ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 4902
ตอบกลับ: 10
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

พระพุทธปฏิมา พระพุทธรูปสำคัญและศักดิ์สิทธิ์ในพระบรมมหาราชวัง

[คัดลอกลิงก์]


พระพุทธปฏิมาแห่งแผ่นดิน
พระพุทธรูปสำคัญและศักดิ์สิทธิ์ในพระบรมมหาราชวัง

                                                                                       

2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-6 19:01 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้


พระพุทธบุษยรัตนจักรพรรดิพิมลมณีมัย
(ปางสมาธิ)


ศิลปะ : แบบล้านนารุ่นหลัง ราวพุทธศตวรรษที่ ๒๐

ขนาด : หน้าตักกว้าง ๑๙ เซนติเมตร สูงเฉพาะองค์พระ ๓๑.๘๐ เซนติเมตร
สูงจากฐานถึงพระรัศมี ๕๑.๘๐ เซนติเมตร

วัสดุ : แก้วผลึกสีขาว

ปัจจุบัน : ประดิษฐานภายใน พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต
(เดิมประดิษฐานภายในพระพุทธรัตนสถานในพระบรมมหาราชวัง)

พุทธลักษณะ : พระพุทธบุษยรัตนจักรพรรดิพิมลมณีมัย เป็นพระพุทธรูปทำด้วยแก้วผลึกอย่างที่ช่างเรียกว่า “เพชรน้ำค้าง” หรือ “บุษย์น้ำขาวเนื้อแก้วสนิท” และเป็นแท่งขนาดใหญ่ พระพุทธรูปประทับนั่งแบบวีราสนะ แสดงธยานะมุทราโดยพระหัตถ์ขวาซ้อนเหนือกรพหัตถ์ซ้ายบนพระเพลา มีพระพักตร์เป็นรูปวงรี พระนลาฎค่อนข้างแคบ พระขนงโก่ง พระเนตรเหลือบต่ำ พระนาสิกโด่ง พระโอษฐ์เรียว มีพระหนุเป็นปมกับทั้งมีอุณาโลมที่กึ่งกลางพระนลาฏ พระกรรณยาว หากพระกรรณข้างขวาแตกชำรุดเล็กน้อย พระเศียรประดับด้วยพระเกตุทองคำประกอบด้วยเม็ดพระศกขนาดเล็ก โดยมีเกตุมาลาและรัศมีรูปเปลวไฟแหลมประดับด้วยอัญมณีอยู่เบื้องบน

องค์พระพุทธรูปมีพระอังสาใหญ่ บั้นพระองค์เล็ก ครองอุตราสงค์ห่มเฉียงเรียบเปิดพระอังสาขวามีชายอุตราสงค์พาดบนพระอังสาซ้ายห้อยลงมาจรดพระนาภี ปลายตัดเป็นรูปเหลื่ยม ใต้พระนาภีปรากฏขอบอันตรวาสกสองชั้น พระพุทธรูปประทับนั่งเหนือปัทมาสน์ทองคำประดับเนาวรัตน์ประกอบด้วยกลีบบัวช้อนกันสามชั้น มีเกสรบัวประดับเหนือฐานแข้งสิงห์จำหลักลาย เบื้องหลังฐานมีแผ่นทอง จารึกนามพระพุทธรูปองค์นี้ ระบุถึงสถานที่ซึ่งได้พระพุทธรูปองค์นี้มา รวมทั้งศักราชที่พระพุทธบุษยรัตน์จักรพรรดิพิมลมณีมัย มาถึงกรุงเทพมหานคร

ประวัติ : พระพุทธบุษยรัตนจักรพรรดิพิมลมณีมัยนี้ไม่ปรากฏแน่ชัดว่าผู้ใดเป็นผู้สร้างและสร้างขึ้น ณ ที่ใด เพียงแต่ทราบว่าพระพุทธปฏิมาแก้วผลึกองค์นี้มีผู้พาหนีภยันตรายไปซ่อนไว้ในถ้ำเขาส้มป่อยนายอน แขวงเมืองนครจำปาศักดิ์ ข้างฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่าคงจะเป็นองค์เดียวกับพระแก้วขาวซึ่งมีเรื่องปรากฏในตำนานโยนกว่า พระแก้วขาวองค์นี้ พระอรหันต์ได้แก้วขาวมาแต่จันทรเทวบุตร จึงได้ให้พระวิษณุกรรมสร้างเป็นพระพุทธปฏิมากร

ครั้นสร้างสำเร็จแล้วได้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ ๔ องค์ คือที่พระเมาฬีองค์หนึ่ง พระนลาฏองค์หนึ่ง พระอุระองค์หนึ่งและพระโอษฐ์องค์หนึ่ง พระแก้วขาวองค์นี้ได้ประดิษฐาน ณ กรุงละโว้ เป็นเวลานานจนถึงกาลที่พระฤาษีสุเทพสร้างเมืองหริภุญชัย และขอพระนางจามเทวีราชธิดาเจ้ากรุงละโว้ ขึ้นมาครองนครหริภุญชัย จนถึงแผ่นดินพระเจ้าติโลกราช ในปีพุทธศักราช ๒๐๑๑ ได้อัญเชิญไปไว้ยังเมืองเชียงใหม่พร้อมกับพระแก้วมรกต พระแก้วขาวนี้มาประดิษฐานในเมืองเชียงใหม่นาน ๘๔ ปี จนกระทั่งถึงปีพุทธศักราช ๒๐๙๕ พระเจ้าไชยเชษฐาจึงได้อัญเชิญไปประดิษฐานยังเมืองหลวงพระบางด้วยกันกับพระแก้วมรกต

3#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-6 19:02 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ต่อมาในปีพุทธศักราช ๒๑๐๗ พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองมีอำนาจขึ้นในพุกามประเทศ พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชทรงเห็นว่า ที่ตั้งเมืองหลวงพระบางนั้นมีทำเลซึ่งจะสู้ข้าศึกศัตรูมิได้ จึงได้โปรดให้ย้ายราชธานีลงไปตั้งอยู่ ณ เมืองเวียงจันทร์ เมื่อพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชเสด็จไปประทับ ณ เมืองเวียงจันทร์นั้น ปรากฏแต่ว่าให้อัญเชิญพระแก้วมรกตลงไปด้วย ส่วนพระแก้วขาวหาได้อัญเชิญลงไปด้วยไม่ อาจเป็นไปได้ว่าในเวลามีเหตุจลาจลคงมีผู้พาหนีไป แล้วจึงเอาไปซ่อนไว้ในถ้ำเขาส้มป่อยจะทิ้งอยู่นั่นไม่ถึงร้อยปี

ตามตำนานกล่าวว่ามีพรานสองคนชื่อ พรานทึง พรานเทิง ไปเที่ยวยิงสัตว์ป่าได้พบพระแก้วนี้อยู่ภายในถ้ำในตอนปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา พรานทั้งสองรู้ว่าเป็ฯของวิเศษแต่สำคัญว่าเป็นเทวรูป จึงไปเซ่นบวงสรวงบนตามวิสัยพราน ภายหลังทั้งสองเห็นว่าพระแก้วอยู่ในที่เปลี่ยวเกรงว่าใครไปมาพบเข้าก็จะลักเอาไปเสีย จึงคิดกันจะอัญเชิญมารักษาไว้เซ่นบวงสรวงที่บ้านเรือนของตน จึงเอาเชือกผูกพระแก้วแขวนห้อยกับคานหน้าไม้ ในขณะที่เดินมานั้นพระแก้วตรงพระกรรณเบื้องขวากระทบหน้าไม้ลิไปหน่อย พรานทึงและพรานเทิงได้รักษาพระแก้วไว้ที่บ้าน ต่อมาเมื่อไปยิงได้สัตว์ป่าสำคัญว่าได้ด้วยที่บนบานพระแก้วจึงเอาโลหิตแต้มเซ่นเป็นนิตย์

ครั้นสมัยกรุงธนบุรีเป็นราชธานี เจ้าชัยกุมารเจ้านครจำปาศักดิ์ได้ทรงทราบความจากพ่อค้าที่ไปเที่ยวซื้อหนัง ซื้อเขาสัตว์ป่าตามบ้านพรานว่า พรานทึง พรานเทิง มีพระแก้วเป็นของวิเศษอยู่องค์ ๑ เจ้าชัยกุมารจึงให้ไปว่ากล่าวแก่พรานทึง พรานเทิงได้พระแก้วผลึกมาเห็นว่าพุทธปฏิมาอันวิเศษ จึงได้สร้างวิหารประดิษฐานไว้เป็นที่สักการะบูชาในนครจำปาศักดิ์ ข่าวที่เจ้านครจำปาศักดิ์มีพระแก้วผลึกวิเศษองค์นี้มิได้ทราบเข้ามาถึงกรุงธนบุรี ดังนั้นแม้กองทัพไทยยกไปถึงนครจำปาศักดิ์เมื่อครั้งตีกรุงศรีสัตนาคนหุต คราวได้พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรมาก็มิได้ทราบความเรื่องพระแก้วผลึกองค์นี้แต่อย่างใด ด้วยพวกชาวนครจำปาศักดิ์พากันซ่อนเร้นปิดบังเสีย

ครั้งเจ้าชัยกุมารถึงแก่พิราลัย เจ้าหน้าได้เป็นเจ้านครจำปาศักดิ์ซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้โปรดให้ย้ายนครจำปาศักดิ์มาตั้งทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำโขง เจ้าหน้าได้โปรดให้สร้างวิหารเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วผลึกไว้ในเมืองใหม่ แต่ความก็มิได้ทราบเข้ามาถึงกุรงเทพฯ ตลอดรัชกาลที่ ๑ ครั้นเจ้าหน้าถึงแก่พิราลัย ในรัชกาลที่ ๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้ทรงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมใช้ข้าหลวงออกไปปลงศพเจ้าหน้าเมื่อปีมะแมตรีศก พุทธศักราช ๒๓๕๔ ข้าหลวงได้ไปเห็นพระแก้วผลึกองค์นี้เข้าจึงบอกแก่พวกท้าวพระยาเมืองนครจำปาศักดิ์ว่า พระแก้วผลึกนี้เป็นของวิเศษไม่ควรจะเอาไว้ที่เมืองนครจำปาศักดิ์ ซึ่งอยู่ชายเขตแดนพระราชอาณาจักรและเคยมีเหตุโจรผู้ร้ายเข้าปล้นเมือง หากมีเหตุเช่นนั้นอีกของวิเศษอาจจะเป็นอันตรายหายสูญไป พวกท้าวพระยานครจำปาศักดิ์เห็นชอบด้วยจึงมีใบบอกเข้ามาให้กราบบังคมทูลถวายพระพุทธรูปแก้วผลึกองค์นี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ข้าหลวงออกไปรับแห่พระแก้วผลึก และมีการสมโภชตามหัวเมืองรายทางตลอดมาจนถึงพระมหานคร

เมื่อมีงานสมโภชที่กรุงเทพมหานครเสร็จแล้วได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้อัญเชิญพระพุทธปฏิมากรแก้วผลึกนี้ไปไว้ ณ โรงที่ประชุมช่าง ข้างพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ได้มีพระบรมราชโองการให้ช่างจัดเนื้อแก้วผลึกที่เหมือนกับเนื้อแก้วในพระองค์พระพุทธรูปมาเจียระไนเป็นรูปปลายพระกรรณที่ลิอยู่นั้น ครั้นต่อพระกรรณบริบูรณ์แล้วให้ขัดเกลาชักเงาชำระพระพุทธรูปแก้วผลึกให้เกลี้ยงเกลามีเงาขึ้นสนิทเสมอกัน แล้วจึงทรงพระราชดำริให้ช่างปั้นฐานมีหน้ากระดานชั้นสิงห์บัวหงาย และหน้ากระดานบนลวดทับหลังเกษตรแก้ว ต่อองค์พระปฏิมา เมื่อทรวดทรงสัณฐานงดงามพึงพอพระราชหฤทัยแล้ว ให้หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์แต่งให้เกลี้ยงเกลาสนิทแล้วหุ้มด้วยทองคำทำให้เกลี้ยงเกลาขึ้นเงางาม ด้วยชอบพระราชหฤทัยว่าเนื้อแก้วเกลี้ยงใสบริสุทธิ์ติดต่อกับเครื่องทองอันเกลี้ยงนั้นงามยิ่งนัก หากแต่ยอดพระรัศมีพระศกยังไม่ต้องอย่างแบบแผนพระพุทธรูปจึงมีรับสั่งให้ช่างแผ่ทองคำหุ้ม ส่วนพระเศียรที่มีพระศกแล้วดุนให้เม็ดพระศกเต็มตามที่ แล้วต่อกับพระรัศมีลงยาราชาวดี มีเพชรประดับใจกลางหน้าหลังและกลีบต้นพระรัศมี เมื่อเครื่องทองพระศกพระรัศมีสำเร็จแล้วถวายสวมลงพื้นทองและช่องดุนพระศกก็มาปรากฏข้างพระพักตร์เป็นรวงผึ้งไป พระพักตร์ก็เห็นพรรณเหลืองคล้ำไม่ผ่องใสเหมือนสีพระองค์ จึงได้มีรับสั่งให้ประชุมนายช่างที่มีสติปัญญาปรึกษาคิดแก้ไข จึงปรึกษาตกลงกันเอาเนื้อเงินไล่ขาวบริสุทธิ์แผ่หุ้มลงเสียชั้นหนึ่งก่อน ขัดเงินข้างในให้เกลี้ยงชักเงางามแล้วจึงสวมพระศกทองคำลงชั้นนอกแผ่นเงิน ก็เห็นพระพักตร์ใสสะอาดขาวนวลดีเสมอกับพระองค์

ครั้นแล้วจึงมีรับสั่งให้นำพระสุวรรณกรัณฑ์น้อยพอจะสอดลงในช่องบนพระจุฬาธาตุ เป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ให้พอสมควรเป็นอุดมปูชนียวัตถุ และให้นำตัวทองน้อยเท่ากับช่องพระเนตรแล้วลงยาราชาวดีขาวดำตามที่พระเนตรขาวดำแล้วฝังให้แนบพระเนตรให้งามดีขึ้น เพราะแต่ก่อนนั้นพระเนตรเป็นแต่ขุมแล้วแต้มหมึกและฝุ่นเป็นขาวดำเท่านั้น ไม่มีผิวเป็นมั่นคงเหมือนผิวยาราชาวดี นอกจากนี้ยังมีรับสั่งให้ช่างทองทำฉัตรทองคำ ๕ ชั้น ชั้นต้นเท่าส่วนพระอังสาลงยาราชาวดีประดับพลอยมีใบโพแก้วห้อยเป็นเครื่องประดับ ปลายคันฉัตรปักลงกับฐานข้างเบื้องพระปฤษฏางค์ พระพุทธปฏิมา และให้ทำสันถัตห้อยหน้าฐานพระพุทธปฏิมาด้วยทองคำจำหลักลายลงยาราชาวดีประดับเพชรและพลอย ครั้นการสำเร็จแล้วจึงให้อัญเชิญไปประดิษฐานในหอพระสุลาลัยพิมาน ซึ่งประดิษฐานอยู่ข้างบุรพทิศพระที่นั่งไพศาลทักษิณเป็นที่ทรงสักการะบูชาวันละสองเวลาเข้าค่ำมิได้ขาด ต่อมาได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตกแต่งหอพระสุลาลัยพิมานด้วยเครื่องแก้วล้วนแต่ของอย่างดีที่มีเข้ามาจากต่างประเทศเป็นอันมาก
4#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-6 19:03 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ในสมัยรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่าพระพุทธรูปแก้วผลึก ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงได้มาแต่เมืองนครจำปาศักดิ์ ทรงทำเครื่องประดับพระองค์แล้วเสร็จประดิษฐานไว้ในหอพระเจ้า แต่ยังหามีเพชรพลอยที่มีราคามากไม่ จะทรงทำฉลองพระเดชพระคุณใหม่ให้งดงามดียิ่งกว่าเก่า จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ช่างกระทำเครื่องประดับพระองค์และฐานใหม่ด้วยเพชรพลอยใหญ่ๆ มีราคาเป็นอันมาก มีฉัตรกลางและฉัตรซ้ายขวาด้วย

ครั้นถึงวันพุธ เดือน ๗ ขึ้น ๖ ค่ำ (วันที่ ๑๕ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๐๔) ได้ทำการฉลองสมโภชพระพุทธปฏิมาภายในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม แล้วถวายพระนามว่า พระพุทธบุษยรัตนจักรพรรดิพิมลมณีมัย ฉลองพระเดชพระคุณ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย แล้วทรงพระราชอุทิศถวายสิริราชสมบัติแด่พระพุทธบุษยรัตนจักรพรรดิพิมลมณีมัย ๓ วันกับทั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ขอแรงเจ้าและขุนนางผู้ใหญ่ ตั้งโต๊ะที่หน้าพระอุโบสถด้วยเครื่องโต๊ะนั้น ก็เปลี่ยนทุกวันประกวดประขันกันยิ่งนัก

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพรรณนาถึงพุทธลักษณะและเนื้อแก้วของพระพุทธบุษรัตนจักรพรรดิพิมลมณีมัย ไว้ตอนหนึ่งว่า "พระพุทธรูปนั้นเป็นแก้วผลึกขาวบริสุทธิ์อย่างเอกอุดม ทึบทั้งแท่งงามหนักหนาที่ช่างทองเรียกว่าบุษย์น้ำขาวบ้าง เพชรน้ำขาวบ้าง โดยฝีมือช่างทำก็งามดีกว่าพระพุทธรูปอื่นๆ บรรดามีในที่ต่างๆ ที่ช่างดีดีทำ แม้นใครจะพิเคราะห์โดยละเอียดจนถึงเอากางเวียนมากางจับกระเบียดเทียบเคียงดูก็ดี จะจับส่วนที่คลาดเคลื่อนไม่เที่ยงเท่ากัน หรือจะติว่าที่นั้นๆ ไม่งามไม่ดีจะว่าดังนี้โดยความจริงใจจะได้เป็นอันยาก เสียอยู่แต่ปลายพระกรรณข้างขวานั้นลิชำรุดอยู่หน่อยหนึ่ง ถึงกระนั้นก็มีผู้เอาเนื้อแก้วเช่นนั้น เจียระไนแล้วตัดติดสนิทดีหามีแผลต่อปรากฏไม่ น้ำแก้วใสบริสุทธิ์โปร่งแลดูตลอดหน้าไปหลังและหลังไปหน้า แต่ที่ต้นพระเพลาลงมาจนทับเกษตรนั้นมียวงดังฝ้่ายขาว แทรกอยู่บ้าง เป็นเหตุให้ผู้เห็นแน่ใจว่าแก้วนั้นเป็นแก้วศิลาแท้มิใช่แก้วหุงสามัญดังเครื่องกระจก ในส่วนทับเกษตรใต้พระองค์พระพุทธรูปนั้นมีรอยร้าวรานอยู่หน่อยหนึ่ง แต่ไม่เกินขึ้นถึงองค์พระพุทธรูปจนผู้ดูจะเห็นได้ เมื่อพระพุทธรูปนั้นประดิษฐานอยู่บนแท่นสถานมีทับเกษตรจมลงในพุทธอาสน์แล้ว รอยรานร้าวนั้นก็มิได้ปรากฏเห็นเลยทีเดียว

พระพุทธรูปแก้วองค์นี้งามยิ่งนักหนาหาที่จะเปรียบมิได้ ถึงแก้วผลึกที่มีในเมืองจีนและเกาะสิงหลลังกาที่เขาทำเป็นแว่นตาหรือรูปพระพุทธปฏิมาและส่ิงอื่นใช้อยู่นั้น เมื่อจะเอามาเทียบเข้าก็คล้ำไปคือเนื้อแก้วหยาบต่ำเลวไปสู้ไม่ได้เลย พระพุทธรัตนปฏิมากรแก้วผลึกพระองค์นี้มีประมาณสูงแต่ที่สุดทับเกษตรขึ้นไปจนสุดปลายพระจุฬาธาตุ ๑๒ นิ้ว หน้าตักวัดแต่ระวางพระชานุทั้งสอง ๙ นิ้วกับกระเบียดอัษฏางค์ นิ้วที่ว่านั้นคือนิ้วช่างไม้นับนิ้วหนึ่งคือ ๗ เมล็ดข้าวเปลือกเรียงกัน

พระพุทธรูปแก้วผลึกพระองค์นี้เป็นของดีอัศจรรย์นักหาที่จะมีอื่น ซึ่งจะบริสุทธิ์สะอาดงามดีเสมอมิได้เลยเป็นของวิเศษประเสริฐและเป็นรูปพระพุทธเจ้าแท้ไช่เทวรูปและตุ๊กตา เพราะมีทีท่าได้ส่วนกับพระพุทธลักษณะ และมีอาการทรงจีวรสบงผ้าพาดเป็นอย่างพระพุทธรูปแท้ทีเดียว ผู้ที่แต่งจดหมายกำหนด นี้ได้บูชาปฏิบัติและได้ตรวจตราดูพระพุทธรูปแก้ว พระองค์นี้อยู่เนืองๆ นานกว่า ๕๐ ปี สังเกตุเห็นเป็นแน่แท้ดังนี้แล"

โดยเหตุที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเสื่อมใสในพระพุทธบุษยรัตนจักรพรรดิพิมลมณีมัยเป็นอันมาก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สร้างพระพุทธรัตนสถานขึ้นตรงหน้าพระพุทธมณเฑียรทางด้านตะวันออก สำหรับเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธบุษยรัตนจักรพรรดิพิมลมณีมัย พระวิหารนี้เสาและฝาผนังพนักล้วนสร้างด้วยศิลา บานประตูหน้าต่างประดับมุกพื้นพระวิหารปูด้วยเสื่อเงินมีฐานชุกชีทำด้วยงาช้างชั้น ๑ รองบุษบกทองคำประดับพลอยที่ตั้งพระพุทธบุษยรัตนจักรพรรดิพิมลมณีมัย

ครั้นถึงสมัยรัชกาลที่ ๕ ทรงผนวชในปีระกา พุทธศักราช ๒๔๑๖ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ผูกพัทธสีมาพระวิหารพระพุทธรัตนสถานเป็นพระอุโบสถที่ทรงทำสังฆกรรม เมื่อเสร็จการทรงผนวชแล้ววัดพระพุทธรัตนสถานได้เป็นที่ข้างในทำพิธีพุทธบูชาต่อมา

ในพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ ๔ กล่าวความว่าในตอนปลายรัชกาล ในวันที่ ๒๘ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๑๑ เวลาย่ำรุ่งแล้วพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ถวายพระธำมรงค์เพชรใหญ่ราคา ๑๐๐ ชั่ง บูชาพระพุทธบุษยรัตนจักรพรรดิพิมลมณีมัยองค์ ๑ ส่วน

ในจดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน กล่าวความว่า ทรงมีพระบรมราชโองการกับพระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าโสมาวดี (กรมหลวงสมรรัตนสิริเชษฐ์) ให้จัดธูปเทียนเครื่องนมัสการไปทูลลาพระแก้วมรกตกับพระบรมอัฐิ หีบพระธำมรงค์หีบหนึ่ง พระมหาสังวาลองค์หนึ่ง ให้ถวายพระพุทธบุษยรัตนจักรพรรดิพิมลมณีมัย และต่อมาอีกไม่กี่วันก็เสด็จสวรรคต (๑ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๑๑)

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้อัญเชิญพระพุทธบุษยรัตนจักรพรรดิพิมลมณีมัย ไปประดิษฐาน ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิตเมื่อเสด็จวรรคตแล้วได้อัญเชิญกลับมาประดิษฐานยังพระพุทธรัตนสถานอีกครั้งหนึ่ง

ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช พระพุทธบุษยรัตนจักรพรรดิพิมลมณีมัยประดิษฐานอยู่ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต
5#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-6 19:03 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้


พระพุทธรูปประจำพระชนมวาร
สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี

(ปางถวายเนตร)


ศิลปะ : แบบรัตนโกสินทร์ รัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พุทธศักราช ๒๓๙๔-๒๔๑๑

ขนาด : สูงเฉพาะองค์พระ ๒๒.๑๐ เซนติเมตร สูงจากฐานถึงพระรัศมี ๒๙.๗๕ เซนติเมตร

วัสดุ : กาไหล่ทอง

ปัจจุบัน : ประดิษฐานภายใน หอพระสุลาลัยพิมาน ในหมู่พระมหามณเฑียร

พุทธลักษณะ : เป็นพระพุทธรูปประทับยืนแบบสมภังค์แสดงปางถวายเนตร โดยพระหัตถ์ทั้งสองข้างห้อยประสานทับกันด้านหน้าพระเพลา พระพุทธรูปมีพระพักตร์ค่อนข้างเป็นวงรี พระนลาฏแคบ พระขนงโก่ง พระเนตรเหลือบต่ำ พระนาสิกใหญ่ พระโอษฐ์เรียว พระกรรณยาว พระเศียรประดับด้วยเม็ดพระศกขนาดเล็กขนาดเล็กเรียวแหลม มีเกตุมาลาประกอบเบื้องบนกับทั้งมีรัศมีรูปเปลวไฟบนยอดสุด องค์พระพุทธรูปครองอุตราสงค์เรียบไม่มีริ้ว ห่มเฉียงเปิดพระอังสาขวามีขอบสองชั้น โดยมีชายอุตราสงค์ขนาดใหญ่พาดบนพระอังสาซ้ายยาวจรดพระนาภี ปลายเป็นเขี้ยวตะขาบ อุตราสงค์ที่ทรงนี้ห้อยคลุมพระวรกายห้อยตกลงมาเป็นปีกทั้งข้าง โดยอุตราสงค์นี้ครองทับอันตรวาสกเรียบมีจีบทบกันทางเบื้อหน้า พระพุทธรูปประทับยืนเหนือปัทมาสน์กลมจำหลักลายกลีบบัวหงายประกอบฐานกลม ๒ ชั้น ซึ่งฐานกลมดังกล่าววางอยู่เหนือฐานเขียงแปดเหลี่ยมอีกต่อหนึ่ง

ประวัติ : พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สร้างพระพุทธรูปประจำพระชนมวารสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี สมเด็จพระบรมราชชนนีของพระองค์ขึ้น ปัจจุบันอัญเชิืญพระปฏิมาประจำพระชนมวารสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินีคู่กับพระโกศพระอัฐิ ในงานบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทาน และการพระราชพิธีสงกรานต์ เป็นต้น
6#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-6 19:04 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้


พระพุทธรูปแก้ว
(ปางปรินิพพาน, ปางไสยาสน์)


ศิลปะ : แบบรัตนโกสินทร์ รัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พุทธศักราช ๒๓๖๗-๒๓๙๔

ขนาด : องค์พระพุทธรูปยาว ๑๘ เซนติเมตร ฐานมีขนาด ๔.๕๓-๑๙.๐๖ เซนติเมตร

วัสดุ : แก้วใส ครอบพระเศียรกาไหล่ทอง ฐานทองคำลงยาราชาวดี

ปัจจุบัน : ประดิษฐานภายใน หอพระสุลาลัยพิมาน ในหมู่พระมหามณเฑียร

พุทธลักษณะ : เป็นพระพุทธรูปขนาดเล็ก แสดงอาการบรรทมตะแคงข้างขวาแบบสีหไสยาสน์ พระเนตรหลับสนิท ชันพระกโบรหงายฝ่าพระหัตถ์ขวารองรับพระเศียร พระกรซ้ายทาบบนพระปรัศว์ พระบาทซ้ายซ้อนไว้บนพระบาทขวา เหยียดปลายพระบาทเสมอกันทั้ง ๒ ข้าง พระพุทธรูปมีพระพักตร์เป็นวงรี พระขนงโก่ง พระนาสิกโด่งกับทั้งพระโอษฐ์เรียว พระกรรณยาวจรดพระอังสา ครอบพระเศียรประดับด้วยขมวดพระเกศาขนาดเล็ก มีเกตุมาลาและรัศมีรูปแหลม องค์พระพุทธรูปครองอุตราสงค์ห่มเฉียงเรียบเปิดพระอังสาขวา มีชายอุตราสงค์ช้อนทบพาดผ่านพระอังสาซ้าย ปรากฏขอบอันตรวาสกที่ทรงบริเวณบั้นพระองค์และพระชงฆ์

พระพุทธรูปบรรทมเหนือแท่นบรรทม ประกอบด้วยชั้นปัมท์ ๑ ชุด ขาแบบแข้งสิงห์รวม ๖ ขา จำหลักลายลงยาราชาวดี จากพุทธลักษณะข้างต้นตรงกับศิลปะแบบรัตนโกสิทร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พุทธศักราช ๒๓๖๗-๒๓๙๔

ประวัติ : พระพุทธปฏิมาที่ไม่ปรากฏประวัติความเป็นมา
7#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-6 19:05 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้


พระพุทธรูปประจำพระชนมวาร
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ

(ปางห้ามญาติ)


ศิลปะ : แบบรัตนโกสินทร์ รัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ พุทธศักราช ๒๕๓๐

ขนาด : สูงเฉพาะองค์พระ ๒๖.๘๐ เซนติเมตร สูงจากฐานถึงพระรัศมี ๓๑.๙๕ เซนติเมตร

วัสดุ : เงิน กาไหล่ทอง

ปัจจุบัน : ประดิษฐานภายใน หอพระสุลาลัยพิมาน ในหมู่พระมหามณเฑียร

พุทธลักษณะ : เป็นพระพุทธรูปประทับยืนแบบสมภังค์ แสดงปางห้ามญาติหรืออภัยมุทราด้วยพระหัตถ์ขวาเพียงข้างเดียว ส่วนพระหัตถ์ซ้ายทอดลงข้างพระวรกาย พระพุทธรูปมีพุทธลักษณะคล้ายพระพุทธรูปแบบสุโขทัย โดยมีพระพักตร์เป็นวงรี พระนลาฏค่อนข้างแคบ พระขนงโก่ง พระนาสิกโด่ง พระโอษฐ์อมยิ้มและมีพระกรรณยาว พระเศียรประดับด้วยขมวดพระเกศาเป็นก้นหอย มีเกตุมาลาและรัศมีรูปเปลวไฟอยู่เบื้องบน องค์พระพุทธรูปมีพระอังสาใหญ่บั้นพระองค์เล็กโดยครองอุตราสงค์เรียบห่มคลุมพระอังสา ปล่อยชายอุตราสงค์ให้ห้อยตกลงมาเป็นเส้นอ่อนโค้งด้านข้างพระวรกายทั้งสองข้าง  อันตรวาสกที่ทรงเรียบเช่นเดียวกับอุตราสงค์คงปรากฏขอบ ๒ ชั้นที่บั้นพระองค์ และจีบทบห้อยลงมาเบื้องหน้ายาวเกือบจรดข้อพระบาท พระพุทธรูปประทับยืนบนปัทมาสน์ประกอบด้วยกลีบบัวหงายและกลีบบัวคว่ำมีเกสรบัวประดับ ปัทมาสน์นี้วางช้อนอยู่เหนือฐานเขียงรูปแปดเหลี่ยมเบื้องล่าง

ประวัติ : ตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ เสด็จเถลิงถวัลราชสมบัติเมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๘๙ เป็นต้นมานั้น ยังมิได้มีการสร้างพระพุทธรูปประจำพระชนมวารขึ้นในรัชกาลนี้เลย ดังนั้นในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ รอบ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้มีการสร้างพระพุทธรูปประจำพระชนมวารปางห้ามญาติ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปประจำวันจันทร์อันเป็นวันพระราชสมภาพ

พระพุทธรูปประจำพระชนมวารนี้นายแก้ว หนองบัวเป็นผู้ปั้นหล่อและหลังจากได้ทอดพระเนตรหุ่นปั้นและทรงแก้ไขตามพระราชประสงค์แล้ว ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเททองหล่อ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๓๐ ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อเสร็จการแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้อัญเชิญพระพุทธรูปประจำพระชนมวาร ประดิษฐานไว้กับพระชัยวัฒน์ประจำรัชกาล ณ หอพระสุลาลัยพิมาน ในหมู่พระมหามณเฑียร

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙ มีพระบรมราชสมภพ วันจันทร์ที่ ๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๗๐ ตรงกับขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือนอ้าย ปีเถาะ จุลศักราช ๑๒๘๙ รัตนโกสินทรศก ๑๔๖ บรมราชาภิเษก วันศุกร์ที่ ๕ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๙๓ ตรงกับแรม ๔ ค่ำ เดือน ๖ ปีขาล จุลศักราช ๑๓๑๒ รัตนโกสินทรศก ๑๖๙ ปัจจุบันอัญเชิญพระพุทธรูปประจำพระชนมวารพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ในงานพระราชพิธีสงกรานต์
8#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-6 19:06 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้


พระพุทธรูปอุทิศพระราชกุศลถวายพระศรีสุธรรมราชา
(ปางรำพึง)


ศิลปะ : แบบรัตนโกสินทร์ รัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พุทธศักราช ๒๓๖๗-๒๓๙๔

ขนาด : สูงเฉพาะองค์พระ ๒๑.๓๕ เซนติเมตร สูงจากฐานถึงพระรัศมี ๓๔ เซนติเมตร

วัสดุ : ทองแดง

ปัจจุบัน : ประดิษฐานภายใน หอราชกรมานุสร วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

พุทธลักษณะ : เป็นพระพุทธรูปประทับยืนแบบสมภังค์แสดงปางรำพึงธรรม โดยพระหัตถ์ทั้งสองยกประสานพระอุระด้วยพระขวาช้อนทับพระหัตถ์ซ้ายเป็นกิริยารำพึง พระพุทธรูปมีพระพักตร์ค่อนข้างเป็นวงรี พระนลาฏค่อนข้างแคบ พระขนงโก่ง พระเนตรเหลือบต่ำ พระนาสิกโด่ง พระโอษฐ์เรียวและพระกรรณยาวเกือบจรดพระอังสา พระเศียรประกอบด้วยเม็ดพระศกเป็นตุ่มแหลมมีเกตุมาลาและรัศมีเป็นรูปเปลวไฟ องค์พระพุทธรูปครองอุตราสงค์ห่มเฉียงเรียบเปิดพระอังสาขวามีชายอุตราสงค์ช้อนทับพระอังสาซ้ายยาวจรดพระนาภี ปลายเป็นรูปลายเขี้ยวตะขาบ อันตรวาสกที่ทรงปรากฏขอบสองชั้น พระพุทธรูปประทับยืนเหนือปัทมาสน์ ประกอบด้วยกลีบบัวหงายช้อนกัน ๓ ชั้นบนฐานกลมเหนือฐานเขียงแปดเหลื่ยม

ประวัติ : พระพุทธรูปปางรำพึงธรรมองค์นี้พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สร้างขึ้น ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้หล่อฐานชั้นล่างแล้วให้กาไหล่ทอง เมื่อสำเร็จแล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จารึกข้อความเพื่อทรงอุทิศพระราชกุศลถวายพระศรีสุธรรมราชา (สมเด็จพระศรีสุธรรมราชา) สยามรัชกาลที่ ๒๖ พระราชอนุชาในสมเด็จพระรามาธิเบศปราสาททอง ซึ่งได้ครองราชสมบัติในกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุธยามหานครเพียง ๑ เดือน ๒๐ วัน จุลศักราช ๑๐๑๘ ปีวอก อัฐศก (พุทธศักราช ๒๑๙๙)
9#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-6 19:07 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
คติทางประติมานวิทยาของพระพุทธรูปปางรำพึงธรรมในพุทธประวัติกล่าวความว่า เมื่อตปุสสะและภัลลิกะทูลลากลับไปแล้ว พระพุทธเจ้าทรงคำนึงว่าพระธรรมซึ่งพระองค์ตรัสรู้นั้นเป็นสิ่งลึกซึ้งสุขุมยอดยิ่ง
ยากที่ชาวโลกผู้ยินดีในกามคุณจะใช้ปัญญารู้ตามได้แล้ว ทรงท้อพระทัยที่จะตรัสสั่งสอน ครั้นทรงหวนพิจารณาอีกว่าบุคคลย่อมมีปัญญาที่แตกต่างกันอาจแบ่งออกเป็น ๔ จำพวกคือ

บุคคลที่มีอุปนิสัย วาสนาและบารมีแก่กล้าได้สดับคำสั่งสอนโดยสังเขป ก็รู้เหตุผลและหลุดพ้นทุกข์ได้โดยพลันพวกหนึ่ง

บุคคลที่มีนิสัยได้สดับคำสั่งสอนโดยสังเขปไม่สามารถตรัสรู้ได้ต่อ จำแนกอรรถาธิบายโดยพิสดารจึงรู้เหตุผลและหลุดพ้นได้จำพวกหนึ่ง

บุคคลที่ได้สดับคำสั่งสอนทั้งโดยสังเขปและพิสดารแล้วยังไม่สามารถตรัสรู้ได้ ต้องฝึกฝนพากเพียรศึกษาในสมถะและวิปัสสนาต่อไปจึงรู้เหตุผลและหลุดพ้นได้จำพวกหนึ่ง

เปรียบเหมือนในกออุบลคือบัวขาบ ในกอปทุมคือบัวหลวงและในกอบุณฑริกคือบัวขาว ดอกบัวที่เกิดแล้วในน้ำ เจริญแล้วในน้ำ น้ำเลี้ยงไว้ บางเหล่ายังจมอยู่ในน้ำ บางเหล่าตั้งอยู่เสมอน้ำ บางเหล่าตั้งขึ้นพ้นน้ำแล้วนั้น คอยสัมผัสรัศมีพระอาทิตย์จักบานวันต่อๆ ไป ดอกบัวที่บานมีต่างชนิดฉันใด เวไนยสัตว์ก็มีต่างพวกฉันนั้น เว้นแต่จำพวกที่ไม่ใช่เวไนยคือไม่ยอมรับแนะนำ เปรียบด้วยดอกบัวอันเป็นภักษาแห่งปลาและเต่า

เมื่อพระพุทธเจ้าทรงพิเคราะห์บุคคลเป็นจำพวกๆ ดังนี้ ทรงเห็นว่าบุคคลสามพวกแรกสามารถจะล่วงรู้เหตุผลแห่งความจริง (พระธรรม) ได้ในชาติปัจจุบัน แต่บุคคลจำพวกที่ ๔ อาจจะตรัสรู้ได้ในอนาคตชาติก็ตกลงพระทัยที่จะแสดงพระธรรมสั่งสอนชาวโลกสืบไป

ตามนัยที่กล่าวเป็นบุคลาธิษฐานว่า เมื่อพระพุทธองค์ทรงตรึกตรองและท้อพระทัยจะไม่สั่งสอนชาวโลกนั้น ท้าวสหัมบดีพรหมได้ลงมาจากพรหมโลก กราบทูลอาราธนาเพื่อทรงแสดงธรรม โดยอ้างว่าบุคคลที่มีกิเลสเบาบางอาจสดับรู้พระธรรมก็มีอยู่ พระพุทธเจ้าทรงพิจารณาเห็นชอบด้วยจึงรับคำอาราธนาของสหัมบดีพรหม
10#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-6 19:07 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้


พระพุทธรูปอุทิศพระราชกุศลถวายเจ้าทองจันทร์
(ปางนาคปรก)


ศิลปะ : แบบรัตนโกสินทร์ รัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พุทธศักราช ๒๓๖๗-๒๓๙๔

ขนาด : หน้าตักกว้าง ๘ เซนติเมตร สูงเฉพาะองค์พระ ๑๐.๙๐ เซนติเมตร
สูงจากฐานถึงยอดเศียรนาค ๒๐ เซนติเมตร

วัสดุ : ทองแดง

ปัจจุบัน : ประดิษฐานภายใน หอราชกรมานุสร วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

พุทธลักษณะ : เป็นพระพุทธรูปประทับนั่งแบบวีราสนะ แสดงปางนาคปรกโดยพระหัตถ์ทั้งข้างวางหงายช้อนบนพระเพลา กับทั้งมีรูปพญานาค ๕ เศียรขดล้อมองค์พระพุทธรูปเกือบถึงระดับพระอุระและแผ่พังพานเหนือพระเศียร พระพุทธรูปมีพักตร์ค่อนข้างเป็นวงรี พระนลาฏค่อนข้างแคบ พระขนงโก่ง พระเนตรเหลือบต่ำ พระนาสิกโด่ง พระโอษฐ์เรียว พระกรรณยาว พระเศียรประกอบด้วยเม็ดพระศกเป็นตุ่มแหลมมีเกตุมาลาและรัศมีเป็นรูปเปลวไฟ องค์พระพุทธรูปครองอุตราสงค์ห่มเฉียงเรียบเปิด พระอังสาขวามีชายอุตรสงค์ช้อนทับเหนือพระอังสาซ้ายห้อยยาวจรดพระนาภี ปลายเป็นลายเขี้ยวตะขาบ พระพุทธรูปประทับนั่งเหนือปัทมาสน์รูปกลมมีขนดนาคสามชั้นล้อมรอบสูงจนถึงระดับพระอุระ บริเวณคอของนาคด้านหน้าแต่ละเศียรเป็นลายดอกไม้หกกลีบ ส่วนด้านหลังเป็นลายดอกจันทน์ขนาดใหญ่เพียงดอกเดียว

ประวัติ : พระพุทธรูปทางนาคปรกองค์นี้พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สร้างขึ้น ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้หล่อฐานชั้นล่างแล้วให้กาไหล่ทอง เมื่อสำเร็จแล้วจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จารึกข้อความเพื่อทรงอุทิศพระราชกุศลถวายเจ้าทองจันทร์ (สมเด็จพระเจ้าทองลัน) * สยามรัชกาลที่ ๓ พระราชโอรสในสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ ซึ่งได้ครอบครองราชสมบัติในกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุธยามหานคร แต่เพียง ๗ วันในจุลศักราช ๗๔๔ ปีจอ จัตวาศก (พุทธศักราช ๑๙๒๕)

สำหรับคติทางประติมานวิทยาของพระพุทธรูปปางนาคปรกในพุทธประวัติ กล่าวความว่าภายหลังที่ตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว ๔๒ วัน สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เสด็จไปประทับบำเพ็ญสมาบัติ เสวยวิมุตติสุขซึ่งเกิดแต่ความพ้นจากกิเลสวะอยู่ ณ ร่มไม้จิก (มุจลินทพฤกษ์) เป็นต้นอันอยู่ทางทิศตะวันออกของมหาโพธิพฤกษ์เป็นเวลา ๗ วัน มีพญานาคตนหนึ่งชื่อ มุจลินทนาคราช อาศัยอยู่ในสระใหญ่ใกล้ๆที่นั่น ขึ้นมาแสดงอิทธิฤทธิ์แผ่พังพานและวงขนดกายเป็น ๖ รอบ ล้อมพระพุทธองค์ไม่ให้ถูกต้องลมและฝนจนกระทั่งฝนหายจึงแปลงร่างเป็นมนุษย์เข้าไปเฝ้าสมเด็จพระบรมศาสดา ต่อจากนั้นพระพุทธเจ้าออกจากสมาบัติเสด็จดำเนินไปสู่ร่มไม้เกด (ราชายตนพฤกษ์) อันมีอยู่ทางทิศใต้ของไม้จิกต้นนั้น..

* ปัจจุบันเชื่อว่าเสวยราชสมบัติ ปีพุทธศักราช ๑๙๓๑
                                                                                       

ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้