ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 3031
ตอบกลับ: 7
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

โทษของถีนมิทธะ ความง่วงเหงาหาวนอน (หลวงปู่สิม พุทธาจาโร)

[คัดลอกลิงก์]


ธรรมโอวาท
ของ
พระญาณสิทธาจารย์

(หลวงปู่สิม พุทธาจาโร)
วัดถ้ำผาปล่อง ต.บ้านถ้ำ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่


      

  ฟังเทศน์หาวนอน ดูละครตาแจ้ง  

ช้าๆนานๆหลวงปู่ก็เทศน์เปรี้ยงปร้างแบบจุดพลุ
เพื่อช่วยขับไล่ถีนมิทธะ ให้ลูกศิษย์ลูกหาตาสว่างเสียที
แต่เนื่องจากเป็นเทศนาที่ประกอบด้วยเมตตาธรรมล้วนๆ
แม้หลวงปู่ใช้เสียงดัง ฟังดูเข้มงวด ผู้ฟังก็ไม่รู้สึกระคายเคือง
เพราะเสียงที่ฟังดุของท่านมิได้มีร่องรอยของโทสะให้สัมผัสได้เลย
ที่ง่วงเหงา หาวนอนอยู่ก็เลยตื่นขึ้นมาตาแจ้งตาใส ฟังเทศน์กันต่อไป

"ญาติโยมมีศรัทธาหาระฆังมาไว้ให้ตี
ระฆังนั้นตีแตกไปหลายลูก
แต่ว่าไอ้ผู้ปฏิบัติภาวนา
ตีกิเลสตัวเองไม่แตก...แตกแต่ระฆัง"

"ขี้เซาเหงานอน
ไล่ให้ัมันไปอยู่โน่น...เมืองรัสเซีย
อย่าให้มันมาอยู่เมืองไทย
ให้พากันลุกขึ้นยืนต่อสู้กับกิเลส
อย่าปล่อยให้กิเลส ราคะ โทสะ โมหะ
เข้ามาย่ำยีจนกระทั่งนอนไม่ตื่น
เรียกว่า กินแล้วก็นอน เหมือนสุกรไม่รู้จักตื่น
อันนั้นเรียกว่า ใช้ไม่ได้"

"หลับไปพอบรรเทาร่างกาย
ตื่นขึ้นมาเมื่อใดก็บ่ต้องบ่นเสียดาย

เสียดาย...นอน...เออ ! กำลังนอนดี ระฆังก็ดังขึ้น
เป็นทุกข์เป็นร้อน ตื่นขึ้นมาตีระฆังให้ก็บ่ได้
เพิ่นตีแล้ว ก็ โอ๊ย...รบกวน ลงนอนอีก"


ใครที่ยังไม่เห็นโทษร้ายของถีนมิทธะ
กิเลสความง่วงเหงาหาวนอนว่ามันร้ายกาจขนาดไหน

ควรลองอ่านนิทานจากพระธรรมเทศนาของหลวงปู่
เรื่อง "เณรน้อยพญานาค" ต่อไปนี้

2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-8-3 13:45 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
      เณรน้อยพญานาค    
จากพระธรรมเทศนาหลวงปู่สิม พุทธาจาโร


..ตำนานมีว่า  มีสามเณรองค์หนึ่ง
ได้ปฏิบัติพระสาวกของพระพุทธเจ้าองค์หนึ่ง

พระสาวกตั้งห้าร้อย มีสามเณรน้อยองค์เดียวปฏิบัติ
สามเณรน้อยองค์นั้นปฏิบัติตลอดไตรมาสสามเดือน
เหมือนกับว่า ไม่ได้หลับ ไม่ได้นอน
เดี๋ยวก็หลวงพี่องค์นั้นให้ประเคนของ ทำนั้นทำนี้ให้
คิดให้ดีว่า พระห้าร้อย สามเณรองค์เดียว
ทำไมท่านจึงเอาได้ สู้ได้
แค่ถ้ำผาปล่องเรานี้พระมีอยู่แค่ยี่สิบองค์
สามเณรชื่อ ใหญ่ องค์หนึ่ง สามเณรชื่อ วิรัติ องค์หนึ่ง
สามเณร จ่อย อีกองค์หนึ่งเป็นสาม
เรื่องก็เป็นเรื่องเล็ก อย่าไปท้อถอย
โดยเฉพาะเณรจ่อย ชื่อจริงไม่ใช่ เณรจ่อย
ร่างกายเพิ่นจ่อย (ผอม) ก็เลยให้ชื่อว่า เณรจ่อย
ขยันดี ขยันขันแข็ง ทำอะไรได้เต็มกำลัง
พระแค่ยี่สิบองค์นี้ ถ้าจะแบ่งก็ได้น้อยเดียวหนอ

ทีนี้ ส่วนสามเณรน้อยไม่ได้หลับไม่ได้นอน มันอยากนอน
พอเสร็จธุระไตรมาสสามเดือนก็ไม่รู้จะปรารถนาเอาอะไร
สามเณรน้อยนั้น  ถ้าปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าก็จะได้
ถ้าปรารถนาเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ์ตราธิราชก็จะได้
เพราะว่า ความเพียรที่พยายามเต็มที่  ไม่ได้หลับไม่ได้นอน

สามเณรองค์นั้นก็มีแต่ความอยากหลับอยากนอนอย่างเดียว
จะปรารถนาเอาดีกว่านั้นก็ไม่ได้
ก็ปรารถนาเอาว่า  มันง่วงนอนอยากนอนอย่างนี้
ก็ขอให้ข้าพเจ้าได้นอนเถิด ว่าอย่างนั้น
อย่าได้มีงานเหนื่อย  ขอนอนตลอดเถิด
ก้เลยตายไปในชาตินั้นไปเกิดเป็นนาคราช หรือ พญานาคราช
เลยนอนอย่างเดียวเลยทีนี้ ไม่ตื่น



พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ใดมาตรัส
ถาดที่เสี่ยงทายนั้นมาจมลงในที่ๆเดียวกัน
อย่างในแผ่นดินนี้ก้เมื่อพระเจ้ากกุสันโธมาตรัส
ท่านก็เสี่ยงถาดของพระองค์ท่าน  ถาดก็ไหลไป
เป็นถาดทองคำไปวางไว้บนศีรษะ
สามเณรน้อยนาคราชก็รู้สึกเท่านั้นแหล่ะว่า ถาดได้ลอยมาลงที่นี้
องค์ที่สองไปก็ โกนาคมโน มาตรัสก็เสี่ยงถาดอีก
ถาดก็ไปลอยซ้อนกัน

พอถาดองค์สองมาตรัสรู้ห่างกันตั้งพุทธันดรหนึ่ง พญานาคก็ตื่นขึ้นสักทีหนึ่ง
ดัง แกร๊ก..! แล้วก็  เออ..เมื่อวานก็มาตรัสรู้องค์หนึ่ง วันนี้ก็มาตรัสอีกองค์หนึ่งหนอ
นั่นละ..ปรารถนานอนจนขนาดนี้  จนสิ้นพุทธันดรหนึ่งจึงตื่นได้
แกร๊กทีหนึ่ง ตื่นทีหนึ่ง  

แต่พวกเราไม่ต้องเอาแค่นั้น  เอาให้มันมาก ให้พ้นทุกข์พ้นภัย
ได้แต่นอนเหมือนสามเณรน้อยบ่ได้ความ


ทีนี้องค์ที่สามมาตรัส กัสสโปสัมมาสัมพุทธเจ้าก้เสี่ยงถาด
อย่างนั้นแหล่ะ  ถาดก็ไปแกร๊กอีก
นาคราชก็ตื่นลืมตาขึ้นมาดูถาดนี่  
และว่า  เอ...วานนี้ก็มาตรัสองค์หนึ่ง วันนี้ก็มาตรัสอีกหนอท่านว่า

จนพระพุทธเจ้าของเรา เรียกว่า พระเจ้าโคดม
มาตรัสรู้เป็นองค์ที่สี่  ก็มาเสี่ยงถาดนางสุชาดา
คือว่า วันนั้นพระพุทธเจ้าของเราก็ฉันบิณฑบาตนางสุชาดา
นางสุชาดานั้นทำขนมสี่สิบเก้าก้อนถวายพระพุทธเจ้า
แต่เวลานั้น เรียกว่า บวงสรวงฟ้าดิน ตามธรรมเนียมคนหลง คนไม่รู้
ก็บังเอิญพระโพธิสัตว์พระพุทธเจ้าของเราก็นั่งอยู่ในที่นั้น ที่ร่มไม้โพธิ์นั้นแหล่ะ

พอนางสุชาดามองเห็นปุริสลักษณะพระพุทธเจ้า
ก็ทึ่งในใจว่า  เทพเจ้ามารอเราแล้ว ก้เลยเกิดปิติธรรมอันยิ่งใหญ่
น้อมเอาถาดขนมที่ตั้งใจไว้  ไปถวายพระพุทธเจ้าของเรา
พระองค์ก็ทรงเสวยพระกระยาหารนั้น


เสร็จเรียบร้อยพระองค์ก็นำเอาถาดไปลอยน้ำ
ตั้งสัตยาธิษฐานว่า
ถ้าเราะจได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าจริงๆละก็
อย่าให้ถาดทองคำนี้ไหลลงตามน้ำ
ให้ไหลทวนกระแสขึ้นไป  ว่าอย่างนั้น

พระองค์ก็วางถาด  ถาดก็หมุนติ้วๆอยู่กับที่ก่อน
เมื่อหมุนอยู่กับที่พอสมควรแล้ว
ก็ผันขึ้นไปทางเหนือน้ำ  เป็นความอัศจรรย์ให้พระพุทธองค์ของเรา
ตั้งใจมั่นว่า คงจะได้ตรัสรู้จริง
เพราะธรรมดาถาดไม่มีจิตใจ  
พอพระองค์ตั้งใจอย่างนั้น ก็บันดาลถาดเหมือนมีจิตใจหมุนติ้วขึ้นไปเหนือน้ำ
เหมือนเรือกลไฟอเมริการัสเซียวิ่งตามน้ำอย่างนั้นแหล่ะ
ฉะนั้นพอไปถึง  ถาดก็หมุนขึ้นไปเรื่อย  ทวนกระแสขึ้นไป
ส่วนพระพุทธเจ้าก็ไม่ได้คิดอะไรต่ออะไร
พระองค์ดูแต่แรกก้รู้ทีเดียวว่า พระองค์คงได้ตรัสรู้จริง


ทีนี้  พอถาดลอยไปถึงที่ที่นาคราชหลับอยู่
ถาดไหลไปตกข้างๆศีรษะ
สามเณรน้อยที่เป็นนาคราชตื่นสักทีหนึ่ง
เมื่อวานนี้ก็มาตรัส วันนี้ก็มาตรัสอีก
พระพุทธเจ้านี้ก็รวดเร็วหนอ
ตื่นขึ้นสักทีหนึ่งก็หลับ  ตั้งวันนั้นมาจนถึงวันนี้
วันฟังเทศน์นี้ก็ยังหลับอยู่  เณรน้อยนี้บ่ได้ตื่น
บุญละพระศรีอารยเมตไตรโยโพธิสัตว์มาตรัสจึงจะตื่นได้

นั่นละ...ปรารถนานอน อย่าไปปรารถนาเลย
มันนอนรวดไปเลยนี่  บ่ได้เรื่องได้ราว
อันนี้ความคิดเด็กน้อย ความคิดสามเณรน้อย
มันง่วงเหงาหาวนอนก็เลยขอให้ได้นอนเถิด
ตายแล้วไปเป็นนาคราช  ไม่ได้เรื่อง
จะว่าปรารถนาอย่างไรไม่ได้ก็ไม่ถูก
ความจริงแล้ว เมื่อมีความตั้งใจอันใด
ถ้าตั้งใจจริง  ย่อมสำเร็จลุล่วงไปได้..



        

คัดลอกเนื้อหาจาก
หนังสือละอองธรรม
สิงหาคม, ๒๕๕๕. หน้า ๔๕-๕๑
                                                                                       
.....................................................................

ที่มา
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=7&t=43321

4.1  ลักษณะของถีนมิทธะ4.2  สาเหตุของถีนมิทธะ
  • 4.2.1 อรติ
  • 4.2.2 ตันทิ
  • 4.4.3 วิชัมภิตา
  • 4.4.4 ภัตตสัมมทะ
  • 4.4.5 เจตโส  ลีนัตตัง

4.3  วิธีแก้ไขถีนมิทธะ
  • 4.3.1 นีวรณปหานวรรค
  • 4.3.2 โมคคัลลานสูตร
  • 4.3.3 อรรถกถา ทีฆนิกาย มหาวรรค

แนวคิด1.ถีนมิทธะ คือ ความง่วงเหงาหาวนอน หดหู่ เซื่องซึม เมื่อเกิดขึ้นกับใครแล้วก็เหมือนคนถูกจองจำอยู่ในเรือนจำ อาการง่วงทำเกิดอาการเคลิ้มหลับ โงกเงก บางทีทำให้อยากเลิกนั่ง เพราะรู้สึกรำคาญที่ง่วง หรือบางทีก็อยากจะนอนหลับ ไม่อยากนั่งสมาธิ

2.สาเหตุของถีนมิทธะ เกิดมาจากความไม่ยินดี ความเกียจคร้าน  ความอ่อนเพลีย การกินอาหารมากเกินไป จิตหดหู่ นอกจากนี้ยังมีสาเหตุมาจากที่พักผ่อนไม่เพียงพอ หรือทำงานหนักมาตลอดทั้งวัน

3.วิธีแก้ไขถีนมิทธะมีหลายวิธี คือ ใช้การปรารภความเพียร  แก้โดยอุบายแก้ง่วง 8 ประการ ตามที่พระโมคคัลลานะได้รับคำแนะนำจากพระพุทธเจ้า หรือตามที่พระอรรถกถาจารย์แนะนำไว้ โดยให้ประมาณในการทาน ผลัดเปลี่ยนอิริยาบถ นึกถึงความสว่าง อยู่กลางแจ้ง คบหามิตรดี และพูดคุยกันแต่เรื่องที่สบาย


วัตถุประสงค์เพื่อให้นักศึกษาสามารถบอกถึงความหมายของเรื่องต่อไปนี้ได้
1.ลักษณะของถีนมิทธะ
2.สาเหตุที่ทำให้เกิดถีนมิทธะ
3.วิธีการแก้ไขถีนมิทธะ และสามารถนำไปใช้แก้ปัญหาถีนมิทธะที่เกิดขึ้นในระหว่างทำสมาธิ หลายครั้งและหลายคนที่นั่งสมาธิ อาจจะรู้จักกับการนั่งแล้วหลับกันมาไม่มากก็น้อย บางคนนั่งแล้วก็หลับแบบคอพับไปเลย บางคนก็มีอาการโงกเงกเหมือนต้นสนลู่ลม บางคนก็หลับลึกถึงขนาดปล่อยให้มีเสียงกรนออกมาด้วย ซึ่งบางทีอาการภายนอกที่ปรากฏเหล่านี้ ผู้ปฏิบัติสมาธิเองอาจจะไม่รู้ตัว สิ่งเหล่านี้มักเป็นภาพที่ส่งผลต่อนักปฏิบัติใหม่หลายคนที่อาจคิดว่า การนั่งสมาธินี่เป็นการนั่งหลับหรือเปล่า ไม่เห็นจะได้อะไร  และการนั่งง่วงโงกเงกนี่เองที่อาจทำให้นักปฏิบัติหลายๆ คนกลายเป็นตัวตลกของผู้ที่ดูอยู่ ซึ่งเขาอาจจะมองว่ามานั่งทรมานให้ง่วงโงกเงกทำไม ไปนอนดีกว่า การนั่งสมาธิแล้วหลับซึ่งเป็นนิวรณ์ประการหนึ่งใน 5 ประการ จึงเป็นปัญหาสำคัญประการหนึ่งของนักปฏิบัติธรรมที่ควรจะแก้ไข ทั้งเพื่อทำให้ใจเราหยุดนิ่งเป็นสมาธิ และเพื่อเป็นที่ตั้งแห่งศรัทธาของผู้ที่จะมาฝึกปฏิบัติใหม่

คำว่า ถีนมิทธะ เกิดจากการผสมของคำ 2 คำ คือคำว่า ถีนและมิทธะ  ถีนะ1) หมายถึง ความหดหู่ มิทธะ หมายถึง ความเคลิบเคลิ้ม พระธรรมกิตติวงศ์ท่านได้ให้ความหมายไว้ว่า “        อาการที่จิตเกิดความห่อเหี่ยว ท้อแท้ หมดหวัง และซึมเศร้า ง่วงเหงาหาวนอน เป็นเหตุให้เกิดความหมดอาลัย ความเกียจคร้าน ความไม่กระตือรือร้น ปล่อยปละละเลยไปตามยถากรรม”2)
ดังนั้นคนที่มีอาการถูกถีนมิทธะครอบงำจะมีอาการความง่วงเหงาซึมเซา ความหดหู่และเซื่องซึม ขาดความกระตือรือร้นในการทำกิจกรรมต่างๆ ขาดกำลังใจและความหวังในชีวิตเกิดความเบื่อหน่ายชีวิต ไม่คิดอยากทำสิ่งใดๆ ขาดความวิริยะอุตสาหะในการทำสิ่งต่างๆ ได้แต่ปล่อยให้ความคิดเลื่อนลอยไปเรื่อยๆ จึงไม่สามารถรวมใจเป็นหนึ่งได้  
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเปรียบเทียบถีนมิทธะเหมือน “        การถูกจองจำอยู่ในเรือนจำ”  คนที่ถูกจองจำอยู่ในเรือนจำนั้น ย่อมหมดโอกาสที่จะได้รับความบันเทิงจากการเที่ยวดูหรือชมมหรสพต่างๆ ในงานนักขัตฤกษ์ ฉันใด ผู้ที่ตกอยู่ในอำนาจถีนมิทธะนิวรณ์ย่อมหมดโอกาส ที่จะได้รับรู้รสแห่งธรรมบันเทิง คือความสงบสุขอันเกิดจากฌานฉันนั้น
พระพรหมโมลี(วิลาศ ญาณวโร)  ท่านได้อธิบายขยายความในเรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า ถีนมิทธนิวรณ์ ท่านเปรียบว่าเป็นเสมือน “        คุก” โดยอธิบายว่า3)  ธรรมดาคนที่ติดคุก คือนักโทษที่ต้องถูกจำขังอยู่ในตะรางนั้น ย่อมจักต้องถูกพันธนาการให้อยู่ในคุก จะออกมาข้างนอกเพื่อเที่ยวดูมหรสพการละเล่นให้เป็นที่ครึกครื้นรื่นเริงใจมิได้ ทีนี้ภายหลังเขาพ้นโทษออกจากคุก ได้ยินพวกเพื่อนฝูงพี่น้องพูดคุยกันว่า  เมื่อวานนี้การเล่นมหรสพช่างสนุกเหลือเกิน คนฟ้อนรำก็สวย เสียงร้องเพลงก็ไพเราะ ถ้าไม่ได้เห็นก็น่าจะเสียดายไปจนวันตาย ฝ่ายกระทาชายผู้เพิ่งออกมาจากคุกได้ยินเขาคุยกันดังนี้ ก็นั่งซึมฟังเฉยอยู่ ไม่สามารถจะออกความเห็นหรือคุยอะไรในเรื่องนี้กับเขาได้ เพราะเหตุใด เพราะตนมัวแต่ติดคุก เมื่อวานนี้ยังไม่พ้นโทษจากการติดคุกอยู่ จึงไม่ได้ไปเที่ยวดูการมหรสพอันสนุกสนานที่เขาคุยกันอยู่อย่างนั้น  
อุปมาข้อนี้ฉันใด ผู้ที่มีใจถูกถีนมิทธะเข้าครอบงำมัวแต่โงกง่วงและมักหลับ เมื่อคนอื่นเขาตั้งใจสดับธรรมเทศนา มีเนื้อความอันวิจิตรลึกซึ้งสามารถที่จะยังจิตผู้ฟังให้ถึงความแจ่มแจ้งสลดใจ กลัวภัยในวัฏสงสาร และเห็นคุณค่าแห่งพระนิพพาน แต่ตนก็มัวหลับเสีย ไม่ได้ยินเบื้องต้น ท่ามกลาง ที่สุดแห่งพระธรรมเทศนา อันทรงไว้ซึ่งคุณค่ากัณฑ์นั้น  ต่อเมื่อโงกเงกตื่นขึ้นในภายหลัง ได้ยินผู้ที่ฟังธรรมเขาคุยกัน ว่า โอ้…พระธรรมเทศนาแสนประเสริฐนัก ท่านแสดงเหตุแสดงอุปมาน่าฟังจริงๆ ได้ฟังแล้วทำให้หูตาสว่างขึ้นอีกเป็นอันมาก นี่หากว่าไม่ได้ฟังแล้ว ก็คงโง่ไปอีกนาน ฝ่ายผู้ที่ถูกพันธนาการ คือถูกถีนมิทธะเข้าครอบงำ และมัวแต่หลับเสีย ได้ฟังเขาคุยอย่างนี้ ก็นั่งซึมฟังเฉยอยู่ ไม่สามารถที่จะออกความเห็นหรือแสดงความรู้คุยอะไรกับเขาได้ เพราะตนมัวแต่ถูกเครื่องพันธนาการ คือถีนมิทธะมันจองจำทำให้หลับเสีย พระธรรมเทศนาไม่สามารถเข้าไปในหูแห่งตนได้ ต่อเมื่อใด ได้บำเพ็ญภาวนาจนสามารถละถีนมิทธะ ก็เสมือนคน    ไร้โทษออกจากคุก
อาการง่วงหลับ อาจจะมีอาการเคลิ้ม ตัวโยก หรือสะดุ้ง บางทีนั่งแล้วรู้สึกว่าสบายเหมือนกับความรู้สึกหายไป คือไม่ได้ยินเสียง ทำให้คิดว่าไม่ได้หลับ แต่พอรู้สึกตัวก็ได้ยินเสียงตามปกติธรรมตา บางคนรู้สึกนั่งเหมือนไม่มีสติ เคลิ้มๆ กึ่งหลับกึ่งตื่น แล้วก็หายไปเลย  
เมื่อเกิดอาการง่วงขึ้นสิ่งที่มักเกิดขึ้นตามมากับจิตก็คือ เราเกิดความไม่พอใจในความง่วง อยากจะให้มันหายไป โดยเราคิดไปว่า “        ไม่อยากง่วง ไม่อยากรู้สึกเช่นนี้” ซึ่งกลับทำให้เราเหนื่อยอ่อนยิ่งขึ้น และไม่อยากนั่งต่อ หรือบางคนก็เกิดความรู้สึกว่าอยากจะนอน ไม่อยากออกแรงและปล่อยตัวให้จมอยู่กับความสบายของจิตที่ปล่อยลื่นไหลไปอย่างไร้สติ  ซึ่งทำให้เราล้มเลิกการนั่งสมาธิ หรือปรารภความเพียร
เหตุเกิดถีนมิทธะ พระอรรถกถาจารย์ท่านแสดงไว้ว่ามี 5 ชนิด4) คือ 4.2.1 อรติ ความไม่ยินดีอรติ ความไม่ยินดี  คือไม่ยินดีในการทำงาน หรือในการทำสมาธิเป็นต้น เมื่อเกิดความไม่ยินดี ความไม่พอใจขึ้นแล้ว ใจก็ท้อถอย ไม่อยากทำสมาธิ รวมทั้งไม่อยากทำอะไร ก็เป็นเหตุให้ง่วง เป็นเหตุให้ท้อแท้ เพราะเกิดอรติ ความไม่พอใจขึ้น ที่เป็นเช่นนี้เพราะคนๆนั้น จิตใจไม่ละเอียดอ่อน นั่งสมาธิน้อยเกินไป หรือทำความเพียรไม่ถูกวิธี จึงทำให้จิตหยาบ

4.2.2 ตันทิ ความเกียจคร้านตันทิ ความเกียจคร้าน  คือความเกียจคร้านนี้ ถ้าเกิดขึ้นในใจของผู้ใดแล้วก็จะทำให้ใจของผู้นั้นท้อแท้ท้อถอยไม่อยากจะทำการงานใดๆ มีข้ออ้างมากมาย เพื่อจะไม่ให้ตนเองต้องปฏิบัติธรรม พระพุทธองค์ได้ตรัสถึงข้ออ้างของคนที่ไม่อยากปฏิบัติธรรมไว้ 8 ประการ5) ดังนี้คือ   
1.เมื่อจะต้องทำงาน มีความคิดอย่างนี้ว่า เราจะต้องทำงาน  เมื่อเราทำงาน ร่างกายจะเหน็ดเหนื่อย ควรที่เราจะนอนก่อน แล้วก็นอน ไม่ปรารภความเพียร เพื่อเข้าถึงธรรมที่ควรเข้าถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งธรรมที่ยังไม่ได้ทำให้แจ้ง
2.ทำงานเสร็จแล้วมีความคิดอย่างนี้ว่า เราได้ทำการงานแล้ว ก็เมื่อเราทำงานอยู่ ร่างกายเหน็ดเหนื่อยแล้วเราควรจะนอนพักผ่อน แล้วก็นอนไม่ปรารภความเพียรนั่งสมาธิ
3.เมื่อจะต้องเดินทาง ก็มีความคิดว่า เราจะต้องเดินทาง ก็เมื่อเราเดินทางอยู่เราจะเหนื่อย ควรที่เราจะนอนเสียก่อน คิดอย่างนี้ก็นอนเสีย ไม่ปรารภความเพียร
4.เดินทางไปถึงแล้ว ก็คิดว่า เราเดินทางถึงแล้ว เมื่อเราเดินทาง ร่างกายเหน็ดเหนื่อย เราควรนอนก่อน ว่าแล้วก็นอน ไม่ปรารภความเพียร
5.คิดอย่างนี้ว่า เราแสวงหาอาหาร อาหารก็ไม่เพียงพอแก่ความต้องการและก็ไม่ประณีต กว่าจะได้ก็เหน็ดเหนื่อย ควรจะนอน แล้วก็นอน ไม่ปรารภความเพียร
6.คิดอย่างนี้ว่า เราแสวงหาอาหาร อาหารก็ไม่เพียงพอแก่ความต้องการและก็ไม่ประณีต กว่าจะได้ก็เหน็ดเหนื่อย เหมือนถั่วที่บอบช้ำเพราะแช่น้ำนาน ควรจะนอนก่อน แล้วก็นอน ไม่ปรารภความเพียร
7.เมื่อป่วยเล็กน้อย ก็มีความคิดว่า เราป่วยเล็กน้อย ควรที่จะนอนก่อนแล้วก็นอน ไม่ปรารภความเพียร
8.เมื่อหายป่วย ก็คิดว่า เราหายจากไข้ได้ไม่นาน ร่างกายของเราทุรพล ยังไม่ควรทำงานควรจะนอนก่อน แล้วก็นอน ไม่ปรารภความเพียร
เพราะอาศัยข้ออ้างหลายประการดังกล่าวข้างต้น การบรรลุธรรมจึงล่าช้า ในข้อนี้รวมถึงคนที่นั่งสมาธิเพียงเล็กน้อยแล้วอ้างเหตุประการต่างๆ นอนเสียด้วย ที่จริง ควรจะคิดว่า “        ทันทีที่เรานั่งขัดสมาธิคู้บัลลังก์  ดำรงสติให้มั่น  ทำใจให้หยุดนิ่งที่ศูนย์กลางกายแม้ว่าเราจะหลับบ้าง ตื่นบ้าง ฟุ้งบ้าง ไม่ฟุ้งบ้าง  เท่ากับเรากำความสำเร็จในการเข้าถึงธรรมไว้ล้านเปอร์เซนต์”6)

4.2.3 วิชัมภิตา ความอ่อนเพลีย การบิดกายขี้เกียจวิชัมภิตา ความอ่อนเพลีย การบิดกายขี้เกียจ คือ เมื่อความอ่อนเพลียเกิดขึ้น บางคนก็บิดกาย แสดงถึงความขี้เกียจ ความง่วงซึมของร่างกายก็เกิดขึ้น เป็นลักษณะแสดงถึงความเกียจคร้านเกิดขึ้นในใจของผู้นั้น อันเป็นเหตุให้เกิดความท้อแท้ และเป็นเหตุให้เกิดถีนมิทธะ

4.2.4 ภัตตสัมมทะ การเมาอาหารภัตตสัมมทะ การเมาอาหาร ปกติว่าอาหาร ถ้าใครบริโภคเข้าไปมาก มักจะทำให้ร่างกายง่วงซึมได้ ท่านจึงเรียกว่า เมาในอาหาร การเมาในอาหารเป็นธรรมชาติของร่างกาย ซึ่งเกินความพอดี   กับที่ร่างกายต้องการ ทำให้ระบบการย่อยในร่างกายต้องทำงานหนัก ต้องใช้พลังงานในการย่อยมาก ทำให้เป็นผลคือ ร่างกายอ่อนเพลียตามมา

4.2.5 เจตโส  ลีนัตตัง  การที่จิตหดหู่จตโส  ลีนัตตัง  การที่จิตหดหู่  คือการที่จิตท้อแท้ ใจบางคนไม่ชื่นบาน  ไม่เบิกบาน  ซึม  หน้าตาไม่สบาย  เพราะเกิดความท้อแท้ใจ หมดกำลังใจ  
ในเรื่องของความที่จิตหดหู่ ท้อแท้ หรือเบื่อหน่ายนี้ มีผู้อธิบายไว้ว่า เกิดจากการที่เราทำอะไรแล้วไม่เห็นผล หรือไม่ได้ผลตามต้องการ คนที่ผิดหวังอยู่เสมอในชีวิตประจำวัน หรือมีความกดดันในทางอารมณ์อยู่ คืออยากจะได้อะไรหรืออยากจะให้ตัวเองเป็นอย่างไรแต่ก็ไม่สมหวัง หรือมีความจำเป็นบังคับให้ตัวเองเป็นอย่างไร แต่ก็ไม่สมหวังสักที หรือมีความจำเป็นบังคับให้ตัวเองต้องอยู่กับเหตุการณ์หรืออยู่กับบุคคล ซึ่งตัวเองไม่ค่อยชอบ ไม่อยากได้ ไม่อยากจะให้เป็นอย่างนั้น แต่ก็หนีไม่พ้น ต้องทนอยู่กับเหตุการณ์นี้ซ้ำแล้วซ้ำอีก  แม้บางคนจะต้องทนอยู่เคยชินแล้วก็ตาม แต่ภายในจิตใจก็ยังไม่สบายอยู่ นั่นเอง ความสดชื่น ความร่าเริงในชีวิตประจำวันมีน้อย คนประเภทนี้จะต้องมีความกดดันทางอารมณ์สูง และทุกครั้งที่มีความกดดันทางอารมณ์ ย่อมหมายถึงจะต้องมีความเบื่อหน่าย หรือความท้อแท้เกิดขึ้นเป็นประจำ และในเมื่อมันเกิดขึ้นบ่อยๆ จนกระทั่งเป็นความสั่งสมในเรื่องนี้มากแล้ว ก็จะทำให้เบื่อแม้กระทั่งสิ่งที่ตัวเอง ชอบ อยากจะทำอยากจะได้7)
ความเบื่อหน่ายที่เกิดขึ้นบ่อยๆ ในชีวิตประจำวัน คือ ภัยร้ายกาจอย่างหนึ่ง ซึ่งคนในสมัยปัจจุบันได้รับกันอยู่เสมอ เพราะความทะยานอยากของคนในสมัยนี้มีมาก และความจำเป็น ที่บีบให้เราจำเป็นอยากได้สิ่งนั้นสิ่งนี้ ทำให้ความไม่สบายใจจึงเกิดขึ้นอยู่เสมอๆ ความไม่สบายใจอันนี้ คือสาเหตุของความเบื่อหน่าย
คนที่ไม่เคยทำอะไรสำเร็จด้วยตนเอง และมักจะล้มเหลวอยู่เสมอ ความเชื่อมั่นในตนเองก็ย่อมจะมีน้อยและถ้าหากความล้มเหลวเกิดขึ้นบ่อยๆ ก็จะเกิดความเคยชิน เกิดเป็นนิสัย ทำให้เป็นคนประเภททำอะไรไม่ได้นาน เพราะในไม่ช้าก็จะรู้สึกเบื่อ ถ้ายิ่งมีเหตุการณ์บังคับให้ต้องทนทำ ก็จะเกิดความเบื่อหน่ายมากขึ้น ทำให้เวลานั่งสมาธิก็จะติดนิสัยนี้มา คือถึงแม้จะไม่อดนอน แต่นั่งทีไรก็ง่วงทุกที
นอกจากนี้ในทางปฏิบัติ เราพบสาเหตุของการเกิดถีนมิทธะอีก คือ  
1.เกิดจากการพักผ่อนไม่เพียงพอ ซึ่งอาจจะเกิดจากการนอนดึกเกินไป หรือระหว่างที่หลับนั้น อาจจะฝัน ทำให้หลับไม่สนิท และเพลียเมื่อตื่นขึ้นมา
2.เกิดจากการที่ร่างกายอ่อนล้า เหนื่อย จากการทำงานที่ต้องใช้แรงกาย เสียเหงื่อไปมากๆ  หรืออาจจะใช้ความคิดมากเกินไป

วิธีแก้ไขถีนมิทธะ
4.3.1 นีวรณปหานวรรคพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสถึงวิธีแก้ไขถีนมิทธะว่า “        ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุคคลมีความเพียรอันเริ่มแล้ว ถีนมิทธะที่ยังไม่เกิดย่อมไม่เกิดขึ้นด้วยถีนมิทธะที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเสื่อมหายไปด้วย”8)
ใครก็ตามถ้าเกิดความง่วง  ความซึม  ท้อแท้  ขี้เกียจ  แต่ไม่ยอมท้อถอย  ใช้วิริยะ  ความเพียรอย่างเด็ดเดี่ยว  บากบั่นก้าวไปข้างหน้า  ไม่ยอมท้อ  กิเลสเหล่านี้ก็แพ้ได้  ดังที่พระพุทธเจ้าได้ตั้งปณิธานไว้ในวันที่ตรัสรู้ในเมื่อพระองค์ทรงปูหญ้าคาภายใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์  ประทับนั่งผิน พระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก  ทรงตั้งพระทัยอธิษฐานอย่างแน่วแน่ว่า
“        เลือดเนื้อในร่างกายของเรา  จะเหือดแห้งไป  เหลือแต่หนัง  เอ็น  และกระดูกก็ตามที   หากไม่ได้รับสิ่งที่จะพึงบรรลุด้วยเรี่ยวแรงของบุรุษ  ด้วยความเพียรของบุรุษ  ด้วยความพยายามของบุรุษแล้ว  จักไม่หยุดความเพียร เป็นอันขาด”9)
นี่คือปณิธานอันเด็ดเดี่ยวในการเริ่มความเพียรอันยิ่งยวดของพระพุทธองค์  เมื่อความเพียรเกิดขึ้น  ย่อมละถีนมิทธะได้  แม้เกิดถีนมิทธะขึ้นแล้วย่อมถูกขจัดออกไปด้วยความเพียรแน่นอน   
ในเรื่องการปรารภความเพียร พระพุทธองค์ได้ทรงให้แนวทางหนึ่งคือการอ้างเหตุทำความเพียรในทุกกิจกรรม ซึ่งมีอยู่ 8 ประการดังนี้  
1.เมื่อจะต้องทำงาน มีความคิดอย่างนี้ว่า เราจะต้องทำงาน  เมื่อเราทำงาน เราไม่สะดวกที่จะจรดใจในคำสอนของพระพุทธเจ้า เราจะปรารภความเพียร เพื่อเข้าถึงธรรมที่ควรเข้าถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งธรรมที่ยังไม่ได้ทำให้แจ้ง  
2.ทำงานเสร็จแล้วมีความคิดอย่างนี้ว่า เราได้ทำการงานแล้ว ก็เมื่อเราทำงานอยู่ เราไม่สะดวกที่จะจรดใจในคำสอนของพระพุทธเจ้า เราจะปรารภความเพียร เพื่อเข้าถึงธรรมที่ควรเข้าถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งธรรมที่ยังไม่ได้ทำให้แจ้ง  
3.เมื่อจะต้องเดินทาง ก็มีความคิดว่า เราจะต้องเดินทาง ก็เมื่อเราเดินทางอยู่ เราไม่สะดวกที่จะจรดใจในคำสอนของพระพุทธเจ้า เราจะปรารภความเพียร เพื่อเข้าถึงธรรมที่ควรเข้าถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งธรรมที่ยังไม่ได้ทำให้แจ้ง
4.เดินทางไปถึงแล้ว ก็คิดว่า เราเดินทางถึงแล้ว เมื่อเราเดินทาง เราไม่สะดวกที่จะจรดใจในคำสอนของพระพุทธเจ้า เราจะปรารภความเพียร เพื่อเข้าถึงธรรมที่ควรเข้าถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งธรรมที่ยังไม่ได้ทำให้แจ้ง
5.คิดอย่างนี้ว่า เราแสวงหาอาหาร อาหารก็ไม่เพียงพอแก่ความต้องการและก็ไม่ประณีต กว่าจะได้ก็เหน็ดเหนื่อย เราไม่สะดวกที่จะจรดใจในคำสอนของพระพุทธเจ้า เราจะปรารภความเพียร เพื่อเข้าถึงธรรมที่ควรเข้าถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งธรรมที่ยังไม่ได้ทำให้แจ้ง
6.คิดอย่างนี้ว่า เราแสวงหาอาหาร อาหารก็เพียงพอแก่ความต้องการและประณีต เมื่อได้มาแล้วก็ต้องเหน็ดเหนื่อย และไม่สะดวกที่จะจรดใจในคำสอนของพระพุทธเจ้า เราควรจะปรารภความเพียร เพื่อเข้าถึงธรรมที่ควรเข้าถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งธรรมที่ยังไม่ได้ทำให้แจ้ง
7.เมื่อป่วยเล็กน้อย ก็มีความคิดว่า เราป่วยเล็กน้อย การที่โรคของเราจะกำเริบขึ้น มีโอกาสเป็นไปได้ เราจะปรารภความเพียร เพื่อเข้าถึงธรรมที่ควรเข้าถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งธรรมที่ยังไม่ได้ทำให้แจ้ง
8.เมื่อหายป่วย ก็คิดว่า เราหายจากไข้ได้ไม่นาน การที่โรคจะกำเริบ มีโอกาสเป็นไปได้ เราจะปรารภความเพียร เพื่อเข้าถึงธรรมที่ควรเข้าถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งธรรมที่ยังไม่ได้ทำให้แจ้ง

4.3.2 โมคคัลลานสูตรโมคคัลลานสูตร10)
พระพุทธองค์ทรงให้วิธีแก้ง่วงแก่พระมหาโมคคัลลานะ ผู้เลิศด้วยฤทธิ์ที่กำลังทำความเพียรเพื่อบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ แต่ประสบกับปัญหาการง่วงขณะทำสมาธิ วิธีการที่ใช้ต่อสู้กับความง่วง ที่ทรงให้ไว้มีอยู่ 8 ประการ คือ
1.ให้มีสัญญา คือ ตั้งสติสัมปชัญญะ ความรู้ตัว พระพุทธองค์ตรัสว่า โมคคัลลานะ เพราะเหตุนั้นแหละ เมื่อเธอมีสัญญาอย่างไรอยู่ ความง่วงนั้นย่อมครอบงำได้ เธอพึงทำไว้ในใจซึ่งสัญญานั้นให้มาก แต่ถ้ายังละไม่ได้ก็ทรงให้ใช้วิธีการต่อไปคือ
2.ให้นึกถึงธรรมะที่ได้ฟังมา นำมาพิจารณาใคร่ครวญแก้ง่วงไปเรื่อยๆ  ถ้ายังไม่หาย มีข้อแนะนำต่อไปว่า
3.ควรสวดมนต์ ในบทที่ตนเองจำได้  ถ้ายังไม่หาย
4.เอามือยอนช่องหูทั้งสองข้าง เอามือลูบตัว ถ้ายังไม่หาย
5.ให้ลุกขึ้นยืน เอาน้ำล้างตา เหลียวดูทิศทั้งหลาย แหงนดูดาวนักษัตรฤกษ์ ถ้ายังไม่หาย
6.ให้ทำในใจถึงอาโลกสัญญา คือนึกถึงแสงสว่าง ถ้าเป็นเวลากลางคืน ให้นึกในกลางวันว่า กลางวันอย่างไร กลางคืนอย่างนั้น กลางคืนอย่างไร กลางวันอย่างนั้น เปิดใจนึกถึงแสงสว่าง ถ้ายังไม่หายอีก
7.เดินจงกรม กลับไปกลับมา สำรวมอินทรีย์ เอาใจไว้ในตัว ถ้ายังไม่หายอีกละก็
8.ให้สำเร็จสีหไสยาสน์ คือนอนตะแคงเบื้องขวา ซ้อนเท้าเหลื่อมเท้า มีสติสัมปชัญญะ ทำความหมายในการนอน ว่าเมื่อหายง่วงหายเพลีย เราจะลุกขึ้นมาทำความเพียรต่อ
จากข้างต้น ต้องพิจารณาให้เห็นสาเหตุไปตามลำดับไม่ควรนอนเสียเลยทีเดียวควรดำเนินการตามขั้นตอนข้างต้นเสียก่อน ไม่ควรข้ามตอนว่า ง่วงแล้วต้องนอนอย่างเดียว ต้องดำเนินตามขั้นตอนที่เริ่มจากตั้งสติเสียก่อน หากไม่หายก็พิจารณาธรรมฝ่ายกุศล สวดมนต์แล้วล้างหน้า มานั่งนึกถึงแสงสว่าง
ในเรื่องของการนึกแสงสว่าง พระเดชพระคุณพระราชภาวนาวิสุทธิ์ ได้แนะนำเพิ่มเติมว่า  
“        เราต้องนึกถึงแสงสว่าง นึกถึงความสว่างไว้เรื่อยๆเหมือนมีดวงอาทิตย์อยู่ในท้องเรื่อยๆ แล้วแสงสว่างมันจะค้ำดวงตา  แม้จะเป็นมโนภาพที่เรานึก แล้วมันก็จะไม่ง่วงจะหาย”
ถ้าถึงขั้นสุดท้ายต้องหลับจริงๆ ต้องดูว่า สาเหตุของการหลับ เกิดจากสาเหตุทางไหน  ถ้าเป็นสาเหตุทางด้านร่างกาย  อันเกิดจากการพักผ่อนไม่เพียงพอ หรืออ่อนล้า อ่อนเพลียจากการทำงาน ถ้าเช่นนี้ ก็ต้องให้ร่างกายได้พัก ด้วยการปล่อยให้หลับ หรือไปพักผ่อนให้เพียงพอก่อน อย่าไปฝืนความรู้สึกว่า ทำไมต้องง่วง ไม่อยากง่วง อันจะทำให้เกิดความไม่พอใจตามมา และทำให้เราเหนื่อยอ่อนยิ่งขึ้น รวมถึงจะทำให้เบื่อในการปฏิบัติธรรมมากขึ้น แต่ถ้าจำเป็นต้องพักจริงๆ  ในขณะพัก พระเดชพระคุณพระราชภาวนาวิสุทธิ์ ก็ได้ มีข้อแนะนำคือ
“        ถ้าพักผ่อน เมื่อคืนนอนน้อยก็ต้องปล่อยให้นั่งหลับให้มันหลับไปแต่อย่าไปนอนหลับ  นอนหลับแล้วไปเลยนั่งหลับคอตกสักพัก  พอสดชื่นก็ทำต่อ แค่นี้ เดี๋ยวหายและเมื่อไหร่เราหาความพอดีได้ ใจมันวางพอดี มันสบายไม่ง่วงเลย ถ้าสบายมีความสุขข้างใน ความง่วงไม่มีเลยหายหมด  เคยสังเกตไหมเวลานั่งดีๆแล้ว ไม่ง่วงเลย ไม่ง่วง  นั่งทั้งคืนยังได้เลย”11)
และหากจะต้องนอนหลับ ก็ต้องนอนหลับอย่างชาญฉลาด คือ
“        ต้องหลับอย่างผู้มีปัญญา อย่างบัณฑิตนักปราชญ์ หลับแล้วต้องได้บุญ หลับแล้วจิตต้องบริสุทธิ์ไปด้วย หลับแล้ว ยังอาจจะเป็นต้นทางให้เราได้เข้าถึงธรรม ก็คือหลับที่ศูนย์กลางกายฐานที่ 7 กลางอู่แห่งทะเลบุญ”12)

4.3.3 อรรถกถา ทีฆนิกาย มหาวรรคนอกจากนี้ ในอรรถกถา ทีฆนิกาย มหาวรรค13) ยังได้กล่าวถึงธรรม 6 ประการ ย่อมเป็นไปเพื่อละถีนมิทธะ คือ
1.การกำหนดนิมิตในโภชนะส่วนเกิน  คือ การกำหนดประมาณในการบริโภค โดยใช้หลักว่า อีก 4-5 คำ จึงจะอิ่ม  และพิจารณาให้เห็นถึงวัตถุประสงค์ในการกิน  ว่ากินเพื่ออยู่ ไม่ใช่อยู่เพื่อกิน และการตามใจปากใจท้องมากจนเกินไป นอกจากจะทำให้มีผลเสียต่อการปฏิบัติธรรมแล้ว ยังผลเสียถึงสุขภาพอีกด้วย
พระสารีบุตรท่านได้ให้สูตรในการรับประทานอาหารที่พอเหมาะคือ อีก 4-5 คำจะอิ่มให้ดื่มน้ำตามลงไป ก็จะพอดีอิ่ม ท่านกล่าวว่า  
“        เมื่อบริโภคอาหาร จะเป็นของสดหรือของแห้งก็ตาม ไม่ควรติดใจจนเกินไป ควรเป็นผู้มีท้องพร่องมีอาหารพอประมาณ มีสติอยู่ การบริโภคอาหารยังอีก 4-5 คำจะอิ่ม ควรงดเสีย แล้วดื่มน้ำเป็นการสมควร”14)
พระเดชพระคุณพระราชภาวนาวิสุทธิ์ ได้แนะนำว่า ถ้าทานก็ต้องทานให้พอดี แล้วก็นั่งหลังจากให้อาหารย่อยสักชั่วโมงหนึ่ง  ไปเดินเปลี่ยนอิริยาบถ การทำภาวนาในภาคบ่ายนี้ จะยากกว่าภาคเช้า เพราะว่าหลังอาหาร เราอาจจะอึดอัดเพราะอาหารยังย่อยไม่สมบูรณ์หรือบางทีอาจจะทำให้เราง่วงเราซึม15)
2.การผลัดเปลี่ยนอิริยาบถ คือ ให้สังเกตดูว่าเราอยู่ในอิริยาบถใดแล้วเกิดอาการง่วง ก็ให้ผลัดเปลี่ยนอิริยาบถเป็นอิริยาบถอื่น เช่น ในขณะนั่งแล้วเกิดอาการง่วง เราอาจจะลุกไปล้างหน้า เข้าห้องน้ำสักครู่ ให้เกิดอารมณ์สบาย แล้วจึงกลับมานั่ง เป็นต้น
3.การใส่ใจถึงอาโลกสัญญา คือความสำคัญว่าสว่าง
4.การอยู่กลางแจ้ง คือ การไม่อยู่ในห้องมืด หรือห้องแคบ ที่อากาศไม่เพียงพอ เพราะจะทำให้เกิดอาการซึมทึม ง่วง อ่อนเพลียตามมาได้ แต่การอยู่กลางแจ้ง หรืออาจอยู่ในห้องที่มีความโปร่ง  มีอากาศถ่ายเทดี จะทำให้ร่างกายสดชื่นกระปรี้กระเปร่า เป็นการขจัดความโงกง่วงได้อย่างดี
5.ความมีกัลยาณมิตร คือ หมั่นเข้าหากัลยาณมิตรที่ไม่มีความง่วงโงก เพราะถ้าเราคบหาคนที่ชอบง่วง มักนอน เกียจคร้าน ก็จะทำให้เราพลอยมีพฤติกรรมเช่นนั้นไปด้วย ดังนั้น จึงควรแสวงหาคนที่ปรารภความเพียร ตั้งใจนั่งสมาธิ และไม่ค่อยเกิดความง่วง เพลีย หดหู่ และคอยสอบถามวิธีการจากเขา อันจะเป็นกำลังใจให้เราได้ต้นแบบ และได้เทคนิควิธีการที่จะสามารถนำมาใช้แก้ไขความง่วงหลับของตัวเราได้
6.การเจรจาแต่เรื่องที่เป็นที่สบาย คือ พูดคุยกันเรื่องของการปรารภความเพียร การหมั่นเจริญสมาธิภาวนาในอิริยาบถต่างๆ อันจะเป็นกำลังใจในการปฏิบัติธรรม ในข้อนี้มีตัวอย่างของคุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง ที่ท่านตั้งใจปรารภความเพียร คือ ในสมัยที่ท่านนั่งสมาธิอยู่ที่วัดปากน้ำภาษีเจริญ  เวลาที่เลิกนั่งสมาธิ ออกไปนอกโรงงานทำวิชชา ท่านก็จะตรึกธรรมะ ประคองใจไว้ที่ศูนย์กลางกายอย่างตลอดต่อเนื่อง ซึ่งหลายคนพอเลิกนั่ง ออกนอกห้องก็จะปล่อยใจไป พูดคุย ทำอะไรกันไปอย่างสนุกสนาน แต่คุณยายประคองใจตลอด ท่านบอกว่า “        จะเดินปล่อยใจ พูดคุยกันไป หรือจะเดินประคองใจไป ก็ถึงหอฉันเหมือนกัน ดังนั้นประคองใจดีกว่า” พระมงคลเทพมุนี ได้เคยถามคุณยายว่า “        เอ็งออกไปนอกห้อง ใจเอ็งอยู่ตรงกลางหรือเปล่า” คุณยายก็ตอบว่า “        อยู่เจ้าข้า”
ดังนั้น หากในขณะทำสมาธิ เกิดจากสภาพของจิตใจที่เบื่อหน่าย เกียจคร้าน ไม่ชอบใจ เราก็ต้องทำลายความรู้สึกนั้น อาจจะลืมตาแล้วหลับตาใหม่ หรือลุกไปเปลี่ยนอิริยาบถ หรือนึกถึงเรื่องราวตัวอย่างผู้มีความเพียร และคุณของการทำสมาธิ หรือใช้อุบายแก้ง่วงก็ได้ ซึ่งทั้งหมดนี้ก็ล้วนแต่เป็นวิธีที่จะทำให้เราละความง่วงหลับ และเข้าถึงใจที่เป็นสมาธิอย่างละเอียดอ่อนยิ่งๆ ขึ้นไป

ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้