ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 2047
ตอบกลับ: 5
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

ความลึกลับของภูลังกา

[คัดลอกลิงก์]
ภูลังกาหรือ(รังกา) อันเป็นดินแดนลี้ลับอย่างอาถรรพณ์ มีภูเขาห้าลูกเชื่อมโยงกันด้วยป่าไม้หนาแน่นสูงเฉียดฟ้าและหุบเหว มีเรื่องปรัมปราพื้นบ้านเล่าสืบทอดกันมาว่า

ภูลังกาในสมัยดึกดำบรรพ์ ยุคสร้างโลกเป็นที่สถิตอยู่ของ “รังกาเผือก” มีไข่ ๕ ฟอง วันหนึ่งขณะที่ กาเผือกสองผัวเมียออกไปหาอาหารได้เกิดลมพายุพัดเอารังกาพลิกไหว ไข่ทั้ง ๕ ฟอง ปลิวไปตามลมแรงกระจัดกระจายไปตกลงยังที่ต่างๆ

ไข่ฟองที่ ๑ ไปตกยังถิ่นของแม่ไก่ แม่ไก่นำไปเลี้ยงไว้ต่อมาก็คือพระกกุสันโธพุทธเจ้า
ไข่ฟองที่ ๒ ไปตกในเมืองพญานาค ท้าวพญานาคนำไปเลี้ยงไว้ ต่อมาได้เป็นพระโกนาคมพุทธเจ้า
ไข่ฟองที่ ๓ ไปตกในแดนของเต่า พญาเต่านำไปเลี้ยงไว้กลายเป็นพระกัสโปพุทธเจ้า
ไข่ฟองที่ ๔ ไปตกในแดนแม่โค แม่โคได้เลี้ยงไว้ ต่อมากลายเป็นพระสมณโคตมะพุทธเจ้า และ
ไข่ฟองที่ ๕ ไปตกที่แดนของพญาราชสีห์ พญาราชสีห์เอาไปเลี้ยงไว้กลายเป็นพระศรีอริยเมตไตรย รวมเป็นพระเจ้า ๕ พระองค์

เรื่องภูลังกาที่เกี่ยวข้องกับพระเจ้า ๕ พระองค์นี้ เป็นเรื่องพื้นถิ่นความศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาบันดาลใจให้ชาวบ้านเทิดทูนพระพุทธเจ้า ต้องการให้เห็นว่าพื้นถิ่นของตนนั้นมีความผูกพันเกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้าทั้ง ๕พระองค์อยู่ตลอดไปก็เลยเป็นว่าภูลังกาเป็นที่เกิดของพระพุทธเจ้าทั้ง ๕ พระองค์



ภูลังกา...ดินแดนพิสูจน์คนกล้า พระแกร่ง



ยอดเขาด้านหลังคือภูลังกา จากพื้นถึงยอดประมาณ ๒ กิโลเมตร

ภูลังกา เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมของพระป่าอันสัปปายะวิเวก ที่ครูบาอาจารย์สมัยก่อนชอบแวะเวียนไปอยู่เสมอ ถึงแม้จะลำบากในเรื่องอาหาร ต้องอดแห้งอดแล้งท้องกิ่วเหมือนฤๅษีชีไพรและอาหารที่ไปบิณฑบาตมาได้จะเป็นเพียงข้าวเหนียว ๑ ก้อนเล็กๆ กับเกลือและพริกได้มาแค่ไหนก็ฉันกันแค่นั้น ไม่คิดมากไม่ถือว่าเรื่องอาหารเป็นอุปสรรคในการเจริญภาวนา เพราะจิตมีความมุ่งหมายอยู่ที่การขูดเกลากิเลสตัณหาความทะยานอยากให้หมดไป เพื่อพ้นทุกข์ จิตสะอาดบริสุทธิ์ สว่าง สงบ เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ดังนั้นพระป่าจึงไม่มีการบ่นว่า หิวเหลือเกิน อ่อนเพลียไม่มีแรงจะเป็นลม ต่างก็หุบปากเงียบ เฝ้าแต่เดินจงกรม กับนั่งสมาธิภาวนา กำหนดสติรู้คอยระมัดระวังกิเลสตัณหาในตัวเองอยู่ตลอดเวลา รู้เท่าทันกิเลส ใช้ขันติ ความอดทน อดกลั้น ในทุกสถานการณ์ ไม่ทำตามกิเลสทุกรูปแบบ บังคับตัวเองได้ เป็นนายตัวเองได้ ถ้าเจ็บไข้ อาพาธ ไม่ต้องไปหาหยูกยาใดๆ รักษาตัวเองด้วยการนั่งสมาธิภาวนา สลับกับเดินจงกรม ไม่ฉันอาหาร เพื่อให้กระเพาะลำไส้ได้หยุดพักผ่อน เรียกว่า รักษาด้วยธรรมโอสถ หายก็ดี ไม่หายก็ตาย ถ้าตายก็หายห่วง จะได้ดับให้สนิทไปเลย ไม่ต้องกลับมาเกิดอีก ความตายไม่ใช่สิ่งน่ากลัวอะไร !



ภูลังกา ธรรมสถานแห่งพระอริยะ
พระป่าในสายของหลวงปู่มั่น ภูริทัตตเถระ ได้เคยไปอยู่จำพรรษา หรือไปเพื่อการวิเวก บนภูลังกาหลายองค์ เช่น พระอาจารย์วัง ฐิติสาโร หลวงปู่สิม พุทธาจาโร หลวงปู่ตื้อ อจลธัมโม หลวงปู่ชา สุภัทโท เป็นต้น

พระอาจารย์ชา สุภัทโธ ปรารถนาพบพระอาจารย์วัง
พระอาจารย์ชา สุภัทโท แห่งวัดหนองป่าพง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๒ อายุได้ ๓๑ พรรษาที่ ๑๑ ได้เดินธุดงค์ออกจากวัดป่า อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม บุกป่าฝ่าดงขึ้นสู่ภูลังกา ใกล้กับบึงโขงหลง เหตุที่พระอาจารย์ชาต้องบุกป่าฝ่าแดนอันตรายด้วยไข้ป่าและสัตว์ร้ายไปภูลังกา ก็เพราะว่าอยากจะพบปะสนทนากับ พระอาจารย์วัง ฐิติสาโร ผู้มีชื่อเสียงเลื่องลืออยู่ในหมู่นักธรรมกรรมฐานว่า ท่านเป็นผู้ปฏิบัติธรรมขั้นอุกฤษฏ์ เชี่ยวชาญในเจโตสมาธิ ทั้งในด้านสมถกรรมฐาน และวิปัสสนากรรมฐาน ปรารถนาพุทธภูมิ


ทางขึ้นสู่ยอดเขาสูงชัน บางตอนต้องใช้บันไดลิง

ตอนนั้นพระอาจารย์ชายังไม่เคยเห็นหน้าพระอาจารย์วังมาก่อนเลย เคยได้ยินแต่ชื่อเสียงอันบันลือของท่านเท่านั้น พระอาจารย์ชามีความปรารถนาอยากจะพบพระอาจารย์วังให้ได้ ระยะเวลานั้น พระอาจารย์ชามีความสับสนในธรรมปฏิบัติมาก ต้องการหาใครก็ได้ที่พอจะเป็นกัลยาณมิตร ช่วยชี้แนะแนวทางปฏิบัติธรรมให้ เหมือนกับว่าเดินไปถึงจุดๆ หนึ่งแล้วมีอันต้องสะดุดหยุดชะงักลง ไม่สามารถเดินต่อไปได้ มันมืดแปดด้าน ก็ระลึกถึงพระอาจารย์วังที่ขึ้นไปนั่งบำเพ็ญเพียรบนยอดภูลังกา แม้จะยังไม่เคยเห็นความแกร่งกล้าในการบำเพ็ญเพียรของพระอาจารย์วัง ว่าบรรลุถึงขั้นใดแล้วก็ตาม แต่พระอาจารย์ชาก็เชื่อมั่นอย่างหนึ่งว่า พระอาจารย์วังคงต้องมีดี อย่างใดอย่างหนึ่ง มิฉะนั้นคงไม่ขึ้นอยู่บนยอดเขา

เมื่อขึ้นไปถึงถ้ำชัยมงคลบนยอดภูลังกาแล้ว ก็ได้พบว่าครูบาวังอยู่กับสามเณรเพียง ๒ รูปเท่านั้น บรรยากาศบนภูลังกาเงียบสงบ อากาศดี เหมาะแก่การบำเพ็ญเพียรยิ่งนัก พระอาจารย์ชา ได้ปรารภถึงความสับสนของตนในการบำเพ็ญเพียรภาวนา จึงได้บุกบั่นมาเพื่อขอให้ครูบาวังช่วยชี้แนะนำทางที่ถูกที่ควรให้
ครูบาวังได้ถามฉันเมตตาจิตว่า ความสับสนนั้นเป็นประการใด

พระอาจารย์ชาได้กล่าวว่า การทำสมาธิภาวนาเหมือนสะดุดอยู่กับที่ ไม่มีที่ไป แม้ย้อนกลับมาเริ่มต้นใหม่ เพื่อหาทางต่อไป แต่ก็ไม่อาจทำได้ ยังคงหยุดอยู่กับที่เช่นเดิม

ครูบาวังได้นิ่งอยู่ครู่หนึ่ง หลับตากำหนดรู้ด้วยกระแสญาณ แล้วลืมตาขึ้น ได้ให้คำชี้แนะแก่พระอาจารย์ชาว่า ไม่ต้องกำหนดจิตไปไหน ให้หยุดอยู่ตรงนั้นแหล่ะ กำหนดรู้อยู่ตรงนั้น แล้วมันก็จะเปลี่ยนไปเอง เราไม่ต้องไปบังคับใดๆ ทั้งสิ้น เพียงแต่ให้กำหนดรู้ว่ามันเป็นอย่างนั้นเอง เดี๋ยวจิตมันก็เปลี่ยนไปเอง เราไม่ต้องไปวุ่นวายอะไร อย่าเข้าใจว่าหมดสิ้นแล้ว เดี๋ยวมันจะมีขึ้นอีก เพียงแต่กำหนดสติรู้แล้วปล่อยวาง มันจะไม่เป็นอันตราย ถ้าเราไม่วิ่งตามมัน

พระอาจารย์ชาได้สดับตรับฟังแล้ว มีความรู้สึกว่า ความสับสนวุ่นวายในจิตได้หายไปเป็นปลิดทิ้ง เกิดความเข้าใจในความละเอียดอ่อนลึกซึ้งในธรรมปฏิบัติมากขึ้น มีความสบายอก สบายใจ ไม่รุ่มร้อนดังแต่ก่อน ได้กำหนดในใจว่า จะอยู่บำเพ็ญเพียรบนภูลังกาสัก ๓ วัน ต่อจากนั้นจะออกจาริกธุดงค์ต่อไป ไม่ติดที่อยู่อาศัย ท่องเที่ยวไปตามลำพังแต่ผู้เดียว เป็นผู้ไม่ประมาท เพียรพายามเผากิเลส เพื่อทำให้รู้แจ้งถึงที่สุดพรหมจรรย์ อันยอดเยี่ยม อันเป็นสุดยอดปรารถนาของเหล่ากุลบุตรทั้งหลาย ผู้ออกบวชเป็นพระภิกษุในบวรพุทธศาสนา
พระอาจารย์ชาได้พยามบำเพ็ญธรรมอย่างหนัก เร่งทำความเพียรทั้งกลางวันและกลางคืนเพื่อให้ได้ผลเร็วขึ้น เมื่อมาอยู่ใกล้ครูบาวังผู้ล้ำลึกในธรรม ควรที่จะตักตวง มีอะไรสงสัยจะได้ถามท่านได้และก็ไม่ได้ผิดหวังเลย ครูบาวังได้ให้ความกระจ่างในการปฏิบัติธรรมมากขึ้น ทำให้ พระอาจารย์ชาได้หลักการอย่างหนึ่งว่า นักปฏิบัติธรรมนั้นไม่สามารถจะไปเจริญภาวนาคนเดียวได้ แม้จะภาวนาได้ก็จริง แต่ชักช้าเนิ่นนานมาก แต่ถ้ามีกัลยาณมิตรคอยช่วยชี้แนะแนวทางให้ การปฏิบัติธรรมก็จะไปเร็วขึ้น ไปสู่ทางที่ปรารถนาเร็วขึ้น

อยู่ครบ ๓ วันแล้วพระอาจารย์ชาก็กราบลาครูบาวังลงมาจาก ภูลังกา ออกเดินธุดงค์แสวงหาโมกขธรรมต่อไป ดังที่พระบรมศาสดาได้ตรัสไว้ว่า ภิกษุทั้งหลาย หากพวกเธอจักมีใจจดจ่ออยู่ในเสนาสนะป่าอยู่เพียงใด ความเจริญก็เป็นสิ่งที่เธอทั้งหลายหวังได้ ไม่มีความเสื่อมเลย พึงเที่ยวไปคนเดียวดุจช้างม้าตังคะที่เที่ยวไปในป่าตัวเดียว เป็นสัตว์มักน้อยฉะนั้น


หลวงปู่สิม พุทธาจาโร
หนังสือ ๑๐๐ ปีหลวงปู่สิม พุทธาจาโร ได้กล่าวถึงการไปจำพรรษาของท่าน บนภูลังกาไว้ว่า ปีพุทธศักราช ๒๔๙๗ อายุ ๔๕ ปี พรรษาที่ ๒๖ เดินทางกลับบ้านบัว เพื่อดูแลและเทศนาสั่งสอนอบรมสมาธิให้แก่โยมแม่เป็นครั้งสุดท้าย ก่อนเข้าพรรษา โยมแม่ก็เสียชีวิต ได้จัดการฌาปนกิจศพโยมแม่เสร็จแล้วจึงตั้งใจไปจำพรรษาที่ภูลังกา บ้านโพธิ์หมากแข้ง ตำบลบึงโขงหลง อำเภอเซกา (ในขณะนั้น) จังหวัดหนองคาย ซึ่งอยู่ห่างจากบ้านบัวประมาณ ๗๐ กิโลเมตร ได้ไปแวะที่วัดศรีวิชัยก่อนขึ้นไปจำพรรษาที่ภูลังกา เดินทางร่วมกับพระอาจารย์สวน และตาผ้าขาว ได้เลือกชะโงกหินเหนือถ้ำชัยมงคล บนยอดภูลังกาของพระอาจารย์วัง ฐิติสาโร สหธรรมมิก ที่เคยร่วมกองทัพธรรมของหลวงปู่มั่นเป็นที่จำพรรษา พระอาจารย์วังเคยจำพรรษาอยู่ก่อนถึง ๕- ๖ ปี ซึ่งต้องเดินขึ้นที่สูงเต็มไปด้วยโขดผาหิน ต้องไต่เขาและปีนป่ายขึ้นที่สูงชัน ใช้เวลาหลายชั่วโมง ในสมัยนั้นในป่าเขา เต็มไปด้วยสัตว์ป่านานาชนิด อีกทั้งเป็นฤดูฝน หนทางขึ้นลงก็ลำบาก ยากต่อการบิณฑบาต ความเป็นอยู่การขบฉันเป็นด้วยความลำบากยากแค้น มีชาวบ้านปวารณาตัว จึงนำเสบียงอาหารใส่เกวียน เดินทางจากหมู่บ้านศรีเวินชัยไปถึงภูลังกาใช้เวลา ๑ วัน ขึ้นไปส่งให้อาทิตย์ละครั้ง ต้องนอนพักค้างแรมอีก ๑ คืน อาหารหลักคือหน่อไม้ ลูกคอนแคน ยอดคอนแคนจิ้มน้ำพริก ตลอดจนหัวกลอย เป็นต้น แต่การภาวนาที่นี่เป็นที่พอใจมาก “ปรากฏธรรมอัศจรรย์” ขึ้น ณ ที่แห่งนี้ ปัจจุบันยังมีลายมือหลวงปู่ที่เขียนไว้ว่า “ถ้ำอยู่เย็นเป็นสุข ถ้ำอาจารย์สิม” ณ เงื้อมชะโงกผา ที่ท่านปักกลดจำพรรษาตลอดพรรษานั้นยังคงปรากฏอยู่จนถึงปัจจุบันนี้

หลวงปู่ตื้อ อจลธัมโม เคยมาจำพรรษาบนภูลังกา
จากประวัติหลวงปู่ตื้อ อจลธัมโม ได้บันทึกการมาปฏิบัติธรรมของท่านบนภูลังกาเอาไว้ว่า ท่านอาจารย์ตื้อ ท่านเจริญกัมมัฏฐานมาหลายปีทีเดียว แต่จะเป็นพรรษาที่เท่าไรนั้น ท่านก็มิได้บอกให้ทราบ ท่านเล่าแต่เพียงว่าเมื่อครั้งที่ท่านจำพรรษาที่ภูลังกา ท่านก็ได้ทำความเพียร ในขณะที่เร่งทำความเพียรอยู่ที่ภูลังกานั้น ถึงกับไม่ฉันข้าว ฉันน้ำ ท่านว่ามันจึงจะรู้จักโลก แจ้งโลก พอจิตบรรลุถึง “ โคตรภูญาณ ” จิตก็รู้ได้หมดได้ทั่วไปว่า วิญญาณพวกไหนที่อยู่ในโลก ก็สามารถรู้จักและเห็นหมดในโลกธาตุ ว่าเป็นอยู่อย่างไร

หลวงปู่สังข์ ออกธุดงค์ มาถึงภูลังกา
จากประวัติหลวงปู่สังข์ สังกิจโจ ได้บันทึกว่าพรรษาแรกที่บรรพชาเป็นสามเณรอยู่วัดอรัญญวิเวก บ้านข่า หลังจากออกพรรษาแล้ว เคยไปกราบครูบาอาจารย์หลายรูป อาทิหลวงปู่สีลา อิสฺสโร หลวงปู่อุ่น อุตฺตโม เป็นต้น จากนั้นได้ไปเที่ยวรุกขมูลกับพระอาจารย์บุญส่ง โสปโก ตามทางหลวงปู่ตื้อเคยไป เช่น บึงโขงหลง แล้วไปถึงภูลังกา ได้พบกับพระอาจารย์วัง ฐิติสาโร ที่ถ้ำชัยมงคล

หลวงปู่คำพันธ์ ธุดงค์ผ่านภูลังกา
จากประวัติหลวงปู่คำพันธ์ โฆษปัญโญ บันทึกว่า ท่านได้เดินรุกขมูลขึ้นไปตามลำแม่น้ำโขง เข้าเขตุอำเภอบ้านแพง ขึ้นภูลังกา ยามเย็นได้ไปยืนอยู่ที่หน้าผาฝั่งตะวันตก ในเขตบึงโขงหลง มองลงมาข้างล่าง เห็นฝูงช้างจำนวนมาก บางตัวก็มีลูกอ่อน พากันหักต้นกล้วยป่ากินเป็นอาหารแบบสบายอารมณ์ ฝูงละ ๕ ตัว ๖ ตัวบ้าง

จากการค้นคว้าประวัติครูบาอาจารย์ ทำให้รู้ว่าอาณาบริเวณถ้ำชัยมงคลโดยรอบคือ แดนพระอริยสงฆ์แต่อดีตถึงปัจจุบันได้ขึ้นบำเพ็ญภาวนาไม่ได้ขาด น่าเสียดายที่ทุกวันนี้ดินแดนแห่งนี้ กลับกลายเป็นแหล่งหาผลประโยชน์ของบุคคลบางกลุ่มไปเสียแล้ว

พระอาจารย์โง่น โสรโย ระลึกถึงอาจารย์
ระหว่างปี พ.ศ.๒๔๘๘-๒๔๙๖ เป็นเวลา ๙ ปี ที่พระอาจารย์วัง ฐิติสาโร จำพรรษาอยู่ที่ถ้ำชัยมงคล ยอดภูลังกา มีพระภิกษุสามเณรเที่ยววิเวกแสวงธรรม แวะเวียนมาพักปฏิบัติธรรมกับท่านพระอาจารย์วังตลอด มีช่วงหนึ่งที่พระอาจารย์โง่น โสรโย ได้แวะกลับมาเยี่ยมพระอาจารย์วัง ซึ่งเป็นพระอาจารย์ของท่าน หลังจากทราบข่าวว่าพระอาจารย์วังได้ขึ้นมาจำพรรษาบนภูลังกาแล้ว ท่านจึงได้ตามขึ้นไปเพื่ออยู่อุปัฏฐากรับใช้พระอาจารย์วังเป็นเวลา ๒๐ วัน ในครั้งนั้น พระอาจารย์โง่น ได้นำดอกจิก ดอกรัง มาผสมกับดิน ปั้นรูปเสือและลิงเอาไว้ที่ถ้ำ จนปรากฏมาถึงทุกวันนี้



ขอขอบพระคุณ...http://www.dharma-gateway.com/monk/monk-main-page.htm
2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-9-21 21:02 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ภูลังกาเป็นเทือกเขาห้าลูก เกาะกลุ่มกันอยู่ใกล้กับบึงโขงโหลงและภูวัว ท้องที่จังหวัดหนองคาย เดิมขึ้นอยู่กับอำเภอบ้านแพง แต่ในปัจจุบันเป็นพื้นที่ของอำเภอบึงโขงโหลง ใกล้กับอำเภอเซกา ภูลังกาเป็นตำนานอันลือเลื่อง เกี่ยวพันกับศาสนาและคติความเชื่อปรัมปรา

ภูลังกามีความลี้ลับอาถรรพ์มาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์จนกระทั่งถึงปัจจุบัน เป็นเรื่องพูดยากอธิบายยากเพราะเป็นเรื่องของนามธรรม ที่ทางวิทยาศาสตร์ก็พิสูจน์ไม่ได้ แต่ทั้งๆ ที่พิสูจน์ไม่ได้ คนส่วนใหญ่ในปัจจุบันที่มีการศึกษาสูงๆ เป็นครู เป็นข้าราชการ ทหาร ตำรวจ และระดับศาสตราจารย์ด็อกเตอร์จากต่างประเทศจำนวนไม่น้อยก็ยอมรับว่า เรื่องความลึกลับนามธรรมเป็นเรื่องวิทยาศาสตร์ทางจิต ที่ต้องรับฟังไว้เพื่อศึกษาพิจารณาค้นคว้าต่อไป จะปฏิเสธเสียเลยทีเดียวไม่ได้

ภูลังกา เป็นตำนานเรื่องพระเจ้าห้าพระองค์ นโมพุทธายะ และเป็นเมืองหลวงของชาวบังบดลับแล อันมีเมืองพญานาครวมอยู่ด้วย และยังเป็นสนามรบกับกองทัพกิเลส ที่กองทัพธรรมของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ ส่งศิษยานุศิษย์ที่เป็นพระธุดงค์กรรมฐานทุกรุ่นทุกสมัย มารบราฆ่าฟันกับกิเลสตัณหาที่ภูลังกา ไม่เคยเลิกรา จนกระทั่งถึงทุกวันนี้

พระกรรมฐานที่มีชื่อเสียงเป็นที่เคารพเลื่อมใสของมหาชน ที่เคยไปบำเพ็ญเพียรอยู่ที่ภูลังกามา แล้วคือ หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล หลวงปู่สิม พุทธาจาโร ครูบาวัง ฐิติสาโร พระอาจารย์สมชาย เขาสุกิม พระอาจารย์ชา วัดหนองป่าพง พระอาจารย์โง่น โสรโย ฯลฯ

ตามตำนานพระเจ้าห้าพระองค์นั้นกล่าวว่า กาเผือกได้ตกไข่ 5 ฟองที่ภูลังกา วันหนึ่งเกิดลมพายุใหญ่หอบเอาไข่ปลิวไปตามลม ไข่นั้นได้ตกกระจัดกระจายไปในสถานที่หลายแห่ง ต่อมาไข่นั้นได้ฟักออกมาเป็นพระพุทธเจ้ากกุสันโธ พระพุทธเจ้าโกนาคโม พระพุทธเจ้ากัสสโป พระพุทธเจ้าโคตโม และองค์ต่อไปได้แก่ พระศรีอาริยเมตรัยโย ที่จะมาตรัสรู้ในอนาคตอีกประมาณ 750 ล้านปี เป็นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ที่ 5 ในภัทรกัปนี้ ( ตัวเลข 750 ล้านปี เป็นเพียงสันนิษฐานของปราชญ์ผู้รู้ อย่าได้ยึดเอาเป็นหลักฐานทางประวัติพุทธศาสนา )

และยังมีความพิสดาร แถมท้ายอีกว่า กาทั้งหลายไม่กล้าบินผ่านไป จะต้องถูกอำนาจอาถรรพ์ลึกลับที่ภูลังกา เป็นพายุใหญ่พัดพากาตัวนั้นให้เซถลาปลิวว่อนไปทางป่าเซกา ( เขตอำเภอเซกาในปัจจุบัน )

ภูลังกาในอดีตเมื่อ 50 ปีก่อนโน้น เป็นดงหนาป่าทึบกว้างใหญ่ไพศาล ชุกชุมไปด้วยเสือสิงห์กระทิงแรด และโขลงช้างเถื่อน แต่ในปัจจุบันนี้ป่าใหญ่หายไปหมดสิ้น กลายเป็นทุ่งโล่งรกร้างและไร่นา จะพอมีป่าเหลืออยู่รอบๆ ภูลังกาบ้างเล็กน้อยพอเป็นยากระษัยเท่านั้น เห็นแล้วเศร้าใจ

รอบๆ ภูลังกามีวัดป่าตั้งอยู่ประมาณ 10 วัด มีทั้งฝ่ายมหานิกายและธรรมยุต พระสงฆ์องค์เณรรูปใดถ้าบกพร่องในศีลพระวินัยแล้วจะอยู่ไม่ได้นาน ต้องมีอันเป็นไปเพราะพระภูมิหรือเจ้าที่เจ้าทางแรงมาก

หลวงปู่ตอง ถ้ำชัยมงคลภูลังกา เล่าให้ฟังว่า มีพระธุดงค์ทรงเครื่องคณะหนึ่งมาจากทางขอนแก่น ขึ้นไปแสวงวิเวกอยู่บนภูลังกา ใกล้กับถ้ำชัยมงคล เป็นพวกไม่รู้ประสีประสา มีวิทยุทรานซิสเตอร์ไปด้วย เปิดเพลงเปิดเทปกันดังลั่นสนุกสนาน ครองจีวรก็ไม่มีสังฆาฏิเพราะไม่ได้เอาสังฆาฏิมาด้วย หลวงปู่ตองเห็นแล้วได้แต่นึกในใจว่า

“พระผีบ้าพวกนี้ ไม่ได้ฉันข้าวเช้าแน่ๆ พรุ่งนี้”

และแล้วก็เป็นจริง เสียงเพลงหมอลำซิ่งจากเทปทรานซิสเตอร์ดังลั่นสนั่นหวั่นไหวอยู่พักหนึ่งก็เงียบไป เปลี่ยนเป็นเสียงทะเลาะวิวาทกันเสียแล้ว ไม่รู้ทะเลาะกันเรื่องอะไร แล้วก็พากันหอบข้าวของเครื่องบริขาร วิ่งลงจากภูลังกาไปคนละทิศละทาง วิ่งกันกระเจิดกระเจิงอย่างคนเสียสติ เข้าป่าเข้าดง หลงทางอยู่ในป่า ไม่ได้ฉัน ข้าวในวันต่อมา เป็นไปตามที่หลวงปู่ตองว่าไว้จริงๆ เพราะหลวงปู่ตองรู้ว่า เจ้าป่าเจ้าเขาที่ภูลังกาต้องเล่นงานพวกพระกำมะลอ เหยียบย่ำพระธรรมวินัยคณะนี้แน่ๆ เนื่องจากท่านมีประสบการณ์ นี่คือความเฮี้ยน ความอาถรรพ์ของภูลังกา

“ถ้าอยากจะรู้เรื่องพญานาค เรื่องเมืองลับแล เรื่องเหล็กไหล...ต้องไปหาหลวงปู่ตอง”

ผู้เขียนรู้จักกับหลวงปู่ตองได้ก็เพราะ ท่านเจ้าคุณพระราชเมธาการ เจ้าคณะจังหวัดอุดรธานี วัดโพธิสมภรณ์ (ธรรมยุต) ได้บอกว่า

“ถ้าอยากจะรู้เรื่องพญานาค เรื่องเมืองลับแล เรื่องเหล็กไหล...ต้องไปหาหลวงปู่ตอง เวลานี้ภูลังกา ถ้ำชัยมงคล มีหลวงปู่ตองเฝ้าถ้ำอยู่กับเณรน้อยชื่อเณรเคน หลวงปู่ตองอายุ 66 แล้ว ยังแข็งแรงมีวิชาตัวเบาหรือลูกเบา ท่านแบกปูนหนักถุงละ 25 กิโลกรัม ขึ้นไปสร้างพระเจดีย์ บนยอดภูลังกา วันละหลายเที่ยว สบายมาก อยากจะรู้เรื่องลึกลับ ผีสางเทวดา ปีศาจ ยักษ์มาร หรือเรื่องยาสมุนไพร ต้องถามหลวงปู่ตอง ถ้าเป็นพระกรรมฐานปฏิบัติธรรม มีศีลเสมอกัน ท่านถึงจะเล่าให้ฟัง เป็นฆราวาสญาติโยมชาวบ้าน ท่านจะปิดปากเงียบ ไม่ยอมพูดเรื่องนี้ ขืนพูดไปก็เป็นความผิด เข้าข่ายอวดอุตริมนุสธรรม ถูกปรับเป็นอาบัติ”

นอกจากจะบอกกล่าวแล้ว ท่านเจ้าคุณราชเมธากรได้มีเมตตา พาผู้เขียนไปกราบไหว้หลวงปู่ตอง ที่ถ้ำชัยมงคล ภูลังกาอีกด้วย ก่อนที่จะได้ฟังหลวงปู่ตองเล่าเรื่องเมืองลับแลนั้น มาฟังประวัติอัตโนย่อๆ ของท่านก่อน...

สถานะเดิมของท่านชื่อ ตอง ศรีสาพันธ์ เกิดเมื่อวันจันทร์ เดือน 8 พศ. 2475 ที่บ้านน้ำเที่ยง ตำบลบ้านส้ง (ซ่ง) อำเภอคำชะอี จังหวัดมุกดาหาร เรียนหนังสือจบ ป. 4 บิดาและมารดาชื่อนายจอม และนางเภา ศรีสาพันธ์ บิดามารดาได้อพยพครอบครัวหนีความกันดารแห้งแล้ง มาตั้งหลักแหล่งอยู่ที่ บ้านโนนสวนปอ อยู่ใกล้บึงโขงโหลง เขตจังหวัดหนองคาย

นายตอง ศรีสาพันธ์ ได้บรรพชาอุปสมบทเมื่อปี พศ. 2522 อายุได้ 47 ปี บวชเมื่อเริ่มเข้าสู่วัยชราแล้ว บวชที่วัดธรรมทูนุสรณ์ อำเภอบึงโหลง จังหวัดหนองคาย พระอาจารย์อุ้ม หรือพระครูจันทเขตพิทักษ์ เจ้าคณะอำเภอเซกา เป็นพระอุปัชฌาย์ อำเภอเซกานี้อยู่ใกล้กับบึงโขงโหลง เหตุที่บวชเป็นพระเมื่อแก่เริ่มผมหงอกแล้ว หลวงปู่ตองเล่าว่า

ความจริงท่านได้เลื่อมใสในพระศาสนามาตั้งแต่เป็นเด็ก ไปวิ่งเล่นในวัดแล้ว ครั้นเติบใหญ่ก็ไม่มีวาสนาได้บวช เพราะฐานะยากจน ต้องช่วยพ่อแม่ทำไร่ทำนาหาเลี้ยงชีพ แบบปากกัดตีนถีบ อยู่ชั่วนาตาปี ต้องผจญกับโลกธรรมต่างๆ มีทั้งสุขและทุกข์

ที่ว่าสุขนั้นก็เป็นความสุขอย่างแกนๆ แห้งๆ ไปอย่างนั้นเอง ความจริงแล้วมันมีความทุกข์เป็นตัวยืนโรง ดุจแผ่นดินเป็นที่ยืนเหยียบของคนเรา ถึงแม้จะหนีขึ้นไปอยู่บนต้นไม้หรือขึ้นไปอยู่บนบ้านมีความสุข ก็ต้องมีเหตุให้ลงมาเหยียบพื้นดิน ทำมาหากินอยู่บนดินอยู่นั่นเอง แม้กระทั่งตายลง ก็ต้องเอาศพฝังดิน หรือเผาที่กองฟอนบนดิน ชีวิตคนเราทุกคน เกิดมาเป็นเรื่องสมมติทั้งนั้น ไม่มีสาระแก่นสารอะไรเลย

สมมติว่าเป็นตัวเราของเรา พากันหลงในสมมติ แข่งกันทำมาหากิน ไม่รู้จักพอ แก่งแย่งเบียดเบียนกัน ข่มเหงรังแกกัน เข่นฆ่ากันด้วยอำนาจ โลภโมโทสัน สนุกสนานมัวเมาในลาภ ยศ สรรเสริญ และความสุขอันไม่จีรังยั่งยืน ไม่เที่ยงแท้แน่นอน และแล้วในที่สุดก็ล้วนต้องเน่าเข้าโลง ตายไปเอาอะไรไปด้วยไม่ได้สักอย่าง ร่างกายอันเป็นที่รักยิ่งของตัวเองก็เอาไปด้วยไม่ได้ ตายไปแล้วร่างกายของเราก็ต้องเน่า กลายเป็นอาหารของฝูงหนอนชอนไชกัดกิน น่าขยะแขยง น่าหวาดเสียวยิ่งนัก ใครคนไหนคิดว่าตัวเองรูปสวยรูปงามนั้น แต่พอตายลงไปนอนขึ้นอืดอยู่ในโลง ก็ต้องเน่าเปื่อยเละเทะเป็นปลาร้าปลาเจ่า ยังไงยังงั้น

ชีวิตคนเราเกิดมาล้วนหลงผิด ดังที่ทางพระศาสนาได้กล่าวไว้ว่า การร้องเพลง ดูไปแล้วเหมือนร้องไห้ การฟ้อนรำเต้นรำดุจเป็นอาการของคนบ้า เสียงหัวเราะเฮฮาอ้าปากเห็นเหงือกเห็นฟัน เหมือนอาการของทารกเด็กอมมือในเบาะ

หลวงปู่ตองบวชในฝ่ายมหานิกาย เป็นพระอยู่ในบ้านในเมือง ไม่ค่อยจะถือเคร่งในธรรมวินัยเท่าไรนัก เป็นที่รู้กัน ไม่ว่ากันเพราะเป็นพระฝ่ายศึกษาเล่าเรียนปริยัติธรรม ไม่ใช่พระป่าปฏิบัติกรรมฐานถือเคร่งในธุดงค์ 13 ข้อ

หลวงปู่ตองบวชมาได้ 3 พรรษา ก็รู้สึกเบื่อหน่ายวัด เพราะพระเณรในวัดไม่เคร่งครัดในพระธรรมวินัย พลอยทำให้ท่านประพฤติผิดในพระธรรมวินัยไปด้วย พระเณรในวัดมั่วสุมกันสนุกสนานมากกว่าที่จะปฏิบัติศาสนกิจ

ท่านระลึกนึกถึงพระธุดงค์ที่ไปปฏิบัติกรรมฐานอยู่ในป่า แสวงหาความสงัดเงียบ บำเพ็ญเพียรจนได้พบกับความสุขในทางธรรมะ จึงอยากจะทำอย่างนั้นบ้าง เพื่อหาทางหลีกหนีพระเณรในวัดที่ย่อหย่อนธรรมวินัย ท่านได้เดินธุดงค์ไปที่ภูลังกาอยู่ห่างจากวัดไม่ไกลเท่าไรนัก โดยขึ้นทางด้านบ้านดงบัง อยู่ห่างจากถ้ำชัยมงคลออกไปไกลพอสมควร

บนภูลังกามีถ้ำมีเงื้อมผาให้เลือกเอาเป็นที่พักบำเพ็ญภาวนา มีลานหินกว้างเหมาะที่จะเดินจงกรม ดินฟ้าอากาศรื่นรมย์ กระแสลมพัดเย็นสบาย กลิ่นดอกไม้ป่าโชยชื่น บรรยากาศสัปปายะวิเวก เหมาะสำหรับปฏิบัติธรรมมาก เมื่อขึ้นมาอยู่บนภูลังกาแล้ว หลวงปู่ตองก็ปฏิบัติธรรมขั้นอุกฤษฏ์ ถือเคร่งในวัตรปฏิบัติธุดงค์ 13 เหมือนพระป่าธุดงค์ทุกประการ นั่นคือ “กินน้อย...นอนน้อย”

กินน้อย คืออดอาหาร ฉันแต่น้ำลูบท้อง เป็นการทดสอบกำลังใจตัวเอง ว่าจะมีความทรหดอดทนขนาดไหน จะสร้างขันติบารมีได้ไหม กลัวเป็นลมตายเพราะอดข้าวไหม ?

นอนน้อย คือจะนอนพักผ่อนเอาเฉพาะตอนกลางคืน ไม่นอนมากนอนเพียงคืนละ 4 ชั่วโมงเท่านั้น เวลาส่วนใหญ่ใช้ไปในการเดินจงกรม สร้างวิริยะความเพียรและนั่งสมาธิ สงบกาย สงบจิต ให้จิตได้พักผ่อน เสพเสวยปิติ สุขในวิหารธรรม อันปราศจากนิวรณ์ 5

เมื่อนั่งสมาธิเสพสุขก็มักจะ ยึดติดเกิดเกียจคร้าน จึงต้องลุกขึ้นเดินจงกรม สร้างวิริยะความเพียร ขับไล่ความเกียจคร้าน สรุปแล้วก็คือมีการเดินจงกรมและนั่งสมาธิสลับกันไปทั้งวันและเกือบทั้งคืน

ผลของการทดลองอดอาหารปรากฏว่า สามารถอดได้หลายวัน ในวันแรกจะหิวมาก พอเข้าวันที่สองร่างกายจะปรับตัวเองได้ไม่หิว ฉันแต่น้ำ ตัวเบาสบาย ไม่ง่วงเหงาหาวนอนเลย เกิดความขยันหมั่นเพียรอย่างแปลกประหลาด ไม่อยากหลับนอนอยากจะเจริญภาวนาลูกเดียว ทั้งนี้ทั้งนั้นเกิดจากอำนาจสมาธิ มันมีปิติแรงมาก เป็นปิติในธรรม

และ ในช่วงนี้แหละที่ทำให้หลวงปู่ตองได้ประสบเข้ากับ “มิติเร้นลับ” กายและจิตของท่านที่เป็น “กายวิเวก จิตวิเวก” ได้เชื่อมโยงเข้าหา “โลกวิญญาณ” หรือโลกอันเป็นทิพย์ คือโลกของภูตผีปีศาจ ยักษ์ มาร นาค ครุฑ คนธรรพ์ หรือบังบดลับแล และเทพเจ้าเหล่าพรหมทั้งหลาย ภาษาของปรจิตวิทยาเขาเรียกว่า กระแสจิตที่เป็นสมาธิอันมั่นคงแน่วแน่ ได้กลายเป็นคลื่นจิตในระดับคลื่นเดียวกันกับกระแสจิตของโลกวิญญาณ สามารถรับและส่ง สื่อความหมายทั้งเสียงและภาพติดต่อกันได้ (คงจะเหมือนการรับส่งโทรทัศน์ละกระมัง)

มาฟังหลวงปู่ตองเล่าถึงเหตุการณ์ตอนนี้ ท่านเล่าว่า...

"ตอนนั้นในราว 1 ทุ่ม มืดสนิท อากาศกำลังเย็นสบายๆ อาตมากำลังเดินจงกรมอยู่ที่พลาญหินบนภูลังกา เสียงแมลงกลางคืนจักจั่นและแม่ม่ายลองไน ส่งเสียงร้องก้องกังวานไปทั่วทั้งขุนเขา อาตมาแหงนดูท้องฟ้ามืด มีดวงดาวเกลื่อนกลาดมากมายเต็มท้องฟ้าไปหมด ดาวหลายดวงอยู่ใกล้ๆ ดูราวจะเอื้อมถึง เป็นคืนที่น่าดูมาก เบิกบานใจอย่างบอกไม่ถูก

ทันใดนั้น...เสียงจักจั่นและแม่ม่ายลองไนหยุดส่งเสียงกะทันหัน เกิดความเงียบสงบอย่างแปลกประหลาด

ความมืดได้ทวีมากยิ่งขึ้น เดินไม่เห็นทางเดินจงกรม เอ๊ะ! ทำไมมันมืดอย่างนี้ แหงนมองฟ้าก็ยังเห็นดวงดาวดารดาษส่องแสงระยิบระยับ ไม่มีเมฆฝนปิดบังไว้แต่อย่างใด

ขณะที่อาตมากำลังยืนงงๆ อยู่นั้น ก็ได้เห็นแม่ชีนุ่งห่มสีขาวเดินเข้ามาหา มี 5 คน นั่งคุกเข่าลงกราบแบบเบญจางคประดิษฐ์ อาตมารู้สึกแปลกใจที่มีแม่ชีบนภูลังกาในยามค่ำคืน ใจคอไม่ดีเลย เพราะไม่มีพระเณรหรือลูกศิษย์อยู่ด้วย กลัวจะเป็นบาปอาบัติ ถูกตำหนิติเตียน ตอนนั้นลืมคิดไปถนัดว่า ในความมืดเหมือนอยู่ในถ้ำอย่างนั้น ทำไมสามารถมองเห็นแม่ชีทั้ง 5 คน ได้ถนัดชัดเจนเหมือนในยามกลางวัน ขณะที่อาตมายืนตัวแข็งทำอะไรไม่ถูกอยู่นั้น แม่ชีผู้เป็นหัวหน้าได้พูดขึ้นว่า...

“หลวงพ่อขึ้นมาปฏิบัติภาวนาบนนี้จะต้องมีวัตรปฏิบัติเคร่งครัดในพระธรรมวินัย ถ้าหลวงพ่อย่อหย่อนในพระวินัยจะอยู่ที่นี่ไม่ได้ มีพระสงฆ์องค์เณรขึ้นมาอยู่บนนี้หลายรูปแล้วแต่อยู่ไม่ได้”

ตอนนี้ อาตมาตั้งสติได้แล้วขนลุกซู่ขึ้นมาเฉยๆ ความรู้สึกบอกว่า ผีแน่ๆ เป็นผีแม่ชี แต่ก็ไม่กลัว เพียงแต่ขนลุกเท่านั้น เพียงแค่นึกรู้สึกขึ้นมาเท่านั้น หัวหน้าแม่ชีก็พูดชี้แจงในทันทีว่า

“พวกเราไม่ใช่ผี หลวงพ่ออย่าเข้าใจผิด พวกเราเป็นพรหม สมัยเป็นมนุษย์เป็นแม่ชีสำเร็จฌาน พรหมไม่มีเพศหญิง พวกเราเพียงแต่แสดงร่างที่เคยเป็นแม่ชีให้ดูเท่านั้น ภูลังกาเป็นแดนบริสุทธิ์ศักดิ์สิทธิ์มาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ หลวงพ่อมาอยู่ที่นี่จะต้องฉันมังสวิรัติ ขออย่าได้ฉันเนื้อสัตว์”

อาตมา พูดอะไรไม่ออก ได้แต่ยืนนิ่งฟังจะว่าถูกสะกดจิตก็ไม่เชิง นึกอยากจะถามแต่ไม่รู้จะถามอะไร ในที่สุดแม่ชีลึกลับทั้ง 5 คนนั้นก็ลาจากไป

การมาและการไปสวยงามมาก ย่อตัวลงคุกเข่ากราบเบญจางคประดิษฐ์ ตัวลอยอยู่เหนือพื้นตอนเข้ามาหา แต่ตอนจะกลับถอยหลังออกไป 3 ก้าว แล้วจึงนั่งคุกเข่าลงกราบลา ตอนลุกขึ้นยืนคล้ายๆ ลอยตัวขึ้นสง่างามมาก ไม่เหมือนมนุษย์ลุกขึ้น

เมื่อแม่ชีทั้งห้าไปแล้ว บรรยากาศอันเงียบงันอาถรรพ์ก็หายไป กลับเป็นปกติเหมือนเดิม จักจั่นเรไรเริ่มส่งเสียง กระแสลมที่หยุดนิ่งก็พัดมาโชยชื่น กลิ่นหอมดอกไม้ป่าพาให้รื่นรมย์ใจ ความมืดมิดคลายไป สามารถมองเห็นทางเดินจงกรมได้เหมือนเดิม

หลวงปู่ตองเป็นคนเชื่ออะไรยาก ไม่เชื่ออะไรง่ายๆ ชอบโต้เถียงเรื่องผีสางเทวดาว่าไม่มีจริง เพราะไม่เคยเห็น ผีมีที่ไหน คนโบราณแต่งเรื่องผีๆ สางๆ หลอกให้คนกลัว เพื่อที่จะได้ปกครองกันง่ายเท่านั้นแหละ

แต่แล้วในที่สุด หลวงปู่ตองก็มาเจอผีแม่ชีเข้าให้ที่ภูลังกา เป็นการเจอผีตอนเป็นพระกรรมฐานเสียด้วย เหมือนถูกล้างสมองครั้งใหญ่ให้หายโง่ ไม่เชื่อไม่ได้แล้ว เพราะได้เห็นอย่างจะแจ้งกับตา ได้ยินกับหู แถมยังถูกผีแม่ชียื่นคำขาดให้ฉันมังสวิรัติ ถ้าฉันเนื้อสัตว์ต่อไปจะอยู่ภูลังกาไม่ได้

ด้วยเหตุนี้เอง ทำให้หลวงปู่ตองต้องเลิกฉันเนื้อสัตว์ทุกชนิดตั้งแต่วันนั้นมาจนถึงวันนี้ นับได้ 17 ปีเข้าให้แล้ว การฉันอาหารมังสวิรัติทำให้จิตสงบเร็วขึ้น การพิจารณาธรรมตามหลักไตรลักษณ์ก็ปลอดโปร่ง เข้าใจได้ลึกซึ้งกว่าแต่ก่อน การทดลองอดอาหาร ทรมานตัณหา ความอยาก ก็สามารถอดอาหารได้ถึง 1 เดือนเต็มๆ ท่านเล่าถึงตอนนี้ว่า...

วันนั้นทั้งวัน นั่งเข้าสมาธิเงียบเชียบไม่ ลุกขึ้นเลย จิตมันนิ่ง มันติดใจในรสสมาธิ หมูป่าฝูงใหญ่มาหากินใกล้ๆ แล้วมันก็ทะเลาะกันกัดกันอุตลุด อาตมาก็เห็น แต่ประสาทหูไม่ยอมรับเสียง ไม่ได้ยินเสียง รู้เห็นว่ามันกัดกันเท่านั้น แล้วจิตก็วิ่งเข้าไปอยู่ในภวังค์จ่อไป ประสาทหูมันดับ ไม่ยอมรับเสียง แปลกจริงๆ ดูคล้ายกับว่าจิตไม่ใช่อาตมา จิตเป็นตัวหนึ่งต่างหาก และตัวอาตมาก็เป็นตัวหนึ่งต่างหาก จิตกับตัวเรามันแยกจากกัน เพราะสมาธิมันมากเหลือเกิน

อาตมานั่งเข้าสมาธิอยู่ทั้งวันเหมือนฤๅษีเข้าฌาน จะลุกขึ้นในตอนใกล้ค่ำ ฉันน้ำแล้วก็เดินจงกรม การอดอาหารทำได้แต่น้ำต้องฉัน จะขาดไม่ได้ อันนี้เป็นกฎตายตัวสำหรับพระธุดงค์ในป่าที่อดอาหารหลายๆ วัน แต่อย่าให้ขาดน้ำเป็นอันขาดเพราะน้ำช่วยหล่อเลี้ยงชีวิตเอาไว้

อาตมาบำเพ็ญความเพียรอย่างอุกฤษฏ์ที่ภูลังกาหลายเดือน ได้รู้ได้เห็นสิ่งมหัศจรรย์ลึกลับหลายอย่าง ด้วยอำนาจศีล อำนาจสมาธิ ที่อาตมาปฏิบัติดีปฏิบัติชอบถูกต้องพระธรรมวินัย

หลวงปู่ตองกลับไปจำพรรษาที่วัดเดิม วัดตานเทพมงคลใกล้บึงโขงโหลง ได้ดำริขบคิดจะญัตติเป็นพระธรรมยุต เพื่อจะได้เข้าสู่สายพระกรรมฐานเป็นพระป่าอย่างแท้จริง ครั้นปรึกษากับญาติโยมชาวบ้านก็ไม่มีใครเห็นด้วยเลย ชาวบ้านอยากจะให้อยู่พัฒนาวัดเดิมให้เจริญรุ่งเรือง ถ้าหลวงปู่ตองไปเสียแล้ว พระเณรก็จะสึกกันหมด วัดก็จะร้าง

ด้วยเหตุนี้ เองทำให้หลวงปู่ตองต้องจำใจอยู่วัดนี้ต่อมาถึง 5 ปี เป็นหลักใจให้ชาวบ้าน หนักไปทางพิธีกรรมที่พระสงฆ์องค์เจ้าจะต้องทำ เช่น งานบุญต่างๆ งานบวช งานศพ ฯลฯ ตลอดถึงซ่อมแซมปฏิสังขรณ์กุฏิ ศาลาโบสถ์ วิหาร พัฒนาวัดวาอารามเป็นงานหลัก

เมื่อเห็นว่าได้ทำความเจริญให้วัดนี้ มั่นคงดีแล้ว ท่านจึงได้ญัตติเป็นพระธรรมยุตเข้าสู่สายปฏิบัติกรรมฐานในปี พ.ศ. 2530 แต่ยังจำพรรษาอยู่ที่วัดเดิมเพราะญาติโยมยังไม่ยอมให้ท่านไปธุดงค์

อยู่มาคืนวันหนึ่งยังไม่ดึกนัก...ขณะที่หลวงปู่ตองนั่งเข้าสมาธิอยู่ที่กุฏิวัดตานเทพมงคล ริมบึงโขงโหลง อากาศคืนนั้นค่อนข้างเย็นจนท่านรู้สึกหนาว มีลมพัดแรงมาจากบึงโขงโหลง จนต้นไม้ใหญ่น้อยเอนลู่ซู่ซ่า เหมือนพายุฝนจะมา ท่านได้เห็นนิมิตในสมาธิ เป็นแสงสว่างสีขาวพุ่งปราดข้ามบึงโขงโหลง มาตกลงที่กุฏิที่ท่านนั่งอยู่

นิมิตภาพแสงสว่างนั้นได้แปรเปลี่ยนไป เป็นร่างชายคนหนึ่ง ผมเกรียนคล้ายทิดสึกใหม่ นุ่งขาวห่มขาว กิริยาท่าทางเรียบร้อยสำรวม ลักษณะอุบาสกผู้มีบุญ ได้เดินเข้ามายกมือไหว้และแนะนำตัวเองว่า

“เราคืออาจารย์วัง อยู่ถ้ำชัยมงคลบนภูลังกา เวลานี้ เราไปเกิดเป็นพรหมอยู่บนพรหมโลก เราอยากจะให้ท่านไปอยู่ถ้ำชัยมงคลภูลังกา”

กล่าวแล้วก็เดินหายไป หลวงปู่ตองได้พิจารณาแล้วเห็นว่า นิมิตนี้เป็นเพียงจิตสังขารปรุงแต่งธรรมดา ดุจดังคนเรานอนหลับแล้วฝันไป ไม่ควรยึดถือเป็นเรื่องจริงจัง

ครั้นต่อมาอีกหลายวัน ก็เกิดนิมิตภาพนี้อีกขณะนั่งสมาธิ จิตสงบ วิญญาณอาจารย์วังซึ่งเป็นพรหมมาชวนให้ไปอยู่ถ้ำชัยมงคลเป็นครั้งที่สอง แต่หลวงปู่ตองก็ไม่สนใจ เพราะถือว่านิมิตต่างๆ เป็นอุปสรรคในการเจริญภาวนานิมิต เป็นเพียงภาพล่อ ภาพหลอก ภาพลวง

ต่อมาอีกประมาณ 15 วัน ก็เกิดนิมิตในสมาธิอีก เป็นภาพอาจารย์วังนุ่งขาวห่มขาวมาหาเป็นครั้งที่ 3 พอมาถึงก็ถามว่า

“ท่านปั้นพระพุทธรูปได้ไหม ?” หลวงปู่ตองตอบในสมาธิว่า “เคยปั้นมาแล้ว แต่ไม่เก่ง” นิมิตภาพอาจารย์วังกล่าวต่อไปว่า “เราจะให้ท่านขึ้นไปอยู่ถ้ำชัยมงคลบนภูลังกา ไปปั้นพระพุทธรูปหลายองค์ มีเจดีย์ธาตุอยู่บนยอดภูลังกา ใส่อัฐิธาตุของเรา แต่เวลานี้เจดีย์ธาตุนั้นได้ถูกคนร้ายใจบาปทุบทิ้งป่นปี้ ค้นหาสิ่งของเงินทอง เราต้องการให้ท่านไปช่วยสร้างเจดีย์ขึ้นใหม่ด้วย”

นิมิตภาพของอาจารย์วังบอกกล่าวแล้วก็หายไปอีก คราวนี้หลวงปู่ตองชักเอะใจสงสัย เพราะนิมิตอาจารย์วังมาหาอย่างมีความมุ่งหมายขึงขังจริงจัง เป็นการออกคำสั่งให้ทำเลยทีเดียว บ่งบอกถึงอำนาจบังคับบัญชาดูน่ากลัว หากขัดขืนเห็นจะเกิดเรื่องเป็นแน่

หลวงปู่ตองจึงได้ออกสืบถามชาวบ้านว่า อาจารย์วังภูลังกามีประวัติความเป็นมาอย่างไร ก็ได้ความว่า พระอาจารย์วัง ฐิติสาโร เป็นพระธรรมกรรมฐานผู้มีชื่อเสียงเลื่องลือ อยู่ถ้ำชัยมงคลบนยอดภูลังกาใน สมัยปี พศ. 2480 - 2496.
3#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-9-21 21:07 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ท่านเป็นศิษย์คนสำคัญของหลวงปู่เสาร์ กันตสีโล และต่อมาได้พบกับหลวงปู่มั่น ภูริทตฺตเถระ จึงได้เป็นสหธรรมิกกับพระอาจารย์ดังๆ ในสมัยนั้น เช่นพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร พระอาจารย์สีโห เขมโก พระอาจารย์อ่อน ญาณศิริ เป็นต้น ชาวบ้านนิยมเรียกท่านว่า “ครูบาวัง”

ศิษย์สำคัญๆ ของครูบาวัง หรือพระอาจารย์วังมีหลายรูป อาทิ พระอาจารย์วัน อุตตโม แห่งภูเหล็ก สกลนคร พระอาจารย์ชา วัดหนองป่าพง อุบลราชธานี หลวงปู่โง่น วัดพระพุทธบาทเขารวก ตะพานหิน จังหวัดพิจิตร พระครูอดุลธรรมภาณ เจ้าคณะอำเภอศรีสงคราม (ธรรมยุต) นครพนม เป็นต้น

พระครูอดุลธรรมภาณเป็นพระเพียงรูปเดียวที่รอดตาย เมื่อคราวเรือล่มในบึงโขงโหลง มีพระกรรมฐานภูลังกาจมน้ำถึงแก่มรณภาพ 3 รูป คือพระอาจารย์ปุ่น พระอาจารย์ทอง และพระอาจารย์ทองดี เรือล่มคราวนั้นเป็นเรื่องโด่งดังมาก ในปี พศ. 2499 ใกล้กึ่งพุทธกาลชาวบ้านเล่าลือกันว่า พญาอือลือผีเงือก (พญานาค) บึงโขงโหลง เป็นผู้เอาชีวิตพระกรรมฐานภูลังกา

พระอาจารย์วังเชี่ยวชาญเป็นพิเศษทางกสิณอภิญญา เป็นพระธุดงค์กรรมฐานมีฤทธิ์มาก พระอาจารย์พุธ ฐานิโย วัดป่าสาลวันครั้งนั้นยังไม่มรณภาพ เคยเล่าให้ศรัทธาญาติโยมคณะ “ธรรมทานทัวร์” ฟังเมื่อหลายปีมาแล้วว่า

คราวหนึ่งพระเณรและเถรชีที่ขึ้นไปปฏิบัติธรรมอยู่บนภูลังกา ได้รับความลำบากกันมาก เพราะขัดสนอาหารบิณฑบาต และยังเจ็บไข้ได้ป่วย อาพาธด้วยโรคภัยไข้ป่าบ้าง แพ้อากาศบ้าง พระอาจารย์วังได้พาลงจากภูลังกามาส่งให้พ้นป่าใหญ่ ปรากฏว่ามีฝูงเสือโคร่งหลายตัวได้ติดตามมาด้วย ทำให้พระเณรเถรและชี (พ่อขาวแม่ขาว) หวาดกลัวกันมาก พระอาจารย์วังได้บอกให้พระภิกษุสามเณรตาเถรและแม่ชี พากันรีบเดินไปก่อน ส่วนองค์ท่านนั่งลงขวางทางเสือไว้ ฝูงเสือเห็นท่านนั่งก็พากันนั่งลงบ้าง

พระอาจารย์วังทำอย่างนี้อยู่หลายครั้ง ถ่วงเวลาไว้เพื่อให้คณะพระเณรเถรชีเดินทางพ้นป่าใหญ่ ระยะทางสิบกว่ากิโลเมตร ไปถึงหมู่บ้านที่ปลอดภัย ต่อจากนั้นพระอาจารย์วังจึงได้เดินทางกลับภูลังกา โดยมีฝูงเสือติดตามต้อยๆ ไป เหมือนสุนัขที่จงรักภักดีต่อเจ้าของ

พระอาจารย์พุธ ฐานิโย สรุปว่าทำไมฝูงเสือถึงได้จงรักภักดีพระอาจารย์วัง

คำตอบก็คือ พระธุดงค์กรรมฐานอย่างพระอาจารย์วังนั้น มีอำนาจจิตแรงกล้า และโดยเฉพาะมีเมตตามาก จะเข้าสมาธิระดับลึกมากอยู่ทุกวันคืน แล้วแผ่เมตตาไปทั่วทุกสารทิศ อันมีทิศเบื้องบน ทิศเบื้องล่าง ทิศเหนือ ทิศใต้ ทิศตะวันออก ทิศตะวันตก ทั่วทุกโลกธาตุภพภูมิอันไม่มีขอบเขตเรียกว่า “แผ่เมตตาเจโตวิมุตติ”
การแผ่เมตตาเจโตวิมุตตินั้นคือ ต้องเข้าสมาธิให้ได้ระดับจตุตถฌาน เพื่อให้บรรลุภาวะดวงจิตหลุดพ้นจากกิเลสชั่วคราว เรียกว่า เจโตวิมุตติ ประเภทยังไม่หลุดพ้นอย่างเด็ดขาด เป็นแต่เพียงหลุดพ้นจากกิเลส ด้วยอำนาจพลังจิตโดยเฉพาะด้วยกำลังฌาน 4 คือกิเลสทั้งหมดได้ถูกอำนาจอัปปนาสมาธิกดข่มไว้ หรือทับไว้ดุจก้อนหินใหญ่มหึมาทับหญ้าเอาไว้ฉะนั้น ตลอดเวลาที่อยู่ในฌาน 4 นั้นเรียกว่า “วิขัมภนะวิมุตติ”

การแผ่เมตตาเจโตวิมุตติมีอานุภาพมาก เป็นกระแสคลื่นจิตตานุภาพอันชุ่มชื่นเยือกเย็น ภูตผีปีศาจยักษ์มาร เทวดา พรหม คนธรรพ์ นาคและมนุษย์ตลอดถึงสิงสาราสัตว์ดุร้ายทั้งหลาย เมื่อได้กระทบสัมผัสกระแสเมตตาเจโตวิมุตติแล้ว จะบังเกิดความรู้สึกชุ่มชื่น เย็นกายเย็นใจ อิ่มเอิบเบิกบาน ปีติปราโมทย์ ดุจดังได้เสวยความสุขอันเป็นทิพย์สุดวิเศษ จะมีไมตรีจิตมิตรภาพ รักใคร่เคารพนับถือผู้ทรงศีลที่แผ่เมตตาเจโตวิมุตตินั้น ไม่กล้าคิดทำร้ายแต่ประการใดเลย

พระอาจารย์วังได้มรณภาพไปนานแล้ว ตั้งแต่ปี พศ. 2496 เมื่อนับถึงปี พศ. 2534 ซึ่งเป็นปีที่หลวงปู่ตองได้นิมิตพระอาจารย์วังนั้น ก็เป็นเวลายาวนานถึง 38 ปี ทำให้หลวงปู่ตองข้องใจว่า นับตั้งแต่พระอาจารย์วังมรณภาพไป เหตุใดถึงไม่แสวงหาผู้มีวาสนาบารมีให้มาบูรณปฏิสังขรณ์ถ้ำชัยมงคล-ภูลังกา ทำไมปล่อยให้เวลาผ่านมาถึง 38 ปี จึงมาบอกให้ท่านไปบูรณปฏิสังขรณ์ ทั้งๆ ที่ท่านก็เป็นเพียงพระบ้านนอกธรรมดา ไม่มีบุญบารมีอะไรเลย แต่ด้วยความยำเกรงพระอาจารย์วังที่เป็นวิญญาณมาสั่งให้ไปอยู่ถ้ำชัยมงคล ภูลังกา หลวงปู่ตองจึงจำใจเดินทางขึ้นไปภูลังกา ทำการสำรวจถ้ำชัยมงคล ก็ได้เห็นสภาพความเป็นจริงว่า เจดีย์ธาตุบนยอดเขาภูลังกาที่บรรจุอัฐิธาตุของพระอาจารย์วังนั้น ได้ถูกพวกคนร้ายใจบาปทุบทำลายพังทลายลงมา เหลืออยู่เพียงฐานเจดีย์เท่านั้น อัฐิธาตุของพระอาจารย์วังตกอยู่กระจัดกระจายในบริเวณนั้น ทำให้หลวงปู่ตองเกิดความรู้สึกสลดสังเวชยิ่งนัก...

“ครั้นเมื่อไป ดูที่ถ้ำชัยมงคลก็พบกับสภาพถ้ำที่เสื่อมโทรมเต็มไปด้วยหยากไย่ใยแมงมุม พระพุทธรูปหลายองค์ที่พระอาจารย์วังปั้นไว้ ได้ถูกคนใจร้ายใจบาปจับกลิ้งไว้กับพื้นก็มี ที่ถูกขุดเจาะทำลายก็มี คนใจร้ายคงค้นหาเหล้กไหลในองค์พระพุทธรูป ยิ่งทำให้หลวงปู่ตองเศร้าสลดใจ

โอ หนอ...คนเราทำไมมันถึงได้ใจร้ายต่ำทรามถึงเพียงนี้ กล้าทำลายปูชนียวัตถุอันศักดิ์สิทธิ์ในพระศาสนา ไม่เกรงกลัวบาปกรรม นรกมหาอเวจี หลวงปู่ตองได้บอกตัวเองว่า

“ถ้ำชัยมงคลก็ดี ภูลังกาก็ดีเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์จริงๆ จิตสัมผัสทำให้เราขนพองสยองเกล้าอยู่เป็นระยะ ที่นี่เป็นอาศรมสถานปฏิบัติธรรมของครูบาอาจารย์มาตั้งแต่อดีต ไม่สมควรจะปล่อยให้รกร้างว่างเปล่าเศร้าหมอง เราจะต้องบูรณปฏิสังขรณ์ที่นี่ให้สำเร็จจงได้”

วันนั้นหลวงปู่ตองจึงพักค้างคืนในถ้ำชัยมงคล พอเข้าที่นั่งทำสมาธิภาวนาได้ไม่นาน วิญญาณพระอาจารย์วังก็มาหาอีก ลืมตาก็เห็น หลับตาก็เห็น นุ่งขาวห่มขาวเหมือนเดิม วิญญาณพระอาจารย์วังพูดว่า อัฐิธาตุของเราที่ตกอยู่กระจัดกระจายนั้น เมื่อท่านได้เก็บรวบรวมไว้แล้ว ก็ให้เอาบรรจุใส่ไว้ในเจดีย์อย่างเดิม ถ้าท่านสงสัยอะไรให้ไปถามพระครูอดุลธรรมภาณ ที่วัดศรีวิชัย บ้านศรีวิชัย อำเภอศรีสงคราม พระครูอดุลฯ สมัยเป็นสามเณรเคยอยู่กับเราที่ถ้ำชัยมงคลนี้

นิมิตภาพพระอาจารย์วังบอกกล่าวแล้วก็เดินออกจากถ้ำหายไป

หลวงปู่ตองได้เดินทางไปหาพระครูอดุลธรรมภาณในวันต่อมา เล่าเรื่องทั้งหมดที่ตนประสบให้ฟังตั้งแต่ต้นจนจบ พระครูอดุลธรรมภาณได้ยินแล้วก็พิศวงงงงันไม่อยากจะเชื่อ ตนเองเป็นศิษย์ก้นกุฏิมาตั้งแต่เป็นสามเณรน้อยจนกระทั่งเป็นพระ อายุพรรษาแก่เท่าถึงวันนี้ยังไม่เคยเห็นวิญญาณพระอาจารย์วังมาหาเลย จึงถามว่า “ท่านตองจำรูปร่างหน้าตาพระอาจารย์วังที่เห็นในสมาธิได้แน่รึ ?”

หลวงปู่ตองตอบว่า “ผมจำได้ติดตา”

พระครูอดุลธรรมภาณลุกขึ้น เดินเข้าไปในห้องหยิบเอารูปถ่ายพระอาจารย์วังมาส่งให้หลวงปู่ตองดู ถามว่า “เหมือนรูปนี้ไหม ?”

หลวงปู่ตองได้เห็นรูปถ่ายของพระอาจารย์วังแล้วก็ตะลึง ขนพองสยองเกล้า ถึงกับรีบวางรูปถ่ายลง แล้วกราบรูปถ่ายด้วยความเคารพเลื่อมใส เพราะวิญญาณพระอาจารย์วังที่มาหานั้นเป็นคนๆ เดียวกันกับรูปถ่ายนี้ จึงได้กราบเรียนให้พระครูอดุลธรรมภาณทราบตามนั้น พระครูอดุลธรรมภาณได้ฟังแล้วก็อัศจรรย์ใจขนลุกไปทั้งตัว เหลียวซ้ายแลขวา เข้าใจไปว่าวิญญาณพระอาจารย์วังจะต้องติดตามหลวงปู่ตองมา ท่านพระครูอดุลฯ ได้ร้องว่า “ผมขนลุกไปหมดแล้ว ท่านพระอาจารย์วังอาจจะมาอยู่ในห้องนี้แล้วก็ได้”

ด้วยเหตุดังกล่าว นี้เองทำให้หลวงปู่ตองเกิดความเลื่อมใสพระอาจารย์วัง มีความเชื่ออย่างปราศจากข้อสงสัยว่า วิญญาณพระอาจารย์วังมีจริง เป็นเทพเจ้าชั้นสูงอยู่พรหมโลก มาวนเวียนอยู่ถ้ำชัยมงคลภูลังกา ด้วยความห่วงใย ดังนั้นหลวงปู่ตองจึงตัดสินใจมาอยู่ถ้ำชัยมงคลด้วยความเต็มใจ เคารพเลื่อมใสในองค์อาจารย์วังอย่างสุดจิตสุดใจทีเดียว

ขอหยุดเรื่องหลวงปู่ตองไว้ ชั่วคราวก่อน จะขอเล่าถึงเรื่องราวพิสดารของพระอาจารย์วัง เมื่อเล่าจบแล้วจึงจะได้เล่าเรื่องหลวงปู่ตองเป็นตอนสรุปส่งท้าย...

พระอาจารย์โง่น หรือหลวงปู่โง่น โสรโย วัดพระพุทธบาทเขารวก อำเภอตะพานหิน จังหวัดพิจิตร เป็นพระเกจิอาจารย์เรืองฤทธิ์เชี่ยวชาญในกฤตยาคม สามารถพูดได้หลายภาษา เป็นต้นว่า ภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน รัสเซีย สเปน ลาตินอเมริกา จีน ญวณ เขมร และพม่า

เคยมีผู้กล่าวว่าหลวงปู่โง่นเก่งหลายภาษาเพราะสำเร็จ “อรหันต์ปฏิสัมภิทาญาณ” นั้น หลวงปู่โง่นตกใจมาก รีบปฏิเสธเป็นการใหญ่

“อย่าหาเรื่องให้ฉันตกนรก ! ฉันไม่ได้เป็นพระอรหันต์ ! อย่าได้พูดเป็นอันขาดว่าฉันเป็นพระอรหันต์ ฉันเป็นเพียงพระธรรมดา เป็นหลวงตาแก่ๆ องค์หนึ่ง เหตุที่สามารถพูดได้หลายภาษา ก็เพราะศึกษาค้นคว้า หัดพูด หัดเขียนภาษาต่างๆ ด้วยความอยากรู้เท่านั้น”

หลวง ปู่โง่นสมัยเป็นฆราวาสหนุ่มนั้น เคยสอนศาสนาคริสต์อยู่ที่เกาะลังกาหรือประเทศศรีลังกา เกิดเบื่อขึ้นมาเลยมาอยู่กับพระอาจารย์วัง ฐิติสาโร ที่วัดป่าบ้านศรีเวินชัย ริมฝั่งแม่น้ำศรีสงคราม ต. สามผง อ. ศรีสงคราม จ. นครพนม ประมาณปี พศ. 2485 ปรารภอยากบวช พระอาจารย์วังจึงจับตัวให้นุ่งขาวห่มขาวเป็น “พ่อขาว” หรือ ชีปะขาว ถือศีล 8 ทดลองดูใจก่อนว่าจะเป็นนักบวชได้ไหม

หน้าที่ของพ่อขาวในวัดป่าก็ คือ รับใช้พระสงฆ์องค์เณรทุกอย่าง หัดหมอบ หัดคลาน หัดกราบไหว้ ล้างถาน (ส้วม) ล้างกระโถน ล้างเท้าพระ และเช็ดเท้าพระทุกรูปที่กลับจากบิณฑบาต ฯลฯ เป็นงานหนักมาก ต้องทำใจพร้อมที่จะถูกครูบาอาจารย์ดุด่า และประการสำคัญจะต้องท่องบทสวดมนต์ 7 ตำนานให้ได้หมดอีกด้วย ถึงจะยอมให้บวชได้

หนุ่มโง่นอดีตนักเทศน์นักสอนศาสนาคริสต์ สามารถผ่านด่านทดสอบได้สบายมาก เพราะปัญญาไว สมองเปรื่องปราดมาแต่เกิดแล้ว พระอาจารย์วังจึงพาไปบวชเป็นพระภิกษุที่จังหวัดนครพนม โดยมีหลวงปู่จันทร์ เขมิโย เป็นพระอุปัชฌาย์

เมื่อบวชเป็นพระแล้ว พระอาจารย์วังก็พาออกธุดงค์ไปจำพรรษาที่ถ้ำชัยมงคลภูลังกา เป็นศิษย์รับใช้ใกล้ชิด มีสามเณรคำพันธ์ อายุ 14 ปีอยู่ด้วย (ต่อมาเป็นพระครูอดุลธรรมภาณ) ร่วมกับสามเณรอีก 3 - 4 รูป และอุบาสกหรือพ่อขาวถือศีลจำนวนหนึ่งจำไม่ได้ว่ากี่คน ดังนั้นพระอาจารย์โง่นและพระครูอดุลธรรมภาณ (อดีตสามเณรคำพันธ์) จึงเป็นผู้รู้เรื่องพระอาจารย์วังได้ดีที่สุด รู้เรื่องเมืองลับแล เรื่องพญานาคที่ภูลังกาได้ดีที่สุดอีกด้วย

ต่อไปนี้เป็นเรื่องที่พระอาจารย์โง่น หรือหลวงปู่โง่นเล่าให้ฟัง ท่านได้เล่าว่า...

พระอาจารย์วังเป็นชาวจังหวัดยโสธร บวชเป็นพระที่จังหวัดนครพนม หลวงปู่จันทร์ เขมิโย เป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่อบวชแล้วไปอยู่กับหลวงปู่เสาร์ กันตสีโล ปฏิบัติธรรมภาวนา “พุทโธๆ ๆ” ตามแนวทางของหลวงปู่เสาร์ เอาสมถกรรมฐานก่อนเป็นเบื้องต้น เพื่อให้จิตมีอำนาจแก่กล้า เพราะท่องเที่ยวธุดงค์กันอยู่แต่ในป่า สมัยนั้นชุกชุมไปด้วยเสือสางคางลายดุร้ายเหลือหลาย ถ้าพระธุดงค์กรรมฐานรูปไหนไม่ได้สมาธิ ไม่ได้ฌาน เสือคาบเอาไปกินแน่ๆ เมื่อชำนาญในฌานสมาบัติแล้ว จึงค่อยใช้สมาธิฌานนี้เป็นบาทฐาน เจริญวิปัสนาญาณ เอามรรคผลนิพพานเป็นขั้นสุดท้าย

เรียกวิธีการปฏิบัติธรรมแบบนี้ว่า “สมถยานิก” การปฏิบัติกรรมฐานแนวทางนี้ เป็นที่นิยมชมชอบกันมากที่สุดในภาคอีสาน โดยเฉพาะศิษย์ของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ เพราะพระอาจารย์มั่นเป็นศิษย์เอกของ หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล

พระอาจารย์วัง หรือครูบาวัง เชี่ยวชาญในกสิณสมาบัติ สำเร็จวิชชาอภิจิตอิทธาภิสังขาร คือ “ฉฬภิญโญ” หรืออภิญญาฤทธิ์ เมื่อมาอยู่ที่ถ้ำชัยมงคลบนภูลังกา ท่านชอบอดอาหารครั้งละหลายๆ วัน ออกไปนั่งทำสมาธิวิปัสสนาที่ชะง่อนผาบนยอดภูลังกา ท้าทายมฤตยู พระเณรเถรชีศิษยานุศิษย์เห็นแล้วก็สยองใจหวาดเสียว พาลจะเป็นลมกลัวท่านจะตกเขาตาย

หน้าผาแห่งนั้นสูงชันลึกลิ่ว มีกระแสลมบนพัดแรงน่ากลัว การนั่งอยู่ที่นั่น ถ้าเผลอสติง่วงนอนสัปหงกวูบเดียว ก็จะหัวทิ่มดิ่งพสุธา ตกลงไปร่างแหลกเหลวตาย แต่พระอาจารย์วังสามารถนั่งอยู่ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งวันทั้งคืน ด้วยความปลอดภัย น่าอัศจรรย์ บ่งบอกถึงจิตใจอันกล้าหาญแข็งแกร่งปานเพชรผิดมนุษย์มนา ไม่รู้สึกหวาดกลัวต่อความตายเลยแม้แต่น้อย จิตใจชนิดนี้แหละเรียกว่า “อภิจิต” มีจิตตาภินิหาร สามารถแสดงฤทธิ์ได้ทุกรูปแบบเป็นที่น่าอัศจรรย์

พระป่าบำเพ็ญธุดงค์กรรมฐาน ศิษย์ของหลวงปู่เสาร์ กันตสีโล และศิษย์ของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต นั้นล้วนเก่งกล้าทางสมาธิ ได้ “ฌาน” กันเป็นส่วนมาก แต่ที่ได้ฌานสมาบัติแล้วได้ตาทิพย์หรือทิพย์จักษุญาณ และอิทธิฤทธิ์ด้วยนั้นมีจำนวนน้อย ดังที่ ท่านพระอาจารย์มหาบัว ญาณสัมปันโ วัดป่าบ้านตาดได้กล่าวไว้ว่า
“จิตส่งออกรู้อะไรๆ ต่างๆ ด้วยอำนาจสมาธิ หรือทิพยจักษุนั้นจะมีร้อยละ 5 คนก็ทั้งยาก”

อันนี้เป็นการยืนยันว่า ถึงแม้บรรลุอัปปนาสมาธิ ได้ฌานสมาบัติแล้วก็ตาม มีจำนวนน้อยมากที่ได้อภิญญา 5 ส่วนผู้ที่ได้อภิญญา 5 นั้น จะต้องมี “ปุพเพกตปุญญตา” หรือความเป็นผู้มีบุญอันทำไว้แล้วในชาติปางก่อน มาส่งเสริมสนับสนุน จึงจะได้อภิญญาญาณ และที่ได้นั้นก็มีน้อยมากที่จะได้อภิญญา 5 ครบทั้งห้าประการ ส่วนมากจะได้กันเพียงบางประการเท่านั้น

พระอาจารย์ วัง ฐิติสาโร เป็นผู้มีวาสนาบารมีฌานลาภีบุคคล สำเร็จกสิณทั้งอิทธิวิธี (อิทธิฤทธิ์) และทิพยจักษุญาณเป็นที่แน่ชัด เพราะท่านติดต่อพูดจาปราศรัยกับพวกเทวดา พวกพรหม และภูตผีปีศาจ นาค คนธรรพ์ หรือลับแลได้สบายมาก แสดงถึงการรู้เห็นด้วยตาใน (ทิพยจักษุญาณ) ที่ท่านสามารถนั่งอยู่ที่ชะง่อนผาบนยอดเขาสูงได้ตลอดวันตลอดคืน 24 ชั่วโมงรวดโดยไม่เผลอสติง่วงโงกพลัดตกลงไปถึงแก่มรณภาพนั้น บ่งบอกถึงการใช้ฤทธิ์อภิญญา (อิทธิวิธี) รวมถึงที่ท่านสามารถบังคับฝูงเสือโคร่งได้ ท่านใช้ฤทธิ์ทางเมตตาเจโตวิมุติ

ส่วนอภิญญาข้ออื่นๆ อีก 3 ประการนั้น ไม่ทราบว่าท่านจะได้หรือไม่ เป็นเรื่องที่ไม่กล้าเดาหรือสัณนิษฐานเพราะกลัวจะเป็นบาปโทษ

หลวงปู่โง่น โสรโย ได้เล่าต่อไปอีกว่า...

ตอนที่พระอาจารย์วังมาอยู่ที่ถ้ำชัยมงคลภูลังกาใหม่ๆ นั้น ท่านก็ประสบเข้ากับความลึกลับของวิญญาณอย่างแปลกประหลาด เหตุเกิดในตอนหัวค่ำคืนวันหนึ่ง ขณะที่พระอาจารย์วังนั่งเจริญภาวนาอยู่นั้น มีแสงสว่างสาดเข้ามาในถ้ำเป็นแสงเย็นๆ เหมือนแสงจันทร์วันเพ็ญเข้าใจว่าเป็นแสงสว่าง หรือ “โอภาส” ตามปกติธรรมดาเวลาทำสมาธิมักจะเกิดขึ้นเสมอ

แสงนั้นสว่างไสวแรงกล้า ขึ้นเรื่อยๆ จนรู้สึกรำคาญ จึงได้ลืมตาขึ้น ก็ได้เห็นคนนุ่งขาวห่มขาว 3 - 4 คน เดินเข้ามาหาเนิบๆ ดูลอยๆ พิกล แต่ละคนไม่แก่ไม่หนุ่ม รูปร่างหน้าตาเหมือนชาวบ้านทั่วไป แต่ผ่องใส มีสง่าราศีชวนให้สะดุดใจ พวกเขานั่งลงกราบอย่างสวยงามเบญจางคประดิษฐ์ คนที่เป็นหัวหน้าได้เอ่ยขึ้นว่า
“ได้เห็นพระอาจารย์วังขึ้นมาอยู่ที่ภูลังกาตั้งแต่วันแรกแล้ว เพิ่งมีโอกาสมาเยี่ยมเยือนนมัสการในวันนี้”

ทีแรกพระอาจารย์วังเข้าใจว่า พ่อขาวทั้ง 4 คนเป็นนักปฏิบัติธรรมอยู่ถ้ำใดถ้ำหนึ่ง ในเทือกเขาภูลังกาอันกว้างใหญ่ พากันดั้นด้นมาเพื่อจะสนทนาธรรมด้วย แต่ก็คิดผิดไปถนัดเมื่อพ่อขาวผู้นั้นได้เล่าต่อไปว่า...พวกเขาไม่ใช่มนุษย์ แต่เป็นโอปปาติกะหรือวิญญาณมาจากสวรรค์แดนพรหมโลก มาบำเพ็ญบารมีแสวงบุญที่ภูลังกา เพราะเป็นสถานที่สงัดวิเวกและศักดิ์สิทธิ์มานานตั้งแต่ดึกดำบรรพ์

พวกเทวดาและพรหมชอบพากันมาเยือนโลก เพราะได้เห็นสถานภาพที่แท้จริงของโลกมนุษย์มีสภาวะ ความทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ที่เห็นได้ชัดเจนมาก ทำให้เกิดสลดสังเวชรู้แจ้งในธรรมได้ง่ายกว่าอยู่บนสวรรค์ เพราะบนสวรรค์มีแต่ความสุขสารพัดอันเป็นทิพย์ มอมเมาให้หลงเพลิดเพลิน จึงยากที่จะปฏิบัติธรรมให้เห็นแจ้งในความทุกข์

พระอาจารย์วังได้ ฟังแล้วก็พิศวงงงงัน เกิดความสงสัยว่าตัวเองฝันไปหรือเปล่า ? ชายทั้งสี่ได้กล่าวอย่างรู้วาระจิตว่าพระอาจารย์วังไม่ได้ฝันไปแต่อย่างใด พวกเขาเป็นพรหมมาพบจริงๆ โดยการแสดงกายหยาบให้เห็นเป็นกรณีพิเศษ เพราะมีวาสนาบารมีเคยผูกพันกันมากับพระอาจารย์วังในอดีตกาล จึงสามารถแสดงกายหยาบให้เห็นได้ตามกฎแห่งกรรม ไม่ผิดหลัก “โอปปาติกธรรม” แต่ประการใด
4#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-9-21 21:13 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
บวรได้บอกว่าเขาอยู่สบายดี มีความสุขกับเมียสาวชาวลับแล ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวลับแลเหมือนบ้านเมืองมนุษย์ทุกอย่าง ชาวลับแลไม่ใช่ภูตผี หากเป็นมนุษย์เผ่าหนึ่งที่หายตัวได้กำบังตาได้ ทำให้มนุษย์ไม่สามารถมองเห็นได้ ยกเว้นแต่ในกรณีที่ชาวลับแลอยากให้เราเห็นถึงจะเห็นได้

บวรยังได้บอก อีกว่าเขาพอใจจะอยู่ที่เมืองลับแล ไม่อยากกลับออกมาอยู่เมืองมนุษย์เลยขออย่าได้เป็นห่วงเป็นใย ใครได้มาอยู่เมืองลับแลแล้วก็จะติดใจ เพราะมีความสุขกายสบายใจเป็นแดนทิพยสุขมหัศจรรย์อธิบายไม่ถูก ต้องมาเห็นเองถึงจะรู้ได้ด้วยตนเอง...

อยู่มาไม่นานก็มีหนุ่มอีกคนชื่อ “สวัสดิ์” เป็นชาวอำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร มานุ่งขาวถือศีล 8 ปฏิบัติธรรมอยู่กับพระอาจารย์วัง ที่ถ้ำชัยมงคลภูลังกา สวัสดิ์ถือเคร่งในการปฏิบัติเดินจงกรมและนั่งสมาธิเอาจริงเอาจังมาก มักจะเล่าให้คนใกล้ชิดฟังว่า เขาไปเที่ยวเมืองลับแลมาแล้ว ไปในตอนกลางคืน แต่ไม่มีใครเชื่อเรื่องนี้

อยู่ต่อมาไม่นาน สวัสดิ์ได้หายตัวไปโดยไม่บอกกล่าวใคร สิ่งของเครื่องใช้และบริขารธุดงค์ยังอยู่ครบที่ถ้ำไม่ได้เอาไปด้วย กระเป๋าใส่สตางค์ก็ไม่เอาไป พระอาจารย์วังได้บอกกับพระเณรและพ่อขาวศิษย์ทุกคนว่า สวัสดิ์ได้ไปจำศีลภาวนาอยู่ในเมืองลับแลแล้ว ชาวลับแลให้ความเคารพเลื่อมใส นักพรต ฤๅษี มุนีในภพภูมินั้นเป็นผู้ชักชวนให้ไปอยู่ด้วย

เมื่อปฏิบัติธรรมไปจนถึงที่สุด สวัสดิ์จะเป็น “ผู้สำเร็จ” คล้ายผู้สำเร็จปรอทหรือวิทยาธร กินผลไม้เป็นอาหาร หรือกินปราณวาโยธาตุ มีสภาพกึ่งมนุษย์เทพยดา ไปไหนมาไหนตัวเบาเดินเท้าไม่ติดดิน เพียงแค่นึกอยากจะเหาะก็จะเหาะได้ทันทีด้วยอำนาจมหัศจรรย์ของ “ฌานสมาบัติ” บางทีก็เรียกว่า “สิทธาโยคี” เป็นโยคีมหัศจรรย์สำเร็จ "ไกวัลภูมิ” หรืออภิญญาฤทธิ์ ชอบไปๆ มาๆ อยู่ระหว่างพื้นพิภพโลกกับดวงอาทิตย์ (อยู่นอกโลกเหมือนดาวเทียมที่โคจรรอบโลกละกระมัง)
เรื่องพระอาจารย์ วัง ฐิติสาโร ได้เกี่ยวข้องกับพญานาคและชาวลับแลยังมีอีกมาก ครั้นจะเล่าต่อไปก็จะเฝือไป จึงขอยุติแต่เพียงแค่นี้

พระอาจารย์วัง กล่าวว่า ภูลังกาเป็นเมืองหลวงของชาวบังบดลับแล เพราะภูลังกาเป็นแดนศักดิ์สิทธิ์มาแต่ดึกดำบรรพ์เกี่ยวข้องกับตำนานของพระพุทธเจ้า 5 พระองค์ ดังได้กล่าวมาแล้วในตอนต้น

ต่อไปนี้จะเป็นตอนที่หลวงปู่ตองเล่าถึงเรื่องพญานาคและชาวบังบดลับแล

เมื่อหลวงปู่ตองมาอยู่ที่ถ้ำชัยมงคลภูลังกาในปี พ.ศ. 2535 ท่านก็ได้ทำทางขึ้นไปตามมีตามเกิด พอให้ปีนป่ายโหนต้นไม้และเถาวัลย์ขึ้นไปได้ช่วงไหนที่สูงชันอันตรายหวาดเสียว ก็ทำบันไดไม้พาดไว้อย่างง่ายๆ พอให้ไต่ขึ้นไปได้ ใครที่ร่างกายอ่อนแอขึ้นไม่ได้เลย ขนาดคนหนุ่มๆ ร่างกายแข็งแรงขึ้นไปก็หอบแอกๆ ไม่อยากขึ้นไปอีกเป็นครั้งที่สอง เรียกว่าเข็ดเหมือนตอนแมว แต่หลวงปู่ตองสามารถขึ้นไปได้สบายมาก ทั้งๆ ที่มีอายุได้ 60 ปีเศษแล้ว ร่างกายยังแข็งแรงเหมือนคนหนุ่ม ท่านแบกถุงทรายถุงปูนครั้งละ 2 - 3 ถุง ขึ้นไปวันละหลายเที่ยว สร้างเจดีย์สูง 13 เมตร สำหรับบรรจุอัฐิธาตุของพระอาจารย์วังและรูปปั้นพระพุทธรูปหลายองค์

หลวงปู่ตองเปิดเผยวิธีการแบกถุงปูนถุงทรายขึ้นภูลังกาว่า ใช้วิธีทำจิตให้เป็นสมาธิ โดยกำหนดลมหายใจเข้าออกแบบอานาปานสตินั่นเอง เมื่อจิตเป็นสมาธิแล้วร่างกายจะเบาหวิวเหมือนปุยนุ่น สามารถเคลื่อนไหวได้ว่องไว แบกถุงปูนซีเมนต์และถุงทรายขึ้นไปได้สบายๆ

วิธีทำตัวเบาของหลวงปู่ตองนี้ฟังแล้วง่ายแต่ทำจริงๆ ยาก เพราะการทำจิตให้เป็นสมาธินั้นไม่ใช่ทำกันได้ทุกคน ต้องเป็นคนมีบุพวาสนาบารมีสนับสนุนถึงจะทำสำเร็จ วิธีทำตัวเบาของหลวงปู่ตองนี้คล้ายกับวิชา "ลูกเบา" ของบรรดาพระกรรมฐานสมัยโบราณคือต้องบริกรรมภาวนาจนจิตนิ่งแน่วเป็นสมาธิ เกิดอาการตัวเบาลอยตัวได้สามารถที่จะลอยตัวขึ้นไปบนต้นกล้วย แล้วเดินเล่นนอนเล่นบนก้านใบตองกล้วยได้ โดยที่ก้านกล้วยไม่หักแต่อย่างใด

เมื่อขึ้นไปอยู่ถ้ำชัยมงคลภูลังกาแล้ว หลวงปู่ตองก็ลงมือบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ ปั้นพระพุทธรูปและซ่อมแซมพระพุทธรูป ซ่อมแซมถ้ำและเพิงผาผุพัง สร้างพระเจดีย์ขึ้นมาใหม่บนยอดเขา เทปูนทำสะพานขนาดเล็กข้ามหุบร่องน้ำลึกแคบให้เชื่อมกับถ้ำ ทำความสะอาดบริเวณเขตสงฆ์

ความขยันขันแข็งเอาจริงเอาจังกับงาน บูรณปฏิสังขรณ์นี้คงจะ "เข้าตา" สิ่งลึกลับหรือเทพพรหมหรือผีสางเทวดาทั้งหลายที่เฝ้าจับตามองอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นในวันหนึ่งต่อมาก็ส่ง "ทูต" มาหา เป็นทูตพิเศษที่ไม่ธรรมดา ทูตที่มาหานี้เป็น "งูจงอาง" ขนาดยักษ์สองผัวเมีย ลำตัวใหญ่ขนาดต้นเทียนพรรษาขนาดใหญ่ หรือขนาดโคนขาคนผู้ใหญ่ มีความยาวมากใครเห็นแล้วจะต้องขนหัวลุกตกใจกลัวเป็นลมหรือช็อกตาย

งูจงอางยักษ์ทั้งสองนี้มาหาหลวงปู่ตองในถ้ำชัยมงคล ขณะที่ท่านทำวัตรสวดมนต์ มันผงกหัวแสดงความเคารพแล้วก็แผ่พังพานยืดลำตัวขึ้น สูงเป็นวาแล้วผงกหัวทำความเคารพอีก จากนั้นก็ขดตัวที่มุมถ้ำไม่ยอมไปไหนมองดูท่านเฉยๆ ไม่แสดงปฏิกิริยาอะไรอีก ท่านรู้ด้วยจิตว่าไม่ใช่งูจงอางธรรมดาเพราะมันใหญ่โตผิดงูจงอางที่เคยเห็น

แต่เป็น "พญานาค" แปลงร่างมาเป็นงูจงอางยักษ์เพื่อทำหน้าที่อารักขาถ้ำชัยมงคลและเจดีย์ใหญ่ ที่สร้างขึ้นมาใหม่ !

หลวงปู่ตองเล่าให้ท่านเจ้าคุณราชเมธากรฟังว่า...

"เขามาแปลก! มาอยู่กับผมในถ้ำ เมื่อถึงเวลาหากินก็พากันเลื้อยออกไปหากินข้างนอกแล้วกลับมานอนในถ้ำ บางวันก็เข้าไปนอนในรูโพรงถ้ำ วันหนึ่งมีญาติโยมขึ้นมาหาผมมีเด็กหนุ่มรุ่นคะนองมาด้วย 2 - 3 คน พวกเด็กวัยคะนองวิ่งเล่นที่พลาญหิน แล้วเอาก้อนหินขว้างเล่นลงไปทางหน้าผาบ้าง ขว้างลงไปในหุบเหวป่าไม้บ้างเป็นที่สนุกสนาน ไม่รู้จักกาลเทศะ ไม่รู้ว่าภูลังกาเป็นแดนอาถรรพ์ศักดิ์สิทธิ์ทำให้เจ้าป่าเจ้าเขาโกรธ”

หลวงปู่ตองเว้นระยะแล้วเล่าต่อ

“พญางูจงอางยักษ์สองผัวเมีย ได้เลื้อยปราดออกไปจากถ้ำชัยมงคลส่งเสียงร้องอย่างน่ากลัว เลื้อยพล่านไปทั่วพลาญหินบนยอดภูลังกา แผ่พังพานคุกคาม ผมเห็นท่าไม่ดีกลัวมันจะไล่ฉกกัดพวกเด็กๆ จึงได้ร้องห้ามไว้ไม่ให้ทำอันตราย เพราะเด็กวัยคะนองไม่รู้ประสีประสาอะไร...

อัศจรรย์มาก! งูจงอางยักษ์ทั้งสองเชื่อฟังผม ยอมเลื้อยกลับเข้าถ้ำแสดงถึงมันฟังภาษารู้เรื่อง"

ผู้เขียนได้ นมัสการถามบ้างว่า

"พวกเด็กขว้างก้อนหินเล่นมีความผิดอย่างไร?”

หลวงปู่ตองตอบว่า

"ตามหน้าผาก็ดี ตามซอกเขาหรือโตรกผาก็ดี ตามหมู่ไม้ใหญ่น้อยในหุบเหวข้างล่างก็ดี เป็นบ้านเป็นเมืองของชาวบังบดลับแลหรือคนธรรพ์ เป็นบ้านเป็นเมืองของพวกยักษ์หรือรากษสหรืออสูร เป็นบ้านเป็นเมืองของภูติผีปีศาจเปรตอสุรกาย บ้านเมืองหรือภพภูมิของพวกนี้มันสลับซับซ้อน มองด้วยตาเปล่าไม่เห็นมันซ้อนกันอยู่เหมือนเอากระดาษซับกระดาษซึมมาสักแผ่น หนาๆ แล้วเราเอาน้ำสีต่างๆ หยอดลงไปบนกระดาษซึม สีต่างๆ เหล่านั้นก็จะอยู่รวมกันได้ในกระดาษซึมนั้น ฉันใดก็ฉันนั้น ภูมิภพหรือแดนอยู่อาศัยของพวกวิญญาณก็อยู่กันได้อย่างสลับซับซ้อนเช่นนั้น แหละ เพียงแต่เรามองไม่เห็น แต่ถ้าพวกเขาอยากให้เราเห็น เขาก็จะทำให้เราเห็นได้ เมื่อพวกเด็กขว้างก้อนหินลงไปก็ไปถูกบ้านเรือนของชาวบังบดลับแล เขาก็ไม่พอใจ"

"หลวงปู่เคยเข้าไปในเมืองลับแลมั้ย?" ถามอีก

หลวงปู่ตอบว่า

"เคยเห็นแต่บ้านเมืองของชาวบังบดลับแลอยู่เสมอ เพราะชาวลับแลเขาเปิดให้เห็น แต่อาตมาไม่ได้เข้าไป"

"เหตุใดหลวงปู่ไม่เข้าไป"

"ถ้าเป็นบุคคลอื่นอาจจะอยากเข้าไปเมืองลับแล แต่สำหรับตัวอาตมาแล้วไม่อยากเข้าไปเลย ความรู้สึกลึกๆ ในใจได้เตือนว่า ถ้าตัวเรายังมีภูมิจิตภูมิธรรมน้อยอยู่ หากเข้าไปในเมืองลับแลแล้วอาจจะได้รับภัยอันตรายอย่างลึกลับ"

"ภัยอันตรายอย่างลึกลับหมายถึงอะไร"

"พวกลับแลหรือบังบดมาหาอาตมาอยู่บ่อยๆ มักจะมาตอนค่ำมืดแล้ว ถ้าลับแลนุ่งขาวห่มขาว เป็นพวกบวชแล้ว ถือศีล 10 ข้อ เรียกตัวเองว่าดาบสหรือมุนี เป็นนักพรตคล้ายฤาษี...

ถ้าแต่งตัวธรรมดาเหมือนชาวไร่ชาวนา แสดงว่าเป็นพวกลับแลที่ยังทำมาหากินเหมือนชาวบ้านทั่วไป แต่ถือศีล 5 อย่างเคร่งครัด...

ถ้ารูปร่างสูงใหญ่ผิวคล้ำหรือผิวดำ เป็นพวกพญานาคแปลงตัวมาเป็นมนุษย์ ภพภูมิของพญานาคและภพภูมิของชาวลับแลเขาไปมาหาสู่กันได้...

ถ้าชาวลับแลผิวขาว เป็นอีกเผ่าหนึ่งที่มีบุพกรรมเกี่ยวข้องกับมนุษย์ที่มีผิวขาว เช่น ภูไท ลาวโซ่ง ชาติจีน ชาติญวน เป็นต้น โลกของชาวลับแลก็คือโลกของวิญญาณหรือโอปาติกะ เมื่อเราเป็นพระประพฤติพรหมจรรย์เข้าไปในโลกของชาวลับแล โอกาสที่จะถูกทดสอบหรือลองของเรื่องพรหมจรรย์มีมาก เป็นต้นว่า เอาลาภสักการะเพชรนิลจินดา สร้อยแหวนเงินทองสมบัติโบราณมาถวาย เอาสาวงามมาคอยปรนนิบัติวัฏฐาก หรือให้แม่ชีสาวๆ สวยๆ มาอยู่ใกล้ชิด เอาสุรายาฝิ่นมาถวาย อะไรๆ เหล่านี้ ถ้าพระเผลอไผลขาดสติไปแตะต้องเข้าโดยไม่รู้ว่าเป็นเหยื่อล่อ ก็จะถูกชาวลับแลลงโทษหมดโอกาสได้กลับออกมา”

หลวงปู่ตองเล่าต่อไปอีกว่า

"พวกบังบดลับแลเคารพนับถือพระภิกษุสงฆ์ ชอบฟังธรรมะ เชื่อในธรรมะ ชอบประพฤติปฏิบัติอยู่ในศีลกินในธรรมะ ไม่อยากได้ทรัพย์สินเงินทอง อยากได้แต่ธรรมะ อยากสำเร็จธรรมะ อยากไปเกิดในภพภูมิสูงๆ ขึ้นไป...

ชาวลับแลพากันขบขันที่มนุษย์ทั้งหลาย อยากได้นั่นอยากได้นี่ อยากรวย อยากสวย อยากมีชื่อเสียงเกียรติยศ อยากใหญ่ อยากดัง อยากมีอายุยืนยาวไม่อยากแก่เฒ่า ชาวลับแลบอกว่าชาวโลกมนุษย์มีกิเลสตัณหาความโลภมากยิ่งนัก หลงใหลยึดถือในสิ่งสมมติ เมื่อตายไปก็เอาอะไรไปด้วยไม่ได้"

ผู้เขียนได้เรียนถามอีกว่า...

"กระผมเคยได้ยินได้ฟังมาจากปากของปราชญ์ผู้รู้บางท่าน ได้ให้อรรถาธิบายเรื่องลับแลว่า ชาวลับแลหรือบังบดก็ดี พวกคนธรรพ์ในป่าในถ้ำก็ดี เป็นเทวดาชั้นต่ำสุดอาศัยอยู่บนพื้นดินปะปนกับมนุษย์เรา มีรูปร่างหน้าตาผิวพรรณหยาบเหมือนมนุษย์ ทำมาหาเลี้ยงชีพเหมือนมนุษย์ แต่ถือศีลธรรมเคร่งครัดมาก มีหิริโอตัปปะละอายต่อบาปเกรงกลัวต่อบาป...วิบากกรรมแต่หนหลังทำให้มาเกิด เป็นพวกลับแลหรือคนธรรพ์ชั้นต่ำ แต่ก็ยังอยู่ภายใต้การปกครองของเทพเจ้าชั้นสูง คือ ท้าวธตรฐมหาราช จอมคนธรรพ์ชั้นจาตุมหาราชิกา ทำหน้าที่พิทักษ์รักษาโลกมนุษย์อยู่ที่ทิศตะวันออก ไม่ทราบว่าเรื่องนี้จริงหรือเท็จ"

หลวงปู่ตองตอบว่า

"บังบดลับแลเป็นเรื่องลึกลับ อาตมารู้น้อยตอบไม่ได้"

"ขอถามเรื่องพญานาคอีก"

"พญานาคมีจริง เป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์วิเศษ"

"หลวงปู่เคยเห็นหรือ?"

"อ้าว งูจงอางยักษ์สองผัวเมียในถ้ำชัยมงคลนั่นแหละ คือพญานาค"

"พญางูจงอางยักษ์ทั้งสอง บอกอย่างนั้นหรือ?"

"เปล่า"

"แล้วหลวงปู่รู้ได้อย่างไร?"

"พวกบังบดลับแลเป็นคนบอกว่า งูจงอางยักษ์สองผัวเมียคู่นั้นเป็นพญานาคอยู่ภูลังกามานานหลายหมื่นปีแล้ว เป็นสหายของพระอาจารย์วัง ฐิติสาโร ผู้ล่วงลับมรณภาพไปแล้ว ดวงวิญาณของพระอาจารย์วังได้สั่งให้พญานาคทั้งสองมารักษาถ้ำชัยมงคลและรักษา อาตมา"

"นอกจากพญานาคทั้งสองที่แปลงร่างเป็นงูจงอางมา หลวงปู่เคยเห็นพญานาคตัวอื่นๆ มั้ย?"

"เห็นบ่อยไป เป็นงูสีแปลกๆ ตัวใหญ่ก็มีตัวเล็กก็มี มากันเป็นสิบเป็นร้อย เลื้อยเข้าออกถ้ำทุกวัน ที่เลื้อยเล่นเพ่นพ่านตามพลาญหินบนยอดภูลังกาก็มีเยอะ พอค่ำมืดลงพวกเขาก็แปลงเป็นมนุษย์มาสนทนาธรรมด้วย จึงได้รู้ว่าเป็นพญานาค”

“จะทำอย่างไรจึงจะได้พบเห็นพญานาคและชาวลับแลคนธรรพ์ได้โดยไม่ได้รับอันตราย?" ถามอีก

หลวงปู่ตองนิ่งอึ้งชั่วขณะ ก่อนตอบว่า

“เอ! เรื่องนี้มันไม่ง่ายนะ เป็นเรื่องยากมาก มันมีเหตุปัจจัยสนับสนุนหลายอย่างจึงจะได้ประสบพบเห็น เป็นต้นว่า เคยมีความเกี่ยวข้องผูกพันกันมาในชาติปางก่อน อาจจะเคยเป็นญาติสนิทมิตรสหายกัน อาจจะเคยเป็นบิดามารดาหรือครูบาอาจารย์กันมาในปางก่อน หรืออาจเคยเป็นคู่ครองกัน อาจจะเคยตักบาตรร่วมขันทำบุญร่วมกัน เคยสนับสนุนค้ำชูกันให้เจริญรุ่งเรือง หรืออาจจะมีภาระหน้าที่ผูกพันกันบางอย่าง หรือเป็นศัตรูคู่แค้นจึงจะได้พบกัน”

“อย่างพระธุดงค์ก็ต้องอาศัยเหตุปัจจัย?”

“ถูกแล้ว! พระธุดงค์ก็ต้องอาศัยเหตุปัจจัยแต่ชาติปางก่อนมาสนับสนุน จึงจะสามารถพบเห็นพญานาคและชาวลับแลได้ ถึงแม้จะเป็นพระธุดงค์ผู้แก่กล้าในฌานสมาบัติ แต่ถ้าไม่มีบุพกรรมเกี่ยวข้องกันมาก่อนก็ไม่มีทางจะได้พบเห็นพญานาคและชาวลับแล สำหรับคนมีบุพกรรมเกี่ยวข้องผูกพันกันนั้น แม้จะเป็นชาวไร่ชาวนาธรรมดาหาเช้ากินค่ำ ก็สามารถพบกับพญานาคและชาวลับแลได้ มีตัวอย่างหลายรายแต่ไม่อยากพูดถึง”

หลวงปู่ตองถ้ำชัยมงคลภูลังกา มีเรื่องผูกพันกับพญานาคและชาวลับแลอีกมากมายเป็นเรื่องลึกลับมหัศจรรย์ ท่านบอกว่าเล่าให้ใครฟังไม่ได้ เพราะเป็นความลับของฟ้าดิน ขืนเปิดเผยไปจะเกิดอาถรรพ์ฟ้าดินลงโทษเอาได้ง่ายๆ ชนิดคาดไม่ถึง

อย่างเมื่อไม่นานมานี้ ฟ้าคะนองเกิดพายุถล่มภูลังกา ฟ้าได้ผ่าเปรี้ยงลงมาที่หม้อแปลงไฟฟ้าห่างจากหลวงปู่ตองประมาณสองวา ท่านสลบไปหลายชั่วโมงจีวรถูกไฟไหม้หมดแต่ไม่ตาย กลับฟื้นคืนชีวิตมาได้อย่างน่าอัศจรรย์เหลือเชื่อ!

เรื่องพญานาคที่ภูลังกาขอยุติลงเพียงเท่านี้
5#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-9-21 21:14 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
"ครูบาวัง ฐิติสาโร" หรือ "พระอาจารย์วัง ฐิติสาโร" แห่งวัดถ้ำชัยมงคล ต.โพธิ์หมากแข้ง อ.บึงโขงหลง จ.หนองคาย เป็นพระป่านักปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานศิษย์หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล ที่มีความเคร่งครัดในพระธรรมวินัยเป็นอย่างยิ่ง

อัตโนประวัติ เกิดในสกุล สลับสี เกิดเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2455 ที่ บ้านหนองคู ต.กระจาย อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร

เข้าพิธีอุปสมบทเมื่อปี พ.ศ.2475 ที่พัทธสีมา วัดศรีเทพประดิษฐาราม อ.เมือง จ.นครพนม โดยมี หลวงปู่จันทร์ เขมิโย เป็นพระอุปัชฌาย์

หลังอุปสมบท พระอุปัชฌาย์ให้ไปปฏิบัติธรรมอยู่กับพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร และพระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ ต่อมาได้กลายเป็นลูกศิษย์คนสำคัญของหลวงปู่เสาร์ กันตสีโล และได้ถวายตัวเป็นลูกศิษย์ของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต

ครั้งหนึ่ง "หลวงปู่โง่น โสรโย" ในฐานะลูกศิษย์ของครูบาวัง ได้เล่าให้ฟังว่า

"...การเจริญภาวนาของครูบาวังนั้นเป็นการปฏิบัติขั้นอุกฤษฏ์ จริงๆ เป็นที่เล่าลือกันทั่วไปในหมู่พวกสหธรรมิกด้วยกัน ครูบาวังชอบไปนั่งบำเพ็ญเพียรที่ชะง่อนผาอันสูงลิบลิ่วบนยอดภูลังกา ชะง่อนผานั้นกว้างประมาณ 2 ศอก กำลังเหมาะเจาะพอดี เวลานั่งลงไป ถ้าเอียงซ้ายหรือเอียงขวานิดเดียวเป็นต้องร่วงลงไปในเหวลึก หรือถ้าสัปหงกไปข้างหน้าก็หัวทิ่มลงเหวอีกเหมือนกัน"

"การปฏิบัติ ธรรมขั้นอุกฤษฏ์ของครูบาวังนี้ เป็นการเอาชีวิตตัวเองเป็นเดิมพันกับความตาย ครูบาวังจะนั่งอยู่บนชะง่อนผามรณะนั้นนานนับชั่วโมง บางครั้งนั่งอยู่ทั้งวันทั้งคืน เป็นการเจริญมหาสติปัฏฐานแบบเจโตวิมุตติ โดยใช้อำนาจของอัปปนาฌานเป็นบาทฐาน เป็นการปฏิบัติแบบสมถกรรมฐานเจือปนวิปัสสนากรรมฐาน เจริญกายคตาสติพิจารณาอาการ 32 นั่นเอง..."

ครูบาวัง มีลูกศิษย์ที่เป็นพระภิกษุอยู่ 3 รูป คือ

1. ท่านเจ้าคุณสังวรวิสุทธิเถระ (หลวงปู่วัน อุตตโม) วัดถ้ำอภัยดำรง อ.ส่องดาว จ.สกลนคร
2. พระอาจารย์โง่น โสรโย วัดพระพุทธบาทเขารวก อ.ตะพานหิน จ.พิจิตร
3. พระจันโทปมาจารย์ วัดศรีวิชัย ต.สามผง อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม

ทั้งสามรูปล้วนแต่มรณภาพไปแล้ว

ครูบาวัง ละสังขารมรณภาพลง เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2496 สิริรวมอายุได้ 41 ปี

ตัวอย่างธรรมคำสอนอันหนึ่งของท่าน คือ

"ให้พิจารณาใคร่ครวญ ด้วยปัญญา ให้เห็นแจ้ง ตามความเป็นจริงแล้วอย่ายึดติด ในสมมติที่เราเป็น"




ขอขอบคุณที่มาจาก...จากหนังสือ “พญานาค...เมืองลับแล” โดยคุณนรเศรษฐ์

และขอขอบคุณที่มาของข้อมูลจาก อ. กิตตินันท์ เจนาคม kittinun.com

จากหนังสือชื่อ ชำแหละกฎแห่งกรรม เขียนโดย ร.ต.เจ้าประเวศ ณ เชียงใหม่
ขอบคุณครับสาระน่ารู้
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้