ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 6147
ตอบกลับ: 2
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

หลวงพ่อขาว วัดนครธรรม จ.สระแก้ว

[คัดลอกลิงก์]
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย kit007 เมื่อ 2014-7-18 10:03



หลวงพ่อขาว หรือ “พระพุทธศากยมุนีศรีบูรพา”
พระประธานในวิหารหลวงพ่อขาว วัดนครธรรม (วัดสระลพ)
ถนนสุวรรณศร ตำบลวัฒนานคร อำเภอวัฒนานคร จังหวัดสระแก้ว


ประวัติหลวงพ่อขาว

หลวงพ่อขาว หรือ “พระพุทธศากยมุนีศรีบูรพา” หรือ “หลวงพ่อปูน” เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย วัสดุปูนขาว มีขนาดหน้าตักกว้าง 1.30 เมตร สูง 1.99 เมตร เป็นศิลปกรรมสมัยรัตนโกสินทร์

เมื่อปี พ.ศ. 2369 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 เจ้าอนุวงศ์ ผู้ครองเมืองเวียงจันทร์ ซึ่งเป็นเมืองขึ้นของไทยตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้ก่อการกบฏขึ้นโดยเจ้าอนุวงศ์ ร่วมกับเจ้าสุทธิสาร ได้ยกทัพเข้ายึดเมืองนครราชสีมา และกวาดต้อนผู้คนอพยพไปเมืองเวียงจันทน์ ในระหว่างเดินทางได้ถูก คุณหญิงโม (ท้าวสุรนารี) ได้รวบรวมผู้คนตีกองทัพเจ้าอนุวงศ์แตกพ่าย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) เมื่อครั้งเป็น พระยาราชสุภาวดี เป็นแม่ทัพยกไปตีเมืองเวียงจันทร์ปราบกบฏจนราบคาบ แล้วได้อพยพผู้คนรี้พลจากเมืองเวียงจันทน์ เมืองมหาชัยกองแก้ว และฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงกลับมายังเมืองไทย ผู้คนรี้พลที่อพยพมาได้แยกย้ายกันตั้งถิ่นฐานอยู่หลายแห่ง เช่น ท้าวอุเทน ได้มาตั้งเมืองประจันตคาม ส่วนตัวเมืองวัฒนานครนั้นได้มีผู้คนรี้พลชาวเมืองเวียงจันทน์มาตั้งถิ่นฐานเป็นหมู่บ้านน้อยใหญ่หลายแห่ง ได้แก่ บ้านพร้าว บ้านสระลพ บ้านเมือง บ้านจิก

ในแต่ละหมู่บ้าน ชาวบ้านผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนาได้สร้างวัด พระพุทธรูป และศาลหลักเมืองขึ้น เพื่อเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ เช่น บ้านจิกได้สร้างวัดชื่อว่า “วัดบ้านจิก” บ้านพร้าวได้สร้างวัดชื่อว่า “วัดบ้านพร้าว” (ปัจจุบันเป็นโรงเรียนบ้านพร้าว) บ้านเมืองได้สร้างศาลหลักเมือง ครั้นต่อมาชาวบ้านจิกได้เห็นความยากลําบากของพระภิกษุสงฆ์ที่ต้องปฏิบัติสังฆกรรมกลางหนองน้ำที่เรียกว่า “หนองสิมน้ำ” หรือหนองดินจี่ พระภิกษุุชาวเวียงจันทน์และชาวบ้านจึงได้ก่อสร้างอุโบสถขึ้น ณ วัดบ้านจิก โดยชาวบ้านช่วยกันขุดดินจากหนองสิมน้ำหรือหนองดินจี่ติดกับบ้านตากแดด นํามาทําเป็นก้อนอิฐเพื่อใช้ในการก่อสร้างอุโบสถและฐานพระประธาน

ด้วยความศรัทธาในพระพุทธศาสนา ชาวบ้านได้ร่วมกันสร้างองค์พระพุทธรูปขนาดใหญ่ด้วยปูนขาว (ซึ่งเป็นดินจากหนองสิมน้ำหรือหนองดินจี่) ตามภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยมีพระภิกษุชาวเวียงจันทน์เป็นประธานการก่อสร้างพระพุทธรูปปางมารวิชัย มีขนาดหน้าตักกว้าง 1.30 เมตร สูง 1.99 เมตร ชาวบ้านได้นำอัญมณีของมีค่า เช่น เพชร ทองคํา เงิน ฯลฯ นํามาบูชาและบรรจุไว้ที่พระอุทร (ท้อง) ขององค์พระพุทธรูป เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ จึงได้อัญเชิญมาประดิษฐานเป็นพระประธานในอุโบสถ ชาวบ้านเรียกว่า “หลวงพ่อปูน” ครั้นสงครามสงบลง พระภิกษุชาวเวียงจันทร์และชาวบ้านจึงได้อพยพกลับเมืองเวียงจันทร์ ประเทศลาว คงเหลือแต่ชาวบ้านเพียงบางกลุ่มที่ไม่กลับไป และตั้งถิ่นฐานทํามาหากินอยู่ที่บ้านพร้าว บ้านสระลพ บ้านเมือง บ้านจิก ดังเดิม

กาลเวลาล่วงเลยมานาน วัดและสิ่งก่อสร้างต่างๆ ของวัดบ้านจิก และวัดบ้านพร้าวซึ่งไม่มีพระภิกษุอยู่จําพรรษา และไม่ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ จึงทรุดโทรม รกร้างว่างเปล่าลงไปตามกาลเวลา ในที่สุดก็กลายเป็นวัดร้าง ไม่หลงเหลือสิ่งก่อสร้างใดๆ มีเพียง หลวงพ่อขาว หรือหลวงพ่อปูน ที่ตั้งตระหง่านกลางป่ารกเท่านั้น ต่อมามีผู้คนใจมืดบอดที่มีความโลภได้ขโมยเจาะพระอุทร (ท้อง) ของหลวงพ่อขาว หรือหลวงพ่อปูน โดยได้นําของมีค่าไปเป็นจํานวนมาก (ปัจจุบันอุโบสถ วัดบ้านจิก ได้ขุดเป็นสระน้ำสาธารณประโยชน์ของชาวหมู่บ้านจิก)

เมื่อปี พ.ศ. 2430 ชาวบ้านสระลพได้สร้างอุโบสถวัดนครธรรมขึ้น แต่ยังไม่มีพระพุทธรูปองค์พระประธาน ทางเจ้าอาวาสจึงได้อัญเชิญ “หลวงพ่อขาว” พระพุทธรูปที่ประดิษฐานอยู่ที่วัดร้างที่อยู่บ้านจิก ซึ่งไม่มีผู้ใดดูแลรักษาในสมัยนั้น เป็นพระพุทธรูปโบราณนั่งขัดสมาธิ สร้างด้วยปูนขาว แล้วนำมาประดิษฐานไว้ในอุโบสถวัดนครธรรม เมื่อปี พ.ศ. 2468 พระพุทธรูปองค์นี้มีชื่อว่า “หลวงพ่อปูน” เข้าใจว่าสร้างด้วยปูนขาว แต่โดยส่วนมากชาวบ้านมักจะเรียกกันว่า หลวงพ่อขาว จนถึงปัจจุบันนี้ ในการอัญเชิญหลวงพ่อขาวมาประดิษฐานยังวัดนครธรรมนั้น ได้ใช้ล้อเลื่อนบรรทุกมา ใช้เชือกมะนิลาโยงให้ชาวบ้านได้ช่วยกันลากจูงไป ปรากฏว่าวันนั้นมีเหตุการณ์อัศจรรย์เกิดขึ้น กล่าวคือ ทั้งพระภิกษุและชาวบ้านได้เห็นน้ำพระเนตรของหลวงพ่อขาวไหลออกมาอย่างเห็นได้ชัด พร้อมกับมีฝนตกลงมาอย่างหนักโดยที่ไม่มีเมฆฝนตั้งเค้ามาก่อนเลย ตั้งแต่เริ่มชักลากมาจากวัดบ้านจิก ตลอดทางจนมาถึงวัดนครธรรม ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นนิมิตหมายที่ดีว่า พระพุทธรูปองค์นี้จะนำความสุขความร่มเย็นมาสู่หมู่บ้านของตนอย่างแน่แท้

ครั้นเมื่อวัดนครธรรมได้สร้างอุโบสถหลังใหม่ขึ้น เพื่อความสะดวกในการประกอบศาสนกิจต่างๆ ทางวัดได้จำลอง หลวงพ่อวัดไร่ขิง พระประธานในพระอุโบสถ วัดไร่ขิง (พระอารามหลวง) จ.นครปฐม มาเป็นองค์พระประธานในอุโบสถหลังใหม่ของวัดนครธรรม ส่วนอุโบสถหลังเดิมจึงได้เปลี่ยนชื่อเรียกว่า วิหารหลวงพ่อขาว เพื่อเป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อขาว พระบรมสารีริกธาตุ รอยพระพุทธบาทจําลอง และหลวงพ่อขาวจําลอง เพื่อให้ชาวบ้านญาติโยมได้มาบูชาสักการะเพื่อความเป็นสิริมงคล และสร้างขวัญกําลังใจจวบจนถึงปัจจุบัน

2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-7-18 10:03 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ประวัติวัดนครธรรม

วัดนครธรรม ตั้งอยู่เลขที่ 60/1 หมู่ที่ 4 ถนนสุวรรณศร ในท่ามกลาง 5 หมู่บ้าน คือ บ้านสระลพ บ้านเมือง บ้านจิก บ้านพร้าว และบ้านตลาดวัฒนานคร ด้านหน้าของวัดติดกับเทศบาลอำเภอวัฒนานคร และกองพิสูจน์หลักฐาน กองวิทยาการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตำบลวัฒนานคร อำเภอวัฒนานคร จังหวัดสระแก้ว ห่างจากสถานีรถไฟ และถนนสุวรรณศรไปประมาณ 1 กิโลเมตรเศษ เดิมวัดแห่งนี้มีชื่อว่า วัดสระลพ มาเปลี่ยนเป็นชื่อใหม่ว่า วัดนครธรรม นี้เมื่อปี พ.ศ. 2506 เพื่อให้เป็นมงคลแก่ พระครูวิวัฒน์นครธรรม (ซาย พิภักดิ์) ซึ่งเป็นผู้บุกเบิกก่อสร้างวัดแห่งนี้ขึ้นในสมัยที่ท่านยังดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส โดยวัดนครธรรมมีขอบเขตติดต่อ ดังนี้

ก. ทิศเหนือ ติดต่อกับเทศบาลอำเภอวัฒนานคร และกองพิสูจน์หลักฐาน กองวิทยาการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตำบลวัฒนานคร อำเภอวัฒนานคร จังหวัดสระแก้ว

ข. ทิศใต้ ติดต่อกับบ้านพร้าว

ค. ทิศตะวันออก ติดต่อกับบ้านเมือง

ง. ทิศตะวันตก ติดต่อกับบ้านสระลพ

ผู้สร้างวัด

วัดนครธรรมนี้ ตามหลักฐานปรากฏว่าไม่มีผู้ใดเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง และก่อสร้างมาตั้งแต่สมัยใด แต่ก็อาศัยบารมีเจ้าอาวาสองค์ก่อนๆ โดยความร่วมมือร่วมใจ เกิดศรัทธาปสาทะในพระบวรพุทธศาสนาของพุทธศาสนิกชนและชาวบ้านทั้งหลาย ก็ได้ให้การสนับสนุนอุปถัมภ์ด้วยดีเสมอมาจนถึงปัจจุบันนี้

วัดแห่งนี้เป็นวัดโบราณเก่าแก่วัดหนึ่งในจังหวัดสระแก้ว มีเจ้าอาวาสและคณะกรรมการวัดสืบต่อกันมาเป็นลำดับ ได้สร้างกันมานาน ซ่อมแซม บูรณปฏิสังขรณ์สืบต่อเนื่องกันมาหลายสมัย เพื่อให้วัดเป็นวัดที่สมบูรณ์ตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองสงฆ์ ร.ศ. 121 ซึ่งเป็นกฎหมายที่บังคับใช้อยู่ในขณะนั้น ทางวัดนครธรรมจึงได้ดำเนินการให้ทางราชการรับรองสภาพวัด โดยได้จัดตั้งเป็นวัดที่ถูกต้องตามกฎหมายเมื่อปี พ.ศ. 2430 และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อปี พ.ศ. 2526 วัดมีเนื้อที่ทั้งหมด 29 ไร่ 3 งาน 14 ตารางวา

รายนามเจ้าอาวาส

ผู้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดนครธรรม ตั้งแต่องค์แรกเป็นลำดับมาตลอดจนประวัติของท่านเหล่านั้น ไม่สามารถทราบได้โดยละเอียด เท่าที่ปรากฏรายนามมีดังนี้

1. พระอธิการเล็ก เอมโอด
2. พระอธิการมื้อ จันทร์ภักดี
3. พระอธิการทองแดง เกษมสร้อย
4. พระอธิการสิงห์ ฑียะบุญ
5. พระอธิการเนตร ท่าประสาร
6. พระอธิการชาลี จันทร์ภักดี
7. พระอธิการก้อน ทองนพ
8. พระอธิการจ้อย สมบูรณ์กูล
9. พระครูวิวัฒน์นครธรรม (ซาย พิภักดิ์)
10. พระครูวัฒนานครกิจ (พระมหาทองดำ ปญญาทีโป)
เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน และเจ้าคณะอำเภอวัฒนานคร
3#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-7-18 10:04 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
สิ่งสำคัญภายในวัด

1. หลวงพ่อขาว
2. พระบรมสารีริกธาตุ
3. รอยพระพุทธบาทจำลอง
4. พระสยามเทวาธิราช


นับเป็นสิ่งที่น่าอัศจรรย์อย่างหนึ่งหรือจะด้วยสาเหตุใดๆ ไม่ทราบ นับตั้งแต่ได้อัญเชิญ พระบรมสารีริกธาตุ มาประดิษฐานไว้ที่วัดนครธรรมเป็นต้นมา ปกติทางวัดจะจัดงานปิดทองพระประจำปีเนื่องในงานนมัสการหลวงพ่อขาวหรือหลวงพ่อปูน เป็นประจำทุกปี บางปีจัด 3 วัน 4 วัน 5 วัน ตามแต่วาระโอกาส แต่เมื่อปี พ.ศ. 2536 ได้จัดเป็นกรณีพิเศษ คณะกรรมการวัดได้จัดงาน 10 วัน 10 คืน ซึ่งก็ได้มีพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย รวมทั้งคณะทัวร์ทั้งภาคเหนือและภาคใต้ที่เดินทางไปเที่ยวชมประเทศกัมพูชา ก็ได้แวะมาพักแรมที่วัดนครธรรม และได้มานมัสการปิดทองหลวงพ่อขาวหรือหลวงพ่อปูน ตลอดจนได้กราบสักการะพระบรมสารีริกธาตุเป็นจำนวนมาก ในระหว่างงานก็มีพุทธศาสนิกชนผู้เลื่อมใสศรัทธาเดินทางมาปิดทองหลวงพ่อขาวหรือหลวงพ่อปูนอยู่เสมอโดยไม่ขาด




ขอขอบคุณที่มาของเนื้อหาและรูปภาพ ::
เว็บไซต์วัดนครธรรม
http://www.watnakorntham.com/
http://www.m-culture.go.th/sakaeo/files ... _white.pdf                                                                                       
...............................................................................

ที่มา http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=24&t=45925

ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้