ปฐมบท : ตำนานความเชื่อเกี่ยวกับพญานาค
มนุษย์มีความเชื่อที่เกี่ยวกับ “นาค” สัตว์ในตำนานที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะในแถบเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ มีความเชื่อว่าพญานาคอาศัยอยู่ใต้แม่น้ำโขง แต่ต้นกำเนิดของพญานาคมาจากทางอินเดียตอนใต้ เนื่องจากทางอินเดียตอนใต้นับถืองูเป็นเทพเจ้า ในขณะที่ชาวอีสานมีความเชื่อว่าแม่น้ำสายสำคัญ เช่น แม่น้ำโขง แม่น้ำมูล และแม่น้ำชี เกิดขึ้นจากการแถตัวของพญานาคจึงเกิดเป็นสายน้ำที่ยิ่งใหญ่
ในลัทธิพราหมณ์มีความเชื่อว่านาคเป็นเทพเจ้าแห่งน้ำ สร้างความอุดมสมบูรณ์ มีอิทธิฤทธิ์บันดาลให้ฝนตกทั่วโลก ส่วนในเมืองไทยในช่วงประเพณีสงกรานต์จะมีการพยากรณ์นาคให้น้ำในแต่ละปี รวมทั้งมีสัญลักษณ์ที่เกี่ยวกับนาคในงานจิตรกรรม ประติมากรรม อาคารวัด หลังโบสถ์ อาคารที่สร้างสำหรับสถาบันพระมหากษัตริย์ สถาบันศาสนามักจะมีสัญลักษณ์เกี่ยวกับนาคปรากฏอยู่เสมอ เช่น พระพุทธรูปปางนาคปรก จะมีตัวพญานาคเป็นบัลลังก์ บันไดนาคหน้าโบสถ์จะปั้นเป็นรูปนาคสะดุ้ง ซึ่งมีเรื่องเล่าว่าเมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงมาจากดาวดึงส์เทวดาจะเนรมิตบันไดแก้วมณีสีรุ้ง และมีพญานาค 2 ตน เอาหลังหนุนบันไดไว้
นอกจากนั้นการสร้าง “ตุง” ของชาวเหนือและพม่า มีความเชื่อว่าคลีคลายมาจากพญานาค หมายถึงบันไดขึ้นสู่สรวงสวรรค์นั้นเอง
ในปราสาทนครวัด จะมีนาคเป็นสะพานเชื่อมระหว่างภาวะปกติกับที่สถิตของภพสู่วิษณุโลก จะมีการก่อสร้างเป็นพญานาคราชทอดยาวรับมนุษย์สู่โลกแห่งความศักดิ์สิทธิ์
ในพุทธศาสนามีตำนานเกี่ยวกับพญานาคได้แปลงร่างเป็นมนุษย์ขอบวชเป็นพระภิกษุ ภายหลังได้หลับในตอนกลางวันจึงกลายร่างเป็นงูใหญ่ พระพุทธเจ้าจึงให้สึกออกไป นาคจึงได้ถวายคำวิงวอนให้มีคำว่า “นาค” ใช้เรียกผู้ที่เข้ามาบวชในพุทธศาสนาเพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งความศรัทธาของตน
จึงนับได้ว่าแนวความเชื่อเกี่ยวกับ “นาค” เกี่ยวข้องกับวิถีการดำเนินชีวิตของมนุษย์หลากเผ่าพันธุ์บนพื้นโลก
ความเชื่อเกี่ยวกับ “นาค” ในประเพณีออกพรรษาของชาวอีสาน
วันออกพรรษา นับเป็นสำคัญทางพระพุทธศาสนา ถือเป็นวันสิ้นสุดระยะการจำพรรษา หรือออกจากการประจำอยู่ในฤดูฝน ซึ่งตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 วันออกพรรษาหรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า วันมหาปวารณา ซึ่งแปลว่า อนุญาต หรื ยอมให้ คือเป็นวันที่เปิดโอกาสให้พระภิกษุสงฆ์ด้วยกันว่ากล่าวตักเตือนกันได้ ในข้อที่ผิดพลั้ง ล่วงเกิน ระหว่างที่จำพรรษาอยู่ด้วยกัน ในวันออกพรรษากิจของชาวพุทธโดยทั่วไปคือการบำเพ็ญกุศล ทำบุญตักบาตร จัดดอกไม้ ธูปเทียน ไปบูชาพระที่วัด และฟังธรรมเทศนา
สำหรับชาวอีสานมีประเพณีที่น่าสนใจเกี่ยวเนื่องกับวันออกพรรษา เช่น ที่จังหวัดสกลนครมีงานประเพณีแห่ปราสาทผึ้ง เป็นประเพณีงานบุญบนความรื่นเริงอันยิ่งใหญ่ในรอบปี
จังหวัดนครพนมมีงานประเพณีไหลเรือไฟเพื่อบูชารอยพระพุทธเจ้า สักการะท้าวพกาพรหม การบวงสรวงพระธาตุจุฬามณี การระลึกถึงพระคุณของพระแม่คงคา การขอฝน การเอาไฟเผาความทุกข์ และการบูชาพระพุทธเจ้าในคืนวันเพ็ญเดือน 11
จังหวัดมุกดาหารมีพิธี “ตีช้างน้ำนอง” ซึ่งเป็นพิธีเก่าแก่ โดยการนำเรือที่จะแข่งขันทุกลำมาร่วมพิธีเพื่อบวงสรวง ขอขมา พระแม่คงคาตามลำน้ำโขง
จังหวัดหนองคายมีปรากฏการณ์ที่เกี่ยวเนื่องกับ “พญานาค” อย่างเป็นรูปธรรมมากที่สุดนั้นคือปรากฏการณ์ “บั้งไฟพญานาค” ตามลำน้ำโขง ซึ่งคนในท้องถิ่นมีความเชื่อว่าพญานาคใต้ลำน้ำโขง ได้จุดบั้งไฟร่วมถวายเป็นพุทธบูชาในการเสด็จกลับจากชั้นดาวดึงส์ของพระพุทธเจ้าครบ 3 เดือน สู่โลกมนุษย์ในช่วงเทศกาลออกพรรษา โดยพญานาคได้เนรมิตบันไดแก้ว เงินทอง เป็นบันไดลงมา
บั้งไฟพญานาค : ความลึกลับใต้ผืนน้ำ
ปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาคเกิดขึ้นบริเวณกลางแม่น้ำน้ำโขงหรือบริเวณใกล้ฝั่ง ในเขตอำเภอเมือง อำเภอโพนพิสัย อำเภอศรีเชียงใหม่ อำเภอสังคม อำเภอรัตนวาปี จังหวัดหนองคาย ส่วนจุดที่มีบังไฟพญานาคเกิดมากที่สุดคือบริเวณหน้าวัดไทย และวัดจุมพลในเขตสุขาภิบาลอำเภอโพนพิสัย ซึ่งเป็นจุดต้อนรับผู้ที่จะมาชม “บั้งไฟพญานาค” ในช่วงเทศกาลออกพรรษา
ลักษณะของบั้งไฟพญานาคจะเป็นลูกไฟพุ่งจากแม่น้ำโขงขึ้นสู่อากาศมีระยะประมาณ 20 – 30 เมตร แล้วหายไป มีขนาดแตกต่างกันออกไป มีห้วงเวลาที่เกิดเริ่มตั้งแต่ 6 โมงเย็น ในบางปีจะเริ่ม 2 – 3 ทุ่ม มีระยะการเกิดประมาณ 3 – 4 ชั่วโมง แล้วจึงค่อย ๆ หมดไป
จากคำบอกเล่าของชาวจังหวัดหนองคายพบว่าการเกิดบั้งไฟพญานาคมีมานานกว่า 60 ปี แต่เริ่มเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปในปี 2534 ภายหลังที่มีการแพร่ภาพทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 5 ซึ่งในเวลาต่อมาทางจังหวัดหนองคายได้มีการประชาสัมพันธ์และจัดงานเฉลิมฉลองในห้วงเวลาดังกล่าวเพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัด
บั้งไฟพญานาค : ตามแนวทางวิทยาศาสตร์
นายแพทย์มนัส กมลศิลป์ ในสมัยที่เป็นนายแพทย์อยู่ที่โรงพยาบาลหนองคาย ได้ศึกษาปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาคมาเป็นระยะเวลา 4 ปี และได้ทดลองและวิเคราะห์ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์จึงสรุปได้ว่า “บั้งไฟพญานาค” น่าจะเป็นมวลสาร และจะต้องมีมวล เพราะสามารถแทรกน้ำขึ้นมาได้ น่าจะเป็นก๊าซที่ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น จุดติดไฟได้เอง และจะต้องเบากว่าอากาศ โดยจะเกิดขึ้นบริเวณน้ำลึกประมาณ 4.55 – 13.40 เมตร หรือหล่มดินเป็นที่เกิดของก๊าซ และก๊าซที่อยู่ใต้พื้นน้ำน่าจะมีจุดกำเนิดมาจากอินทรียวัตถุ เช่น มูลสัตว์ ซากพืช ซากสัตว์ สิ่งมีชีวิตที่ตายแล้ว หมักเป็นก๊าซมากพอที่จะพลิกหรือเผยอหล่มโคลนใต้น้ำนั้นได้ โดยที่ก๊าซที่ได้เป็นลูก ๆ นั้นจะมีขนาด 200 ซีซี. ลอยจากน้ำลึกขึ้นสู่ผิวน้ำในระดับ 1 – 5 เมตร จากนั้นจะเริ่มติดไฟด้วยตนเอง