ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 3420
ตอบกลับ: 3
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

ธง“รูปจระเข้” และ ”รูปนางมัจฉา เกี่ยวข้องกับกฐินอย่างไร

[คัดลอกลิงก์]


ธง“รูปจระเข้”  และ ”รูปนางมัจฉา เกี่ยวข้องกับกฐินอย่างไร
ความหมายกฐิน
        โดย ท.เลียงพิบูลย์
        จากหนังสือกฎแห่งกรรม
        ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เล่ม ๓
        เมื่อ หนังสืออนุสรณ์งานกฐินปี พ.ศ. ๒๕๑๔ ได้แจกไปแล้ว ก็มีผู้มาถามถึงเรื่องหน้าปกหนังสือนั้นมี “รูปจระเข้” ข้างหนึ่ง และมี ”รูปนางมัจฉา” อีกข้างหนึ่ง มีความหมายอย่างใด ไม่นึกว่ายังมีไม่น้อยที่ท่านไม่เข้าใจความหมายรูปจระเข้กับนางมัจฉา ข้าพเจ้าขอเรียนว่า เป็นธงหมายถึงการบุญทอดกฐินโดยเฉพาะ ซึ่งสมัยนี้ทางจังหวัดพระนครไม่ค่อยได้เห็น แต่ตามชนบทภาคกลางบางแห่ง ก็ยังใช้ธงเครื่องหมายประจำกฐิน ในยุคนี้ส่วนมากก็ใช้ธงธรรมจักรแทน และใช้ได้ทั่วไปในงานกุศล
        เรื่องนี้สมัยที่ข้าพเจ้ายังเด็ก เคยเห็นมีการแห่กฐินไปทอดตามวัดนั้น ส่วนมากเขามีธงจระเข้กับนางมัจฉาซึ่งเอาลำไม้ไผ่ทำเป็นเสาธง โดยลิดกิ่งข้างล่างออกเอาไว้แต่ปลายกิ่งเล็กๆ อยู่บนยอด แล้วมีผ้าขาวกว้างประมาณศอกกว่า ยาวประมาณ ๒ เท่าของส่วนกว้าง หรือจะกว้างกว่ายาวกว่าก็ได้ เขียนรูปจระเข้และรูปนางมัจฉาด้วยหมึกสีดำ
        ผ้าธงนี้เขาใช้เย็บข้างล่างและข้างบนเป็นช่อง เพื่อจะเอาไม้ขนาดนิ้วมือสอดเข้าไปให้ไม้โผล่ออกมา เพื่อใช้เชือกผูกโยงสองข้างเป็นสามเหลี่ยม ผูกติดปลายส่วนข้างล่าง สอดไม้ไว้เช่นกัน เพื่อให้ธงกางอยู่ตลอดเวลา
        เมื่อทอดกฐินเสร็จแล้วก็จะต้องเอาธงนี้ไปปักหน้าวัด เพื่อให้ผู้ที่ผ่านไปมารู้ว่าวัดนี้ได้ทอดกฐินแล้ว ผู้คนสมัยก่อนก็จะยกมือขึ้นอนุโมทนาในการกุศลกฐินด้วย ฉะนั้น ธงจระเข้และนางมัจฉานั้นจึงเป็นเครื่องหมายการกฐินที่จำเป็นสมัยก่อน เพราะเวลาแห่สามารถจะรู้ได้ว่าเป็นแห่กฐิน ผิดกว่างานบุญอื่นๆ หรือแห่ผ้าป่าก็นิยมทอดกันมาก
        ธงจระเข้สมัยก่อนยังมีประโยชน์ เมื่อจวนเวลาจะสิ้นวันฤดูหมดหน้ากฐินแล้ว ก็จะมีหมู่ผู้ศรัทธาใจบุญจะใช้เรือเดินทางไปตามแม่น้ำลำคลอง ในเรือมีไตรเครื่องกฐินไปพร้อมและพร้อมที่จะทอดได้ทันที สมัยก่อนมีเพียงไตรเดียวก็ทอดได้
        เมื่อเห็นว่าวัดไหนไม่มีธงจระเข้ปักไว้หน้าวัด ก็จะรู้ว่าวัดนั้นกฐินตกค้าง ทั้งไม่มีใครรับทอด ก็จะขึ้นไปหาท่านสมภาร เมื่อรู้แน่ว่าวัดนี้ไม่มีใครจองไม่มีใครทอด เมื่อเกินเวลาผ่านเลยไปแล้วก็จะเป็นกฐินตกค้างปี ท่านผู้ศรัทธาใจบุญก็จะจัดการทอดทันที แต่มีผ้าไตรครองผืนเดียวนอกนั้นก็ถวายปัจจัยและง่ายดีไม่ต้องมีพิธีอะไรมาก มาย
        แต่ยุคนี้การทอดกฐินต้องเป็นกฐินสามัคคีส่วนมาก บางวัดพระอยากได้เงินเข้าวัดมากๆ ต้องสร้างโน่นสร้างนี่ ต้องรวมทุนทรัพย์เพราะทั้งโบสถ์และศาลาเก่าแก่กำลังจะผุพัง ต้องบอกบุญเรี่ยไรเป็นการใหญ่ นี่เป็นปัจจุบันนี้ ทำให้มนุษย์ใจบาปหยาบช้าไม่มีศาสนาสวมรอยทำชั่ว หลอกลวงพระและต้มชาวบ้านที่มีจิตศรัทธา ทำให้ศาสนามัวหมอง
        กฐินส่วนบุคคลก็น้อยลงหายไป ธงจระเข้ก็หายไปด้วยมีธงธรรมจักรสีแดงพื้นเหลืองมาแทน เพราะใช้กับงานทางศาสนาได้ทุกอย่าง จึงแยกไม่ออกว่างานกฐินหรืองานบุญใด ฉะนั้น คนรุ่นหลังไม่รู้ความหมายของธงจระเข้มีความเป็นมาอย่างใด
        ต้นเรื่องการเป็นมาของธงจระเข้งานกฐินนี้ ข้าพเจ้าได้รับคำบอกเล่าจากผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ คล้ายนิยายตำนานของบ่อเกิดแห่งต้นเหตุ ท่านเล่านิยายโบรมโบราณให้ฟังว่า
        ครั้งก่อนมีเศรษฐีเหนียวแน่นผู้หนึ่ง ไม่ชอบทำบุญให้ทาน อดทนต่อการกินอยู่ง่ายๆ ไม่ใช้จ่ายเท่าที่ควร ได้เงินก็ได้แต่เก็บไว้ ไม่ทำตัวเป็นคนบุญใจ คนมีก็เหมือนคนจนยากแค้น เพราะไม่ใช้เงินให้เป็นประโยชน์ มีแต่ความงกทรัพย์สิน ได้รวบรวมเงินทองใส่โอ่งนำไปฝังไว้ในที่ดินของตนอยู่ใกล้บ้านโดยไม่ให้ใคร รู้เห็น
        แม้แต่บุตรภรรยาก็ไม่รู้ที่ฝังทรัพย์สมบัตินั้นใกล้กับลำแม่น้ำ ฉะนั้น เมื่อตนตายไปแล้วก็เกิดเป็นจระเข้คอยเฝ้าสมบัติ เป็นจระเข้ที่ดุร้าย เป็นเจ้าถิ่นใหญ่กว่าจระเข้ทั้งหลายอยู่ในแถบนั้น เพราะหวงสมบัติ
        ต่อมาน้ำค่อยๆ เซาะตลิ่งพังลงทีละเล็กละน้อยจวนจะถึงที่ฝังสมบัติ จระเข้ตัวนั้นไม่รู้จะทำอย่างไรดี ถ้าตลิ่งพังก็จะทำลายทรัพย์สมบัติที่ตนได้อุตส่าห์หาได้แล้วนำมาฝังไว้ หากตลิ่งพังทรัพย์สมบัติตกลงไปในน้ำ สายน้ำก็จะพัดกระจัดกระจายไป ก็เป็นอันสุดสิ้นกัน เมื่อไม่มีทางรักษาสมบัติต่อไปได้ จระเข้ตัวนั้นก็ไปเข้าฝันลูกชายในร่างมนุษย์ผู้เป็นพ่อบอกว่า พ่อเดี๋ยวนี้เกิดเป็นจระเข้เฝ้าสมบัติ
        แต่บัดนี้ตลิ่งจะพัง กำลังจะทำลายทรัพย์สมบัติที่พ่อหามาได้ฝังไว้ จะพังลงน้ำหมดแล้ว ขอให้ลูกจงไปขุดเอาทรัพย์สินเหล่านั้น แล้วนำไปทอดกฐินและสร้างกุศลที่เป็นประโยชน์แก่พระพุทธศาสนาต่อไป แล้วอุทิศกุศลกรวดน้ำไปให้พ่อด้วย จะได้ไปเกิดเป็นมนุษย์เสียที ว่าแล้วก็บอกชี้ที่ฝังทรัพย์ให้ลูกชายให้รู้ที่ฝังทรัพย์ พร้อมด้วยมีเครื่องหมายบอกไว้ให้ตรงไปขุดตามที่พ่อบอก อย่าช้าให้รับจัดการ
        เมื่อลูกชายตื่นขึ้นก็จำความฝันได้แม่นยำ นึกว่าพ่อเรานี่เป็นคนตระหนี่ แม้จะตายไปแล้วก็ห่วงทรัพย์สมบัติ จิตใจยังจดจ่อกังวลอยู่ในทรัพย์เงินทอง จึงต้องไปเกิดเป็นจระเข้คอยเฝ้าทรัพย์ ควรเราจะไปขุดนำมาทำบุญสร้างกุศล อุทิศเพื่อให้พ่อได้เกิดเป็นมนุษย์ต่อไป แล้วต่อมาลูกชายก็ไปขุดทรัพย์ ตามที่พ่อได้เข้าฝันบอกที่ฝังไว้ ก็ได้ทรัพย์สินจริงตามที่พ่อบอกทุกประการ ลูกชายก็ไปจองกฐินที่วัดแห่งหนึ่งใกล้น้ำ
        เมื่อถึงหน้าฤดูกฐินน้ำหลาก ลูกชายก็จัดงานทอดกฐินแห่แหนทางน้ำสนุกสนาน มีเรือองค์กฐินตบแต่งสวยงาม มีธงจระเข้ปักไว้หน้าเรือและถือว่าเจ้าของกฐิน และนับว่าแปลกมหัศจรรย์ที่มีจระเข้ตัวใหญ่นำฝูงว่ายนำเรือกฐินไปถึงวัด แล้วก็จมหายไป
        ในสมัยนั้นต่อมาชาวบ้านชาวเมืองพากันเชื่อแน่ว่า เมื่อมีธงจระเข้ปักไว้หน้าเรือกฐิน พวกสัตว์น้ำที่ดุร้ายก็ไม่ดุร้ายทำอันตรายคน ในงานกฐินสมัยก่อน วัดพุทธศาสนามักจะอยู่ริมน้ำ งานกฐินจึงมีการสนุกสนานด้วยการแข่งเรือพาย ทั้งชายหญิงหนุ่มสาวเขาว่ากันว่า แม้เรือจะล่มไปเวลานั้นพวกจระเข้ก็ไม่ทำอันตราย เพราะถือว่าจระเข้ที่มาเวลานั้นต่างมาโมทนากุศลกฐิน นี่เป็นเรื่องเก่าแก่โบรมโบราณเล่าต่อๆ กันมา
        เมื่อจะถามว่าแล้ว “นางมัจฉา” มันเกี่ยวอะไรกับกฐินล่ะ ข้าพเจ้ายังหาที่มาตอบให้ทราบไม่ได้ แต่ก็เดาว่าการเขียนจระเข้ตัวแรกนั้นเป็นตัวผู้ ฉะนั้น การที่จะเขียนตัวเมียเป็นคู่คงแยกกันไม่ออก ดูก็ไม่รู้ในสายตาทั่วไป หรือผู้เขียนรูปจระเข้ก็นึกไม่ออกว่าผิดแปลกแตกต่างกันอย่างใดตรงไหน ในระหว่างตัวผู้กับตัวเมีย ถ้าจะสมมุติก็ต้องเขียนตัวหนังสือไว้ใต้รูปว่าจระเข้ตัวผู้ และอีกตัวว่าจระเข้ตัวเมียเพื่อให้เป็นคู่กัน แต่มันออกจะรุ่มร่ามเกินไปก็คิดว่าควรเขียนนางมัจฉาให้เป็นคู่สมสู่กับจระเข้ เห็นแล้วเข้าใจง่ายเห็นชัดว่าเป็นตัวเมีย
        เห็นจะเป็นเหตุนี้ จึงมีนางมัจฉาคู่กับธงจระเข้ในสมัยก่อนตลอดมา แต่ในยุคปัจจุบันนี้เราไม่เห็นหรือจะมีข้าพเจ้าก็ไม่ทราบ แต่สมัยก่อนมีขายตามร้านสังฆภัณฑ์ แถวเสาชิงช้า เรื่องธงกฐินสมัยก่อน ความหมายของธงกฐิน คิดว่าผู้ที่ยังไม่เข้าใจเรื่องหน้าปกหนังสืออนุสรณ์งานกฐินปี พ.ศ. ๒๕๑๔ ก็คงจะพอเป็นทางที่เข้าใจบ้างไม่มากก็น้อย


http://www.watpachoenglane.com/content/%E0%B8%98%E0%B8%87%E2%80%9C%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B8%9B%E0%B8%88%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%82%E0%B9%89%E2%80%9D-%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0-%E2%80%9D%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B8%9B%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%A1%E0%B8%B1%E0%B8%88%E0%B8%89%E0%B8%B2-%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%A2%E0%B8%A7%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%81%E0%B8%90%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B9%84%E0%B8%A3











2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-4-30 15:22 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
เมื่อพูดถึงทอดกฐินภาคกลางแล้ว ก็อดนึกถึงการทอดกฐินภาคอีสานไม่ได้ แม้ในยุคนี้ก็ยังถือเป็นประเพณีการทอดกฐิน บางรายทางภาคอีสานกลางคืนจะมีหมอลำมาแสดงฉลองกฐิน สิ่งที่น่าเศร้าก็คือในงานนี้มีการล้มวัวควายล้มหมู เพื่อเอาเนื้อมาปรุงเป็นอาหารเพื่อเลี้ยงพระเลี้ยงคนอย่างสนุกสนาน ถ้าคิดแล้วก็จะเห็นได้ว่าสร้างบาปในงานบุญ ย่อมจะได้บุญกุศลไม่บริสุทธิ์ผุดผ่องนัก ถ้าจะถามว่าทำไมต้องทำบาปในงานบุญ เขาก็จะแก้แย้งตอบว่า บ้านนอกบ้านนาถ้าไม่ฆ่าวัวฆ่าควายฆ่าหมูแล้ว จะเอาอาหารเลี้ยงพระเลี้ยงคนมาจากไหน หาซื้อก็ไม่มี นี่ก็เป็นเรื่องที่น่าคิดควรจะหาทางแก้ไขต่อไป        การที่ข้าพเจ้าได้นำเอาต้นเหตุของธงกฐิน และสร้างบาปในงานบุญทางภาคอีสานมากล่าว เท่าที่ข้าพเจ้าได้ทราบเรื่องธงกฐินจากท่านผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ และอาจมีตำนานที่ผิดแปลกแตกต่างกับคำที่ข้าพเจ้าได้บรรยายมานี้ เป็นธรรมดานิยายชาวบ้านแต่ละแห่งแต่ละตำบล ย่อมจะผิดมากน้อยต่างกันไป หากผู้ใดได้รู้ได้ทราบจะได้กรุณาให้ความรู้แจ่มแจ้งกว่านี้แก่ข้าพเจ้า เพื่อประโยชน์แก่เยาวชนต่อไปก็จะเป็นพระคุณยิ่ง หากที่ได้บรรยายมานี้จะผิดถูกประการใดขออภัยด้วย ข้าพเจ้าขอรับผิดแต่ผู้เดียว และขอบคุณท่านที่ได้ติดตามอ่านหนังสือชุดนี้ตลอดมา
ผมรู้แค่ ธงทั้งสองผืนนี้ มีแต่คนต้องการนำไปบูชา ครับ....
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้