ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 5320
ตอบกลับ: 1
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

หลวงพ่อแก่ วัดดุลยาราม (วัดฉลุง) จ.สตูล

[คัดลอกลิงก์]


หลวงพ่อแก่
พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองสตูล พระประธานในวิหาร
วัดดุลยาราม (วัดฉลุง) บ้านฉลุง ต.ฉลุง อ.เมือง จ.สตูล


หลวงพ่อแก่ เป็นพระพุทธรูปแกะสลักด้วยไม้ปางห้ามญาติ สูงประมาณ 70-80 เซนติเมตร ประดิษฐาน ณ วัดดุลยาราม หมู่ที่ 2 ถ.ยนตรการกำธร ต.ฉลุง อ.เมือง จ.สตูล มีเค้าพระพักตร์เป็นหญิงแบบนางพญาหรือพระหน้านาง บางทีเรียกว่า พระแก่นจันทร์ เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่อง ฝีมือแกะสลักของช่างภาคเหนือหรือล้านช้าง เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวจังหวัดสตูลให้ความเคารพนับถืออย่างมาก

มีประวัติเล่ากันสืบมาว่า หลวงพ่อแก่เป็นพระพุทธรูปที่ลอยน้ำมาจากทะเล ผู้ใหญ่บ้านคลิ้งเป็นผู้เก็บมาจากคลองน้ำพระ และเมื่อพิจารณาเห็นว่าเป็นพระพุทธรูป จึงคิดนำมาไว้ที่วัด ในขณะที่เดินทางมา วัดดุลยาราม หรือวัดฉลุง หรือวัดบ้านจีน ผ่านสวนผักของแป๊ะไล้ฮะ (ชาวจีนที่มาอาศัยในฉลุง ดำรงชีพด้วยการปลูกผักขาย) แป๊ะไล้ฮะได้ถามผู้ใหญ่คลิ้งว่า "ลื้อแบกอะไรมา" พอเข้ามาใกล้จึงเห็นว่าเป็นพระพุทธรูป จึงบอกผู้ใหญ่คลิ้งว่าน่าจะนำไปไว้ที่วัด ต่อมา ผู้ใหญ่คลิ้งได้นำองค์หลวงพ่อแก่มาวางไว้ใต้ต้นแซะ บริเวณวัดดุลยาราม ในตอนแรกไม่มีใครสนใจ เพราะเห็นว่าเป็นพระพุทธรูปไม้เก่าๆ ต่อมาหลวงพ่อแก่ได้แสดงอภินิหารและเข้าฝันผู้สูงอายุท่านหนึ่งในตำบลฉลุงว่า รู้สึกอึดอัดมากที่มีเด็กๆ เอามาเล่น โดยไม่ให้ความเคารพนับถือ

พ่อท่านเปลียว ปรกกโม เจ้าอาวาสวัดดุลยาราม (วัดฉลุง) ในสมัยนั้น ได้สร้างเป็นที่พักและอัญเชิญหลวงพ่อแก่มาประดิษฐาน ซึ่งได้มีชาวบ้านที่ทราบข่าวมากราบไหว้ บูชาสักการะ บนบานศาลกล่าว ในขณะนั้นองค์หลวงพ่อแก่มีแขนขวาเพียงข้างเดียว สันนิษฐานว่าอาจจะเกิดจากการที่เด็กนำมาเล่น ทำให้แขนข้างซ้ายหัก ชาวบ้านจึงได้จัดทำแขนข้างซ้ายมาประกอบเข้าให้เหมือนเดิม

ครั้นต่อมา พ่อท่านเปลียว ปรกกโม ได้ถึงแก่มรณภาพลง พระสิริขันตยาภรณ์ (พระมหารุ่ง) ได้มาเป็นเจ้าอาวาสสืบแทน ซึ่งท่านดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดสตูล ได้มีความคิดร่วมกับคณะกรรมการวัดว่า ควรจะจัดทำวัตถุมงคลหลวงพ่อแก่ เพื่อให้ชาวบ้านได้นำไปบูชา โดยจัดทำเหรียญหลวงพ่อแก่รุ่นแรก เมื่อวันเสาร์ที่ 5 เมษายน พ.ศ.2514 มีพระอาจารย์ชื่อดัง (มีชื่อเสียงมาก) เข้าร่วมพิธีปลุกเสกหลายรูป เช่น พระอาจารย์ศรีแก้ว วัดไทรใหญ่, หลวงพ่อสงฆ์ วัดคงคาวดี, หลวงพ่อเพชร วัดดอนแย้ และยังมีพระเถราจารย์อีกหลายรูป

เหรียญรุ่นแรกที่จัดทำ เป็นเหรียญเนื้อทองแดงและเนื้อเงิน และในวันที่ 6 เมษายน พ.ศ.2514 ได้มีการจัดงานฌาปนกิจศพพ่อท่านเปลียว ปรกกโม อดีตเจ้าอาวาสวัดดุลยาราม (วัดฉลุง) หลวงพ่อแก่ได้แสดงอภินิหารเป็นที่ยำเกรง ปรากฏแก่ชาวบ้านในละแวกนั้น หากใครไปถ่ายสิ่งปฏิกูลในบริเวณใกล้เคียงในสถานที่นั้น มักจะมีอันเป็นไปในทางที่ไม่ดี มีอาการปวดหัวตัวร้อน เมื่อชาวบ้านได้เกิดความเลื่อมใสศรัทธาจึงได้จัดสร้างวิหารเป็นที่ประดิษฐานโดยเฉพาะ และมีการจัดงานนมัสการในวันสงกรานต์เป็นประจำทุกปี

อภินิหารที่ศักดิ์สิทธิ์ซึ่งขึ้นชื่อลือชาของหลวงพ่อแก่ คือ สามารถห้ามฝนได้ ใครจะจัดงานอะไรหากเกรงว่าฝนจะตกในงาน ก็จุดธูปบนบานขออย่าให้ฝนตก ปรากฏว่าได้ผลเป็นประจักษ์ทุกรายไป
2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-27 08:30 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
นายสาธร แซ่ห้อง ชาวตำบลฉลุง ได้เล่าถึงอภินิหารของหลวงพ่อแก่ว่า ในขณะที่ตนขับรถไป จ.จันทบุรี ครั้นพอถึง จ.ประจวบคีรีขันธ์ ปรากฏว่าในขณะที่ตนโบกมือออกไปนอกรถ สร้อยข้อมือทองคำของตนตกลงไปบนถนนและหายไป นายสาธรได้บนบานเหรียญหลวงพ่อแก่ที่ติดไปหน้ารถว่า ขอให้พบสร้อยข้อมือคืน พอตนถอยรถกลับไปบริเวณที่ทำสร้อยตก ปรากฏว่าพบสร้อยข้อมือของตนปรากฏเป็นสีทองให้เห็นเด่นชัด

แม้แต่ ร.อ.สมจิตร จงจอหอ นักกีฬามวยสากลสมัครเล่น เจ้าของเหรียญทองโอลิมปิกเกมส์ 2008 ก็ได้มาแก้บน ณ วัดแห่งนี้ และทุกวันจะมีประชาชนทั้งในจังหวัดสตูลและต่างจังหวัดเดินทางมาแก้บนกันเป็นจำนวนมาก

สำหรับเครื่องบูชาแก้บนหลวงพ่อแก่ เป็นขนมโค, ประทัด, ผ้า 7 สี, น้ำ 3 สี, ทอง 100 แผ่น, หมูย่าง และหัวหมู เป็นต้น ทั้งนี้ คำว่า "พ่อแก่" หมายถึง พระผู้เฒ่าผู้แก่เป็นที่เคารพนับถือของประชาชนทั่วไป ปัจจุบันหลวงพ่อแก่ประดิษฐานอยู่ภายในวิหาร วัดดุลยาราม (วัดฉลุง) ซึ่งปัจจุบันมี "พระเทพคุณาธาร (หลวงพ่อมหาอารีย์ เขมจาโร)" ที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดสตูล ฝ่ายมหานิกาย เป็นเจ้าอาวาส



หลวงพ่อแก่ วัดดุลยาราม (วัดฉลุง) จ.สตูล



ด้านหน้าวัดดุลยาราม (วัดฉลุง) จ.สตูล


ที่มา...หนังสือพิมพ์ข่าวสดรายวัน ออนไลน์
คอลัมน์ เดินสายไหว้พระพุทธ โดย รัตนชัย จึงชนะ
http://info.dla.go.th/public/travel.do? ... 0062613724
                                                                                       
.....................................................................

ที่มา http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=24&t=46272

ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้