ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 6724
ตอบกลับ: 10
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

บันทึก..โจวต้ากวาน

[คัดลอกลิงก์]
                                                                บันทึกเรื่องขนบธรรมเนียมของกัมพูชา
                                                                (Mémoires sur les coutumes du Cambodge)
                                                                 ผู้เขียนโจวต้ากวานในสมัยราชวงศ์หยวน หรือหงวน
                                                           (Ts’ao-t’ing) ไม่มีอาชีพเป็นหลักฐาน ชาวเมือง Yong-kia                                                                                         ฉบับที่ 2  ค.ศ. 1902
                                                                                                หน้า 1-234
                                                                           สรุปความโดย ดร.เสาวนิต รังสิยานนท์


               ชาวเจนละเรียกเมืองของเขาว่า Kan-po-tche ส่วนราชวงศ์จีนขณะนั้นเรียกเจนละว่า Kan-p’ou-tche  โจวต้ากวานกล่าวถึงการเดินทางจากจีนสู่เจนละผ่านตังเกี๋ย และ Kouang-tong จัมปา Tchen-p’ou ชายแดนกัมพูชา และ Tch’a-nan (ฉาหนัน) จากนั้นเดินทางทางเรือจนถึงกำปง (Kan-p’ang) ซึ่งอยู่ห่างจากเจนละ 50 ลี้ เมืองนี้กว้าง 7,000 ลี้ ทางเหนือคือจัมปา ทางตะวันตกเฉียงใต้คือสยาม (Sien-lo) ทางใต้คือ P’an-yu ทางตะวันออกคือมหาสมุทร  เมื่อก่อนนี้เคยเป็นเมืองที่มีการค้าขายคึกคัก จีนต้องการขยายอาณาจักรจึงส่งคนไปติดต่อกับอาณาจักรนี้ แต่ถูกจับ ต่อมาจีนได้ส่งราชทูตไปที่เมืองนี้อีก โดยมีโจวต้ากวานไปในคณะราชทูตด้วย ใน ค.ศ. 1297
โจวต้ากวานได้สังเกตลักษณะสำคัญของขนบธรรมเนียม และเล่าเรื่องราวของอาณาจักรนี้ไว้ว่า...


              เมืองนี้มีกำแพงล้อมรอบ 50 ลี้ มีประตูเมือง 5 ประตู รอบกำแพงเมืองมีคูน้ำ เหนือประตูเมืองมีเศียรพระพุทธรูป ข้างประตูมีรูปช้างแกะสลักจากหิน กลางเมืองมีหอคอยทองคำ ข้าง ๆ เป็นหอคอยหิน 20 หอ และห้องเล็ก ๆ อีกหลายห้องสร้างด้วยหินทั้งสิ้น ห่างจากหอคอยทองคำไปทางเหนือ 1 ลี้มีหอคอยทองแดง ห่างไปทางเหนืออีก 1 ลี้เป็นที่ประทับของเจ้าผู้ครองนคร และในที่ประทับก็ยังมีหอคอยทองคำ


               นอกจากนี้ ในเมืองนี้ยังมีบ้านที่สร้างด้วยหินอีกหลายร้อยหลัง และทะเลสาบ 2 แห่ง ในทะเลสาบมีหอคอย ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปทอง และพระนอนหล่อด้วยทองบรอนซ์


               ส่วนที่อยู่อาศัย เช่นพระราชวัง สถานที่ราชการ และบ้านขุนนางหันหน้าไปทางทิศตะวันออก พระเจ้าแผ่นดินบรรทมบนหอคอยทองในพระราชวังแต่พระองค์เดียว


               ที่ประทับของเจ้านายและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ แตกต่างจากของประชาชนทั้งในด้านวัสดุและขนาด ขนาดของบ้านขึ้นอยู่กับตำแหน่งราชการของเจ้าของ


               ราษฎรอยู่บ้านหลังคามุงจาก ขนาดของบ้านขึ้นอยู่กับฐานะทางเศรษฐกิจของเจ้าของ แต่จะเลียนแบบบ้านของขุนนางไม่ได้


               การแต่งกาย ทุกคนตั้งแต่เจ้านาย ทั้งหญิง ชาย มุ่นมวยผม พันท่อนบนด้วยผ้าพืนเดียว เมื่อออกจากบ้านมีผ้าคลุมไหล่ ผ้าที่ใช้มีคุณภาพต่างกัน เจ้านายใช้ผ้าอย่างดี ถึงแม้จะทอผ้ามากแต่ก็ยังซื้อจากสยามและจัมปา ผ้าที่นิยมกันมากและมีราคาแพงมาจากแถบทะเลด้านตะวันตก


               เจ้านายสวมกระบังหน้าทอง หรือมีมาลัยดอกไม้หอม เช่นดอกมะลิรอบมวยผม สวมสร้อยไข่มุก สร้อยข้อมือ แหวนกำไลเท้าทำด้วยทอง เดินเท้าเปล่า ทาสีแดงที่ฝ่าเท้าและฝ่ามือ เวลาออกจากวังถือดาบทองคำ


               ราษฎรผู้หญิงทาฝ่ามือและฝ่าเท้าสีแดงเช่นกัน ส่วนผู้ชายไม่ทา


               ข้าราชการ มีที่ปรึกษา ขุนพล โหรทางดาราศาสตร์ ฯลฯ  ข้าราชการชั้นผู้น้อย เจ้านายผู้ชายส่วนมากรับราชการหรือไม่ก็ถวายลูกสาวเป็นบาทบริจาริกา  ข้าราชการชั้นสูงมีเครื่องประดับยศทำด้วยทอง มีวอทอง ส่วนชั้นรองลงมาเครื่องประดับยศ และวอทำด้วยเงิน


               ในด้านศาสนา มีพราหมณ์หรือบัณฑิตเรียกว่า ปันจี้ (Pan-k’i) มีพระสงฆ์หรือ จู้กู (Tch’ou-kou) มีพระในลัทธิเต๋า หรือ ป๊ะ ซือเหวย (Pa-sseu-wei)
               Pan’k’i แต่งกายแบบคนทั่วไป ห้อยคอด้วยสายสีขาวเป็นสัญลักษณ์ จนถึงวาระสุดท้ายแห่งชีวิต


               พระสงฆ์ โกนศีรษะ นุ่งสบงสีเหลืองคล้ายพระไทย อยู่ในวัด และบูชาพระพุทธรูปศากยมุนี ฉันปลาและเนื้อ ศึกษาพระธรรมจากคัมภีร์ใบลาน (แต่โจวต้ากวานไม่รู้จักจึงบรรยายอย่างยืดยาว-
ผู้แปล) เป็นที่ปรึกษาของเจ้าเมืองเมื่อมีข้อราชการสำคัญ ไม่มีชีในศาสนาพุทธ


               พระในลัทธิเต๋า แต่งกายแบบคนทั่วไป บนศีรษะมีผ้าสีแดงหรือขาวเป็นสัญลักษณ์ มีวัดเล็กกว่าวัดในพุทธศาสนา กราบไหว้หินแท่งหนึ่งคล้ายหินในแท่นบูชาแม่ธรณีในจีน ไม่ฉันอาหารในที่สาธารณะ


               เด็กชาวเมืองนี้ เรียนหนังสือกับพระสงฆ์ เมื่อเติบโตใช้ชีวิตแบบฆราวาส


               ชาวเมืองผิวดำมาก มีนิสัยคล้ายคนป่าเถื่อนทางใต้ (Man) อยู่ในหมู่บ้านที่ห่างไกล หรือในบ้านที่อยู่เขตชุมชน ทั้งหญิงชายนุ่งผ้าผืนเดียว มุ่นมวยผม และเดินเท้าเปล่าเช่นเดียวกับชายาเจ้าเมือง เจ้าเมืองมีชายา 5 องค์ สำหรับที่ประทับ ส่วนพระองค์ 1 องค์ และอีก 4 องค์ประทับอยู่ในที่ประทับในทิศทั้งสี่ มีสนม กำนัล 3-5 พัน  นอกจากนี้มีหญิงรับใช้ในพระราชวังเรียกว่า tch’en-kia-lan


               ชาวเมืองนี้ทั้งหญิงชายชโลมตัวด้วยเครื่องหอม ทุกคนนับถือศาสนาพุทธ


               เมื่อผู้หญิงคลอดบุตรวันรุ่งขึ้นก็อุ้มลูกไปอาบน้ำในแม่น้ำ พวกเธอแก่เร็วเพราะแต่งงานและมีบุตรเร็วเกินไป พ่อแม่ที่มีลูกสาวมักปรารถนาให้ลูกมีคู่ ในครอบครัวที่ร่ำรวย เมื่อลูกสาวอายุ 7-9 ขวบจะนิมนต์พระสงฆ์หรือพระในลัทธิเต๋าให้ทำพิธีเบิกพรหมจารี ส่วนครอบครัวที่ยากจนจะทำพิธีนี้เมื่อเด็กมีอายุตั้งแต่ 11 ขวบ ผู้ชายส่วนมากจะแต่งงานกับหญิงที่อยู่กินกันแล้ว


               ในเมืองนี้มีการซื้อขายทาสเพื่อทำหน้าที่คนรับใช้ในบ้าน บางบ้านมีผู้รับใช้มากกว่า 1 ร้อยคน บางบ้านก็อาจมีเพียง 10-20 คน ทาสคือคนป่าที่อยู่ในภูเขาห่างไกล เมื่อมาอยู่ในเมืองก็ไม่กล้าออกนอกบ้าน


               คนในเมืองมีภาษาของตนเองต่างหาก ซึ่งชาวจัมปาหรือชาวสยามไม่เข้าใจ ขุนนาง พระสงฆ์ในพุทธศาสนา และพระในลัทธิเต๋าต่างก็มีภาษาของตน ชาวเมืองและผู้คนในหมู่บ้านก็มีภาษาพูดที่ไม่เหมือนกัน เช่นเดียวกับจีน


               ส่วนคนป่าเถื่อนนั้นมี 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งเข้าใจภาษาที่ใช้ในชีวิตประจำวัน และถูกขายเป็นทาสในเมือง อีกกลุ่มหนึ่งไม่ยอมรับอารยธรรมและไม่เข้าใจภาษาคนเมือง ใช้ชีวิตร่อนเร่อยู่ตามภูเขา ล่าสัตว์ ใช้หินจุดไฟ ฆ่ากันเองบ่อย เพิ่งรู้จักเพาะปลูก และทอผ้า เมื่อไม่นานมานี้


               การเขียนหนังสือ เขียนบนหนังกวางหรือหนังสัตว์อื่นที่ย้อมด้วยสีดำ เขียนด้วยฝุ่นสีขาว ตัวหนังสือส่วนใหญ่คล้ายอักษรของ Ouigours มาก และออกเสียงคล้ายกับอักษรของมงโกล มีร้านรับจ้างเขียนหนังสือ เมื่อราษฎรต้องการร้องทุกข์



วันขึ้นปีใหม่ และฤดูกาลต่าง ๆ


               เดือนที่ 1 ของกัมพูชาตรงกับเดือนที่ 10 ของจีน ในวันขึ้นปีใหม่มีการจุดบั้งไฟและประทัด ทำให้ทั้งเมืองสั่นสะเทือนด้วยแรงระเบิดของบั้งไฟที่สามารถมองเห็นได้ในระยะมากกว่า 100 ลี้ และประทัดที่ใหญ่โต พระเจ้าแผ่นดินเสด็จมาทอดพระเนตรพร้อมกับขุนนาง และทูตานุทูต งานฉลองนี้มีระยะเวลา 15 วัน ที่หน้าพระราชวัง และเสียค่าใช้จ่ายมาก


               ทุกเดือนจะมีงานฉลอง เช่นเดือนที่ 5 มีงานสรงน้ำพระ เดือนที่ 7 งานเผาข้าวใหม่ เพื่อบูชาพระพุทธเจ้า เดือนที่ 8 มีงานเต้นรำ ชนหมู ชนช้าง เป็นเวลา 10 วัน ฯลฯ


               นอกจากนี้ มีการถือฤกษ์ยามตามโหราศาสตร์ และมีปีนักษัตร 12 นักษัตร เช่นเดียวกับจีนแต่เรียกชื่อปีต่างกัน



ความยุติธรรม

               ราษฎรธรรมดาสามัญที่สุดสามารถร้องขอความเป็นธรรมจากกษัตริย์ได้ ผู้ทำผิดมหันต์จะถูกฝังทั้งเป็น ผู้ที่จับขโมยได้มีสิทธิ์ลงโทษขโมยได้ นอกจากนี้มีการหาตัวผู้ทำผิดด้วยการเสี่ยงทายที่เรียกว่า “คำพิพากษาจากสวรรค์”





2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-5-3 10:28 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
พิทยาจารย์: มุมมองใหม่ทางประวัติศาสตร์โบราณคดีและศิลปวัฒนธรรม
การอธิบายทางประวัติศาสตร์ โบราณคดีและศิลปวัฒนธรรม บนพื้นฐานการวิพากษ์ วิจารณ์ และต่อยอดองค์ความรู้จากบุรพาจารย์โดยพิทยะ ศรีวัฒนสาร คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์


บันทึกว่าด้วยขนบธรรมเนียมประเพณีของเจินละ: การกรองภาพลวงทางประวัติศาสตร์

Notes on the Customs of Cambodia
: Scrutinizing of Historical Illusion
โดย พิทยะ ศรีวัฒนสาร
คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
Bidya Sriwattanasarn,
Faculty of Arts and Sciences, Dhurakij Pundit University.
(ตีพิมพ์ครั้งแรกในวารสารเมืองโบราณประจำเดือนเมษายน-มิถุนายน ๒๕๕๐)

Summary
The critic has taken the parts 16th –20th of Chou Ta-kuan’s “Notes on the Customs of Cambodia” : translated into Thai by Chalerm Yongboon-gerd ; to compare and evaluate the value and reliability with the French version by Paul Pelliot and the English version by J. Gilman D’arcry Paul and Michael Smithies.

Result of the critique indicate that each version also has distinctive value. But having examined the text seriously, the critic discovered at least 31 items of illusive information mingle in it. For example, in the part 16th “The Death”, Chou Ta-kuan narrates of the scattering of the popped rice in the funeral ceremony, Chalerm Yongboon-gerd had translated the word correctly. On the other hand, other translators have caused us think of “ de riz grillé”, “fried rice”, “toasted rice” or “burnt rice” than “the popped rice”. Besides, n the part 19th “the Products”, Chou Ta-kuan tells us about environment and behavior of the kingfishers, Chalerm Yongboon-gerd said otherwise, he indicated that they flew from the forest to find the fishes, while the others contradicted that the kingfishers hovered over the forest, not flying out of it, etc.

๑.ความเป็นมา
“บันทึกว่าด้วยขนบธรรมเนียมประเพณีของเจินละ(เจิ้น หล่า ฝง ตู้ คี่-Tchen la fong t’ou ki)” เป็นบันทึกเกี่ยวกับเรื่องราวกัมพูชาของโจวต้ากวน(Chou Ta-kuan หรือTcheou Ta-Kouan) หรือ โจวเฉ่าถิง หรือ เฉา-ถิง-ยี่-หมิ่น (Ts’ao - ti’ing yi min) นักเขียนชาวจีน ผู้ร่วมทางไปกัมพูชากับคณะทูตซึ่งพระเจ้าเฉวิงจงแห่งราชวงศ์หยวนส่งไปเกลี้ยกล่อมให้กัมพูชายอมสวามิภักดิ์ต่อราชสำนักจีนใน พ.ศ.๑๘๓๘ โจวต้ากวนเดินทางไปถึงเมืองนครธม พ.ศ.๑๘๓๙ แล้วพำนักอยู่ประมาณ๑ปีก่อนกลับและเขียนบันทึกฉบับนี้หลังจากเดินทางถึงจีนแล้ว

ปอล เปลลิโอต์ (Paul Pelliot )ระบุว่า โจวต้ากวนเดินทางไปกัมพูชาระหว่างพ.ศ.๑๘๓๓–๑๘๓๔ และเขียนบันทึกขึ้นก่อนปีพ.ศ.๑๘๕๕ บันทึกนี้ถูกตีพิมพ์อีกในพ.ศ.๑๘๘๙ ก่อนสิ้นราชวงศ์มองโกล และถูกตีพิมพ์ไม่น้อยกว่า ๗ ครั้งระหว่างพ.ศ.๒๑๘๙–๒๑๙๐ หลังจากนั้นบันทึกของโจวต้ากวนก็ถูกตีพิมพ์เผยแพร่ตามลำดับอย่างกว้างขวางจนถึงปัจจุบัน ในที่นี้ผู้วิพากษ์จะนำเนื้อหาในบันทึกของโจวต้ากวนตอนที่ ๑๖–๒๐ แปลโดย เฉลิม ยงบุญเกิด ฉบับตีพิมพ์พ.ศ.๒๕๑๐ มาวิพากษ์เพื่อประเมินคุณค่าและความน่าเชื่อถือโดยเปรียบเทียบกับเนื้อหาจากการแปลของของเปลลิโอต์ , ดาร์ครี พอลและสมิธีส์




3#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-5-3 10:29 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย รามเทพ เมื่อ 2013-5-3 10:30

๒.คุณค่าบันทึกของโจวต้ากวน
บันทึกของโจวต้ากวนได้รับยกย่องว่า “ถูกต้องแม่นยำ” เมื่อตรวจสอบกับหลักฐานโบราณคดี เรื่องราวของกัมพูชาเคยปรากฏอยู่ในบันทึกของหยวนจางและอี้จิงประมาณพุทธศตวรรษที่๑๒-๑๓ แต่ยังไม่ปรากฏฉบับแปลภาษาไทย เอกสารของโจวต้ากวนจึงมีคุณค่ายิ่งต่อการศึกษาประวัติศาสตร์กัมพูชา
ระหว่างต้นถึงกลางพุทธศตวรรษที่๑๙ จีนยังเรียก “กัมพูชา” ว่า “เจิ้นหล่า(Tchen-la) หรือ (Tchan-la)” อย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่๑๒ และระบุว่าชาวกัมพูชาเรียกอาณาจักรของตนว่า “กานป้อจื้อ (Kan-po-tche)”

เฉลิม ยงบุญเกิดยังคงรักษาคำว่า“เสียน-หลอ”เอาไว้บางตอน “เสียน-หลอ” หมายถึง “กรุงศรีอยุธยา” โดยเปลลิโอต์ระบุว่า เมื่อ “หลอหู(ละโว้)” ยึดครอง “เสียน” ใน พ.ศ.๑๘๙๒แล้ว จีนเรียกรัฐใหม่นี้ว่า “เสียน-หลอ” หรือ “เสียน-หลอหู” เขาถอดคำว่า “เสียนหลอ” ในภาษาจีนเป็น “สยาม-Siam” แต่ในบทวิจารณ์ท้ายฉบับแปล เปลลิโอต์ระบุว่า “สยาม” กับ “เสียน-หลอ” มีความหมายเดียวกัน ขณะที่ฉบับแปลของ เจ. กิลแมน ดาร์ครี พอล และฉบับแปลของสมิธีส์ กลับละเลยคำว่า “เสียน-หลอ” โดยต่างก็ใช้คำว่า” Siam” ตามเปลลิโอต์

๓.บันทึกของโจวต้ากวนตอนที่๑๖–๒๐

๓.๑ ตอนที่๑๖ การตาย
คนที่ตายไม่มีโลงใส่ศพ แต่เขาใช้สิ่งของจำพวกเสื่อห่อหุ้มแล้วคลุมด้วยผ้า ในการเคลื่อนศพใช้ธงทิวและดนตรีนำขบวน อนึ่งเขาใช้ถาดสองใบใส่ข้าวตอกโปรยปรายไปตามถนนหนทาง เขาหามศพไปยังนอกเมือง ณ สถานที่เปลี่ยวไม่มีผู้อยู่อาศัย ทิ้งศพไว้ที่นั่นแล้วพากันกลับ รอคอยให้นกแร้ง สุนัขและปศุสัตว์มากิน ชั่วครู่เดียวก็หมดสิ้น เขาก็จะพูดว่า บิดามารดาของเขามีบุญ จึงได้รับการตอบแทนเช่นนั้น ถ้าสัตว์เหล่านั้นไม่กินหรือกินแต่ไม่หมด เขาก็จะกลับพูดว่า บิดามารดาของเขาทำบาปจึงได้เป็นเช่นนั้น ในปัจจุบันได้มีการเผาศพกันขึ้นบ้างแล้ว มักจะเป็นบุคคลที่มีเชื้อสายมาจากชาวจีน ในการตายของบิดามารดาไม่มีเครื่องแต่งกายไว้ทุกข์ แต่บุตรชายนั้นจะโกนศีรษะ บุตรหญิงจะตัดผมที่เหนือหน้าผากให้เป็นวงขนาดเท่าอีแปะเป็นการไว้ทุกข์ให้ ส่วนพระเจ้าแผ่นดินนั้นได้รับการฝังไว้ภายในปราสาท แต่ข้าพเจ้าไม่ทราบว่าเขาฝังพระศพหรือฝังพระอัฐิ

๓.๒ การวิพากษ์บันทึกของโจวต้ากวน ตอนที่๑๖ การตาย
เนื้อหาที่นำมาวิพากษ์มี ๔ ประเด็น ดังนี้

ประเด็นที่ ๑. เฉลิม ยงบุญเกิด กล่าวถึงข้อความในบันทึกว่า “คนที่ตายไม่มีโลงใส่ศพ แต่เขาใช้สิ่งของจำพวกเสื่อห่อหุ้มแล้วคลุมด้วยผ้า ในการเคลื่อนศพใช้ธงทิวและดนตรีนำขบวน” ซึ่งไม่ได้ระบุว่า โจวต้ากวนเปรียบเทียบขบวนแห่ศพของชาวจีนกับขบวนแห่ศพของชาวกัมพูชา ขณะที่เปลลิโอต์ระบุชัดกว่าว่า “..ที่หัวขบวนแห่ศพพวกเขาก็ใช้ธงทิวและดนตรีนำหน้าเช่นกัน..-..Dans le cortège funéraire, ces gens aussi emploient en tête drapeaux, -bannières et musique. ”

สมิธีส์แปลเหมือนเปลลิโอต์ คือใช้ “also “ และดาร์ครี พอลขยายประโยคนี้ด้วยข้อความว่าว่า “Like ourselve ” คือ มีการเคลื่อนศพโดยใช้ธงทิวและดนตรีนำขบวนเหมือน(งานศพ)ของ(บ้าน)เรา “ อย่างชัดเจน

ประเด็นที่ ๒ เฉลิม ยงบุญเกิด กล่าวถึงข้อความในบันทึกว่า “อนึ่ง เขาใช้ถาดสองใบใส่ข้าวตอกโปรยปรายไปตามถนนหนทาง” ซึ่งอ่านแล้วเห็นภาพของข้าวตอกจริงๆ แต่คำแปลในฉบับอื่นๆกลับไม่สอดคล้องกับพื้นฐานทางวัฒนธรรม กล่าวคือ เปลลิโอต์ใช้คำว่า de riz grillé ซึ่งแปลว่า ข้าวคั่ว, ข้าวย่าง ดาร์ครี พอล ใช้คำว่า fried rice ซึ่งน่าแปลว่า ข้าวผัด ข้าวทอด ขณะที่สมิธีส์ใช้คำว่า toasted rice ส่วนAd Reinhardt (1961, p.58), ใน Khmer Sculpture กลับใช้ คำว่า burnt rice (ข้าวเผา) เลยทีเดียว
4#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-5-3 10:30 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ประเด็นที่๓ เฉลิม ยงบุญเกิด กล่าวถึงข้อความในบันทึกว่า “เขาหามศพไปยังนอกเมือง ณ สถานที่เปลี่ยวไม่มีผู้อยู่อาศัย ทิ้งศพไว้ที่นั่นแล้วพากันกลับ รอคอยให้นกแร้ง สุนัขและปศุสัตว์มากิน” สำนวนแปลของเฉลิม ยงบุญเกิดตรงนี้ อาจทำให้เข้าใจว่า ทิ้งศพไว้แล้วพากันกลับไปเลย นอกจากนี้ยังแปลให้เห็นว่าชาวกัมพูชา “ทิ้งศพให้สัตว์ต่างๆและปศุสัตว์ (สัตว์เลี้ยง- ซึ่งอาจหมายถึงพวกวัว ควาย สุนัข สุกร เป็ด ไก่)”มากินศพ ซึ่งไม่น่าจะเป็นไปได้
ดาร์ครี พอล แปลได้ความชัดเจนกว่าว่า “(ทิ้งศพไว้ที่นั่น แล้วกลับบ้านหลังจากที่ได้เฝ้าดูจนกระทั่งบรรดาแร้ง สุนัขและสัตว์ร้ายอื่นๆมารุมแทะศพแล้ว..” ( …, abandon it there, and go home after seeing that the vultures, dogs, and other beasts are coming to devour it….)

ประเด็นที่ ๔ เฉลิม ยงบุญเกิด กล่าวถึงข้อความในบันทึกว่า “ส่วนพระเจ้าแผ่นดินนั้นได้รับการฝังไว้ภายในปราสาท แต่ข้าพเจ้าไม่ทราบว่าเขาฝังพระศพหรือฝังพระอัฐิ” ฉบับแปลของเฉลิม ยงบุญเกิดต้องการจะถ่ายทอดคำบอกเล่าของโจวต้ากวนว่า พระศพหรือพระอัฐิของพระเจ้าแผ่นดินถูกฝังไว้ภายในเทวสถานหรือปราสาทหิน ส่วนฉบับของเปลลิโอต์ระบุว่า “Les souverains, eux, sont enterérs dans des tours,…” ซึ่งแปลว่าปราสาทเช่นกัน ฉบับแปลของดาร์ครี พอล ใช้คำว่า stupa แปลว่า “พระสถูป/ เจดีย์ “ สมิธีส์ใช้คำว่า towers ซึ่งแม้จะสื่อให้นึกถึงหอสูง กระนั้นก็ดี คำว่า “tower” ถูกนิยามใช้กับ “ปราสาทหิน”อย่างกว้างขวางแล้ว เพียงแต่ในวัฒนธรรมเขมรนั้น ยังไม่ปรากฏหลักฐานการฝังพระบรมศพศพหรือบรรจุพระบรมอัฐิในปราสาทหิน

๓.๓ ตอนที่๑๗ การทำนาทำไร่
โดยทั่วๆไปนั้น เขาทำนาเก็บเกี่ยวได้ถึงปีละ ๓ หรือ ๔ ครั้ง เพราะทั้ง ๔ ฤดู เหมือนกับเดือน ๕ เดือน ๖ (ของจีน) พวกเขาไม่เคยรู้ว่าน้ำค้างแข็งและหิมะเป็นอย่างไร ในผืนแผ่นดินนั้นมีฝนตกครึ่งปี อีกครึ่งปีไม่มีฝนเลย ตั้งแต่เดือน ๔ ถึงเดือน ๙ (ของจีน) มีฝนตกทุกวัน ตกบ่ายฝนจะเบาบางลง ระดับน้ำในทะเลสาบจะสูงขึ้นมาตั้ง ๗ หรือ ๘ จ้าง ต้นไม้ใหญ่ๆจมน้ำหมด จะเหลือก็แต่ยอดพ้นน้ำเท่านั้น ผู้คนที่อาศัยอยู่ตามริมน้ำก็จะอพยพขึ้นไปอยู่หลังเขาจนหมดสิ้น เดือน ๑๐ ถึงเดือน ๓ ไม่มีฝนแม้แต่หยดเดียว ในทะเลสาบจะใช้เดินเรือได้ก็แต่เฉพาะเรือเล็ก ตรงที่ลึกที่สุดก็ไม่เกิด ๓ ถึง ๕ เชียะ ผู้คนก็อพยพกลับลงมาอีก พวกชาวนาชาวไร่หมายเอาเวลาที่ข้าวสุกนั้น น้ำจะท่วมมาถึงที่แห่งใดก็ลงมือปลูกตามลักษณะของพื้นที่ ในการไถนาเขามิได้ใช้วัว เครื่องมือพวกคันไถ ผาล เคียว จอบ แม้จะคล้ายกันกับของเราบ้างเล็กน้อย แต่การสร้างย่อมแตกต่างกันไป อนึ่ง ยังมีนาที่ไม่มีคนทำกินประเภทหนึ่งไม่ต้องปลูกหว่าน มักจะมีน้ำสูงถึง ๑ จ้าง ต้นข้าวก็งอกสูงตามน้ำขึ้นไปด้วย ข้าพเจ้าคิดว่าเป็นข้าวที่แปลกออกไปชนิดหนึ่ง

การให้ปุ๋ยแก่ผืนนาและการปลูกผัก เขาไม่ใช้ของโสโครก โดยตั้งรังเกียจว่าเป็นของที่ไม่สะอาด คนจีนที่อยู่ในประเทศนั้นไม่ยอมบอกเล่าเรื่องการใส่ปุ๋ยด้วยอุจจาระหรือมูลสัตว์เลย เพราะเกรงว่าจะได้รับการดูถูกดูหมิ่น สองหรือสามครอบครัวจะร่วมกันขุดหลุมขึ้นหลุมหนึ่ง เอาหญ้าคลุมไว้ เมื่อหลุมนั้นเต็มแล้วก็ถมเสีย แล้วขุดหลุมใหม่ต่อไปอีก เมื่อนั่งส้วมหลุมเสร็จแล้วต้องลงไปในสระเพื่อชำระล้าง เขาใช้แต่มือซ้ายเท่านั้น ส่วนมือขวานั้นใช้บริโภคอาหาร เมื่อเขาเห็นคนจีนเข้าส้วมแล้วใช้กระดาษเช็ดก็พากันหัวเราะเยาะ ถึงขนาดไม่ปรารถนาให้ย่างก้าวเข้าธรณีประตูเรือน พวกผู้หญิงที่ยืนถ่ายปัสสาวะก็มีเหมือนกัน ช่างน่าขันเสียนี่กระไร

๓.๔ การวิพากษ์บันทึกของโจวต้ากวนตอนที่๑๗ การทำนาทำไร่
เนื้อหาที่นำมาวิพากษ์มี ๙ ประเด็น ดังนี้

ประเด็นที่๑ เฉลิม ยงบุญเกิดระบุว่า “เพราะทั้ง ๔ ฤดู เหมือนกับเดือน ๕ เดือน ๖ (ของจีน) พวกเขาไม่เคยรู้ว่าน้ำค้างแข็งและหิมะเป็นอย่างไร ในผืนแผ่นดินนั้นมีฝนตกครึ่งปี อีกครึ่งปีไม่มีฝนเลย” การแปลเช่นนี้อาจทำให้เข้าใจผิดว่ากัมพูชามี ๔ ฤดู ฉบับแปลของเปลลิโอต์ระบุชัดว่า “..(ฤดูกาล) ตลอดทั้งปีมีลักษณะคล้ายคลึงกับเดือน ๕และเดือน ๖ ของเรา… “ (..cest que toute l’année resemble a nos cinquième et sixième lunes …)

ประเด็นที่๒ เฉลิม ยงบุญเกิดระบุว่า “ตั้งแต่เดือน ๔ ถึงเดือน ๙ (ของจีน) มีฝนตกทุกวัน ตกบ่ายฝนจะเบาบางลง เปลลิโอต์ และ ดาร์ครี พอล แปลตรงกันว่า “มีฝนตกทุกวันในตอนบ่าย….Il pleut tous les jours l’aprés-midi. = ..there is rain every afternoon. ” เท่านั้น
5#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-5-3 10:32 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ประเด็นที่๓ เฉลิม ยงบุญเกิดระบุว่า “ระดับน้ำในทะเลสาบจะสูงขึ้นมาตั้ง ๗ หรือ ๘ จ้าง ต้นไม้ใหญ่ๆจมน้ำหมด จะเหลือก็แต่ยอดพ้นน้ำเท่านั้น” โดย อธิบายว่า ๑ จ้าง = ๓.๓๓ เมตร ดังนั้น ๗-๘ จ้าง ก็เท่ากับ ๒๓.๓๑–๒๖.๖๔ เมตร) ส่วนเปลลิโอต์ระบุว่าระดับน้ำสูงถึง 7-8 toises เมื่อ ๑ ตัวส์ = ๖ ฟุต ดังนั้น ๗-๘ ตัวส์ = ๔๒–๔๘ ฟุต(ประมาณ๑๒.๖ –๑๔.๔เมตร)
ฉบับแปลของดาร์ครี ปอล ระบุว่าระดับน้ำสูง 7-8 fathoms เมื่อ ๑ ฟาธอม เท่ากับ ๑ ตัวส์ ดังนั้นระดับน้ำที่ระบุในฉบับแปลภาษาอังกฤษและภาษาฝรั่งเศสจึงเท่ากัน (คือ ๑๒.๖–๑๔.๔ เมตร)

ประเด็นที่ ๔ เฉลิม ยงบุญเกิดระบุว่า “อนึ่ง ยังมีนาที่ไม่มีคนทำกินประเภทหนึ่งไม่ต้องปลูกหว่าน มักจะมีน้ำสูงถึง ๑ จ้าง ต้นข้าวก็งอกสูงตามน้ำขึ้นไปด้วย ข้าพเจ้าคิดว่าเป็นข้าวที่แปลกออกไปชนิดหนึ่ง” ซึ่งให้ความหมายไม่ชัดเจนเช่นเดียวกับเปลลิโอต์ ที่ระบุว่า “ ..une espèce du champs naturels où le riz pousse toujours san qu’on le sème …”

ฉบับแปลของดาร์ครี ปอล ระบุว่า “ …a certain kind of land where the rice grows naturally ..” สอดคล้องกับสมิธีส์ซึ่งกล่าวถึง “ Source of natural field.. ” หมายถึง “นาข้าวป่า” อย่างชัดเจน
ประเด็นที่ ๕. เฉลิม ยงบุญเกิดกล่าวถึง “ การให้ปุ๋ยแก่ผืนนาและการปลูกผัก เขาไม่ใช้ของโสโครก โดยตั้งรังเกียจว่าเป็นของที่ไม่สะอาด” ในกรณีนี้เขาเว้นที่จะแปลว่า ปุ๋ยดังกล่าวเป็น “อุจจาระคน” ทำให้อาจเข้าใจว่าเป็นปุ๋ยมูลสัตว์ได้ แต่ถ้าเป็นมูลสัตว์หรือปุ๋ยหมักอื่นๆ ก็ไม่น่าส่งผลทำให้ชาวกัมพูชาตั้งข้อรังเกียจพวกเขามากมายขนาดนั้น

ประเด็นนี้ เปลลิโอต์ แปลว่า “…คนเหล่านี้ไม่เคยใช้อุจจาระ……(..,ces gens ne font aucun usage de fumier …) แต่ดาร์ครี ปอลระบุว่าเป็น “อุจจาระคน( human dung ”..)
ตรงกับสมิธีส์ ซึ่งระบุถึง “Night soil หรือ อุจจาระคน”

ประเด็นที่๖ เฉลิม ยงบุญเกิดแปลว่า “คนจีนที่อยู่ในประเทศนั้นไม่ยอมบอกเล่าเรื่องการใส่ปุ๋ยด้วยอุจจาระหรือมูลสัตว์เลย เพราะเกรงว่าจะได้รับการดูถูกดูหมิ่น” ซึ่งก็ยังไม่กล่าวชัดๆว่าเป็น “ขี้คน” ส่วนเปลลิโอต์ กล่าวซ้ำอีกครั้งอย่างชัดเจนว่า ชาวจีนในกัมพูชาใช้อุจจาระคนทำปุ๋ยเช่นเดียวกับในประเทศจีน
ประเด็นที่ ๗ เฉลิม ยงบุญเกิด กล่าวว่า “สองหรือสามครอบครัวจะร่วมกันขุดหลุมขึ้นหลุมหนึ่ง เอาหญ้าคลุมไว้ เมื่อหลุมนั้นเต็มแล้วก็ถมเสีย แล้วขุดหลุมใหม่ต่อไปอีก” ซึ่งหากพิจารณาให้ดีจะเห็นว่าเป็นการแปลขั้นตอนที่สลับกับข้อเท็จจริง

ทั้งเปลลิโอต์และดาร์ครี ปอล และ สมิธีส์ กล่าวถึงขั้นตอนการกลบส้วมหลุมอย่างเป็นเหตุเป็นผลมากกว่า โดยดาร์ครี ปอลระบุว่า “เมื่อหลุมเต็มก็กลบแล้วปลูกหญ้าคลุม(…when it is full, they cover over and sow to grass .. ”)

6#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-5-3 10:33 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ประเด็นที่ ๘ เฉลิม ยงบุญเกิด กล่าวว่า “เมื่อนั่งส้วมหลุมเสร็จแล้วต้องลงไปในสระเพื่อชำระล้าง เขาใช้แต่มือซ้ายเท่านั้นส่วนมือขวานั้นใช้บริโภคอาหาร” ซึ่งน่าสงสัยว่าอาจจะไม่จริง แม้ทั้ง ๔ ฉบับจะแปลตรงกัน แต่การขับถ่ายของมนุษย์ขึ้นอยู่กับปัจจัยเชิงสุขภาพและโภชนาการไม่ได้ถ่ายง่ายๆเยี่ยงสัตว์ จึงขอเสนอว่าชาวกัมพูชาคงจะ “ล้างก้น” หลังขับถ่ายทันทีภายในส้วมเลย มิได้ลงไปล้างในสระหลังถ่ายเสร็จ เพราะอุจจาระอาจหยดเปรอะผ้านุ่งได้ และเข้าใจสุขนิสัยนี้ได้จากการกล่าวถึงการใช้มือซ้ายในชำระล้างหลังถ่ายเสร็จ
การที่ชาวกัมพูชาแสดงมองว่า การใช้กระดาษเช็ดก้นของชาวจีนเป็นเรื่องน่ารังเกียจ แสดงให้เห็นว่า พวกเขาจะต้องรู้สึกว่าวัฒนธรรมของตนเหนือกว่าชาวจีน แต่การที่ผู้มีวัฒนธรรมสูงกว่าจะ “ขี้” ในส้วมหลุม แล้วค่อยเดินไป “ล้างก้น” ในสระ คงเป็นเพียงตลกร้ายที่โจวต้ากวนอาจจงใจบันทึกไว้ เพื่อโต้ตอบชาวกัมพูชาที่รังเกียจการใช้กระดาษเช็ดก้น(ดูประเด็นที่ ๙)

ประเด็นที่๙ เฉลิม ยงบุญเกิด กล่าวว่า “เมื่อเขาเห็นคนจีนเข้าส้วมแล้วใช้กระดาษเช็ด ก็พากันหัวเราะเยาะ ถึงขนาดไม่ปรารถนาให้ย่างก้าวเข้าธรณีประตูเรือน” จากจุดจะเห็นว่า คนจีนมีวัฒนธรรมที่ล้ำสมัยมาแล้วนับพันปี แต่คุณภาพของกระดาษชำระคงไม่สามารถเทียบได้กับปัจจุบัน ดังนั้นจึงเสี่ยงต่อการเป็นริดสีดวงทวารมากกว่าชาวกัมพูชา

พิพิธภัณฑ์วิถีชีวิตของชาวญี่ปุ่น มีการแสดงภูมิปัญญาด้านสุขภัณฑ์โบราณ ด้วยการเหลาไม้ไผ่อย่างประณีตสำหรับใช้ในส้วม คล้ายกับวัฒนธรรมของหญิงชาววังไทยในอดีต ส่วนชาวอีสานและเหนือเมื่อขับถ่ายในป่าเคยมีผู้บอกว่า มีการใช้ “ไม้แก้งขี้” เพียงแต่ว่าชาวเหนือหรือชาวอีสานน่าจะมีความอึดมากกว่าชาวญี่ปุ่นหรือสาวชาววัง เพราะอาจใช้ไม้อะไรก็ได้

๓.๕ ตอนที่๑๘ ภูเขาและแม่น้ำ
ตั้งแต่ย่างเท้าเข้าเขตเมืองเจิ้นผู่มา มีแต่หมู่ไม้หนาทึบเต็มไปทั่วทุกแห่ง แม่น้ำสายยาวและลำคลองใหญ่ยาวเหยียดติดต่อกันไปหลายร้อยลี้ ต้นไม้แก่ๆและต้นหวายลำยาวขึ้นเป็นดงทึบ ปกคลุมครึ้มไปทั่ว เสียงร้องของสัตว์ดิรัจฉานก็ระงมไปทั่วทั้งดง เมื่อไปถึงครึ่งทางของคลองจึงเริ่มเห็นทุ่งนารกร้างว่างเปล่า ไม่มีต้นไม้แม้แต่หย่อมเดียว แลไปสุดสายตาก็เห็นแต่หญ้ารก ต้นข้าวและข้าวเดือน มีวัวกระทิงเป็นจำนวนร้อยจำนวนพันไปชุมนุมกันอยู่ ณ สถานที่แห่งนั้นเป็นฝูง อนึ่ง ยังมีที่ลาดเต็มไปด้วยกอไผ่ยาวเหยียดติดต่อกันไปหลายร้อยลี้ระหว่างดงไผ่กิ่งไผ่ขึ้นแข็งสลับกันและมีหนาม ส่วนหน่อไม้ก็มีรสขมมาก ทั้งสี่ด้านมีแต่ภูเขาสูง
7#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-5-3 10:35 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย รามเทพ เมื่อ 2013-5-3 10:36

๓.๖ การวิพากษ์บันทึกของโจวต้ากวน ตอนที่๑๘ ภูเขาและแม่น้ำ

เนื้อหาที่นำมาวิพากษ์มี ๔ ประเด็น ดังนี้..


ประเด็นที่ ๑ เฉลิม ยงบุญเกิด กล่าวว่า “เสียงร้องของสัตว์ดิรัจฉานก็ระงมไปทั่วทั้งดง” ซึ่งเป็นการกล่าวถึงสัตว์แบบรวมๆ ส่วนเปลลิโอต์ จำแนกประเภทของสัตว์ว่า “Les cris des oiseaux et des animaux” ตรงกับดาร์ครี ปอล และสมิธีส์ (Cries of birds and animals…..”

ประเด็นที่ ๒ เฉลิม ยงบุญเกิดกล่าวว่า “เมื่อไปถึงครึ่งทางของคลองจึงเริ่มเห็นทุ่งนารกร้างว่างเปล่า ไม่มีต้นไม้แม้แต่หย่อมเดียว” การที่ใช้คำว่า “คลอง” อาจจะทำให้เข้าใจว่าเป็นทางน้ำธรรมชาติขนาดเล็ก ดาร์ครี ปอลและสมิธีส์ใช้คำว่า “estuary” ซึ่งแปลว่า “ปากแม่น้ำ” จึงทำให้รู้สึกได้ถึงความใหญ่โตของพื้นที่ปากแม่น้ำมากกว่าคำว่า “คลอง”

ประเด็นที่ ๓ เฉลิม ยงบุญเกิด กล่าวว่า “แลไปสุดสายตาก็เห็นแต่หญ้ารก ต้นข้าวและข้าวเดือย” ประเด็นนี้มิได้ระบุว่าเป็นข้าวป่า จึงทำให้อาจเข้าใจว่าข้าวบางส่วนเป็นข้าวปลูก ขณะที่เปลลิโอต์ ดาร์ ปอลและสมิธีส์ แปลว่า “…เห็นแต่ต้นข้าวป่า(ข้าวฟ่าง)เต็มไปหมด” ซึ่งชี้ให้เห็นว่าเป็นธัญพืชที่เกิดจากธรรมชาติ

ประเด็นที่ ๔ เฉลิม ยงบุญเกิด กล่าวว่า “มีวัวกระทิง เป็นจำนวนร้อยจำนวนพันไปชุมนุมกันอยู่ ณ สถานที่แห่งนั้นเป็นฝูง” ขณะที่ฉบับอื่นระบุว่าเป็น “ควายป่า” ซึ่งในทางวิชาการนักโบราณคดีสามารถจำแนกกระดูกของสัตว์กีบประเภทวัวกระทิงและควายป่าออกจากกันได้ชัดเจน ตรงกับการรับรู้ทางวัฒนธรรมในภาษาไทย แม้ในทางสัตวศาสตร์จะถือว่ากระทิงและควายป่าเป็นสัตว์ประเภทเดียวกัน ทั้งนี้เปลลิโอต์ ดาร์ครี ปอลและสมิธีส์ ใช้ว่า “ควายป่า” ตรงกัน คือ “Les buffles” “sauvages” และ “Wild buffaloes”


๓.๗ ตอนที่๑๙ ผลิตผล

ในภูเขามีต้นไม้ที่ประหลาดมากมาย ในบริเวณที่ไม่มีต้นไม้เป็นที่ๆแรดกับช้างมาชุมนุมและแพร่พันธุ์กันอยู่ มีนกที่มีค่าหายากและสัตว์ประหลาดนับจำนวนไม่ถ้วน ผลิตผลที่ละเอียดก็มีขนนกกระเต็น งาช้าง นอแรต ขี้ผึ้ง ส่วนผลิตผลที่หยาบมีกรักขี กระวาน รง ครั่ง น้ำมันกระเบา

นกกระเต็นนั้นจับค่อนข้างยาก ในดงทึบมีบึงและในบึงมีปลา นกกระเต็นบินออกจากดงเพื่อหาปลาเป็นอาหาร ชาวพื้นเมืองเอาใบไม้คลุมร่างของตนไว้แล้วนั่งอยู่ริมน้ำ มีกรงใส่นกกระเต็นตัวเมียไว้หนึ่งตัวเพื่อเป็นนางนกต่อ และมือถือร่างแหเล็กๆไว้ คอยให้นกมาก็ครอบร่างแหลงไป วันหนึ่งๆจับได้ ๓ หรือ ๕ ตัว บางวันทั้งวันจับไม่ได้เลยก็มีเหมือนกัน

มีแต่พวกชาวบ้านที่อยู่ตามภูเขาอันเปล่าเปลี่ยวเท่านั้นที่มีงาช้าง ช้างล้มเชือกหนึ่งได้งาเพียง ๑ คู่ คำเล่าลือแต่เดิมที่ว่าช้างผลัดงาปีละครั้งนั้นไม่เป็นความจริง งาที่ได้มาจากช้างซึ่งล้มด้วยการเอาหอกซัดนั้นเป็นงาชั้นดี ชั้นรองลงมาได้แก่งาที่ได้จากช้างที่ล้มเอง และคนไปถอดเอามาโดยทันทีทันใด ส่วนงาของช้างที่ล้มตายในภูเขามานานปีนั้นเป็นงาชั้นเลว

ขี้ผึ้งมีอยู่ตามต้นไม้ที่แห้งตายในหมู่บ้าน เป็นขี้ผึ้งที่ได้จากผึ้งที่มีเอวเล็กเหมือนแมงกระชอนหรือมด ชาวพื้นเมืองไปเอารวงก็ได้มา เรือลำหนึ่งอาจบรรทุกได้ ๒ หรือ ๓ พันรวง รวงใหญ่ๆรวงหนึ่งหนัก ๓๐ หรือ ๔๐ ชั่ง รวงเล็กก็หนักไม่ต่ำกว่า ๑๘ หรือ ๑๙ ชั่ง

นอแรดที่มีสีขาวและมีลายเป็นนอชั้นดี ที่มีสีดำเป็นนอชั้นเลว
กรักขีขึ้นอยู่ในป่าทึบ ชาวพื้นเมืองตัดฟันเอามาได้ค่อนข้างจะเปลืองแรงอยู่ เพราะเป็นแก่นไม้ เปลือกนอกสีขาว ไม้นั้นหนา ๘ หรือ ๙ นิ้ว(จีน) ต้นขนาดเล็กก็ไม่ต่ำกว่า ๔ หรือ ๕ นิ้ว(จีน)

กระวานนั้นพวกชาวป่าปลูกไว้บนภูเขาทั้งสิ้น
รงเป็นยางของต้นไม้ชนิดหนึ่ง ชาวพื้นเมืองใช้มีดฟันต้นไว้ล่วงหน้า ๑ ปี ปล่อยให้ยางไหลหยดออกมาแล้วจึงจะเริ่มเก็บในปีต่อไป

ครั่งนั้นเกิดตามกิ่งไม้ของต้นไม้ชนิดหนึ่ง เหมือนกับกาฝากของต้นหม่อน เอามาได้ค่อนข้างยาก
น้ำมันกระเบาได้จากผลไม้ของต้นไม้ใหญ่ รูปร่างเหมือนลูกมะพร้าวแต่กลม ภายในมีเมล็ดอยู่หลายสิบเมล็ด
พริกไทก็มีที่นั่นเหมือนกัน ขึ้นพันไปกับต้นหวาย ลูกดกเป็นพวงๆเหมือนกับลูกต้นลุเฉ่า จำพวกที่สดและสีเขียวอมฟ้าก็ยิ่งมีรสเผ็ดจัด
8#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-5-3 10:37 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย รามเทพ เมื่อ 2013-5-3 10:38

๓.๘การวิพากษ์บันทึกของโจวต้ากวน ตอนที่ ๑๙ ผลิตผล
เนื้อหาที่นำมาวิพากษ์มี ๘ ประเด็น ดังนี้
ประเด็นที่ ๑ เฉลิม ยงบุญเกิด กล่าวว่า “ผลิตผลที่ละเอียด ก็มีขนนกกระเต็น งาช้าง นอแรต ขี้ผึ้ง” ประเด็นนี้เฉลิม ยงบุญเกิดอาจแปลโดยคำนึงถึงต้นฉบับมากเกินไป จนทำให้อาจต้องตั้งคำถามว่า “ผลิตผลที่ละเอียด” หมายถึงอะไร

เปลลิโอต์และสมิธีส์แปลตรงกัน “Les produits des valeurs(ผลผลิตที่มีค่า หรือ Products of value” ส่วนดาร์ครี ปอล ถ่ายทอดให้เข้าใจได้ง่ายกว่าว่า “Most sought after products” ซึ่งหมายถึง “สินค้าหายากที่สุด”

ประเด็นที่ ๒ เฉลิม ยงบุญเกิด กล่าวว่า “ส่วนผลิตผลที่หยาบ มีกรักขี กระวาน รง ครั่ง น้ำมันกระเบา” การใช้คำว่า “ผลิตผลที่หยาบ” ก็มีลักษณะเช่นเดียวกับประเด็นข้างต้น เปลลิโอต์ใช้ produits ordinaires หรือผลผลิตธรรมดาๆ ตรงกับสมิธีส์ คือ “ …the ordinary products..” ส่วนดาร์ครี ปอลใช้คำว่า “More common place articles

ประเด็นที่ ๓ เฉลิม ยงบุญเกิด กล่าวว่า “นกกระเต็นนั้นจับค่อนข้างยาก ในดงทึบมีบึงและในบึงมีปลา นกกระเต็นบินออกจากดง เพื่อหาปลาเป็นอาหาร” ซึ่งแม้จะระบุว่า “ในดงทึบมีบึงและในบึงมีปลา” แต่เนื้อความกลับขัดแย้งกันเองว่า “นกกระเต็นบินออกจากดงเพื่อหาปลาเป็นอาหาร” ประเด็นนี้ดาร์ครีแปลว่า “นกกระเต็นบินโฉบอยู่เหนือป่า …(the kingfishers hovers over the forest .)” นั่นคือ มิได้บินออกจากป่าเพื่อหาปลาเป็นอาหาร เพราะในป่ามีบึงและในบึงก็มีปลาอยู่แล้ว

ประเด็นที่ ๔ เฉลิม ยงบุญเกิด กล่าวว่า “มีแต่พวกชาวบ้านที่อยู่ตามภูเขาอันเปล่าเปลี่ยว เท่านั้น” อันที่จริงควรจะใช้คำว่า “ชาวเขา” แทนคำว่า “ชาวบ้าน” เพราะพวกเขาไม่ได้อยู่ในหมู่บ้านแต่อยู่ตามป่าเขา
เปลลิโอต์ แปลว่า “Ce sont les habitants des mantagnes. -พวกที่อยู่ตามภูเขา .” ส่วนดาร์ครี ปอล แปลว่า “Dwellers in the remote fastness of the mountains.-ชาวเขาที่อยู่ห่างไกลโพ้นออกไป .” คล้ายๆกับสมิธีส์

ประเด็นที่๕ ในฉบับแปลของเฉลิม ยงบุญเกิด มีวลีสำคัญวลีหนึ่ง คือ “ที่มีงาช้าง” ซึ่งแปลเหมือนเปลลิโอต์ แต่ดาร์ครี ปอล แปลว่า “หา(ผลิต)งาช้างมาได้ -bring out the elephant tusks”
ขณะที่สมิธีส์ แปลว่า “รวบรวมงาช้าง -collect elephant tusks” ซึ่งน่าจะเข้ากันได้กับบริบททางวัฒนธรรมการเก็บของป่าล่าสัตว์ของชาวป่า

ประเด็นที่๖ เฉลิม ยงบุญเกิด กล่าวว่า “ขี้ผึ้งมีอยู่ตามต้นไม้ที่แห้งตายในหมู่บ้าน เป็นขี้ผึ้งที่ได้จากผึ้งที่มีเอวเล็กเหมือนแมงกระชอนหรือมด ชาวพื้นเมืองไปเอารวงก็ได้มา เรือลำหนึ่งอาจบรรทุกได้ ๒ หรือ ๓ พันรวง รวงใหญ่ๆรวงหนึ่งหนัก ๓๐ หรือ ๔๐ ชั่ง รวงเล็กก็หนักไม่ต่ำกว่า๑๘หรือ ๑๙ ชั่ง” ประเด็นนี้ เปลลิโอต์ และสมิธีส์ แปลตรงกับเฉลิ มยงบุญเกิด แต่ดาร์ครี พอลกล่าวแปลกออกไปว่า “ชาวพื้นเมืองรู้ดีว่าจะเก็บผึ้งมาได้อย่างไร (The natives know how to gather it. )”

ประเด็นที่๗ เฉลิม ยงบุญเกิด กล่าวว่า “นอแรดที่มีสีขาวและมีลายเป็นนอชั้นดี ที่มีสีดำเป็นนอชั้นเลว” ตรงกับเปลลิโอต์ คือ นอแรดที่มีสีขาวและออกลาย (branche et veinée )เป็นนอที่มีราคาแพงที่สุด ส่วนนอสีดำ ( noire)จะมีราคาต่ำลงมา

แต่การจะหานอแรดสีขาวหรือนอแรดเผือกเป็นเรื่องยากมาก แต่ถ้าจะหานอแรดสีซีด หรือจางลงมาหน่อยก็คงพอหาได้ โดยดาร์ครี พอลใช้คำว่า นอแรด “สีซีดและออกลาย (light-colored and veined) และสีเข้ม(dark ones)” สมิธีส์ก็ใช้คำว่า “สีซีดออกลาย (Pale veined ) และสีเข้ม (dark ones)”

ประเด็นที่ ๘ เฉลิม ยงบุญเกิด กล่าวว่า “น้ำมันกระเบาได้จากผลไม้ของต้นไม้ใหญ่ รูปร่างเหมือนลูกมะพร้าวแต่กลม ภายในมีเมล็ดอยู่หลายสิบเมล็ด” ประเด็นนี้เปลลิโอต์ระบุว่า “ผลกระเบามีลักษณะคล้ายผลมะพร้าว (coco)” ทำให้สมิธีส์ระบุเช่นกัน แต่ดาร์ครี พอล กลับแปลว่า “ผลกระเบามีลักษณะคล้ายผลโกโก้(cocoa)” ซึ่งน่าจะถูกต้องกว่า
9#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-5-3 10:39 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย รามเทพ เมื่อ 2013-5-3 10:41

๓.๙ ตอนที่๒๐ การค้าขาย
การค้าขายของชาวพื้นเมืองนั้น สตรีเป็นผู้มีความจัดเจนทั้งสิ้น ฉะนั้นเมื่อคนจีนไปถึงที่นั่นต้องเริ่มด้วยการมีภรรยา เพื่อถือเอาประโยชน์จากความถนัดจัดเจนในการซื้อขายของสตรีเหล่านั้น ทุกวันเขาจะติดตลาด ๑ ครั้ง เริ่มตั้งแต่ ๔ โมงเช้าถึงบ่ายโมงก็เลิก ตลาดหามีร้านรวงซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยไม่ แต่เขาใช้พวกเสื่อที่ฟูปุกปุยลาดลงกับพื้น แต่ละคนมีที่ทางของตนเอง ข้าพเจ้าได้ยินมาว่า ต้องเสียค่าเช่าที่ให้แก่ทางการ ในการซื้อขายเล็กๆน้อยๆเขาใช้ธัญชาติ สินค้ามาจากเมืองจีน ถัดขึ้นมาก็ใช้ผ้า ถ้าเป็นการซื้อขายรายใหญ่ๆ ก็ใช้เงินตรา
โดยทั่วไปชาวพื้นเมืองเป็นคนที่เรียบๆเป็นที่สุด ถ้าเขาเห็นคนจีนก็ค่อนข้างจะเกรงกลัวและเรียกว่า “พุทธ” เมื่อเขาเห็นคนจีนมาจะหมอบลงทำเบญจางคประดิษฐ์ เมื่อเร็วๆนี้ก็มีคนหลอกต้มข่มเหงคนจีนเหมือนกัน ทั้งนี้ เนื่องจากมีคนจีนไปที่นั่นมากนั่นเอง

๓.๑๐ การวิพากษ์บันทึกของโจวต้ากวน ตอนที่๒๐ การค้าขาย
เนื้อหาที่นำมาวิพากษ์มี ๖ ประเด็น ดังนี้

ประเด็นที่๑ เฉลิม ยงบุญเกิด กล่าวว่า “ทุกวันเขาจะติดตลาด ๑ ครั้ง เริ่มตั้งแต่ ๔ โมงเช้าถึงบ่ายโมงก็เลิก” ซึ่งต่างจากฉบับอื่น ทำให้ไม่แน่ใจว่า ตลาดจะเริ่มขายตอนตีสี่ หรือ ๑๐ โมงเช้ากันแน่ ถ้าตลาดเริ่มติดตั้งแต่ ๔ โมงเช้า(ตี๔)ถึงบ่ายโมง ก็แสดงว่ามีการค้าขายกันนานประมาณ ๙ ชั่วโมง แต่ถ้าเปิดตลาดเวลา ๑๐ โมงเช้าถึงบ่ายโมง ก็จะค้าขายกันเพียง ๓ ชั่วโมง

เปลิโอต์ ดาร์ครี พอลและสมิธีส์ กล่าวตรงกันว่า ตลาดติดตั้งแต่ ๖ โมงเช้าถึงเที่ยง รวมประมาณ ๖ ชั่วโมง
ประเด็นที่ ๒ เฉลิม ยงบุญเกิด กล่าวว่า “ตลาดหามีร้านรวงซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยไม่ แต่เขาใช้พวกเสื่อที่ฟูปุกปุยลาดลงกับพื้น” ฉบับอื่นๆระบุแต่เพียงว่ามีการใช้เสื่อธรรมดาปูพื้นเท่านั้น

ประเด็นที่ ๓ เฉลิม ยงบุญเกิด กล่าวว่า “แต่ละคนมีที่ทางของตนเอง ข้าพเจ้าได้ยินมาว่า ต้องเสียค่าเช่าที่ให้แก่ทางการ ในการซื้อขายเล็กๆน้อยๆ เขาใช้ธัญชาติ สินค้ามาจากเมืองจีน” ประเด็นนี้ ฉบับแปลของเฉลิม ยงบุญเกิดน่าจะตกคำสันธาน “และ/ หรือ ” ดังนั้นประโยคที่ถูกต้องน่าจะเป็นดังนี้ “เขาใช้ธัญชาติ (และ/ หรือ) สินค้าจากเมืองจีน”

ฉบับอื่นๆใช้ประโยคที่มีความหมายเดียวกันว่า “ In small transactions barter is carried on with rice, cereals and Chinese objects ….” สื่อให้เห็นความหมายของการแลกเปลี่ยนสินค้าแบบ “Barter Trade”
ประเด็นที่ ๔ เฉลิม ยงบุญเกิด กล่าวว่า “ถัดขึ้นมาก็ใช้ผ้า ถ้าเป็นการซื้อขายรายใหญ่ๆ ก็ใช้เงินตรา” โดยใช้คำรวมว่า “เงินตรา” ขณะที่เปลลิโอต์ ดาร์ครี พอลและสมิธีส์ระบุชัดเจนว่า ในการค้าขายระดับใหญ่ๆใช้ทองคำหรือเงินในการแลกเปลี่ยน(..in big deals, gold and silver is used)

ประเด็นที่ ๕ เฉลิม ยงบุญเกิด กล่าวว่า “ถ้าเขาเห็นคนจีนก็ค่อนข้างจะเกรงกลัว” ซึ่งก็มีใจความคล้ายๆกันทุกฉบับ โดยเปลลิโอต์กล่าวว่า “…beaucoup de crainte respectueuse (นับถือแบบกลัวๆ)…“ ดาร์ครี พอลกล่าวถึง “ …timid respect…(นับถือแบบอายๆ)” สมิธีส์ระบุว่า“ ..much respectful awe.(นับถือมากแบบกลัวๆเกรงๆ)”

ประเด็นที่ ๖ เฉลิม ยงบุญเกิด กล่าวว่า “….และเรียกว่า “พุทธ” เมื่อเขาเห็นคนจีนมาจะหมอบลงทำเบญจางคประดิษฐ์” ประเด็นนี้แปลได้สอดรับกันมาก แต่น่าสงสัยว่าจะเป็นไปได้หรือไม่ แม้ฉบับอื่นๆจะกล่าวว่า ชาวกัมพูชาเรียกคนจีนด้วยความเกรงกลัวว่า “พุทธ” เช่นกัน แต่ขณะที่เฉลิม ยงบุญเกิดระบุถึงการทำเบญจางคประดิษฐ์ ฉบับอื่นระบุแต่เพียงว่า “ทรุดตัวหมอบราบลงกับพื้น” การแสดงเช่นนี้คงเกิดจากความกลัวอำนาจของราชสำนักจีนที่ซึมลึกในใจของชาวกัมพูชา เนื่องจากพระเจ้าชัยวรมันที่๘ ทรงปฏิเสธเคยอำนาจของจีนและโปรดฯ ให้จับราชทูตของติมูร์ ข่าน พระราชนัดดาของพระเจ้ากุบไลข่านขังไว้ จนเป็นสาเหตุทำให้จีนส่งทูตมาเกลี้ยกล่อมให้สวามิภักดิ์ดังเดิม

๔.สรุปและข้อคิดเห็น
การศึกษาบันทึกว่าด้วยขบธรรมเนียมประเพณีของเจินละจากต้นฉบับภาษาจีนของโจวต้ากวนโดยตรงเป็นเรื่องที่ยุ่งยากและสลับซับซ้อนเนื่องจากข้อจำกัดทางด้านภาษา แต่การวิพากษ์บันทึกของโจวต้ากวนตอนที่ ๑๖–๒๐ ทั้งจากฉบับภาษาไทย ภาษาฝรั่งเศส และภาษาอังกฤษdHทำให้สามารถประเมินความน่าเชื่อถือของเอกสารข้างต้นได้อย่างน่าสนใจถึง ๓๒ ประเด็น

แม้เฉลิม ยงบุญเกิดจะเชี่ยวชาญภาษาจีน แต่โดยพื้นฐานท่านอาจมิได้ถูกฝึกฝนมาทางประวัติศาสตร์ งานแปลบันทึกของโจวต้ากวนจึงอาจมีข้อบกพร่องบ้าง แต่มิอาจจะปฏิเสธได้ว่างานแปลฉบับนี้มีคุณค่ายิ่งในในฐานะที่เป็นเครื่องมือสอบทานกับฉบับแปลภาษาอังกฤษและภาษาฝรั่งเศส ความคลาดเคลื่อนที่ถูกตรวจสอบพบเกิดจากกระบวนการวิพากษ์เอกสาร ซึ่งเป็นกระบวนการที่มีประสิทธิภาพในการประเมินคุณค่าหลักฐานประวัติศาสตร์ก่อนจะนำไปอ้างอิง และบันทึกของโจวต้ากวนแปลโดยเปลลิโอต์ ดาร์ครี พอลและสมิธีส์ ต่างก็เป็นเครื่องมือที่ค่อนข้างมีคุณภาพในการวิพากษ์บันทึกของโจวต้ากวนฉบับแปลของเฉลิม ยงบุญเกิดเช่นกัน

บรรณานุกรม
เฉลิม ยงบุญเกิด, บันทึกว่าด้วยขนบธรรมเนียมประเพณีของเจินละ, พระนคร: ชวนพิศ, ๒๕๑๐.
พิเศษ เจียจันทร์พงษ์, “พัฒนาการของแว่นแคว้นในดินแดนประเทศไทย” เอกสารการสอนชุดวิชาประวัติศาสตร์ไทย หน่วยที่๑-๘ , สาขาวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, กรุงเทพฯ : ชวนพิมพ์, ๒๕๔๓
ศิลปากร,กรม,พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาเล่ม๑, กรุงเทพฯ: อมรการพิมพ์, ๒๕๑๖.
สุจิตต์ วงษ์เทศ(บรรณาธิการ) . ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ บันทึกว่าด้วยขนบธรรมเนียมประเพณีของเจินละ แปลโดยเฉลิม ยงบุญเกิด. (พิมพ์ครั้งที่๒). กรุงเทพฯ: สำนัก
พิมพ์มติชน, ๒๕๔๓.

Bibliography
Paul, J. Gilman D’Arcy , Notes on the Customs of Cambodia, Bangkok: Social Science Association Press, 1967
Pelliot, Paul , Memoires sur les Coutumes du Cambodge de Tcheou Ta-Kouan Version Nouvelle suivie d’un Commentaire Inacheve, Paris: Librarire d’Amerique et d’Orient Adrien - Maisonneuve, 1954
Michael Smithies, The Customs of Cambodia by Zhou Daguan (Chou Ta – kuan), Bangkok: The Siam Society, 2001
Reinhardt, Ad (1961), Khmer Sculpture, Carnegie Press, New York.

จัดการความรู้และเผยแพร่โดย พิทยะ ศรีวัฒนสาร Bidya Sriwattanasarn


ขอบคุณที่มาบทความ..http://bidyarcharn.blogspot.com/2010/06/blog-post.html


ขอบคุณครับ
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้