ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 1771
ตอบกลับ: 2
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

ใคร่ครวญก่อนแล้วค่อยทำ (หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน)

[คัดลอกลิงก์]


หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน
วัดป่าบ้านตาด จังหวัดอุดรธานี

เทศน์อบรมคณะนักศึกษา
ณ วิทยาลัยครูอุดรธานี อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี
เมื่อวันที่ ๑๒ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๑๒


วันนี้เป็นวันอุดมมงคลที่ต่างท่านที่เป็นนักศึกษา ได้มีโอกาสมาพบปะและฟังธรรมะคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งอาตมาจะได้อธิบายให้ฟังตามสมควรแก่เวลา หากมีความพลั้งพลาดด้วยประโยคแห่งธรรมะหรือคำพูดใดๆ ก็ดี หวังว่าคงได้รับอภัยจากท่านผู้ฟังโดยทั่วกัน เพราะอาจารย์ก็เป็นพระป่า โดยมากก็อยู่แต่ในป่า ไม่ค่อยมีโอกาสได้เข้าสังคมที่ท่านนิยมมาแล้วเพียงไร ฉะนั้นการพูดทุกๆ ประโยคอาจจะมีความคลาดเคลื่อนไปได้ จึงขออภัยจากบรรดาท่านนักศึกษาทั้งหลายด้วย

เราผู้อยู่ในโลกก็เหมือนกับเราอยู่ในธรรม เพราะความสุขความเจริญเป็นสิ่งที่เราทุกๆคนต้องการ แต่ไม่ทราบจะปฏิบัติตนอย่างไรบ้าง จึงจะให้ถูกกับความต้องการของตน ข้อนี้ต้องได้รับการศึกษา ส่วนสำคัญก็คือธรรม ถ้าหากว่าเป็นขนมก็ต้องมีน้ำสำหรับเชื่อมให้มีรสมีชาติ นี่ธรรมะก็เหมือนกัน แม้จะมีความรู้มากมายในทางโลกที่เราเรียนมา แต่ถ้าขาดธรรมะแล้วก็เหมือนกับว่าขนมบางประเภทที่ขาดน้ำเชื่อม ย่อมไม่มีรสอร่อยพอที่จะรับประทาน ธรรมะย่อมมีลักษณะเช่นนั้นเหมือนกัน ยิ่งสมัยทุกวันนี้มีคนจำนวนมากและมาจากสถานที่ต่างๆ รวมกัน เรื่องขนบธรรมเนียมความประพฤติทุกด้านก็ย่อมเป็นเหตุให้คละเคล้ากันไป หากผู้ที่ไม่ได้คิดอ่านไตร่ตรองและผู้ไม่มีธรรมเป็นเครื่องยับยั้งน้ำใจด้วยแล้ว จะเป็นเหตุให้เสียได้อย่างรวดเร็ว

อุปมาแล้วก็เหมือนกันกับรถที่มีแต่คันเร่งอย่างเดียว ไม่มีเบรกซึ่งควรจะใช้ในกาลที่จำเป็น ตามธรรมดาของรถที่ตกเข้ามาในเมืองไทยของเราก็ดี จะตกมาในเมืองไหนก็ดี หรือจะมาจากเมืองใดก็ดี เขาย่อมทำให้ครบมูลทุกส่วนของรถ ควรแก่การขับขี่ได้อย่างสะดวกสบาย สำคัญอยู่ที่ผู้ขับรถจะเป็นบุคคลเช่นใดเท่านั้น นี้เราก็เป็นคนหนึ่งซึ่งเทียบกับคนขับรถ ที่จะดัดแปลงตนเองเป็นเช่นเดียวกับบุคคลที่ขับรถให้เป็นไปเพื่อความราบรื่น ตามธรรมดาของรถทุกๆคัน ย่อมมีทั้งคันเร่งและเบรกพร้อมกันเสร็จ ผู้ที่จะขับขี่ไปในทางใดต้องการความรวดเร็วหรือช้า หรือจะหยุดพัก เลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวา เครื่องที่จะบังคับมีอยู่ภายในรถนั้นเสร็จ นอกจากเจ้าของจะปฏิบัติไม่ถูกต้องตามหลักของผู้ขับรถเท่านั้น นี่เป็นหลักสำคัญ

เราที่เป็นคนขับรถต้องเป็นผู้ระมัดระวัง ไม่เพียงแต่ว่าเป็นถนนหนทางแล้วก็เหยียบคันเร่งเรื่อยไปเท่านั้น บางทีรถอาจสวนมา บางทีคนหรือสัตว์เดินตัดหน้าก็มี แล้วบางทีเป็นที่ๆมีคน สี่แยกซึ่งควรจะรอควรจะหยุดรถอะไรทำนองนี้ เราต้องได้ระวัง ตาก็ต้องดี จิตใจก็ต้องได้คิดอยู่เสมอ มีความระเวียงระวัง ไม่เช่นนั้นก็เป็นอันตราย เรื่องเบรกกับคันเร่งและพวงมาลัยเราจะเผลอไปไม่ได้ ในกาลเช่นไรซึ่งควรจะใช้สิ่งทั้ง ๓ ประการนี้อย่างใดอย่างหนึ่ง เราต้องได้นำมาใช้ทันที เมื่อเป็นเช่นนั้นรถที่เราขับขี่ไปก็เป็นไปเพื่อความสะดวกและปลอดภัย

ข้อนี้เป็นเครื่องเทียบอุปมาให้เราท่านทั้งหลายได้ทราบว่า การครองตัวที่จะให้เป็นไปเพื่อความราบรื่นในโลกที่มีคนจำนวนมาก และมีขนบธรรมเนียมต่างๆ กัน เราต้องมีทั้งพวงมาลัย คือการมองซ้ายมองขวา เรียกว่าการไตร่ตรองด้วยความคิดอ่านที่เห็นว่าเป็นประโยชน์ การยับยั้งตัวไม่ให้ผลุนผลันไปตามสิ่งที่มายั่วยวน อันจะทำตัวให้มีความเสียหาย และคันเร่งได้แก่รีบประพฤติปฏิบัติตนให้เป็นไปในทางที่ดี มีความขยันหมั่นเพียรต่อหน้าที่การงาน สิ่งใดที่จะเป็นหายนะทั้งแก่ตนและส่วนรวมตลอดครอบครัวและวงศ์สกุล สิ่งนั้นให้เราทราบว่าเป็นเหมือนยาพิษเครื่องสังหารตนทั้งผู้อื่นด้วย นี่เรียกว่าหลักวิชาที่เราเรียนมา เมื่อเราเรียนมาแล้วเราต้องปฏิบัติตัวให้ดีเช่นนี้
2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-7-13 20:19 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้



...เฉพาะอย่างยิ่งที่อยู่ในวัยกำลังคึกคะนองนี้ รู้สึกจะเหยียบตั้งแต่คันเร่งกันเสียมากที่เราเห็นทั่วๆ ไป แม้แต่ผู้แสดงคืออาจารย์นี้ก็เคยเป็นมาเช่นนั้นเหมือนกัน ไม่ค่อยจะมีเวลายับยั้งชั่งตัวในวัยเช่นนั้น ต่อเมื่อวัยได้ผ่านไปและเหตุการณ์ได้ผ่านมาผ่านไป สิ่งเหล่านั้นที่เราได้เคยผ่านมาจะมีความเสียหายมากน้อยเราถึงได้พิจารณาทีหลังว่าสิ่งนั้นเราไม่ควรทำ แต่เราก็ได้ทำไปเสียแล้วด้วยความไม่ยับยั้ง หรือด้วยการขาดปัญญา ฉะนั้นความพลั้งพลาดทั้งหลายที่เคยเป็นมาจึงได้นำมาแสดงแก่บรรดาท่านนักศึกษาทั้งหลายให้ทราบไว้ว่า การไตร่ตรองเสียก่อนแล้วค่อยไปค่อยมา ค่อยทำ ค่อยพูดนี้เป็นสิ่งสำคัญ เป็นความจำเป็นอย่างยิ่ง

เพราะความอยากของเรานั้นเป็นสิ่งที่ไม่มีเวลาบกพร่อง ถ้าเป็นน้ำแม้ว่าน้ำในมหาสมุทรก็ยังมีเวลาลดหย่อนผ่อนตัวลงตามกาลของมัน แต่ความอยาก ความทะเยอทะยาน ความไม่รู้จักยับยั้งชั่งตัวซึ่งมีอยู่ในหัวใจของเราแต่ละท่านๆ นี้ รู้สึกจะไม่มีวันลดหย่อนผ่อนผัน หากได้รับการส่งเสริมด้วยแล้ว ก็ยิ่งจะทวีคูณขึ้นเป็นลำดับ การส่งเสริมนั้นคืออย่างไร คือการปล่อยหรือคล้อยตามใจทุกอย่างโดยไม่มีเหตุผลไม่มีการยับยั้งตัวบ้าง นี้เรียกว่าปล่อยตามใจ วันนี้เราปล่อยขนาดนี้ วันหน้าหรือกาลต่อไป ใจซึ่งได้รับการส่งเสริมในการปล่อยตัวเช่นนี้ จะมีกำลังมากขึ้นและชอบประพฤติตามใจตัว โดยไม่คำนึงถึงความผิดชอบชั่วดีจนทวีคูณขึ้นเป็นลำดับๆ จากนี้แล้วก็ไม่สามารถที่จะกั้นกางหวงห้ามไว้ได้ ถ้าเป็นน้ำก็เทียบเหมือนกับน้ำมหาสมุทร ไม่มีใครจะสามารถไปทำทำนบกั้นไว้ได้เลย

ใจที่มีความฟุ้งเฟ้อเห่อเหิมลืมตัวเพราะการปล่อยตามใจวันละเล็กละน้อย ย่อมเป็นไปเพื่อความเสียหายจนถึงขั้นล่อแหลมต่ออันตรายหรือขั้นหมดหวังในคุณค่าของตัวก็ได้ ฉะนั้น เราทุกๆ คนจึงควรสำนึกในตัวประธานได้แก่ตัวของเรา นี่เป็นหลักใหญ่ของความเจริญและความเสื่อม เป็นหลักใหญ่ของหน้าที่การงานและผลของงาน ถ้าเราตั้งหลักนี้ไว้ด้วยดีแล้ว งานก็จะเป็นไปเพื่อความเรียบร้อย และผลของงานก็จะมีความเจริญและชุ่มเย็น เราได้สิ่งใดมาด้วยการชอบธรรมหรือด้วยความชอบธรรม ด้วยการปฏิบัติตัวของเราดี สิ่งนั้นจะเป็นความชุ่มเย็น สมบัติมีมากน้อยก็เย็นใจ ถ้าหากว่าเราได้ปฏิบัติตัวให้ผิดไปเสียเพียงเท่านี้ แม้ผลของงานอื่นๆ ที่จะปรากฏขึ้นมากน้อย ก็ไม่สามารถที่จะทำใจของเราให้ชุ่มเย็นได้เลย เพราะความเดือดร้อนมีอยู่ที่การกระทำผิด ซึ่งเกิดจากตัวเองเพราะขาดการไตร่ตรอง

ฉะนั้น หลักธรรมของพระพุทธเจ้าท่านจึงสอนไว้ว่า นิสมฺม กรณํ เสยฺโย (นิสัมมะ กะระณัง เสยโย) ทุกสิ่งทุกอย่างขอให้ใคร่ครวญเสียก่อนแล้วค่อยทำลงไป แม้จะมีความผิดพลาดก็มีจำนวนน้อย ไม่ค่อยจะผิดไปเสียเลยทีเดียว


ที่มา ; http://www.luangta.com/thamma/thamma_ta ... 78&CatID=2                                                                                       
..................................................................

ที่มา http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=7&t=44064

สาธุ ขอบคุณคร้าบ
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้