|
(พระพุทธองค์ทรงเน้นการปฏิบัติทางจิต)
เรื่องของจิตใจนี้เป็นเรื่องที่แต่ก่อนแต่ไรเป็นสิ่งลี้ลับ
แต่ในปัจจุบัน คือ ในพระพุทธศาสนานี้ ไม่ใช่เป็นสิ่งลี้ลับ เปิดเผย
หรือเรียกว่า ทำได้ตั้งแต่เด็ก จนกระทั่งถึงผู้ใหญ่
สามารถที่จะกระทำได้ เพราะเป็นสิ่งที่ง่าย และเป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าได้เปิดเผยออกมาแล้ว
พระพุทธองค์ได้ตรัสว่า (ภาษาบาลี)...
พระพุทธเจ้าจะอุบัติบังเกิดขึ้นก็ตาม หรือยังไม่ได้อุบัติบังเกิดขึ้นก็ตาม
ธรรมทั้งหลายเหล่านี้มีอยู่แล้ว แต่ว่ายังไม่มีใครเปิดเผยขึ้นมาเท่านั้น
เพราะฉะนั้น ในคำนี้ พระพุทธองค์จึงได้ทรงตรัสต่อไปว่า (ภาษาบาลี)...
พระองค์ได้เปิดแล้ว พระองค์ได้จำแนกแล้ว พระองค์กระทำให้ตื้นแล้ว
คือหมายความว่า พระพุทธเจ้าเปิดโลก
คือ เปิดแสงสว่างให้ปรากฏขึ้น
เพราะฉะนั้น ในคำสอนของพระพุทธเจ้า จึงเน้นหนักลงไปในการปฏิบัติในทางใจ
พระธรรมคำสอนของพระองค์ มีถึง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์
พระองค์นั้นได้ทรงเน้นหนักในเรื่องการปฏิบัติใจนั้น
ถึงครึ่งหนึ่ง คือ ๔๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ อันที่เรียกว่าพระปรมัตถ์
มีพระวินัยปิฎก ๒๒,๐๐๐ พระสุตตันตปิฎก ๒๒,๐๐๐ พระธรรมขันธ์
แต่ส่วนพระปรมัตถปิฎกนั้น มีถึง ๔๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์
นั่นคือ พระพุทธองค์ได้ทรงเน้นหนัก ในเรื่องการปฏิบัติทางใจ
เพราะเหตุใดพระองค์จึงเน้นหนักในเรื่องการปฏิบัติทางใจ
ก็เนื่องด้วยว่าอย่างอื่นๆ นั้น หรือการกระทำอื่นๆ นั้น ความสำคัญมีน้อย
ส่วนการปฏิบัติในเรื่องทางจิตใจนั้น ความสำคัญมีมาก
ที่ว่ามีมากนั้น เพราะว่า เป็นหนทางที่ถูกต้อง
และดำเนินไปสู่ที่สุดแห่งทุกข์ได้โดยที่ไม่นานจนเกินไป
การที่พระองค์ได้ทรงตรัส แก่ท่านปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ธรรมจักกัปวัตนสูตรนั้น
โดยย่อก็มาอยู่ที่ มรรคทั้ง ๘ มรรคทั้ง ๘
ข้อสุดท้าย คือ ข้อที่ ๘ นั้น พระองค์ก็ทรงตรัสว่า สัมมาสมาธิ
ทรงเน้นลงไปในเรื่องของสมาธิ เรื่องของการดำเนินจิตใจ
เพราะฉะนั้นเรื่องของการดำเนินจิตใจนี้
พระองค์จึงได้ทรงเริ่มต้นตั้งแต่ธรรมเทศนา
เทศนากัณฑ์แรกที่เน้นหนักลงไปในเรื่องนี้
แม้ว่าเราจะพากันปฏิบัติกันอย่างถึงขั้นนี้ ก็ยังอยู่อีกเป็นระยะเวลาอันยาวนาน
กว่าที่จะถึงกาลแห่งการเพียงพอ หรือถึงกาลสิ้นสุด ก็ต้องใช้เวลาอันยาวนาน
ดูตัวอย่าง พระพุทธเจ้าของเรานั้น พระองค์แม้ว่าในชาติที่พระองค์เป็นสุเมธฤาษี
พระองค์ก็ได้ถึงฌานสมาบัติ เหาะเหินเดินอากาศได้ในชาตินั้นถึงอย่างนั้น
พระองค์ยังทำมาถึง ๔ อสงไขย แสนกัป กว่าจะมาถึงจุดอิ่มตัว
หรือเรียกว่าพอเพียง แห่งความต้องการ ได้ตรัสรู้ ทำลายกิเลสได้
และมาพูดถึงพวกเราที่พวกเราพากันมีความสนใจในการปฏิบัติสมาธินั้น
เรายังคิดว่าเรา ทำมากไป หรือเราคิดว่า เราทำมากมายก่ายกองอย่างนี้
เรายังคิดผิด...เรายังทำน้อยไป
เพราะอะไร? เพราะว่า แม้เราจะกระทำถึงขั้นนี้
เรายังไม่รู้ว่าอีกสักเท่าไร ที่เรียกว่าเกิด ตาย ตาย เกิด เกิด ตาย ตาย เกิด
ยังที่เราจะต้องท่องเที่ยวต่อไปอีก อันเรียกว่านานแสนนาน
นี่ในขนาดที่ว่า เราได้มีศรัทธาอย่างแน่วแน่ ตั้งใจอย่างจริงจัง
ยังมีเวลาที่จะต้องใช้ อันยาวนานเช่นนี้
เพราะฉะนั้น ในคำหนึ่งที่พระองค์ทรงตรัสว่า
อนมัตตเก มีเบื้องต้นอันบุคคลตามอยู่รู้ไม่ได้
คือว่าไม่มีเบื้องต้น แล้วก็ไม่มีเบื้องปลาย มันยาว แสนที่สุดที่จะนานแสนนาน
หมายถึงบุคคลผู้ที่ ยังไม่ได้เข้ามาสู่การปฏิบัติในทางใจแล้ว
เขาเหล่านั้น ก็ตกอยู่ในห้วงแห่งความประมาท เค้าจึงเรียกว่า อนมัตตเก
คือไม่มีเบื้องต้น แล้วก็ไม่มีเบื้องปลาย เรียกว่าท่องเที่ยวไป
ได้รับความทุกข์แสนสาหัส ตลอดไป เรื่อยๆ ไป อย่างนี้
|
|