ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 1614
ตอบกลับ: 2
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

พุทธโอสถ คือ สมาธิ ปัญญา (พระอาจารย์ลี ธมฺมธโร)

[คัดลอกลิงก์]


      

โอวาทธรรม
ของ
พระสุทธิธรรมรังสีคัมภีรเมธาจารย์
(พระอาจารย์ลี ธมฺมธโร)
วัดอโศการาม อ.เมือง จ.สมุทรปราการ


   

โรคหัวใจที่ตัวใหญ่ๆ มีอยู่ ๓ ตัว คือ โลภ โกรธ หลง
โรคนี้เปรียบเหมือนกับโรคมะเร็ง มันกินติดต่อลุกลามถึงคนอื่นด้วย
เข้าใกล้ลูกติดลูก เข้าใกล้หลานติดหลาน เข้าใกล้เพื่อนติดเพื่อน
เข้าใกล้ใครก็ติดคนนั้น ทำอันตรายทั้งแก่ตนและผู้อื่น

โรคที่เล็กหน่อยรองลงมาก็มีอยู่ ๕ ตัว
กามฉันทะ พยาปาทะ ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ วิจิกิจฉา
โรคนี้เปรียบเหมือนโรคขี้กลาก ใจมันหยิบๆ แยบๆ แลบไปโน่นมานี่ อยู่นิ่งไม่ได้
โรคนี้รักษายาก นายแพทย์ก็ไม่สามารถจะเยียวยาได้
นอกจากใช้ พุทธโอสถ

แต่โรคที่สำคัญก็มีอยู่ ๒ ตัวเท่านั้น คือ อวิชชา กับ ตัณหา
โรคนี้เปรียบเหมือนกับโรควัณโรค
เพราะเป็นโรคผู้ดี มองภายนอกไม่ใคร่เห็น
หน้าตาก็ดี ผิวพรรณเหลือง แต่ตัวเชื้อโรคมักค่อยๆ เกาะกินอยู่ภายใน
โดยเจ้าของไม่รู้สึกตัว  โรคนี้มันกินลึกซึ้งมาก
กินถึงกระดูก ขั้วปอด ขั้วหัวใจ
อวิชชามันแทรกในหัวใจก็ไม่รู้สึกตัว
ตัณหามันแทรกอยู่ในหัวใจก็ไม่รู้สึกตัว
โรคอย่างนี้คนกลัวกันมาก เพราะมันร้ายกว่าโรคอย่างอื่น
โรค ๒ โรคนี้ไม่มียาอะไรแก้ได้นอกจาก พุทธโอสถ คือ สมาธิ ปัญญา

ยาขนานนี้ใช้บำบัดโรคได้อย่างดี มากก็จะเหลือน้อย โรคน้อยก็จะบรรเทา
โรคหัวใจเป็นเข้าแล้วมันร้ายมาก โรคที่เนื้อที่หนังเขาก็ยังรักษาด้วยยาภายนอกได้

2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-28 08:13 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
สมาธิ

การนั่งสมาธิ เราจะต้องกำหนดลมหายใจเข้าออกของเรา
เหมือนกับคนที่นั่งเฝ้าประตูอยู่ เมื่อมีใครผ่านเข้าออกไปมา
เราจะต้องคอยสังเกตดูว่า
คนๆ นั้นมีลักษณะหน้าตาและท่าทางเป็นอย่างไร
หรือจะเปรียบอีกอย่างก็เหมือนกับเจ้าของวัว
ที่คอยเฝ้าดูวัวของตัวอยู่ที่หน้าประตูคอก จะต้องสังเกตให้ดีว่า
วัวที่เดินเข้าไปนั้นเป็นวัวแดงหรือวัวดำวัวขาวหรือวัวด่าง
แล้วเมื่อเดินเข้าไปแล้วมันไปหยุดนอนที่ตรงไหน
ท่าทางนอนของมันเป็นอย่างไร  มันหมอบอยู่หรือนอนตะแคง
มองดูอยู่จนกว่ามันจะลุกขึ้นจากที่นอนและเดินกลับออกไปจากคอก
เวลากลับเราก็ต้องสังเกตดูอีก ว่ามันเดินหรือมันวิ่ง เดินช้าหรือเดินเร็ว
เมื่อตัวเก่าเดินออกไปแล้ว พอตัวใหม่เดินเข้ามาอีก เราก็ตามดูมันอย่างนี้อีก
แล้วเราก็จะจำวัวที่เข้าไปในคอกของเราได้ทุกๆ ตัว

เวลาหายใจเข้า ลมภายในจะต้องสะเทือนให้ทั่วถึงกันทั้ง ๓ ส่วน
มี ปอด หัวใจ ตับ กระเพาะอาหาร ลำไส้ ซี่โครง กระดูก สันหลัง เป็นต้น
ถ้าไม่สะเทือนทั่วนั่นไม่ใช่ผลของสมาธิ

การทำสมาธิจะบังเกิดผลอันสมบูรณ์ก็ด้วยมีจิตเป็นผู้สั่ง
มีสติเป็นที่ทำงานและเป็นผู้ช่วยสนับสนุนในการประกอบกิจการให้เจริญก้าวหน้า
มีสัมปชัญญะเป็นผู้ตรวจสอบในงานที่ทำนั้น
ถ้าพูดทางกัมมัฏฐาน ก็คือ สติสัมปชัญญะ
ถ้าพูดทางสมาธิ ก็คือ วิตก วิจาร นี้เป็นตัวให้เกิดปัญญา

3#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-28 08:14 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ปัญญา

ปัญญา เกิดแต่การสังเกตหาเหตุหาผล
รู้แต่ผลไม่รู้เหตุก็ใช้ไม่ได้ รู้แต่เหตุไม่รู้ผลก็ใช้ไม่ได้
ต้องรู้พร้อมทั้งเหตุและผล รู้ด้วยความมีสติสัมปชัญญะ
ที่เรียกว่า สติสัมปชาโน คือ ความรู้รอบอันสมบูรณ์

ปัญญาแบ่งออกเป็น ๒ อย่าง คือ

๑.) วิชชาปัญญา
ปัญญาซึ่งเกิดจากความรู้ในเรื่องของโรคอย่างหนึ่ง
(โรคทางใจที่ท่านกล่าวในตอนต้นบท-เพิ่มเติม)
ปัญญาชนิดนี้เป็นความรู้ที่เกิดจากการศึกษา
หรือสดับตรับฟังมาจากคำที่คนอื่นบอกเล่า
ปัญญาอย่างนี้ช่วยตัวเองให้มีความสุขได้ในโลก แต่ยังไม่พ้นทุกข์

๒.) ปัญญาสมาธิ

อีกอย่างหนึ่งเป็นปัญญาซึ่งเกิดจากการปฏิบัติธรรม
เป็นปัญญาที่เกิดจากการที่เราทำให้มีขึ้นในตัวเราเอง  
ปัญญาชนิดนี้แหละ เรียกว่า "พุทโธ" เป็นปัญญาที่ช่วยตัวเองให้พ้นทุกข์ได้

พุทธศาสนา หรือ พุทธศาสนิกชน นี้ก็เกิดจากความหมายทำนองเดียวกัน
คือ จะต้องเป็นไปพร้อมด้วยเหตุและผล
สิ่งใดที่มิได้ประกอบด้วยเหตุและผลแล้ว
สิ่งนั้นก็มิใช่ พุทธศาสนา และ มิใช่ พุทธศาสนิกชน ด้วย
(อย่าว่าแต่พวกโยมที่มานั่งอยู่นี่เลย แม้แต่โกนผมนุ่งเหลืองอย่างนี้
พระองค์ก็ยังไม่ทรงรับรองว่า ใช่ เพราะอาจจะออกไปเข้าศาสนาอื่นเมื่อไรก็ได้)

ความรอบรู้ที่เกิดจากการที่ทำให้มีขึ้น, เป็นขึ้นในตัวเองนั้น
เป็นความรู้ที่เกิดแต่เหตุและผล ไม่ใช่ความรู้ที่ได้จากตำรับตำรา
หรือได้ยินได้ฟังและจดจำมาจากคนอื่น หรือ คิดเอา นึกเอา เดาเอา
ตัวอย่างเช่น เรามีเงิน (เหรียญบาท) อยู่ในกระเป๋า
เราก็รู้ได้เพียงเขาบอกว่า นั่นมันเป็นเงิน หาได้รู้จักถึงคุณภาพของมันไม่
แต่ถ้าเรานำเงินนั้นไปทดลองถลุงไฟดู  
ค้นคว้าหาเหตุผลตัวจริงของมันว่าเกิดมาจากอะไร
มาแต่ไหนและใช้ประกอบอะไรได้บ้าง เช่นนี้เราก็จะรู้ได้ถึงคุณภาพตัวจริงของมัน
นี่เป็นความรู้อันเกิดจากการกระทำขึ้นในตัวของเราเอง

ความรู้นี้ยังแยกออกไปได้อีก ๖ ส่วน
เช่น เราจะรู้ได้จากตัวของเราเองว่า เหตุบางอย่างเกี่ยวกับธาตุ
บางอย่างเกี่ยวกับจิตใจ บางอย่างเกี่ยวกับจิตแต่ให้ผลทางกาย
บางอย่างเกี่ยวกับกายแต่ให้ผลทางจิต
บางอย่างต้องอาศัยเกี่ยวเนื่องกันทั้งทางจิตและทางกาย
ความรู้อย่างนี้แหละเรียกว่า ภควา
เราควรทำ ศีล สมาธิ ปัญญา ให้เกิดขึ้นในตัวเราจริงๆ
ถ้าใครไม่ปฏิบัติอย่างนี้ก็เป็น อวิชชา คือ โมหะ

   

คัดลอกจากหนังสือ
แนวทางวิปัสสนา-กัมมัฎฐาน ๑
พระอาจารย์ลี ธมฺมธโร วัดอโศการาม

โดย ชมรมกัลยาณธรรม
ลี ธมฺมธโร. แนวทางวิปัสสนา-กัมมัฎฐาน ๑. พิมพ์ครั้งที่ ๑.
กรุงเทพฯ : ขุมทองอุตสาหกรรมการพิมพ์, ๒๕๕๒. หน้า ๕๐-๕๑
                                                                                       
...................................................................

ที่มา http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=7&t=43817

ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้