หลวงพ่อซวง อภโย วัดชีปะขาว
(ขอบคุณท่านเจ้าของไฟล์รูปต้นฉบับ) ประวัติหลวงพ่อซวง อภโย วัดชีปะขาว จ.สิงห์บุรี (พระวินัยธร) พระคณาจารย์ผู้ทรงวิทยาคม พระบริสุทธิสงฆ์ผู้มั่นคงในพระธรรมวินัยเป็นอย่างยิ่ง โดยเน้นการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน มีฌานอันบริสุทธิ์และพลังจิตอันแก่กล้า จนสำเร็จอภิญญาสมาบัติ 'หลวงพ่อซวง อภโย' วัดชีปะขาว ต.พระงาม อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี อดีตพระคณาจารย์ผู้ทรงวิทยาคม ชาวบ้านในชุมชนยกย่องเปรียบเสมือนบิดา โดยเรียกขานท่านว่า 'พ่อใหญ่' จนติดปาก ส่วนศิษยานุศิษย์ที่อยู่ต่างถิ่นแดนไกล ให้สมญานามว่า 'เทพเจ้าแห่งเมืองสิงห์' อัตโนประวัติหลวงพ่อซวง วัดชีปะขาว มีนามเดิมว่า ซวง พานิช เกิดเมื่อวันที่ 18 มิ.ย.2442 ที่บ้านพัก ณ ต.พระงาม อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี โยมบิดา-มารดา ชื่อ นายเฮง และนางอ่ำ พานิชอายุ 26 ปี เข้าพิธีอุปสมบทที่วัดโบสถ์ อ. ไชโย จ.อ่างทอง ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับวัดชีปะ ขาว มีหลวงพ่อเฟื่อง วัดสกุณาราม (วัดนก) อ.ไชโย จ.อ่างทอง ซึ่งเป็นพระคณาจารย์ผู้ทรงวิทยาคม จ.อ่างทอง ผู้สร้างพระพิมพ์สมเด็จวัดนกอันลือลั่น เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายาว่า อภโย จากนั้นได้ย้ายมาจำพรรษาอยู่ที่วัดชีปะขาว จนได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาส สำหรับวัดชีปะขาว หรือวัดชีผ้าขาว เป็นวัดโบราณสันนิษฐานว่าสร้างมาแต่ครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยา ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 1 สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ (แก้ว) พระพี่นางเธอในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ทรงบูรณปฏิสังขรณ์ กาลต่อมา น้ำได้เซาะตลิ่งพังเข้ามาจนถึงหน้าพระอุโบสถ รัชกาลที่ 4 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาขุนมนตรี เป็นแม่กองสร้างพระอุโบสถขึ้นใหม่ โดยเลื่อนขึ้นจากที่เดิม แล้วโปรดให้ลงเขื่อนหน้าวัด เพื่อป้องกันน้ำเซาะตลิ่ง พร้อมกับพระราชทานนามวัดใหม่ว่า 'วัดศรีสุดาราม' ยกขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร หลวงพ่อซวง ได้รับการถ่ายทอดการฝึกกัมมัฏฐานเบื้องต้นจากพระอาจารย์คำ วัดสิงห์ ต.พระงาม อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี นอกจากเรียนกัมมัฏฐานเบื้องต้น หลวงพ่อซวงยังได้เรียนการทำธงพระฉิมและการสักยันต์บุตร-ลบอีกด้วย หลังจากนั้นได้รับคำแนะนำจากพระอาจารย์คำให้ไปเรียนวิชาอาคมเพิ่มเติมจากหลวงพ่อแป้น วัดเสาธงใหม่ อ.บางปะหัน จ.พระนครศรีอยุธยา จากนั้นได้ร่ำเรียนวิชาอาคมต่างๆ จากหลวงพ่อแป้น ก่อนท่านแนะนำให้เรียนวิปัสสนาและวิทยาคมต่างๆ อาทิ วิชาทำแหวนชิน และการทำยาเปรี้ยวกับหลวงพ่อฤทธิ์ วัดบ้านสวน (วัดน้อย) ต.บ้านสวน อ.เมือง จ.สุโขทัย หลวงพ่อซวง เป็นพระเถระผู้มีจริยาวัตรอันงดงาม สมถะ ไม่ยึดติดรูปสมบัติ ฉันอย่างง่ายๆ ไม่ยอมรับปัจจัยใดๆ เป็นการส่วนตัว ท่านจะยกให้เป็นสมบัติของสงฆ์จนหมดสิ้น นอกจากนี้ ท่านยังได้ปฏิเสธการรับสมณศักดิ์และตำแหน่งใดๆ ที่เจ้าคณะจังหวัดสิงห์บุรีสมัยนั้น (พระราชสิงหวรมุนี วัดสังฆราชาวาส) มอบให้ท่าน อย่างไรก็ตาม พระราชสิงหวรมุนี ได้ขอร้องให้ท่านรับตำแหน่งพระวินัยธร ซึ่งขณะนั้นว่างลงพอดี ท่านจึงจำเป็นต้องน้อมรับอย่างปฏิเสธมิได้ท่านเน้นการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน มีฌานอันบริสุทธิ์และพลังจิตอันแก่กล้า
|