ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 1896
ตอบกลับ: 0
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

เรื่องนายสิงห์ บ้านป่าลัน

[คัดลอกลิงก์]
เรื่องของนายสิงห์  บ้านป่าลั่น ข้าพเจ้าจะได้เขียนประวัติของนายสิงห์  ให้ท่านผู้อ่านได้รับรู้เอาไว้  บางทีอาจจะเป็นอุบายสอนใจให้แก่ท่านได้บ้างไม่มากก็น้อย  ในปี พศ ๒๕๑๒  ปีเดียวกันกับข้าพเจ้าไปจำพรรษาอยู่ที่บ้านป่าลัน  นายสิงห์เคยมาช่วยงานทางวัดอยู่บ่อยๆ  ในวันหนึ่งได้ไปทำความสะอาดที่กุฏิจึงได้มีเวลาว่าง  ได้ถามกับนายสิงห์ไปว่า  สิงห์ๆตัวเราเคยได้บวชไหม  นายสิงห์ตอบว่าไม่เคยบวช  เขาตอบว่าไม่อยากบวช  ถาม  ทำไมจึงไม่อยากบวช  ถาม  แต่ก่อนเป็นวัยหนุ่มเคยไปวัดไหม  เขาตอบว่าเคยไป  ถามเพื่ออะไร  เขาตอบ  ไปเที่ยวกับหมู่เฉยๆ  เคยไหว้พระไหม  เขาพูดว่าไม่เคยไหว้พระ  เพราะผมอ่านหนังสือไม่ได้  ได้ถามนายสิงห์ไปว่า  เคยฟังธรรมะจากครูอาจารย์มาก่อนไหม  เขาพูดว่าไม่เคย  ธรรมะอะไรเป็นอย่างไรผมก็ไม่รู้  ถามเคยนั่งสมาธิไหม  เขาก็พูดว่าไม่เคยเช่นกัน  ¬ข้าพเจ้าก็ได้บอกกับนายสิงห์ไปว่า  ถ้าเราไม่เคยทำสมาธิ  ให้เราฝึกปัญญาก็แล้วกัน  เขาถามว่าฝึกปัญญาฝึกอย่างไร  ก็บอกกับนายสิงห์ไปว่าให้ใช้ความคิดก็แล้วกัน  เขาถามว่าฝึกความคิดฝึกอย่างไร
        ก็ได้บอกกับนายสิงห์ไปว่า  ให้ใช้ความคิดธรรมดาที่เรามีอยู่  แต่ก่อนมาเราเคยใช้ความคิดเราไปในทางโลก  คิดในเรื่องการทำมาหากิน  คิดเพื่อการทำไร่ทำนา  คิดในการหาเงินหาสมบัติต่างๆ  ความคิดอย่างนี้เราเคยคิดมาก่อนไหม  เขาตอบว่า  เคยคิดมาก่อน  เคยคิดว่าสมบัติเหล่านี้เป็นสมบัติของเราไหม  เขาพูดว่าเคยคิด  ข้าพเจ้าก็บอกว่า  เอาความคิดเหล่านี้แหละ  มาฝึกคิดเสียใหม่  ให้คิดอยู่เสมอว่า  สมบัติที่เรามีอยู่ทั้งหมดนี้  ไม่มีสมบัติส่วนใดเป็นของของเราตลอดไปได้  สมบัติทั้งหมดนั้นเป็นเพียงสมบัติ   อาศัยในชั่วขณะ  เมื่อเรามีชีวิตอยู่ก็เพียงเอาสมบัตินี้   มาเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกได้ประจำวันเท่านั้น  ถ้ามันหมดไปก็หามาใหม่  และใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อไป  ให้คิดอยู่เสมอว่า  สมบัติเหล่านี้เป็นสมบัติของโลก  ไม่มีใครๆเอามาเป็นสมบัติของตัวเองตลอดไปได้  จะมีสมบัติเงินทองข้าวของมากน้อยไม่สำคัญ  อีกไม่กี่วันกี่ปี  เราจะต้องตายจากสมบัตินี้ไปอย่างแน่นอน  เงินทองที่มีอยู่  บ้านเรือนไร่นาทั้งหลาย  ก็ตกเป็นของลูกของหลานต่อไป  ให้คิดดูผู้ที่เขาตายไปก่อนเรา  เขามีสมบัติมากมายกว่าเรา  เมื่อเขาตายไปแล้ว  มีใครบ้างหอบเอาสมบัตินี้ไปได้บ้าง  สมบัติทุกอย่างจะทิ้งอยู่กับโลกนี้ทั้งหมด  แม้ลูกหลานก็จะเอาสมบัติโลกนี้ไปไม่ได้เช่นกัน  เขาก็เพียงอาศัยอยู่กินในสมบัติเหล่านื  จนถึงวันตายเหมือนกันกับเรา  ในเวลาเราคิดเอาสมบัติทำไมเราคิดเป็น  การคิดเพื่อไม่เอาเราก็ต้องคิดเป็นเช่นกัน
        ในขณะนั้นนายสิงห์รู้สึกว่าตั้งใจฟังเหตุผลด้วยความตั้งใจ  บอกนายสิงห์ไปว่า  ให้คิดไว้  ๕ อย่าง  ๑.  คิดเรื่องที่ได้สมบัติมา  ๒.  คิดเรื่องสมบัติหายไป  ๓. คิดเรื่องตายจากสมบัตินี้ไป  ๔.  คิดว่าไม่มีสมบัติอะไรเป็นของเราตลอดไป   ๕.  ให้คิดว่าชีวิตเราเพียงอาศัยสมบัติอยู่ในชั่วขณะเท่านั้น  อีกไม่กี่วันก็จะต้องพลัดพรากจากกันไป  ร่างกายเรานี้และสมบัติทั้งหลาย  ก็จะต้องสลายเปื่อยเน่าผุพัง  ลงสู่ธาตุดิน  ธาตุน้ำ  ธาตุลม  ธาตุไฟไปเท่านั้น   ได้บอกกับนายสิงห์ไปว่า  การใช้ความคิดนี้  ให้เป็นความคิดของตัวเองเท่านั้น  ไม่ต้องไปเลียนแบบจากความคิดของใครๆ  ให้คิดไปตามเหตุผลของตัวเอง  ต้องใช้สมองในการคิด  อีกคำหนึ่งว่า  ฝึกพูดในใจโดยไม่ต้องออกเสียงให้ใครๆได้ยิน  ให้คิดอยู่อย่างนี้ติดต่อกันประมาณไม่เกิน  ๗  วัน  ถ้าคิดได้อย่างไร  จงมาพูดให้อาจารย์ฟังด้วยนะ  เมื่อนายสิงห์รับปากแล้วก็กลับบ้าน  ก็ได้ไปฝึกความคิดดังที่ข้าพเจ้าให้อุบายไปแล้ว
        ในวันต่อมา  สัญญาว่า  ๗  วัน  ให้มารายงานตัวว่าคิดอย่างไรบ้าง  เพียง  ๓  วันเท่านั้น  นายสิงห์ได้มารายงานตัวแล้ว  เมื่อไปกุฏิก็ได้ถามนายสิงห์ว่า  เป็นอย่างไรสิงห์  ที่อาจารย์สั่งว่าให้ฝึกความคิดของตัวเองคิดเป็นหรือยัง  นายสิงห์ก็ตอบด้วยความมั่นใจว่า  ผมคิดเป็นแล้ว  ในครั้งแรกก็คิดมั่วกันไปหมด  แต่นำเอาแต่ละเรื่องมาคิด  รู้สึกว่าคิดได้ดีมีความต่อเนื่องกัน  เมื่อคิดในเรื่องหนึ่งได้แล้ว  การคิดในเรื่องที่สองก็ง่ายขึ้น  ทำการทำงานอยู่ก็คิดในเรื่องนี้ได้   ตอนกลางคืนยิ่งคิดได้ดี  แทบไม่ได้หลับนอนเลย  บางทีก็นั่งคิด  บางทีก็นอนคิด  ยิ่งคิดไปใจก็ยิ่งเกิดความเบื่อหน่าย  ไม่อยากได้ในสมบัติอะไรเลย  มันเป็นเหมือนอาจารย์พูดมาทั้งหมด  ไม่มีสมบัติอะไรเป็นของเราเลย  ที่ว่าเป็นของเรา  เป็นเพียงเราคิดเอาเอง  แต่สมบัติทั้งหลายมันไม่ได้พูดว่าเป็นของเราแต่อย่างใด  อีกไม่นานก็ต้องตายจากกันไป  คิดได้ว่าร่างกายนี้อยู่ได้ก็เป็นผลเนื่องจากอาหารการกิน  กำลังที่มีอยู่ก็เกิดจากอาหารการกิน  ถ้าไม่ได้กินข้าวปลาอาหาร  ร่างกายก็หมดกำลังและตายไป  ฉะนั้นอาหารเป็นเพียงกินเพื่อให้ร่างกายนี้อยู่ได้  แม้สมบัติอย่างอื่นก็เป็นเพียงส่วนประกอบเท่านั้น  นายสิงห์จึงได้ถามข้าพเจ้าอีกว่า  จะให้ผมคิดเรื่องอะไรต่อไปอีก  ข้าพเจ้าก็ได้บอกกับนายสิงห์ไปว่า  เอาเรื่องเก่านั่นแหละมาคิดอีก  ให้คิดซ้ำๆ.ซากๆ  ในเรื่องเดิมๆ  ยิ่งคิดบ่อยเท่าไร  ใจก็จะค่อยรู้จริงเห็นจริงมากขึ้น  และให้ทำความเข้าใจว่า  สมบัติที่เรามีอยู่เป็นเพียงอาศัยชั่วคราวเท่านั้น
        ก็รู้อยู่ว่า  นายสิงห์ไม่รู้เรื่องในธรรมทางปริยัติเลย  ข้าพเจ้าก็จะใช้อุบายในการพูดไม่ให้เป็นปริยัติ  ไม่ทำให้นายสิงห์เกิดความสับสน  ใช้เป็นอุบายในความเป็นจริงทั้งหมด  ได้ถามนายสิงห์ว่า  สิงห์  การทำงานก่อนจะได้ข้าว  ก่อนจะได้เงินมามีความทุกข์กายทุกข์ใจไหม  นายสิงห์ก็ตอบว่าทุกข์  เมื่อหามาได้ในครั้งนี้กินหมดไปแล้วหาใหม่มากินอีกมีความทุกข์ไหม  นายสิงห์ก็ตอบว่าทุกข์  นี้สิงห์  เรามีความทุกข์เพราะหาอยู่หากิน  ตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้  มีความทุกข์ต่อเนื่องกันมาตลอด  เมื่อชีวิตเรายังมีอยู่  ก็จะหาไปกินไปและมีความทุกข์ไปเรื่อยๆจนตลอดวันตาย  เมื่อตายไปแล้วเกิดมาใหม่  ก็จะหาอยู่หากินในโลกนี้อีก  การเกิดขึ้นในชาติใหม่ก็เพราะเรายึดติดในสมบัติต่างๆที่เรามีอยู่  เมื่อตายไป  ใจก็ได้กลับมาเกิดในความยึดติดในสมบัติทั้งหลายเหล่านี้  จากนี้ไปให้สิงห์ได้ทำใจไว้ว่า   อย่าให้ใจไปยึดในสมบัติใดๆ  ถึงจะหามาได้  ก็ให้ทำความเข้าใจว่า  สมบัติเหล่านี้เป็นสาธารณะของครอบครัว  หากันไป  หามาได้ก็รักษากันไป  และอาศัยสมบัตินั้นไป  อย่าให้ใจไปยึดติดกับสมบัติอะไรทั้งสิ้น  ถ้าใจไปยึดติดในสมบัติสิ่งใด  ใจก็จะกลับมาเกินในวัตถุสมบัติเหล่านั้นแน่นอน
        ให้เราฝึกใจทำใจ  ให้ปฏิเสธในสมบัติที่เรามีอยู่ทุกประเภทว่า  สิ่งทั้งหมดนี้เป็นสมบัติที่อาศัยในขณะที่เรายังมีชีวิตอยู่เท่านั้น  ให้ใช้ความคิดอยู่อย่างนี้บ่อยๆ  ให้ฝึกใจปฏิเสธในสมบัติอยู่บ่อยๆ   เมื่อเราคิดอยู่อย่างนี้อยู่บ่อยๆ  ใจก็จะค่อยปล่อยวางในสมบัตินี้ไป  ใจก็จะมีความเบาเหมือนเราได้เอาของหนักออกจากบ่าของตัวเราแล้ว   เมื่อเราคิดอยู่บ่อยๆก็จะเกิดความเหน็ดเหนื่อยจากความคิดเราได้  ในเมื่อเราคิดเหนื่อยเมื่อไร  ก็ใช้อุบายในการพักใจไปด้วย  การพักใจก็ไม่มีอะไรเป็นพิเศษ  เพียงเราได้หยุดในการคิดนั้นเสีย  แล้วมาทำใจไว้ว่า  เราจะไม่คิดในสิ่งใดๆทั้งสิ้น  เพียงสติระลึกรู้อยู่กับลมหายใจเข้า  มีสติระลึกรู้อยู่กับลมหายใจออก  ลมหายใจเข้าก็รู้ว่าลมหายใจเข้า  ลมหายใจออกก็รู้ว่าลมหายใจออก  ลมหายใจหยาบก็รู้ว่าลมหายใจหยาบ  ลมหายใจละเอียดก็ให้รู้ว่าลมหายใจมีความละเอียด  เมื่อมีลมหายใจละเอียดเกิดขึ้น  ก็อย่าไปกลัวว่าเราจะตายนะ  ให้กำหนดดูลมหายใจส่วนละเอียดนั้นๆ  และกำหนดจิตดูจนกว่าลมหายใจส่วนละเอียดนั้นจะหมดไป แล้วจะเกิดความอัศจรรย์ในรสชาติของธรรมนั้นขึ้นมา  จากนั้นถามนายสิงห์ว่า  อาจารย์อธิบายมานี้พอเข้าใจไหม  นายสิงห์ตอบว่าเข้าใจ  ก็บอกให้นายสิงห์กลับบ้านปฏิบัติต่อไป
        อีกไม่กี่วัน  นายสิงห์ก็กลับมาวัดอีก  พอดีเป็นวันพระ  ข้าพเจ้าได้อธิบายธรรมให้คนทั้งหลายฟังตามปกติ  นายสิงห์ก็นั่งฟังอยู่ด้วย  พออธิบายธรรมไปประมาณ  ๑๐  นาที  นายสิงห์ก็ลุกหนีไป  แล้วไปเดินจงกรมอยู่ลานวัดคนเดียว  ก็รู้อยู่ว่า  นายสิงห์มีปัญญาคิดในหมวดธรรมได้อย่างองอาจกล้าหาญ  จนถึงเวลาแสดงธรรมจบแล้ว  นายสิงห์ก็ไม่ยอมหยุดในการเดินจงกรม  ก็ปล่อยให้เขาเดินต่อไป  บอกให้ทุกคนได้รู้ว่า  อย่าไปพูดกับนายสิงห์นะให้แกเดินจงกรมอยู่คนเดียว  ถึงเวลาประมาณเที่ยงคืน  นายสิงห์ก็หยุด  แล้วมานั่งสมาธิอยู่คนเดียว  นานเท่าไหร่ไม่รู้  ทุกคนก็ได้ไปพักผ่อนหมดแล้ว  การแสดงธรรมให้นายสิงห์ฟังในครั้งนี้  ข้าพเจ้าจะหลีกเลี่ยงในคำพูดในศัพท์ปริยัติทั้งหมด  ก็รู้อยู่ว่านายสิงห์ไม่รู้ปริยัติ  ก็ไม่ต้องพูดปริยัติให้แกเกิดความสับสน  พูดในเรื่อง  อนิจจัง  ทุกขัง  อนัตตา  ก็ไม่ต้องพูด  แต่พูดในเรื่องการเปลี่ยนแปลง  พูดในเรื่องความทุกข์กายและทุกข์ใจ  พูดในสิ่งที่หมดสภาพไป  ให้นายสิงห์มีความเข้าใจในหลักความเป็นจริง  ความเข้าใจในหลักความเป็นจริงนี้เองที่เรียกว่า  ปัญญาเกิด  เมื่อปัญญาเกิด  พิจารณาในสิ่งใดจะมีความแยบคาย  และหายสงสัยในสิ่งนั้นๆไปโดยง่าย  นายสิงห์ใช้ปัญญาพิจารณานั้น  ปํญญาของตัวเองล้วนๆ  ไม่ได้ไปยืมมาจากตำรามาคิดแต่อย่างใด  การปฏิบัติจึงทำได้ง่ายรวดเร็ว
        ในวันต่อมา  นายสิงห์ได้ไปหาที่กุฏิ  เพื่อรายงานผลของการปฏิบัติที่ได้รับแล้วให้ข้าพเจ้าฟัง  นายสิงห์ก็ได้เรียบเรียงอุบายในการใช้ความคิดพิจารณาในวัตถุสมบัติให้ฟัง  ยิ่งพิจารณาไป  ความเข้าใจก็มีความรู้เห็นชัดเจนมากขึ้น  สมบัติต่างๆที่เคยยึดถือว่าเป็นของของเรา  ใจก็ยอมรับว่าไม่มีสิ่งใดเป็นของของเราแต่อย่างใด  ในคืนหนึ่งได้ทำให้จิตมีความสงบอยู่นานเท่าไรก็ไม่รู้  เมื่อจิตถอนออกจากความสงบแล้ว  ก็นำเอาเรื่องต่างๆที่เคยคิดมาแล้วมาพิจารณาอีก  ในการพิจารณาในครั้งนี้  ใจได้รู้เห็นในความจริงได้อย่างละเอียดมาก  ในเวลาประมาณเที่ยงคืน เหมือนกับใจได้รู้แว๊บ ขึ้นมาว่า  พระโสดาบัน   ในคืนนั้นนั่งอยู่ด้วยความอิ่มเอิบใจตลอดทั้งคืน
        เมื่อนายสิงห์พูดออกมาอย่างนี้  ก็ทดลองถามแกเล่นๆว่า  ในความรู้ สึกขณะนั้น  ใจมีความรู้สึกเกี่ยวกับร่างกายเป็นอย่างไร  แกก็รีบพูดในทันทีว่า  ในขณะนั้น  ใครๆจะเอาร่างกายไปให้ไฟเผาทิ้งก็ไม่เสียดาย  หรือจะมีใครๆมาขอเอาหัวใจ  ก็จะให้เขาผ่าเอาได้เลย  หรือจะมีคนมาขอลูกตาทั้งสอง  ก็จะให้เขาเอาไปได้เลย  ความเสียดายในร่างกายทุกส่วนไม่มีในใจแต่อย่างใด  ทรัพย์สมบัติทั้งหลายก็ไม่เสียดายหวงแหนอะไรทั้งสิ้น  ใจไม่มีความยึดติดในสมบัติทั้งหลายแต่อย่างใด  ถ้ามีใครๆมาขอในสมบัติทั้ง หลายในขณะนั้นก็จะยกให้เขาทั้งหมด  ได้ถามนายสิงห์ไปว่า  พระพุทธเจ้า  พระธรรม  พระอริยสงฆ์  ผลแห่งกรรมดีกรรมชั่ว  นรก สวรรค์  เชื่อว่ามีจริงไหม  นายสิงห์ตอบด้วยความมั่นใจว่า  ผมเชื่อมั่นว่า  พระพุทธเจ้า  พระธรรม  พระอริยสงฆ์  มีจริง  ผลแห่งกรรมดีกรรมชั่วมีจริง  นรก สวรรค์  มีจริง  ต่อไปนี้ศีล  ๕  ของผมไม่มีคำว่าขาดและเศร้าหมองแต่อย่างใด
        ในการถามผลของการปฏิบัติของนายสิงห์นี้  จะไปถามในเรื่องความรู้ในทางปริยัติแกก็จะตอบไม่ได้  เพราะนายสิงห์ไม่เคยได้ศึกษาใน ทางปริยัติมา  อ่านหนังสือก็ไม่ได้  เขียนหนังสือก็ไม่เป็น  ต้องถามในความ รู้สึกภายในใจเท่านั้น  ให้แกได้พูดออกมาจากใจโดยตรง  ความรู้สึกภายในใจเป็นอย่างไร  แกก็จะตอบออกมาอย่างนั้น  ไม่ต้องเอาปริยัติไปเปรียบ เทียบ  เราเป็นครูสอนก็ต้องรู้ว่า  ความหมายในการพูดของเขานั้น  ตรงกับธรรมะหมวดใด  และจิตได้บรรลุธรรมในขั้นไหน  เราจะรู้เขาเองว่าอยู่ในภูมิธรรมขั้นนั้นทันที  เพราะการละกิเลส  ๓  ตัว  คนไม่เคยบรรลุธรรม  ก็จะตีความหมายไปว่าต้องละสักกายทิฏฐิ  ละวิจิกิจฉา  ละสีลัพพตปรามาสก่อน  จึงจะบรรลุธรรมเป็นพระโสดาบันได้  นี้คือผู้ไม่เคยบรรลุธรรม  ที่จริงแล้วการบรรลุธรรมเป็นการละกิเลส  ๓  ตัว  อยู่ชั่วขณะจิตเดียว  เป็นสันตติสัมผัสกันเร็วมาก  การได้บรรลุธรรมในขณะใด  กิเลสก็ได้หมดไปขณะนั้น  ผู้ได้บรรลุธรรมในขั้นไหนก็ตาม  ต้องรู้ได้ด้วยตนเอง  ไม่ต้องให้ใครๆมาพยากรณ์ให้แต่อย่างใด  เหมือนเรากินข้าว  เมื่อเราอิ่มก็รู้ตัวว่าเราอิ่ม  จะไปถามคนอื่นทำไมเล่า  นี้ฉันใด  ผู้ได้บรรลุธรรมในขั้นไหนก็รู้ได้ด้วยตนเองฉันนั้น


คัดลอกมาจากหนังสือ  “อัตโนประวัติ  พระอาจารย์ทูล  ขิปปปญโญ  ภาค ๒ “  เขียนโดย พระอาจารย์ทูล  ขิปปปญโญ  แห่งวัดป่าบ้านค้อ จ.อุดรธานี  พิมพ์ พศ ๒๕๔๘ โดยบริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับบลิชชิ่ง จำกัด(มหาชน)
http://ku30.net/forum/viewtopic.php?f=24&t=408
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้