ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 4667
ตอบกลับ: 3
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

พระวิศวกรรม

[คัดลอกลิงก์]
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี


พระวิศวกรรม หรือเรียกได้อีกหลายชื่อว่า พระวิษณุกรรม พระวิสสุกรรม พระเวสสุกรรม หรือ พระเพชรฉลูกรรม เป็น เทวดานายช่างใหญ่ของพระอินทร์ ตามตำนานกล่าวว่า เป็นผู้สร้างเครื่องมือ สิ่งของต่าง ๆ ให้เกิดขึ้น และเป็นแบบอย่างให้กับมนุษย์สืบมา
พระวิศวกรรมรับเทวโองการต่าง ๆจากพระอินทร์ เพื่อสร้าง อุปกรณ์ สิ่งของ อาคาร ต่าง ๆ มากมาย เป็นผู้นำวิชาช่าง มาสอนแก่มนุษย์ นับแต่นั้นมามนุษย์จึงรู้จักการสร้างและใช้งานสิ่งของต่าง ๆ จนมีการพัฒนารูปแบบมาจนถึงปัจจุบันนี้
ช่างไทยแขนงต่าง ๆ ให้ความเคารพบูชาพระวิศวกรรมในฐานะครูช่าง หรือเทพแห่งวิศวกรรมของไทย โดยเรามักพบเห็นรูปจำลององค์ท่านได้บ่อย ๆ ตามสถานศึกษาทางช่างทุกสถาบัน โดยนิยมสร้างอยู่สองท่า คือ ท่าประทับนั่งห้อยพระบาท พระหัตถ์ข้างหนึ่งถือ ผึ่ง (จอบสำหรับขุดไม้) และอีกข้างถือ ดิ่ง และท่าประทับยืนมือขวาถือไม้เมตรหรือไม้วา มือซ้ายถือลูกดิ่งและไม้ฉาก
ที่มาขององค์พระวิษณุกรรมทั้ง 2 ท่านี้ พอขยายความได้ว่า หากสถาบันใดเปิดสอนวิชาชีพช่างก่อสร้าง มักอยู่ในท่ายืนมือถือลูกดิ่งและไม้เมตรหรือไม้วาอันเป็นเครื่องมือของช่างก่อสร้างมาแต่สมัยโบราณซึ่งช่างทั้งหลายทราบดีว่าเป็นเครื่องมือสำหรับวัดระยะ วัดความเที่ยงตรง แต่สิ่งที่นอกเหนือไปจากนั้นยังแฝงไปด้วยปรัชญาในการดำเนินชีวิต คือความแม่นยำ เที่ยงตรง ไม่เอนเอียงในทางปฏิบัติ ซึ่งเป็นที่มาของช่างที่ดี คือความมีคุณธรรมประจำใจ หากสถาบันใดเปิดสอนวิชาชีพสาขาอื่นๆ ที่ไม่ใช่ช่างก่อสร้างอยู่ด้วย มักจะใช้ท่านั่ง เข้าใจว่าผู้สร้างคงจะชี้ให้เห็นเด่นชัดถึงสถาบันผู้ผลิตช่างก่อสร้าง อันเป็นช่างเก่าแก่มีมาแต่ก่อนแล้ว

ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับ พระวิษณุกรรม และ พระวิษณุ

คนไทยเรียกพระวิศวกรรมว่า 'พระวิษณุกรรม' และในที่สุดได้กร่อนลงเหลือเพียง 'พระวิษณุ' ซึ่งเป็นชื่อของเทพที่คนไทยรู้จักกันในฐานะหนึ่งใน ๓ เทพสำคัญของศาสนาฮินดู อันได้แก่ พระพรหม พระวิษณุ และพระศิวะ ทำให้หลายคนเข้าใจว่าพระวิษณุเป็นเทพแห่งวิศวกรรม ซึ่งเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน
ในพระไตรปิฎก (อรรถกถา) กล่าวว่า ท่านเป็นผู้สร้างอาศรมให้แก่พระโพธิสัตว์หลายพระองค์ (ก่อนที่จะอุบัติเป็นพระพุทธเจ้า) เช่นในพระเวสสันดรชาดก  เป็นผู้สร้างบันไดเงิน บันไดทอง บันไดแก้ว ทอดจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ลงมายังโลกมนุษย์ที่เมืองสังกัสสนคร ซึ่งเป็นเส้นทางที่พระพุทธเจ้าใช้เสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ (หลังจากเสด็จขึ้นไปโปรดพุทธมารดาบนสวรรค์ในช่วงเข้าพรรษา)
นอกจากจะเป็นสถาปนิกและเป็นวิศวกรด้านโยธาและสำรวจ ดังจะเห็นได้จากผลงาน ๒ ประการที่ว่านี้แล้ว พระวิศวกรรมายังเป็นวิศวกรเครื่องกลอีกด้วย กล่าวคือ ท่านเป็นผู้สร้างวาฬสังฆาตยนต์ ซึ่งเป็นกงล้อหมุนรอบองค์พระสถูป ปกปักรักษาป้องกันมิให้บุคคลเข้าใกล้พระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า เมื่อครั้งที่พระเจ้าอชาตศัตรูได้รับส่วนแบ่งพระบรมสารีริกธาตุหลังพุทธปรินิพพานและอัญเชิญไปประดิษฐานไว้ในองค์พระสถูปที่ว่านี้
"กรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร ฯ มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์" หมายถึง กรุงเทพมหานคร เมืองแห่งเทวดานั้น พระวิษณุกรรม เป็นผู้สร้าง ตามพระบัญชาของพระอินทร์


2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-5-2 13:39 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ตำนานและบทบาทของพระวิษณุกรรมในวรรณคดีและสังคมไทย
พระวิศวกรรมนั้นถือเป็นเทพ  "ชั้นผู้ใหญ่"  ที่สถิตย์อยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงษ์  และเป็นบริวารของพระอินทร์อีกทีหนึ่ง  มีชื่ออยู่หลากหลายตามประสาของเทพ  ทั้งพระวิษณุกรรม  พระวิศวกรรมา  พระวิสสุกรรม  วิศวกรรมัน  พระเวสสุกรรม หรือ พระเพชฉลูกรรม  ซึ่งชื่อทั้งหมดที่ว่ามานั้นสามารถกล้อมแกล้มแปลความหมายได้ว่า  "ผู้ทำทุกสิ่งทุกอย่าง"
ตำนานเทพเจ้าของฮินดูนั้นกล่าวว่า พระวิศวกรรมมีสามตา  กายสีขาว ทรงอาภรณ์สีเขียว โพกผ้า ในการสร้างรูปเคารพมักจะไม่เหมือนกัน  เช่นบ้างก็สร้างให้พระองค์ถือคทา  จอบ  ไม้วา  ไม้ฉาก  ผึ่ง (เครื่องมือสําหรับถากไม้ รูปร่างคล้ายจอบ แต่มีขนาดเล็กกว่าและด้ามสั้นกว่า)  และลูกดิ่ง  เป็นต้น
ในพุทธศาสนาของเรานั้นพระวิศวกรรมมีบทบาทมาก  ในตำนานเล่าว่า ท่านเป็นผู้สร้างบรรณศาลาและอาศรมให้แก่พระโพธิสัตว์หลายพระองค์  เท่าที่จำได้ก็เห็นจะเป็นพระเวสสันดร  ในมหาเวสสันดรชาดก  เป็นผู้สร้างบันไดเงิน บันไดทอง บันไดแก้วถวายแด่สมเด็จพระสรรญเพชรชุดาญาณสัมมาสัมพุทธเจ้า  เพื่อใช้เสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์มายังโลกมนุษย์ที่เมืองสังกัส-สนคร หลังจากเสร็จภารกิจในการเทศนาโปรดพุทธมารดาบนสวรรค์ช่วงเข้าพรรษา
ส่วนในวรรณคดีไทยก็มีปรากฏอยู่หลาย ๆ เรื่องที่พระวิศวกรรมเข้าไปเกี่ยวข้อง  เพราะต้องทำตามบัญชาของพระอินทร์ในการช่วยเหลือผู้มีบุญ  เช่นในเรื่องสังข์ทอง  (ในปัญญาสชาดกเรียกว่า  "สุวรรณสังขราชกุมาร")  พระอินทร์ก็มีเทวบัญชาให้พระวิศวกรรมไปท้าท้าวสามนต์บิดาของนางจรนาตีคลี  ซึ่งสุดท้ายพระสังข์ก็ต้องถอดรูปเงาะและอาสาออกไปแข่งคลีแทน
ในรามเกียรติ์ก็บอกว่าเมืองลงกาของทศกัณฐ์และเมืองทวารกาของพระกฤษณะนั้นก็สำเร็จด้วยฝีมือของพระวิศวกรรมเช่นกัน  และถ้าใครอ่านชื่อเต็มของกรุงเทพฯ  ให้ดี ๆ ก็จะพบว่า  พระวิษณุกรรมเป็นผู้สร้างด้วยนะ  ไม่เชื่อลองไปดูคำว่า  “…วิษณุกรรมประสิทธิ์”  สิครับ
อีกตอนหนึ่งที่พระวิศวกรรมมีบทบาทก็คือตอนกำเนิดพระคเณศวร  คือแรกเริ่มเดิมทีพระคเณศวรก็เหมือนกับกุมารธรรมดาทั่วไปนั่นแหละ  แต่ด้วยวาจาสิทธิ์ของพระนารายณ์ก็เลยทำให้เศียรของพระกุมารคเณศวรขาดหายไป  ครานี้ก็ถึงทีที่พระวิศวกรรมต้องระเห็จไปหาเศียรมาต่อ  ตามหาเท่าไหร่ก็ไม่พบ  พอดีไปเจอช้างพลายตัวหนึ่งนอนตายโดยหันหัวไปทางทิศเหนือ  (บ้างก็ว่าทิศใต้)  พระวิศวกรรมก็เลยตัดหัวช้างตัวนั้นแล้วนำมาต่อเข้ากับกายพระกุมารคเณศวร  และพระคเณศวรจึงมีเศียรเป็นช้างแต่นั้นมา
ในวรรณคดีเรื่องลิลิตนารายณ์สิบปาง  พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่หก  มีการกล่าวถึงพระวิศวกรรมไว้ในปางที่สอง  กูรมาวตาร  เรื่องของเรื่อก็คือว่ามีการกวนน้ำอมฤตกัน  และเมื่อกวนไป ๆ ก็เกิดของวิเศษผุดขึ้นมา ได้แก่  โคสุรภี  (เทวดายกให้พระฤษีวศิษฐ์)  เหล้า  ต้นไม้ปาริชาต  (พระอินทร์เอาไปเก็บไว้บนสวรรค์)  นางอัปสร  พระจันทร์  (พระอิศวรเอาไปเป็นปิ่นปักผม)  พิษ  (ตอนแรกงูและนาครีบมาสูบ  แต่พระอิศวรกลัวว่าจะเป็นอันตรายต่อโลก  พระองค์ก็เลยเสวยเสียเอง  ทำให้พระศอของพระองค์ไหม้เป็นสีดำ)  พระศรีเทวี  และสุดท้ายน้ำอมฤตก็ตามมา
ขอบคุณครับ
ขอบคุณครับ
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้