ขอให้เห็นว่าทุกอิริยาบถเป็นการปฏิบัติ
ฉะนั้นการปฏิบัติของท่านทั้งหลายนี้ อย่าพึงถือว่าการนั่งหลับตาอย่างเดียวเป็นการปฏิบัติ เมื่อออกจากนั่งแล้วก็ออกจากการปฏิบัติ อย่าเข้าใจอย่างนั้น ถ้าเข้าใจอย่างนั้นก็รีบกลับมาเสีย ที่เรียกว่าการปฏิบัติสม่ำเสมอคือเราจะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอน ให้มีความรู้สึกอยู่อย่างนั้น เมื่อเราจะออกจากสมาธิก็อย่าเข้าใจว่าออกจากสมาธิเพียงแต่เปลี่ยนอิริยาบถเท่านั้น ถ้าท่านทั้งหลายคิดอย่างนี้ก็จะสุขใจ เมื่อท่านไปทำงานอยู่ที่ไหน ไปทำอะไรอยู่ก็ดี ท่านจะมีการภาวนาอยู่เสมอ มีเรื่องติดใจ มีความรู้สึกอยู่เสมอ
ถ้าหากท่านองค์ใดตอนเย็นๆ ก็มานั่ง เมื่อออกจากสมาธิแล้วก็เรียกได้ว่าออกแล้วไม่มีเยื่อใย ออกไปเลย ส่งอารมณ์ไปเลย ตลอดทั้งวันก็ปล่อยอารมณ์ ตามอารมณ์ไปไม่มีสติ เย็นต่อไปนึกอยากจะนั่ง พอไปนั่งปุ๊บก็มีแต่เรื่องใหม่ทั้งนั้นเข้ามาสุมมัน ปัจจัยเรื่องเก่าที่มันสงบไม่มี เพราะทิ้งมันไว้ตั้งแต่เช้า มันก็เย็นนะซิ ทำอย่างนี้เรื่อย มันก็ยิ่งห่างไปทุกปีๆ
อาตมาเห็นลูกศิษย์บางองค์ ก็ถามว่า “เป็นยังไงภาวนา” เขาตอบ “เดี๋ยวนี้หมดแล้วครับ” นี่ เอาสักเดือนสองเดือนยังอยู่ พอสักปีสองปีมันหมดแล้ว ทำไมมันหมด ก็มันไม่ยึดหลักอันนี้ไว้ เมื่อนั่งแล้วก็ออกจากสมาธิ ทำไปๆ นั่งน้อยไปทุกทีๆ นั่งเดี๋ยวเดียวก็อยากออกนั่งประเดี๋ยวก็อยากออก นานๆ เข้าก็ไม่อยากจะนั่งเลยเหมือนกับการกราบพระ เมื่อเวลาจะนอนก็อุตส่าห์กราบ กราบไปเรื่อยๆ บ่อยๆ นานๆ ใจมันห่างแล้ว ต่อไปไม่ต้องกราบ ดูเอาก็ได้ นานๆ ก็เลยไม่กราบ ดูเอาเท่านั้นแหละ มันจะส่งเราออกนอกคอกไม่รู้เรื่องอะไรนี่ ให้เราทั้งหลายรู้ว่ามีสติ มีไว้ทำไม ให้เป็นศึกษาสม่ำเสมออย่างนั้น
การปฏิบัตินี้จึงเป็นการปฏิบัติสม่ำเสมอ จะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอนมันเป็นของมันเสียจริงๆ คือการทำเพียร การภาวนา มันเป็นที่จิตไม่ใช่เป็นที่กายของเรา จิตของเรามันเลื่อมใสอยู่ จิตของเรามันตรงอยู่ มันมีกำลังอยู่ มันรู้อยู่ที่จิตนั้น จิตนั้นมันเป็นสิ่งสำคัญมาก การยืน การเดิน การนั่ง การนอน อิริยาบถทั้งหลายนั้นมารวมที่จิต จิตเป็นตัวรับภาระการงานมากเหลือเกิน เกือบทุกสิ่งทุกส่วน
เมื่อมีสติ จิตใจจักสงบได้ง่าย
ฉะนั้นเมื่อเราเข้าใจถูกมันก็ทำถูก เมื่อทำถูกแล้วมันก็ไม่ผิด ถึงทำแต่น้อยมันถูกน้อย เช่นว่าเมื่อเราออกจากสมาธิแล้วก็รู้สึกว่าวันนี้เรายังไม่ออก เราเปลี่ยนอิริยาบถมันตั้งอยู่อย่างเก่านั่นแหละ จะยืน จะเดิน จะเหินไปมามันก็มีสติอยู่สม่ำเสมอ ถ้าเรามีความรู้อย่างนั้น กิจธุระภายในใจของเราก็ยังมีอยู่ ถ้าเรานั่งตอนเย็นวันใหม่มา นั่งลงไป มันก็เชื่อมกันได้ มันก็มีกำลังมิได้ขาด มันเป็นอย่างนั้น มันก็ต้องสงบ ติดต่อกันอยู่อย่างนั้น อันนี้เรียกว่าปฏิปทาสม่ำเสมอ ในจิตนั้น ถ้าจิตใจของเรามีสติสัมปชัญญะอยู่เสมอแล้ว สิ่งทั้งหลายเหล่านี้มันเป็นไปเอง มันค่อยๆ เป็นไปเอง จิตใจมันจะสงบก็เพราะจิตใจมันรู้จักผิดถูก มันรู้จักเหตุการณ์ของมัน มันถึงจะสงบได้
เช่นว่าศีลก็ดี สมาธิก็ดี จะดำเนินอยู่ได้มันก็ต้องมีปัญญา บางคนเข้าใจว่าปีนี้ผมจะตั้งใจรักษาศีล ปีหน้าจะทำสมาธิ ปีต่อไปจะทำปัญญาให้เกิด อย่างนี้เป็นต้น เพราะเข้าใจว่ามันคนละอย่างกัน ปีนี้จะทำศีล ใจไม่มั่นจะทำได้อย่างไร ปัญญาไม่เกิดจะทำได้อย่างไร มันก็เหลวทั้งนั้นแหละ ความเป็นจริงนั้นมันก็อยู่ในจุดเดียวกัน ศีลก็ดี สมาธิก็ดี ปัญญาก็ดี เมื่อเรามีศีลขึ้นมา สมาธิก็เกิดขึ้นเท่านั้น สมาธิเราเกิดขึ้นมา ปัญญามันก็เกิดเท่านั้น มันเป็นวงกลมครอบกันอยู่อย่างนี้ มันเป็นอันเดียวกัน เหมือนมะม่วงใบเดียวกัน เมื่อมันเล็กมันก็เป็นมะม่วงใบนั้น เมื่อมันโตมามันก็เป็นมะม่วงใบนั้น เมื่อมันสุกมามันก็เป็นมะม่วงใบนั้น ถ้าเราคิดกันง่ายๆ อย่างนี้ มันก็เป็นธรรมะที่เราต้องปฏิบัติ ไม่ต้องเรียนอะไรมากมาย ให้เรารู้มันเถิด รู้ตัวจริงสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ รู้ข้อปฏิบัติของตัวเอง
การทำสมาธิ จะสำเร็จหรือไม่ขึ้นอยู่กับตัวเรา
ฉะนั้นการทำสมาธินี้ บางคนไม่ได้ตามปรารถนาแล้วก็เลิกก็หยุด หาวาตนไม่มีบุญวาสนา แต่ว่าไปทำชั่วได้ บารมีชั่วทำได้ บารมีดีๆ ทำไม่ค่อยได้ เลิกเลย ปัจจัยมันน้อย มันเป็นกันเสียอย่างนี้แหละ พวกเราไปเข้าข้างแต่อย่างนั้นล่ะ ดังนั้นเมื่อท่านมีโอกาสมาประพฤติปฏิบัติแล้ว ถึงแม้ว่าสมาธิมันทำยาก หรือมันทำง่าย หรือไม่ค่อยเป็นสมาธิ มันก็เป็นเพราะเรา ไม่ใช่เป็นเพราะสมาธิ มันเป็นเพราะเราทำไม่ถูกมัน ฉะนั้นการทำเพียรนี้ท่านจึงได้ว่าเป็นสัมมาทิฎฐิ รู้มันเสียก่อนว่าเป็นสัมมาทิฎฐิ ความเห็นชอบ เมื่อความเห็นชอบอะไรมันก็ชอบไปหมด สัมมาทิฎฐิ สัมมาสังกับโป สัมมากัมมันโต สัมมาทุกอย่าง ทั้ง 8 ประการนั้น มีสัมมาทิฎฐิเกิดขึ้นอันเดียวเท่านั้น มันก็เชื่อมกันไปเลย สม่ำเสมอกันไปเรื่อยๆ มันเป็นอย่างนั้น
อ่านใจตนเองสำคัญกว่าการอ่านหนังสือ
อย่างไรก็ตามเถอะ อย่าไปไล่มันออกไปข้างนอกเลย ให้มันดุข้างในอย่างนี้ดีกว่า มันเห็นชัด อย่าพึงไปอ่านข้างนอก ทางที่ดีที่สุดนั้นตามความเข้าใจผมนะ ไม่อยากจะให้อ่านหนังสือเลย เอาหนังสือใส่หีบปิดให้มันดีเสีย อ่านใจของตนเท่านั้น ที่เราดูหนังสือมานี้ก็ตั้งแต่วันขึ้นโรงเรียน มาเรียนกันทั้งนั้น ดูแต่หนังสือกันจะเป็นจะตาย ผมว่ามันมีโอกาส ที่เวลามากเหลือเกิน เวลาเช่นนี้เอาหนังสือใส่หีบปิดให้มันดีเสียเลย อ่านใจเท่านั้นแหละ เมื่อมันเกิดอะไรขึ้นมาในใจของเรานี่ มันเกิดเป็นอารมณ์ขึ้นมา ที่เราชอบใจไม่ชอบใจก็ตาม เราเห็นว่ามันผิดมันถูกก็ตามเถอะ ให้เราตัดมันไปเลยว่าอันนี้มันไม่แน่ จะเกิดอะไรขึ้นมาก็ช่างมันเถอะ สับมันลงไป ไม่แน่ๆ อย่างเดียว ขวานเล่มเดียวสับมันลงไป “ไม่แน่” ทั้งนั้นแหละ
มองให้เห็นว่า “มันเป็นอย่างนั้นเอง”
ตลอดในเดือนหนึ่งที่มาพักอยู่ในวัดป่านี้ อาตมาว่ามันมีกำไรมากเหลือเกิน จะได้เห็นของจริง ตัวไม่แน่คือตัวสำคัญนะ ตัวให้เกิดปัญญานะ ยิ่งตามมันไม่แน่ ตัวไม่แน่ที่สับมันไป มันจะเวียนไปเวียนไปแล้วมาพบอีก เออ ไม่แน่จริงๆ มันโผล่มาเมื่อไรเอาป้ายปิดหน้ามันไว้ มันไม่แน่ ติดป้ายมันไว้ปุ๊บ มันไม่แน่ ดูไปๆ เดี๋ยวมันก็เวียนมาอีก เวียนมาครบรอบ เออ...อันนี้ไม่แน่ ขุดเอาตรงนั้นมันก็ไม่แน่ เห็นคนๆ เดียวกันที่มาหลอกเราอยู่กระทั่งเดือน กระทั่งปี กระทั่งเกิด กระทั่งตาย คนๆ เดียวมาหลอกเราอยู่เท่านั้น เราจะเห็นชัดอย่างนี้ มันจะเห็นว่า อ้อ มันเป็นอย่างนั้นเอง
เมื่อเราไม่หลงอารมณ์ เราก็ไม่หลงโลก
ทีนี้เมื่อมันเป็นอย่างนั้น เราก็ไม่ไปยึดมั่นถือมั่นในอารมณ์ทั้งหลาย เพราะว่ามันไม่แน่ เคยเห็นไหมดุซิ นาฬิกาเรือนนี้ แหมสวยเหลือเกิน ซื้อมาเถอะ ไม่กี่วันก็เบื่อมันแล้ว ไม่กี่เดือนก็เบื่อมันแล้ว เสื้อตัวนี้ซื้อมา ชอบมันเหลือเกิน ก็เอามาใส่ไม่กี่วัน ทิ้งมันเสียแล้ว มันเป็นอยู่อย่างนี้ มันแน่ที่ตรงไหนล่ะ นี่ถ้าเห็นมันไม่แน่ทุกสิ่งทุกอย่างราคามันก็น้อยลง อารมณ์ทั้งหลายนั้นเป็นอารมณ์ที่ไม่มีราคาแล้ว ของที่ไม่มีราคาแล้วเราจะเอาไปทำไม เก็บมันไว้ก็เหมือนผ้าเราขาดก็เอามาเช็ดหม้อข้าว เอามาเช็ดเท้าเท่านั้น เห็นอารมณ์ทั้งหลายมันก็สม่ำเสมอกันอย่างนั้น เมื่อเราเห็นอารมณ์ทุกอย่างเป็นเช่นนั้น เราก็เห็นโลก โลกนั้นคืออารมณ์ อารมณ์นั้นก็คือโลก เราไม่หลงอารมณ์ก็ไม่หลงโลก ไม่หลงโลกเราก็ไม่หลงอารมณ์ เมื่อจิตเป็นเช่นนี้ จิตก็มีที่อาศัย จิตก็มีรากฐาน จิตก็มีปัญญาหนาแน่น จิตอันนี้จะมีปัญญาน้อย แก้ปัญหาได้ทุกประการ เมื่อปัญหามันหมดไป ความสงสัยมันก็หมดไป อย่างนี้ความสงบมันก็ขึ้นมาแทน อันนี้เรียกว่าการปฏิบัติ ถ้าปฏิบัติกันจริงๆ ก็ต้องเป็นอย่างนั้น
คัดลอกมาจาก
http://www.dharma-gateway.com/monk/preach/lp_cha/lp-cha_34.htm