ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 3330
ตอบกลับ: 6
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

หลวงพ่อโต วัดบางพลีใหญ่ใน จ.สมุทรปราการ

[คัดลอกลิงก์]


หลวงพ่อโต
พระประธานในพระอุโบสถ วัดบางพลีใหญ่ใน (พระอารามหลวง)
ริมคลองสำโรง ต.บางพลีใหญ่ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ


“หลวงพ่อโต” ได้ประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถ
วัดบางพลีใหญ่ใน
ริมคลองสำโรง ต.บางพลีใหญ่ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ
เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย (ปางสะดุ้งมาร) สมัยกรุงสุโขทัย ขัดสมาธิราบ
องค์พระเป็นทองสำริดทั้งองค์ มีขนาดหน้าตักกว้าง ๓ ศอก ๑ คืบ ลืมพระเนตร
องค์หลวงพ่อได้รับการกล่าวขวัญถึงความศักดิ์สิทธิ์
เป็นที่เคารพสักการะของชาวบางพลีและพุทธศาสนิกชนทั่วไป
2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-7 14:48 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ตามตำนานเล่าสืบต่อกันมาว่า ประมาณกาล ๒๐๐ กว่าปีล่วงมาแล้ว
ได้มีพระพุทธรูป ๓ องค์ ปาฏิหาริย์ลงมาจากทางเหนือ
ลอยมาตามลำแม่น้ำเจ้าพระยาตลอดมา
พระพุทธรูปทั้ง ๓ องค์นี้ เข้าใจว่าปวงชนในกรุงศรีอยุธยา
คงอาราธนาท่านลงสู่แม่น้ำ เพื่อหลบหนีข้าศึก
ด้วยในสมัยนั้นบ้านเมืองได้เกิดสภาวะสงครามขึ้นกับพม่า

พระพุทธรูปทั้ง ๓ องค์ ได้แสดงอภินิหารลอยล่องมาตามลำแม่น้ำ
และบางครั้งก็แสดงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ผุดให้ผู้คนเห็นตามลำดับ
จนเป็นที่โจษจันกันทั่ว ถึงอภินิหารและความศักดิ์สิทธิ์ของท่าน


ต่อมาภายหลังปรากฏว่า พระพุทธรูปองค์หนึ่งไปขึ้นประดิษฐาน
อยู่ที่ วัดบ้านแหลม (วัดเพชรสมุทรวรวิหาร) จ.สมุทรสงคราม

ในเวลาไล่เลี่ยกันพระพุทธรูปอีกองค์หนึ่ง
ไปขึ้นประดิษฐานอยู่ที่ วัดโสธรเทพวราราม จ.ฉะเชิงเทรา

ส่วนอีกองค์หนึ่งได้ล่องลอยเรื่อยมาตามลำแม่น้ำเจ้าพระยา
ปาฏิหาริย์ลอยวกเข้ามาในลำคลองสำโรง
ประชาชนพบเห็นต่างโจษจันกันไปทั่ว พร้อมกับได้อาราธนา
ขึ้นที่ปากคลองสำโรง แต่พระพุทธรูปไม่ยอมขึ้น

ในที่นั้น มีผู้มีปัญญาดีคนหนึ่ง ได้ให้ความเห็นว่า
คงเป็นเพราะบุญญาอภินิหารของท่าน
แม้จะใช้จำนวนผู้คนสักเท่าไรอาราธนาฉุดท่านขึ้นบนฝั่งไม่สำเร็จเป็นแน่
ควรจะเสี่ยงทายต่อแพผูกชะลอกับองค์ท่าน
แล้วใช้เรือพายฉุดท่าน ให้ลอยตามลำน้ำสำโรงและอธิษฐานว่า
“หากท่านประสงค์จะขึ้นโปรดที่ใด
ก็ขอจงได้แสดงอภินิหารให้แพที่ลอยมาจงหยุด ณ ที่นั้นเถิด”


เมื่อประชาชนทั้งหลายได้เห็นพ้องดีกันดังนั้นแล้ว
ก็พร้อมใจกันทำแพผูกชะลอกับองค์ท่านแล้วใช้เรือ
ซึ่งสมัยนั้นเป็นเรือพายทั้งสิ้น ช่วยกันจ้ำพายจูงแพลอยเรื่อยมาตามลำคลอง
เรือที่ใช้ลากจูงแพมานั้นมีชื่อแปลกต่างๆ กัน เช่นชื่อ ม้าน้ำ
เป็ดน้ำ ตุ๊กแก และอื่นๆ เป็นต้น และจัดให้มีการละเล่นต่างๆ
มีละครเจ้ารำถวายมาตลอดทาง และการละเล่นอื่นๆ ครึกครื้นมาตลอดทั้งลำน้ำ

ครั้นแพลอยมาถึงบริเวณหน้าวัดพลับพลาชัยชนะสงคราม
หรือวัดบางพลีใหญ่ใน แพที่ผูกชะลอองค์ท่านเกิดหยุดนิ่ง
พยายามจ้ำและพายกันอย่างเต็มที่เต็มกำลัง แพนั้นก็หาได้ขยับเขยื้อนไม่
3#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-7 14:49 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ประชาชนที่มากับเรือและชาวบางพลี จึงได้พร้อมใจกัน
อาราธนาตั้งจิตอธิษฐานว่า “ถ้าหลวงพ่อจะโปรดคุ้มครอง
ชาวบางพลีให้ได้รับความร่มเย็นเป็นสุขแล้ว
ก็ขออาราธนาอัญเชิญองค์ท่านให้ขึ้นจากน้ำได้โดยง่ายเถิด”


และเป็นที่น่าอัศจรรย์เป็นอย่างมาก เพียงใช้คนไม่มากนัก
สามารถอาราธนาท่านขึ้นจากน้ำได้โดยง่าย
ทำให้ประชาชนต่างแซ่ซ้องในอภินิหารของท่านเป็นอย่างยิ่ง
และได้อาราธนาท่านขึ้นไปประดิษฐานอยู่ในวิหารนั้นเรื่อยมา

ครั้นต่อมาได้รื้อวิหารนั้นอีกเพื่อสร้างเป็นพระอุโบสถที่ถาวร
จึงต้องชะลออาราธนาองค์ท่านมาพักไว้ยังศาลาชั่วคราว
จนกระทั่งได้สร้างพระอุโบสถสำเร็จแล้ว
จึงได้อาราธนาท่านไปประดิษฐานไว้ในพระอุโบสถ
เพื่อเป็นพระประธานของวัดบางพลีใหญ่ใน


เล่ากันว่า เมื่อคราวสร้างพระอุโบสถเสร็จใหม่ๆ
ได้วัดช่องประตูพระอุโบสถกับองค์หลวงพ่อโต
ปรากฏว่า ช่องประตูใหญ่กว่าองค์พระประมาณ ๕ นิ้ว
ซึ่งสามารถนำองค์หลวงพ่อโตผ่านเข้าไปได้

แต่พอถึงคราวอาราธนาจริง กลับปรากฏว่าองค์หลวงพ่อใหญ่กว่าประตูมาก
คณะกรรมการจำนวนหนึ่งเห็นว่าควรทุบช่องประตูทิ้ง
แต่อีกจำนวนหนึ่งเชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อโต
จึงได้พร้อมใจกันอธิษฐานขอให้หลวงพ่อโตสามารถผ่านเข้าประตูได้
เพื่อเป็นมิ่งขวัญคุ้มครองชาวบางพลีสืบไป

เมื่ออธิษฐานเสร็จก็อาราธนาหลวงพ่อโตผ่านประตูได้โดยสะดวก


4#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-7 14:49 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้



การที่ท่านได้พระนามว่า “หลวงพ่อโต” คงเป็นเพราะองค์ของท่านใหญ่โต
คือ ใหญ่โตกว่าองค์ที่ลอยน้ำมาด้วยกันทั้ง ๒ องค์
จึงถือเป็นนิมิตอันดีให้ประชาชนพากันถวายนามว่า “หลวงพ่อโต”
เป็นสิ่งที่เคารพสักการะของชาวบางพลี ตราบเท่าทุกวันนี้

ทั้งนี้ การลำดับว่าองค์ไหนเป็นองค์พี่ องค์กลาง และองค์น้อง
เนื่องจากลอยน้ำมาพร้อมกัน ซึ่งตามตำนานที่เล่าสืบต่อกันมา
เข้าใจว่าคงจะนับเอาองค์ที่อาราธนาขึ้นจากน้ำได้ก่อนเป็นองค์พี่
ขึ้นจากน้ำองค์ที่ ๒ เป็นองค์กลาง ขึ้นจากน้ำองค์ที่ ๓ เป็นองค์น้อง ตามลำดับคือ

หลวงพ่อวัดบ้านแหลม จังหวัดสมุทรสงคราม
อาราธนาขึ้นจากน้ำองค์ที่ ๑

หลวงพ่อโสธร วัดโสธรเทพวราราม จังหวัดฉะเชิงเทรา
อาราธนาขึ้นจากน้ำองค์ที่ ๒

หลวงพ่อโต วัดบางพลีใหญ่ใน จังหวัดสมุทรปราการ
อาราธนาขึ้นจากน้ำเป็นองค์ที่ ๓ เรียงกันตามลำดับ

นอกจากนี้ หลวงพ่อโตยังได้ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้เจ็บป่วยทั้งหลาย
ที่มาบอกเล่าบนบานกราบนมัสการท่าน บางท่านได้นำน้ำมนต์หลวงพ่อไป
เพื่อความเป็นสิริมงคล ปรากฏว่าโรคภัยไข้เจ็บที่เป็นนั้นหายวันหายคืน

แม้แต่กระทั่งรูปเหรียญหลวงพ่อโต ชาวบ้านทั้งใกล้ไกลต่างพากัน
ห้อยคอให้แก่บุตรหลานของตน เพราะเมื่อเด็กเผลอพลัดตกน้ำ
เด็กนั้นกลับลอยได้เป็นที่น่าอัศจรรย์ ตลอดทั้งพระเครื่องราง
ที่ทำเป็นรูปขององค์หลวงพ่อ ก็มีอภินิหารป้องกันภยันตรายต่างๆ ได้

ทุกวันนี้ชาวบางพลีต่างเชื่อในความศักดิ์สิทธิ์และบารมีของหลวงพ่อโต
ที่คุ้มครองชุมชนบางพลีให้ปลอดภัยจากอัคคีภัย
ในขณะที่ชุมชนโดยรอบ อาทิ ตลาดบางบ่อ ตลาดจระเข้
ตลาดคลองด่าน ล้วนแต่ประสบกับอัคคีภัยมาแล้วทั้งนั้น
5#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-7 14:50 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
คาถาบูชาหลวงพ่อโต วัดบางพลีใหญ่ใน

(ตั้งนะโม ๓ จบ)


อิมินา สักกาเรนะ พุทธะมหานุภาโว
อิมินา สักกาเรนะ ธัมมะมหานุภาโว
อิมินา สักกาเรนะ สังฆะมหานุภาโว
อิเมยันตา มหาเตชา มหานุภาตะชาติกา
มหามังคะละ สัมพุทตา อันตราเยวินาสะกา
สัพพะถะสุขะ สัมพุทตา อเนกาคุณันตานานับปะโก
สัพพะทุกขัง สัพพะภะยัง สัพพะโรคังวินาสสันติ
สัพพะลาภัง สัพพะสุขัง ภะวันตุเมฯ

6#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-7 14:50 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ปัจจุบัน วัดบางพลีใหญ่ใน เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ
เนื่องด้วยในวันที่ ๒๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๕
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ยกฐานะวัดบางพลีใหญ่ใน จ.สมุทรปราการ
จากวัดราษฎร์ขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ
เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๔ พรรษา
พร้อมกับวัดราษฎร์อื่นๆ ทั่วประเทศรวมจำนวน ๒๐ วัด



หลวงพ่อโต วัดบางพลีใหญ่ใน จ.สมุทรปราการ  


ชุมชนหน้าวัดบางพลีใหญ่ใน จ.สมุทรปราการ  


   หนังสือไหว้พระประธาน ๗๗ จังหวัด
กองบรรณาธิการข่าวสด สำนักพิมพ์มติชน


ขอขอบพระคุณที่มาของรูปภาพ
http://www.klongdigital.com/webboard3/27486.html
https://www.facebook.com/ThaiBuddhism                                                                                       
..................................................................

ที่มา http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=24&t=19291

ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้