ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 1983
ตอบกลับ: 5
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

การเจริญพรหมวิหารธรรม

[คัดลอกลิงก์]

พรหมวิหาร ๔ นี้เป็นกรรมฐานเลี้ยงทั้งศีล เลี้ยงทั้งสมาธิ เลี้ยงทั้งปัญญา เพราะว่ามีพรหมวิหารสี่เสียอย่างเดียว อารมณ์จิตก็สบาย มีความเยือกเย็น เราจะเห็นว่าเมตตาความรัก กรุณาความสงสาร สองอย่างนี้ก็สามารถจะคุ้มศีลให้บริบูรณ์ทุกอย่าง เพราะศีลทุกข้อคำจะทรงอยู่ได้ก็ต้องอาศัยเมตตาและกรุณาทั้งสองอย่าง

เมตตาแปลว่าความรัก กรุณาแปลว่าความสงสาร ถ้าเรามีความรักเรามีความสงสารเสียแล้ว เราก็ทำลายชีวิตสัตว์ไม่ได้ ลักขโมยของเขาไม่ได้ ยื้อแย่งความรักเขาไม่ได้ พูดโกหกมดเท็จไม่ได้ ดื่มสุราเมรัยไม่ได้ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อดื่มสุราเมรัย ถ้าเรามีความรักความสงสารคนทางบ้าน เพื่อน บิดามารดา เราก็ไม่สามารถจะทำความชั่วโดยขาดสติสัมปชัญญะ

เป็นอันว่าในพรหมวิหาร ๔ โดยเฉพาะสองประการ คือ เมตตา กรุณาทั้งสองประการนี้ สร้างความเยือกเย็นให้เกิดกับจิตสามารถทำศีลให้บริสุทธิ์ เมื่อศีลบริสุทธิ์สมาธิก็ตั้งมั่น ความเร่าร้อนของจิตไม่มี จิตไม่มีความกระวนกระวายก็เป็นสมาธิ มีข้อหนึ่งสำหรับด้านสมาธิจะใช้เฉพาะเมตตากรุณาทั้งสองประการก็ไม่พอ ต้องมีมุทิตา อุเบกขา อารมณ์จิตจึงจะทรงสมาธิได้มั่นคง

มุทิตา ความมีจิตอ่อนโยน ตัดความอิจฉาริษยาออกจากจิต พลอยยินดีเมื่อบุคคลอื่นได้ดีแล้ว อารมณ์อิจฉาริษยาตัวนี้เป็นอารมณ์ที่มีความร้ายแรงมาก เมื่อเห็นใครเขาได้ดีก็ทนไม่ได้เกรงเขาจะเกินหน้าเกินตาตัวไป หากมีมุทิตาคือตัดอิจฉาริษยาออก มันพ้นไปจากจิต ความเร่าร้อนมันก็ไม่มี เห็นใครเขาได้ดีแทนที่เราจะคิดว่าเขาเกินหน้าเกินตาไป กลับพลอยยินดีกับความดีที่เขาจะพึงได้ เพราะอาศัยความสามารถและบุญวาสนาบารมีของเขาเป็นสำคัญ อารมณ์มุทิตาจิตนี้สร้างความดีให้เกิด ในเมื่อใครเขาทำความดีได้ เราพลอยยินดีกับเขาด้วยเป็นอันช่วยให้เราดีขึ้น แทนที่จะทำลายเราให้เสื่อมไป คนที่เขาได้ดีมีความชอบก็เกิดมีความรักในเรามีความเมตตาในเรา แทนที่เขาจะเหยียดหยามกลับจะคบเป็นมิตรที่ดี เราก็มีความสุข

สำหรับอุเบกขาในด้านสมถภาวนามีอารมณ์วางเฉย คือ เฉยแต่เฉพาะอารมณ์ที่เข้ามายุ่งกับจิตที่ไม่เนื่องกับอารมณ์ที่เราต้องการ อย่างเรากำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก จิตมันหยุดอยู่เฉพาะลมหายใจเข้าออกอย่างเดียว ไม่ไปยุ่งกับอารมณ์ภายนอกทั้งหมด คือไม่สนใจกับแสงสีใดๆ อย่างนี้เป็นต้น จะเห็นผลว่าอุเบกขาคือความวางเฉยในด้านสมถภาวนา มีอารมณ์ทำจิตให้ทรงตัว มีอารมณ์จิตเป็นฌาน

รวมความว่าพรหมวิหาร ๔ มีประโยชน์ทั้งในด้านศีลและด้านสมาธิทั้งสองประการ ขอให้ท่านนักปฏิบัติผู้มีความปรารถนาในการทรงฌานให้เป็นปกติ ถ้าเราสามารถทรงพรหมวิหาร ๔ จิตก็ประกอบด้วยพรหมวิหาร ๔ ตลอดเวลา คืออารมณ์เบาตลอดวัน ทั้งวันมีความรู้สึกรักในคนและสัตว์เสมอด้วยเรา ไม่คิดประทุษร้ายสัตว์ ไม่คิดจะทำลายสัตว์ เพราะมีความรักและมีความสงสาร จิตใจก็จะมีแต่ความเยือกเย็นเพราะอารมณ์ไม่เกิดเป็นศัตรูกับใคร อย่างนี้ใจสบาย ศีลไม่ขาด สมาธิก็ทรงตัว

ต่อมาข้อมุทิตาเราก็ไม่มีความอิจฉาริษยา เมื่อบุคคลอื่นได้ดีกลับมีจิตปรานีพลอยยินดีกับบุคคลที่เขามีความดี แสดงความยินดีร่วมกับเขา อันนี้ก็มีความสบายใจ

ถ้ามีอุเบกขาเข้ามาควบคุมใจเข้าไว้ไม่ยอมให้อารมณ์อื่นใดเข้ามายุ่งกับจิตไม่ทำอารมณ์ให้กระสับกระส่าย อุเบกขาแปลว่าความวางเฉย ในเมื่อจับกรรมฐานกองใดกองหนึ่งขึ้นพิจารณาหรือภาวนา ก็ให้จิตทรงอยู่ในอารมณ์นั้น แสดงว่าจิตของเราจิตของบุคคลใดที่ทรงพรหมวิหาร ๔ ได้ จิตของบุคคลนั้นก็จะเป็นผู้ทรงฌานตลอดเวลาจำไว้ให้ดีนะ

การที่เราทำอะไรไม่ได้ดีในด้านสมาธิจิตหรือวิปัสสนาญาณ เริ่มแต่การรักษาศีลให้บริสุทธิ์ไม่ได้ก็แสดงว่าเราขาดพรหมวิหาร ๔ ถ้าอารมณ์จิตของเราตั้งอยู่ในพรหมวิหาร ๔ ตลอดเวลา เรื่องฌานสมาบัติเป็นเรื่องเล็กจริงๆ เพราะฌานสมาบัติจะทรงขึ้นมาได้และศีลบริสุทธิ์ได้เพราะความเยือกเย็นของจิต ไม่มีความเร่าร้อนของจิต เมื่อจิตมีความเยือกเย็นไม่กระวนกระวายไม่กระสับกระส่าย ไม่มีความโหดร้าย ไม่คิดอิจฉาริษยา ทำร้ายใคร ใจก็เป็นสุข อารมณ์ก็เป็นกุศล เราจะทรงจิตในพระกรรมฐาน ๔๐ กอง แยกอย่างใดอย่างหนึ่งก็ทรงไว้ได้ดี นี่เป็นอารมณ์ของฌาน
2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-7-18 09:51 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
มาว่ากันถึงวิปัสสนาญาณพรหมวิหาร ๔ เลี้ยงวิปัสสนาญาณให้มีการทรงตัวด้วย การที่มีพรหมวิหาร ๔ ครบถ้วนบริบูรณ์จึงเป็นพระอริยะเจ้าได้ง่าย เราจะเห็นว่าการเป็นพระอริยะเจ้าอย่างพระโสดาบันจะต้องทรงศีลห้าบริสุทธิ์ แล้วเคารพในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ที่เรียกว่าสรณาคมน์ครบถ้วนบริบูรณ์ คนที่มีพรหมวิหาร ๔ มีอารมณ์เมตตากรุณาทั้ง ๒ ประการแสดงว่าศีลไม่ขาดสักตัว เป็นอันว่าข้อที่เรียกว่า สีลัพพตปรามาส ย่อมไม่ปรากฏขึ้นกับจิต ถ้าทำลายสีลัพพตปรามาสเสียได้ มีศีลบริสุทธิ์ เข้าเป็นจุดพระโสดาบันข้อที่หนึ่ง

สำหรับการเคารพในไตรสรณาคมน์ การที่เราทรงศีลบริสุทธิ์ก็แสดงว่าเรามีความเคารพในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เมื่อเราสมาทานว่า พุทธัง ธัมมัง สังฆัง สรณัง คัจฉามิ ข้าพเจ้าขอถึงซึ่งพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นที่พึ่ง เมื่อพระสงฆ์ให้ที่พึ่งคือ ศีลห้าประการและศีลแปดประการศีลอุโบสถก็ตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ศีลห้าประการให้ปฏิบัติเป็นปกติ ให้เป็นประจำทุกวัน ในเมื่อเรามีพรหมวิหาร ๔ ศีลไม่ขาดทรงได้ ก็เป็นอันว่าเราเป็นพระโสดาบันได้อย่างง่ายดาย มีพรหมวิหาร ๔ เป็นของดีแบบนี้

และประการที่ ๒ นอกจากความเป็นพระโสดาบัน เราจะเป็นพระอนาคามีเห็นว่าไม่ยากอีกเพราะเหตุว่าพรหมวิหาร ๔ เป็นเหตุทำลายความโกรธความพยาบาท ที่นี้มาเหลือแต่กามฉันทะ ในเมื่ออาศัยอารมณ์จิตทรงฌาน พิจารณาอสุภกรรมฐานประกอบอีกเพียงเล็กน้อยจิตก็จะเข้าถึงความเป็นพระอนาคามี

พูดถึงความเป็นพระอรหันต์ ถ้าจิตเที่ยงจริงถึงขนาดนี้แล้วก็เป็นของไม่ยาก เพราะพระอรหันต์ตัดเหตุที่เป็นอนุสัย คือ รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา นี้เป็นของไม่ยาก แต่เป็นของละเอียด ความจริงก้าวเข้าสู่การเป็นพระอนาคามีนั้นก็มีความสุข เพราะว่าการจากชาตินี้ไปแล้วจะไปเกิดเป็นเทวดาหรือพรหมก็ตาม เราก็ไม่กลับลงมาเกิดเป็นมนุษย์อีก เราก้าวเข้าไปสู่พระนิพพานเลยโดยไม่ถอยหลังลงมา

ฉะนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงแนะนำให้บรรดาพุทธบริษัทผู้ปรารถนาจะเข้าถึงฌานสมาบัติและทรงมรรคผล ให้บรรดาพุทธศาสนิกชนทุกคนแผ่เมตตาจิตไปในทิศทั้งปวงเสียก่อน ในอันดับแรกก่อนที่เราจะทรงจิตเป็นสมาธิ ก็ตั้งใจแผ่เมตตาจิตและกรุณาความสงสารไปในทิศที่ครอบจักรวาลทั้งหมด โดยกำหนดจิตไว้เสมอว่าเราจะไม่เป็นศัตรูกับใคร เราจะเป็นมิตรกับคนและสัตว์ทั้งหมด เราจะสงเคราะห์คนและสัตว์ที่ได้รับความทุกข์ยากให้มีความสุขตามฐานะของกำลังที่เราพอจะช่วยได้ เราเปล่งวาจาและคิดออกไปแบบนี้ด้วยความจริงใจเป็นปกติทุกวัน ต่อไปก็จะเกิดอาการชิน อารมณ์จิตของเราจะไม่มีความโกรธไม่มีความพยาบาท ไม่มีความเคียดแค้นมุ่งประทุษร้ายใคร ขึ้นชื่อว่าศีล ๕ ประการที่จะละเมิดมันจะขาดไปได้ก็เพราะอาศัยความชั่ว ความเลวทรามของจิต ความโหดร้ายของจิต เมื่อจิตมีความโหดร้าย เราก็ฆ่าสัตว์ได้ ฆ่าคนได้ ลักขโมยเขาได้ ยื้อแย่งความรักเขาได้ พูดโกหกมดเท็จได้ ทั้งนี้จิตประกอบไปด้วยความรักความสงสารมันก็ทำอะไรไม่ได้ทุกอย่างที่ชื่อว่าความชั่ว อารมณ์แบบนี้ถ้าเรานึกอยู่ตลอดวันว่าเราจะเป็นมิตรกับคนและสัตว์ทั้งหมด เราจะมีความรักและเกื้อกูลให้ทุกคนมีความสุข

ใหม่ๆมันก็ลืมบ้างเหมือนกัน อาจจะมีอาการเผลอ เมื่อทำนานๆ จะเกิดอาการเคยชินมันก็เป็นปกติของจิต เรียกว่าไม่ต้องระมัดระวังเรื่องความโกรธจริงๆ ความคิดประทุษร้ายพยาบาทจองล้างจองผลาญบุคคลอื่นก็ไม่มี ถ้าเราจะสงสัยว่ามันจะชินได้อย่างไร ก็ดูตัวอย่างบทสวดมนต์ที่พวกเราท่องกัน ท่องกันเกือบล้มเกือบตายกว่าจะได้แต่ละบท และต่อมาก็ได้ตั้งหลายๆ บททั้ง ๗ ตำนาน ๑๒ ตำนาน เราก็ได้กัน ปาฏิโมกข์เราก็สามารถจะสวดได้ภายหลังที่สวดได้คล่องแคล่วโดยมากเราสวดอย่างชนิดไม่ต้องนึก ใครเขาขึ้นต้นบทมาเราก็ว่าไปได้โดยไม่ต้องคิด เพราะว่าอาการชินของจิตที่มีความจดจำเป็นปกติ พอขึ้นนะโมก็ว่าไปได้เรื่อยๆ ทุกบท ใครเขาขึ้นบทไหนก็ว่าบทนั้นได้โดยไม่ต้องนึกถึงตัวหนังสือ ข้อนี้เป็นข้อเปรียบเทียบให้เห็นว่า แม้แต่การใช้พรหมวิหาร ๔ เป็นปกติ ใหม่ๆ เราก็มีการอดลืมไม่ได้อาการเคยชินจิตที่เป็นพรหมวิหาร ๔ ก็เกิดเป็นสภาวะปกติ มีความรักเป็นปกติ มีความสงสารเป็นปกติ  มีจิตใจอ่อนโยนไม่อิจฉาริษยาใคร พลอยยินดีกับบุคคลอื่นที่ได้ดีเป็นปกติ

สำหรับอุเบกขาความวางเฉยในด้านวิปัสสนาญาณไม่ช้ามันก็ปกติคือ วางเฉยในสังขารที่เรียกว่า สังขารุเบกขาญาณ ร่างกายมันจะแก่มันจะเสื่อม มันจะป่วยไข้ไม่สบาย จะมีอาการพลัดพรากจากของรักของชอบใจหรือความตายจะเข้ามาถึงตัว อารมณ์มันก็เฉย อุเบกขานี่เฉย เฉยตอนไหน เฉยตอนคิดว่ามันเป็นเรื่องธรรมดาของคนที่เกิดมาและสัตว์ที่เกิดมา มันมีสภาพความไม่เที่ยงเป็นปกติ เมื่อไม่เที่ยงแล้วมีความเปลี่ยนแปลงไปเราก็กลับไม่ทุกข์ เพราะถือว่าปกติของมันเป็นอย่างนั้น เมื่อความตายจะเข้ามาถึงจริงๆ ก็ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา

เมื่อจิตยอมรับนับถือว่ามันเป็นธรรมดา ความหวั่นไหวก็ไม่เกิดขึ้น จิตมีความวางเฉยมีอารมณ์สบาย ทางด้านวิปัสสนาญาณถ้าวางเฉยต่ออารมณ์ทั้งหลายได้มี โลภะความโลภ ราคะความรัก โทสะความโกรธ โมหะความหลง สิ่งทั้งหลายเหล่านี้มันยั่วยวนจิตให้เกิดอารมณ์เยือกเย็นและความเร่าร้อน แปลว่าจิตของเรา ถ้าวางเฉยจากอารมณ์ทั้งหลายเหล่านี้ได้ถือว่ามันไม่เป็นสาระไม่เป็นแก่นสาร ไม่มีความสำคัญก็ชื่อว่าเราใช้พรหมวิหาร ๔ โดยเฉพาะอุเบกขาได้ครบถ้วน อยู่ในขั้นที่เรียกว่าสังขารุเบกขาญาณ คือวางเฉยในขันธ์ห้า

โดยยึดถือว่า ขันธ์ห้า มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในขันธ์ห้า ขันธ์ห้าไม่มีในเราเพีนงแค่นี้ก็จะเห็นว่าความเยือกเย็นของจิตเมื่อเกิดขึ้นเต็มที่ โดยเฉพาะวิปัสสนาญาณที่เราเจริญมาก็ไม่เสื่อมคลาย ในเมื่อการทรงวิปัสสนาญาณ คือสังขารุเบกขาญาณได้ เพราะอาศัยอุเบกขาจิตเป็นสำคัญ นี่ความเป็นพระอริยะเจ้าก็เข้ามาใกล้ เรียกว่าถึงความเป็นพระอริยะเจ้าได้ทันทีทันใด เพราะอะไรล่ะ เพราะเราปลดร่างกายเสียได้แล้ว ปลดสักกายทิฏฐิ คือความเห็นว่าสภาพร่างกายเป็นเราเป็นของเรา ยึดถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา จิตสบายเป็นสังขารุเบกขาญาณ ในเมื่อวางขันธ์ห้าเสียได้แล้วอย่างนี้ก็ชื่อว่าการปฏิบัติจิตของเราเข้าขั้นถึงความเป็นอรหัตผล เป็นพระอริยบุคคลสูงสุดในพระพุทธศาสนา
3#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-7-18 09:52 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ผู้ใดมีพรหมวิหาร ๔ ผู้นั้นมีเสน่ห์และมีใจสงบเย็น

พรหมวิหาร ๔


๑. เมตตา รู้สึกสงสารผู้อื่น เอ็นดูผู้อื่นอยู่เสมอ แม้ใครจะด่าจะว่า หรือใครจะมาทำร้าย ก็ยังนึกเอ็นดูสงสารในคนเหล่านั้น หากมีศัตรู ก็คิดกับศัตรูดั่งมนุษย์ที่น่าสงสารคนนึงที่ยังเวียนว่ายตายเกิดหาที่สุดไม่ได้ มองศัตรูด้วยสายตาที่เอ็นดูดั่งสายตาของมารดาแลดูบุตร สิ่งนี้จะทำให้ท่านมีแววตาเป็นประกายดั่งแก้วใส และมีพลังทำให้คนที่คิดร้ายหรือศัตรูต่างๆ เปลี่ยนใจมาคิดดีต่อเรา ไปที่ไหนคนก็รักใคร่ อยากใกล้ชิด แม้ว่าจะเพิ่งรู้จักกันก็ตาม เพราะกระแสพลังของความเมตตา มีพลังมากที่สุดในโลกใบนี้ เมตตาธรรม ค้ำจุนโลก

๒. กรุณา ยื่นมือช่วยเหลือผู้ประสบทุกข์ ช่วยเหลือแม้กระทั่งศัตรู ช่วยแม้กระทั่งไม่ทำให้ศัตรูโกรธเรา ช่วยไม่ให้เค้าเผลอก่อกรรมกับเรา เค้าด่ามาก็ไม่ด่าตอบ เพื่อช่วยให้เค้าไม่มีเวรกับเรา เห็นขอทาน หรือคนที่เดือดร้อนก็ช่วยเหลือแบบไม่ต้องตระหนี่ พระพุทธองค์สอนให้ทำทาน เพื่อลดความตระหนี่ในตัว และเผื่อแผ่ช่วยเหลือกันและกัน เป็นการทำบุญซึ่งถือว่าเป็นอริยทรัพย์ตามติดไปภพหน้าได้ทุกภพ ท่านจะดูมีสง่าราศี แม้แต่หมายังไม่กล้ากัด มีแต่เดินตามกระดิกหาง หรือคนเจอหน้าก็รักใคร่ ไปที่ไหนคนก็อยากเสวนาด้วย

๓. มุทิตา ยินดีในสิ่งที่ผู้อื่นมี ยินดีในสิ่งที่ผู้อื่นเป็น ใครจะได้ดีกว่าเราก็ยินดีกับเค้า เค้าทำความดีเราก็อนุโมทนา ไม่อิจฉาริษยา ไม่ไปนินทาให้ร้ายเค้า ไม่หมันไส้หรือน้อยเนื้อต่ำใจใดๆ ส่วนใครด่าว่าเราก็ยินดีในเสียงที่ด่าเข้ามา เสียงนินทาเราก็ยินดีที่เค้าได้นินทาเราไป เพราะแสดงว่าเราได้เคยทำกรรมกับเขามาก่อน เราจึงต้องมาโดนด่าในวันนี้ ส่วนที่เราต้องยินดี นั่นก็เพราะว่าเราได้มีโอกาสได้ชดใช้กรรมแล้ว เป็นเรื่องน่ายินดีอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสชดใช้กรรมให้หมดไปโดยไม่เกิดการจองเวรกัน และได้บุญเพิ่มขึ้นอีกอย่างนึง คือ อภัยทาน

นี่เป็นการทำให้เรายินดีน้อมรับแม้แต่คำด่าคำติฉินนินทา ยินดีที่ผู้อื่นดีกว่าเรา ยินดีที่เราไม่มีวันจะเก่งเหมือนใคร พอใจที่เกิดมาแบบนี้ แล้วท่านจะมีเสน่ห์มาก จะมีความมั่นใจในตัวเอง และสีหน้าสว่างไสว ความหมองจะไม่มี

๔. อุเบกขา ระลึกเสมอว่า ไม่มีอะไรเป็นตัวเป็นตนอย่างแท้จริง เขาก็มีสิทธิ์ที่จะเลวหรือดี เขาก็ยังเวียนว่ายตายเกิดเหมือนเรา เขาทำอะไรมา ท่านก็วางเฉย อย่าไปเอามาเก็บจนปั่นป่วนใจ มีใจเป็นกลาง ใครมาพูดอะไรกระทบใจ ก็ทำใจเฉยๆ ไว้ เหมือนสายลมโชยที่พัดคลอใบหู ไม่มีแก่นสารใดๆ ให้มาทำร้ายใจเราได้ ใครทำอะไรมาก็วางเฉย เพราะเชื่อในกรรมว่า กรรมจะจัดสรรผลกรรมได้ยุติธรรมที่สุด ความทุกข์ที่แท้จริงคือทุกข์ที่ต้องเวียนว่ายตายเกิดไม่รู้จักจบสิ้น ดังนั้นแค่ใครด่าว่าเรามันเป็นเรื่องจิ๊บๆ ขำๆ ให้วางเฉยซะ ความทุกข์เล็กๆ น้อยๆ จะทำอะไรเราไม่ได้เลย มองความทุกข์พวกนั้น ให้เล็กน้อยเหมือนสายลมโชยผ่านสลายไป เรื่องที่ต้องทำคือเรื่องตัวเอง ว่าทำยังไง ไม่ต้องกลับมาเวียนว่ายตายเกิดอีก ไม่ต้องไปยุ่งเรื่องคนอื่นไม่ต้องไปแก้นิสัยใคร ไม่ต้องไปเก็บคำพูดหรือการกระทำคนอื่นมาจ้องจับผิดหรือตีโพยตีพาย หรือเอามาใส่ใจจนเจ็บข้ามวันข้ามคืน แล้วท่านจะมีเสน่ห์มาก ใครเห็นใครรัก เวลาดวงตกก็จะไม่หนักเหมือนคนอื่น นี่คือพลังของอุเบกขา


แบบคำกลอน (รวมพรหมวิหาร ๔)

๑. จิตเมตตา หวังสุข ทุกถ้วนหน้า
เพื่อนเกิดมา ร่วมสุข ร่วมทุกข์เข็ญ
ผูกไมตรี ทวีรัก เป็นหลักเกณฑ์
ไม่จองเวร เข่นฆ่า รบรากัน ฯ

๒. กรุณา เผื่อแผ่ เหลียวแลเอื้อ
หวังช่วยเหลือ เพื่อนยาก ลำบากขันธ์
เห็นเพื่อนทุกข์ ทุกข์ด้วย เข้าช่วยพลัน
ให้เพื่อนนั้น พ้นทุกข์ ได้สุขใจ ฯ

๓. มุฑิตา หน้าแย้ม จิตแช่มชื่น
เห็นคนอื่น ดีจริง ยศยิ่งใหญ่
พลอยปรีดา สาธุโห่ ไชโยชัย
อวยพรให้ เจริญสุข ทุกครากาลฯ

๔. อุเบกขา เพ่งจ้อง คอยมองเป้า
รวมจิตเข้า ตั้งเที่ยง ไม่เอียงฐาน
ปรารภกรรม ชั่วดี เป็นตัวการ
ไม่ลนลาน เสริมดี ป้ายสีใครฯ

4#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-7-18 09:52 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
แบบพุทธศาสนสุภาษิต

๑. โลโกปตฺถมฺภิกา เมตตา
"เมตตาเป็นเครื่องค้ำจุนโลก"

๒. มหาปุริสภาวสฺส ลกฺขณํ กรุณาสโห
"อัชฌาสัยที่ทนไม่ได้เพราะกรุณา เป็นลักษณะของมหาบุรุษ"

๓. อรติ โลกนาสิกา
"ความริษยา เป็นเหตุทำโลกให้ฉิบหาย"

๔. อุปสนฺโต สุขํ เสติ
"ผู้สงบระงับ ย่อมอยู่เป็นสุข"

การที่มีสิ่งใดเข้าในชีวิต แล้วท่านน้อมเข้าหาหลักธรรมพรหมวิหาร ๔ นี้ไว้ได้
ถือว่าท่านได้ทรงอารมณ์กรรมฐานที่เย็นเป็นอย่างมาก
สิ่งใดกระทบมาหนัก ก็จะไม่ร้อนใจ คลี่คลายปัญหาได้ดี
ช่วยให้ไม่หวั่นไหวในเสียงติฉินนินทา ว่าร้าย ได้ดีมาก

ขอให้ทุกรูปทุกนามมีความสุข เลือกทำแต่ความดี
ก่อนทำความชั่วให้ชั่งใจว่าทำไปแล้วจะเกิดกรรมเวรกับตัวเองมั้ย
เฝ้าระวังว่าสิ่งใดเป็นกุศลจิต สิ่งใดเป็นอกุศลจิต


5#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-7-18 09:53 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้


ศีลและพรหมวิหาร ๔
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

พรหมวิหารเปรียบเทียบให้เข้าใจอย่างง่าย

---

มีอุปมาเหมือนอย่างมารดา มีบุตร ๔ คน

คนหนึ่ง ที่ยังเป็นเด็กเล็ก มารดาก็มุ่งความเจริญ คือให้เติบโตยิ่งขึ้น เทียบกับเมตตา
คนหนึ่ง เป็นไข้ มารดาก็พยาบาลให้หายไข้ เทียบกับกรุณา
คนหนึ่ง กำลังเจริญวัย มารดาก็ชื่นชมยินดี เทียบกับมุทิตา
อีกคนหนึ่ง ทำงานตั้งตนได้แล้ว มารดาก็ไม่ต้องขนขวายช่วยอะไรอีก เทียบกับอุเบกขา

---

กระทู้บอร์ดเก่าโพสโดยคุณ I am
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=5684

                                                                                       
..............................................................

ที่มา http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=7&t=43423

6#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-7-18 09:55 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้


พรหมวิหาร ๔ เป็นคุณธรรมของผู้ใหญ่

คำว่า ผู้ใหญ่ ไม่ใช่คนแก่ ไปถืออายุเป็นสำคัญนี้ไม่ได้
ผู้ใหญ่นี้ไม่ได้อยู่ในเกณฑ์ของอายุ

ผู้ใหญ่นี้อยู่ในเกณฑ์ของคุณธรรม คือ ทรงพรหมวิหาร ๔
แล้วก็ละ อคติ ๔ นี้เรียกว่า ผู้ใหญ่

พรหมวิหาร ๔
เมตตา มีความรัก รักเสมอกัน
กรุณา มีความสงสาร สงสารเสมอกัน
มุทิตา ไม่อิจฉาริษยา
เมื่อคนทุกคนหรือใครคนใดคนหนึ่งได้ดี เรายินดีกับความดีของบุคคลนั้น
อุเบกขา ถ้าสิ่งใดเกินวิสัยเกิดขึ้น
ถ้าปรากฏก็เป็นอันว่าเราวางเฉยเพราะมันเป็นสิ่งเกินวิสัย นี่ไม่ยาก

นี่ผู้ใหญ่ก็ต้องทรงคุณธรรม ๔ ประการ
แล้วก็ต้องเว้นความเลว ๔ ประการ คือ อคติ แปลว่า ลำเอียง

ลำเอียงเพราะความรัก
ลำเอียงเพราะความโกรธ
ลำเอียงเพราะความกลัว
ลำเอียงเพราะความหลง

ไอ้นี่ทำไม่ดี เวลาขอบำเหน็จไม่ให้
ไอ้เจ้านี่ดีแต่รับราชการอยู่ที่สำนักงาน มาที่บ้านนี่อะไรใช้ไม่ได้เลย
ปีนี้ไม่ขอบำเหน็จให้ อย่างนี้เขาเรียกว่าลำเอียงเพราะความรัก
ลำเอียงไม่ขอให้เพราะความรัก

เจ้าคนนี้นี่เป็นลูกเจ้านาย ลูกใต้บังคับบัญชา มันจะทำงานดีหรือไม่ดีก็ช่างมันเถอะ
เดี๋ยวผู้บังคับบัญชาจะว่า จะเกลียดเรา ปีนี้ต้องขอให้ ๒ ขั้น อันนี้ลำเอียงเพราะความกลัว
บางคนอาจจะสงสัยว่า เอ๊ะ ! ลำเอียงเพราะความกลัวยังไง
เพราะเราเป็นผู้บังคับบัญชา จะไปกลัวลูกน้องได้ยังไง
นี่ไอ้กลัวน่ะเขากลัวตรงนี้ กลัวพ่อกลัวแม่เขาจะไม่พิจารณาความดีของเรา
ก็เลยขอให้ ๒ ขั้น ทั้งๆ ที่คนนั้นไม่ได้สร้างความดี

นี้เป็นอันว่า ลำเอียงด้วยกรณีใดๆ ก็ตาม ใช้ไม่ได้ คนนั้นเป็นผู้ใหญ่ไม่ได้
แต่ว่าการลงโทษหรือว่าการขอบำเหน็จจะให้ไม่เท่ากันได้
พิจารณาความประพฤติเป็นสำคัญหรือยึดระเบียบเป็นสำคัญ

ตามสุภาษิตเขามีว่า ความชั่วไม่มีความดีไม่ปรากฏ ๑ ขั้น
เขาว่าอย่างนั้นนะ บางทีคนขี้เกียจมันก็ไม่ได้ขั้นเหมือนกัน
ถ้าขยันได้ขั้น แต่ว่าระเบียบเขามีอย่างนั้น

ทีนี้ในเมื่อความชั่วไม่มี ความดีไม่ปรากฏ แต่ว่าทำไม่ถูกใจผู้บังคับบัญชาไม่ให้ขั้น
อย่างนี้เป็นลำเอียง ทีนี้ในเมื่อระเบียบเขาบอกว่า ความชั่วไม่มี ความดีไม่ปรากฏได้ ๑ ขั้น
เราก็ขอไปตามระเบียบผู้บังคับบัญชาชั้นสูง เขาจะให้หรือไม่ให้ นี่มันเรื่องของเขา

ทีนี้บางคนมีความชั่วมี ความดีก็ปรากฏ แต่ความจริงเวลาทำดีๆ นิดเดียว
แต่ว่าบังเอิญไปหนีเวรหนียามเข้า เขาก็ต้องสั่งขัง ทหารน่ะถ้าสั่งขังไม่ให้เงินเดือนขึ้นนะ
ถ้าเห็นว่า เอ๊ะ ! เจ้านี่มันดีย่องไปขอเงินเดือนขึ้นใช้ไม่ได้ ขาดคุณธรรมของความเป็นผู้ใหญ่
เพราะต้องปฏิบัติไปตามระเบียบ ขึ้นชื่อว่าระเบียบต้องเป็นระเบียบ
ขึ้นชื่อว่าเราเป็นผู้ใหญ่ที่ทรงพรหมวิหาร ๔ จะมาหาว่าเราใจไม้ไส้ระกำอันนี้ใช้ไม่ได้

ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะว่าถ้าเราไม่ปฏิบัติตามระเบียบวินัย
สำนักงานของเรามันก็เลวหมด แล้วยิ่งทหารด้วยแล้วก็ไปกันใหญ่
มีกำลังมากเท่าไรก็ตาม ถ้าไม่มีระเบียบวินัยก็เจ๊ง

   

: ธัมมวิโมกข์ ฉบับที่ ๓๐
: พระราชพรหมยานเถระ วัดท่าซุง อุทัยธานี


กระทู้บอร์ดเก่าโพสโดยคุณ I am
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=5282

                                                                                       
................................................................

ที่มา http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=7&t=43423

ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้