ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

พระองค์ที่ ๕ : สมเด็จพระสังฆราช (ด่อน)

[คัดลอกลิงก์]
11#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-4 08:09 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ด้วยเหตุผลดังกล่าวแล้ว จึงเป็นเหตุให้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงมีพระราชดำริปรับปรุงแก้ไขวัตรปฏิบัติของพระสงฆ์ให้ถูกต้องตามพระธรรมวินัย
ดังที่ได้ทรงศึกษาจากท่าน ผู้รู้และพิจารณาสอบสวนกับพระไตรปิฏก
ที่ได้ทรงศึกษาจนเชี่ยวชาญแตกฉาน  โดยพระองค์เองทรงประพฤตินำขึ้นก่อน
แล้วภิกษุสามเณรอื่นๆ ที่นิยมเลื่อมใสก็ประพฤติตาม

ในระยะแรกที่ทรงพระราชดำริปรับปรุงแก้ไขวัตรปฏิบัติของพระสงฆ์ดังกล่าวนั้น
ยังเสด็จประทับอยู่ ณ วัดมหาธาตุ จึงทรงรู้สึกไม่สะดวกพระราชหฤทัย
เพราะวัดพระมหาธาตุเป็นที่สถิตของสมเด็จพระสังฆราช
ทั้งทรงเป็นพระราชอุปัธยาจารย์ของพระองค์ด้วย

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงย้ายไปประทับ
วัดสมอราย (วัดราชาธิวาส) อันเป็นวัดที่อยู่นอกกำแพงพระนคร
ทั้งนี้ก็คงเพราะความที่ทรงเคารพในสมเด็จพระสังฆราช
และเพื่อจะได้ไม่เป็นที่ขัดข้องพระทัยของสมเด็จพระสังฆราช
เกี่ยวกับการปฏิบัติของพระองค์นั่นเอง

เมื่อเสด็จไปประทับ ณ วัดสมอราย แล้ว ก็ทรงปรับปรุงแก้ไข
วัตรปฏิบัติของพระสงฆ์ตามแนวแห่งพระราชดำริได้สะดวกนั้น
กระทั่งมีผู้ปฏิบัติตามเป็นจำนวนเพิ่มขึ้นตามลำดับจนกลายเป็นพระสงฆ์หมู่ใหญ่
ซึ่งได้รับการขนานนามในเวลาภายหลังต่อมาว่า
คณะธรรมยุติกนิกาย หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า พระสงฆ์ธรรมยุต

พระราชดำริในการปรับปรุงแก้ไขพระศาสนาของ
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น มิได้จำกัดอยู่เฉพาะ
เรื่องวัตรปฏิบัติของพระสงฆ์เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการศึกษาพระปริยัติธรรม
และการเทศนาสั่งสอนพระพุทธศาสนาแก่พุทธบริษัทด้วย
จึงนับเป็นช่วงแห่งประวัติศาสตร์ที่สำคัญช่วงหนึ่งของพระพุทธศาสนาในประเทศไทย


พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงทะนุบำรุงพระศาสนา
12#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-4 08:10 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
จัดสมณทูตไทยไปลังกา

สมเด็จพระสังฆราช (ด่อน) ทรงพระชนม์สืบมาถึงรัชกาลที่ ๓
และในปีสุดท้ายแห่งพระชนมชีพของ สมเด็จพระสังฆราช (ด่อน)
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงพระราชดำริเห็นพร้อมกันกับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ซึ่งทรงผนวชอยู่และทรงครองวัดบวรนิเวศวิหาร อยู่ในขณะนั้นว่า

การพระศาสนาในลังกาจะเป็นอย่างไร
ไม่ได้ไปสืบสวนให้ทราบความช้านานหลายปีมาแล้ว
อีกประการหนึ่ง หนังสือพระไตรปิฏกที่ฉบับของไทยยังบกพร่อง
ควรจะสอบสวนกับฉบับลังกามีอยู่หลายคัมภีร์

ถ้าแต่งพระภิกษุสงฆ์ไทยเป็นสมณทูตไปลังกาอีกสักครั้งหนึ่ง เห็นจะเป็นการดี
ทรงพระราชดำริเห็นพร้อมกันเช่นนี้
จึงโปรดเกล้าฯ ให้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงเลือกสรรพระภิกษุที่จะส่งไปลังกา
และมีสมณลิขิตไปถึงสังฆนายกตามพระราชประสงค์

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเลือกได้พระภิกษุสงฆ์ธรรมยุติกา ๕ รูป
พร้อมด้วยพระภิกษุสามเณรชาวลังกาอีก ๕ รูป
ซึ่งเดินทางเข้ามากรุงเทพฯ เมื่อ ๒ ปีก่อน
และเดินทางกลับบ้านเมืองของตนในคราวนี้ด้วยได้ออกเดินทางจากกรุงเทพฯ
โดยเรือหลวง ชื่อจินดาดวงแก้ว เมื่อวันอาทิตย์ เดือน ๒ ขึ้น ๑ ค่ำ ปีขาล
ตรงกับวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๓๘๕ สมณทูตชุดนี้เดินทางกลับถึงกรุงเทพฯ
ในเดือน ๖ ปีเถาะ พ.ศ. ๒๓๘๖ พร้อมทั้งได้ยืมคัมภีร์พระไตรปิฎกมาด้วย ๔๐ คัมภีร์

ตามเรื่องราวที่ปรากฏแสดงว่า

การสมณทูตไทยไปลังกาครั้งนี้ยังประโยชน์แก่
พระพุทธศาสนาในประเทศไทยเป็นอย่างมาก
เพราะทำให้คณะสงฆ์ไทยมีโอกาสได้คัมภีร์พระไตรปิฎกจากลังกา
มาสอบสวนกับพระไตรปิฏกของไทยในส่วนที่บกพร่องสงสัย
ให้สมบูรณ์ครบถ้วนยิ่งขึ้น เป็นเหตุให้พุทธศาสนิกชนชาวไทย
ได้คัมภีร์พระไตรปิฎกที่เป็นหลักฐานสำคัญ
ของพระพุทธศาสนาครบถ้วนสมบูรณ์สืบมาดังที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน

13#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-4 08:10 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ชำระความพระสงฆ์ครั้งใหญ่

ในตอนปลายสมัยของ สมเด็จพระสังฆราช (ด่อน) นี้
ได้มีการชำระความพระสงฆ์ที่ประพฤติอนาจารครั้งใหญ่
ดังมีรายละเอียดบันทึกไว้ในพระราชพงศาวดาร ดังนี้

“เมื่อ ณ เดือน ๑ เดือน ๒ เดือน ๓ เกิด
ชำระความพระสงฆ์ที่ประพฤติอนาจารมิควร
ได้ตัวชำระสึกเสียก็มาก ประมาณ ๕๐๐ เศษ ที่หนีไปก็มาก
พระราชาคณะเป็นปาราชิกก็หลายรูป”


นับเป็นการชำระสะสางอลัชชีในคณะสงฆ์ครั้งใหญ่ที่สุด
เท่าที่ปรากฏในประวัติการณ์ของคณะสงฆ์ ในยุคกรุงรัตนโกสินทร์

ทั้งเป็นสิ่งแสดงให้เห็นถึงความเสื่อมโทรมของคณะสงฆ์ในยุคนั้น
ในขณะเดียวกันก็เป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นถึง
ความเอาพระทัยในการคณะสงฆ์ของ สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินอย่างจริงจัง
ที่ทรงอุตสาหะชำระสะสางการพระศาสนา
และการคณะสงฆ์ให้บริสุทธิบริบูรณ์อย่างเต็มพระกำลังสติปัญญาอยู่เสมอ
14#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-4 08:10 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
พระอวสานกาล

สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ด่อน)
ทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช เป็นเวลานานถึง ๑๙ ปี ๖ เดือน
ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๓๖๕  ก็สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ ๒๓ กันยายน พุทธศักราช ๒๓๘๕
ตรงกับวันศุกร์ แรม ๔ ค่ำ เดือน ๑๐  ปีขาล ในรัชกาลที่ ๓
มีพระชนม์มายุได้ ๘๑ พรรษา พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  
โปรดเกล้าฯ ให้ทำเมรุผ้าขาวแล้วพระราชทานเพลิงพระศพ
เมื่อวันเสาร์ ขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๔ ตรงกับวันที่ ๑๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๓๘๖
15#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-4 08:11 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

ศาลาการเปรียญ วัดราชาธิวาส สร้างด้วยไม้สักทองทั้งหลัง


ประวัติและความสำคัญของวัดราชาธิวาส

วัดราชาธิวาส หรือ วัดราชาธิวาส ราชวรวิหาร
เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดราชวรวิหาร
เป็นวัดที่สร้างมานานแล้ว สันนิษฐานว่าสร้างสมัยกรุงละโว้
เดิมชื่อว่า วัดสมอราย รัชกาลที่ ๕ ทรงพระราชวิจารณ์ว่า
คำว่า “สมอ” นี้ มาจากภาษาเขมร ว่า “ถมอ”
ที่แปลว่า “หินถมอราย” ซึ่งหมายถึง “หินเรียงราย”

เมื่อรัชกาลที่ ๕ ขึ้นครองราชย์ ทรงปรารภว่า
วัดสมอรายเป็นที่ประทับระหว่างทรงผนวช
ของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ ๒)
และของกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์
จึงพระราชทานนามเสียใหม่ว่า วัดราชาธิวาสวิหาร ในจุลศักราช ๑๒๑๓
แต่ในนามเอกสารต่างๆ เรียกวัดนี้ว่า วัดราชาธิวาส
ตลอดรัชกาลที่ ๔ และ ๕ จนถึงรัชกาลปัจจุบัน

ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงอุปสมบท
แล้วเสด็จมาประทับที่วัดนี้ กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์
เมื่อทรงดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนเสนานุรักษ์
ทรงผนวชแล้วก็เสด็จมาประทับด้วยพระองค์เอง
ซึ่งต่อมาภายหลังดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระนารายณ์รามาธิบดี
พระเจ้ากรุงกัมพูชา ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ

และเมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๓ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ามงกุฎสมมติเทววงศ์
ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ หลังจากประทับอยู่ ณ วัดมหาธาตุ
ทรงปฎิบัติอุปัชฌายวัตรตามพระวินัยแล้วก็เสด็จมาจำพรรษาที่วัดสมอราย
จนถึงสิ้นราชกาลที่ ๒ และยังประทับที่วัดนี้จนตลอดพรรษา
แล้วเสด็จประทับวัดมหาธาตุบ้าง วัดสมอรายบ้าง
จนถึง พ.ศ. ๒๓๗๒ จึงประทับที่วัดสมอรายเป็นการถาวร
โดยกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ
ทรงทราบแล้วจึงรับสั่งให้ปลูกพระตำหนักถวาย

16#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-4 08:12 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

พระอุโบสถวัดราชาธิวาส
ออกแบบโดยสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์



ในรัชกาลที่ ๓ ขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประทับอยู่ที่วัดนี้ด้วย
ได้มีการปฏิสังขรณ์ทั้งพระอาราม เมื่อรัชกาลที่ ๔ ขึ้นครองราชย์ก็มีการปฏิสังขรณ์ต่อ
ครั้นต้นรัชกาลที่ ๕ ก็มีการปฏิสังขรณ์อีกใน ร.ศ. ๑๒๓
โปรดเกล้าๆ ให้รื้อและสร้างเสนาสนะขึ้นใหม่หลายสิ่ง คือ
พระอุโบสถ ศาลาการเปรียญ พระตำหนักพระจอมเกล้า หอสวดมนต์
ศาลาคู่หน้าพระอุโบสถ ปัจจุบันรื้อแล้ว
หมู่กุฏิจัดเป็น ๓ คณะ เขื่อนก่อด้วยอิฐ พระเจดีย์ดัดแปลงจากของ รั้วเสาหิน
เรียกว่าเสาอินทขีล ภูเขา และสระน้ำซึ่งถมระหว่าง พ.ศ. ๒๔๖๒-๒๔๖๘
หลังจากนั้นก็มีการปฏิสังขรณ์เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
17#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-4 08:12 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

พระอุโบสถ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์


วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์
สถิตย์สถานของสมเด็จพระสังฆราช ๔ พระองค์


วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ ราชวรมหาวิหาร
เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร
ประชาชนทั่วไปนิยมเรียกชื่อว่า “วัดมหาธาตุ”
เป็นวัดโบราณสร้างมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมชื่อ “วัดสลัก” หรือ “วัดฉลัก”

ครั้นเมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ตั้งเมืองธนบุรีเป็นราชธานี
ได้สร้างพระนครขึ้นทั้ง ๒ ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา
วัดสลักอยู่ในพระนครด้านฝั่งตะวันออก
จึงเป็นพระอารามหลวงและเป็นที่พำนัก
ของพระราชาคณะมาตลอดสมัยกรุงธนบุรีเป็นราชธานี

เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑
ได้ย้ายพระนครข้ามฟากมาตั้งฝั่งตะวันออกฝ่ายเดียว
พระราชวังที่สร้างใหม่มีวัดอยู่ใกล้ชิด ๒ วัด คือ วัดโพธาราม
หรือวัดพระเชตุพนในปัจจุบัน อยู่ชิดพระบรมมหาราชวัง
ทางทิศใต้ของพระราชวังบวรสถานมงคล
(ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,
พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ และโรงละครแห่งชาติ)

เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
ได้สถาปนาวัดสลักขึ้นใหม่เมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๖ และได้ขนานนามว่า “วัดนิพพานาราม”
ครั้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๓๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
ทรงปรารภพร้อมด้วยสมเด็จพระอนุชาธิราช
ให้มีการสังคายนาพระไตรปิฎกที่วัดนิพพานาราม
เพราะเป็นวัดที่ตั้งอยู่ระหว่างพระราชวังหลวงกับวังหน้า
สะดวกในการเสด็จทั้ง ๒ พระองค์ แต่ก่อนจะถึงกำหนดการทำสังคายนา
ได้โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนนามวัดใหม่ว่า “วัดพระศรีสรรเพชญดาราม”

อนึ่ง การทำสังคายนาพระไตรปิฎก ที่วัดพระศรีสรรเพชญาดารามครั้งนั้น
นับว่าเป็นครั้งแรกในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์
ได้ปรารภเหตุที่คัมภีร์พระไตรปิฎกที่สร้างขึ้นเป็นฉบับหลวง
ยังวิปลาสคลาดเคลื่อนเป็นอันมาก
เนื่องจากหนังสือที่หามาเป็นต้นฉบับ เป็นหนังสือที่สร้างขึ้นตามหัวเมืองไม่ได้ฉบับดี
สมควรประชุมสงฆ์ตรวจชำระพระไตรปิฎกฉบับหลวงที่ได้สร้างไว้แล้วนั้นถูกต้อง

การสังคายนา เริ่มเมื่อเดือน ๑๒ ขึ้น ๑๕ ค่ำ พ.ศ. ๒๓๓๑ ถึงกลางเดือน ๕ พ.ศ. ๒๓๓๒
เป็นเวลา ๕ เดือน จึงสำเร็จ สมเด็จพระสังฆราช (ศรี) วัดระฆัง
ซึ่งเป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์แรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นประธาน
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
และสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ทรงเป็นองค์บรมราชูปถัมภก

ครั้นสังคายนาเสร็จแล้ว จึงโปรดเกล้าฯ ให้จารึกจำลองไว้เป็น
พระไตรปิฎกฉบับหลวงขึ้นใหม่ เรียกว่า “ฉบับทองทึบ” หรือ “ฉบับทองใหญ่”
เก็บรักษาไว้เป็นหลักฐานในหอพระพระมนเฑียรธรรม
วัดพระศรีรัตนศาสดารามจนถึงปัจจุบัน
18#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-4 08:14 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

พระประธาน ณ พระอุโบสถวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์


ครั้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๔๖ สมเด็จกรมพระราชวังบวรฯ ได้สวรรคต
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ
ให้ประชุมพระราชาคณะสอบไล่พระปริยัติธรรมพระภิกษุสามเณร
ที่วัดพระศรีสรรเพชรญดาราม
ในโอกาสนี้ จึงโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนนามวัดใหม่ขึ้นอีกครั้งเป็น “วัดมหาธาตุ”

ครั้นถึงปี พ.ศ. ๒๓๔๙ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕
ทรงบริจาคพระราชทานทรัพย์อันเป็นส่วนของ
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ
ซึ่งสวรรคตเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๔๗ อุทิศพระราชทานให้ปฏิสังขรณ์วัดมหาธาตุ
ให้เจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้นแล้ว แล้วโปรดเกล้าฯ ให้เพิ่มสร้อยต่อนามวัด
เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชนั้นว่า
“วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์”  ซึ่งใช้มาตราบจนทุกวันนี้

วัดมหาธาตุฯ นั้นเป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราช
ตั้งแต่องค์ที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
ถัดมาจากสมเด็จพระสังฆราช (ศรี) วัดระฆัง ซึ่งสิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. ๒๓๓๗
เป็นลำดับมาถึงรัชกาลที่ ๔ จำนวน ๔ พระองค์ คือ

สมเด็จพระสังฆราช (ศุข) พระองค์ที่ ๒
สมเด็จพระสังฆราช (มี) พระองค์ที่ ๓
สมเด็จพระสังฆราช  (สุก ญาณสังวร) พระองค์ที่ ๔
สมเด็จพระสังฆราช (ด่อน)  พระองค์ที่ ๕



พระเจดีย์ทองศรีรัตนมหาธาตุ
ณ พระมณฑป วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์



นอกจากนี้ วัดมหาธาตุยังเคยเป็นที่ประทับและศึกษาพระธรรมวินัย
ของสมเด็จบูรพมหากษัตริยาธิราชในอดีต เมื่อทรงผนวช
คือ ครั้งเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๖๐ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ได้ทรงผนวชเป็นสามเณรที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
แล้วเสด็จมาประทับอยู่ ณ วัดมหาธาตุ ๗ เดือน จึงทรงลาผนวช

ต่อมาปี พ.ศ. ๒๓๖๗ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ มีพระชันษาครบอุปสมบท
จึงได้ทรงผนวชเป็นพระภิกษุสงฆ์
โดยมี สมเด็จพระสังฆราช (ด่อน) เป็นพระอุปัชฌาย์
หลังจากประทับแรมอยู่ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ๑ คืนแล้ว
จึงได้เสด็จมาประทับอยู่ ณ วัดสมอราย (วัดราชาธิวาส) เป็นเวลา ๑ ปี
แล้วเสด็จกลับมาประทับอยู่ที่วัดมหาธาตุอีก ๕ ปี พ.ศ. ๒๔๓๗-๒๓๗๒

    

รวบรวมและเรียบเรียงมาจาก ::
หนังสือชุดพระเกียรติคุณ สมเด็จพระสังฆราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ :
สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ด่อน)  
วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์, สุเชาวน์ พลอยชุม เรียบเรียง, มหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๔๑.
http://www.dharma-gateway.com/
http://mahamakuta.inet.co.th/  
http://www.watsrakesa.com/


กระทู้ในบอร์ดเก่า
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=13297                                                                                       
...................................................................................

ที่มา http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=22&t=44308

ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้