ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 7825
ตอบกลับ: 2
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

พระแม่ศรีโพสพนพเกล้า

[คัดลอกลิงก์]
พระแม่โพสพ คือใคร...
ทำไมต้องบูชา...






วิถีชีวิตของคนส่วนใหญ่นั้น มีการบริโภคข้าวเป็นอาหารหลัก จึงถือว่า ข้าวเป็นเจ้าแห่งชีวิตคู่กับน้ำ
ดังคำกล่าวที่ว่า “ข้าวเป็นเจ้า น้ำเป็นนาย” ข้าวทุกเม็ดมีคุณค่า คนไทยจะไม่ทำการใดๆ อันจะเป็นการลบหลู่ข้าวโดยเด็ดขาด นอกจากนี้ ยังเชื่อว่าข้าวมีจิตวิญญาณ มีเทพนารีเป็นเทพธิดาประจำข้าว คือ “แม่โพสพ” หรือเรียกอีกอย่างว่า ขวัญข้าว หรือย่าขวัญข้าว คอยดูแลปกป้องรักษาต้นข้าวอยู่ เมื่อมีกิจกรรมเกี่ยวกับต้นข้าว ทั้งหว่าน ปลูก หรือเก็บเกี่ยว จะต้องมีพิธีกรรมเพื่อบูชาพระแม่โพสพเสมอ ซึ่งชาวนาในสมัยโบราณล้วนให้ความสำคัญกับแม่โพสพอย่างสูงสุด






กล่าวสำหรับชื่อเต็มของพระแม่โพสพ ชื่อ “พระแม่ศรีโพสพนพเกล้า” เดิมทีนั้นเป็นเทพธิดาอยู่บนสวรรค์ มีนามว่า "โพสวเทวี" มีร่างกายสวยงามมีกลิ่นหอมตลบอบอวล ผิวพรรณดุจทองคำ นางเป็นสนมเอกของพระอินทร์ ซึ่งมอบหมายให้เป็นผู้ดูแลสรวงสวรรค์ พอถึงวันพระ 8 ค่ำ และ 15 ค่ำ นางจะเก็บดอกไม้ใส่พานไปถวาย เพื่อให้พระอินทร์ใช้บูชาพระรัตนตรัย

วันพระวันหนึ่ง เมื่อนางเก็บดอกไม้ไปถวายแล้ว พระอินทร์ทรงสังเกตเห็นว่าผิวพรรณของนางที่เคยผุดผ่องไม่เหมือนเดิม จึงทรงถาม และนางตอบว่า "มันเป็นอนิจจัง ไม่เที่ยง"

แต่พระอินทร์บอกว่า "นั่นเป็นส่วนหนึ่ง แต่อีกส่วน คือ บุญของเจ้าใกล้หมด ฉะนั้นจงไปสร้างบุญใหม่ ไปทำตัวให้เป็นประโยชน์ต่อชาวโลกเถิด" นางรับปากและทูลลา จากนั้นไปที่สรวงสวรรค์เก็บบุปผชาติใส่พานลงไปที่ป่าหิมพานต์ ซึ่งเป็นที่อยู่ของฤๅษี กำลังเข้าฌานสมาบัติ เรียกขานกันว่า "ฤๅษีตาไฟ" เพราะปีหนึ่งจะลืมตาเพียงหนเดียว


นางเห็นฤๅษีเข้าฌานก็เวียนทักษิณาวัตร 3 รอบ เพื่อคารวะ ฤๅษีตบะแทบแตกจากการได้กลิ่นหอมของดอกไม้ แต่ยังไม่ลืมตา
จากนั้นนางก็เหาะไปหน้าพระฤๅษี แล้วก้มลงกราบ ฤๅษีได้กลิ่นดอกไม้และกลิ่นกายของนาง ทนไม่ได้จึงลืมตาขึ้น ชั่วพริบตา นางก็มอดไหม้เป็นเถ้าถ่าน
ฤๅษีเห็นว่านางเทพธิดามาหาแบบแปลกประหลาด เห็นได้แว่บเดียวก็มอดไหม้ ไม่รู้มาด้วยเหตุใด จึงใช้ไม้เท้าศักดิ์สิทธิ์ชี้ไปที่กองเถ้าถ่านเพื่อให้นางฟื้นขึ้นมาจะได้ไต่ถาม ฉับพลันเกิดเป็น "ต้นข้าว" ขึ้นมาที่หน้าฤๅษี ซึ่งมีเมล็ดข้าวหนึ่งเมล็ด ขนาดกว้างยาวถึง 8 นิ้วคูณ 16 นิ้ว สีเหลืองอร่ามสวยงาม


ทีแรกฤๅษีคิดว่าฤทธิ์เดชของตนเองไม่แก่กล้า แต่ความจริงนางไม่ได้ตาย นางหยั่งจิตของฤๅษี จากนั้นจึงคืนร่างเป็นเทพธิดา แล้วเล่าเรื่องความต้องการของนางให้ฟังว่า “ที่มาเพราะอยากให้ฤๅษีช่วยเหลือให้ได้สร้างบุญกุศลตามที่พระอินทร์แนะนำเพื่อประโยชน์ของชาวโลก” ฤๅษีเห็นด้วยที่นางจะเป็นข้าว แต่เมล็ดใหญ่เกินไปไม่สามารถนำไปเป็นประโยชน์ได้ เลยให้กลับร่างเป็นต้นข้าวแล้วใช้ไม้เท้าเสกไปที่เมล็ดข้าว ทำให้แตกกระจาย จึงเป็นที่มาของข้าวอย่างทุกวันนี้
[url=]แม่โพสพ สมเด็จนวม วัดอนงค์[/url]




"การบูชาคุณของพระแม่โพสพ มีมาแต่ครั้งพุทธกาล ตามพุทธประวัติ แม้แต่พระมหากษัตริย์ก็ยังบูชาคุณพระแม่โพสพทุกปี นับแต่รัชกาลที่ 1 จนถึงปัจจุบัน

สมัยก่อนชาวนาทำนาปี ช่วงเดือน 4-6 เป็นช่วงเก็บเกี่ยวเสร็จ จะสังเกตว่าตะวันจะขึ้นตรง พอมาช่วงเดือน 10-11 ที่ชาวนาทำนาเสร็จ ข้าวเริ่มตั้งท้อง จะมีประเพณีทำบุญให้พระแม่โพสพ จะสังเกตว่าตะวันจะขึ้นไม่ตรง แต่จะอ้อมข้าว เรียกว่า ตะวันอ้อมข้าว"

การบูชาคุณพระแม่โพสพ จะใช้ผลไม้ เช่น สับปะรด กล้วย ส้ม มะพร้าวอ่อน จะสังเกตว่าไม่มีขนม หรือหมูเห็ดเป็ดไก่ นั่นเป็นเพราะช่วง 15 ค่ำเดือน 11 เป็นช่วงข้าวตั้งท้อง พอออกพรรษาจะมีประเพณีใส่บาตร จะใช้ผลไม้ใส่บาตร เช่น ส้ม กล้วย ไม่ใส่ข้าว แล้วจะเอาชะลอมเล็กๆ ใส่ผลไม้ เอาไม้เล็กๆ ด้ายแดง-ขาวไปที่นา เอาเชือกขาวผูกที่ต้นข้าว เอาธงปัก และเอาชะลอมผลไม้ไปผูกที่ปลายไม้ ทำการบูชาบอกกล่าวเพื่อเป็นสิริมงคล
"การที่ไม่ใช้อาหารคาว-หวาน เป็นข้าวหรือขนมมาบูชา เพราะพระแม่โพสพย่อมไม่กินตัวเอง แต่จะอุทิศตัวเองเพื่อให้คนอื่นกิน"
พิธีรับขวัญท้องข้าวที่ทุ่งนา หรือรับขวัญข้าวตั้งท้อง จะใช้ผู้หญิงไปรับขวัญข้าวเท่านั้น ในวันทำพิธี สุภาพสตรีคนที่ได้รับคัดเลือก จะต้องแต่งตัวด้วยผ้าถุง ใส่เสื้อสีขาว พาดสไบ ใบหน้าอิ่มเอิบ ยิ้มแย้ม
และแม่โพสพกำลังตั้งท้องจะต้องเอาเครื่องไปถวายท่าน มีพวกของเปรี้ยวเป็นสำคัญ ทั้ง ส้มโอ ส้มเขียวหวาน มะพร้าวอ่อน กล้วย มะม่วง ถั่วงา อ้อย โดยแฝงความเชื่อ เช่น ใช้มะพร้าว เพราะน้ำมะพร้าวจะทำให้ได้ลูกสวย ผิวพรรณดี กล้วย จะเห็นว่าในงาน "มิ่งขวัญ" ต้องมีกล้วยทั้งนั้น เพราะคนเราเกิดมาก็ได้กล้วยเป็นอาหารในมื้อแรกๆ อาจกล่าวได้ว่ากล้วยเป็นต้นรากของชีวิตมนุษย์เลยก็ว่าได้
ด้านเครื่องแต่งกายจะมี กระจก หวี แปรงหอม น้ำมันหอม กรรไกรตัดผม ของอย่างอื่นมี ไฟแช็ก เทียน ธูป ธงคาถาพัน นัยว่าเพื่อป้องกันศัตรูที่จะมาทำลายพืชผล ผ้าถุง ผ้าสไบ น้ำ ชะลอม และเฉลว ซึ่งสานจากไม้ไผ่ ชะลอมจะเอาไว้ใส่ส้มสูกลูกไม้ แล้วแขวนเอาไว้ที่นา
จากนั้นมีการยกข้าวของไปทำพิธีรับขวัญท้องข้าวที่หัวมุมนา พิธีกรรมเริ่มจากสวดมนต์ไหว้พระก่อน ต่อด้วยบทนะโมแปล และบทสวดชุมนุมเทวดา ตามด้วยบทสวดรับขวัญท้องข้าว
ที่จริงพิธีกรรมเกี่ยวกับการรับขวัญนามีทุกขั้นตอนของวงจรชีวิตข้าว ตั้งแต่แรกไถ แรกหว่าน รับขวัญท้องข้าว (ช่วงข้าวตั้งท้อง)แรกเกี่ยว จนถึงรับขวัญข้าวเข้าลาน แต่รายละเอียดพิธีกรรมจะมีแตกต่างกันไป
2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-9-11 07:44 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
การทำขวัญข้าวเป็นพิธีกรรมที่ชาวนาให้ความสำคัญ เชื่อว่าถ้าได้ทำขวัญข้าว และพระแม่โพสพได้รับเครื่องสังเวยแล้ว ไม่ทำให้เมล็ดข้าวล้ม หนอน สัตว์ต่างๆ มากล้ำกราย ได้ผลผลิตอุดมสมบูรณ์ เนื่องจากมีความเชื่อว่าพระแม่โพสพจะให้ผลผลิตที่มากน้อยเพียงไรขึ้นอยู่การกับการทำขวัญข้าว การทำขวัญข้าวกระทำกัน 2 ช่วง คือ ช่วงข้าวตั้งท้อง และช่วงการเก็บเกี่ยว โดยวิธีการทำขวัญข้าวเริ่มจากการนำชะลอมที่ใส่ หมากพลู กล้วย อ้อย ขนมถั่ว ขนมงา ส้ม ผลไม้รสเปรี้ยวต่างๆ ฯลฯ ผูกไว้ปลายไม้ โดยมีธูปปักที่ยอดจำนวน 9 ดอก และธงสีต่างๆ นำไม้ไปปักบริเวณทุ่งนา จากนั้นกล่าวคำทำพิธี ขณะกล่าวคำทำพิธีให้ผู้กล่าว รวบต้นข้าวมาหนึ่งกำมือพร้อมปะแป้ง ส่องกระจก พรมน้ำมันหอม และทำท่าหวีต้นข้าวไปตามลม (เสมือนปะแป้ง พรมน้ำมันหอมและหวีผมให้พระแม่โพสพ) เครื่องสังเวย
     - กล้วย อ้อย ถั่ว งา ส้ม อย่างละ 1 คำใส่ชะลอม
     - หมาก พลูจีบ 1 คำ

บทคำร้องพิธีกรรม
     แม่ศรีเอย แม่ศรีโพสพ แม่นพดารา แม่จันทร์เทวี แม่ศรีโสภา แม่จ๋า เชิญมาแต่งเนื้อแต่งตัวมารับหมากพลู ส้มสูกลูกไม้ กล้วย อ้อย ขนมถั่วงา (เอ่ยชื่อผลไม้รสเปรี้ยวที่เตรียมไว้) วู้... (ออกเสียงร้องกู่ดังๆ) ทิศเหนือแม่มา ทิศตะวันออกแม่มา ทิศตะวันตกแม่มา ทิศใต้แม่มา วู้...วู้...วู้ (อธิฐานขอให้ข้าวออกรวงมากๆ)

เครื่องประกอบพิธี
     1. ชะลอม
     2. ไม้ปัก
     3. ธง 2 - 3 สี (สีเหลือง สีแดง สีชมพู)
     4. ธูป 9 ดอก
     5. น้ำดื่ม
     6. แป้งร่ำ กระจก น้ำมันหอม หวี
ผู้ให้ข้อมูล นางอำไพ  สุขเผือก อายุ 51 ปี อยู่บ้านเลขที่ 19 หมู่ 2 ตำบลบางพลับ อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี

     การทำขวัญข้าวนั้น เป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้กับชาวนาให้รู้ว่า การทำนาปลูกข้าว ของตนนั้น จะไม่สูญเปล่า เพราะพระแม่โพสพเป็นผู้ดูแล และเมื่อมีการเกี่ยวข้าวก็จะมาช่วยกันเกี่ยวข้าว เป็นการสร้างความสมัครสมานสามัคคี และที่สุดคือการร่วมสนุกสนานเมื่อทุกคนเหนื่อยยาก และประสบความสำเร็จด้วยดี


http://www.thaimallplaza.com

ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้