ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 3095
ตอบกลับ: 3
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

พระพุทธโลกนาถ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์)

[คัดลอกลิงก์]


พระพุทธโลกนาถ
พระประธานในพระวิหารทิศตะวันออกมุขหลัง
วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์)


“วัดโพธิ์” หรือ “วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร”
เดิมชื่อว่า “วัดโพธาราม” เป็นวัดโบราณเก่าแก่
ซึ่งราษฎรสร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี
แม้ไม่ปรากฏหลักฐานการสร้างวัดโพธารามที่แน่ชัด
แต่สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างขึ้นหลังจากปีพุทธศักราช ๒๒๓๑
ในรัชกาลสมเด็จพระเพทราชาต่อกับรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
เป็นวัดราษฎร์ขนาดเล็กอยู่ในเขตตำบลบางกอก ปากน้ำเจ้าพระยา เมืองธนบุรี
ชาวบ้านเรียกกันทั่วไปว่า “วัดโพธิ์” มาจนถึงกระทั่งทุกวันนี้

ภายใน พระวิหารทิศตะวันออกมุขหลัง บริเวณด้านหน้าพระอุโบสถ
วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์)
มีพระประธานเป็นพระพุทธรูปยืนประดิษฐานอยู่ นามว่า “พระพุทธโลกนาถ” หรือนามทางการว่า
“พระพุทธโลกนาถ ราชมหาสมมตวงศ องคอนันตญาณสัพพัญญู สยัมภูพุทธบพิตร”
2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-3 22:18 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
พระพุทธโลกนาถซึ่งเป็นพระพุทธรูปยืนปางห้ามญาติองค์นี้มีขนาดสูง ๒๐ ศอก
เดิมประดิษฐานอยู่ที่วัดพระศรีสรรเพชญ์ ในพระราชวังพระนครศรีอยุธยา
แต่เมื่อกรุงแตก วัดต่างๆ ถูกเผาทำลายรวมถึงวัดพระศรีสรรเพชญ์ด้วย
ดังนั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ ๑
ทรงสถาปนาวัดพระเชตุพนฯ ขึ้น จึงโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญ
พระพุทธโลกนาถจากวัดพระศรีสรรเพชญ์ ในพระราชวังพระนครศรีอยุธยา
มาประดิษฐานเป็นพระประธานในพระวิหารทิศตะวันออกมุขหลังจนปัจจุบัน

พระพุทธรูปพระองค์นี้มีพระนามมาแต่เดิมว่า “พระโลกนาถสาสดาจารย์”
เข้าใจว่าเป็นพระพุทธรูปซึ่งพระเจ้าแผ่นดินครั้งกรุงศรีอยุธยาทรงสร้างขึ้น
แต่จะได้สร้างขึ้นเมื่อใดนั้นมิได้ปรากฏ เดิมประดิษฐานอยู่ ณ
วัดพระศรีสรรเพชญ์ ในพระราชวังพระนครศรีอยุธยา
เมื่อพระนครศรีอยุธยาเสียแก่พม่าฆ่าศึก เมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๐
ครั้งนั้นพวกพม่าได้เก็บทรัพย์สมบัติและผู้คนไปเมืองพม่าเสียเป็นอันมาก
และยังซ้ำเผาพระมหาปราสาทพระราชมณเฑียรและวัดพระศรีสรรเพชญ์
ตลอดถึงบ้านเรือนราษฎรในพระนครนั้นด้วย
ในเวลาที่พระนครศรีอยุธยาเสียแก่พม่าฆ่าศึกนั้น
เจ้าตากจึงได้ไปตั้งรวบรวมรี้พลที่เมืองจันทบุรี
แล้วยกกองทัพเข้ามาชิงพระนครศรีอยุธยาได้จากพวกพม่า
แต่ในเวลานั้นหัวเมืองไทยที่มิได้เสียแก่พม่านั้น ต่างเมืองต่างก็ยังตั้งเป็นอิศรแก่กันอยู่
เจ้าตากคงจะเห็นว่าพระนครศรีอยุธยาใหญ่โตมาก
กำลังรี้พลที่มีอยู่ไม่พอที่จะตั้งรักษาต่อสู้ฆ่าศึกได้จึงลงมาตั้งเมืองธนบุรีขึ้นเป็นราชธานี

แต่เรื่องที่ปรากฏในหนังสือพระราชพงศาวดารนั้นว่า
“เมื่อเจ้าตากได้พระนครศรีอยุธยาจากพม่าฆ่าศึกแล้ว
ก็ดำริที่จะบำรุงพระนครให้ปรกติดีดังเก่า จึงได้เข้าไปพักแรมอยู่ ณ พระที่นั่งทรงปืน
อยู่คืนหนึ่ง จึงนิมิตรฝันว่าพระมหากษัตริย์แต่ปางก่อนมาขับไล่เสียบมิให้อยู่”


ดังนี้ เจ้าตากจึงได้อพยพผู้คนพลเมืองลงมาตั้งเมืองธนบุรีขึ้นเป็นราชธานี
เมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๑ ตกลงคงปล่อยให้พระราชวังในพระนครศรีอยุธยา
เป็นพระราชวังร้างตั้งแต่นั้นมา ส่วนพระโลกนาถสาสดาจารย์ซึ่งประดิษฐานอยู่
ณ วัดพระศรีสรรเพชญ์ และต้องเพลิงเผาผลาญตั้งแต่ครั้งเสียพระนครแก่พม่าฆ่าศึกนั้น
ก็ย่อมชำรุดปรักหักพังทั้งต้องตรำฝนทนแดดอยู่ในที่นั้นช้านานตลอดสมัยรัชกาลกรุงธนบุรี
ครั้นถึงกรุงรัตนโกสินทรฯ พระบาทสมเด็จฯ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
ทรงสถาปนาวัดพระเชตุพนฯ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๓๒ ครั้งนั้น จึงโปรดฯ
ให้เชิญพระโลกนาถสาสดาจารย์ลงมาจากวัดพระศรีสรรเพชญ์
ทรงปฏิสังขรณ์สำเร็จแล้ว ทรงบรรจุพระบรมธาตุแล้วเชิญประดิษฐาน
เป็นพระประธานในพระวิหารทิศตะวันออกมุขหลังดังปรากฏอยู่บัดนี้
3#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-3 22:19 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
อนึ่ง พระโลกนาถสาสดาจารย์พระองค์นี้
ครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยานั้นชรอยมหาชนจะนิยมกันว่า
เป็นพระพุทธรูปซึ่งทรงอำนาจอันศักดิ์สิทธิ์อะไรสักอย่างหนึ่ง
จึงเป็นมูลเหตุสืบมาในชั้นหลัง คือเจ้าจอมแว่นพระสนมเอกในรัชกาลที่ ๑
กราบทูลความปรารถนาใคร่จะอธิษฐานขอบุตร
จึงโปรดฯ ให้สลักศิลาเป็นรูปกุมารกุมารี
ประดับไว้ที่ฝาผนังพระวิหารเป็นพะยานปรากฏอยู่ทุกวันนี้
และมีโคลงจารึกไว้กับรูปกุมารกุมารีดังต่อไปนี้
     
รจนาสุดารัตนแก้ว กุมารี หนึ่งฤา
เสนอธิบายบุตรี ลาภได้
บูชิตเชฐชินศรี        เฉลาฉลัก หินเฮย
บุญส่งจงลุได้         เสร็จด้วยดังถวิล
กุมารหนึ่งพึงฉลักตั้ง ติดผนัง
สถิตย์อยู่ทิศเบื้องหลัง        พระไว้
คุณเสือสวาดิหวัง แสวงบุตร ชายเอย
เฉลยเหตุธิเบศร์ให้ สฤษดิแสร้งแต่งผล

     
โคลงจารึกไว้กับรูปกุมารกุมารีทั้ง ๒ บทนี้
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระดำรงราชานุภาพทรงพระวินิจฉัยไว้ดังต่อไปนี้

  
พระนิพนธ์
   
โคลงจารึกไว้กับภาพกุมารในวิหารพระโลกนาถนั้น
มักเข้าใจกันว่าเป็นพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จฯ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
ข้าพเจ้าได้พิจารณาดูเห็นเป็นแน่ว่า เป็นพระนิพนธ์สมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส
จึงสันนิษฐานว่า ในรัชกาลที่ ๑ เมื่อเจ้าจอมแว่นพระสนมเอก ซึ่งเรียกกันว่าคุณเสือ
กราบทูลความปรารถนาใคร่จะอธิษฐานขอบุตรนั้น โปรดฯ ให้ทำแต่รูปกุมารติดไว้
เรื่องเดิมของรูปกุมารเป็นแต่บอกเล่ารู้กันมา ชรอยพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
จะทรงพระราชดำริเกรงคนทั้งหลายภายหลังเห็นว่า รูปกุมารไม่เกี่ยวข้องกับพระศาสนา
จะรื้อทำลายเสีย จึงอาราธนาสมเด็จกรมพระปรมานุชิตฯ
ให้ทรงพระนิพนธ์โคลงบอกเรื่องของภาพกุมารไว้
เห็นเป็นในคราวเดียวกับเมื่อทรงขนานนามพระพุทธรูปในพระวิหารทิศ
สมเด็จกรมพระปรมานุชิตฯ จึงทรงใช้นามในโคลงว่าคุณเสือ
ตามซึ่งพระเจ้าลูกเธอในพระบาทสมเด็จฯ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงเรียกก่อน
แล้วคนทั้งหลายเรียกตามจนชินปากต่อมา
ถ้าเป็นพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จฯ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
ก็จะหาทรงใช้นามว่าคุณเสือเช่นนั้นไม่ อันนี้เป็นหลักสำคัญในข้อวินิจฉัย


ครั้นถึง รัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ถวายสร้อยพระนามพระโลกนาถสาสดาจารย์ว่า
“พระพุทธโลกนาถ ราชมหาสมมตวงศ องคอนันตญาณสัพพัญญู สยัมภูพุทธบพิตร”
ดังนี้ แล้วโปรดฯ ให้จารึกพระนามลงในแผ่นศิลาประดับไว้ที่ฝาผนังดังปรากฏอยู่ทุกวันนี้
4#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-3 22:20 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้




“พระพุทธโลกนาถ” ในพระวิหารทิศตะวันออกมุขหลัง


คัดลอกเนื้อหาบางตอนมาจาก ::
วัดประจำรัชกาลที่ ๑ : วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=24&t=19426                                                                                       
.......................................................................................................

ที่มา http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=24&t=46274

ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้