ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 2308
ตอบกลับ: 2
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

หลวงปู่ขุน อนุตตโร วัดใหม่ทองสว่าง จ.อุบลราชธานี

[คัดลอกลิงก์]
หลวงปู่ขุน อนุตตโร วัดใหม่ทองสว่าง จ.อุบลราชธานี



2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-13 03:51 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
"วัดใหม่ทองสว่าง" อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี เป็นวัดป่าสายวิปัสสนากัมมัฏฐานเก่าแก่ แต่มีความร่มรื่น เหมาะสำหรับการปฏิบัติวิปัสสนา อดีตเจ้าอาวาสรูปก่อนหน้านี้ คือ พระครูวิรุฬสุตการ ยังเป็นพระเกจิชื่อดังสมัยสงครามอินโดจีน และยังเป็นพระ กรรมวาจาจารย์ของหลวงปู่ชา สุภัทโท วัดหนองป่าพง จ.อุบลราชธานี

วัดใหม่ทองสว่างมีพระเกจิอาจารย์ที่สืบทอดสายวิปัสสนากรรมฐานรูปปัจจุบัน คือ "พระครูอุดมธรรมกิจ" หรือ "หลวงปู่ขุน อนุตตโร" เป็นพระสงฆ์ที่เคร่งครัดต่อพระธรรมวินัย เปี่ยมด้วยคุณธรรม เป็นที่พึ่งของชาวบ้าน ชื่อเสียงของท่านเป็นที่รับรู้กันทั่ว มีวัตรปฏิบัติเรียบง่าย ปฏิปทางดงามเป็นที่เลื่อมใสของผู้ได้พบเห็น เป็นร่มโพธิ์ทองของบรรดาพุทธศาสนิกชน จนได้รับสมญานามว่า "เทพเจ้าแห่งวารินชำราบ"

ปัจจุบันสิริอายุ 83 ปี พรรษา 63 ที่ปรึกษาเจ้าคณะอำเภอวารินชำราบ และเจ้าอาวาสวัดใหม่ทองสว่าง หลวงปู่ขุนเดิมมีชื่อว่า ขุน ถือกำเนิดเมื่อวันอาทิตย์ที่ 30 พ.ย.2473 ปีมะแม เป็นคนบ้านดอนโด่ ต.นาคาย อ.ตาลสุม จ.อุบลราชธานี เป็นบุตรในตระกูลผู้มีฐานะทางครอบครัวดี ไม่ลำบากเดือดร้อน ปู่ย่าตายายมีที่ไร่ที่นามากมาย

เป็นเด็กว่านอนสอนง่าย ชอบตามคุณยายไปวัดอยู่เป็นประจำ จนเป็นที่รักใคร่ของญาท่านจอม พระอาจารย์ใหญ่สำนักเรียนมูลกัจจายน์ ครั้นเมื่อเรียนจบชั้นบังคับประถม 4 จึงบรรพชา เมื่ออายุได้ 17 ปี มีอาจารย์แก้ว หลวงลุงของญาท่านสวน ฉันทโร เป็นพระอุปัชฌาย์

หลังจากบวชแล้วอยู่ศึกษาข้อวัตรปฏิบัติและพระธรรมวินัย มีญาท่านสวน ฉันทโร เป็นพระพี่เลี้ยงอยู่ระยะหนึ่ง จึงได้เดินทางกลับไปบ้านจิกเทิง ทุกปีต่อมาหลวงปู่ขุนถือเป็นข้อวัตรปฏิบัติต่ออาจารย์ คือ ในฤดูเข้าพรรษาต้องไปทำสามีจิกรรม-ทำวัตรหลวงปู่ญาท่านสวนทุกปี จนกระทั่งหลวงปู่ญาท่านสวนมรณภาพ แม้ทุกวันนี้ท่านยังแวะเวียนไปกราบสรีระท่านอยู่เมื่อเดินทางผ่านไปปฏิบัติศาสนกิจแถบนั้น

อายุครบ 20 ปีบริบูรณ์เข้าพิธีอุปสมบทที่วัดใหม่ทองสว่าง อ.วารินชำราบ มีพระครูกมลวิสุทธิ์ เจ้าคณะอำเภอวารินชำราบ เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายาว่า "อนุตตโร" แปลว่า ผู้ยอดเยี่ยมไม่มีใครเสมอ ภายหลังอุปสมบทแล้วเจ้าอาวาสวัดใหม่ทองสว่างได้เอ่ยปากขอจากพ่อแม่และญาติพี่น้องที่เดินทางมาด้วยกันว่า จะขอให้อยู่จำพรรษาที่วัดใหม่ทองสว่าง เพื่อศึกษาเรียนหนังสือและคอยเป็นพระอุปัฏฐากนับแต่นั้นมา

พระครูวิรุฬสุตการ พระนักปกครอง ศิษย์ผู้น้องของพระครูวิโรจน์รัตโนบล และเป็นศิษย์เอกพระครูกมลวิสุทธิ์ มองเห็นแววจึงได้ถ่ายทอดความรู้ ไม่ว่าจะเป็นการเทศนาโวหารและการปกครองให้จนเป็นที่โดดเด่นในวงการคณะสงฆ์จังหวัดอุบลราชธานีสมัยนั้น และรับแต่งตั้งเป็นพระใบฎีกาในฐานานุกรมของเจ้าคุณพระปริยัติโกศล (ถวัลย์ อาจารสุโภ)

3#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-13 03:52 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ครั้นเมื่อพระครูวิรุฬสุตการได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะอำเภอวารินชำราบและย้ายไปอยู่วัดวารินทราราม จึงให้พระใบฎีกาขุนอยู่สืบทอดเป็นเจ้าอาวาสรักษาวัดสืบมาจนปัจจุบัน

หลวงปู่ขุนเรียนวิชาหนุนดวง-ค้ำดวงจนสำเร็จ จากหลวงปู่พระครูวิรุฬสุตการ ซึ่งเป็นวิชาเอกที่สืบทอดกันมาจากสายสมเด็จลุน แห่งเมืองจำปาสัก และยังมีความเกี่ยวข้องกับหลวงปู่ชา วัดหนองป่าพง

เมื่อครั้งที่หลวงปู่ชามาสร้างวัดหนองป่าพง ท่านได้นำพาญาติโยมไปร่วมปฏิบัติธรรมอยู่เป็นประจำ หลวงปู่ขุนเห็นความสงบเยือกเย็นแห่งธรรม ทำให้มุ่งมั่นปฏิบัติกัมมัฏฐานมากยิ่งขึ้น และยิ่งได้สนทนาธรรมกับหลวงปู่ชาอยู่เป็นประจำด้วย ยิ่งทำให้หลวงปู่ขุนมีความรู้ในกัมมัฏฐานมากยิ่งขึ้น

หลวงปู่ขุนเล่าว่า "การเรียนกัมมัฏฐานเป็นวิธีฝึกจิตให้เกิดสมาธิ เมื่อมีสมาธิก็เกิดปัญญา และมองได้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ล้วนไม่เที่ยง มีเกิด แก่ เจ็บ ตาย สรุปคือ ไม่มีอะไรเลย เพื่อให้ปลงและหลุดพ้น" ตลอดระยะเวลาที่หลวงปู่ขุนอยู่ที่วัดใหม่ทองสว่าง ด้วยความเป็นพระผู้ใหญ่ที่มีพรรษาสูง ได้รับความเคารพจากพระลูกวัดทั่วไป ท่านจัดระเบียบการปกครองวัด งานศึกษาสงเคราะห์ และการเผยแผ่พระพุทธศาสนา

ด้านการศึกษา ท่านให้การสนับสนุนโรงเรียนทุกโรงเรียนที่อยู่ในเขตปกครอง รวมทั้งได้จัดตั้งกองทุนเอาไว้ส่งเสริมให้เด็กนักเรียนได้มีโอกาสได้รับการศึกษา รวมทั้งพระภิกษุ-สามเณร ที่ขาดแคลน

หลวงปู่ขุนมุ่งมั่นศึกษาทั้งด้านปริยัติและปฏิบัติ มีปฏิปทาที่มั่นคง สงเคราะห์ญาติโยมที่เดือดร้อนมาโดยตลอด เคร่งครัดในพระธรรมวินัย มีสัจบารมีแน่วแน่มั่นคง ปฏิบัติเกื้อกูลต่อพุทธศาสนิกชนที่มากราบนมัสการอย่างสม่ำเสมอกัน กอปรกับเป็นพระเกจิอาจารย์เข้มขลัง ทำให้เกิดศรัทธาอย่างแรงกล้าจากสาธุชนทั้งใกล้ ไกล หลั่งไหลมากราบนมัสการ เพื่อความเป็นสิริมงคลมิขาดสาย

ท่านได้รับกิจนิมนต์นั่งปรกปลุกเสกพระเครื่องและเครื่องรางของขลังตามวัดต่างๆ เป็นประจำ ล่าสุดได้จัดสร้างวัตถุมงคล พระกริ่งอนุตตโรและ เหรียญอนุตตโร รุ่นมงคลเศรษฐี วัตถุประสงค์เพื่อสมทบทุนสร้างซุ้มประตูด้านทิศตะวันออก และทำนุบำรุงเสนาสนะในวัดให้คงอยู่ถาวรต่อไป

ประกอบพิธีพุทธาภิเษกเมื่อวันที่ 15 พ.ค.2556 เวลา 12.59 น. มีพระเกจิอาจารย์สายอีสานใต้ (อุบลราชธานี) ร่วมปลุกเสกอธิษฐานจิต 5 รูปด้วยกัน คือ หลวงปู่คำบุ คุตตจิตโต เจ้าอาวาสวัดกุดชมภู, หลวงปู่เก่ง ธนวโร เจ้าอาวาสวัดกิตติราชเจริญศรี, หลวงปู่สุวรรณคำ ฐิตญาโณ เจ้าอาวาสวัดนาอุดม, หลวงปู่เรียบ สุเมโธ เจ้าอาวาสวัดโคกกลางแสนสุข และหลวงปู่ขุน อนุตตโร เจ้าอาวาสวัดใหม่ทองสว่าง

ด้วยความเมตตาของท่านที่คอยช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยากอย่างเต็มที่ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง จนชื่อเสียงของหลวงปู่โด่งดังขจรขจายไปทั่วทุกทิศ ทำให้มีลูกศิษย์ลูกหามากมาย ที่เข้ามากราบฝากตัวเป็นศิษย์ หลวงปู่ขุนได้ปฏิบัติงานศาสนกิจด้วยดี ได้อบรมสั่งสอนพระธรรมวินัยแก่พระภิกษุ สามเณรและศิษย์วัดในการปกครอง อบรมสั่งสอนศีลธรรมจริยธรรมแก่พุทธบริษัทอย่างสม่ำเสมอ บำเพ็ญประโยชน์ต่อส่วนรวม เป็นพระสงฆ์สุปฏิปันโนที่น่ากราบไหว้อีกรูป

ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้