ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 3135
ตอบกลับ: 10
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

ประวัติและเรื่องราวของ “ท้าวสักกเทวราช (พระอินทร์)”

[คัดลอกลิงก์]


ประวัติและเรื่องราวของ  “ท้าวสักกเทวราช”
(ท้าวอมรินทร์เทวาธิราช, พระอินทร์)



• พระอินทร์ผู้เป็นใหญ่แห่งสรวงสวรรค์

“พระอินทร์” หรือ “ท้าวอมรินทร์เทวาธิราช” หรือ “ท้าวสักกเทวราช”
เป็นตำแหน่งของพระราชาผู้เป็นใหญ่แห่งเทพทั้งปวงในสรวงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
ตำแหน่งนี้จะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนไปตามผลแห่งบุญกรรมที่ได้กระทำไว้
พระอินทร์องค์ใดสิ้นบุญก็จะมีองค์ใหม่ขึ้นมาแทนที่ กล่าวได้ว่า
พระอินทร์นั้นมีหลายองค์ แต่ละองค์ก็มีอายุขัยเป็นไปตามบุญกุศลที่ตนได้กระทำมา


ประวัติและเรื่องราวของพระอินทร์น่าจะเป็นบทเรียนที่ช่วยให้รู้
และเข้าใจถึงการทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม ว่าท่านคิดอะไรถึงได้ทำเช่นนั้น
นอกจากนี้ การได้เรียนรู้วิธีคิดและการกระทำของพระอินทร์
เป็นสิ่งที่เราสามารถกระทำตามได้ไม่ยาก ไม่ใช่เรื่องห่างไกลและเฟ้อฝันเลย
เพราะตัวท่านเองก็ได้ประพฤติปฏิบัติเช่นนี้ในขณะที่ยังเป็นมนุษย์ปุถุชน

ซึ่งในที่นี้จะกล่าวถึง พระอินทร์ ในสมัยพุทธกาล เท่านั้น
2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-1 10:57 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
• อดีตชาติของพระอินทร์

ณ หมู่บ้านมจลคาม แคว้นมคธ มีมาณพคนหนึ่งชื่อว่า
มฆมาณพ (อ่านว่า มะ-ฆะ-มา-นพ) มีใจใฝ่ให้ทาน รักษาศีลอยู่เสมอ
ทั้งยังชอบแผ้วทาง ทำงานสาธารณประโยชน์ต่างๆ เช่น
ปรับพื้นที่ให้เรียบเสมอกัน สร้างศาลา ปลูกต้นไม้ ขุดสระน้ำ ทำถนนหนทาง
ทำสะพาน จัดทำจัดหาตุ่มน้ำ และสิ่งทั้งหลายเพื่อประโยชน์แก่ส่วนรวม
มีปกติชอบความสะอาดเรียบร้อย ต้องการให้ท้องถิ่นดูสะอาดน่ารื่นรมย์

• คิดดี คิดถูก คิดเป็น นำมาซึ่งความสุข

ขณะที่มฆมาณพทำงานในหมู่บ้าน ก็ใช้เท้าเกลี่ยฝุ่นในที่ซึ่งยืนอยู่ให้เรียบ
คนอื่นเข้ามาแย่งที่ก็ไม่โกรธ กลับถอยไปทำที่อื่นให้เรียบต่อ
แต่ก็ยังมีคนมายึดที่ที่เกลี่ยเรียบไว้แล้วนั้นอีก ถึงกระนั้นมฆมาณพก็ไม่โกรธ
กลับเห็นว่า คนทั้งปวงมีความสุขด้วยการกระทำของตน
ฉะนั้น กรรมนี้ย่อมส่งผลกลับมาเป็นบุญที่ให้สุขแก่ตนแน่


มฆมาณพก็ยิ่งมีจิตขะมักเขม้น ตั้งใจที่จะทำพื้นที่ให้เป็นที่น่ารื่นรมย์มากยิ่งๆ ขึ้น
จึงใช้จอบขุดปรับพื้นที่ให้เรียบเป็นลานให้แก่คนทั้งหลาย
ทั้งยังเอาใจใส่ให้ไฟให้น้ำในเวลาที่ต้องการ และได้แผ้วถางสร้างทางสำหรับคนทั้งหลาย
ต่อมามีชายหนุ่มอีกหลายคนได้เห็นก็มีใจนิยม มาสมัครเป็นสหายร่วมกันทำทางเพิ่มขึ้น
จนมีจำนวนนับได้ ๓๓ คน ทั้งหมดช่วยกันขุดถมทำถนนยาวออกไป
จนถึงประมาณโยชน์หนึ่งบ้าง สองโยชน์บ้าง
3#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-1 10:58 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
• เมื่อประพฤติธรรมย่อมไม่หวั่นภัยใดๆ

ฝ่ายนายบ้านเห็นว่าคนเหล่านั้นประกอบการงานที่ไม่เหมาะสม ไม่สมควร
จึงเรียกมาสอบถามและสั่งให้เลิก แต่มฆมาณพและสหายกลับกล่าวว่า
พวกตนทำทางสวรรค์ จึงไม่ฟังคำห้ามของนายบ้าน พากันทำประโยชน์ต่อไป
นายบ้านโกรธและไปทูลฟ้องพระราชาว่า มีโจรคุมกันมาเป็นพวก
พระราชามิได้พิจารณาไต่สวน หลงเชื่อ มีรับสั่งให้จับมฆมาณพและสหายมา
แล้วปล่อยช้างให้เหยียบเสียให้ตายทั้งหมด

ฝ่ายมฆมาณพเห็นเช่นนั้น ก็ได้ให้โอวาทแก่สหายทั้งหลาย
ไม่ให้โกรธผู้ใดและให้แผ่เมตตาจิตไปยังพระราชา นายบ้าน
ช้าง และตนเอง ให้เสมอเท่ากัน ชายหนุ่มทั้งหมดได้ปฏิบัติตาม
ช้างไม่สามารถเข้าใกล้ด้วยอำนาจเมตตา


พระราชาเห็นดังนั้น จึงรับสั่งให้ใช้เสื่อลำแพนปูปิดคนเหล่านั้นเสีย
แล้วปล่อยให้ช้างเหยียบอีก แต่ช้างกลับถอยไป
พระราชารับสั่งให้นำคนเหล่านั้นมาเข้าเฝ้า แล้วตรัสสอบถาม
เมื่อทรงทราบความจริง ก็ทรงโสมนัส
และทรงแต่งตั้งมฆมาณพให้เป็นนายบ้านแทนนายบ้านคนเดิม
ซึ่งตอนนี้ถูกลงโทษให้เป็นทาส
4#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-1 10:59 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
• บุญเท่านั้นที่เป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลาย

สหายทั้ง ๓๓ คน นอกจากจะได้พ้นโทษออกมา
ยังได้รับพระราชทานกำลังสนับสนุน ก็ยิ่งเห็นอานิสงส์ของบุญ
มีใจผ่องใสคิดทำบุญให้ยิ่งๆ ขึ้นไปอีก
ได้สร้างศาลาเป็นที่พักของมหาชน เป็นถาวรวัตถุที่หนทางใหญ่สี่แพร่ง

ศาลานั้นได้แบ่งออกเป็น ๓ ส่วน คือ ส่วนหนึ่งเป็นที่อยู่ที่พักสำหรับคนทั่วไป
ส่วนหนึ่งสำหรับคนเข็ญใจ ส่วนหนึ่งสำหรับคนป่วย
ทั้ง ๓๓ คนได้ปูลาดแผ่นอาสนะไว้ทั้ง ๓๓ ที่ โดยตกลงกันไว้ว่า
ถ้าอาคันตุกะเข้าไปพักบนแผ่นอาสนะของผู้ใด
ก็ให้เป็นภาระของผู้นั้นจะรับรองเลี้ยงดู
มฆมาณพยังได้ปลูกต้นทองหลาง (โกวิฬาระ) ไว้ต้นหนึ่ง
ในที่ไม่ไกลจากศาลา ภายใต้ต้นทองหลางได้วางแผ่นหินไว้ด้วย

มฆมาณพและสหายบำเพ็ญสาธารณกุศลเช่นนี้ตลอดชีวิต
เรียกว่า บำเพ็ญวัตตบท ๗ ประการ
ครั้นสิ้นอายุได้บังเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

5#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-1 11:00 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
• วัตตบท ๗ ประการ

วัตตบท ๗ ประการ ได้แก่
๑) เลี้ยงมารดาบิดาตลอดชีวิต
๒) ประพฤติอ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้ใหญ่ในตระกูลตลอดชีวิต
๓) มีวาจานุ่มนวลสุภาพตลอดชีวิต
๔) มีวาจาไม่ส่อเสียดตลอดชีวิต
๕) มีใจปราศจากความตระหนี่ ยินดีในการแจกทาน ครองเรือนตลอดชีวิต
๖) มีวาจาสัตย์จริงตลอดชีวิต
๗) ไม่โกรธ แม้ว่าถ้าโกรธก็ระงับได้ทันทีตลอดชีวิต
6#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-1 11:00 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
• พระอินทร์ทรงมีหลายชื่อ

ชื่อที่เรียกพระอินทร์มีหลายชื่อ
แต่ละชื่อบอกถึงคุณสมบัติหรือกุศลที่ทรงได้ทำมาในอดีต

ท้าวมฆวาน
-  เมื่อสมัยเป็นมนุษย์ชื่อว่า มฆะ
ท้าวปุรินททะ
- เมื่อสมัยเป็นมนุษย์ได้ให้ทานในเมือง
ท้าวสักกะ หรือ ท้าวสักกเทวราช
- เมื่อสมัยเป็นมนุษย์ได้ให้ทานโดยความเคารพ
ท้าววาสะ หรือ วาสพ
- เมื่อสมัยเป็นมนุษย์ได้ให้ที่พัก
ท้าวสหัสสักขะ หรือ สหัสสเนตร หรือ ท้าวพันตา
- ทรงคิดรู้ความทั้งพันชั่วเวลาครู่เดียว
ท้าวสุชัมบดี
- ทรงมีชายาชื่อว่า สุชา
ท้าวเทวานมินทะ หรือ พระอินทร์
- ทรงครอบครองราชสมบัติเป็นอิสริยาธิบดีแห่งทวยเทพชั้นดาวดึงส์
7#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-1 11:01 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
• ความเพียร

ในคราวที่ สุวีวรเทวบุตร ขอพรกับพระอินทร์ว่า
“ขอให้ตนได้เป็นผู้ที่เกียจคร้าน ไม่ขยันหมั่นเพียร
ไม่ทำกิจที่ควรทำ แต่ก็ได้รับความสำเร็จทุกอย่างตามที่ปรารถนา”

พระอินทร์ทรงตรัสเพื่อให้คิดว่า
“คนเกียจคร้านบรรลุถึงความสุขอย่างยิ่งในที่ใด
ก็ให้ท่านจงไปในที่นั้นเอง และช่วยบอกให้ข้าพเจ้าได้ไปในที่นั้นด้วย”

ถึงกระนั้นสุวีรเทวบุตรก็ยังขอพรว่า
“ขอพระองค์ได้โปรดประทานพรความสุขชนิดที่ไม่มีทุกข์โศก โดยไม่ต้องทำอะไรเลย”

พระอินทร์ตรัสว่า
“ถ้าจะมีใครดำรงชีวิตอยู่โดยไม่ต้องทำอะไรในทิศทางไหน
นั่นเป็นทางนิพพานแน่ ให้ท่านจงไปและช่วยบอกข้าพเจ้าให้ไปด้วย”

8#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-1 11:02 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
• ขันติธรรม

ในสงครามคราวหนึ่งฝ่ายเทวดาชนะอสูร
ท้าวเวปจิตติอสุรินทร์ ถูกจับได้
และถูกพันธนาการมายังสุธัมมสภา ขณะที่เข้าและออกจากสภา
ก็ได้บริภาษด่าพระอินทร์ด้วยถ้อยคำหยาบช้าต่างๆ
แต่พระอินทร์ก็ไม่ได้โกรธแม้แต่น้อย

พระมาตลีเทพสารถีจึงทูลถามพระอินทร์ว่า
“ทรงอดกลั้นได้เพราะกลัว หรือว่าเพราะอ่อนแอ”

พระอินทร์ตรัสว่า
“เราทนได้ไม่ใช่เพราะกลัว ไม่ใช่เพราะอ่อนแอ
แต่วิญญูชนเช่นเราจะตอบโต้กับพาลได้อย่างไร”


พระมาตลีแย้งว่า
“พาลจะกำเริบถ้าไม่กำหราบเสีย
เพราะฉะนั้นผู้มีปัญญาพึงกำหราบเสียด้วยอาชญาอย่างแรง”

พระอินทร์
“เมื่อรู้ว่าเขาโกรธแล้วมีสติสงบลงได้ นี่แหละเป็นวิธีกำหราบพาล”

พระมาตลีก็ยังแย้งว่า
“ความอดกลั้นดังนั้นมีโทษ พาลจะเข้าใจว่าผู้นี้อดกลั้นเพราะกลัว
ก็จะยิ่งข่ม เหมือนโคยิ่งหนีก็ยิ่งไล่”

พระอินทร์
“พาลจะคิดอย่างไรก็ตาม ประโยชน์ของตนสำคัญยิ่ง
และไม่มีอะไรจะยิ่งไปกว่าขันติ ผู้ที่มีกำลังอดกลั้นต่อผู้ที่อ่อนแอ
เรียกว่าขันติอย่างยิ่ง เพราะผู้ที่อ่อนแอต้องอดทนอยู่เองเสมอไป
ผู้ที่มีกำลังและใช้กำลังอย่างพาล ไม่เรียกว่า มีกำลัง
ส่วนผู้ที่มีกำลังและมีธรรมะคุ้มครองย่อมไม่โกรธตอบ

ผู้โกรธตอบผู้โกรธ หยาบมากกว่าผู้โกรธทีแรก
ส่วนผู้ที่ไม่โกรธตอบผู้โกรธ ชื่อว่าชนะสงครามที่ชนะได้ยาก
ผู้ที่รู้ว่าเขาโกรธ แต่มีสติสงบได้
ชื่อว่าประพฤติประโยชน์ทั้งแก่ตนและผู้อื่น
แต่ผู้ที่ไม่ฉลาดไม่รู้ธรรมก็ย่อมจะเห็นผู้ที่รักษาประโยชน์ตน
และผู้อื่นทั้งสองฝ่ายดังกล่าว ว่าเป็นคนโง่เสีย”

9#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-1 11:04 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
• ความไม่โกรธ

ครั้งหนึ่งพระอินทร์เข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้าแล้วทูลถามว่า
“ฆ่าอะไรได้อยู่เป็นสุข ฆ่าอะไรได้ไม่โศก”

พระพุทธองค์ตรัสตอบว่า “ฆ่าความโกรธ”

ในครั้งหนึ่งได้มียักษ์ตนหนึ่งผิวพรรณเศร้าหมอง รูปร่างน่าเกลียด
ขึ้นไปนั่งบนอาสนะของพระอินทร์ พวกเทพชั้นดาวดึงส์พากันโพนทนาติเตียน
แต่ยิ่งโพนทนาติเตียน ยักษ์นั้นก็ยิ่งงามยิ่งผ่องใส
จนพวกเทพพากันประหลาดใจว่าน่าจะเป็นยักษ์กินโกรธ

พระอินทร์ทรงทราบความนั้นแล้วได้เสด็จเข้าไป
ทำผ้าเฉวียงพระอังสะข้างซ้าย คุกเข่าขวาลง และประคองอัญชลีเหนือพระเศียร
ประกาศพระนามของพระองค์ขึ้น ๓ ครั้งว่า พระองค์คือท้าวสักกะจอมเทพ
ยักษ์นั้นกลับมีผิวพรรณเศร้าหมอง รูปร่างน่าเกลียดยิ่งขึ้นจนหายไปในที่นั้น
พระองค์ขึ้นประทับบนอาสนะของพระองค์แล้วตรัสอบรมพวกเทพ
และตรัสว่า พระองค์ไม่ทรงโกรธมาช้านาน ความโกรธไม่ตั้งติดในพระองค์
แม้จะโกรธชั่ววูบเดียวก็ไม่กล่าวผรุสวาจา ทรงข่มตนได้


คราวหนึ่งพระองค์ทรงอบรมเทพทั้งหลายว่า
ให้มีอำนาจเหนือความโกรธ อย่าจืดจางในมิตร
อย่าตำหนิผู้ไม่ควรตำหนิ อย่ากล่าวส่อเสียด
อย่าให้ความโกรธเข้าครอบงำ อย่าโกรธตอบผู้โกรธ
ความไม่โกรธและความไม่เบียดเบียนมีอยู่ในพระอริยะทั้งหลายทุกเมื่อ
ความโกรธทับบดคนบาปเหมือนภูเขา


จะเห็นได้ว่าคุณธรรมที่พระอินทร์ทรงประพฤติปฏิบัติ
ทั้งขณะที่เป็นมนุษย์และเทวดา เป็นสิ่งที่เราสามารถกระทำตามได้
เป็นตัวอย่างที่ดีของการบำเพ็ญสาธารณประโยชน์
โดยหวังผลคือความสุขของส่วนรวม
10#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-1 11:06 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าคุณธรรมต่างๆ เหล่านี้
นับวันจะเลือนหายไปในสังคมไทยของเรา
เพราะคิดแต่จะเจริญรอยตามวัฒนธรรมฝรั่ง
โดยหารู้ไม่ว่าได้เพาะเมล็ดพันธ์แห่งความเห็นแก่ตัว ความไร้คุณธรรม
ลงไปในความอยากมีอยากเป็นตามกระแสของสังคมศิวิไลซ์ที่เน้นวัตถุนิยม

ฉะนั้น หากเราช่วยกันนำคุณธรรมที่ดีงามต่างๆ เหล่านี้
ซึ่งบรรพบุรุษของเราเคยทำมาแล้ว ให้กลับคืนมา
สังคมอันดีงาม เต็มเปี่ยมไปด้วยธรรม ก็ย่อมเกิดขึ้นแน่นอน

อารามโรปา วนโรปา
เย ชนา เสตุการกา
ปปญฺจ อุทปานญฺจ
เย ททนฺติ อุปสฺสยํ
เตสํ ทิวา จ รตฺโต จ
สทา ปุญฺญํ ปวฑฺฒติ.

ชนเหล่าใด สร้างสวน ปลูกป่า ให้โรงประปา บ่อน้ำ และที่พักอาศัย
บุญของชนเหล่านั้น ย่อมเพิ่มพูนทุกเมื่อ ทั้งคืนทั้งวัน





คัดลอกเนื้อหามาจาก...
หนังสือธรรมะเพื่อชีวิต เล่มที่ ๓๓ ฉบับเข้าพรรษา ๒๕๔๕
จัดทำโดย มูลนิธิพุทธศาสนศึกษา วัดบุรณศิริมาตยาราม
เว็บไซต์ศีลห้าด็อทเน็ต http://www.sil5.net/
                                                                                       
...................................................................................

ที่มา http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=7&t=45527

ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้