ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 1977
ตอบกลับ: 7
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

จริงกับปลอมอยู่ด้วยกัน (หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน)

[คัดลอกลิงก์]


หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน
เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๙ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๒๒


จริงกับปลอมอยู่ด้วยกัน


เรียนไปถึงไหนจนกระทั่งถึงอวกาศโน่นก็สามารถเรียนได้ อย่าว่าแต่ในพื้นแผ่นดินมนุษย์นี้เลย ดูซิจรวดดาวเทียมสกายแลปนั่นละจากความรู้ของคนเขาทำ ความรู้ทางโลกล้วน ๆ นี้เป็นอย่างนั้น จะสูงขนาดไหนก็ไม่มีการที่จะลดหรือบรรเทาความทุกข์ความลำบากของโลกลงได้ เพราะความรู้นี้เป็นความรู้ของโลกไม่ใช่ความรู้ที่เกี่ยวกับธรรม ธรรมมีให้ความร่มเย็นถ่ายเดียว

โลกถ้าไม่มีธรรมเลยก็ให้ความเดือดร้อนโดยถ่ายเดียว แม้เจ้าตัวจะรู้ขนาดไหนก็ไม่สามารถจะระงับดับทุกข์ที่มีอยู่ภายในตัวภายในใจได้ เพราะนั้นไม่ใช่วิชาดับทุกข์ วิชาดับทุกข์คือวิชาธรรม วิชาธรรมนี้ไม่ว่าพระพุทธเจ้าองค์ใดมาสอนเป็นวิชาดับทุกข์ด้วยกันทั้งนั้น ผู้ใดเรียนผู้ใดประพฤติปฏิบัติเพื่อธรรมจริง ๆ จะเห็นผลปรากฏขึ้นกับตนของผู้ปฏิบัติโดยไม่ต้องสงสัย

เพราะฉะนั้นคำว่าโลกกับธรรมแม้จะอยู่ด้วยกันจึงไม่เหมือนกัน เหมือนกับผู้หญิงผู้ชายที่อยู่ร่วมกันกี่คน สับปนกันอยู่ในสถานที่ใด สามารถรู้ได้หมดว่าไม่เหมือนกัน เพียงดูเท่านั้นก็รู้ว่านั้นเป็นหญิงนี้เป็นชาย เรื่องของโลกของธรรมก็เหมือนกัน สับปนกันอยู่ก็รู้ ลักษณะนี้เป็นลักษณะของธรรม ลักษณะนั้นเป็นลักษณะของโลก สามารถรู้ได้อย่างชัดเจนสำหรับผู้เรียนทางด้านธรรมะ แต่ผู้ไม่ได้เรียนนั้นไม่อาจรู้ได้เลย ก็ไม่เคยเรียนจะไปรู้ได้อย่างไร ก็รู้ตั้งแต่โลกล้วน ๆ เลยเห็นว่าโลกนั้นเป็นความวิเศษวิโส ทำคนให้มีคุณค่าราคา มียศฐาบรรดาศักดิ์สูง มีอำนาจวาสนา เลยสำเร็จด้วยเรื่องของโลกไปหมดเสียว่าเป็นผู้วิเศษ ทั้ง ๆ ที่หัวใจนั้นหาความวิเศษไม่ได้เลย เต็มไปด้วยความรุ่มร้อน
2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-8 15:47 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ใครจะเสกสรรปั้นยอให้สูงขนาดไหนก็ตาม ถ้าไม่ใช่เรื่องธรรมแล้วจะหาความสุข จะเป็นไปตามความเสกสรรปั้นยอนั้นไม่ได้เลย อย่าคิดว่าโลกนี้จะมีความสุขเพราะการศึกษาเล่าเรียนมาก ๆ โดยทางโลกฝ่ายเดียว ธรรมนี้มีอยู่ในสถานที่ใดกาลใดสมัยใด กับบุคคลหรือสังคมใด ๆ ย่อมสามารถให้ความสุขแก่ผู้นั้นสังคมนั้นเป็นลำดับลำดากว้างแคบของการมีธรรมะเข้าไปถึง ธรรมะจึงเป็นสิ่งสำคัญมากในโลกนี้ ที่ควรจะมีธรรมะเกี่ยวข้องอยู่ทุกแขนงแห่งวงงาน เพราะงานทุกชิ้นทุกอันหวังให้เป็นประโยชน์แก่ผู้ทำด้วยกันทั้งนั้น งานส่วนตนก็หวังประโยชน์ส่วนตน งานครอบครัวก็หวังประโยชน์ครอบครัว งานส่วนรวม งานประเทศชาติ ก็หวังประโยชน์แก่ส่วนรวมและประเทศชาติ ถ้าไม่มีธรรมเคลือบแฝงเข้าในนั้นแล้ว งานนั้นก็กลายเป็นให้ความเดือดร้อนไปเสียแทนที่จะเป็นความสุข โลกที่หาความสุขไม่ได้เพราะไม่มีธรรมเข้าเคลือบแฝง

เมื่อย่นเข้ามาถึงตัวของเราขณะใดจิตของเราคิดไปออกนอกลู่นอกทางไปเกี่ยวกับโลกสงสาร ซึ่งเป็นกระแสแห่งความรุ่มร้อน ความรุ่มร้อนนั้นจะต้องสะท้อนย้อนกลับเข้ามาสู่ใจ เผาลนจิตใจให้เกิดความเดือดร้อนมากน้อยตามความส่งออกของจิตคิดในแง่ต่าง ๆ หนักเบาเพียงไร นั้นแหละเป็นเครื่องวัดความทุกข์ความลำบากอยู่ในตัวของมัน วันใดจิตมีความสงบเยือกเย็น วันนั้นต้องไม่เกี่ยวข้องวุ่นวายส่ายแส่กับโลกสงสารซึ่งเป็นเรื่องแห่งความทุกข์ วันนั้นจิตสบาย ยิ่งจิตมีความสัมผัสสัมพันธ์เข้ากับสมถธรรมเพียงขั้นต้นนี้โดยลำดับเท่านั้น ก็จะเห็นความสงบร่มเย็นภายในใจของตน

สมถะแปลว่าความสงบ ทำไมจึงให้ชื่อว่าความสงบ เพราะความฟุ้งซ่านความวุ่นวายมันเต็มอยู่ที่หัวใจ เมื่อใจได้รับธรรมโอสถเข้าเยียวยารักษาด้วยการปฏิบัติของตัวเองแต่ละราย ๆ แล้วย่อมปรากฏผลขึ้นมาเป็นความสงบ แล้วก็เป็นความสุขขึ้นที่ใจ นั่นไม่เดือดร้อน

อารมณ์แห่งธรรมกับอารมณ์ของโลกผิดกัน ความคิดในแง่โลกกับความคิดในแง่ธรรมนั้นผิดกันอยู่มาก ความคิดในแง่โลกเป็นเรื่องสั่งสมความทุกข์ความเดือดร้อนขึ้นมา แต่ความคิดในแง่ธรรมเป็นสิ่งที่กำจัดกิเลสตัณหาอาสวะและความทุกข์ซึ่งเป็นผลให้ออกไปจากจิตใจโดยลำดับ เพราะฉะนั้นผู้ที่มีความเชื่อในบุญในกรรมในหลักธรรมของพระพุทธเจ้า เฉพาะอย่างยิ่งคือผู้ปฏิบัติเรา จึงควรสนใจในจุดนี้ให้มากยิ่งกว่าจุดอื่นใดซึ่งเป็นจุดที่ถูกต้องนี้แล้วไม่สงสัย มีการสังเกตสอดรู้จิตใจของตนที่ดีดดิ้นอยู่ตลอดเวลา ตามกระแสแห่งกิเลสตัณหาอาสวะที่ผลักดันออกไปให้คิด

คิดออกไปเท่าไรก็กว้านเอาทุกข์เข้ามาซึ่งเป็นตัวผล แยกกันไม่ได้ คิดให้คิดในแง่ธรรม ต้องฝืนกันอยู่เสมอ ในอิริยาบถทั้งสี่ในความคิดทุกแง่ทุกมุม เป็นการต่อสู้ด้วยการฝืนด้วยการกำจัด นี่จึงเรียกว่าความเพียร หนักก็ตามเบาก็ตามงานของเราเป็นอย่างนี้ ทำไมจึงเรียกว่างานของเราเป็นอย่างนี้ ก็คืองานแก้กิเลสพระพุทธเจ้าทรงสอนอย่างนี้ทรงทำมาอย่างนี้แล้ว พระสาวกทั้งหลายก็ได้ยินได้ฟังมาอย่างนี้ และปฏิบัติองค์ของท่านอย่างนั้นมาแล้ว ต้องได้รับความทุกข์ความลำบากด้วยกันทั้งนั้นแหละ

ขึ้นชื่อว่าได้ทำการสู้รบหรือขึ้นเวทีต่อสู้กันแล้วต้องได้รับความทุกข์ ก่อนที่กิเลสจะบรรลัยลงไปเราก็ต้องได้รับความทุกข์มากเหมือนกัน เช่นเดียวกับนักมวยที่ขึ้นต่อยกันบนเวที แม้จะได้ชัยชนะก็ตาม เราอย่าเข้าใจว่าผู้ได้ชัยชนะนั้นไม่ได้รับความเจ็บปวดแสบร้อนจากคู่ต่อสู้ที่ต่อยกัน มีเหมือนกันมีอยู่ประจำ แต่นั้นชนะลงไปแล้วก็เป็นเรื่องของโลก นี่เราเป็นเพียงข้อเทียบเคียง หาที่สิ้นสุดยุติไม่ได้ความชนะแบบนั้น แต่เรื่องของธรรมกับกิเลสนี้ ถ้าชนะจริง ๆ แล้วไม่มีที่จะฟื้นขึ้นมาเป็นคู่ต่อสู้ของเราอีกได้เลย

ทุกข์ในการต่อสู้กับกิเลสในการฝืนกับกิเลส ในการตั้งท่าตั้งทางพินิจพิจารณาระมัดระวังตัว เพราะเรื่องของกิเลสย่อมเป็นความทุกข์เป็นธรรมดา ย่อมรับกันทั่วโลกแดนธรรม มีพระพุทธเจ้าเป็นพระองค์แรกทรงได้ผ่านมาแล้วถึงขั้นสลบไสลจะไม่ทุกข์ได้อย่างไร พระสาวกทั้งหลายก็เป็นเช่นเดียวกัน นี่เป็นที่ยอมรับมาตั้งแต่โน้นแล้ว แล้วเราจะแหวกแนวไปที่ไหนปฏิบัติธรรมจะไม่ให้ได้รับความลำบากลำบนอะไรเลย แต่แล้วก็โกยผลขึ้นมาเป็นคู่แข่งของพระพุทธเจ้าและสาวกทั้งหลายเป็นไปไม่ได้ ต้องได้รับความทุกข์

เดินตามรอยท่านไป ตามเสด็จท่าน ท่านทุกข์เราต้องยอมรับทุกข์ ท่านฝืนกับทุกข์เราก็ต้องเป็นนักฝืนกับทุกข์ ท่านเป็นนักต่อสู้เราก็ต้องเป็นนักต่อสู้ อย่างนี้จึงชื่อว่าเดินตามครู ลูกศิษย์มีครูสอน เราอย่านำสิ่งใดอารมณ์ใดความคิดปรุงใดที่เคยเป็นเรื่องของกิเลสมาหลอกหลอนกระซิบกระซาบเราให้เชื่อตามนั้น อย่าได้เชื่อสิ่งนั้น ต้องต่อสู้อยู่เสมอ

ธรรมะเป็นเครื่องระลึกรู้เรื่องกิเลส เป็นเครื่องต่อสู้กิเลส ธรรมะสติก็เป็นธรรม สติเป็นเครื่องระลึกรู้ตัวรักษาตัวอยู่ภายในใจ กิเลสแสดงขึ้นที่ใจ เพราะสิ่งใด เพราะรูป เพราะเสียง กลิ่น รส เป็นต้น ต้องสัมผัสที่ใจ รับรู้ที่ใจ แสดงออกในแง่ต่าง ๆ ที่ใจ สติอยู่กับใจย่อมจะสามารถรับทราบได้ทุกระยะที่สิ่งนั้นมาสัมผัส และต่อสู้ต้านทานกันได้โดยลำดับ เพราะเราตั้งหน้ารบด้วยความมุ่งมั่นแล้ว นี่คือสติเป็นสำคัญ เรียกว่าธรรมะเหมือนกันหมด ให้ระมัดระวังรักษาตัวอยู่เช่นนั้น

อย่าอยู่ด้วยความว่างเปล่าเฉย ๆ โดยไม่มีสติเป็นเครื่องคุ้มครองตนเลย อันนั้นจะว่าเป็นความสบาย ก็คือความที่นอนตายคอยกิเลสมาเผาศพนั้นแลไม่ใช่เรื่องดี เรื่องดีต้องเป็นเรื่องที่ต่อสู้อยู่เสมอ งานของเราเป็นอย่างนี้ ความจำเป็นของเราเป็นอย่างนี้ หน้าที่ของเราเป็นอย่างนี้ เพราะเจตนาหรือความมุ่งมั่นของเรามุ่งมั่นอย่างนี้แล้วจึงได้มาบวชในศาสนา

การผ่านโลกมาก็ผ่านมาด้วยกัน ก่อนที่จะบวชเป็นพระและนักปฏิบัตินี้ โลกเป็นอย่างไรเราได้เคยผ่านมาแล้ว เรื่องรสชาติของโลกเป็นอย่างไรนอกจากเจือด้วยยาพิษเสียทุกแง่ทุกมุมเท่านั้น ไม่เห็นรสใดความสุขใดที่จะเป็นที่ตายใจได้ ส่วนรสแห่งธรรมนี้เป็นธรรมชาติที่ตายใจได้โดยลำดับ ๆ ไป นี่เรามาหวังพึ่งธรรม การเป็นอยู่ของเราปัจจัยทานทั้งสี่ คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานเภสัช เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยศรัทธาของประชาชนทั้งหลายซึ่งเขาพร้อมอยู่แล้วที่จะบูชาพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เขาอุดหนุนค้ำชูอยู่แล้ว ไม่ได้เป็นข้อวิตกวิจารณ์กังวลใด ๆ พอที่จะให้เสียเวล่ำเวลาในการประกอบความพากเพียร มีหน้าที่อันเดียวที่จะประกอบความพากเพียรด้วยวิธีการต่าง ๆ ที่จะให้กิเลสหลุดลอยลงไป โดยอุบายวิธีการแห่งความฉลาดแหลมคมของตนแต่ละราย ๆ ที่จะนำมาใช้ มีเท่านี้งานของพวกเรา
3#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-8 15:47 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
งานอื่นไม่สำคัญสำหรับสมณะผู้ปฏิบัติตามร่องรอยของพระพุทธเจ้า เราอย่าเข้าใจว่างานอื่นใดจะเป็นของวิเศษวิโสเลิศเลอพอที่จะหลงทิศหลงแดนตื่นเต้น หลงโลกหลงสงสารไปตามเขา ใครจะสร้างอะไรขึ้นเป็นความเจริญขนาดไหนก็เป็นเรื่องของโลก มันกลายเป็นโลกไปหมดแล้ว ขอให้สร้างใจซึ่งเป็นความเจริญอันสำคัญนี้เถิด จะเป็นที่พอใจสำหรับตัวเอง อยู่กระต๊อบฝนตกบ้างรั่วบ้าง ขยับที่โน่นขยับที่นี่มันก็สบายหายกังวล ไปก็ไม่เป็นห่วงเป็นใย

เราไม่ต้องการชื่อเสียงเกียรติยศเกียรติคุณด้วยสิ่งที่โลกเขานิยมกัน นั่นเป็นเรื่องของโลก นิยมขนาดไหนก็สักแต่ว่าความนิยมกันเฉย ๆ ไม่เห็นเป็นความจริงที่จะให้ตายใจได้เลย แต่ธรรมนิยมคือผู้ปฏิบัติตามหลักธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้นี้ จะเป็นที่อบอุ่นภายในจิตใจของตนทั้ง ๆ ที่อยู่กระต๊อบเล็ก ๆ น้อย ๆ โดยที่ได้ประกอบความพากเพียรเต็มเม็ดเต็มหน่วยตามเวล่ำเวลาไม่คลาดเคลื่อน

สติเป็นของสำคัญในการรับรู้ระหว่างกิเลสกับธรรมที่จะทำลายกัน ส่วนมากกิเลสทำลายธรรมต้องระมัดระวังให้ดี นี่ละหน้าที่ของเรางานของเราแท้ ๆ ดังที่เคยแสดงให้ท่านทั้งหลายฟังแล้วด้วยความถึงใจจริง ๆ ด้วยความซาบซึ้งในหลักธรรมเหล่านี้จริง ๆ และเท่าที่ปฏิบัติมาก็ได้เห็นคุณค่าแห่งธรรมเหล่านี้ เพราะได้ทำตามธรรมเหล่านี้แล้ว ดังที่ท่านสอนว่า รุกฺขมูลเสนาสนํ นั่นคือที่อยู่ที่ประพฤติปฏิบัติบำเพ็ญของผู้หวังหลุดพ้นจากทุกข์โดยประการทั้งปวงด้วยงาน คือ เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ เป็นต้น ลงมาในอาการ ๓๒

ตจปัญจกกรรมฐาน แปลว่า กรรมฐานมีหนังเป็นที่ห้า เมื่อจะแปลออกตามศัพท์นี้ คือตจปัญจกกรรมฐาน หมายถึงเอาหนังครอบหมดเลย เพราะหนังเป็นประโยคสำคัญ เป็นสิ่งสำคัญมาก ที่ปิดหูปิดตาปิดความรู้สึกในความจริงทั้งหลายของจิตใจพวกเราไว้ได้อย่างมิดชิดมากทีเดียว แม้จะบาง ๆ ก็เถอะปิดได้อย่างสนิท เพราะฉะนั้นเมื่อสอนไปถึง ตโจ แล้วจึงย้อนกลับมา เอ้า พิจารณาตั้งแต่ผม ขน เล็บ ฟัน สรุปแล้วลงถึงหนัง ให้เห็นหนังอย่างชัดเจน

ถลกออกมาในเนื้อในกายของเรานี้ พลิกข้างในออกมาข้างนอกจะเป็นยังไง ข้างนอกเห็นแล้วมันหลอกเราเสียพอ ข้างนอกดูตรงไหนมีแต่เรื่องหลอกทั้งนั้น ผิวข้างนอกเป็นผิวที่หลอกบุรุษตาฟาง ผิวข้างในเป็นสิ่งที่จะให้เกิดปรีชาญาณความสามารถหยั่งทราบในอาการทั้งหลายซึ่งมีอยู่ในร่างกายนี้ ว่าเป็นเหมือนกันกับหนังข้างในนี้แล ท่านจึงสอนให้ย้อนหน้าย้อนหลังอนุโลมปฏิโลม ก็เหมือนเขาคราดนานั่นเอง คราดกลับไปกลับมาจนมูลคราดมูลไถแหลกละเอียดควรแก่การปักดำแล้วค่อยหยุด

การพิจารณาก็เช่นเดียวกัน เราอย่าเอาเวล่ำเวลาอย่าเอาปริมาณการนับการอ่าน ว่าได้พิจารณาเท่านั้นเท่านี้เข้ามาเป็นผลเป็นประโยชน์ เป็นมรรคผลนิพพาน แต่ให้เอาความชำนิชำนาญแห่งการพิจารณาซ้ำ ๆ ซาก ๆ หลายครั้งหลายหน จนเป็นที่เข้าใจอย่างซาบซึ้งถึงใจจริง ๆ แล้วปล่อยวางในสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ ไม่ยึดมั่นถือมั่น เพราะเห็นตามเป็นจริงด้วยปัญญาอันชอบธรรมแล้ว นั่นปล่อยหรือไม่ปล่อยก็ตาม เป็นไปเองโดยหลักธรรมชาติ ดังธรรมท่านกล่าวไว้ว่า สนฺทิฏฺฐิโก นี่ละงานของพระ ให้พากันเข้าใจฝังลึก ๆ

อย่าพากันตื่นเต้น อย่าพากันหลงโลกหลงสงสารออกนอกลู่นอกทางไปตามโลกตามสงสาร ด้วยการก่อนั้นสร้างนี้ยุ่งไปหมด สร้างวัดที่ไหนสร้างกุฏิ ศาลา โรงธรรม สร้างสิ่งนั้นสร้างสิ่งนี้ อยู่ไม่ได้อยู่ไม่เป็นสุข มันเลยเป็นเรื่องของโลกไปหมดหาความสงบร่มเย็นภายในจิตใจไม่ได้ เพราะงานนั้นไม่ใช่งานสงบ งานเพื่อความวุ่นวายทั้งภายในวัดภายในตัวพระเณรและประชาชนผู้ให้การอุดหนุน เลยกลายเป็นเรื่องกวนบ้านกวนเมืองเข้าไป จนขุ่นเป็นตมเป็นโคลน ระหว่างฆราวาสกับ ปุญฺญกฺเขตฺตํ โลกสฺส ที่ว่าพระสงฆ์เป็นเนื้อนาบุญของโลกนั้นก็กลายเป็นปรปักษ์กันไป กลายเป็นผีไม่ใช่เนื้อนาบุญ คอยกัดตับกัดปอดเขาแหลกไปหมด นี่เป็นทางสงบได้อย่างไรพิจารณาซิ เพราะมันไม่ใช่งานของพระ

งานของพระทำตัวให้ดี ทำจิตให้มีสติปัญญาเป็นผู้รักษาเสมอ อย่าได้ปราศจากสติปัญญา จิตจะมีคุณค่าขึ้นในตัวของเรา พ้นจากอำนาจของสติปัญญาที่เป็นผู้ฝึกผู้อบรมหรือทรมานไม่ได้ ทำงานก็ในวงที่พูดนี้แหละ ท่านกล่าวไว้ถึง ๔๐ ห้องกรรมฐาน จะเป็นห้องใดอันใดก็ตาม ก็คืองานอันสำคัญที่เหมาะสมกับจริตของเราแล้วนำมาประพฤติปฏิบัติ นำมาบำเพ็ญ ใน เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ อันใดที่เหมาะสม หรือเลยจากนั้นไปถึงอาการ ๓๒ เลยจากผม ขน เล็บ ฟัน แล้วก็หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เรื่อยเข้าไปจนกระทั่ง ไต ปอด ไส้น้อย ไส้ใหญ่ อาหารใหม่ อาหารเก่า พิจารณากันลงให้ทั่วถึง ให้เห็นชัดเจนตามความจริงซึ่งมีอยู่แท้ ๆ ภายในร่างกายของเรานี้ทุกส่วนไม่มีอะไรบกพร่อง ทำไมจึงไม่เห็นทำไมจึงไม่รู้

พระพุทธเจ้าทำไมรู้ สาวกทั้งหลายท่านทำไมรู้ ตาท่านเหมือนกันกับตาเรา ใจของท่านก็เหมือนกับใจเรา เป็นเพราะอะไรท่านถึงรู้ เพราะท่านใช้สติใช้ปัญญาในทางที่ถูกที่ชอบเข้ามาพิจารณา ตามความจริงของสิ่งเหล่านี้ ก็กลายเป็นปัญญาชอบ เป็นสติชอบขึ้นมา ถอดถอนสิ่งที่เป็นภัยออกได้จากความหลงงมงายของตนเอง กลายเป็นความฉลาดแหลมคมขึ้นมา รู้เท่าทัน นี่งานนี้เป็นงานรื้อถอนกิเลสอาสวะ จึงสมควรเป็นงานของพระโดยแท้ ให้พากันหนักแน่นในงานนี้

อย่าเห็นงานอื่นใดว่าเป็นสิ่งสำคัญยิ่งกว่างานนี้ ไม่ใช่หลักของสมณธรรม ไม่ใช่งานที่พระพุทธเจ้าประทานให้ สิ่งเหล่านั้นก็พออยู่พอเป็นพอไปเท่านั้น ไปที่ไหนอย่ายุ่งวุ่นวายก่อกวนตัวเองไม่เกิดประโยชน์ ให้ขุดค้นลงที่นี่ จะทุกข์ยากลำบากเท่าไรให้ถือว่านั้นแหละ เรียกว่าเข้าสู่สงครามแล้ว วันนี้ลำบากต่อสู้กับกิเลสตัณหาอาสวะ จิตไม่ยอมสงบได้เป็นเพราะเหตุใด ตั้งหน้าตั้งตาคุ้ยเขี่ยขุดค้นถึงสาเหตุที่พาให้ฟุ้งซ่านรำคาญเป็นเพราะเหตุใดจึงต้องฟุ้งซ่าน ฟุ้งซ่านไปกับอารมณ์อันใด นำอารมณ์นั้นมาพิจารณาแยกแยะดูให้เห็นความจริงของมันอย่างชัดเจน แล้วก็ไม่พ้นที่จะย้อนเข้ามาดูกระแสของจิตที่หลงงมงายในสิ่งเหล่านั้น ว่านั้นเป็นนั้นนี้เป็นนี้ แล้วผูกมัดตนเองด้วยความลุ่มหลงด้วยความสำคัญ นี่คือการพิจารณา

อย่างน้อยให้จิตใจสงบให้ได้ บังคับด้วยสติปัญญาต้องสงบ จิตใจไม่นอกเหนือสติปัญญาไปได้ แม้แต่กิเลสทุกประเภทไม่เห็นนอกเหนือสติปัญญาไปได้เลย ทำไมจิตจะนอกเหนือสติปัญญาไปได้ล่ะ ธรรมนี้เป็นสิ่งที่เหนืออยู่แล้ว เป็นเครื่องฝึกฝนทรมาน เป็นเครื่องดัดสันดานหรือเป็นเครื่องประหัตประหารกิเลสทุกประเภทได้โดยสมบูรณ์ไม่ต้องสงสัยอยู่แล้ว ทำไมเรานำมาใช้จึงล้มลุกคลุกคลาน มีแต่กิเลสฟันเอา ๆ เป็นเพราะเหตุใด เป็นเพราะเราเองเหลวไหล ต้องฟิตตัวของเราขึ้นให้ทันกับเหตุการณ์อย่าอยู่เฉย ๆ
4#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-8 15:47 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
สติปัญญามีให้ใช้ หาอุบายคิดค้นต่าง ๆ เดี๋ยวก็สะดุดขึ้นมาเป็นความรู้สึกชนิดหนึ่ง แล้วสะดุดขึ้นมาเป็นความรู้สึกชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นความรู้สึกอันชอบธรรม เป็นเรื่องที่จะให้รู้เรื่องของกิเลสและธรรมทั้งหลายโดยลำดับ ๆ ไป เพราะความคิดอ่านไตร่ตรองในแง่ธรรมต่าง ๆ จะเป็นส่วนสกลกายเราโดยเฉพาะ หรือจะเป็นภายนอกเวลาสัมผัสสัมพันธ์กับสิ่งใด นำมาพิจารณาแยกแยะให้เป็นอรรถเป็นธรรม เป็นมรรคได้ทั้งภายในภายนอก

สังขารอันเดียวนี้แหละแยกเป็นมรรค คือ ทางดำเนินก็ได้ สังขารอันเดียวนี้แหละแยกไปเป็นสมุทัยก็ได้ ปกติสังขารนี้เป็นเครื่องมือของกิเลส เป็นตัวสมุทัยได้เป็นอย่างดีอยู่ตลอดมาไม่อาจสงสัย แต่ที่จะให้เป็นเครื่องมือของมรรค เพื่อดำเนินให้หลุดพ้นนี้จึงต้องได้ฝึกฝนอบรม นำสังขารนั้นมาใช้ในทางนี้ก็เป็นเครื่องมือของธรรมขึ้นมา

จิตไม่สงบเลยหาความสุขได้ที่ไหนพระเรา อยู่ก็อยู่ในหลุมนรกนั่นเอง นรกสุมอยู่ภายในใจ คือไฟกิเลส ราคคฺคินา โทสคฺคินา โมหคฺคินา นี่ละคือกองไฟเผาผลาญอยู่ภายในจิตนี้ตลอดเวลา เราหาความสุขได้ที่ไหน โลกนี้มีความหมายที่ไหน แม้ที่สุดร่างกายชีวิตจิตใจของเราก็หาความหมายไม่ได้ ถ้าลงกิเลสนี้ได้เผาจิตตลอดเวลาอยู่แล้วมันคับแคบตีบตันไปหมด แล้วจะทำยังไงจึงจะให้สังขารร่างกายชีวิตจิตใจมีคุณค่ามีความหมายขึ้นมา ก็ต้องอาศัยธรรมซึ่งมีความหมายอยู่แล้วนั้นมาปราบปรามแก้ไขสิ่งที่ไม่มีคุณค่าคือกิเลส อันเป็นตัวสำคัญทำให้เราหมดคุณค่าไปนั้นได้สลายตัวลงไป ความสงบเกิดขึ้นมาเอง ความสงบสังขารความคิดปรุง

จิตไม่สงบเลยหาความสบายไม่ได้ อยู่ท่ามกลางแห่งกองฟืนกองไฟ ราคคฺคินา โทสคฺคินา โมหคฺคินา ไม่มีอะไรประเสริฐอัศจรรย์ มีแต่ผ้าเหลืองพอกตัวอยู่เท่านั้นเป็นประโยชน์อะไร อยู่ในร้านขายเขาอดอยากหรือผ้าเหลือง เราไม่ต้องการผ้าเหลืองแต่เป็นเครื่องหมายให้ทราบว่านี้คือเครื่องหมายของเพศนี้ ทำหน้าที่นี้ทำหน้าที่นั้น นี่เครื่องหมายของพระ พระทำหน้าที่อะไร ทำหน้าที่ถอดถอนกิเลส ไม่ใช่ทำหน้าที่ส่งเสริมกิเลส ไม่ใช่หน้าที่ที่จะนอนอยู่ในกองฟืนกองไฟคือ ราคคฺคินา โทสคฺคินา โมหคฺคินา

ให้อยู่กับความสงบ เย็นอยู่ด้วยความสงบ พิจารณาแยกแยะดูธาตุดูขันธ์ อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา หรืออสุภะอสุภังปฏิกูลโสโครกซึ่งมีเต็มอยู่แล้วภายในร่างกายของเรานี้ทุกสัดทุกส่วน ไม่บกพร่องในความปฏิกูลเหล่านี้ ถ้าพูดถึง อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ก็เต็มอยู่เหมือนกัน อยู่ในวัตถุอันเดียวกันนี้แหละ สติปัญญาค้นคว้าลงที่นี่ให้เป็นที่เข้าใจ

การอยู่กับครูบาอาจารย์ไม่เป็นของแน่นอน เดี๋ยวก็โยกย้ายผันแปรกันไปเพราะอยู่ในท่ามกลางแห่งโลก อนิจฺจํ ในขณะที่ได้มาพักมาอาศัยมีผู้อบรมก็ให้ตั้งหน้าตั้งตาประพฤติปฏิบัติกำจัดสิ่งที่เป็นภัยแก่ตนออกด้วยความเพียร ขัดข้องตรงไหนให้ถามครูบาอาจารย์ เราพร้อมเสมอที่จะแก้ไขหรือชี้แจงให้ทราบในด้านจิตตภาวนา ไม่ใช่จะมีแต่เวลามาสอนแล้วก็ไม่สนใจกับใคร เราไม่เป็นอย่างนั้น เราคอยฟังเสมอเรื่องผลแห่งการประพฤติปฏิบัติของหมู่เพื่อน ในกาลอันควรที่จะศึกษาเรายินดีให้ศึกษาได้รับการศึกษาเสมอ ให้เห็นขึ้นมาให้รู้ขึ้นมา

จิตใจถ้ารู้ถ้าเห็นในสิ่งแปลก ๆ ต่าง ๆ มันหากมีแง่ข้องใจขึ้นมาจนได้แหละ ยิ่งขั้นปัญญาด้วยแล้วนั้นแหละคือบ่อแห่งปัญหาทั้งมวลขึ้นอยู่นั้น บางอย่างเราก็แก้ได้เองบางอย่างแก้ไม่ได้ ต้องอาศัยครูบาอาจารย์ช่วยแก้โดยลำดับลำดา เพราะฉะนั้นท่านจึงให้นามว่าสาวก แปลว่า สาวะกะคือ ผู้ฟัง ต้องฟังจึงจะเข้าใจวิธีประพฤติปฏิบัติ สยัมภูก็คือพระพุทธเจ้า ทรงรู้เองเห็นเอง แต่สาวกต้องเป็นผู้ได้ยินได้ฟัง เราก็ในนามของสาวกคือผู้สดับตรับฟังเหมือนกันกับท่าน ฟังแล้วให้ฝังลงจิตใจอย่างแท้จริง อย่าฟังสักแต่ว่าฟังเหมือนเทน้ำใส่หลังหมา เทสักเท่าไรสลัดทิ้งหมดไม่มีอะไรติดบนหลังของมันเลย นี่สาดธรรมะเข้าไปสักเท่าไรก็สลัดทิ้งหมด อำนาจของกิเลสมันสลัดทิ้ง ไม่เข้าถึงจิตถึงใจ เป็นงู ๆ ปลา ๆ ลุ่ม ๆ ดอน ๆ ไปในขณะที่ฟัง ฟังไปแล้วก็ยิ่งงุ่มง่ามต้วมเตี้ยม หาหลักหาเกณฑ์หาเหตุหาผลที่จะเปลื้องตนไม่ได้ด้วยสติปัญญาของตนเลย อันนี้ใช้ไม่ได้ ไม่ใช่หลักของผู้ปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้นจากทุกข์โดยประการทั้งปวง ที่จะมาทำตนเป็นอย่างนั้น ซึ่งเปรียบเหมือนหมูจะคอยขึ้นเขียงอยู่ตลอดเวลาไม่ใช่ทาง

เราเป็นห่วงมากสำหรับหมู่เพื่อน จึงต้องได้ให้การอบรมอยู่เสมอ เราไม่เห็นสิ่งใดมีคุณค่าภายในวัดนี้นอกจากพระที่อยู่กับเราเท่านั้น จะได้ทำประโยชน์แก่ตนให้สมบูรณ์ และทำประโยชน์แก่โลกในอันดับต่อไป ซึ่งเป็นสิ่งที่แยกกันไม่ออก แต่ขณะแรกนี้ให้ทำความสนใจอบรมสั่งสอนตนให้เข้าอกเข้าใจในอรรถในธรรม จนเป็นหลักฐานเป็นที่แน่ใจแล้ว เรื่องประโยชน์เพื่อผู้อื่นนั้นจะตามมา ดังพระพุทธเจ้าเวลาทรงบำเพ็ญก็ไม่ทรงสนพระทัยกับผู้ใดทั้งนั้น ทรงบำเพ็ญอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย จนกระทั่งได้ตรัสรู้ธรรมถึงแดนพ้นทุกข์โดยสมบูรณ์แล้ว ทีนี้ก็ทรงทำหน้าที่แห่งความเป็นศาสดา ประกาศธรรมสอนโลกด้วยพระเมตตาล้วน ๆ เรื่อยมาจนกระทั่งปรินิพพาน แล้วยังประทานพระโอวาทไว้จนกระทั่งบัดนี้ นั่นประโยชน์ตนกับประโยชน์ผู้อื่นเป็นสิ่งที่เกี่ยวเนื่องกัน สาวกทั้งหลายก็เหมือนกัน ท่านทำหน้าที่อย่างนั้นตามอำนาจวาสนาของท่านผู้ใดมีความกว้างขวางมากน้อย เป็นไปตามจริตนิสัยวาสนาของตน ๆ แต่ละองค์ ๆ

การที่จะสั่งสอนคนอื่นทั้ง ๆ ที่ตนก็ไม่ค่อยเข้าอกเข้าใจรู้เรื่องราวอะไรจะเอาอะไรไปสอนเขาพอให้เกิดความสัตย์ความจริงเป็นที่แน่ใจได้ ไม่มี ถ้าเราไม่ได้ความจริงจากจิตใจของเรา จากการปฏิบัติของเราก่อนแล้วจะเอาความจริงไปสอนคนอื่นอย่างถึงใจนั้นเป็นไปไม่ได้ ก็ต้องสอนแบบลูบ ๆ คลำ ๆ เมื่อการสอนแบบลูบ ๆ คลำ ๆ ผู้ฟังจะเอาความจริงมาจากไหน ก็ต้องฟังแบบลูบ ๆ คลำ ๆ เหมือนกัน ผลสุดท้ายก็เหลวทั้งสองฝ่ายไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย มีแต่ชื่อของธรรมะ มีแต่ชื่อของกิเลสเต็มอยู่ในหูเต็มอยู่ในใจ ความจริงของธรรมไม่ปรากฏภายในใจเลย จะเอาอะไรมาเป็นคุณเป็นประโยชน์ ทั้งผู้เทศน์ผู้สอนทั้งผู้มาสดับตรับฟัง ไม่เกิดประโยชน์ทั้งนั้นแหละ เพียงคาด ๆ เดา ๆ กันไป

นั่นละความนับถือศาสนาด้วยการคาดการเดาการคะเนจึงเป็นสิ่งที่ทำให้ล้มได้ง่าย เอนเอียงได้อย่างง่ายดาย ผิดกับผู้ที่เข้าอกเข้าใจทางด้านปฏิบัติจนเป็นความจริงใจอย่างซึ้ง นั่นไม่หวั่นไม่ไหว สอนก็สอนตามเหตุตามผลตามความสัตย์ความจริงอย่างองอาจกล้าหาญ เพราะสอนออกมาจากสิ่งที่ตนรู้แล้วเห็นแล้วทุกอย่าง จะสะทกสะท้านหวั่นไหวที่ไหน จะลูบ ๆ คลำ ๆ ได้ยังไง เมื่อของจริงมีอยู่กับตัวประจักษ์กับใจแล้ว ต้องแสดงของจริงออกมาอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ตามขั้นภูมิที่ตนได้รู้ได้เห็น ผู้ฟังก็ฟังอย่างถึงใจตามกำลังความสามารถของตนเช่นเดียวกัน นั่นละครั้งพุทธกาลท่านสอนกันท่านสอนอย่างนั้น

เพราะฉะนั้นธรรมที่เข้าถึงจิตใจคนทางภาคปฏิบัติ จึงผิดกับธรรมที่มีตั้งแต่ความจำ มีแต่ชื่อของกิเลสบาปธรรมเต็มหัวใจ แต่ไม่เห็นหัวใจดวงนั้นได้ลดละกิเลสพอให้ลดน้อยลงไปเลย ไม่เกิดประโยชน์ เอาให้เห็นความจริง ความจำกับความจริงนั้นผิดกันคนละโลก เช่นเราจำกิเลสตัณหาอาสวะเท่านั้นเท่านี้ จำได้กระทั่งมรรคผลนิพพาน นี่เป็นความจำ แต่เวลาปฏิบัติจนปรากฏความจริงแล้วนั้นผิดกันอยู่มาก ความจำไม่ยังกิเลสให้หลุดลอยไปเลย แต่ความจริงนี้รู้จริงเห็นจริง เข้าถึงไหนกิเลสหลุดลอยไปถึงนั้น รู้จริงโดยรอบคอบขอบชิด กิเลสหมดไปโดยสิ้นเชิงไม่มีเหลือ นี่ละความจริง เห็นด้วยตนรู้ด้วยตนเรียกว่าความจริง ความจำนั่นเป็นความเดาความคาดคะเน
5#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-8 15:48 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
เอาให้จริงจัง ธรรมะพระพุทธเจ้าเป็นสิ่งที่ทำให้ประจักษ์กับภายในจิตใจของผู้ปฏิบัติได้ด้วยกัน อย่าลดละความพากเพียร ตั้งหน้าตั้งตาประพฤติปฏิบัติ ทุกข์ทนเอา ใครทุกข์ด้วยกันทั้งนั้นแหละทำไมจะไม่ทุกข์ไม่ใช่คนตาย เวลานี้ทุกข์ก็ทุกข์เพื่อการต่อสู้กับกิเลสต่างหาก ไม่ใช่ทุกข์เพื่อจะล่มจมที่ไหนกัน พอจะให้เกิดความท้อถอยอ่อนแอ ทุกข์นี่ทุกข์เพื่อชัยชนะ ทุกข์เพื่อลบล้างสิ่งที่จะทำให้เกิดทุกข์มากยิ่งกว่านี้ให้หมดไปภายในจิตใจ ทำไมจะเห็นความทุกข์เหล่านี้ว่าเป็นของหนักหนาจนเกินความสามารถของตนแล้วท้อถอยไปเสีย บทเวลาจะแบกทุกข์ซึ่งเกิดขึ้นเพราะอำนาจของกิเลสที่ชำระมันไม่ได้นั้น เราทำไมเราจะสามารถแบกกองทุกข์เหล่านั้นได้ล่ะ เราต้องคิดเทียบเคียงเหตุผล เราเป็นนักปฏิบัติ สติปัญญาหุงต้มแกงกินไม่ได้ ต้องนำมาใช้ในด้านแก้กิเลสตัณหาอาสวะ จึงจะเป็นความถูกต้องตามหลักธรรมที่พระองค์ท่านสอนไว้ทุกแง่ทุกมุม

เอาละเหนื่อย

พูดท้ายเทศน์

จะไม่มีแล้วนะวงกรรมฐานนี่ จะมีแต่ชื่อแล้วนะ เดี๋ยวนี้ประชาชนทั้งหลายก็หลั่งไหลมา เคารพเลื่อมใสสักการบูชาทำบุญให้ทานกับพระกรรมฐานสายท่านอาจารย์มั่น ภาคไหน ๆ ก็มากันทุกภาค เฉพาะอย่างยิ่งภาคกลางมากเป็นประวัติการณ์ แต่มันก็อดวิตกกังวลไม่ได้เราซึ่งได้คิดมาเป็นเวลานานแล้ว และแน่ใจว่าจะไม่ผิดจากที่เราคิดไว้เหมือนกัน

เพราะฉะนั้นจึงได้ตอบจดหมายของเขาที่มาเมื่อสักสองสามวันนี้ เขามาขอหนังสือ เล่าเกี่ยวกับเรื่องมีความเคารพเลื่อมใสพระกรรมฐานสายท่านอาจารย์มั่นมาก เขาก็พูดถึงเรื่องประชาชนทุกภาค เฉพาะอย่างยิ่งภาคกลางหลั่งไหลมาบำเพ็ญกุศล เคารพบูชาครูบาอาจารย์สายนี้ น่าอนุโมทนาเหลือเกิน เขาก็พูดของเขาไป เราเพื่อให้ข้อคิดแก่เขา บทเวลาไปโดนเข้าจัง ๆ แล้วจะเสียใจ จึงต้องเผดียงไปให้ทราบให้เป็นข้อคิดเอาไว้ การที่ประชาชนมาเคารพเลื่อมใสพระกรรมฐานสายท่านอาจารย์มั่นนั้น เราก็อนุโมทนาด้วย แต่สิ่งที่เราอดคิดไม่ได้อดกังวลไม่ได้ก็คือ พระกรรมฐานสายท่านอาจารย์มั่นนี้จะเป็นผู้ทรงคุณธรรมสามารถที่จะยังศรัทธาทั้งหลายให้มีความเชื่อความเลื่อมใส ได้รับผลประโยชน์ทั่ว ๆ ไปหรือทุกรายได้หรือไม่

เพราะในโลกอันนี้มีทั้งของจริงของปลอม มีทั้งดีทั้งชั่วสับปนกันไป พระกรรมฐานสายท่านอาจารย์มั่น เราก็แน่ใจว่าจะมีทั้งจริงทั้งปลอมทั้งดีทั้งชั่วสับปนกันไป ถ้าผู้มาเคารพเลื่อมใสได้ใช้วิจารณญาณพินิจพิจารณาให้รอบคอบพอสมควรก่อนแล้ว จะเคารพเลื่อมใสจะประพฤติปฏิบัติอย่างไรนั้นเป็นความชอบธรรม เราก็พูดอย่างงี้ให้เขาได้ข้อคิดไว้ก่อน เวลาไปโดนเข้าจะได้ไม่หงายไปทั้งเป็น สลบไปเลย แล้วเสียคนไปด้วย เพราะมันมีในโลกอันนี้

ธนบัตรจริงกับธนบัตรปลอมก็มาด้วยกัน เหรียญ ๕ บาทเห็นไหมทุกวันนี้เลยล้มเลิกกันไป แก้ไม่ตกเลยล้มเลิกกันไป ได้ยินเขาพูดเหมือนกัน เราทำขึ้นเขาก็ทำขึ้น..เหรียญ ๕ บาท มันปลอมไหมล่ะ มันปลอมซิ พระกรรมฐานก็ไม่ใช่จะเป็นอรรถเป็นธรรมทุกองค์ ผู้ท่านเป็นธรรมท่านก็เป็น เราไม่ลบล้างเราเคารพเลื่อมใส ผู้ปฏิบัติด้วยความเป็นธรรมทั้งผู้ใหญ่ผู้น้อยมี เรื่องมีนั้นมี แต่ปฏิเสธเรื่องสิ่งที่แฝง ๆ ปลอม ๆ ที่จะแทรกมาด้วยกันนั้นไม่ได้เท่านั้นเอง จึงได้ไขเงื่อนให้เขาได้ทราบเอาไว้

นี่เราพูดถึงแง่ภายนอก แง่ภายในในตัวของเราทุกคน ๆ มันก็เป็นกรรมฐานปลอมอยู่โดยดี ความจริงมีนิดหน่อยนอกนั้นมีแต่ปลอมไปหมด เดินจงกรมอยู่มันก็ปลอมจะว่าไง เดินจงกรมหย็อก ๆ ๆ จิตไปเล่นขี้เล่นเยี่ยวเล่นตมเล่นโคลนอยู่ที่ไหน นั่นมันปลอมอยู่นั้น ถ้ามันจริงอยู่เรื่อย ๆ มันจริงส่วนมาก มันก็จริงไปเรื่อย ๆ แล้ว การพูดต้องย้อนเข้ามาเป็น โอปนยิโก พูดข้างนอกแล้วก็ต้องมาข้างในให้ทราบกัน เพราะเราพูดเพื่อเรา เราไม่ได้พูดเพื่อตำหนิผู้หนึ่งผู้ใด เราพูดตามหลักความจริงซึ่งควรจะได้รับประโยชน์จากการพูดนี้ด้วย สำหรับผู้มาอบรมเพื่ออรรถเพื่อธรรมทั้งหลาย จึงต้องย้อนเข้ามาให้เป็นที่เข้าใจกัน

จิตใจของเรานี้มันปลอมอยู่เสมอ คอยจะแทรกอยู่นั้น ในขณะที่เป็นธรรมมีน้อย ขณะที่ไม่เป็นธรรมที่เป็นของปลอม เป็นความปลอมเป็นความคิดความปรุงต่าง ๆ นั้นมีมาก จึงต้องพยายามชำระแก้ไขกันตรงนี้ให้ดี ระมัดระวัง อย่ามองไกล มองดูจิตนั้นแหละตัวเหตุอยู่ตรงนั้นไม่มีที่อื่น ตัวเหตุคือจิตก่ออยู่ตลอดเวลา ก่อเหตุเรื่องนั้นเรื่องนี้ คิดเรื่องอดีตอนาคตเกี่ยวกับรูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส ดีชั่วต่าง ๆ มันหากปรุงหากแต่งทำให้เรายุ่งและหลงตามไปนั้นแหละ คล้อยตาม เรื่องราวต่าง ๆ หายไปกี่กัปกี่กัลป์ก็ไม่รู้แล้วมันก็มาอุ่นกินมาอุ่นคิดขึ้นมา แล้วทำให้เกิดความดีใจเสียใจเป็นบ้าไปด้วยอย่างนั้น เราหลงกลมายาของกิเลสที่แสดงออกทางขันธ์เห็นไหม

ขันธ์นี่เป็นเครื่องมือของกิเลสมาดั้งเดิม พยายามที่จะให้เป็นเครื่องมือของธรรม เอาให้ดีให้จริง จนกระทั่งกิเลสมันตายไปเสียจริง ๆ ไม่มีสิ่งใดเหลือเลย ขันธ์ทั้งห้านี้ก็เป็นเครื่องมือของธรรมล้วน ๆ ถึงแม้เช่นนั้นมันก็ยังต้องดุกดิก ๆ ของมันอยู่นั้นนะ มันกระดุกกระดิก ๆ ของมัน มันอยู่เฉย ๆ ไม่ได้ขันธ์ ๕ นี่ เฉพาะอย่างยิ่งสังขารกับสัญญา สัญญาละเอียดกว่าสังขารมากเท่าที่ได้สังเกตตามหลักธรรมชาติของมันโดยปกติอย่างทุกวันนี้ก็ดี ดู อ๋อ สัญญานี้ละเอียดมากยิ่งกว่าสังขาร คือมันซึมออกไปเหมือนกับกระดาษซึมนี่ สังขารมันยังแย็บมันถึงเป็นเรื่องราวขึ้นมา แต่สัญญาที่มันซึมออกไปเป็นภาพออกมาให้จิตได้เห็น เป็นภาพออกมาแล้วก็จิตจะมีเรื่องต่อขึ้นมาเรื่อยเรื่องสังขาร นี่ละเอียดมาก ทั้ง ๆที่มันก็ไม่มีเรื่องอะไรกำเริบนะ

เราพูดตามหลักปัจจุบันซึ่งเป็นอยู่ทุกวันนี้ให้หมู่เพื่อนทั้งหลายฟัง เราไม่ได้อวดเราสังเกตดูตามเรื่องของมันในปัจจุบันนี้มันเป็นอย่างนั้นนะ มันอยู่เฉย ๆ ไม่ได้แหละนอกจากระงับมันชั่วกาลชั่วเวลา มันจะต้องมีปรุงของมัน ยิบ ๆ แย็บ ๆ จะเป็นการสั่งสมกิเลสขึ้นมาก็ไม่ใช่ มันหากปรุงของมันเอง หมายก็เหมือนกันมันเป็นอย่างละเอียด ๆ อ๋อ ปกติของมันเป็นอย่างนั้น ทั้ง ๆ ที่หมายขึ้นมาก็ดีเป็นอย่างไรขึ้นมาก็ดี ปรุงคิดขึ้นมาเรื่องใดก็ดีก็ไม่มีใครไปยึดเป็นเจ้าของ ไม่มีใครไปยุ่งกับมันไปถือกรรมสิทธิ์กับมัน มันก็ปรุงของมันมันก็ดับของมันไปเรื่อย ๆ ธรรมชาติของมัน ดูมันสนุกดู มันดุกดิก ๆ อยู่นั้น นี่ลองให้กิเลสเข้าเป็นตัวการดูซิ เป็นเจ้าของผลักดันมันออกมานี้ เรื่องราวมันจะไปใหญ่ ๆ ตลอดเวลา ถ้ามีอะไรมันก็ดุกดิก ๆ ของมันอยู่นั้น จนกระทั่งมันหมดความสืบต่อเสียเมื่อไรแล้วมันถึงจะหมดปัญหา

นี่สังเกตดูไม่มีงานมีการอะไรนี่ นั่งดู จะนั่งก็ตามจะนอนก็ตามสังเกตดูมันดุกดิก ๆ ของมันมันไม่ได้เรื่องอะไร คือไม่มีใครไปเอาเรื่องกับมันมันก็ปรุงตามเรื่องของมัน เราก็รู้เรื่องของมันอยู่แล้วนี่จะเอาเรื่องมันอะไร เพราะฉะนั้นมันถึงเป็นของมันอยู่ตามธรรมชาติ พูดง่าย ๆ ก็เหมือนกับหางจิ้งเหลนขาดนี่แหละ ไม่เห็นมีความหมายอะไรหางจิ้งเหลนขาด ดุกดิก ๆ อยู่ตัวของมันก็วิ่งไปถึงไหนแล้ว แต่หางที่มันขาดดุกดิก ๆ อยู่ เหมือนกับมีวิญญาณมีความรู้อะไรอยู่ในนั้น แต่ความจริงไม่มี

ขันธ์ก็เหมือนกันอาศัยแต่จิตเป็นผู้ทรงอยู่นั้น จิตก็ไม่ได้ไปหลงกับมันเสียอย่างนี้ มีแต่มันล้วน ๆ เช่น สัญญา สังขาร ดุกดิก ๆ ๆ เช่นเสียงอะไรมากระทบหูก็ได้ยินเพราะประสาทส่วนรับหูมี พอได้ยินพับมันก็ดับไปพร้อม ๆ ถ้าไม่มีเจ้าของเข้าไปยึด มีแต่ต่างอันต่างเกิดต่างอันต่างดับของมันอยู่ตามหลักธรรมชาติ`ของมันเท่านั้นเอง ออกจากนั้นแล้วก็ระงับหยุดใช้ขันธ์ กำหนดพักขันธ์อันนี้มันก็เงียบไปเลย ไม่มีขันธ์ใดดีดขันธ์ใดดิ้น เหลือแต่ความรู้

เมื่อเหลือแต่ความรู้ล้วน ๆ แล้วก็เหมือนความรู้นี้ครอบหมดทั้งโลกธาตุเลย ซ่านไปหมด ประหนึ่งว่าความรู้อันนี้จะแสดงเหมือนกับว่าเสียงเป็นกังวานครอบโลกธาตุเสียอีกเหมือนกัน ถ้าหากว่าเราจะพูดเหมือนว่าเป็นเสียงนะ เพราะความเด่นแห่งความรู้อันนั้นเอง มันเป็นเหมือนกับว่าเป็นเสียงกังวานครอบโลกธาตุ ถ้าเราจะแยกมาใช้พูดอย่างนี้มันก็น่าจะพูดได้ คือความรู้นั้นไม่มีอะไรเข้าไปแทรก ไม่มีอะไรเข้าไปเหยียบย่ำทำลาย ไม่มีอะไรเข้าไปรบกวน เหลือแต่ความรู้ล้วน ๆ อยู่ภายในตัวเอง เป็นความรู้ในหลักธรรมชาติของตัวเองด้วย ไม่ใช่ความรู้เสกสรรปั้นยอขึ้นมา แต่ความรู้นั้นเป็นสิ่งที่ละเอียดอ่อนที่สุดพูดเทียบอะไรไม่ได้
6#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-8 15:48 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ทั้ง ๆ ที่รู้ไม่สงสัยแต่จะเทียบอะไรเทียบไม่ได้ พูดไม่ออก ได้แต่ความรู้ที่ซ่านตัวอยู่นั้นเหมือนกับครอบโลกธาตุ เพราะความเด่น ความรู้ไม่มีอะไรเจือปน เด่นในโลกนี้เหมือนไม่มีโลกพูดง่าย ๆ มีแต่ความรู้เท่านั้นที่เด่นครอบโลกธาตุ แต่จะจับเอาความรู้จุดของความรู้จับไม่ได้ แล้วก็ไม่สนใจจะจับ สนใจจับไปหาอะไร ไม่มีก็ทราบว่ามันไม่มี เป็นจุดเป็นต่อมอยู่ที่ไหนมันก็ไม่มี มีแต่ความรู้ที่ปฏิเสธไม่ได้เท่านั้น รู้ก็เป็นรู้เป็นธรรมชาติของตัวเอง ไม่เป็นความรู้ที่จะหิวจะโหยจะต้องการอะไร ๆ เข้ามาเพิ่มมาเติม หรือจะตัดอะไรออกก็ไม่มี มีแต่หลักธรรมชาติเท่านั้น เป็นเหมือนกับว่าครอบหมดทั้งโลกธาตุ

ทั้ง ๆ ที่จิตเวลานั้นเหมือนโลกธาตุไม่มีนะ มีแต่ความรู้เด่นนั่น แต่กลายเป็นว่าความรู้นี้ครอบโลกธาตุอีกแหละ พูดอะไรมันยังไงฟังยาก ๆ อยู่นะ ถ้าว่าความรู้นี้มันครอบโลกธาตุก็ถูกนะ หรือว่ามีแต่ความรู้ทั้งนั้นโลกนี้ไม่มีเลย เพราะความรู้นี้ไม่ไปเกี่ยวข้อง มีแต่ความรู้ของตัวเองโดยหลักธรรมชาติ ไม่หวังพึ่งพิงอิงอาศัยสิ่งใดเลย เป็นความรู้ในหลักธรรมชาติของตัวเองแสดงอยู่เท่านั้น มันก็เหมือนกับว่ามีแต่ความรู้เท่านั้นไม่มีสิ่งใดเลย เพราะผู้นี้ไม่ไปเกี่ยวข้อง พอออกมาแยกสู่สมมุติ อันนั้นแยกเป็นนั่น อันนี้แยกเป็นนี่ เป็นกิริยาของจิตมันก็ดับพร้อม ๆ ไปทุกระยะ ๆ ไม่มีอะไรมาเป็นสื่อเป็นสายให้จิตสืบต่อเนื่องกันไปเป็นสมุทัยความทุกข์ความเดือดร้อน อะไรขึ้นมาก็ดับไป ๆ แต่ก็ใช้กันไปอยู่งั้น

เอาซิ พูดคนเดียวเหมือนกับมาโกหกหมู่เพื่อน เมื่อถึงขั้นที่รู้แล้วปิดไม่อยู่ด้วยกันทั้งนั้นแหละ ถ้าความรู้จริง ๆ เป็นอย่างนั้น วันไหนก็วันนั้นไม่มีความเปลี่ยนแปลง เอ๊ะ วันนี้ทำไมจิตเป็นอย่างนี้ ๆ มันไม่มี เราจึงทราบได้ชัดว่านี่เป็นเรื่องกิเลสทั้งนั้นพาให้ว่า ทำไมจิตเป็นอย่างนี้ ๆ มีแต่เรื่องของกิเลสกลมายาของกิเลสทั้งมวล ไม่ว่าส่วนหยาบส่วนกลางส่วนละเอียด เป็นมายาของมันทั้งนั้น พออันนั้นผ่านไปแล้วไม่เห็นมีอะไรมาหลอกนี่ วันไหนก็มีแต่มืดกับแจ้งเท่านั้นเอง เท่านั้นปีเท่านี้ปีก็ว่ากันไป

ตามหลักธรรมชาติไม่สนใจกับอะไรนะ จิตไม่เคยไปสนใจจดจ่อกับเรื่องปีเรื่องเดือนวันคืนอะไร เห็นอยู่ด้วยตาอยู่นี้มีแต่มืดกับแจ้ง ๆ เห็นชัด ๆ ด้วยตาของเรา เดี๋ยวนี้มืดแล้ววันพรุ่งนี้สมมุติขึ้นมาว่าแจ้ง แจ้งแล้วพระอาทิตย์ขึ้นตาเราก็มีก็เท่านั้นเอง หลงอะไร แผ่นดินนี้ไปที่ไหนก็เหยียบแต่แผ่นดินนี่ ไปหลงดินอะไร น้ำอยู่ในท้องก็เต็มอยู่แล้วหลงมันอะไร ลม ไฟ ก็เห็นอยู่ไปหลงมันอะไร นั่นไฟเห็นอยู่ชัด ๆ หลงอะไร ลมก็เห็นอยู่แล้วลมหายใจเจ้าของ หายใจฟูดฟาด ๆ อยู่นี่หลงมันอะไร ว่าเป็นสัตว์เป็นบุคคลเป็นเขาเป็นเราเป็นหญิงเป็นชาย หลงไปอะไร เสกไปทำไม ปีนความจริงของธรรมไปทำไม ปีนไปมันก็เหยียบขวากเหยียบหนามละซีปีนความจริงของธรรม เห็นตามความจริงนั้นว่าธาตุก็ธาตุมันประจักษ์ลงในใจ อะไรก็ตามความจริง ที่ท่านบัญญัติไว้เป็นความจริง เห็นตามนั้นหมดปัญหา

เอาให้จริงให้จังนะ สู้ให้ได้กิเลสตัวภัย ภัยของจิตคือกิเลส ความคิดความปรุงทั้งหลายเป็นภัย เป็นภัยเพราะกิเลสพาให้คิดให้ปรุงให้สำคัญมั่นหมาย ถ้ากิเลสไม่มีเสียคิดก็คิดรู้จักระงับดับมันได้ เอามาใช้งานใช้การก็ใช้เสีย เวลาจะระงับดับมันก็ดับไป ไม่ใช้มันก็เหมือนเครื่องมือ พอหยุดงานเครื่องมือก็เก็บไว้เสียในที่ควร เวลาจะใช้ก็เอามาใช้ ขันธ์ ๕ นี่เหมือนกันเวลาจะพักผ่อนหลับนอนก็หยุดเสีย เวลาจะเข้าที่สมาธิภาวนาก็พักเสีย ความคิดความปรุงยุ่งเหยิงวุ่นวายต่าง ๆ พักไปเสีย เหลือแต่ความรู้ สบาย มีเท่านั้น

เมื่อถึงกาลมันจะแตกจะดับก็รู้แล้ว พิจารณาไว้หมดแล้ว ไม่ทราบจะตื่นไปไหน เพราะพิจารณาก็รู้ก็รู้ตามความจริง ความตายคือความสลายออกไป ความผสมของธาตุอันนี้มันก็คือความจริงซึ่งได้พิจารณาไว้แล้วนั้นก็จะตื่นไปไหน ไม่อยากตาย ไม่อยากอยู่เหรอ แน่ะไม่อยากตายกับความอยากอยู่มันก็อันเดียวกัน อยู่อะไรเมื่อถึงกาลแล้วมันจะไปแล้วฝืนมันทำไม

อันนี้ทำให้เราย้อนไปถึงเรื่องพระพุทธเจ้า แหม จอมปราชญ์แล้วยังไม่แล้วยังจอมปราชญ์ในแง่ต่าง ๆ เช่น พระสารีบุตรมาทูลลาเข้าสู่นิพพาน ถ้าจะห้ามว่า สารีบุตรอย่าด่วนนิพพาน ช่วยเราตถาคตทำประโยชน์ให้แก่โลกไปชั่วกาลเสียก่อนนี้ ก็จะเป็นการส่งเสริมวัฏจักรคือไม่อยากให้ตาย ซึ่งความตายมันถึงกาลแล้วที่ควรจะตายยังไปฝืนมันอีก เอ้อ ตายเสียว่างี้ มันก็เป็นอีกอันหนึ่งอีก เหมือนกับซ้ำเติมความตาย ท่านพูดไว้น่าฟังมาก เป็นความจริงอย่างนั้นจริง ๆ เวลาพระองค์รับสั่งก็ แล้วแต่กาลอันควรของเธอ นั้นเหมาะที่สุดเลย แล้วแต่กาลอันควรก็หมายถึงว่ามอบให้คติธรรมดาตามหลักที่ทรงพิจารณาไว้เรียบร้อยแล้วนั้นไม่ค้าน อย่าด่วนไปสารีบุตรอย่างนี้ก็ผิด ค้านความจริง เออ ไปเสียสารีบุตร ก็มันยังไม่ถึงกาลไปบอกไปทำไม จะไปก็ไปจะอยู่ก็อยู่แล้วแต่กาลอันควรของเธอเถิด แต่ก่อนที่เธอจะไปจากที่นี่เพื่อจะไปนิพพาน ให้แสดงธรรมให้พวกน้อง ๆ ทั้งหลายของเธอฟังเสียก่อน นี่ในพระเชตวันนะ

นั่นพระสารีบุตรทราบแล้ว พระองค์แย้มเพียงเท่านั้นว่าให้แสดงเต็มเม็ดเต็มหน่วยเต็มที่เต็มฐานในวาระสุดท้าย มีฤทธาศักดานุภาพขนาดไหน เอ้า แสดงเต็มที่ทั้งทางด้านอรรถด้านธรรมการให้โอวาทสั่งสอนและอิทธิปาฏิหาริย์ แสดงทั้งสองอย่าง อิทธิปาฏิหาริย์ก็แสดง อนุสาสนีปาฏิหาริยะก็แสดง เต็มที่ แล้วก็ทูลลาไปและทรงเปิดโอกาสด้วยว่าพระภิกษุสามเณรในวัดนี้ อยากจะตามส่งพระสารีบุตรพี่ชายของพวกเธอทั้งหลายก็ให้ไปได้ตามอัธยาศัย คือองค์ใดต้องการไปก็ให้ไปได้ตามอัธยาศัย พระเณรหลั่งไหลไปตามตั้ง ๕๐๐ ไปสู่สถานที่นิพพานคือห้องประสูติ ห้องเกิดนั่นแหละ ท่านจะไปนิพพานที่นั่น นี่เราก็ได้พูดไปถึงโน้น แต่จุดสำคัญเราหมายเอาตรงที่ว่า เวลาพระสารีบุตรมาทูลลาเข้าสู่นิพพาน พระองค์ไม่ทรงคัดค้านว่าให้รอเสียก่อน เพราะจะเป็นการส่งเสริมวัฏจักรแล้วขัดความจริง เออ นิพพานเสียก็เหมือนกับซ้ำเติมไปอีก ซึ่งขัดต่อความจริงเหมือนกัน จึงมอบให้ตามเวลาของท่าน ตามแต่กาลเวลาของเธอเถิด กาลอันควรนั่นฟังซิ ตามแต่กาลอันควรของเธอเถิด

เวลาพระโมคคัลลาน์มาทูลลาเข้าสู่นิพพานก็ดูเหมือนห่างกัน ๗ วันเท่านั้นก็แบบเดียวกันอีก ทรงแสดงแบบเดียวกัน แล้วก็เปิดประตูพระเชตวันโล่งไว้เลย นี่คือพี่ชายของเธอทั้งหลาย...ก็บอกเลยอย่างนั้นแหละ แล้วก็ให้พระโมคคัลลาน์แสดงธรรมให้น้อง ๆ ทั้งหลายฟังในวาระสุดท้าย พระโมคคัลลาน์ก็ฉลาดแหลมคมมากเช่นเดียวกัน นี่แสดงว่าพระพุทธเจ้าทรงเปิดโอกาสให้ทุกแง่ทุกมุมแล้วเวลานี้ ก็แสดงทั้งอิทธิปาฏิหาริยะ และอนุสาสนีปาฏิหาริยะ คือการแนะนำพร่ำสอนให้เห็นอรรถเห็นธรรม ให้เข้าใจตามหลักความจริงทั้งหลาย และแสดงอิทธิปาฏิหาริย์เหาะเหินเดินฟ้ายังไงล่ะพระโมคคัลลาน์ เหาะขึ้นไปชั่วลำตาลแล้วลงมา แล้วเหาะขึ้นไปแล้วลงมา แสดงธรรมแล้วเหาะขึ้นไปเอาเต็มที่เลย แล้วเวลาจะปรินิพพานก็ไปปรินิพพานที่พวกโจรเขาฆ่านั่นแหละ นี่ก็ทรงเปิดประตูพระเชตวันเลย พระภิกษุสามเณรองค์ไหนที่ต้องการไปส่งพี่ชายของเธอทั้งหลายก็ให้ไปตามอัธยาศัย เปิดโอกาสให้เลย

ครั้งพุทธกาลมรรคผลนิพพานพวกพูนสมบูรณ์อยู่กับผู้ปฏิบัติทั้งหลาย มีแต่ผู้ทรงมรรคทรงผลเป็นจำนวนมาก แล้วตกมาถึงพวกเรามีแต่ผู้ทรงความจอมปลอม ทรงแต่ชื่อของกิเลส ชื่อของอรรถของธรรม ตัวจริงของอรรถของธรรม คือศีลก็ดี สมาธิก็ดี ปัญญาก็ดี วิมุตติหลุดพ้นก็ดี ไม่มี มันจะไม่มีว่างี้ ใครจะเป็นผู้รื้อฟื้นธรรมของพระพุทธเจ้าที่เป็นของจริงอยู่แล้วเต็มเม็ดเต็มหน่วย เป็นหลักมัชฌิมา เหมาะสมอยู่เสมอในการที่จะเปิดเผยมรรคผลนิพพานขึ้นมา และปราบปรามกิเลสซึ่งเป็นข้าศึกต่อมรรคผลนิพพานให้พินาศฉิบหายไปจากใจ ถ้าไม่ใช่พวกปฏิบัตินี้จะเป็นใคร

ให้สนใจในตัวเอง ให้ตั้งปัญหาถามตัวเองเสมอ อย่าอยู่เฉย ๆ มันโง่ หาอุบายพลิกแพลงเปลี่ยนแปลงหลายแง่หลายสันหลายคมมันหากเข้าใจขึ้นมา สะดุดใจขึ้นมา อุบายของปัญญาเป็นอย่างนั้น ในเบื้องต้นต้องใช้อย่างนั้นเสียก่อน ต่อไปจนกระทั่งเป็นปากเป็นทางไปแล้วมีทางเดินแล้วทีนี้ก็ค่อยไปเอง หมุนติ้ว ๆ ๆ ดังที่เคยพูดให้ฟังหลายครั้งหลายหนแล้ว จนถึงขนาดต้องรั้งเอาไว้ไม่รั้งไม่ได้มันเลยเถิด
7#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-8 15:49 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ในอุทธัจจะสังโยชน์เบื้องบนท่านอธิบาย อันนี้ธรรมเราไม่ได้ยกโทษนะผู้จดจารึกคัมภีร์น่ะ แต่ทำให้คิดเหมือนกันนะ เพราะหนังสือนี้ต้องส่อแสดงจากผู้จดจารึกเหมือนกัน ผู้จดจารึกนี้จะเป็นคนประเภทใด เป็นคนสิ้นกิเลสหรือยังมีกิเลสอยู่จดจารึกธรรมพระพุทธเจ้านี้ เช่น อุทธัจจะ ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ เป็นลักษณะแบบโลก ๆ หงุดหงิด นิวรณ์ทั้งห้า อุทธัจจะกุกกุจจะมีทั่ว ๆ ไปสำหรับสามัญชนเรา ความฟุ้งซ่านรำคาญ อุทธัจจะนี่ความฟุ้งหรือความเพลิน เพลินต่อการพิจารณาทั้งหลาย อุทธัจจะ คือความเพลินต่อการค้นคว้าพินิจพิจารณาโดยทางปัญญาจนเลยเถิดพูดง่าย ๆ จึงเรียกว่าเป็นสังโยชน์เครื่องข้องอันหนึ่ง มานะก็หมายถึงถือนั้นแหละถือใจ อวิชชาคือความรู้ที่เด่น ๆ อยู่ภายในใจนั่นแหละ ก็ไม่มีข้อปลีกย่อย

พอเป็นแง่แย้งกันคืออุทธัจจะ ฟุ้งซ่านรำคาญไปเหมือนแบบโลกสงสาร จิตประเภทนั้นไม่ทราบ หากแต่รำคาญบ้าง ซึ่งเป็นคู่กันกับความเพลินในงาน ทำงานไม่หยุดไม่ถอยก็มีบ้าง ถ้าหากว่าย่นเข้ามา เพราะงานอันนี้เราไม่มีที่ค้านนี่นะ อุทธัจจะคือจิตฟุ้งเพลินต่องานจนเกินไป อุทธัจจะหมายถึงว่าความฟุ้งซ่านรำคาญ แล้วก็ไขความออกมาว่า ความเพลินในงานของตนเองในการคิดค้น แล้วก็ประกอบด้วยการอ่อนเพลีย ทำให้เกิดความรำคาญได้ ยอมรับทันที แต่ที่ว่าความฟุ้งซ่านรำคาญแบบโลกเลยกลายเป็นเรื่องนิวรณ์ทั้งห้าไปเสีย ซึ่งในขั้นของสามัญชนทั่ว ๆ ไป

อันนี้ขั้นอริยภูมินี่ขั้นอรหัตมรรคนี่ อรหัตมรรคกำลังเดินตามนี้ เมื่ออรหัตมรรคสมบูรณ์เต็มที่แล้ว อรหัตผลก็ขณะของจิตที่จะตัดภพตัดชาติก็แสดงผึงขึ้นมา ขาดสะบั้นไปหมดเลย ขณะที่ขาดสะบั้นนั้นที่เรียกว่ามรรควิ่งถึงผล อันนั้นยังไม่จัดว่าเป็นธรรมอันสมบูรณ์ จนกระทั่งขณะอันนั้นได้เสร็จสิ้นลงไปแล้ว ยุติโดยประการทั้งปวง ไม่มีเงื่อนใดต่อซึ่งกันและกันแล้ว เหมือนกับเราก้าวเท้าขึ้นไป เท้าข้างหนึ่งอยู่บันได เท้าข้างหนึ่งเหยียบบนพื้นบ้านหรือพื้นกุฏิแล้วนั้น อย่างนี้เรียกว่ามรรคผลวิ่งถึงกัน พอก้าวเท้าหลังขึ้นไปเหยียบพื้นด้วยกันทั้งสองเท้าแล้วเมื่อไร นั้นแหละเรียกว่าถึงผลอันสมบูรณ์แล้ว ท่านว่านั่นคือนิพพานหนึ่ง ตรงนั้นแหละ

ในขณะที่กำลังก้าวอยู่นี้เป็นกิริยาอันหนึ่ง ก้าวจากบันไดขั้นสุดท้ายนี้เท้าที่สองนี่ ก้าวไปหาเท้าที่หนึ่งซึ่งไปถึงพื้นแล้ว พอเหยียบปุ๊บลงถึงพื้นนั้นก็เป็นอันว่ายุติ นี่ถึงผลเต็มภูมิ ขณะที่กำลังก้าวไปนี้ นี่ละมรรควิ่งถึงผล ท่านเรียกจริมรรคจิต ถ้าพูดตามหลักปริยัตินะ ขณะที่จิตทำงานปุ๊บ มรรคกับผลวิ่งถึงกัน ก็หมายถึงว่าก้าวแรกนี่ คือก้าวแรกถึงพื้นแล้ว เอ้า ก้าวขาข้างหนึ่งถึงพื้นแล้ว ก้าวที่สองปุ๊บไปนี่ พอถึงนั้นโดยสมบูรณ์แล้วก็เรียกว่าอรหัตผลเหมือนกัน นั่นละคือนิพพานหนึ่งอยู่ตรงนั้น

ท่านพูดแต่เพียงว่าสำเร็จอรหัตผลแล้ว ท่านไม่ต้องพูดนิพพานหนึ่งแล้ว ถึงจะว่านิพพานหนึ่งก็ไม่ขัด พระพุทธเจ้าท่านทรงแจงไปให้ทราบไม่งั้นจะเป็นที่คัดค้านจากสาวก ทำไมธรรมชาติอันหนึ่งพระองค์จึงไม่แสดงไว้ ที่เลยจากนี้ไปแล้วนั้นคืออะไร พระองค์ไม่เห็นแสดงไว้ เพื่อความสมบูรณ์แห่งความเป็นศาสดาจึงไว้ลวดลายในทุกแง่ทุกมุม จึงบอก มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ มรรคกับผลเป็นคู่กัน อรหัตมรรคอรหัตผลเป็นคู่กัน เป็นธรรมคู่อยู่นี่ พอหยุดจากนั้นแล้วอรหัตผลก็สมบูรณ์เต็มที่ หรือว่าถึงนิพพานหนึ่งโดยสมบูรณ์ก็ได้ แต่ท่านก็เรียกสำเร็จอรหัตผลแล้ว ไม่แย้ง ถ้าลงธรรมชาตินั้นถึงเมื่อไรแล้วว่าอย่างไรก็ว่าไปเถอะหากธรรมชาติถึงความจริงเต็มภูมิแล้ว

พระท่านมีแต่พระทรงมรรคทรงผลครั้งพุทธกาล พวกเรานี่ทรงแต่ความขี้เกียจอ่อนแอได้เหรอ ทรงผลก็ผลมังคุด ลางสาดไปอย่างนั้น ผลน้อยหน่าอย่างนั้นได้เหรอ

http://www.luangta.com/thamma/thamma_talk_text.php?ID=866&CatID=3


....................................................................

ที่มา http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=7&t=45077

สาธุ สาธุ สาธุ
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้