ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 1927
ตอบกลับ: 4
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

ธรรมมีอยู่ทุกเวลา : หลวงปู่สิม พุทธาจาโร

[คัดลอกลิงก์]


พระธรรมเทศนา
พระญาณสิทธาจารย์ (หลวงปู่สิม พุทธาจาโร)
วัดถ้ำผาปล่อง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่


นิตยสารธรรมจักษุ ปีที่ ๘๒ ฉบับที่ ๔ มกราคม ๒๕๔๑


การฟังธรรมนั้น ความจริงธรรมนั้นมีอยู่ทั่วไป
ถ้าใจเราตั้งมั่นเป็นสมาธิภาวนา อะไรๆ ก็เป็นธรรมเป็นพระธรรมพระวินัยทั้งนั้นแหละ
การฟังธรรมจึงไม่เลือกกาล ไม่เลือกเวลากาลเวลาที่เราดังนี้เรียกว่าเป็นเวลาเป็นระยะ
แต่ถ้าตัวเองสอนตัวเองฟังธรรมอยู่ในตัวเราแล้ว ธรรมมีอยู่ทุกเวลา
นั่งก็ภาวนาได้ ยืนก็ภาวนาได้เดินก็ภาวนาได้ ไปรถไปราก็ภาวนาได้


เวลาไปรถไปราให้ภาวนาตายไว้ล่วงหน้า มรณํ เม ภวิสฺสติ (ความตายจักมีแก่เรา)
ความตายอยู่ที่ความประมาท ผู้ใดประมาทเปรียบเหมือนคนตายแล้ว
คนตายแล้วทำอะไรไม่ได้ ผู้ประมาทมัวเมาเข้าใจผิดคิดหลงลืมภาวนา พุทโธ ในใจ
ลืมพิจารณาสังขาร ร่างกาย รูปธรรม นามธรรมของตัวเอง และของบุคคลผู้อื่น
ขึ้นชื่อว่า รูป นามกาย ใจ ตัวตน สัตว์ บุคคล ย่อมมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดกาล

การนั่งสมาธิภาวนาให้พากันนั่งขัดสมาธิเพชร การนั่งขัดสมาธิเพชรนี้ อย่าว่าเราทำไม่ได้
เมื่อเราทำไม่ได้คนอื่นเขาก็ว่าทำไม่ได้เหมือนกัน ที่เราทำไม่ได้เราติว่าขัดแข้งขัดขาเจ็บนั่นเจ็บนี่
รูปร่างกายของมนุษย์จะไม่ให้มันเจ็บมันเป็นไม่ได้ เกิดมาแล้วจะไปคิดว่า ไม่ให้มันแก่ชรา
มีทางแก้ไขได้ที่ไหน มันแก้ไม่ได้ ความแก่ความชรามันแก่ตั้งแต่อยู่ในท้องแม่
อยู่ในท้องแม่ก็คือว่าแก่ คนอยู่ในท้องแม่มันแก่แล้ว มันใกล้จะคลอดแล้ว
นั่นน่ะมันแก่ตั้งแต่มาอยู่ท้องแม่ เมื่อเกิดมาแล้วมันก็แก่เรื่อยมา
มันแก่ขึ้น แก่ลง เจริญขึ้น แล้วก็ดับไป เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ไม่มีอะไรที่จะคงที่ได้

แต่ความอยากความปรารถนาของคนเรานั้น อารมณ์เรื่องราวใดที่เป็นความสุขกายสบายใจ
ก็อยากให้อารมณ์เรื่องราวนั้นอยู่ได้นาน ถ้าเรื่องราวอะไรเป็นอารมณ์ที่เสีย
อารมณ์ที่ไม่ชอบพอใจ ก็ไม่ต้องการ เมื่อมันเกิดขึ้นแล้ว
ในโลกนี้มันมีทุกอย่าง ก็ล้วนแล้วแต่ธรรมเทศนาทั้งนั้นแหละ
เราได้เห็นคนเกิด ก็เป็นธรรมเทศนาสอนใจ ว่าเกิดมาเป็นทุกข์อย่างนี้นะ
ทุกข์ทั้งผู้เกิด ทั้งผู้ให้เกิด ดูสภาพความเกิด
พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า ความเกิดเป็นทุกข์
แต่จิตใจคนเราก็ไม่เอามาพิจารณาว่าเกิดเป็นทุกข์อย่างไร
ใครบ้างเป็นทุกข์ในวันเวลาที่เราเกิด ต้องกำหนดพิจารณาดูเรื่องของตัวเอง
ไม่ให้จิตใจออกไปนอกกายนอกจิต เมื่อจิตอยู่ที่กายวาจาจิตของตัวเองอยู่
มีสติในเวลาดู มีสติระลึกอยู่ในเวลาฟังเสียง
ในเวลาดมกลิ่น ลิ้นลิ้มรส กายถูกต้องโผฏฐัพพะ ใจคิดธรรมารมณ์
พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า จงเป็นผู้มีสติในเวลานั่ง จงเป็นผู้มีสติในเวลายืน
จงเป็นผู้มีสติในเวลาเดิน ในเวลาไปรถไปรา เวลานั่ง เวลานอน ท่านให้มีสติระลึก

บางคราวบางเวลาเราไปนั่งในที่เราขาดสติ
บนศีรษะบนหัวของเรามันมีไม้มีอะไรอยู่บนหัวบนศีรษะ
แต่เราขาดสติ ไม่ได้ระลึกว่า เวลาเราลุกขึ้น เราจะต้องระวัง ไม่ได้คิด !
เมื่อคิดจะไปก็มองไปเห็นที่ตนจะไป ก็เลยลุกขึ้นด้วยความแรงสูง
ศีรษะจะไปตำไม้ตำทิ่มอยู่แล้วนั้นแหละ บางคราวบางคนเมื่อตำแล้วจนกลับนั่งอีก
มันไปไม่ได้เพราะว่าขาดสติ เอาศีรษะไปตำไม้ตำขอนตำสิ่งที่มันมีอยู่ใกล้ๆ ตัวเองนั่นแหละ
อันนี้ท่านว่าขาดสติ คนที่ไปไหนมาไหน พลาดล้ม
แผ่นดินใหญ่เท่าใหญ่ ก็เหยียบพลาดไปล้ม ในเวลาล้มนั้นน่ะ ถ้าเด็กล้มก็พาให้เจริญวัยใหญ่โต
แต่ถ้าคนแก่คนชราล้มก็พาให้ตาย คนแก่คนชราเพิ่นว่าห้ามล้ม ล้มละก็ตายล่ะ

จงภาวนาดูทุกอย่าง ยืนเดินนั่งนอนมีสติภาวนา พุทฺโธอยู่ พุทฺโธๆ
จิตใจผู้รู้ ให้รู้แจ้งอยู่ในธรรมปฏิบัติระมัดระวังจิตใจของตน ไม่ให้โกรธให้คนโน้นคนนี้
ไม่ให้โกรธให้ตัวเอง ตั้งใจภาวนาเอาใจของตนให้แน่วแน่มั่นคง อย่าได้หลงใหล
ความหลงใหลไปตามอำนาจกิเลส เวลามันหลงใหล มันหลงที่ไหน เรียกว่าหลงที่ขาดสติ
คนเราเวลาพูด พูดไปๆ ความหลงมันก็ขึ้นมาทับถมจิตใจขาดสติ
เมื่อขาดสติ อื่นๆ มันก็ขาดไป


สตินี้เมื่อระลึกอยู่ในกาย ในหลักของกายว่า กายนี้เต็มไปด้วยโลหิต
เต็มไปด้วยของไม่สะอาดมีประการต่างๆ ตรวจตราพิจารณาร่างกายของตนเองอยู่
ให้มีสติ ไม่ให้หลงกาย จิตใจที่ไม่สงบระงับอยู่ทุกวันเวลานี้
เพราะอะไร เพราะจิตใจเราไม่ได้มาพิจารณากาย คือรูปขันธ์ตัวเอง
เมื่อไม่พิจารณารูปขันธ์ตัวเองที่นั่งเฝ้า นอนเฝ้า กองกระดูกอยู่นี้
จึงได้เกิดความเกลียดชังบุคคลภายนอกที่ไม่ชอบพอใจตัวเอง
จึงได้เกิดความรักใคร่พอใจในรูป รส กลิ่น เสียง
จึงได้สร้างความทุกข์ความเดือดร้อนให้ตัวเอง
และเพื่อนมนุษย์ ให้ได้รับความเดือดร้อนวุ่นวาย

นี่คือไม่ตรวจกาย พิจารณาร่างกายอันเต็มไปด้วยของไม่สะอาดมีประการต่างๆ
กายนี้ พระพุทธเจ้าสอนว่าให้กำหนดให้เห็นก้อนอสุภะที่มันมีอยู่
คำว่า อสุภะ ก็คือว่าของไม่งาม ไม่ใช่ของดิบของดี ไม่ใช่ของทนทาน ประการใด
ถ้าหากว่าคนไหนได้ไปเยี่ยมคนป่วยคนไข้ หรือคนใกล้จะตาย หรือคนตาย
ถ้ามันหมดลมเมื่อใด เวลาใด มันจะส่งกลิ่นเหม็นออกมา ยังไม่ตายก็จริง
แต่ว่าธาตุต่างๆ มันตายไปแล้ว มันเกิดธาตุเหม็นธาตุเขียวขึ้นมาแล้วก็มี
สังขารร่างกายของเราก็ตาม ของเขาก็ตาม มันเหมือนๆ กัน ถ้าตายแล้ว มันเน่าแล้ว
ไม่ว่าคนในเมือง คนนอกเมือง คนในป่าในดอย ในที่ใดก็ตาม
ขึ้นชื่อว่ามนุษย์ ถ้ามันตายแล้ว กลิ่นเหม็นเหมือนกันหมด

ให้กำหนดตัวเองให้รู้ ภาวนาดูให้เข้าใจภายใน ให้เห็นว่าก้อนอสุภกรรมฐานมันไหลเข้าเทออก
ตื่นเช้ามาแจ้งมาก็หาอาหารมาเลี้ยงไหลเข้าไป ตื่นนอนขึ้นมาก็ถ่ายไป
ชีวิตของคนเรานี้เรียกว่าลำบาก ทุกข์ยากลำบากไม่ใช่สบาย

2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-20 09:39 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
เราอยู่ทุกวันนี้ก็คือว่า ทนทุกขเวทนาเพราะวิบากกรรมที่มาลุ่มหลงมัวเมา
ไม่บำเพ็ญทานรักษาศีล บำเพ็ญภาวนาให้เพียงพอ สติก็ขาดไป สมาธิก็ขาดไป ปัญญาก็ขาดไป
ความรอบรู้ในกองสังขารไม่เพียงพอ จิตใจมันก็หลงพร่ำเพ้อขาดสติสัมปชัญญะ
บุคคลที่ขาดสติสัมปชัญญะขาดภาวนาในใจ ความลุ่มหลงมัวเมามันเป็นคลื่นมหาสมุทร
ทับถมจิตใจของบุคคลผู้นั้น ความมีหน้ามีตา ความมีชื่อมีเสียง
ความหมายว่าเป็นตัวเป็นตน เป็นเราเป็นของของเรา เมื่อไม่ภาวนาดู
จิตใจมันก็เพลินออกไปข้างนอก หลงออกไปข้างนอก

พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ว่า สวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม
ธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว สอนไว้ดีแล้ว บอกไว้ดีแล้วแม้
จะตรัสไว้ บอกไว้ สอนไว้ แนะนำไว้อย่างไรก็ตาม
สนฺทิฏฺฐิโก ผู้ปฏิบัติผู้ภาวนาจะต้องรู้เองเห็นเอง
ให้เข้าใจตามพระธรรมวินัยคำสอนของพระพุทธเจ้า ไม่ใช่ท่านสอนท่านตรัสดีแล้ว
อันนั้นมันดีของท่าน ของเรามันยังไม่ดี จึงให้พินิจพิจารณาภาวนา
อย่าได้มีความท้อถอย อย่าไปเห็นว่าภาวนามันเจ็บหลัง ปวดเอว หลังและเอวข้อเท้าข้อเข่า
มีร่างกายจะไม่ให้มันเจ็บปวดทุกขเวทนา (เป็นไป) ไม่ได้
เราต้องกำหนดรู้ให้มันเห็นเอง เห็นเองว่า นี่แหละร่างกาย สังขาร มันรอวันตายอยู่ทุกเวลา
จิตเราอย่าได้มาหลงยึด ยึดหน้าถือตา ยึดตัวคือตน ยึดเรายึดของของเรา
เวลาเป็นเด็กก็หลงวัยเด็ก วัยหนุ่ม ว่าตัวเองแข็งแรง ไม่แก่ไม่เจ็บไม่ไข้และจะไม่ตายด้วย
ที่ไหนได้ เมื่อความตายมาถึงเข้า เด็กๆ ก็ตายได้ คนหนุ่มแข็งแรงก็ตายได้
คนแก่คนชรายิ่งตายเร็ว ต้องภาวนาไว้ นึกไว้ เจริญไว้ พิจารณาไว้
ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก ตับไตไส้พุง อาหารใหม่ อาหารเก่า
ไหลเข้า เทออก ไม่ให้จิตใจออกหนีจากร่างกายสังขารของตัวเองเรียกว่า ภาวนา

ภาวนาเพียรเพ่งดูภายนอกมันเป็นอย่างไร ภายในเป็นอย่างไร
กิเลสความโกรธที่มันอยู่นี่ มันอยู่ที่ไหน มันเป็นตัวอย่างไร
กิเลสความโลภ คือความอยากได้ไม่มีที่สิ้นสุด มันอยู่ที่ไหน ทำไมเราภาวนาไม่เห็นมัน
ต้องภาวนาให้มันรู้เห็นแจ้งในจิตในใจว่า ตัวโลภะ ตัวมานะ ตัวทิฏฐิ มิจฉาทิฏฐิ สัมมาทิฏฐิ
มันอยู่ที่ไหน ภาวนาดู สนฺทิฏฐิโก ต้องเห็นเอง เห็นเอง รู้เอง เข้าใจเอง
เรียกว่า อะไรผิดอะไรถูก จะได้แก้ไขด้วยสติปัญญาของตัวเอง
จะไปรอว่าให้คนอื่นบอกตักเตือนไม่ได้ เราต้องตักเตือนจิตใจของเราเอง


ตัวเจ้าของเรามันอยู่ที่ไหน อะไรเป็นจิตอะไรเป็นใจ อะไรเป็นกาย อะไรเป็นวาจา
ฝึกจิตใจของตัวเองให้มีสติ สนฺทิฏฐิโก เอาจนมันเห็นเอง เห็นเอง เข้าใจเอง
ให้มันแจ่มแจ้ง ชัดเจน ซาบซึ้งตรึงใจ เอาจนให้มันรอบคอบ อะไรควร อะไรไม่ควร
อะไรดี อะไรชั่ว ใครจะเป็นผู้ทำดีทำชั่ว มันมีที่ไหน
ล้วนแล้วแต่มารวมอยู่ในสติสัมปชัญญะ สติวินัย
ผู้จะรักษาพระวินัยได้ต้องมีสติ สติสัมโพชฌงค์ มหาสติปัฏฐานสี่ สติในเวลานั่งให้มี
เวลาจะนั่งก็ให้มีสติ เวลาจะลุกก็ให้มีสติ เวลาจะยืนก็ให้มีสติ
เวลาจะเดินก็ให้มีสติ เดินอยู่ก็ให้มีสติ ตาดูหูฟัง มีสติอยู่ในตัวในใจ นั่นจึงชื่อว่า สนฺทิฏฐิโก
เอาจนรู้เองเห็นเอง ให้รอบคอบในตัวเราเอง ไม่มีคนอื่นที่จะไปตามรักษาให้
ตัวเองรักษาตัวเองทั้งนั้นแหละ

พระธรรมคำสอนพระพุทธเจ้า พระองค์ตรัสไว้ดีแล้ว
แต่เรื่องที่จะนำมาประพฤติปฏิบัติสังวรระวังจิตใจกายวาจาจิตของเรา
มันต้องอีกทีหนึ่ง พระองค์ตรัสดีแล้วเราก็ต้องทำดี ปฏิบัติดีด้วยกาย คือความประพฤติ
ด้วยวาจาคือคำพูด ด้วยใจคือความคิดความภาวนาอยู่ เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว
เรียกว่า สวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม ธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว
สนฺทิฏฐิโก ผู้ปฏิบัติต้องเห็นเองเข้าใจเอง อกาลิโก ไม่มีกาลไม่มีเวลา มีสติเมื่อใด เวลาใด
ธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้านั้นเทศนาว่า การอยู่ทั้งวัน กลางคืน ยืน เดิน นั่ง นอน
ทุกอิริยาบถเหมือนกับฝนตกในฤดูฝน ไม่เลือกกาล เลือกเวลา
ผู้ใดประพฤติดีปฏิบัติชอบไม่ท้อถอย ผู้นั้นก็ใกล้ไปสู่การบรรลุมรรคผลนิพพานได้
ไม่ว่านั่ง นอน ยืน เดิน กลางคืน กลางวัน ภาวนาไม่ท้อถอย
เอหิปสฺสิโก เป็นธรรมร้องเรียกผู้ปฎิบัติให้มาดูได้ ดูกาย ดูใจ ดูความผิดความถูกของตัวเอง
เอหิ-จงดู ปสฺสิโก-จงเห็น จงดู จงเห็นอยู่ที่นี้ จิตแส่ส่ายไปภายนอกนั้นไม่ได้
คิดไปกว้างเท่าใด ก็หลงกว้างไปเท่านั้น ให้ โอปนยิโก รวมเข้ามา น้อมเข้ามา สืบเข้ามา อยู่ที่จิตใจดวงผู้รู้ ภาวนา พุทฺโธ อยู่ พุทฺโธ พุทธะ จิตใจดวงผู้มีความรู้อยู่เดี๋ยวนี้ ขณะนี้เป็นดวงพุทธะ

พุทธะ แปลว่า ผู้รู้ จิตใจทุกคนมันมีใจผู้รู้อยู่ในตัวทั้งนั้น
แต่แทนที่ใจผู้รู้จะอยู่สงบตั้งมั่นอยู่ในธรรมปฏิบัติ มันกลายเป็นใจผู้หลง
หลงไปตามรูป หลงไปตามเสียง หลงไอตามกลิ่น หลงไปตามรสอาหารการกิน
หลงไปตามโผฏฐัพพะ เย็นร้อนอ่อนแข็ง หลงไปตามธรรมารมณ์ หลงไปตามโลก
หลงไปตามธรรม คือไม่สงบตั้งมั่นอยู่ในกาย ในจิตของตัวเอง

กิเลสโลเลมันพานั่ง กิเลสโลเลมันพานอน กิเลสโลเลมันพาไป
กิเลสโลเลมันพาอยู่ เมื่อจิตใจโลเล
ไม่มีหลักศีล สมาธิ ปัญญา อยู่ในตัว ในกาย วาจา จิตแล้ว
เสียหลัก เสียหลักภาวนา ให้ตั้งจิตตั้งใจขึ้นมาในหัวใจของเราทุก ๆ คน
คนเรานั้นมีบุญบารมีต่างๆ กัน มีสติมากน้อยกว่ากัน มีสมาธิมากน้อยกว่ากัน
มีปัญญามากน้อยกว่ากัน ต้องภาวนาอยู่ ต้องทำอยู่ ปฏิบัติอยู่
รักษาอยู่ ตามรู้เห็นอยู่ ภายในจิตใจดวงใจของเรานี้

เมื่อเราได้เห็นคนเกิด คนแก่ คนเจ็บ คนไข้ คนตาย คนอยู่ดี สบาย ไม่สบาย
เห็นอะไรอยู่ก็ตาม อย่าได้หลงออกไป เอามาเตือนใจของเรา ให้มีสติ ให้มีสมาธิด้วย
ให้มีปัญญาด้วย จนให้มีญาณอันวิเศษ ละกิเลส ราคะ โทสะ โมหะในจิตใจ
ในกายวาจาจิตของตัวเอง ให้มันหมดไป สิ้นไป ให้ใจผ่องใสสะอาด
ใจขี้เซาเหงานอน ไล่ให้มันไป ไปมัวหลับใหลอยู่ ไม่ได้ปัญญา ไม่ได้ความคิดที่ดี

คนเราโง่ (หรือ) ฉลาดมันอยู่ที่ความตั้งใจ ถ้าใจไม่ฉลาด
มันก็เก็บเอาความโง่เขลาเบาปัญญามาไว้ อารมณ์ที่ดีมันนึกไม่ได้ พุทโธๆ ในใจมันนึกไม่ได้
แต่นึกรั่วไหลไปที่อื่น หลงใหลไปตามกิเลสของใจ กิเลสของโลก
เมื่อหลงออกไปกว้างขวางเท่าไร ก็เรียกว่าจมลงไปในแม่น้ำมหาสมุทร
คือว่าหลงไปตามสมมติของมนุษย์ที่สมมติอยู่
จิตและใจเราไม่ภาวนาไม่สงบเป็นดวงหนึ่งดวงเดียว จึงใช้การไม่ได้

โอปนยิโก ท่านให้น้อมเข้ามาพิจารณา อะไรไม่ดีอย่าไปยึดไปถือเอา
สิ่งใดดีมีประโยชน์ ไม่มีทุกข์โทษประการใด พระองค์ก็ให้เอามาภาวนาให้มันรู้เข้าใจไว้
ตั้งจิตใจให้มั่นคง หนักแน่น ดูพื้นแผ่นดินพื้นพสุธาหน้าแผ่นดินที่เรานั่งยืนเดินอยู่
สร้างบ้านเรือนอาศัย ตั้งแต่เกิดจนตาย เขามีความหนักแน่น ไม่หวั่นไหวสั่นสะเทือน
มนุษย์จะทำดีให้แผ่นดินก็เฉย มนุษย์จะดุด่าว่าร้ายให้ทำลายแผ่นดินอย่างใด
แผ่นดินเขาก็ไม่เดือดร้อน แต่กิเลสในใจของคนเรามันเดือดร้อน คือจิตใจไม่อยู่ไม่ภาวนา

ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญญูหิ วิญญูชนทั้งหลาย ประชาชนทั้งหลาย คนเราทุกคนซึ่งรู้แจ้ง
ปัตจัตตัง จำเพาะจิต คือให้มารวมจิต ตั้งจิตตั้งใจของตัวเอง
ปัจจัตตัง จำเพาะจิต มันเกิดขึ้นที่จิตที่ใจทั้งนั้น คนจะทำบาปมันก็เกิดที่ใจ
คนจะทำบุญก็อยู่ที่ใจ เมื่อจิตใจนึกดู เจริญดูอยู่ มันก็ทำบุญในความคิดในใจ
มันก็เป็นบุญ ประพฤติทางนอกออกไปก็เป็นบุญ พูดจาปราศรัยก็เป็นบุญ พุทโธๆ อยู่ในใจ
ก็เป็นบุญเป็นกุศลทั้งนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ภาวนามัย บุญสำเร็จด้วยการภาวนา

มันจะสำเร็จได้ก็อยู่ที่เราประกอบกระทำ มีสติอยู่ทุกเวลา ว่าอะไรมันเป็นอะไร
จิตใจเดี๋ยวนี้ขณะนี้มันคิดอะไร คิดในสิ่งที่เป็นบุญหรือคิดในสิ่งที่เป็นบาป สิ่งใดที่เป็นบาปเป็นอกุศล
เมื่อมองเห็นได้ก็รีบละ อย่าไปตามมันไป ตามมันไปไม่มีที่สิ้นสุด ทวนกระแสเข้ามา
ทวนเข้ามาภายใน ตาจะเห็นรูปก็ต้องมีจิตใจอยู่ภายในนี้ ลำพังแต่ตามันไม่รู้อะไร
ตามันเป็นจักษุประสาท จิตใจดวงผู้รู้อยู่ในตัวในใจนั้นแหละเป็นผู้รับรู้ประสาท
ใจดวงนี้มีสติเต็มที่หรือยัง เป็นขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิหรือยัง
เมื่อยังก็รีบลุกขึ้นภาวนา อย่าไปหลับใหลอยู่ตามอารมณ์กิเลส

กิเลสๆ นั้นไม่ว่ากิเลสความโกรธอย่าได้ทำไปตาม ไม่ว่ากิเลสความโลภอย่าได้ทำไปตาม
กิเลสความหลงยิ่งเป็นของละเอียด มันเกิดได้หลงอะไรแล้วมันไม่ฟังใครละ
มันทำไปตามความหลง มันพูดไปตามความหลง มันคิดไปตามความหลง
จะมีใครกี่ร้อยคนมาบอกมาสอนมันก็ไม่ฟัง มันก็หลงไปตามเรื่อง หลงไป ไหลไป
จนไปพบความเดือดร้อนวุ่นวายซึ่งเกิดขึ้นเพราะความประมาทมัวเมาของตัวเอง
อยู่ไปติโน้นตินี้แทนที่จะติตัวเราเองว่าเราเป็นผู้ขาดสติ ขาดสมาธิ ขาดปัญญา มองไม่เห็น !
ดูเถิด คนเราเมื่อผิดพลาดอะไรขึ้นมา มักแต่ไปติโน้นตินี้ ไม่ติตัวเองว่าตัวเองมันขาดอะไร
ขาดทานบารมี-การบำเพ็ญทานไม่เพียงพอ ขาดศีลบารมี-ขาดการรักษาศีล

3#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-20 09:39 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
พระพุทธเจ้าทรงตรัสหลักศีล ๕ ไว้ให้เว้นจากฆ่าสัตว์ตัดชีวิต
ให้เว้นจากลักขโมยวัตถุข้าวของของผู้อื่น ให้เว้นจากประพฤติผิดในกาม
ให้เว้นจาการพูดโกหกพกลม ให้เว้นจากดื่มกินเครื่องดองของเมาสุราเมรัย ไม่มีศีล ไม่มีธรรม
ไม่มีคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าอยู่ในตัวในใจ จึงได้เดือดร้อนวุ่นวาย ตั้งแต่เกิดจนตาย
คนที่เดือดร้อนวุ่นวายตั้งแต่เกิดจนตายนั้น คือว่า คนไม่มีทาน การให้การบริจาคไม่มี
คนไม่มีศีล เรียกว่าเป็นคนทุศีล ทำแต่บาปหยาบช้าทารุณ ทำบาปได้ ทำบุญไม่ได้
ฆ่าสัตว์ตัดชีวิตได้ แต่คนอื่นจะมาฆ่าตัวเองก็ไม่ยอม นี้แหละ! ปัญญามันโง่เขลาเบาปัญญาอยู่ตรงนี้
เพราะจิตไม่ตั้งมั่น สมาธิไม่เกิด ปัญญาไม่มี สติไม่ขาด สติตรงนี้ขาด สมาธิตรงนี้ขาด
ปัญญาตรงนี้ขาด เมื่อมันขาดตรงนี้ เราก็ตั้งจิตตั้งใจขึ้นมา ให้เป็นผู้รำลึกอยู่เสมอ

มรณํ เม ภวิสฺสติ มรณะ-มรณัง แปลว่าความตาย เม ก็คือเรา เราต้องตายภายในร้อยปี
ยังไม่ถึงร้อยปีก็ลำบากลำบนที่สุด เพราะว่าอยู่กับสังขาร
สังขารนี้เมื่อมันแก่ชราแล้วก็ชำรุดทรุดโทรมลงไป เวลายังเด็กยังหนุ่มยังแข็งแรงก็ไม่เอาถ่าน
ภาวนาก็ไม่เอา ศีลก็ไม่รักษา ภาวนาไม่เอื้อเฟื้อ บุญกุศลไม่สนใจ
อันนี้แหละมันเกิดความทุกข์ขึ้นมา เมื่อแก่ชราแล้วจะลุกขึ้นไปก็ร้อง (เพราะ) มันเจ็บมันปวด
จะนั่งลงมาก็ร้องโอยๆ อยู่ พุทโธอยู่ที่ไหน ธัมโมอยู่ที่ไหน สังโฆอยู่ที่ไหน นึกไม่ได้
เจริญไม่ได้ทั้งนั้น ฉะนั้นอย่าไปรอให้มันแก่ เราตกอยู่ในวัยเด็กก็ภาวนาในวัยเด็กนี่แหละ
พุทโธๆ อยู่นี้ เมื่อตกอยู่ในวัยแก่ เราก็ไม่ต้องวิตกวิจารณ์ว่า เมื่อเราเด็ก เราหนุ่ม
ไม่มีครูบาอาจารย์ ไม่มีผู้พาประพฤติปฏิบัติ
อันนี้มันเป็นข้อแก้ตัวของคนขี้เกียจ คนไม่ลุกขึ้นภาวนา

หลักพระพุทธเจ้า พระองค์สอนว่า หลักปัจจุบัน ตัตถะๆ ในที่นี้ๆ ในที่นั้นๆ
คือถ้ารวมจิตรวมใจลงไปในหลักปัจจุบันแล้ว แก่ก็ภาวนาได้ หนุ่มก็ภาวนาได้
ปานกลางก็ภาวนาได้ คือเอาหลักปัจจุบัน เดี๋ยวนี้ เวลานี้ เป็นหลักปฏิบัติธรรม
เรานั่งก็ภาวนาในเวลานั่ง เรายืนก็ภาวนาในเวลายืน เดี๋ยวนี้ เราเดินไปมาที่ไหน ก็ภาวนาในที่นั้น
ถ้าตั้งจิตเจตนาลงไปในหลักปัจจุบัน ให้จิตใจมันตั้งมั่นเต็มที่ มีสติเต็มที่ มีสมาธิเต็มที่
มีปัญญาเต็มที่ มีญาณอันวิเศษ ละกิเลสในจิตในใจ ไม่ว่าฝนจะตก แดดจะออก ลมจะพัด
อะไรก็ตาม เราจะต้องลุกขึ้นยืนหยัดต่อสู้ กิเลสในหัวใจให้ได้ กิเลสใหม่มันเข้ามา
ให้คอยระวัง ความสรรเสริญเยินยอบังเกิดมีขึ้นมันก็ (อยู่ได้) ไม่นานก็ย่อมมีความดับไป
เมื่อความติเตียนนินทาว่าร้ายป้ายสีให้ ก็อย่าไปเสียอกเสียใจ
ไม่ใช่ว่าความเสียมันอยู่ที่เขาติเตียนนินทา
เราทำไม่ดีทางกาย เราพูดไม่ดีทางวาจา เราคิดในจิตไม่ดีทางในใจต่างหาก
ไม่ใช่คนอื่นสรรเสริญแล้วก็ดี คนอื่นเขาติเตียนนินทาแล้วก็เราชั่วเสียหายไม่มี !
ผู้อื่นจะมาทำให้ผู้อื่นบริสุทธิ์ไม่ได้ ตัวใครตัวมัน คือภาวนาเอง รักษาศีลเอง ทำบุญสุนทานเอง
ตั้งจิตเจตนาให้อยู่ในระดับที่เรียกว่าสูง ไม่ให้จิตใจรั่วไหลไปอยู่ตามอำนาจกิเลสความโกรธ
ตามอำนาจกิเลสความโลภ ตามอำนาจกิเลสความหลง เป็นผู้เตือนใจของตนได้ทุกเวลา
เมื่อเตือนใจของตนได้แก่เวลาแล้ว ไม่ว่าจะอยู่ที่นี้ที่โน้นที่ไหนก็ตาม

ธรรมดารูปขันธ์ร่างกายมันต้อง ยืน เดิน นั่ง นอน หมุนไปตามกฎของกรรม กฎของกรรม
กฎธรรมชาติมันจะต้องเป็นไปเอง เมื่อไปไหน อยู่ไหน อะไรก็ตาม จงเป็นผู้มีสติ
เตือนใจของตัวเองว่า เราจะต้องมีสติ เราจะต้องมีสมาธิ เราจะต้องมีปัญญา
เราจะต้องฝึกฝนจิตใจของตน ให้เกิดความรู้ความเข้าใจ ในธรรมปฏิบัติ
ธรรมปฏิบัตินั้นไม่ได้เลือกกาลเวลา กาลใด เวลาไหนก็ตาม มันขึ้นอยู่กับการประกอบกระทำ

ดูสิ ในสมัยครั้งพุทธกาล สมัยพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้านั้นเป็นหลักเป็นประธาน
พุทธสาวกทั้งหลายนับตั้งแต่ญาติโยม นักบวช ภิกษุ สามเณร ภิกษุ ภิกษุณี
เมื่อท่านได้เห็นพระพุทธเจ้าว่า ทำดีได้ดีอย่างนี้ ใครทำชั่วเสียหายได้รับทุกข์อย่างนี้
ก็ละความไม่ดี บาป พระองค์สอนไม่ให้ทำ บุญ พระองค์สอนให้นึก ให้เจริญ ให้ประกอบ กระทำ
เมื่อบุญให้ผล ก็ย่อมมีความสุขกายสบายใจ เรื่องเดือดเนื้อร้อนใจไม่มี
เพราะว่าบุญช่วยสนับสนุน คนทำบาปมันให้ผล ไม่ว่าจะไปไหนก็โดนแต่เรื่องทุกข์ เรื่องร้าย
เรื่องไม่ดีทั้งนั้นแหละ เพราะว่าบาปของตัวเอง ทำแต่บาปหยาบช้าทารุณ ไม่มีบุญอยู่ในใจ
จิตใจเร่าร้อนอยู่ด้วยกิเลส ราคะ โทสะ โมหะ ตลอดวันตลอดคืน
ไม่ระงับดับกิเลสในหัวใจมันก็มีแต่ความทุกข์อย่างนี้แหละ

พุทโธ พระพุทธเจ้าทรงตรัสเตือนไว้ว่า ให้ตั้งใจปฏิบัติธรรม ให้เอาใจอยู่ในใจ
เอาจิตใจอยู่ในใจ ให้ใจมีสติ ให้ใจมีสมาธิ ให้ใจมีปัญญา ให้ใจสงบตั้งมั่น
อย่าได้ลุ่มหลงมัวเมาไปอยู่ใต้อำนาจกิเลส ความโกรธ ความโลภ ความหลง
กิเลส ความโกรธ โลภ หลงนั้นมันมืออยู่ในตัวในใจของคนเราเต็มอยู่แล้ว
ใครก็ไม่ต้องการ ไม่ต้องเอาไปให้เขา เราทุกคนมีอยู่มากน้อยเท่าไร
ความโกรธโลภหลง พระพุทธเจ้าสอนให้ละให้ทิ้ง ให้ปล่อย ให้วาง
แม้มันยังปล่อยวางไม่ได้ ก็เพียรพยายามเพื่อการปล่อยวางละก่อน
ไม่ต้องไปเก็บเอาเรื่องความโกรธ ความโลภ ความหลงเอามาเป็นอารมณ์

พุทโธภาวนาอยู่ในใจให้เป็นปัจจุบันธรรม ธรรมที่เป็นปัจจุบัน
ไม่ต้องไปเลือกกาลเลือกเวลา ไปนั้นไปนี้เสียก่อน ได้อย่างนั้นเสียก่อน อย่างนี้เสียก่อน
ไม่ทันกาลเวลา เอาปัจจุบัน ภาวนาปัจจุบัน พุทโธ ปัจจุบัน ธัมโม สังโฆ นึกน้อมอยู่ในปัจจุบัน
เมื่อจิตใจนึกน้อมอยู่ในปัจจุบัน จิตใจก็ย่อมรวม ย่อมสงบระงับ ตั้งมั่นลงไปที่หัวใจ
เมื่อใจมีสมาธิภาวนาอยู่ จิตใจก็ผ่องใสสะอาด ความโกรธ โลภ หลง
ก็ไม่มาหมักหมมอยู่ในหัวใจ ล้างหัวใจให้สะอาด ล้างด้วยพระธรรมคำสั่งสอน
ล้างด้วยสมาธิภาวนา ล้างด้วยการละความโกรธ ความขัดเคืองในใจไม่ให้มี

จะถูกใจ ไม่ถูกใจก็ตาม ไม่ต้องไปเก็บเอามา เกลียดคนโน้นชังคนนี้ รักคนโน้นชอบคนนี้
ไม่ให้มีในใจ ในหัวใจมี พุทโธ เป็นที่อยู่ พุทโธ พุทโธ อยู่ในตัวในใจ
ความรักความชังท่านให้ละทิ้ง คือว่าไม่ให้ไปอิงอาศัยความรัก-ชัง
กามสุขัลลิกานุโยค-อัตตกิลมถานุโยค ความรักเกิดขึ้นก็ให้ใจเราเป็นกลางอยู่
ความเกลียดความชังเกิดขึ้นก็ให้ใจเป็นกลางอยู่ ความเกลียดความชังเกิดขึ้นก็ให้ใจเป็นกลาง

ภาวนา พุทโธ อยู่ เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา คือทำใจเป็นกลางไว้ ไม่กระทบฝั่ง ไม่กระทบคน
ไม่กระทบสัตว์ เป็นผู้มีสติเต็มที่ เป็นผู้มีสมาธิเต็มที่ เป็นผู้มีปัญญาเต็มที่
เรียกว่าภาวนาอยู่บำเพ็ญอยู่ ประกอบอยู่ จิตใจไม่ท้อแท้อ่อนแอ แล้วไม่มีอะไรท้อถอย
ร่างกายสังขารของคนเราแต่ละบุคคล ไม่ว่าเพศหญิง เพศชาย คฤหัสถ์ บรรพชิต
มันขึ้นที่จิตใจของเรานั่นเอง เพื่อจิตใจของเรามีความเพียร ความหมั่น ความขยันขันแข็ง
ไม่ท้อถอยในการปฏิบัติแล้ว ก็ไม่ไปเลียนแบบความชั่ว คนต่ำ คนไม่ดี ต้องเลียนแบบพระพุทธเจ้า


4#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-20 09:40 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
คำว่า พุทโธ หมายถึงพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้านั้น นับตั้งแต่ท่านตั้งจิตตั้งเจตนามา
เพื่อจะให้ได้เป็นพระพุทธเจ้านั้น ท่านทำบุญให้ทานรักษาศีลภาวนาไม่ท้อถอย
คนอื่นไม่ทำ ท่านก็ทำ คนอื่นไม่ปฏิบัติภาวนา ท่านก็ปฏิบัติภาวนา
คนอื่นไม่ละความโกรธความโลภความหลง พระโพธิสัตว์-พระพุทธเจ้าท่านก็ละความโกรธ
ความโลภ ความหลงของท่านอยู่ตลอดเวลา ผลที่สุดที่พระองค์ทำดีนั้นแหละ
อะไรๆ ก็ดีไปด้วยกันหมด ทานศีลภาวนามีอยู่ดีแล้วอะไรๆ ก็ดีไปหมด
เรียกว่าดีหนึ่งไม่ใช่ดีสอง ดีหนึ่งคือใจเป็นหนึ่ง ใจแน่วแน่เด็ดขาด
ใจเฉลียวฉลาดสามารถอาจหาญ จิตใจไม่ฟุ้งซ่านรำคาญไปที่อื่น
ภาวนาอยู่ทุกลมหายใจเข้า ภาวนาอยู่ทุกลมหายใจออก ภาวนา พุทโธๆ ได้อยู่ทุกลมหายใจ
เมื่อได้อยู่ระลึกอยู่ เจริญอยู่ จิตใจก็สบายสงบระงับ
บาปอกุศลต่างๆ ก็ตามเข้ามาไม่ถึง แต่ถ้าจิตฟุ้งซ่านรำคาญ จิตรั่วไหลไปในอารมณ์ต่ำ
สิ่งที่ไม่ดีก็เข้ามา ความโกรธก็เกิดขึ้นเป็นไฟหม้อนรก ความโลภก็เกิดขึ้นเป็นไฟหม้อนรก
ความหลงเกิดขึ้นเป็นไฟหม้อนรกหมก ไหม้หัวใจของผู้ขาดสติสัมปชัญญะ

ฉะนั้น จงเป็นผู้มีสติ จงเป็นผู้มีสมาธิตั้งจิตตั้งใจลงไปในหัวใจของตัวเอง
อย่างมัวปล่อยฟุ้งซ่านไปตามอำนาจของตัณหา

ตัณหาในใจของมนุษย์เรานั้น ไม่มีที่พอดิ้นรนวุ่นวายไปเถิดตั้งแต่เกิดจนแก่
ตั้งแต่แก่ไปจนถึงตาย ก็ไม่อิ่มไม่พอ ตายแล้วก็มาเกิดอีกวุ่นวายอยู่อย่างนี้แหละ
ฉะนั้นต้องแก้ไขภาวนาในใจของตนในภพนี้ชาตินี้ให้มันเต็มที่
มันเต็มที่ได้อยู่ที่การประกอบการกระทำ ไม่ใช่บ่นอยากได้อย่างเดียวแล้วมันได้
เมื่อเราต้องการปรารถนาบุญ เราก็ทำใจของเราให้เป็นบุญ
ไม่ว่าจะพูดจาปราศรัยอะไร ก็ให้เป็นบุญไปทั้งนั้น
การกระทำทุกอย่างทุกประการก็ให้มันเป็นบุญเป็นกุศล
เมื่อมันเป็นบุญเป็นกุศลมันก็สุขกายสบายใจดีใจก็สบายกายก็สบาย
ความประพฤติการกระทำที่ตนประกอบกระทำอยู่มันก็เป็นไปเพื่อความสุขความสบายทั้งนั้นฉะนั้น

การนั่งสมาธิภาวนา ให้ตั้งจิตเจตนาให้มั่นคงหนักแน่นเหมือนแผ่นดิน
อย่าได้หวั่นไหวไปตามโลกธรรม ไม่ให้ใจมันเสียให้ใจมันดีอยู่
คนเราที่เกิดมาในโลกนี้ ไม่ให้ถูกนินทาเป็นไม่ได้ เพราะว่ามีหูก็ได้ยินเสียง
เว้นเสียแต่คนหูหนวกจะไม่ได้ยิน มีหูก็ได้ยินทั้งเสียงดีเสียงไม่ดีมันมีอยู่นี่แหละ
ถ้าเราภาวนารักษาใจของเราให้ดีได้ อะไรๆ เมื่อมันมาถึงก็มันดีไปหมดชั่วมันไม่มาได้

เพราะเราทำด้วยกายคือความประพฤติ เราพูดดีทางวาจาเวลาเรากล่าว
ศีลกล่าวธรรมกล่าวคำสั่งสอนอะไรก็ให้มันดี ดีก็มาจากใจดีกายดีวาจาดีหัวใจดี
ทานศีลภาวนามันดี ดีที่นี้มันก็ดีไปเรื่อยไป
ฉะนั้น ทุกลมหายใจเข้าทุกหายใจออกให้เป็นผู้มีสติ
เรามีสติทุกลมหายใจเข้าออกหรือไม่ประการใด
ถ้าไม่มีก็ให้ตั้งใจขึ้นมาเดี๋ยวนี้เวลานี้เอาปัจจุบันธรรม
ธรรมที่เป็นปัจจุบัน ตัตถะๆ ในที่นี้ๆ นี้ก็ที่จิตใจของเราเอง


ฉะนั้นอุบายต่างๆ ที่กล่าวนี้ เมื่อว่าเราท่านทั้งหลายพากันได้ยินได้ฟังแล้ว
ก็ให้กำหนดจดจำนำไปประพฤติปฏิบัติ ก็คงได้รับความสุขความเจริญ
เอวัง ก็มีด้วยประการฉะนี้

   

ที่มา

http://www.dharma-gateway.com/monk/prea ... x-page.htm                                                                                       
.....................................................

ที่มา http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=7&t=44359

สาธุ สาธุ สาธุ
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้