่ โดยได้รับความร่วมมือจากทางมูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กรุงเทพฯ


วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร จ.เชียงใหม่
8#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-10-7 09:01 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

พระพุทธพจนวราภรณ์ (จันทร์ กุสโล)


๏ ผลงานด้านหนังสือธรรมะและสิ่งพิมพ์

พ.ศ.๒๕๐๐ หนังสือธรรมานุภาพ พิมพ์ที่สำนักพิมพ์คลิงวิทยา กรุงเทพฯ หนา ๓๗๖ หน้า เป็นหนังสือธรรมะและประเพณีต่างๆ ของล้านนาไทย

พ.ศ.๒๕๐๓ หนังสือธรรมะจากสิ่งแวดล้อม พิมพ์ที่ ห.จ.ก.ฤทธิการพิมพ์ กรุงเทพฯ หนา ๖๔ หน้า เป็นหนังสือเล่าเรื่องการเดินทางที่ให้ข้อคิดทางธรรมะ จากอำเภอเมืองไปอำเภอฝาง จังหวัด เชียงใหม่

พ.ศ.๒๕๐๙, ๒๕๒๒, และ ๒๕๒๔ หนังสือข้อคิดประจำวัน พิมพ์ครั้งที่ ๑ สำนักพิมพ์คลังวิทยา กรุงเทพฯ, พิมพ์ครั้งที่ ๒ และ ๓ ที่โรงพิมพ์มหามกุฎราชวิทยาลัย กรุงเทพฯ หนา ๔๓๐ หน้า เป็นหนังสือรวบรวมรายการข้อคิดประจำวัน ซึ่งเป็นข้อคิดทางธรรมะ ที่ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงทหารอากาศเชียงใหม่

พ.ศ.๒๕๐๙ หนังสือเครื่องหมายคนดี พิมพ์ที่สำนักพิมพ์คลังวิทยา กรุงเทพฯ เป็นหนังสือที่รวบรวมบทความทางธรรมะ ซึ่งเป็นรายการที่บรรยายทางสถานีวิทยุ วปถ. ๒

พ.ศ.๒๕๑๒ หนังสือพระไทยไปญี่ปุ่น พิมพ์ที่โรงพิมพ์ไทยเขษม กรุงเทพฯ หนา ๔๑๑ หน้า เป็นหนังสือสารคดีท่องเที่ยวญี่ปุ่นทางเรือที่แทรกธรรมะ และบรรยายหรือพรรนาด้วยบทร้อยแก้วและร้อยกรอง

พ.ศ.๒๕๒๔ หนังสือมงคลชีวิต พิมพ์ที่กลางเวียงการพิมพ์ จังหวัดเชียงใหม่ รวมทั้งสิ้น ๑๕ ครั้ง คือ ปี พ.ศ.๒๕๒๔, ๒๕๒๖, ๒๕๒๗, ๒๕๒๙, ๒๕๓๐, ๒๕๓๑, ๒๕๓๒, ๒๕๓๓, ๒๕๓๔, ๒๕๓๕, ๒๕๓๖, ๒๕๓๗, ๒๕๓๘, ๒๕๓๙, ๒๕๔๐ เป็นหนังสือที่รวบรวมขัอคิดคติเตือนใจ และศาสนพิธีต่างๆ โดยย่อจากหนังสือธรรมบรรณาการที่พิมพ์แจกเป็น ส.ค.ส. ตั้งแต่ปี ๒๕๐๔ จนถึงปัจจุบัน และหนังสือ Wisdom Of Ven Phra Thepdkawee แปลมาจาก หนังสือมงคลชีวิต สำหรับแจกชาวต่างประเทศ

พ.ศ.๒๕๒๘ หนังสือชีวิตโยมแม่ เป็นหนังสืองานที่ระลึกฌาปนกิจศพโยมแม่แสง แสงทอง พิมพ์ที่กลางเวียงการพิมพ์ จังหวัดเชียงใหม่

พ.ศ.๒๔๓๐ หนังสือพัฒนาชนบท พิมพ์ที่กลางเวียงการพิมพ์ จังหวัดเชียงใหม่ เป็นหนังสือรวบรวมประวัติการดำเนินการ และผลงานของมูลนิธิเมตตาศึกษา และมูลนิธิศึกษาพัฒนาชนบท

พ.ศ.๒๕๓๕ หนังสือรวมบทร้อยกรองที่ประพันธ์ขึ้นในโอกาสต่างๆ จัดพิมพ์เป็นที่ระลึกในงานถวายปริญญาพัฒนาบริหารศาสตร์ ดุษฎีบัณฑิตกิตติศักดิ์ ทางพัฒนาสังคมของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เมื่อวันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๓๕

พ.ศ.๒๕๓๖ หนังสือมูลนิธิศึกษาพัฒนาชนบท พิมพ์ที่ ห.จ.ก.ฤทธิศรีการพิมพ์ กรุงเทพฯ หนา ๑๑๖ หน้า เป็นหนังสือที่ระลึกเนื่องในโอกาสที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ มาทรงเป็นองค์ประธานเปิดอาคาร ซี.ฟริส เยสเปอร์เซ๋น ณ วัดป่าดาราภิรมย์ อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่

พ.ศ.๒๕๓๗ หนังสือพระเชียงใหม่ไปอเมริกา-มายุโรป พิมพ์ที่โรงพิมพ์ครองช่างการพิมพ์ จังหวัดเชียงใหม่ หนา ๑๙๒ หน้า เป็นหนังสือร้อยแก้วและร้อยกรอง

พ.ศ.๒๕๓๙ หนังสือพระเชียงใหม่ไปอเมริกา-มายุโรป ออกแบบและจัดรูปเล่มใหม่โดยพระอธินันท์ ปุญฺญนนฺโท พิมพ์ที่โรงพิมพ์กลางเวียงการพิมพ์ จังหวัดเชียงใหม่ หนา ๑๓๖ หน้า จำนวน ๓,๐๐๐ เล่ม, หนังสือเครื่องหมายของคนดี ออกแบบและจัดรูปเล่มใหม่โดยพระอธินันท์ ปุญฺญนนฺโท พิมพ์ที่โรงพิมพ์กลางเวียงการพิมพ์ จังหวัดเชียงใหม่ หนา ๒๘๐ หน้า จำนวน ๓,๐๐๐ เล่ม

พ.ศ.๒๕๔๐ หนังสือชีวิตกับการรักษาจิต พิมพ์ที่โรงพิมพ์นันทพันธ์ จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน ๓,๐๐๐ เล่ม, หนังสือชีวิตที่มีความสุข เล่ม ๑ และ ๒ พิมพ์ที่โรงพิมพ์นันทพันธ์ จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน ๖,๐๐๐ เล่ม, หนังสือยอดของความสุข พิมพ์ที่โรงพิมพ์นันทพันธ์ จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน ๓,๐๐๐ เล่ม, หนังสือคู่มือปฏิบัติธรรม พิมพ์ที่โรงพิมพ์ประชาชน กรุงเทพฯ  จำนวน ๓,๐๐๐ เล่ม, หนังสือคำกลอนสอนใจ พิมพ์ที่โรงพิมพ์กลางเวียงการพิมพ์ จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน ๓,๐๐๐ เล่ม

พ.ศ.๒๔๙๔ จนถึงปัจจุบัน ได้เขียนบทความต่างๆ ที่พิมพ์เผยแพร่ในวารสารครูเชียงใหม่, หนังสือพิมพ์, นิตยสาร และหนังสืออนุสรณ์ต่างๆ หนังสือที่พิมพ์แจกในงานศพ ฯลฯ
9#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-10-7 09:02 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๏ ผลงานดีเด่นและเกียรติคุณที่ได้รับยกย่อง

พ.ศ.๒๕๐๒-พ.ศ.๒๕๕๑ ริเริ่มงานพัฒนาคุณภาพชีวิตด้วยระบบมูลนิธิฯ และการจัดการศึกษาในลักษณะแบบให้เปล่าแก่เด็กยากจน ที่ไม่มีโอกาส คือ มูลนิธิเมตตาศึกษาและโรงเรียนเมตตาศึกษา

ได้มีศรัทธาจำนวนมากทั้งส่วนบุคคล และองค์กรทั้งของรัฐและเอกชนในประเทศ และต่างประเทศ ได้ร่วมกันบริจาคสร้างตึกเรียน, หอประชุมมีชื่อว่า “วินยาภรณ์” (ตั้งชื่อเป็นเกียรติแก่พระพุทธพจนวราภรณ์ (จันทร์ กุสโล) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์เป็นพระราชวินยาภรณ์ ด้วยเงินบริจาคจากองค์กร NOVIB ประเทศเนเธอร์แลนด์) และช่วยให้นักเรียนที่นอกจากจะไม่เสียค่าเล่าเรียน และค่าบำรุงใดๆ แล้วยังได้รับความช่วยเหลือตามความจำเป็นด้านต่างๆ อาทิ ค่าอาหารกลางวัน, ค่ารถไปโรงเรียน, ค่าอุปกรณ์การเรียน นอกจากนี้ นักเรียนยังมีโอกาสได้ทำงานพิเศษ เพื่อเสริมรายได้ให้ครอบครัว นอกเวลาเรียน และระหว่างปิดภาคเรียน

ตลอดจนมีโอกาสแข่งขันชิงทุนของมูลนิธิเมตตายามาโมโต (มูลนิธิที่จัดตั้งขึ้นจากข้อตกลงร่วมกันระหว่าง Mr.Munio Yamamoto ชาวญี่ปุ่น ที่ศรัทธาต่อพระพุทธพจนวราภรณ์ (จันทร์ กุสโล) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์เป็นพระธรรมดิลก เมื่อปลายปี พ.ศ.๒๕๒๘) หลังจากที่จบการศึกษาของโรงเรียนในระดับมัธยม ๖ แล้ว เพื่อเข้ารับการศึกษาและฝึกทักษะการใช้ภาษาญี่ปุ่นเป็นเวลา ๑ ปีเต็มในประเทศ หรือบางปีก็ได้ไปเรียนและฝึกงานในบริษัทของผู้ให้ทุนผ่านมูลนิธิฯ มา เช่น ณ ประเทศญี่ปุ่น เป็นเวลา ๖ เดือนเต็ม เป็นต้น ผลสำเร็จสูงสุดของผู้ได้รับทุนนี้คือ ทุกคนได้รับการจองตัวหรือได้งานดี และได้รับเงินเดือนสูงกว่าระดับปริญญา

พ.ศ.๒๕๐๒-พ.ศ.๒๕๕๑ ใช้ความสามารถเชิงกวีนิพนธ์ เชิงปลูกฝังคุณธรรม ที่ให้ข้อคิดในการดำรงชีวิตประจำวันของคนทั่วไป โดยได้เริ่มเผยแพร่ออกสู่สายตาประชาชนในรูปของกวีนิพนธ์ “มงคลชีวิตประสิทธิ์พร” ที่จัดพิมพ์ลงในบัตรส่งความสุขในแต่ละปี เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๐๔ เป็นต้นมา คำพรข้อคิดสั้นๆ ที่พระพุทธพจนวราภรณ์ (จันทร์ กุสโล) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์เป็นพระเทพกวี ได้ร้อยกรองขึ้นนี้ มีผู้กล่าวขวัญและนิยมกันมาก คือ ได้มีผู้รวบรวมจัดพิมพ์เผยแพร่ในลักษณะของจุลสาร, หนังสือชำร่วยที่แจกในโอกาสต่างๆ และได้นำออกรายการข้อคิดประจำวันทางสถานีวิทยุทหารอากาศ และสถานีวิทยุประชาสัมพันธ์เชียงใหม่ ทุกวัน และในปี พ.ศ.๒๕๓๑ ได้มีผู้นำกวีนิพนธ์ “มงคลชีวิตประสิทธิ์พร” มาแปลเป็นภาษาอังกฤษ ทำให้ผลงานเชิงกวีนิพนธ์ที่เป็นคติเตือนใจหรือสอนใจนี้ แพร่หลายเป็นที่นิยมยกย่องในต่างประเทศอีกด้วย
10#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-10-7 09:02 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

พระพุทธพจนวราภรณ์ (จันทร์ กุสโล)


๏ ผลงานด้านพัฒนาชนบท

ริเริ่มงานพัฒนาชนบทแบบผสมผสานและครบวงจร ในระดับหมู่บ้านของ ๓ จังหวัดภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่-ลำพูน-แม่ฮ่องสอน คือการก่อตั้งมูลนิธิศึกษาพัฒนาชนบท

พ.ศ.๒๕๒๓

- มีผลการพัฒนาดีเด่น เป็นข้อความที่ประกาศยกย่องไว้ในวารสารเศรษฐกิจและสังคม ปีที่ ๑๘ ฉบับที่ ๒ เดือนมีนาคม-เมษายน พ.ศ.๒๕๒๔ โดยฝ่ายเผยแผ่การพัฒนากองศึกษาภาวะเศรษฐกิจ สำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่ได้สรุปผลงานของ “พระพุทธพจนวราภรณ์ (จันทร์ กุสโล) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์เป็นพระธรรมดิลก” ซึ่งได้กล่าวมาแล้ว และใคร่ขอยกคำตอบสัมภาษณ์ของประธานกรรมการมูลนิธิฯ แห่งแรก ที่ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับมูลนิธิศึกษาพัฒนาชนบทว่า

“มูลนิธิฯ นี้ได้ช่วยเหลือพวกเราซึ่งยากจนแร้นแค้น ให้ลืมตาอ้าปากได้ พวกผมทุกคนรู้สึกซาบซึ้งในพระคุณของหลวงพ่อมาก ท่านเป็นพระมาโปรดพวกเราแท้ๆ”
   
พระพุทธพจนวราภรณ์ (จันทร์ กุสโล) มีผลงานทางวิชาการดีเด่น ได้รับการถวายประกาศนียบัตร “ประกาศเชิดชูเกียรติคุณ” จากคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ ๘ กันยายน พ.ศ.๒๕๒๓ ที่ได้อุทิศเวลา กำลังกาย กำลังใจ กำลังความคิด และได้บำเพ็ญประโยชน์ ในการส่งเสริมการศึกษาแก่ประชาชน และท้องถิ่น ยังให้เกิดความเจริญมั่นคง และดำรงคุณธรรมดีเด่นแก่สังคมโดยส่วนรวม สมควรเป็นแบบอย่างแก่อนุชนคนรุ่นหลังและหมู่คณะ ในทางส่งเสริมความเจริญก้าวหน้า แก่ประเทศชาติบ้านเมืองสืบต่อไป

พ.ศ.๒๕๒๔  

- ได้รับเลือกให้เป็นนักสงคมสงเคราะห์ดีเด่นประจำปี พ.ศ.๒๕๒๔ สาขา “สังคมอาสาสมัคร” จากกรมประชาสงเคราะห์ ร่วมกับสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย สมาคมนักสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย, คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, สภาสตรีแห่งชาติ และมูลนิธิศาสตราจารย์ปกรณ์ อังศุสิงห์ เมื่อวันที่ ๑๘ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๒๔ โดย  ฯพณฯ นายสัญญา ธรรมศักดิ์ ประธานองคมนตรี ได้เป็นผู้ถวายโล่รางวัลดีเด่นประจำสาขา เพื่อสรรเสริญเกียรติคุณ ณ หอประชุมกองทัพบก

พ.ศ.๒๕๒๕

- ได้รับเลือกให้เป็นผู้มีความอุตสาหะวิริยะ นำพระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิก ศิษยานุศิษย์ กระทำการพัฒนาวัดถึงขั้นสำเร็จผลทั้งสถานที่ บุคคล และกิจกรรม อำนวยผลสถิตยสถาพรแก่บวรพระพุทธศาสนา ตามโครงการพัฒนาวัดทั่วราชอาณาจักรของรัฐบาลโดยกรมการศาสนา สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (วาสน์ วาสโน) ทรงพอพระทัย จึงได้ประทาน “ประกาศนียบัตรพัฒนาและวัดพัฒนา” ไว้เพื่อเชิดชูเกียรติของพระพุทธพจนวราภรณ์ (จันทร์ กุสโล) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์เป็นพระธรรมดิลก เมื่อวันที่ ๒๖ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๒๕ ทั้งนี้เพื่อเป็นตัวอย่างแก่วัดพระพุทธศาสนาในราชอาณาจักรไทย สืบต่อไป

พ.ศ.๒๕๒๘

- ได้รับการถวายโล่เกียรติคุณ เพื่อยกย่องและประกาศเกียรติคุณในผลสำเร็จของการพัฒนาหมู่บ้าน และชุมชน ตามอุดมการณ์ “แผ่นดินธรรม-แผ่นดินทอง” จากคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ “แผ่นดินธรรม-แผ่นดินทอง ครั้งที่ ๒” ซึ่งจัดขึ้นในระหว่างวันที่ ๑ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๒๘ โดย ฯพณฯ พลเอกประจวบ สุนทรางกูร รองนายกรัฐมนตรี ประธานคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ เป็นผู้ถวายโล่รางวัลประกาศเกียรติคุณ

พ.ศ.๒๕๓๐

- ได้รับการถวายปริญญาศิลปศาสตร์บัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาพัฒนาชุมชน คณะวิชามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ปีการศึกษา พ.ศ.๒๕๒๙ จากการอนุมัติของสภาการฝึกหัดครู เมื่อวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๓๐ ตามคำเสนอขอของสหวิทยาลัยล้านนาวิทยาลัยครูเชียงใหม่ โดยมีอธิบดีกรมการฝึกหัดครูเป็นผู้ถวายปริญญาดังกล่าว เมื่อวันที่ ๒๗ มีนาคม พ.ศ.๒๕๓๐ เพราะได้พิจารณาเห็นว่า

“พระธรรมดิลก (จันทร์ กุสโล) เป็นบุคคลหรือพระภิกษุสงฆ์ซึ่งถึงพร้อมด้วยคุณธรรมความดี และมีความซื่อสัตย์ เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของประชาชน และศิษยานุศิษย์ อย่างกว้างขวาง เป็นผู้ทุ่มเทกำลังกายกำลังใจ และสติปัญญาให้กับงานด้านสังคมสงเคราะห์ ก่อให้เกิดประโยชน์แก่สังคมนานัปการ จนเป็นที่รู้จักและยอมรับกันอย่างกว้างขวางทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ เป็นตัวอย่างแห่งการครองตน ครองคน และครองงาน สมควรที่คนทั้งหลายจะได้ถือเป็นเยี่ยงอย่าง ไม่ว่าจะเป็นในด้านให้การศึกษาอบรมทางด้านจิตใจ การจัดตั้งมูลนิธิศึกษาพัฒนาชนบท ด้วยความเป็นผู้มีเมตตาจิตสูง และนึกถึงประชาชนที่ยากจนในท้องถิ่นชนบท ซึ่งด้อยโอกาสในด้านการศึกษา การพัฒนาตนเอง ตลอดจนโครงการพัฒนาชนบทในรูปแบบต่างๆ ช่วยชี้นำการดำเนินชีวิตแก่บุคคล สรรค์สร้างเอกสารเผยแพร่ทางศีลธรรม เป็นบุคคลตัวอย่างที่ควรชื่นชมยินดี สมควรแก่การยกย่องเป็นอย่างยิ่ง ผลงานทั้งหลายของท่านทรงคุณค่า จนไม่อาจประเมิณเปรียบเทียบกับสิ่งใดได้ นับเป็นผลงานดีเด่นในด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ส่งเสริมการศึกษา การพัฒนาชุมชนแก่ประชาชน และสังคม จนเป็นที่ประจักษ์ชัดแก่ประชาชนชาวไทยและชาวต่างประเทศ ต่างก็ยอมรับและนับถือศรัทธาโดยทั่วกัน”
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้