ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 1896
ตอบกลับ: 4
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

หลวงพ่อมุ่ย พุทธรักขิตฺโต วัดดอนไร่ (พระครูสุวรรณวุฒาจารย์) จังหวัดสุพรรณบุรี

[คัดลอกลิงก์]
หลวงพ่อมุ่ย พุทธรักขิตฺโต วัดดอนไร่ (พระครูสุวรรณวุฒาจารย์) จังหวัดสุพรรณบุรี



ที่มา http://www.itti-patihan.com/


2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-20 12:48 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
หลวงพ่อมุ่ย วัดดอนไร่ ตำบลหนองสะเดา อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี พระเกจิอาจารย์จอมขมังเวทย์ผู้มีอายุยืนยาว ๕ แผ่นดิน

วัดดอนไร่

วัดดอนไร่ ปัจจุบันตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ของตำบลหนองสะเดา อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี  เป็นวัดที่สร้างในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนกลาง ในปี พ.ศ.2456 ภายใต้การนำของท่านผู้ใหญ่ยาและนางบู่  ต้นตระกูล ยาสุขแสง ได้นำชาวบ้านหักร้างถางดงบนที่ดอนแห่งหนึ่งในหมู่บ้านหนองตม อันเป็นไร่เก่าของนายสี   นางพูน และนายแก้ว นางหมอน แล้วสร้างเป็นวัดขึ้นตรงไร่ดังกล่าวเรียกว่า วัดดอนไร่ เพื่อใช้เป็นสถานที่ประกอบศาสนกิจของชาวบ้านหนองตม

วัดดอนไร่เป็นวัดที่ใหญ่โตอีกวัดหนึ่งในปัจจุบัน
ด้วยได้รับความร่วมมือร่วมใจในการพัฒนาของบรรดาพุทธศาสนิกชนและเจ้าอาวาสของวัดทั้งในอดีตถึงปัจจุบัน

และหากกล่าวถึงวัดดอนไร่แล้วบุคคลส่วนใหญ่จะต้องนึกถึงพระครูสุวรรณวุฒาจารย์ หรือหลวงพ่อมุ่ย พุทฺธรักฺขิโต อดีตเจ้าอาวาสวัดดอนไร่ และเจ้าคณะตำบลหนองสะเดา อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี  ซึ่งมีชื่อเสียงเลื่องลือไปทั่วประเทศไทย วัตถุมงคลของท่านทุกรุ่น ทุกพิมพ์ ต่างก็ได้รับความนิยม  เป็นที่ต้องการของบุคคลทั้งหลาย

หลวงพ่อมุ่ย พุทฺธรักฺขิโต พระครูสุวรรณวุฒาจารย์ หรือที่รู้จักกันดีในนาม หลวงพ่อมุ่ย วัดดอนไร่ พระคณาจารย์ยุคกึ่งพุทธกาลที่เกียรติคุณชื่อเสียงโด่งดังที่สุดของจังหวัดสุพรรณบุรีอีกรูปหนึ่ง ปัจจุบันวัตถุมงคลของท่านทุกรุ่นได้รับความนิยมกันมาก
         
เกิดเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2431 ตรงกับวันพฤหัสบดี ขึ้น 13 ค่ำ เดือนอ้าย ปีฉลู  ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่5 ณ.บ้านดอนไร่ อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี
เป็นบุตรของพ่อเหมือน แม่ชัง มีศรีไชย มีพี่น้องทั้งหมด 5 คน คือ

1. นางน้ำอ้อย จันทร์สุวรรณ
2. นางน้ำตาล จีนสุกแสง
3. นายช่อง มีศรีไชย
4. นายเชื่อม มีศรีไชย (หลวงพ่อมุ่ย พุทฺรักฺขิโต)
5. นางสาคู มีศรีไชย

วัยเด็ก

เนื่องด้วยครอบครัวของท่านมีอาชีพทำไร่ทำนา ในวัยเด็กของท่านจึงมีชีวิตตามประสาเด็กชนบททั่วไป   โดยช่วยเหลือครอบครัวในการเลี้ยงควาย เป็นต้น

วัยหนุ่ม

เมื่อวัยหนุ่มท่านได้เข้ารับการเกณฑ์ทหาร ผลว่าท่านถูกเกณฑ์เป็นทหารและทางอำเภอได้ส่งตัวท่านไปยังจังหวัด  แต่ท่านก็ต้องถูกส่งตัวกลับมาด้วยเหตุผลประการใดไม่ทราบ สรุปคือท่านไม่ได้เป็นทหารแน่นอน


3#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-20 12:48 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
อุปสมบท

ภายหลังจากการเกณฑ์ทหารเรียบร้อยแล้ว ท่านได้เข้ารับการอุปสมบทตามธรรมเนียมประเพณีของคนไทย เมื่อประมาณปี พ.ศ.2452 ณ. พัทธสีมาวัดท่าช้าง ตำบลท่าช้าง อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี โดยมี
พระครูศีลกิติ ( หลวงพ่อกฤษณ์ ) วัดท่าช้าง เป็นพระอุปัชฌาย์
หลวงพ่ออิ่ม วัดหัวเขา เป็นพระกรรมวาจาจารย์
พระอนุสาวนาจารย์ไม่ทราบชื่อ
ในช่วงนี้ท่านได้เข้ารับการศึกษาเล่าเรียนวิชาต่างๆจากพระอาจารย์ต่างๆอยู่พอสมควร

ท่านอุปสมบทได้ประมาณ10กว่าพรรษา ท่านก็ได้ลาสิกขาบท เพื่อมาช่วยบิดามารดาซึ่งชราทำไร่นา ในช่วงนี้ท่านได้เกิดล้มป่วยแทบเอาชีวิตไม่รอด ยากจะดูแลรักษาให้หายได้ ท่านจึงได้ตั้งสัจจะอธิษฐานไว้ว่า หากหายจากอาการเจ็บป่วย จะฝากกายถวายชีวิตในพระพุทธศาสนาตลอดไป
        
เป็นที่น่าอัศจรรย์ยิ่งนักต่อมาอาการเจ็บป่วยของท่านก็ได้หายไป และช่วงนี้ท่านก็ได้เปลี่ยนชื่อจาก เชื่อม มาเป็น มุ่ย สรุปแล้วท่านลาสิกขาบทมาได้ไม่กี่เดือนก็อุปสมบทใหม่เป็นครั้งที่สอง

ท่านได้อุปสมบทเป็นครั้งที่สอง เมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ.2465 เวลา 15.30 น. ณ. พัทธสีมาวัดตะค่า(วัดดอนบุบผารามในปัจจุบัน) ตำบลบ้านกร่าง อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี โดยมี

พระครูธรรมสารรักษา (หลวงปู่อ้น) วัดดอนบุบผาราม เป็นพระอุปัชฌาย์
พระอาจารย์ทวน วัดบ้านกร่าง เป็นพระกรรมวาจาจารย์
พระอาจารย์กุล วัดดอนบุบผาราม เป็นพระอนุสาวนาจารย์
ได้รับชื่อทางพระพุทธศาสนาจากพระอุปัชฌาย์ว่า พุทฺธรักฺขิโต

4#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-20 12:49 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ครูบาอาจารย์

เนื่องด้วยหลวงพ่อมุ่ยท่านเป็นผู้คงแก่เรียน หมั่นขวนขวายหาความรู้อยู่เสมอๆ จึงทำให้ท่านชำนาญและเชี่ยวชาญในศาสตร์หลายแขนง การเรียนรู้ในศาสตร์หลายแขนงของท่าน ได้พากเพียรเรียนรู้มาตั้งแต่การอุปสมบทครั้งแรก เมื่อกลับมาอุปสมบทอีกครั้งด้วยพื้นฐานที่รอบรู้อยู่แล้วและศึกษาเพิ่มเติมอยู่ตลอดเวลาจึงทำให้ท่านรอบรู้และแตกฉานยิ่งขึ้น ครูบาอาจารย์ที่หลวงพ่อมุ่ยไปศึกษามานั้นมีอยู่มากมายเกิน10ท่านขึ้นไปแต่ก็สืบเสาะได้ยากยิ่งเนื่องจากหลวงพ่อมุ่ยท่านไม่เคยเล่าให้ลูกศิษย์ฟัง แต่เท่าที่สืบค้นได้ก็มีดังนี้


1. พระครูธรรมสารรักษา หรือ หลวงปู่อ้น วัดดอนบุบผาราม อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี
หลวงปู่อ้นท่านเป็นพระอาจารย์ยุคเดียวกันกับหลวงพ่อเนียม วัดน้อย ท่านมีอายุน้อยกว่าหลวงพ่อเนียม 9 ปี ในยุคนั้นหลวงปู่อ้นท่านมีชื่อเสียงโด่งดังมากในแถบจังหวัดสุพรรณบุรี ท่านเป็นรองเจ้าคณะจังหวัดสุพรรณบุรีในยุคสมัยนั้น ท่านขึ้นชื่อมากในด้านแพทย์แผนโบราณ การรักษาโรคภัยไข้เจ็บ และพุทธาคมก็ยังเป็นเลิศ  ท่านมีลูกศิษย์ลูกหาและพระอาจารย์ต่างๆมาศึกษาและแลกเปลี่ยนความรู้กับท่านที่วัดมากมายลูกศิษย์ของท่านที่มีชื่อเสียงโด่งดังอย่างเช่น ท่านเจ้าคุณเชียง วัดราชบูรณะ ,หลวงพ่อนุ่ม วัดนางใน , หลวงพ่อสม วัดดอนบุบผาราม เป็นต้น ในการอุปสมบทครั้งที่สองของหลวงพ่อมุ่ยท่าน เมื่อปี พ.ศ.2465  ท่านได้เดินทางมาที่วัดดอนบุบผารามเพื่อให้หลวงปู่อ้นทำการอุปสมบทให้ และหลังจากการอุปสมบทแล้ว หลวงพ่อมุ่ยก็ได้ศึกษาเล่าเรียนวิชาอาคมจากหลวงปู่อ้นต่ออีกสักพักหนึ่ง หลวงปู่อ้นจึงนับเป็นพระอาจารย์รูปแรกของท่านเท่าที่มีการบันทึกมา


2. หลวงพ่ออิ่ม วัดหัวเขา อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี
หลวงพ่อมุ่ยสนใจในวิปัสสนากรรมฐานมาก ซึ่งในยุคนั้นพระอาจารย์วิปัสสนากรรมฐานของเมืองสุพรรณที่มีชื่อเสียงโด่งดังมาก ก็มี หลวงพ่อโหน่ง วัดคลองมะดัน , หลวงพ่ออิ่ม วัดหัวเขา และหลวงพ่อปลื้ม วัดพร้าว   หลวงพ่อมุ่ยได้เลือกศึกษาวิปัสสนากรรมฐานและคาถาอาคมต่างๆจากหลวงพ่ออิ่ม วัดหัวเขาในช่วงที่บวชครั้งที่สอง ศึกษาจากหลวงพ่ออิ่มเป็นระยะเวลา1พรรษาเต็ม หลังจากศึกษาจากหลวงพ่ออิ่มหมดแล้ว หลวงพ่ออิ่มก็ได้พาไปศึกษาต่อกับหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า อ.วัดสิงห์ จังหวัดชัยนาท ซึ่งอยู่ห่างออกไปไม่ไกลกันมากนัก


3. พระครูวิมลคุณากร หรือ หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า อำเภอวัดสิงห์ จังหวัดชัยนาท
ในยุคนั้น หลวงปู่ศุข ท่านมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วประเทศ มีลูกศิษย์ลูกหามาขอศึกษาวิชาต่างๆกับท่านมากมาย หลวงพ่อมุ่ยก็เช่นกัน  ภายหลังจากที่ศึกษาวิชาต่างๆจากหลวงพ่ออิ่ม วัดหัวเขา จนหมดแล้ว  หลวงพ่ออิ่มจึงแนะนำให้ไปศึกษาเพิ่มเติมอีกที่หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า  หลวงพ่ออิ่มเคยเล่าให้ลูกศิษย์ของท่านฟังว่า ตัวท่านเองแก่แล้ว จึงศึกษาเวทมนต์ คาถาอาคมต่างๆจากหลวงปู่ศุขได้ครึ่งเล่ม ส่วนหลวงพ่อมุ่ยท่านยังหนุ่มสามารถศึกษาได้ถึงเล่มครึ่ง   หลวงพ่อมุ่ยท่านเป็นที่รักใคร่ของหลวงปู่ศุขมาก เป็นศิษย์ชั้นแถวหน้าของหลวงปู่ศุขเลยทีเดียว   กล่าวกันว่าท่านได้รับถ่ายทอดวิชาอาคมมาจากหลวงปู่ศุขมาก รองมาจากกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์


4. อาจารย์กูน วัดบ้านทึง อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี
อาจารย์กูน วัดบ้านทึง เป็นฆราวาสที่โด่งดังที่สุดของจังหวัดสุพรรณบุรี เดิมท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดบ้านทึง แต่ต่อมาท่านได้ลาสิกขาบท ท่านเชี่ยวชาญมากในด้านไสยศาสตร์และแพทย์แผนโบราณ สามารถรักษาโรคภัยไข้เจ็บต่างๆได้ดี เป็นที่พึ่งของชาวบ้านตลอดมา อาจารย์กูนเป็นผู้ที่ขึ้นชื่อเลื่องลือมากในยุคนั้น หลวงพ่อมุ่ยท่านสนใจในด้านแพทย์แผนโบราณมากจึงได้เดินทางไปขอฝากตัวเป็นศิษย์ต่ออาจารย์กูนในสมัยที่อาจารย์กูนท่านยัง ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบ้านทึงอยู่ และอาจารย์กูนยังได้มอบตำราการทำยาหอมให้ท่านมาด้วย ซึ่งต่อมาท่านก็มอบต่อให้ศิษย์ท่านเอาไปทำยาหอม ซึ่งต่อมาเป็นที่รู้จักกันดีคือ ยาหอม ตราฤาษีทรงม้า นั่นเอง


5. หลวงพ่อปลั่ง วัดวิมลโภคาราม อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี

ท่านเชี่ยวชาญในด้านคาถาอาคมมากผู้หนึ่งหลวงพ่อมุ่ยจึงได้ฝากตัวเป็นศิษย์เพื่อศึกษาวิชาอาคมต่างๆจากท่าน


6. นอกจากนี้ยังมีพระอาจารย์ของท่านอีกซึ่งไม่ปรากฏหลักฐานยืนยัน ชัดเจนว่าหลวงพ่อมุ่ยได้ศึกษาอะไรไปบ้าง อย่างเช่น หลวงพ่อกฤษณ์ วัดท่าช้าง (พระอุปัชฌาย์ในการบวชครั้งแรกของหลวงพ่อมุ่ย) ฯลฯ

5#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-20 12:50 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
งานด้านการปกครอง

ปี พ.ศ.2475 เป็นเจ้าอาวาสวัดดอนไร่
ปี พ.ศ.2476 เป็นเจ้าคณะตำบลหนองสะเดา


สมณศักดิ์

ปี พ.ศ.2496 ได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์ ซึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์ 1 ใน 2รูปของอำเภอสามชุกในสมัยนั้น
ปี พ.ศ.2502 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรที่ พระครูสุวรรณวุฒาจารย์ ซึ่งเป็นพระครูสัญญาบัตร 1 ใน 2 รูปของอำเภอสามชุกในสมัยนั้น

ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดดอนไร่

หลังจากชาวบ้านได้ร่วมกันสร้างวัดดอนไร่ขึ้นมาแล้วแล้ว ก็ได้นิมนต์หลวงพ่อปลั่ง วัดวิมลโภคารามมาเป็นเจ้าอาวาสรูปแรก อยู่ช่วยสร้างวัดได้1พรรษา  หลวงพ่อปลั่งก็ได้ย้ายกลับไป

ปี พ.ศ.2458 หลวงพ่อพลอยได้มาเป็นเจ้าอาวาสรูปที่สองอยู่ได้5พรรษาก็ลาสิกขาบท  จึงทำให้วัดดอนไร่ว่างเว้นเจ้าอาวาสอีกครั้งหนึ่ง

ปี พ.ศ.2466 ภายหลังจากการอุปสมบทครั้งที่สองของหลวงพ่อมุ่ย  ชาวบ้านได้นิมนต์ท่านมาพำนักจำพรรษาที่วัดดอนไร่ ท่านก็ได้ริเริ่มพัฒนาวัดตั้งแต่นั้นมา

ปี พ.ศ.2476 ท่านได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะตำบลหนองสะเดา  ท่านจึงมีภาระมากขึ้นด้วยว่ามีเขตการปกครองขว้างขวาง วัดใดเสื่อมโทรมก็ต้องเข้าไปดูแลพัฒนาซ่อมแซม รวมไปถึงวัดภายนอกเขตปกครองด้วย แต่ท่านก็ไม่ย่อท้อ ขยันหมั่นเพียรดูแลรักษาและพัฒนาจนสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี

หลวงพ่อมุ่ยได้สร้างพระอุโบสถหลังเก่าของวัดดอนไร่ ก่อด้วยอิฐไม่ได้ฉาบปูน หลังคามุงหญ้าแฝก ซึ่งได้ฝังลูกนิมิตไปในปี พ.ศ.2482 กุฏิสงฆ์ หอสวดมนต์ สิ่งก่อสร้างเหล่านี้ซึ่งสร้างจากไม้เป็นหลัก ซึ่งไม้ดังกล่าวหลวงพ่อมุ่ยท่านจะเป็นผู้นำกองเกวียนของบรรดาชาวบ้านเข้าป่า เพื่อไปตัดไม้ดังกล่าวมาสร้างวัดเองโดยตลอด จึงเป็นภาระอันหนักยิ่งของท่านในสมัยนั้น

ปี พ.ศ.2496 ท่านได้รับแต่งตั้งจากคณะสงฆ์เป็นพระอุปัชฌาย์ มีกุลบุตรมากมายมาให้ท่านอุปสมบทให้ รวมทั้งลาสิกขาบทจากท่าน ซึ่งในสมัยนั้นทั้งอำเภอมีพระอุปัชฌาย์แค่เพียง2รูปเอง จึงกล่าวได้ว่าในสมัยนั้นชาวสามชุกค่อนอำเภอบวชโดยหลวงพ่อมุ่ย

อุปนิสัย

หลวงพ่อมุ่ยท่านเป็นพระสมถะ ปฏิบัติตนอยู่ในกรอบของพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัดเสมอต้นเสมอปลาย ทำสิ่งใดแต่พอเหมาะพอควร มีความเมตตาแก่สัตว์โลกทั่วไปทุกหมู่เหล่า   ท่านทุ่มเทแรงกายแรงใจเพื่อพระพุทธศาสนาอย่างเต็มที่ด้วยเคยตั้งมั่น อธิษฐานชีพนี้เพื่อพระพุทธศาสนา

และหลวงพ่อมุ่ยท่านไม่เคยโอ้อวดตน อย่างเช่นครั้งหนึ่งสมเด็จพระสังฆราช จวน วัดมกุฏกษัตริยาราม เสด็จมาเป็นประธานในการปลุกเสกพระเครื่องยุทธหัตถีที่พระวิสุทธิสารเถระ หรือหลวงพ่อถิร วัดป่าเลไลยก์วรวิหาร เป็นแม่งานจัดสร้าง สมเด็จฯพบหลวงพ่อมุ่ย จึงตรัสถามหลวงพ่อมุ่ยว่า ทำไมจึงขลังนัก หลวงพ่อมุ่ยก็ตอบว่า หากท่านจะขลังก็คงขลังที่ความดี เพราะตั้งแต่ท่านบวชมา ท่านไม่เคยทำชั่วเลย   สมเด็จฯได้ยินดังนั้นทรงชื่นชอบในคำตอบของหลวงพ่อมุ่ยเป็นอย่างมาก

อาพาธและมรณภาพ

ปี พ.ศ.2516 หลวงพ่อมุ่ยเริ่มอาพาธ ล่วงถึงกลางปีก่อนเข้าพรรษาอาการอาพาธด้วยโรคชรานี้ได้ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น แพทย์ประจำตัวหลวงพ่อเห็นอาการไม่ดีขึ้นจึงได้นำหลวงพ่อเข้ารับการรักษา ทำให้ตลอดพรรษานี้หลวงพ่อต้องจำพรรษาอยู่ที่คลินิกของแพทย์ผู้เป็นลูกศิษย์

ก่อนหน้าฤดูเทศกาลกฐินหลวงพ่อได้กลับมาที่วัด ทำให้ลูกศิษย์ลูกหาดีใจมาก จัดขบวนต้อนรับกันยิ่งใหญ่ แต่หารู้ไม่ว่าการกลับมาครั้งนี้เป็นการจากลาของหลวงพ่อ ล่วงถึงเวลา 07.15 น. ของวันที่ 15 มกราคม  พ.ศ.2517 หลวงพ่อมุ่ยก็ละสังขารลงด้วยอาการสงบ สิริอายุ 85 ปี 41 วัน

ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้