ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 2767
ตอบกลับ: 8
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

พระทอง หรือ “พระผุด” วัดพระทอง (วัดพระผุด) จ.ภูเก็ต

[คัดลอกลิงก์]



พระทอง หรือ “พระผุด”  
พระประธานในวิหารหลวงพ่อพระทอง วัดพระทอง
(วัดพระผุด) บ้านนาใน ต.เทพกระษัตรี อ.ถลาง จ.ภูเก็ต


   ตำนานอัศจรรย์ของพระทอง (พระผุด)

เรื่องนี้สำหรับลูกๆ หลานๆ ชาวภูเก็ตเองแล้ว อาจเป็นเรื่องแห่งความคุ้นชินที่ถ่ายทอดต่อกันมาหลายชั่วอายุคน แต่สำหรับคนในจังหวัดอื่น ตำนานอันศักดิ์สิทธิ์อัศจรรย์เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องสามัญธรรมดาอย่างแน่นอน ภาพของพระพุทธรูปองค์ขนาดใหญ่ที่ผุดขึ้นมาจากพื้นดิน ณ วัดพระทอง อ.ถลาง อันเป็นวัดเก่าแก่ประจำจังหวัดภูเก็ต ที่สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ถือเป็นอันซีนไทยแลนด์อีกอย่างหนึ่งของประเทศไทย ซึ่งมาพร้อมกับเรื่องเล่าขานเเละประวัติความเป็นมาอันน่าสนใจเกี่ยวกับความมหัศจรรย์ขององค์พระพุทธรูปที่โผล่จากพื้นดิน

เล่ากันมาว่าเมื่อแรกที่พบ “หลวงพ่อพระผุด” บริเวณนั้นเป็นที่่เลี้ยงสัตว์ ในเช้าวันหนึ่งได้เกิดพายุร้าย มีฝนตกมากจนน้ำไหลท่วมทุ่งนาเสียหาย พัดพาต้นไม้โค่นล้ม หักพังระเนระนาด พอฝนหยุดตกก็ได้มีเด็กชายลูกชาวนาคนหนึ่งจูงควายไปเลี้ยงกลางทุ่งนา แต่หากิ่งไม้ไม่เจอ เพราะต้องการหาที่ผูกเชือกสำหรับเลี้ยงควาย กิ่งไม้เล็กๆ ที่เคยผูกเป็นประจำก็ถูกกระแสน้ำพัดพาไปหมด สักพักเด็กชายก็เห็นสิ่งแปลกประหลาดสิ่งหนึ่ง มีโคลนตมพอกอยู่ มีลักษณะเหมือนตอไม้ขนาดใหญ่ผุดขึ้นมาจากพื้นดิน เลยนำเชือกคล้องควายไปผูกไว้แล้วก็กลับมาบ้าน

พอเด็กถึงบ้าน เด็กชายคนนั้นก็เกิดอาการเป็นลมล้มชัก เสียชีวิตลงทันทีในตอนเช้าวันนั้นเอง พ่อแม่ก็จัดการกับศพเด็กชายแล้วออกไปดูควายที่ผูกไว้ พอไปถึงที่ที่เด็กชายผูกควายไว้ สิ่งที่ปราฏแก่สายตาก็คือเห็นควายนอนตายอยู่เป็นที่อัศจรรย์ และยิ่งเมื่อเดินเข้าไปดูใกล้ๆ ก็เห็นเป็นวัตถุอย่างหนึ่ง พวกเขาเกิดความรู้สึกกลัว รีบตัดเชือกผูกควายออกแล้วช่วยกันนำควายไปฝัง ตกดึกคืนนั้นพ่อของเด็กชายที่ตายก็ฝันว่ามีคนมาบอกว่า ที่เด็กชายและควายต้องตายนั้นเป็นเพราะเด็กชายได้นำเชือกควายไปผูกไว้กับ พระเกตุมาลา (ยอดเศียร) ขององค์พระพุทธรูป พ่อของเด็กชายตกใจตื่น รุ่งเช้าก็ชักชวนเพื่อนบ้านให้ไปยังที่ริมคลองซึ่งเด็กชายนำควายไปผูกไว้ ครั้นเมื่อเห็นวัตถุประหลาดนั้น ต่างคนต่างก็ช่วยกันเอาน้ำมาล้าง ขัดสีเอาโคลนตมที่ติดอยู่ออกจนหมด จนกระทั่งสามารถเห็นเป็นลักษณะเหมือนพระเกตุมาลาของพระพุทธรูปเหลืองอร่ามเป็นทองคำ ชาวบ้านจึงแตกตื่นพากันมากราบไหว้บูชาสักการะกันเป็นจำนวนมาก พร้อมทั้งยังชักชวนกันไปเรียนให้เจ้าเมืองถลางทรงทราบ

2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-3 10:06 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
เจ้าเมืองถลางสมัยนั้นอยู่ที่บ้านดอน ระยะทางจากสถานที่ที่พบ “หลวงพ่อพระผุด” ไปยังบ้านดอนที่เจ้าเมืองถลางประทับห่างกันประมาณ ๓ กิโลเมตร เมื่อเจ้าเมืองถลางทรงทราบ ก็รับสั่งให้ชาวบ้านทำการขุดขึ้นมาประดิษฐานไว้บนพื้นดิน แต่ขุดอย่างไรก็ไม่สามารถขุดได้ เพราะมีเหตุมหัศจรรย์เกิดขึ้นราวกับปาฏิหาริย์ ด้วยปรากฏว่ามีตัวต่อตัวแตนจำนวนมากนับพันนับหมื่นตัว บินขึ้นมาจากใต้พื้นดิน อาละวาดไล่ต่อยผู้คนที่ขุด และยังต่อยแต่เฉพาะคนที่ขุดเท่านั้น ส่วนพวกที่ไม่ได้ขุดเพียงแต่เอาดอกไม้ธูปเทียนไปไหว้ ลูบคลำพระเกตุมาลาของ “หลวงพ่อพระผุด” ตัวต่อตัวแตนก็จะไม่ทำอันตรายเลย เป็นที่อัศจรรย์ใจแก่ผู้พบเห็นเป็นอันมาก ชาวบ้านเมื่อขุดไม่ได้ก็พากันไปเรียนเจ้าเมืองถลางให้ทรงทราบ บอกว่ามีบางคนที่ขุดถูกตัวต่อตัวแตนต่อยเป็นพิษไข้ถึงแก่ความตาย ครั้นต่อมาเจ้าเมืองถลางจึงรับสั่งให้สร้างหลังคาบังแดดและฝนพระเกตุมาลาทองคำเอาไว้

หลายปีต่อมา มีชีปะขาวรูปหนึ่งมาพักที่เมืองถลาง ท่านกลัวจะมีคนตัดพระเกตุมาลาทองคำไปขาย จึงร่วมกับชาวบ้านช่วยกันเก็บเปลือกหอยมาเผาไฟทำปูนขาวปนกับทรายโบกปิดทับพระพุทธรูปเอาไว้

ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๕๒ ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ พม่าได้ยกทัพเข้ามาตีภาคใต้ของไทยและยึดเมืองถลางได้ ทหารพม่าพยายามขุดดินลงไปเพื่อหวังจะเอาพระทอง (พระผุด) กลับไปยังพม่า แต่ไม่สำเร็จเพราะเกิดสิ่งมหัศจรรย์ขึ้น คือเมื่อทหารพม่าขุดดินลงไปกลับเจอมดคันพิษตัวเล็กๆ และตัวต่อตัวแตนขึ้นมากับดินที่ขุดเป็นจำนวนมาก ทหารพม่าที่ถูกขบกัดก็เป็นไข้และล้มตายไปหลายร้อยคน ทหารพม่าที่เหลือจึงเอาไฟมาเผาดิน เผามดและตัวต่อตัวแตน อีกทั้งได้พยายามขุดลงไปจนถึงพระศอของพระพุทธรูป พอดีเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชยกทัพมาช่วย แล้วตีเมืองถลางคืนจากพม่าได้ พม่าจึงหนีไป

หลังจากนั้น “หลวงพ่อสิงห์” เดินธุดงค์มาจากเมืองสุโขทัยมาปักกลดในบริเวณดังกล่าว ท่านได้เห็น “หลวงพ่อพระผุด” เป็นพระพุทธรูปโผล่เพียงพระศอขึ้นมาเป็นทองคำ ท่านเกรงว่าหากพวกโจรเห็นแล้วจะตัดไปขายเสีย ท่านจึงคิดว่าควรจะสร้างวัดที่นี่ เพื่อเป็นการรักษาพระพุทธรูปองค์นั้นเอาไว้ให้เป็นสมบัติอันล้ำค่าของชาวถลางสืบต่อไป วัดพระทองแห่งนี้จึงถูกสร้างขึ้นในสมัยดังกล่าว โดยมี “หลวงพ่อสิงห์” เป็นเจ้าอาวาสรูปแรกของวัดนี้ ท่านได้ชักชวนชาวบ้านให้ช่วยกันสร้างกุฏิ วิหาร และสร้างอุโบสถ โดยมี “หลวงพ่อพระผุด” เป็นพระประธานในอุโบสถ แล้วก่อสวมให้สูงขึ้นกว่าเดิมเพื่อสะดวกแก่การประกอบศาสนกิจของพระสงฆ์ การก่อสวมสมัยนั้นก่อเพียงแต่พระพักตร์เท่านั้น วัดนี้เมื่อสร้างเสร็จชาวบ้านเรียกว่า วัดนาใน, วัดพระผุด หรือวัดพระหล่อคอ

เมื่อสร้างวัดแห่งนี้เสร็จเรียบร้อยแล้ว หลวงพ่อสิงห์ได้ผูกปริศนาลายแทงไว้ มีความว่า “ยักสามยักสี่ หามผีมาเผา ผีไม่ทันเน่า หอมฟุ้งตลบ ผู้ใดคิดสบให้รับที่กบปากแดง ผู้ใดรู้แจ้งให้รับที่แล่งล่อคอ” เป็นปริศนาที่เกิดขึ้นด้วยแรงอธิษฐานของหลวงพ่อสิงห์ เจ้าอาวาสวัดพระทองรูปแรก ซึ่งท่านผูกไว้ให้เจ้าอาวาสรูปต่อๆ มาได้ขบคิดแก้ปริศนาลายแทง ซึ่งปริศนานี้เจ้าอาวาสต้องแก้ให้ได้ ถ้าหากแก้ไม่ได้ก็จะอยู่วัดพระทองได้ไม่นาน เนื่องจากไม่มีเจ้าอาวาสรูปใดแก้ปริศนานี้ได้ ในที่สุดวัดแห่งนี้ก็ร้างลงจนเลื่องลือกันว่า “วัดพระทองกินสมภาร”

3#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-3 10:06 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ครั้นเมื่อถึงปี พ.ศ. ๒๔๔๐ พระครูจิตถารสมณวัตร์  (หลวงพ่อฝรั่ง อินฺทรตฺตโน) แห่งวัดพระนางสร้าง อ.ถลาง จ.ภูเก็ต หลวงพ่อท่านสามารถแก้ปริศนานี้ได้ จึงบูรณะวัดพระทองขึ้นมา โดยได้เป็นเจ้าอาวาสรูปที่ ๑๕ ของวัดพระทอง ท่านอยู่จำพรรษาถึง ๖๑ ปี กระทั่งได้ถึงแก่มรณภาพเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี พ.ศ. ๒๕๐๑

ความหมายของปริศนาลายแทงของ “หลวงพ่อสิงห์” เจ้าอาวาสวัดพระทองรูปแรก แก้ได้ว่า ยักสามยักสี่ คือ การหามเก่วพรจีน (เกี้ยว) เดินหน้าบ้าง ถอยหลังบ้าง, หามผีมาเผา คือ ในขบวนหามเก่วนั้น มีคนหามไม้หอมต่างๆ มาด้วย หามมาเผานั่นเอง, ผีไม่ทันเน่า คือ ไม้หอมต่างๆ เช่น ไม้จันทร์ ฯลฯ ที่นำมาเผาพระจีน, หอมฟุ้งตลบ คือ หอมฟุ้งตลบ คือ ไม้หอมต่างๆ ที่เผานั่นเอง เมื่อเผาแล้วก็มีควันหอม, ผู้ใดคิดสบให้รับที่กบปากแดง คือ ผู้ใดคิดความนี้ได้ ให้เอาที่หลวงพ่อพระผุด, ผู้ใดรู้แจ้งให้รับที่แล่งล่อคอ คือ ให้เขย่าเอาจากกระบอกไม้เซียมซี ซึ่งในปริศนาลายแทงเรียกว่า แล่งล่อคอ (ชาวภูเก็ตเรียก “ไม้เซียมซี” ว่า เชี้ม)

ในช่วงปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ในปี พ.ศ. ๒๔๕๒ พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ซึ่งขณะนั้นทรงดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร พระองค์ท่านได้ทรงเสด็จประพาสจังหวัดภูเก็ต และได้เสด็จมาทอดพระเนตรพระทอง (พระผุด) องค์นี้ พระองค์ทรงมีพระราชวิจารณ์ไว้ว่า “การก่อพระพุทธรูปสวมพระผุดนี้ก่อด้วยอิฐถือปูน มีแต่เศียรกับพระองค์เพียงเท่าทรวงเพื่อให้ดูเหมือนผุดขึ้นมาจากพื้นดิน ฝีไม้ลายมือทำก็กระนั้นแหละ แต่ต้องชมว่าเขากล้า มีคนน้อยคนที่จะกล้าทำพระครึ่งองค์เช่นนี้ เพราะฉะนั้นก็จะต้องยอมรับว่าเป็นของควรดูอย่างหนึ่ง” ต่อจากนั้นรัชกาลที่ ๖ ก็ได้พระราชทานนามวัดแห่งนี้ว่า “วัดพระทอง”

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ รัชกาลปัจจุบัน ได้เสด็จฯ มายังวัดพระทอง จ.ภูเก็ต  เมื่อวันที่ ๑๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๐๒ ตรงกับวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๔ ปีกุน โดยเป็นการเสด็จฯ ส่วนพระองค์ ในหลวงทรงลงลายพระหัตถ์บนแผ่นหิน จารึกพระปรมาภิไธยย่อตราสัญลักษณ์ ภ.ป.ร. ประดิษฐานเหนือประตูทางเข้าวิหารหลวงพ่อพระทอง ไว้เป็นพระอนุสรณ์เพื่อเป็นสิริมงคลแก่วัดพระทองและพสกนิกรชาวไทยสืบมา


หากแต่อีกความเชื่อหนึ่งของพี่น้องชาวจีน เชื่อว่าพระทอง (พระผุด) ถูกอัญเชิญมาจากเมืองจีนเรียกว่า “พู่ฮุก” (หรือภู่ปุ๊ค) เล่าว่าธิเบตไปรุกรานจีน จนจีนต้องเสียเมืองเซี่ยงไฮ้ให้ธิเบต ในเมืองเซี่ยงไฮ้ของจีนมีพระพุทธรูปทองคำ ชื่อว่า กิ้มมิ่นจ้อ ชาวธิเบตจึงได้ลำเลียงลงเรือ ต่อมาถูกมรสุมหนักพัดมาเกยตื้น พระพุทธรูปก็จมลง จนกระทั่งมีผู้คนมาพบเห็น ชาวจีนต่างให้ความนับถือพระพุทธรูปองค์นี้มาก เมื่อถึงเทศกาลวันสำคัญของชาวจีน เช่น เทศกาลตรุษจีน ฯลฯ ก็จะพากันมาบูชากราบไหว้อยู่เสมอ ซึ่งเป็นประเพณีมาจนถึงทุกวันนี้

ปัจจุบันพระทอง (พระผุด) ได้ประดิษฐานเป็นพระประธานใน “วิหารหลวงพ่อพระทอง” ที่กล่าวขานกันว่า ใครทุกข์โศกไปกราบไหว้ขอพร ก็จะสัมฤทธิ์ผลดลบันดาลให้ตามที่่ปรารถนา สำหรับพระทอง (พระผุด) องค์จริงนั้นได้มีการล้อมไว้และติดป้ายห้ามเข้าไปในบริเวณองค์จริง แต่จะมีการประดิษฐาน พระทอง (พระผุด) องค์จำลอง ไว้เพื่อให้สาธุชนปิดทอง นอกจากพระทอง (พระผุด) แล้ว ณ วัดแห่งนี้ยังมี “พิพิธภัณฑสถานวัดพระทอง” อาคารขนาดใหญ่ ซึ่งทางวัดจัดสร้างขึ้นเพื่อเป็นสถานที่เก็บรวบรวมโบราณวัตถุ สิ่งของเครื่องใช้ที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์อย่างมากมาย เช่น จังซุ่ย เสื้อกันฝนชาวเหมืองแร่ดีบุก, เสี่ยหนา ตะกร้าใส่ของของชาวจีน, หมอนกระเบื้องที่ชาวจีนใช้หนุนเมื่อยามสูบฝิ่น, เตียงนอนและตู้เก็บของแบบจีนโบราณ ทำด้วยไม้มีลวดลายแกะสลักสวยงาม, รองเท้าตีนตุกของสตรีเชื้อสายจีนที่ต้องมัดเท้าให้เล็กตามค่านิยมของสังคมสมัยนั้น ปืนใหญ่ ๕ กระบอก ซึ่งเคยใช้ป้องกันเมืองในคราวศึกถลาง พ.ศ. ๒๓๕๒ ฯลฯ สามารถบอกถึงวิถีชีวิตของชาวภูเก็ตสมัยก่อนได้เป็นอย่างดี พิพิธภัณฑสถานฯ เปิดให้สาธุชนเข้าชมฟรีทุกวัน ตั้งแต่เวลา ๐๘.๐๐-๑๗.๓๐ น.
4#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-3 10:07 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
หมายเหตุ : “พิพิธภัณฑสถานวัดพระทอง” นั้น ดำริจัดสร้างขึ้นโดย พระครูสุวรรณพุทธาภิบาล (สุขุม อิสิญาโณ) เจ้าอาวาสวัดพระทองรูปที่ ๑๖ และเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ ๒๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๐






5#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-3 10:07 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
รูปปั้นอนุสรณ์ต่างๆ ภายในวัดพระทอง (วัดพระผุด)

วัดพระทอง ชาวบ้านทั่วไปเรียกว่า วัดพระผุด วัดนาใน หรือวัดพระหล่อคอ ตั้งอยู่เลขที่ ๑๗๐ หมู่ที่ ๗ บ้านนาใน ต.เทพกระษัตรี อ.ถลาง จ.ภูเก็ต วัดมีเนื้อที่ทั้งหมดจำนวน ๓๐ ไร่ ๓ งาน ๙๘ ตารางวา ห่างจากตัวเมืองภูเก็ตประมาณ ๒๑ กิโลเมตร ไปตามถนนเทพกษัตรีผ่านสี่แยกอำเภอถลาง ถึงที่ว่าการอำเภอถลางทางด้านขวาจะมีทางแยกเข้าวัดพระทอง วัดแห่งนี้เป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปทองคำครึ่งพระองค์ ที่โผล่เพียงพระเกตุมาลา (ยอดเศียร) ขึ้นมาจากพื้นดินประมาณ ๑ ศอก นามว่า “พระทอง” หรือ “พระผุด” ปัจจุบันได้ประดิษฐานเป็นพระประธานใน “วิหารหลวงพ่อพระทอง” ซึ่งอยู่ด้านทิศเหนือของอุโบสถ

วัดพระทอง ได้ปั้นรูปคน-สัตว์ต่างๆ ฯลฯ ไว้เป็นอนุสรณ์ให้ผู้คนได้ดูกัน อาทิเช่น

๑. เด็กชายลูกชาวนาที่ได้นำเชือกควายไปผูกไว้กับพระเกตุมาลา (ยอดเศียร) ของพระทอง (พระผุด) ต่อมาทั้งเด็กชายและควายได้ล้มตายลงเป็นที่อัศจรรย์ ทางวัดจึงปั้นรูปเด็กชายและควายไว้เป็นอนุสรณ์

๒. กวาง ๒ ตัว ทางวัดเคยเลี้ยงไว้ชื่อ ลิเปียด เมื่อกวางตายทางวัดได้เก็บเขาไว้ แล้วปั้นรูปกวางไว้เป็นอนุสรณ์

๓. วัว ๑ ตัว ทางวัดเคยเลี้ยงไว้ชื่อ อ้ายมอ เมื่อวัวตายทางวัดได้เก็บเขาไว้ แล้วปั้นรูปวัวไว้เป็นอนุสรณ์

๔. หมี ๒ ตัว ทางวัดเคยเลี้ยงไว้เพราะมีคนมาถวาย เมื่อหมีตาย จึงปั้นรูปหมีไว้เป็นอนุสรณ์

๕. ช้าง ๑ เชือก เป็นช้างของเจ้าเมืองถลางชื่อ พลายชุมพล ช้างตกมันมาลงงาที่วัดเลยล้มตาย ทางวัดได้เก็บกระดูกไว้ แล้วปั้นรูปช้างไว้เป็นอนุสรณ์

6#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-3 10:08 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ลำดับเจ้าอาวาสวัดพระทอง (วัดพระผุด)

๑. หลวงพ่อสิงห์
๒. หลวงพ่อไชย
๓. หลวงพ่อสงฆ์
๔. หลวงพ่อมั่น
๕. หลวงพ่อพัด
๖. หลวงพ่อวร
๗. หลวงพ่อชุม
๘. หลวงพ่อโต
๙. หลวงพ่อวอน
๑๐. หลวงพ่อเขม
๑๑. หลวงพ่อพุธ
๑๒. หลวงพ่อรอด
๑๓. หลวงพ่อช่วย
๑๔. หลวงพ่อไชยศรี
๑๕. พระครูจิตถารสมณวัตร์ (หลวงพ่อฝรั่ง อินฺทรตฺตโน)
๑๖. พระครูสุวรรณพุทธาภิบาล (สุขุม อิสิญาโณ ถิ่นตะเคียน)
๑๗. พระอธิการอำไพ อมรทตฺโต (โกมุทผล)
๑๘. พระใบฎีกาสมศักดิ์ ชาคโร (วงศ์จันทร์ แก่นตะเคียน)
เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๑-ปัจจุบัน

7#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-3 10:09 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้


วิหารหลวงพ่อพระทอง ที่ประดิษฐานของ “พระทอง (พระผุด)”
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงลงลายพระหัตถ์บนแผ่นหิน
จารึกพระปรมาภิไธยย่อตราสัญลักษณ์ ภ.ป.ร.
ประดิษฐานเหนือประตูทางเข้าวิหารหลวงพ่อพระทอง

8#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-3 10:09 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้


พิพิธภัณฑสถานวัดพระทอง
9#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-3 10:10 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้



รูปปั้นอนุสรณ์ต่างๆ ภายในวัดพระทอง

   ขอขอบพระคุณที่มาของข้อมูลและรูปภาพ
นิตยสารภูเก็ตบูลเลทิน Vol.7 No.83 April 2009

http://www.klongdigital.com/webboard3/46553.html                                                                                       
......................................................................................

ที่มา http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=24&t=45860

ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้