ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 1827
ตอบกลับ: 6
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

บำเพ็ญกุศลให้บรรลุผล (หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินฺธโร)

[คัดลอกลิงก์]


โอวาทธรรม
ของ
พระธรรมมงคลญาณ (วิริยังค์ สิรินฺธโร)
วัดธรรมมงคล สุขุมวิท ๑๐๑ เขตพระโขนง กรุงเทพฯ


   

ที่มา (๑) โพสต์ในลานธรรมเสวนา หมวดสติปัฏฐาน ๔
กระทู้ ๑๖๗๙๐ โดย : คุณจอม วันที่ ๒๗ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๘
ที่มา (๒)  http://www.dharma-gateway.com/monk/prea ... ang-01.htm


   

เรื่อง บำเพ็ญกุศลให้บรรลุผล

(เริ่มทำสมาธิ)


ต่อไปนี้ขอให้ญาติโยมทั้งหลาย พากันตั้งใจที่จะทำสมาธิกันต่อไป
ในเบื้องต้นนี้ ให้ว่าตามอาตมาทุกๆ คน

"ข้าพเจ้าระลึกถึง คุณพระพุทธเจ้า คุณพระธรรม คุณพระสงฆ์
คุณบิดามารดา คุณครูบาอาจารย์
จงมาดลบันดาลให้ใจของข้าพเจ้าจงรวมลงเป็นสมาธิ
พุทโธ ธัมโม สังโฆ (๓ ครั้ง) พุทโธ พุทโธ พุทโธ"


นี้ก็ให้นึกไว้ในใจ นั่งขัดสมาธิ ขาเบื้องขวาทับขาเบื้องซ้าย
มือเบื้องขวาหงาย ทับมือเบื้องซ้าย วางไว้บนตัก หลับตา
นึกพุทโธในใจ กำหนดใจไว้ที่ใจ
ใจของเรานั้น อยู่ที่รู้ รู้อยู่ที่ตรงไหน ใจของเราก็อยู่ที่ตรงนั้น
ถ้าเรากำหนดไว้ซึ่งหน้าก็ได้ กำหนดไว้ที่หัวอกเบื้องซ้ายก็ได้
กำหนดไว้แล้ว ก็ตั้งความรู้ไว้ที่นั่น นึกพุทโธอยู่ที่นั่น
จิตนั้นก็จะไม่ส่ายแส่ไปทางอื่น จิตก็จะตั้งเที่ยง ตั้งมั่น
เมื่อจิตตั้งได้แล้ว มีความเบากายเบาใจ เกิดความรู้สึกความเย็นใจ
ก็ไม่ต้องบริกรรมพุทโธ กำหนดแต่ใจอย่างเดียว
2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-28 14:04 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
(ใจ คือ ผู้รับทุกสิ่งทุกอย่าง)

การที่เราทำสมาธินั้นเพื่อให้เกิดพลังจิต
ความสงบของจิตถือว่าเป็นส่วนที่ให้เกิดพลังจิต
พลังจิตนั้นคือกระแสจิต กระแสจิตนั้นก็คือกระแสธรรม
การฝึกฝนจิตใจย่อมได้รับประโยชน์มหาศาล
ใจของคนเรานั้น เป็นสิ่งปกติ เรียกว่า ตัวผู้ไม่ตาย หรือเรียกว่าเป็นตัวเรา
ส่วนร่างกายอันนี้ เป็นเพียงธาตุทั้งสี่ ดิน น้ำ ไฟ ลม มีเกิดขึ้นแล้วก็มีดับไป
ร่างกายเกิดขึ้นแต่ต้น เด็ก ต่อไปก็หนุ่มสาว ต่อไปก็เฒ่าแก่ ต่อไปก็ตายแล้ว
ทุกคนก็ต้องเดินเข้าไปหาที่สุด ก็คือ ความตาย ด้วยกันทั้งนั้น
แต่ว่าใจนั่นเองที่ไม่ตาย เมื่อใจไม่ตาย ความดี และความชั่ว
หรือเรียกว่าบุญ หรือบาป ก็จะต้องตกเป็นภาระของใจที่จะเป็นผู้ได้รับ
การที่จะไปเกิดต่อไปนั้น ก็อาศัยใจ ใจนี้จะเป็นผู้ไปเกิดในที่ต่างๆ

ใจนี้อาจสามารถที่จะไปเกิดได้ทุกหนแห่ง
อาจจะไปเกิดในนรก อาจจะไปเกิดเป็นเปรต อาจจะไปเกิดเป็นอสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน
หรือจะกลับมาเกิดเป็นมนุษย์ จะไปเกิดเป็นเทวบุตร เทวดา
ใจจะไปเกิดได้ทั้งนั้น การที่จะไปเกิดในที่นั้นๆ อาศัยกรรม เป็นผู้นำให้เป็นไป
กรรมนั้นได้แก่การกระทำ เมื่อบุคคลสร้างบุญกุศล
สร้างความดี มีจิตเป็นเมตตาต่างๆ เหล่านี้แล้ว
อันนี้ก็เป็นทางไปสู่สวรรค์ ผู้ที่ มีใจร้าย มีการที่ ทำบุคคลผู้อื่นให้เกิดความเดือดร้อน
ทั้งโกง ทั้งพยายามฆ่า หรือพยายามทำร้ายต่างๆ เหล่านี้เรียกว่าพวกบาป
อันนี้ก็ถือว่าเป็นกรรมที่ไม่ดีที่จะต้องทำให้จิตนี้จะต้องไปเกิดในนรกเป็นต้น
ส่วนผู้ที่ได้มาทำสมาธิทำจิตใจนั้น อย่างต่ำที่สุดก็ต้องไปเกิดเป็นพรหม
เรียกว่าพรหมชั้นต่ำ พรหมชั้นต่ำ ไปจนกระทั่ง ถึงพรหมชั้นสูง

พรหมนั้นคือสถานที่สูงกว่าสวรรค์ สวรรค์ยังชั้นต่ำ
พอถึงขั้นพรหม ก็เรียกว่าชั้นสูง
การไปเกิดเป็นพรหมได้ก็ต่อเมื่อบุคคลผู้นั้นได้สร้างสมาธิให้แก่ตน
ไปเกิดเป็นพรหมนั้น มีพรหมตั้งแต่ชั้นที่ ๑ ถึงชั้นที่ ๑๖
สุดแล้วแต่ว่า จิตนั้นจะมีความละเอียดแค่ไหน
3#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-28 14:05 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
(ฌาณ)

จิตที่เป็นพรหมนั้นคือจิตที่เป็นฌาน
ฌานที่จะเกิดขึ้นแก่การทำจิตนั้น ก็มีปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุถฌาน
อากาสา นัญจายตนฌาน อากิญจัญญายตนฌาน วิญญานัญจายตนฌาน
เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน เรียกว่า รูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๔ หรือเรียกว่าสมาบัติ ๘

รูปฌาน ในเบื้องต้น คือปฐมฌานนั้น
มีองค์ ๕ คือ วิตก วิจารณ์ ปีติ สุข เอกัคคตา วิตก วิจารณ์ นั้น
คือการนึกพุทโธ เสร็จแล้ว จิตก็จะเป็นหนึ่ง เมื่อจิตเป็นหนึ่งแล้ว ก็เกิดปีติ
เมื่อเกิดปีติแล้วก็เกิดความสุข อันนี้ เป็นองค์แห่ง ปฐมฌาน
การที่เป็นเช่นนี้ได้ก็ต่อเมื่อ เค้าได้บริกรรมพุทโธ จนกระทั่งจิตเป็นหนึ่งได้
เกิดความสุขได้ เกิดความเบาได้
แต่ปฐมฌานนั้น เรียกว่าฌานชั้นต้น เรียกว่าฌานอ่อนมาก
เพราะฉะนั้น จึงมีการหวั่นไหว มีเสียงมากระทบหรือมีอะไรมากระทบ จิตนั้นก็เกิดอารมณ์
อย่างนี้เมื่อบุคคลผู้ที่ ได้บำเพ็ญปฐมฌานตามสมควรแล้ว
คือหมายความว่าเป็นปฐมฌาน นับ ๑ นับ ๒ นับ ๔ นับ ๘ นับ ๑๐๐ ครั้งแล้ว
จิตนั้นของเค้าก็จะเขยิบขึ้นไปสู่ทุติยฌาน

ทุติยฌาน นั้น มีองค์ ๓ คือ ยก วิตก วิจารณ์ ออกไปเสีย
เหลือแต่ ปีติ สุข เอกัคคตา ผู้ที่บำเพ็ญถึงทุติยฌานนั้น
คือผู้ที่ไม่ต้องบริกรรมใดๆ ทั้งสิ้น คำบริกรรม ไม่ว่าจะเป็นคำบริกรรมใดๆ
คำบริกรรมนั้น ถือว่าเป็นปฐมฌาน หรือถือว่าเป็นสมาธิชั้นต่ำสุด เรียกว่าปฐมฌานนั้น
เพราะฉะนั้น จิตของผู้ที่หยั่งเข้าไปสู่ทุติยฌาน จึงไม่มีคำบริกรรมใดๆ
เพียงแต่กำหนดเอกัคคตาไว้อย่างเดียวเท่านั้น
ปีติก็มีแล้ว สุขก็มีแล้ว ปีติ ได้แก่ ความเอิบอิ่ม
สุขได้แก่ ความสบาย ที่เกิดขึ้นจากองค์แห่งฌาน
เมื่อบุคคลที่ได้สร้าง ทุติยฌานเกิดขึ้น โดยที่ทำจิตให้สงบ ไม่ต้องใช้คำบริกรรมใดๆ แล้ว
เป็นครั้งที่ ๑ ครั้งที่ ๒ ที่ ๔ ที่ ๑๐๐ เป็นต้น
จิตของเค้าก็จะเกิดความชำนาญขึ้น จิตนั้นก็จะยกจาก ทุติยฌาน ไปสู่ตติยฌาน

ตติยฌาน นั้น ก็มีองค์ ๒ ลดลงไปอีกองค์ ๒ นั้น
เหลือแต่ สุข กับ เอกัคคตา ปีติก็ไม่มีแล้ว เมื่อมาถึง ตติยฌานนั้น
จิตนั้นก็จะสงบอยู่ได้เป็นเวลานาน จะเป็นเวลา ชั่วโมง หรือจะมากกว่านั้นก็ได้
ตติยฌาน มีแต่ความสุข แล้วก็มีความเป็นหนึ่งของจิต เรียกว่าตติยฌานนั้น
เมื่อตติยฌานได้รับผล และทำให้เกิดขึ้น แก่ตนของตนมากขึ้น ๑ ครั้ง ก็ดี ๒ ครั้งก็ดี
๑๐๐ ครั้ง ๑,๐๐๐ ครั้ง ก็ดี ที่เกิดขึ้นนั้น จิตนั้นก็จะยกระดับ
จากตติยฌาน เป็นจตุถฌาน หมายถึงชั้นที่ ๔

จตุถฌาน นั้น จะไม่มีความสุข
มีแต่ความวางเฉย กับความเป็นหนึ่ง
เมื่อมาถึงขั้นจตุถฌานนี้ ท่านกล่าวว่าเป็นที่ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อผู้ปฏิบัติ
เมื่อผู้ปฏิบัติต้องการที่จะพ้นจากทุกข์
ผู้ทำถึงจตุถฌานก็ดำเนินจิตเข้าสู่วิปัสสนาไปได้เลย
โดยที่ไม่ต้องไปกังวลสิ่งอื่นใด สามารถที่จะดำเนินวิปัสสนาต่อไปได้
4#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-28 14:05 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
(เศรษฐีทางใจ)

จตุถฌานนั้น คือ อุเบกขา และเอกัคคตา
ถ้าจะเปรียบเทียบ ก็หมายถึงว่า ผู้ที่เป็นเศรษฐี มหาเศรษฐี มีเงินนับไม่ถ้วน
ร้อยล้านก็นับว่ามาก พันล้านก็นับว่ามาก หมื่นล้านก็นับว่ามาก แสนล้านก็นับว่ามาก
แต่เศรษฐีนั้นเค้ามีมากกว่านั้น ข้อนี้ท่านเปรียบเหมือนกับจตุถฌาน
ที่สามารถสะสมพลังจิตไว้ได้มากแล้ว
เหมือนกับผู้ที่เป็นเศรษฐีมีเงิน ต้องการอยากได้บ้านสักหลังหนึ่ง เนรมิตชั่วพริบตา
เอาเงินไปซื้อก็ได้แล้ว ต้องการอยากได้ที่ดินก็เอาเงินไปซื้อเนรมิตมาก็ได้แล้ว
ต้องการอยากได้ อาหารสิ่งใดเอาเงินไปเนรมิตมาก็ได้แล้ว
ต้องการอยากได้ยวดยานพาหนะรถราต่างๆ เอาเงินไปซื้อ
ประเดี๋ยวเดียวก็เนรมิตออกมาได้แล้ว

นั่นหมายความว่าเป็นเศรษฐี ท่านเปรียบเหมือนกับผู้ที่ได้ถึงจตุถฌาน
เป็นเศรษฐีในทางใจ มีพลังจิตที่สูงแล้ว สามารถที่จะดำเนินเข้าสู่อริยสัจจ์
หรือสามารถที่จะดำเนินเข้าสู่สัจจธรรม ที่เรียกว่าเป็นหนทางกลาง
หรือเรียกว่าเป็นหนทางที่จะกำจัดกิเลสนั้น

5#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-28 14:05 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
(โลกียฌาณ)

ส่วนพวกฤๅษีต่างๆ ที่เค้ายังไม่รู้จักหนทาง
เค้าก็จะพยายามทำจิตจากรูปฌานนี้ ให้เป็นอรูปฌาน
คือ อากาสานัญจายตนะ แปลว่า ไม่มีสิ่งอื่นใด นอกจากอากาศว่างเปล่า
เรียกว่ามีความว่าง ไม่มีอะไรมาเจือปน
อารมณ์สิ่งอื่นใดก็ไม่เจือปน อยู่ในความว่างเช่นนั้น เรียกว่า อรูปฌานชั้นที่ ๑
คือ อากาสานัญจายตนฌาน

และอรูปฌานชั้นที่ ๒
คือวิญญานัญจายตนฌาน ได้แก่ความรู้ มีความรู้ กำหนดความรู้ มีความรู้อยู่
สิ่งอื่นใดนั้นก็ไม่ปรากฏ หมายความว่ากำจัดอารมณ์ สัญญา ไปหมดแล้วทั้งสิ้น
เหลือแต่ความรู้อันเดียวเท่านั้น
เรียกว่าเป็นวิญญานัญจายตนฌาน เป็นอรูปฌานที่ ๒

อากิญจัญยายตนฌาน อรูปฌานที่ ๓ นั้น ความรู้ไม่มี นิดนึงก็ไม่มี
มีแต่ความซึ้ง คือความซึ้งอันนั้นน่ะ มันเป็นความลึกซึ้ง อยู่ในสถานที่
เรียกว่ามีความลึกซึ้ง ไม่มีอะไรที่จะเข้ามาเจือปนอารมณ์แม้แต่นิดเดียว
อย่างนี้เรียกว่า อากิญจัญยายตนฌาน

เมื่อผู้ที่บำเพ็ญอากิญจัญยายตนฌานมากขึ้นตามลำดับแล้ว
จิตนี้ก็จะขึ้นสู่เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน คือจะขึ้นสู่อรูปฌานชั้นสุดท้าย
คือสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่ใช่สัญญาก็ไม่ใช่ คือหมายความว่าไม่มีอะไรเลย
มีแต่จิตดวงเดียวเท่านั้น อันนี้ เรียกว่าอรูปฌานชั้นสุดท้าย

เมื่อผู้ที่เค้าทำได้เช่นนี้ ก็เรียกว่าได้ฌานสมาบัติ หรือเรียกว่าสมาบัติ ๘
ผู้ที่ทำเช่นนี้ได้นั้น จะนั่งไม่ต้องทานอาหารเลยได้ตลอด ๗ วัน ไม่ต้องลุก
เรียกว่าเป็นผู้ที่กำหนดจิตนั้น ให้อยู่นานเท่าไหร่ก็นานได้ อย่างนี้เรียกว่าอรูปฌาน

อรูปฌานนี้ ยังไม่สามารถกำจัดกิเลสได้ ต้องมาเกิดอีก เพราะอะไร?
เพราะว่าผู้ที่สำเร็จฌานนั้น เพียงแต่ข่มกิเลสไว้
ยังไม่สามารถกำจัดกิเลสออกไปได้ เพียงข่มไว้เท่านั้น
เมื่อข่มไว้ ก็ข่มไว้ได้นาน ท่านเหล่านี้ ท่านจะไปเกิดในชั้นพรหมกันทั้งสิ้น
ในระยะเวลาอันยาวนานเหลือเกิน กว่าแต่ที่จะกลับมาเกิดได้อีก
คือ เป็นมนุษย์อีก ก็ต้องเป็นเวลานาน ขึ้นไปเสวยความสุขอยู่ที่ชั้นอรูปพรหม
ในทางนี้พระพุทธศาสนากล่าวว่าเป็นโลกียฌาน
6#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-28 14:06 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
(ปฏิบัติตรงต่อพระนิพพาน)

โลกียฌาน เรียกว่า รูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๔
รวมกันเรียกว่า สมาบัติ ๘ อันนี้ เรียกว่าเป็นโลกีย์
ยังไม่สามารถที่จะเรียกได้ว่าเป็นโลกุตระ
โลกุตระนั้นก็แยกออก ตอนที่ดำเนินจิตไปถึงรูปฌานชั้นสุดท้ายคือจตุถฌาน

เมื่อไปถึงขึ้นนั้นแล้ว จิตนี้ก็จะมีพลัง คือมีกำลังอย่างยิ่ง
หลับตาไปก็เหมือนลืมตา มีสิ่ง เรียกว่า ดวงตาทิพย์
สามารถที่จะมองลอดทะลุปรุโปร่งไปได้ อย่างนี้เป็นต้น
แทนที่จะไปมองไปในทางอื่น หรือเรียกว่ามองไปในทางผิด
ในพระพุทธศาสนาก็แนะนำให้ ดำเนินวิปัสสนา
คือดำเนินวิปัสสนาให้เห็นจริงแจ้งประจักษ์ในเรื่องของวิปัสสนา

การดำเนินจิตมาถึงการแจ้งประจักษ์ของวิปัสสนานั้น
ก็จำเป็นที่จะต้องยกตัวอย่าง ให้ท่านทั้งหลายได้ทราบว่า
วิธีการดำเนินวิปัสสนานั้น ทำกันมาอย่างไร

ยกตัวอย่างที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดง อนัตตลักขณสูตร
ให้แก่ท่านปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ได้สดับที่พระองค์แสดงถึงอนัตตลักขณสูตรนั้น
คือการแสดงถึง อุบายวิธีของวิปัสสนา
หมายถึงว่าธรรมะขั้นสูงของพระพุทธศาสนา

เริ่มด้วยที่พระองค์ได้ทรงแสดงว่า รูปัง ภิกขเว อนัตตา
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย รูปไม่ใช่ตน ทรงแสดงไปอย่างนี้
อันนี้เรียกว่าเริ่มด้วยวิปัสสนา


คำที่ว่าไม่ใช่ตนนั้น เพราะมันไม่ได้อยู่ในอำนาจของเรา
เราบอกมันอย่าแก่ มันก็จะแก่ บอกมันอย่าตาย มันก็จะต้องตาย
คือมันไม่ได้อยู่ในอำนาจของเรา จึงเรียกว่า การดำเนินวิปัสสนาในขั้นแรก
พิจารณาให้เห็นตามความเป็นจริง

เมื่อพระองค์ให้พิจารณาเช่นนั้นแล้ว พระองค์ก็ทรงแสดงในขั้นต่อไปว่า  
ตํ กึ มญฺญตฺถ ภิกฺขเว รูปํ นิจฺจํ วา อนิจฺจํ วาติ
พระพุทธเจ้าได้ถามท่านปัญจวัคคีย์ว่า รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง?
ท่านปัญจวัคคีย์ตอบว่า  ไม่เที่ยงพระเจ้าข้า
เมื่อมันไม่เที่ยงแล้ว ควรหรือที่จะมายึดถือเอาว่าเป็นตัวตน?

ในข้อที่ ๓ ต่อไป พระองค์ก็ทรงแสดงว่า

ตสฺมาติห ภิกฺขเว เพราะเหตุนั้น ภิกษุทั้งหลาย
ยงฺกิญฺจิ รูปํ อตีตานาคตปจฺจุปนฺนํ
รูปในอดีต รูปในอนาคต รูปในปัจจุบัน
สพฺพํ รูปํ  รูปทั้งปวง  
เนตํ มม เนโสหมสฺมิ น เมโส อตฺตาติ
มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา และไม่ใช่ตัวตนเรา
เอวเมตํ ยถาภูตํ สมฺมปฺปญฺญาย ทฏฺฐพฺพํ
ให้พิจารณาตามความเป็นจริงด้วยปัญญาอันชอบ


พระองค์ได้ทรงตรัสว่าให้พิจารณาตามความเป็นจริงด้วยปัญญาอันชอบ
ปัญญาในที่นี้หมายถึงกระแสจิต ไม่ได้หมายถึงอะไร
ไม่ได้หมายถึงการท่องบ่น ไม่ได้หมายถึงชวนะ
หรือไม่ได้หมายถึงสิ่งที่คนเค้าฉลาดอย่างโน้นอย่างนี้
แต่ว่าหมายถึงการที่ได้พิจารณาเห็น มีพลังจิตเป็นกระแสจิต
หมายถึงกระแสจิต หรือหมายถึงดวงตาญาณ หรือเรียกว่าดวงตาทิพย์
เมื่อหลับตาพิจารณาแล้ว ก็เห็น เห็นรูป
ที่พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงว่า ภิกษุทั้งหลาย รูปํ อตีตํ อนาคตํ ปจฺจุปนฺนํ
7#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-28 14:07 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
รูปํ อตีตํ ก็ในอดีต เราจากนี้ไป
๕๐, ๔๐, ๓๐, ๒๐, ๑๐, ๙, ๘, ๗, ๖, ๕, ๔, ๓, ๒, ๑
อยู่ในท้องของมารดา นี้เรียกว่า กายในอดีต

กายในอนาคตนั้น จากนี้ไปก็ ๖๐, ๗๐, ๘๐, ๙๐ ตายแล้ว
ถูกเผาไปเหลือแต่กระดูก อย่างนี้เรียกว่า อนาคตํ วา ปจฺจุปนฺนํ วา

กายในปัจจุบัน ก็ให้พิจารณาถึงความไม่สวยไม่งามต่างๆ
ออกมาทางตา ขี้ตา หู ขี้หู จมูก ขี้มูก กาย ขี้เหงื่อ ขี้ไคล เหล่านี้
ที่พระองค์แสดงว่า อยํ โข เม กาโย  กายของเรานี้แล
อุทฺธํ ปาทตลา เบื้องบนแต่พื้นเท้าขึ้นมา
อโธ เกสมตฺถกา  เบื้องต่ำแต่ปลายผมลงไป
ตจปริยนโต มีหนังหุ้มอยู่เป็นที่สุดรอบ
ปูโร นานปฺปการสฺส อสุจิโน เต็มไปด้วยของไม่สะอาดมีประการต่างๆ
อตฺถิ อิมสฺมึ กาเย มีอยู่ในกายนี้ อันนี้เรียกว่ากายปัจจุบัน

คือเมื่อเราพิจารณาเห็นจริงทั้งกายในอดีต
เห็นจริงทั้งกายในอนาคต เห็นจริงทั้งกายในปัจจุบันแล้ว
จากนั้นจิตก็จะเกิด รูปัสสมิง ติ นิพพินนะติ เกิดความเบื่อหน่าย
ความเบื่อหน่ายที่เกิดขึ้นนั้น คือการพิจารณาตามความเป็นจริง
หมายความว่าการพิจารณาตามความเป็นจริงสมควร
พิจารณาตามความเป็นจริงเห็นจริงแจ้งประจักษ์ลงไป
เมื่อเราหลับตาก็เหมือนกับลืมตามองเห็น
อย่างนี้เรียกว่าเห็นจริงแจ้งประจักษ์ ถ้าทำได้อย่างนี้เรียกว่า วิปัสสนา

แต่การที่จะให้เกิดเป็นวิปัสสนาอย่างแท้จริง จริงๆ ลงไป และให้มาก
ก็หมายความว่าจะต้องทำ พิจารณารูปนี้ให้เห็นว่าเป็นของไม่เที่ยง เกิดขึ้นมาแล้วดับไป
จนกระทั่งเกิดนิพพิทาญาณ ความเบื่อหน่ายขึ้นมา
อย่างนี้เรียกว่าเราได้ทำ คือหมายความว่าได้ทำให้เกิดญาณขึ้นมา
และการทำให้เกิดขึ้นเช่นนี้นั้น จะต้องทำให้นาน
หมายความว่าทำให้ยาวนาน เมื่อได้หนทางอย่างนี้แล้ว เราก็ทำไปเรื่อยๆ
ทำไปเรื่อยๆ ในที่สุด ก็จะต้องสำเร็จ
อันที่เรียกว่าสำเร็จนั้นก็คือ สำเร็จ สละ ละกิเลส ได้แล้วทั้งปวง

เพราะฉะนั้น การที่ เราท่านทั้งหลายได้พากันมาปฏิบัตินั้น
คือ มาปฏิบัติในทางจิตนั้น จึงถือว่าเป็นการเดินทางโดยตรง
ที่จะเข้าสู่ที่สุดแห่งทุกข์ เรียกว่าพระนิพพานเป็นต้น

ในพระพุทธศาสนาแนะนำไว้ว่า ผู้ที่จะเดินทางเข้าสู่พระนิพพานนั้น
ต้องมีการเสียสละทุกสิ่งทุกอย่าง แต่ว่าก่อนที่จะเข้าไปถึงซึ่งพระนิพพานนั้น
ก็จำเป็นที่จะต้องสร้างความดีต่างๆ เพื่อสะสมไว้ให้มาก
เป็นนิสสัย เป็นวาสนา เป็นบารมี เป็นกุศล มหากุศล ให้เกิดมีขึ้นแก่ใจของเรา
แล้วใจของเราอันนี้ก็จะได้รับการพัฒนาขึ้นตามลำดับ
จนกระทั่งสามารถกำจัดกิเลสไปได้ในที่สุดอย่างนี้เป็นต้น
นี่แหละเรียกว่าทางที่่ถูกต้อง ที่จะนำพวกเราทั้งหลายเดินทางไปสู่ที่สุดแห่งทุกข์


ต่อจากนี้ไปขอให้ทุกคนพากันตั้งใจนั่งสมาธิกันต่อไป


จบธรรมบรรยาย                                                                                          
...................................................................

ที่มา http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=7&t=43839

ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้