ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 1837
ตอบกลับ: 4
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

ไม่มีอะไรตาย (หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน)

[คัดลอกลิงก์]


หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน
เทศน์โปรดคุณเพาพงา วรรธนะกุล ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๗ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๑๙


ไม่มีอะไรตาย


การประพฤติตัวก็เหมือนเราเดินทาง ย่อมสำคัญทางผิดว่าเป็นทางถูกแล้วเดินไป ถ้าไม่หลงก็ไม่เดินทางผิด เดินทางที่ถูกเรื่อย ๆ ไป ถ้าไม่หลงก็ไม่ทำผิด ไม่พูดผิด ไม่คิดผิด ไม่ถือผิด ผลก็ไม่เป็นพิษเป็นภัยแก่ตัวเอง

            การหลงทางก็เป็นโทษอันหนึ่ง ที่ทำให้เสียเวล่ำเวลาและเหนื่อยเปล่า ๆ การทำผิด การพูดผิด คิดผิด ก็ทำให้ทั้งเสียเวลา ทั้งเป็นโทษทุกข์เกิดขึ้นแก่ตัว นี่คือผลที่เกิดขึ้นจากการทำผิด พูดผิด คิดผิด ของผู้ประพฤติตามอารมณ์ใจชอบ

            พระพุทธเจ้าทรงสอนเพื่อให้ทราบว่า ใจเรามักมีความเห็นผิดอยู่เสมอ ให้พยายามแก้สิ่งที่ผิดอยู่ภายในใจ ที่จะระบายออกทางกาย วาจา ทางใจ ให้เป็นความผิดนั้น กลับให้เป็นความถูกต้องดีงามอยู่เสมอ ให้พยายามแก้สิ่งที่ผิดอยู่ภายในจิต ผลจะถึง “สมหวัง” เพราะเหตุที่ถูกต้องผลย่อมดีเสมอไป ถ้าเหตุผิดผลนั้นจะลบล้างเหตุไม่ได้ คือจะปิดกั้นไว้ไม่อยู่ ต้องแสดงเป็นความทุกข์ร้อนต่าง ๆ ออกมา

            คำว่า “ความหลง” นี้ เมื่อนับจำนวนคนหลงจะมีเท่าไร คนที่รู้จะมีเท่าใด ถ้าจะเทียบกับ “คนรู้” ว่ามีเท่าใดนั้น ก็เหมือนกับเอาฝ่ามือหย่อนลงไปในแม่น้ำมหาสมุทรฝ่ามือกว้างขนาดไหน แม่น้ำมหาสมุทรกว้างขนาดไหน เมื่อเทียบกันแล้วต่างกันยิ่งกว่า“ฟ้ากับน้ำ” ซึ่งน่าใจหายใจคว่ำทีเดียว

            สัตว์โลกที่ลุ่มหลงอยู่ใน “วัฏสงสาร” นี้มีจำนวนมากเพียงไร ในแม่น้ำ มหาสมุทรยังแคบ เพราะสัตว์โลกที่ตกอยู่ในห้วงแห่งความลุ่มหลงนั้นมีถึง “สามโลก” ด้วยกัน ฉะนั้นมหาสมุทรจึงแคบนิดเดียว จะพูดกันเพียงว่าผู้รู้มีจำนวนน้อย ผู้ที่หลงมีจำนวนมากมาย

            คำว่า “ความหลง” เพียงคำเดียวเท่านี้มันถูกกับทุกรูปทุกนาม บรรดาสัตว์สังขารที่มีวิญญาณครองกระเทือนไปทั่วโลกธาตุ รวมแล้วทั้งสามโลกธาตุ เป็นที่อยู่แห่งปวงสัตว์ที่ลุ่มหลงทั้งนั้น ผู้ที่รู้จริง ๆ ไม่มีอยู่ในโลกทั้งสามเลย ไปนิพพานกันหมด

            สัตว์โลกที่อยู่ด้วยความลุ่มหลงไม่ว่าท่านว่าเรามีจำนวนมาก เพียงแต่เราไม่อาจจะนับได้ ทั้ง ๆ ที่มีรูปร่างมองเห็นกันด้วย “ตาเนื้อ” ทั้งที่ไม่มองเห็นด้วยตาเนื้อ ก็อยู่ในอำนาจแห่งความหลงที่ครอบงำไว้ และผู้ที่จะมาแนะนำสั่งสอน ให้อุบายวิธีการแก้ความหลงนี้ก็มีน้อยมาก

            ครั้งแรกก็มีพระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้ลุ่มหลงก่อนหน้าตรัสรู้ เมื่อตรัสรู้ธรรมเป็นความรู้แจ่มแจ้งขึ้นมา ก็ทรงนำ “ธรรม” มาสอนเพื่อแก้ความหลง และแสดงให้เห็นโทษของความหลง ให้เห็นคุณค่าแห่งความรู้ โดยแสดงทั้งเหตุทั้งผล ทั้งฝ่ายดีฝ่ายชั่ว จนกระทั่งประชาชนที่มุ่งหวังต่อความรู้ความฉลาด เพื่อความหลุดพ้นจากทุกข์อย่างเต็มใจอยู่แล้ว ได้ยินได้ฟังก็เกิดความเชื่อความเลื่อมใส ประพฤติปฏิบัติตาม “ธรรม” ท่าน จึงกลายเป็น “ผู้รู้” ขึ้นมาโดยลำดับลำดา ที่เราให้นามว่า “สาวกอรหันต์” เป็นลำดับมา และท่านเหล่านั้นได้ “ปรินิพพาน” ไปเรื่อย ๆ หรือล่วงเลยไปเป็นลำดับ ความมืดมิดปิดตาของโลกก็ยิ่งมีกำลังมากขึ้น ทั้งโลกเต็มไปด้วยความหลง
2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-11 22:37 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ผู้ที่จะมาชี้แจงสั่งสอนให้รู้แจ้งเห็นจริงในความหลงทั้งหลายเหล่านั้น ก็ไม่ค่อยมีเสียแล้ว โลกนี้จึงอยู่ด้วยความมืดมิดปิดตากัน ถึงจะมีหูตาอันสว่างอยู่ ก็สว่างตามกระแสของโลกไปเสีย ไม่ใช่สว่างด้วยความจริง คือรู้จริงเห็นจริงดังพระพุทธเจ้าและพระสาวกท่านรู้เห็นมา ก็เลยกลายเป็น “หูหนาตาเถื่อน” ไป

            คำว่า “เถื่อน” ก็คือป่าเถื่อนหรือปลอมนั่นเอง ตามีอยู่ก็ปลอม หูมีอยู่ก็ปลอม คือรับทราบหรือได้ยินแต่สิ่งที่ “จอมปลอม” เข้ามาแทรกสิงใจสัตว์ให้มืดมิดขึ้นโดยลำดับ เพราะการได้เห็นและการได้ยินเป็นต้น ซึ่งล้วนแต่สิ่งจอมปลอมหลอกลวงให้ลุ่มหลงเรื่อยมา อันเป็นการเสริมสร้างให้คนป่าเถื่อนมากขึ้น ทุกวันนี้คนรู้ขั้น “ปัญญาชน” หรือคนป่าเถื่อนกันแน่? ทำไมจึงก่อแต่ “วินาศกรรม” “ฆาตกรรม” แก่กันอยู่ทุกแห่งทุกหนทั้งที่การศึกษาว่าเจริญเต็มที่

            ทั้งนี้เพราะสิ่งที่แสดงออกทั้งหลายมันมีแต่สิ่งที่ให้หลงให้โง่ เป็นทางอบายมุขแทบทั้งนั้น จิตก็ลุ่มหลงอย่างเต็มตัวอยู่แล้ว เมื่อสัมผัสกันก็ยิ่งเข้ากันได้ง่าย และกลมกลืนกันได้อย่างรวดเร็ว ความจริงคืออรรถธรรมจึงแทรกเข้าไปได้ยาก เพราะฉะนั้นการประพฤติปฏิบัติธรรมและการฟังธรรมที่เป็นความดี จึงรู้สึกฝืนใจแทบจะลากกันไปไม่ไหว ลากจากสิ่งที่จิตชอบนั้นแล ซึ่งส่วนมากเป็นของเลว คือความโลภ ความโกรธ ความหลง ราคะตัณหา ซึ่งมีอยู่ภายในจนแทบมองหาใจไม่เห็น ใจมีแต่ของปลอมบรรจุไว้เต็มเอี๊ยดจนน่ากลัว ทั้ง ๆ ที่ต่างคนต่างมีด้วยกันยังอดกลัวไม่ได้ ทั้งนี้เพราะมีมากต่อมากเหลือหูเหลือตา ล้นหัวใจแทบหาที่เก็บไม่ได้

            สิ่งที่ปลอมกับของปลอมจึงเข้ากันได้ง่าย เช่นเดียวกับคนชั่วกับคนชั่วเข้ากันได้ง่าย เป็นเพื่อนเป็นมิตรสนิทสนมกันง่าย คนดีก็เข้ากับคนดีได้ง่าย เป็นพวกของใครของเราไป ข้างนอกก็เป็นเครื่องหลอก ข้างในก็เป็นผู้ชอบรับสิ่งหลอกลวง จึงเข้ากันได้อย่างสนิทติดจม จนไม่สนใจคิดจะถอนหรือถอนไม่ขึ้น นอกจากจะเชื่อตายใจกับสิ่งนั้น ๆ แทบหลับสนิทไปถ่ายเดียว

            การปฏิบัติตนเพื่อแก้สิ่งจอมปลอมทั้งหลายที่เคยเป็น “นาย” บนหัวใจมานานออกจากใจ จึงต้องฝืน ปราชญ์ท่านเคยฝืนมาตั้งแต่ครั้งพระพุทธเจ้าองค์ไหน ๆ พาฝืนมาเป็นลำดับลำดา เพราะท่านเคยถูกผูกถูกมัดถูกทรมานจาก “กิเลสวัฏวน” มามากต่อมากนานแสนนาน จนเห็นภัยและพ้นภัยด้วยการฝืนการต่อสู้ และนำ “ธรรม” ที่เป็นผลอันเกิดจากการต่อสู้มาสอนพวกเรา เพื่อการฝืนการต่อสู้กิเลสทุกประเภท ไม่ให้ท้อถอยปล่อยตัวให้กิเลสย่ำยีเหมือนผักปลาซึ่งขายขี้หน้าชาวพุทธ ไม่น่าให้อภัยเลย

            ผู้เห็นตนเป็นของมีค่ามากกว่าสิ่งใด จึงควรนำ “ธรรมอันล้นค่า” มาเป็นเครื่องปฏิบัติดำเนินด้วยความไม่นอนใจ อย่างไรก็ตามขึ้นชื่อว่า “ความดี” จำต้องฝืนความชั่วของชั่วอยู่โดยดี ดังพวกเราประพฤติปฏิบัติอยู่เวลานี้ ก็คือความฝืนสิ่งไม่ดีเพื่อความดีด้วยหัวใจชาวพุทธ แม้ออกมาอยู่ในวัดเพื่อปฏิบัติบำเพ็ญอยู่แล้ว ความรู้สึกอันดั้งเดิมย่อมมีอยู่ภายในใจเสมอ คือความขี้เกียจมักง่ายอ่อนแอ ความคล้อยตามสิ่งเคยคล้อยตาม ความเชื่อในสิ่งที่เคยเชื่อ คือกิเลสชนิดต่าง ๆ ซึ่งเปรียบเหมือนเพลงลูกทุ่ง ย่อมยังมีอยู่ในใจ

            การฝืนสิ่งเหล่านี้จึงเป็นความยากลำบากลำบนสำหรับผู้ปฏิบัติ แม้จะมีความมุ่งมั่นต่ออรรถต่อธรรมมากเพียงไร ก็จำต้องได้ฝืนสิ่งที่เป็นขวากเป็นหนามอยู่ภายในใจเราอยู่โดยดี กระทั่งไม่มีเหลืออยู่ในใจเลยนั่นแล จึงหาอะไรมาขวางหน้าไม่ได้

            การปฏิบัติธรรมเป็นของยาก ของลำบากมาแต่กาลไหน ๆ ก็เพื่อเบิกทางที่ถูกกิเลสปิดบัง ให้เห็นเหตุเห็นผล เห็นต้นเห็นปลาย ของอรรถของธรรมภายในใจ จนกว่าจะปรากฏผลขึ้นมาเป็นเครื่องสนับสนุนจิตใจให้มีกำลัง ความเชื่อความเลื่อมใส ความพากเพียร ความอุตส่าห์พยายามขึ้นโดยลำดับ จากนั้นก็ค่อยสะดวกสบาย ถึงจะยากลำบาก ผลที่พึงใจเป็นขั้น ๆ ก็ปรากฏอยู่ภายในใจแล้ว แม้จะมีการฝืนอยู่บ้างก็ฝืนด้วยความพอใจ ที่จะเพิ่มพูนความสงบสุขที่ตนมีอยู่แล้ว ให้มีกำลังและความสว่างไสวยิ่งขึ้น

            ข้อสำคัญก็คือความเห็นโทษแห่งความเป็นอยู่ด้วยความหลง ความเพลิดเพลินเลื่อนลอยบังอยู่ด้วยความหลง คือความประมาทนอนใจ ไม่มีสติปัญญาคิดประโยชน์ใส่ตน ยืนอยู่ด้วยความหลง นอนอยู่ด้วยความหลง เดินไปด้วยความหลง ในอิริยาบถทั้งสี่เป็นไปด้วยความหลง ความใฝ่ฝันลม ๆ แล้ง ๆ การมาเกิดก็มาด้วยความหลง มาอยู่ในโลกก็มาอยู่ด้วยความหลง จะไปข้างหน้าภพหน้าก็ไปด้วยความหลง ความเห็นโทษสิ่งเหล่านี้ย่อมเป็นเครื่องเตือนใจตนได้ดีเพื่อไม่ให้ประมาทนอนใจ ใช้ปัญญาพิจารณาใคร่ครวญอยู่เสมอ จะมีทางเห็นโทษสิ่งเหล่านี้ขึ้นเรื่อย ๆ อันเป็นหนทางให้เกิดความอุตส่าห์พยายามพิจารณาแยกแยะสิ่งเหล่านี้ออกจากใจ พอมีทางเล็ดลอดไปได้ตามกำลังความสามารถ

            อย่างไรก็อย่าลืมคำว่า “พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ” จะอยู่ในสภาพใดอิริยาบถใดก็ตาม ให้ระลึกถึงท่านเสมอ ทั้งฝ่ายเหตุฝ่ายผลที่พระองค์ได้ทรงดำเนินมาก่อนแล้ว และทรงได้รับผลเป็นที่พอพระทัยมาแล้ว จึงทรงนำมาประกาศสอนโลกทั้งหลาย ว่าพระพุทธเจ้าทรงดำเนินอย่างไร ความทุกข์ความลำบากก็ไม่มีใครจะเกินพระพุทธเจ้าไปได้ เพื่อความรู้ความเห็นในธรรมทั้งหลาย จนทรงรู้แจ้งเห็นชัด ไม่มีสิ่งใดปิดบังลี้ลับ นำธรรมที่เปิดเผยในพระทัยนั้นมาสั่งสอนโลกเพื่อได้ทำตามพระองค์ ที่เรียกว่า “ตามเสด็จ”

            “ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ” ไม่มีอันใดจะประเสริฐเลิศยิ่งกว่า “ธรรม” ในบรรดาโลกทั้งสาม คือ กามโลก รูปโลก อรูปโลก ธรรมเป็นธรรมชาติประเสริฐสุด ที่ควรยึดถือเป็นสรณะทั้งฝ่ายเหตุและฝ่ายผล ไม่มีทางปลีกและเป็นอย่างอื่น นอกจากนำผู้ปฏิบัติให้ถึงแดนแห่งความเกษมโดยถ่ายเดียว สมนามว่า “ธรรมเป็นของประเสริฐ” ทั้งโดยสมมุติและโดยหลักธรรมชาติ
3#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-11 22:38 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ดังนั้นการปฏิบัติตนตามธรรมแม้จะยากลำบากเพียงไร ก็ควรถือว่านี้คืองานอันประเสริฐเพื่อความพ้นจากกองทุกข์ ไม่ใช่งานเพื่อความล่มจมฉิบหาย อย่าถือเอาความกลัวตายเพราะความพากเพียรมาเป็นใหญ่ จะมากีดขวางทางเดินเพื่อความหลุดพ้นแล้วก้าวไม่ออก เพราะกลัวลำบาก กลัวแต่จะตาย เพราะความอ่อนแอฉุดลากให้เป็นไป

            “สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ” ให้ระลึกถึงพระสงฆ์สาวกท่าน ท่านเป็นคนเหมือนกันกับเรา ออกมาจากตระกูลต่าง ๆ เวลาออกมาท่านก็เป็นเหมือนเรา ๆ ท่าน ๆ นี้แล เมื่อมาบวชเป็นพระแล้ว ก็คือคนเป็นพระนั่นเอง แต่ท่านอุตส่าห์พยายามดำเนินอย่างไรบ้างจึงได้เป็น “สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ” ของพวกเรา ท่านก็เป็นคนเหมือนกัน ทำไมท่านเลิศท่านประเสริฐยิ่งกว่าเรา เรายึดนี้เป็นหลัก หากว่าท่านไม่มีความอุตส่าห์พยายามฝ่าฝืนอย่างจริงจัง ท่านจะเป็นผู้วิเศษวิโสและเป็นสรณะของโลกได้อย่างไร ขอให้ยึดท่านเป็นหลักใจจะได้มีกำลังใจ เวลากิเลสตัวขี้เกียจอ่อนแอ ตัวขี้สงสัย ตัวตำหนิตนว่า “บุญน้อยวาสนาน้อย” ไม่มีความเพียรเกิดขึ้น เพราะ “สรณะทั้งสาม” เป็นเครื่องประกันมรรคผลนิพพานอย่างมั่นใจอยู่แล้ว

            จะเอาความตายเข้ามาฝังไว้ในใจทั้ง ๆ ที่ใจนั้นคือความรู้ไม่เคยตายเลยทำไมจึงเอาความตายเข้าไปฝังไว้ในหัวใจเรา เอาป่าช้าไปทับถมใจเราซึ่งไม่เคยตายทำไม?นั่นเป็นความเห็นผิดอย่างยิ่ง จะทำอะไรกลัวแต่จะตาย ไม่ทราบว่า “ความตาย” มีความหมายกว้างแคบขนาดไหน อะไรเป็นผู้ตาย?

            ใจเคยเป็นอย่างนี้ ไม่เคยตายแต่ไหนแต่ไรมา เป็นแต่เพียงเปลี่ยนรูปเปลี่ยนร่าง เปลี่ยนสถานขั้นภูมิกำเนิดไปตามบุญตามกรรมเท่านั้น ที่โลกว่า “เกิด”ว่า “ตาย”แต่ก็คือเวลาตายแล้วก็ไปถือ “ปฏิสนธิวิญญาณ” “วิญญาณ” เกิดใหม่เรื่อย ๆ สูง ๆ ต่ำ ๆ ลุ่ม ๆ ดอน ๆ ตามยถากรรม หรือตามบุญตามกรรมที่ตนได้สร้างสมอบรม อบรมมามากน้อยนั่นเอง ส่วนใจไม่เคยตาย จึงไม่ควรเอาความตายไปผูกมัดจิตใจ

            พูดง่าย ๆ ไม่ต้องเอา “ความตาย” ไปแขวนคอหัวใจ จะเป็นการสร้างอุปสรรคสร้างความท้อถอย ความอ่อนแอ หมดความพากเพียรให้แก่ตน แทนที่จะผ่านไปได้ แต่ความกลัวตายไปกีดกั้นทางเดินเสียก็ไปไม่ได้ สิ่งไม่มีอย่าไปหาเรื่องใส่ให้มีขึ้น มันเกิด โทษแก่ตนเอง

            คำว่า “สิ่งไม่มี” คืออะไร? คือความตายนั่นแหละไม่มีอยู่ใน “จิต” จิตเป็นธรรมชาติไม่ตาย แม้มีกิเลสตัณหาอาสวะปกคลุมอยู่มากน้อยก็ตาม จิตเป็นผู้ทนทานต่อสิ่งเหล่านี้เรื่อยมา ทุกข์ก็ยอมรับว่าทุกข์ แต่ไม่ยอมฉิบหายสลายตัวไปเพราะถูกทุกข์ทั้งหลายบีบคั้นทำลายเลย เป็นความรู้อยู่เช่นนั้น เป็นจิตอยู่เช่นนั้น แม้จะตกนรกอเวจีก็ไม่ตาย หากทนทุกข์ทรมานไปตามความหนักเบาแห่งกรรมที่ตนทำมาเท่านั้น จึงไม่มีอะไรในโลกจะเหนียวแน่นทนทานเหมือนใจเลย

            มาเป็นมนุษย์เป็นสัตว์เป็นอะไร ก็คือจิตดวงไม่ตายนี้แลไปเกิดและมาเกิด เป็นเจ้าของแห่ง “ภพกำเนิด” นั้น ๆ ขณะนี้ใจก็อยู่ในธาตุขันธ์ที่เราเห็นอยู่นี้ ธาตุขันธ์อันนี้เป็นของเรา ร่างกายนี้เป็นของเรา จิตมาอาศัยธาตุขันธ์นี้อยู่ไปชั่วกาล แล้วก็เปลี่ยนภพเปลี่ยนชาติไปตามความจำเป็นที่ “วิบากกรรม” จะพาให้เป็นไป

เพราะฉะนั้นการพิจารณาทุกข์ มีทุกขเวทนาเป็นต้นที่เกิดขึ้นภายในขันธ์ ก็กลัวจะตาย นี่ก็เพราะสร้างขวากสร้างหนามกีดกันทางดำเนิน ให้เดินเพื่อความรู้จริงเห็นจริงในเวทนาไม่ได้ ความจริงมีอยู่ไม่ยอมเดินให้เข้าถึงความจริง เพราะความหลงมันบังคับนั่นเอง “ความหลงบังคับ” คืออะไร” ก็ความกลัวตายทั้ง ๆ ที่ความตายไม่มีอยู่ภายในจิตแต่ก็กลัวตายนี้แล เราเคยเชื่อ “กิเลส” ในคำว่า “ตายๆ ” นี้มานาน จะทำอะไรก็กลัวแต่จะตาย ๆ ธรรมท่านจึงสอนให้รู้เข้าไปถึงตรงนี้ ให้เข้าถึงความจริงว่า “จิตไม่ตาย” นี้คือความจริงแท้!

สิ่งเหล่านั้นสลายตัวลงไปตามสภาพของมันมันก็ไม่ตาย ทุกขเวทนาจะเกิดขึ้นมากน้อยภายในธาตุในขันธ์ ให้กำหนดพิจารณาตามความจริงของมัน เพราะมันเป็นความจริงแต่ละอย่าง ๆ อยู่แล้ว หากไม่พิจารณาให้เห็นตามความเป็นจริงแล้ว จิตเราไม่เว้นที่จะหวั่นไหว ที่จะเป็นทุกข์ลำบากลำบนไปนาน ซึ่งแม้ปัจจุบันที่ร่างกายจะสลายตัวไปที่เรียกว่า “ตาย” นั้น บางรายถึงกับไม่มีสติประคองตัวเลยตายไปแบบ “ไม่เป็นท่า” ราวกับสัตว์ตาย ไม่มีสติสตังเอาเลย นี่เพราะความไม่ได้ฝึกหัดให้รู้เรื่องต่าง ๆ ที่มีอยู่รอบตัว มีทุกขเวทนาเป็นต้นนั่นเอง

            ถ้าจิตพิจารณาตามธรรม เชื่อพระพุทธเจ้า ก็ไม่ควรจะเอา “ป่าช้า” เข้ามาตั้งภายในจิต ไม่ควรจะเอา “ป่าช้า” เอาความกลัวตายไปมัดจิตซึ่งไม่ใช่ผู้ตาย ให้กลายเป็นความอ่อนแอท้อถอยไปได้ ซึ่งเป็นการสร้างขวากหนามไว้กีดกั้นทางเดินตัวเองให้หาทางออกไม่ได้

            ความจริงมีอย่างใดให้พิจารณาไปตามความจริง ตามหลักธรรมท่านสอนไว้

            “เอ้า ทุกข์จะเกิดขึ้นมากน้อยภายในธาตุขันธ์ จะหมดทั้งตัวนี้ก็ให้ทราบทุกข์นี้มีอยู่รอบตัว แต่ไม่ใช่จิต แม้จิตจะเป็นทุกข์ก็เป็นเวทนาอย่างหนึ่งต่างหาก ไม่ใช่จิตเป็นเวทนา ไม่ใช่เวทนาเป็นจิต “เวทนา อนิจฺจา” “เวทนา อนตฺตา” นั่น!

            ฟังซิ ท่านบอกว่าเป็น “จิต”ไหมล่ะ? แต่จิตหลงไปยึดเวทนามาเป็นตนต่างหากจึงเป็นทุกข์ไม่มีประมาณจนดับไม่ลง และตายไปกับความสำคัญว่า “เวทนาเป็นตน” ตนเป็นเวทนาอย่างไม่รู้ตัว
4#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-11 22:38 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
“เวทนา อนิจฺจา” คืออะไร? มันมีเกิดขึ้น มีตั้งอยู่ มีดับ มีสลายไป นี่เป็นอนิจฺจาหรืออนิจฺจํ “เวทนา อนตฺตา” มันเป็นสภาพอันหนึ่งที่ปรากฏตัวขึ้นมาเท่านั้น โดยมันเองก็ไม่ได้สำคัญว่า ตนเป็นอนตฺตา หรืออตฺตา หรือเป็นอะไร แต่เป็นความปรากฏขึ้นแห่งสภาพธรรมอันหนึ่งเท่านั้น

            ให้จิตผู้เป็น “นักรู้” อยู่ตลอดเวลาได้รู้สิ่งนี้ตามความเป็นจริงของมัน ไม่ใช่สิ่งเหล่านี้จะมาประหารจิตให้ฉิบหาย จึงไม่เป็นสิ่งน่ากลัว แต่เป็นสิ่งที่จะพิจารณาให้รู้ ที่ท่านเห็นความจริงของทุกขเวทนาที่มาปรากฏตัวนั้น ท่านรู้ท่านเห็นอย่างที่อธิบายมา

            “สัญญา” ก็หลอกว่า “อันนั้นเป็นเรา อันนี้เป็นของเรา” “อันนี้ทุกข์มากขึ้นแล้วนี่” “ทุกข์มากอย่างนี้” “เดี๋ยวตายนะถ้าไม่หยุดภาวนา” มันหลอกจงทราบไว้“สัญญา”นั้น ก็เกิดมาจาก “จิต” นั่นแหละ เป็นอาการของจิต แต่กลับมาหลอกจิตให้เอนเอียงให้หวั่นไหวไปได้ ถ้าจิตไม่มีปัญญาไม่มีสติ ไม่ทราบความจริงของสัญญาว่า “อนิจฺจา อนตฺตา”

            ความจริง “สญฺญา อนิจฺจา” จะมาทำลายจิตใจเราได้อย่างไร? “สญฺญา อนตฺตา”มันก็เป็นสภาพอันหนึ่ง เช่นเดียวกับขันธ์ทั้งหลาย ไม่มีอะไรผิดกัน “รูปํ อนตฺตา” นั่นฟังซิ รูปํ มันก็เป็น อนตฺตา จะอาศัยมันได้ที่ไหน จะว่าเป็น “เรา”เป็น “ของเรา” ได้ที่ไหน เป็นความจริงอันหนึ่งเท่านั้น!

            จงอย่าฝืนความจริง อย่าไปแย่งความจริงของเขา ความจริงจงหาเอาด้วย“สติ ปัญญา” ของเราเอง จะไม่ยุ่งไม่แย่งเขา จะสบายใจหายห่วงไม่มีบ่วงผูกมัดจิตใจต่อไป

            รูปมันก็ “สักแต่ว่า” รูปแห่งธาตุขันธ์ เวทนาก็ “สักแต่ว่า” เวทนา ไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา เราจะไปคว้าเอามาทับถมจิตใจให้เกิดความเดือดร้อนไปทำไม เพราะเวทนานั้นก็เป็นของร้อนอยู่แล้ว แบกหามเข้ามาเผาตนทำไม ถ้าเป็นความฉลาดแล้วจะไม่เข้าไปยึด ไม่เข้าไปแบกหาม จะต้องพิจารณาตามความจริงของมัน ทุกขเวทนาขนาดไหนก็รู้ตามความจริงของมันด้วยสติปัญญา เพราะจิตเป็นนักรู้ ไม่มีถอยเรื่องรู้ ๆ ๆ รู้อยู่กับจิต

            ขอให้ส่งเสริมสติ เป็นผู้คอยกำกับให้ดีเถิด แม้ขณะที่จิตจะดับก็จะไม่เผลอเพราะสติกำกับจิต จิตทำหน้าที่รู้ความหมายต่าง ๆ แต่การพิจารณาแยกแยะต่าง ๆ เป็นเรื่องของ “ปัญญา” แยกแยะให้เห็นเป็นตามความจริง จะได้ชื่อว่า “เป็นผู้ฉลาดในการเรียนเรื่องของตัว” ตามหลักศาสนาที่ให้เรียนรู้ตัวเองเป็นสำคัญ

            คำว่า “โลกวิทู” ถ้าไม่รู้แจ้งเห็นจริงในโลกในขันธ์นี่ จะหมายถึง “โลกวิทู” แห่งโลกใด ? นี้เป็นอันดับแรกทีเดียว พระพุทธเจ้าทรงรู้และสั่งสอนไว้ คำว่า “โลกวิทู” “รู้แจ้งโลก” รู้แจ้งโลกของพระพุทธเจ้า ก็ต้องรู้แจ้งธาตุแจ้งขันธ์ และรู้พร้อมทั้งละกิเลสตัณหาอาสวะนี้โดยสิ้นเชิงก่อน แล้วจึงไปรู้สภาพแห่งโลกทั่ว ๆ ไปที่เรียกว่า “โลกวิทู” รู้แจ้งโลกทั่วไป

            คุณสมบัติของสาวกในบทนี้ก็มีได้เหมือนกันที่เป็น “โลกวิทู” คือ รู้แจ้งโลกในธาตุในขันธ์โดยรอบขอบชิด พร้อมทั้งละกิเลสทั้งมวล แล้วยังมี “ญาณ” หยั่งทราบสภาพทั้งหลายตามกำลังแห่งนิสัยวาสนาของแต่ละองค์ ส่วน “โลกวิทู” ซึ่งเป็น “อัตสมบัติ” ได้แก่รู้เท่าปล่อยวางอุปาทานในขันธ์และกิเลสทั้งปวงนั้น สาวกมีได้ด้วยกันทุกองค์บรรดาที่เป็นอรหันต์ ส่วน “โลกวิทู” เกี่ยวกับความหยั่งทราบเหตุการณ์ ตลอดรู้อุปนิสัยของโลกในแง่ต่าง ๆ นั้นมีกว้างแคบต่างกัน

http://www.luangta.com/thamma/thamma_talk_text.php?ID=1594&CatID=1

                                                                                        ..................................................................................

ที่มา http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=7&t=45072

สาธุ ขอบคุณคร้าบ
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้