ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 2047
ตอบกลับ: 5
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

ดวงจิตผู้รู้อยู่ (หลวงปู่สิม พุทธาจาโร)

[คัดลอกลิงก์]
ดวงจิตผู้รู้อยู่
พระญาณสิทธาจารย์ (หลวงปู่สิม พุทธาจาโร)
๗ กรกฎาคม ๒๕๑๗

  
            การนั่งสมาธิภาวนา อย่างธรรมดา เอาขาขวาทับขาซ้าย เอามือข้างขวาวางทับมือข้างซ้าย ตั้งกายให้เที่ยงตรง หลับตา ภาวนา พุทโธ พุทโธ อันนี้ก็เป็นระเบียบหนึ่ง
           
แต่อีกชนิดหนึ่งในวิธีนั่ง ท่านว่านั่งสมาธิแบบขัดสมาธิเพชร เอาแข้งซ้ายขึ้นมาบนขาขวา แล้วก็เอาขาขวาขึ้นมาบนขาซ้าย เอามือขวาทับมือซ้ายเหมือนกัน วิธีนี้แน่นหนากว่า
            
ฉะนั้น ผู้ที่ฝึกหัดแบบที่หนึ่งได้ดีแล้ว ก็หัดแบบที่สองนี้เพิ่มเติมตอนหัดทีแรกก็มีความเจ็บปวดบ้าง เป็นธรรมดาของรูปขันธ์ แต่ถ้าหากฝึกไปทีละน้อย ๆ จนนั่งได้นานๆ จะหายไปเรื่อยเจ็บปวด ทุกขเวทนา ขนาดชั่วโมง สองชั่วโมง สามชั่วโมง ก็ไม่ขัด ถ้ามันเคยชินจริงๆ
            
อันนี้เป็นการนั่งสมาธิทางรูปร่างกาย

ส่วนสมาธิภาวนาจริงๆ นั้น หมายถึงการตั้งจิตตั้งใจ
ที่อยู่ของตนโดยเฉพาะ เราก็มีวิธีกราบพระไหว้พระ ทำวัตรสวดมนต์ตามกำลัง แล้วก็นั่งสมาธิเสียก่อน จึงค่อยนอนทุกคืนๆ ไป
            
อันสมาธินั้น หมายถึง การตั้งจิต ให้รู้ถึงที่ตั้งของจิต ที่ตั้งของจิตนั้น ในจิตใจของคนเรา มีดวงจิตผู้รู้อยู่ภายในร่างกายของคนเราจะยืน เดิน นั่ง นอน ไป มา พูดจาปราศรัย ได้นั้น อยู่ที่ดวงจิตผู้รู้นี้เอง
            
ดวงจิตผู้รู้ ธาตุรู้ ดวงนี้นั้น เป็นดวงตั้งดวงเดิม มีมาตั้งแต่อเนกชาติ นับภพนับชาติไม่ถ้วนแล้ว มิใช่ว่าพึ่งมาเกิดในภพนี้ชาตินี้ก็หามิได้
           
ดวงจิตผู้รู้นี้ เป็นของเราเอง เป็นจิตใจของเราทุกคน ไม่ใช่บิดามารดาผู้บังเกิดเกล้าให้
            
บิดามารดาผู้บังเกิดเกล้าให้นั้นคือให้รูปขันธ์ ขาสอง แขนสอง ศีรษะหนึ่ง รูปตัวก้อนธาตุดินน้ำไฟลมนี้ ได้มาจากบิดามารดาผู้บังเกิดเกล้า
            
ส่วนดวงจิตผู้รู้นี้เป็นของเราเอง เกิดตายๆ มาในโลกนี้นับไม่ถ้วน ก็จิตผู้รู้ดวงนี้แหละ ยังลุ่มหลงอยู่ในรูป รส กลิ่น เสียง

            เวลาภาวนาตั้งจิต ท่านจึงให้ตั้งลงไป ณ ที่นี้ จะบริกรรมอุบายใดก็ตาม กำหนดตรวจกายก็ตาม คือเอาจิตดวงนี้กำหนดพิจารณาตรวจไปตามร่างกาย มี ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นต้น
2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-5-29 10:04 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
เมื่อกำหนดพิจารณาร่างกายทุกอย่าง หรืออย่างใดอย่างหนึ่งแล้วก็ให้มารวมจิตใจเข้าไปที่ดวงจิตผู้รู้ที่ว่านี้
            
ดวงจิตผู้รู้อันนี้ มีอยู่ในปัจจุบัน ไม่ได้มีอยู่ในอดีต มิได้มีอยู่ในอนาคต สิ่งใดที่เป็นอดีตล่วงมาแล้ว สิ่งนั้นมันก็หมดไปแล้ว สิ่งที่ยังมาไม่ถึง คือข้างหน้าอนาคตกาล สิ่งนั้นก็ยังเป็นเรื่องข้างหน้า
            
จิตใจมิได้อยู่ข้างหน้า เป็นแค่อารมณ์ส่ายไปในเรื่องอดีต ส่ายไปในเรื่องอนาคต แล้วก็มาเป็นอารมณ์สับสนอยู่ภายในจิต ถ้าไม่ชำระแก้ไขในเวลาปัจจุบัน คนเราก็จะหาเวลาทำสมาธิรวมจิตรวมใจให้สงบไม่ได้
           
เพราะอารมณ์เรื่องราวต่างๆ ที่ผ่านมาทั้งดีทั้งชั่ว ทั้งบาปทั้งบุญมารวมอยู่ในปัจจุบัน
            
ด้วยเหตุนี้ เวลานั่งสมาธิภาวนาทุกครั้งทุกคราว ท่านจึงให้ละวางปล่อยวางเรื่องราวอารมณ์ที่ผ่านมาแล้ว ที่ยังไม่มาถึง ดีเท่าไรก็อย่าไปคิดคำนึง ชั่วร้ายขนาดไหนก็อย่าไปคิดคำนึง เพราะสิ่งนั้นมันเป็นธรรมดาของจิตปุถุชนคนเรา
            
ท่านให้เลิกติดต่อกับสิ่งนั้นๆ มาตั้งจิตลงไปในดวงจิตผู้รู้ที่กล่าวนี้
            
คำว่า ดวงจิตผู้รู้ นี้ มิใช่ว่าแต่งตั้งหรือว่าเทศน์ธรรมจึงเกิดมีขึ้น จิตดวงที่มีความรู้อยู่นี้ มันเป็นดวงดั้งเดิม เป็นธาตุแท้จิตใจของคนเราและสัตว์ทั้งหลาย ไม่ได้มีอะไรมาเพิ่มเติม
            
ดวงจิตผู้รู้นี้ ทีนี้สิ่งที่เพิ่มเติมนั้นก็คือ จิตผู้รู้นี้แหละมีสังขารจิตปรุงแต่งคิดนึกไปตามอารมณ์ อดีต อนาคต แล้วก็เก็บเข้ามา มาหมักหมมไว้ในดวงจิตผู้รู้อันนี้ มาหลอกหลอนจิตผู้รู้อันนี้ ให้ไหวหวั่นพรั่นพรึงไปตามสังขารจิตอันนั้น
            
ท่านจึงให้ชื่อสังขารจิตที่ปรุงแต่งหลอกหลอนนั้นว่า เป็นสังขารมาร
            
คำว่า สังขารมาร มารคือสังขาร ที่ท่านให้ชื่อว่ามาร ก็คือว่ามันเป็นผู้ฆ่า ผู้ทำลาย ทำลายศีล ทำลายสมาธิ ทำลายปัญญา ทำลายวิชาความรู้หมดทุกอย่าง ถ้าใครหลงไปตามสังขารมารเหล่านั้น
            
ท่านจึงให้ตั้งจิตให้มั่นคงลงไปจำเพาะดวงจิตที่มีความรู้อยู่ อย่างเราฟังเทศน์ฟังธรรม ฟังคำสั่งสอนอยู่ในเดี๋ยวนี้ขณะนี้ เพราะมีหูจึงได้ยินเสียง เสียงนั้นไม่ว่าเทศน์เสียงธรรม เสียงอะไรๆ มันเข้าไปได้หมด
            
ที่รับรู้ว่าเสียงนั้นเสียงนี้นั่นแหละ ดวงจิตอยู่ตรงนี้แหละ ตรงที่รู้จักว่าเสียงกระทบเข้ามา หรือเราบริกรรมภาวนาว่า พุทโธ พุทโธ  ก็ผู้ที่ได้ยินว่า พุทโธ พุทโธ (นี้เอง)

        คำว่า พุทโธ พุทโธ ที่เราได้ยินนั้น เป็นเรื่องของสังขาร หรือว่าปรุงแต่งกำหนดขึ้นมา
            
ส่วนดวงจิตผู้รู้ นั้น เวลานึก พุทโธ ก็รู้ รู้อะไร รู้ได้ว่านึก พุทโธ เมื่อไม่นึกพุทโธ ก็รู้ว่าไม่ได้นึกพุทโธ นั้น

            ดวงจิตผู้รู้นั้น ท่านว่ามันเป็นธาตุเดิม ธาตุแท้ดั้งเดิม มีอยู่แล้วมีอยู่ เป็นอยู่ ตั้งอยู่อย่างนั้นแหละ
            
แต่เมื่อสังขารมารกิเลส กิเลสตัณหาต่างๆ มันเข้าไปสุมรุมอยู่ดวงจิต พาให้ดวงจิตอันนั้นหลง หลงกายหลงจิต หลงรูปหลงนาม
            
สิ่งทั้งหลายในโลก ไม่มีสิ่งใดเที่ยงแท้แน่นอน จิตสังขาร จิตมาร จิตกิเลส อันนี้เข้าใจผิด และเอามาหลอกหลวงว่าเป็นของเที่ยงแท้แน่นอน
3#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-5-29 10:04 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ดูง่าย ๆ อย่างว่า รูปขันธ์ ตัวตนคนเราทุกคน ตัวเราตัวเขาจะเป็นหญิงเป็นชาย คฤหัสถ์ บรรพชิต ก็คือว่า ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ก้อนอสุภะนั้นเอง
            
แต่เมื่อสังขารจิต มารจิต ตัณหาจิต อันปรุงแต่อยู่นั้นเก็บมาหลอกหลวง แล้วให้เห็นว่าเป็นของมั่นคงถาวรไปได้ ของขี้ริ้วขี้เหร่ให้เห็นว่าเป็นของสวยของงามขึ้นมาได้

            นี่แหละท่านว่า สังขารมาร มารคือสังขาร มันปรุงแต่งคิดนึกอะไรขึ้นมา จิตผู้รู้มาสมาธิภาวนา จิตตั้งมั่นไม่พอ ก็หลงใหล ผู้หลงใหลก็คือว่า จิตตั้งมั่นไม่พอ
            
เมื่อจิตตั้งมั่นไม่พอ ปัญญาความรอบรู้ในสิ่งนั้นไม่เกิดมีขึ้น หรือเกิดมีขึ้นก็ไม่ทันท่วงที จึงได้เกิดความลุ่มหลง หลงตัวตน หลงชาติ หลงตระกูล หลงคนหลงสัตว์ หลงวัตถุธาตุทั้งหลายในโลก
            
เมื่อได้หลงไปตามสังขารมารกิเลส แล้วมันก็หลงไปหมด ตาเห็นรูปก็หลงในรูป หูได้ยินเสียงก็หลงในเสียง จมูกได้กลิ่นเหม็นหอมก็หลงในสิ่งที่ได้กลิ่นนั้น
            
เวลาลิ้นสัมผัสกับรสอาหารก็หลงใหลโลเลในรสอาหารเวลาเย็นร้อนอ่อนแข็งกระทบกระเทือนผิวกายก็หลงอีก แม้จิตใจคิดนึกปรุงแต่งอะไรต่อมิอะไรอยู่ภายในก็หลงไปอีก

            ความหลง  คือ ความไม่รู้แจ้ง ความหลงคือไม่ตั้งจิตให้มั่นคงความหลงคือว่าจิตไม่มีสัจจะความจริงใจ ไม่มีอธิษฐานลงไปในจิตในใจเป็นจิตที่เหลาะแหละ หวั่นไหว สั่นสะเทือน กลัวตาย
            
กลัวรูปร่างกายนี้แหละมันแตกมันตาย เพราะจิตอุปาทาน จิตที่เข้ามายึดมั่นถือมั่นในรูป ในนาม ในตัวในตน ในสัตว์บุคคล ในสมมตินิยามต่าง ๆ ว่าเป็นตัวเป็นตน ว่าเป็นก้อนเป็นหน่วย
            
พอหลงเข้าไปแล้ว ก็เลยยึดมั่นถือมั่น สำคัญผิดคิดว่าเป็นตัวเราจริงๆ

            แท้จริงมันก็เท่ากับเอาธาตุดินมาปั้น เอาธาตุน้ำมาผสม ธาตุลม ธาตุไฟ มารวมกันเข้า ก็เป็นรูปร่าง สี สัณฐาน เป็นรูปร่างมนุษย์ก็ให้ชื่อสมมติว่าเป็นมนุษย์เป็นคน

            ในเรื่องที่เป็น คน นี้ ก็สมมติไปได้มากมาย นับไม่ถ้วนเหมือนกัน จิตอันนี้ไม่รู้เท่าทัน ไม่รู้เท่าทันสังขารมารกิเลส จึงได้หลงไปยึดมั่นไปตามอาการเหล่านั้น

            จึงได้เกิดความโกรธ ความโลภ ความหลง อวิชชา ตัณหาขึ้นมาภายในดวงจิตดวงใจ

            เพราะจิตมันยึดอยู่ที่ร่างกาย ที่ตัวตน ที่สมมตินี้แหละ

            ถ้าจิตนั้นมาภาวนา เพียงเพ่งพิจารณาให้เห็นว่าธาตุแท้ของรูปขันธ์นี้ ได้แก่อะไร ธาตุดิน สิ่งที่เป็นก้อนเป็นรูป ก็คือว่าดินนั่นเอง เอาดินมาปั้นขึ้นมา เอาน้ำมาผสมเข้า ดินกับน้ำนี้แหละปั้นขึ้นมาเป็นก้อน เป็นตัวของคนเรา

            ทีนี้เวลามันแตกมันทำลาย มันไปไหน ธาตุดินจะไปไหน มันก็ลงไปแผ่นดิน จะเผาไฟ ฝังดิน มันก็ลงไปเป็นดินนั่นแหละ

            ธาตุน้ำมันจะไปไหน มันก็ไปในอากาศ ไปในธาตุดิน ธาตุน้ำรวมลงไปในแผ่นดินนั่นแหละ

        นี่แหละมันเป็นอยู่อย่างนี้เรื่องธาตุทั้งหลาย แล้วจิตผู้รู้เห็น ผู้อยู่ภายในนี้ ต้องตั้งจิตตั้งใจให้ดี อย่าไปอ่อนแอท้อแท้ไปตามกิเลสมาร
4#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-5-29 10:04 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
กิเลสนั้นมันสำคัญ มันรู้เพราะมันอยู่ในใจ สังขารมารอันนี้มันอยู่ในดวงจิตผู้รู้นั้นเอง มันเป็นผู้ปรุงผู้แต่ง ผู้คิดผู้นึก ให้จิตใจผู้อยู่นั้นหลงใหลไป

            นักภาวนาทั้งหลาย ท่านจึงไม่ยอมให้จิตใจนี้หลงไปตามสังขารมารกิเลสต่างๆ ที่ว่าให้เลิกให้ละ ให้ดับเรื่องราวอดีตอนาคต ก็คือว่าจิตสังขารมารกิเลสนี้แหละมันเอาเรื่องเหล่านั้นมาหลอก มาโกหกพกลมวันยังค่ำ คืนยังรุ่ง

            เพราะจิตไม่ตั้งมั่นเป็นสมาธิ ไม่มีปัญญาญาณเกิดขึ้น มักหลงใหลไปเสีย หลงไปกับกิเลสราคะ โทสะ โมหะ เมื่อมันหลงใหลไปแล้ว สิ่งที่ไม่ดีนั้นมันเลยเห็นเป็นดีขึ้นมา

            สิ่งที่ไม่เที่ยงนั้นมันเห็นเป็นของเที่ยง มั่นคง ถาวร ยั่งยืน เหมือนกับว่ามันจะไม่แก่ไม่ไข้ ไม่ตาย อย่างนั้นแหละ

            ทำไมมันแก่ได้ มันเจ็บได้ มันตายได้ เพราะไม่มีความเพียรเพ่งดูให้รู้ภายในจิต เพราะจิตมันสั่นสะเทือนไปตามอารมณ์นั้นเสีย ไปตามเรื่องตามราวนั้นเสีย

            อย่างสมมติว่า รูปที่ผ่านสายตา ถ้ารูปใดสวยสดงดงามตามสมมติ จิตหลงอันนี้ก็เข้าไปยึดไปถือว่ารูปนั้นเป็นรูปสวย ไม่ว่าเป็นรูปคนรูปสัตว์ รูปวัตถุข้าวของ

            พอเห็นว่าสวยแล้ว มันก็ไม่ได้คิดว่าสวยน่ะมันมาจากไหน แรกมันสวยอย่างนั้นไหม เอาอะไรมาปรุงแต่งจึงสวยได้ สวยจริงอยู่อย่างนั้นตลอดไปไหม ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย ไม่แตก ไม่ทำลาย ไหม

            ปัญญาความรู้เท่าทันตรงนี้ไม่เกิดมีขึ้นแล้ว ก็หลงวันยังค่ำคืนยังรุ่งอยู่นั้นเอง

            นี่แหละ ท่านจึงให้มีวิธีการนั่งสมาธิภาวนา สู้จนไม่ให้จิตนี้หลงใหลไป ให้จิตผู้รู้นี้แหละมาตั้งมั่นอยู่ในจิต เรื่องใดที่จิตเห็นว่ามันเป็นของดิบของดี ของเที่ยงแท้แน่นอน

            รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมมารมณ์ มันเที่ยงแท้แน่นอนจริงไหม จิตผู้นี้แหละ ตั้งให้มั่น ดูความจริงให้ปรากฏ จนปรากฏในจิตในใจ จนปรากฏในรูปในนาม ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า รูป นาม ไม่เที่ยง มันไม่เที่ยงจริงไหม

            ต้องกำหนดรู้ ให้จิตใจรู้ด้วยญาณ ด้วยปัญญา ด้วยวิชชา อันแท้จริง ไม่ใช่รูปแบบคำพูด คำเขียน ความคิด เรียกว่า ต้องรู้ด้วยแบบปัญญาญาณเพียรเพ่งดู ว่ามันเที่ยงอยู่อย่างนั้นไหม รูปมันเที่ยงหรือไม่เที่ยง

            เพ่งจนเห็นว่า แรกเริ่มเดิมทีของรูปมาจากไหน มาจากธาตุน้ำ ธาตุน้ำมันเคี่ยวเข้าปรุงแต่งเข้าเป็นธาตุดิน ธาตุดินเจริญวัยใหญ่โตขึ้นมามันก็เป็นรูปร่าง สี สัณฐาน ตั้งแต่เด็กจนหนุ่ม จนแก่ชรา แตกดับเป็นอยู่อย่างนี้

            ถ้ามันเที่ยงแท้แน่นอน อย่างจิตหลงเข้าใจนั้น มันก็คงไม่มีใครแก่ ไม่มีเจ็บไข้ ไม่มีแตกไม่มีทำลาย ไม่มีตายด้วย แต่ทำไมเกิดเท่าไรมันก็ตายเท่านั้น ไม่มีใครเหลือ ที่เหลือให้พวกเราเห็นมันยังไม่ถึงเวลามันแตกมันตายเท่านั้น มันรอเวลาเท่านั้น

            ผู้ภาวนาไม่ต้องไปรอเวลา เมื่อใดเวลาใดถ้าตั้งจิตดวงนี้ให้มั่นคงลงไปในจิต ก็จะรู้ได้เข้าใจในเดี๋ยวนี้ ขณะนี้ เป็นต้นไป

            เพราะสิ่งเหล่านี้ไม่มีอะไรปิดปัง นอกจากจิตใจของตัวเองนั่นแหละ สังขารมาร
กิเลสนั่นแหละมันปิดบัง  มันกั้นกางไม่ให้ทำ ไม่ให้พินิจพิจารณา
5#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-5-29 10:05 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
อย่างว่าจะตั้งจิตลงไปในจิตในปัจจุบันนี้ เป็นต้น มันก็มัวรอช้าไม่กำหนด ไม่พิจารณา เฉื่อยชา ไม่ดูว่าดวงจิตผู้รู้มันมีอยู่ในปัจจุบันสังขารที่มันปรุงแต่งขึ้นมา มันปรุงขึ้นมาในปัจจุบัน เราก็ดับก็ละในปัจจุบันทำความเพียรอยู่ในปัจจุบัน

            เพียรละกิเลสที่มันมีอยู่ให้มันหมดไป สิ้นไป เพียรระวังรักษากิเลสอันใดมันจะเกิดขึ้นมีขึ้นในจิตนั้น ไม่ให้มันนิ่งนอนใจ ตั้งให้มั่นคงที่สุด

        มั่นคงขนาดไหน มั่นคงจนไม่หวั่นไหว

            หรือท่านเปรียบอุปมาเหมือนอย่างว่า แผ่นดิน มั่นคงเหมือนแผ่นดิน ยิ่งกว่าแผ่นดิน แผ่นดินยังมีหวั่นไหวได้ ยังมีคนขุดขึ้นหรือการถางเคลื่อนย้ายได้

            สมาธิภาวนาตั้งจิตใจมั่น เอาจนไม่มีอะไรที่จะมาเคลื่อนไหวได้

            ดวงจิตผู้รู้อยู่ที่ไหน นั่งก็ดูจิตตั้งมั่นในนั้น ยืนก็ตั้งอยู่ในจิตนั้น เดินก็ตั้งอยู่ในจิตนั้น จะไปรถไปรา สบายไม่สบาย ก็ตั้งอยู่ในดวงจิตอันนั้น

            เห็นทุกสิ่งทุกอย่างไม่เที่ยง รูปนามเป็นทุกข์ รูปนามเป็นของไม่ใช่ตัวตน ทั้งหมดอยู่ในดวงจิตผู้รู้นี้ นอกจากดวงจิตผู้รู้อันนี้ ไม่มีสิ่งใดที่จะเที่ยงมั่นถาวรยั่งยืนอย่างโลกสมมติ

            กำหนดพิจารณาให้มันเข้าถึงความจริงข้อนี้ให้ได้ ทุกขณะทุกเวลานั่งสมาธิภาวนา หรือจะนั่งจะยืนจะเดินจะไปมาธรรมดาสามัญทั่วไปก็ตามจิตใจนั้นอย่าได้เคลื่อนที่

            ถ้าเคลื่อนที่แล้ว มันหลงใหลไปแล้ว มันไม่รู้ทั้งนั้น เมาไปเหมือนเราที่ล่วงมาแล้ว เมื่อมันได้โกรธขึ้นมา มันก็หลงเมาไปหมด เมื่อมันโลภขึ้นมา มันก็หลงเมาไปหมด เมื่อมันหลงแล้ว มันก็หลงหมดทั้งโลก

            ถ้ารู้ มันก็รู้แจ้งทั้งโลก รู้แจ้งในจิตนี้ได้ มันก็รู้แจ้งหมด โลกทั้งโลก มันเหมือนกันหมด

            โลกนี้มันธาตุดิน โลกนี้มันธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม โลกนี้มันทุกกับนาม กายกับใจอยู่ด้วยกัน

            ทำไมจิตมันหลง หลงก็คือไม่ตั้งใจภาวนา ไม่ทำความเพียรกิเลส ไม่รักษาศีลภาวนาให้พร้อมมูลบริบูรณ์

            ทีนี้ว่าจะรักษาศีลก็ผัดวันเวลา เมื่อนั้นเมื่อนี้ มันไม่ทัน

            ให้รักษาศีล ๕ ในเวลานี้ รักษาศีล ๘ ในเวลานี้ รักษาศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ ในขณะนี้เวลานี้

            เมื่อศีลบริสุทธิ์ สะอาด ก็หมายถึงจิตใจที่ตั้งมั่นลงไปนี่แหละ ศีลปกติ กายวาจามีที่ไหน จิตมันก็ตั้งมั่น จิตก็เป็นปกติ จิตก็สบาย ปัญญาก็เกิด

            ปัญญาก็ไม่ใช่มาจากที่ไหน ก็เกิดขึ้นที่จิตนั่นแหละ ที่จิตดวงที่รู้อยู่ในปัจจุบัน เดี๋ยวนี้ ขณะนี้ นั้น ไม่ได้เอามาจากที่อื่น

            ท่านจึงให้รวมกำลัง พลังงาน ความสามารถ ลงไปในจิตในใจดวงนี้ ไม่ให้ไปมัวย่อท้อ กลัวเจ็บกลัวไข้กลัวตาย อย่างโน้นอย่างนี้สังขารมารกิเลสละทิ้ง จะเอาอะไรมาโกหกพกลม ไม่ต้องไปเชื่อไปหลง

            เรียกว่าตามเข้ารู้อยู่ในดวงจิต ดวงที่รู้อยู่เดี๋ยวนี้ขณะนี้ ตั้งลงที่นี้ที่เดียว นั่งอยู่ที่นี้รูปนั่งต่างหาก จิตนั่ง ก็คือจิตมั่นคงอยู่ในจิตนั้นนอนยังไม่หลับ ก็มั่นอยู่ในที่นี้ ตื่นขึ้นมาก็มั่นอยู่ในที่นี้

            เรียกว่า ตัตถะ ตัตถะ ในที่นี้ ในที่นี้ นี่ก็จำเพราะดวงจิตที่รู้อยู่นี้ จะไปหาที่ไหน จะไปเอาที่ไหน เอาที่ไหนได้ ไม่เอาที่ดวงจิตดวงใจที่ไม่ตั้งลงไปที่ตรงนี้ไปตั้งที่ไหน

            บำเพ็ญภาวนา ทำความเพียรละกิเลส ก็เพียรลงไปตรงนี้ ทุกคนหายใจเข้าออก ทุกขณะทุกเวลา ทำความเพียรอยู่อย่างนั้นตลอด

        เรื่องสมมตินิยมธรรมดาโลก มันมีอยู่ในโลกนี้แหละ อย่างไปกับมันจะหมดไปสิ้นไป โลกมันไม่หมด ชีวิตของแต่ละบุคคลมันจะหมดก่อน

6#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-5-29 10:05 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ มันไม่หมดจากโลกนี้ เกิดมาชาติใดมันก็มีอยู่อย่างนี้ ตายไปชาติใดมันก็มีอยู่ มันไม่หมดสิ้นไปที่ไหน

            การทำความเพียรปฏิบัติบูชาในทางพระพุทธศาสนา ต้องตั้งในจิตตรงนี้ให้มันเต็มที่เต็มฐาน จะเอาอะไรมาหลอกลวง ความเจ็บ ทุกขเวทนา ในรูปร่างกาย ในสิ่งใดๆ ก็ตาม หรือว่า โรคภัยมันมีอยู่นิดๆหน่อยๆ ตามธรรมดาของรูปร่างกาย

            ก็อย่าไปเอาเหตุการณ์เหล่านั้นมาเป็นเครื่องกั้น

            นั่งสมาธิภาวนา ตั้งจิตตั้งใจให้มันแน่วแน่เด็ดเดี่ยว สลัดตัดบ่วง ห่วงอาลัยกิเลสตัณหาภายในดวงจิตดวงใจ ให้มันเด็ดขาดลงไป หัวใจอย่าไปอ่อนแอท้อแท้ วิตกวิจารอย่างโน้นอย่างนี้ ไม่เอาทั้งนั้น
            
เอาดวงจิตดวงเดียวนี้ นั่งก็อยู่ในจิต นอนก็อยู่ในจิต ยืนก็อยู่ในจิต เดินไปมาที่ไหนก็อยู่ในจิต จะทำธุรการงานใดๆ ก็อยู่ในดวงจิตผู้รู้อันนั้น

            ฉะนั้น ท่านจึงสอนแนะนำข้อสำคัญไว้ว่า สิ่งอื่นใดนอกจากดวงจิตที่รู้อยู่นี้ อย่าได้หลงใหลไปเป็นอันขาด ถ้าเลื่อนหลงใหล ทีนี้หลงไปหมด ไหลไปหมด เลื่อนไปหมด เมาไปหมด ไม่รู้ทั้งนั้น
            
ไปยึดมั่นถือมั่นในรูปในนาม ในตัวในตน ในเขาในเรา ในตัวของเรา ตัวของข้า ตัวกูของกู ไปหมด
            
ผลที่สุด จิตอันนั้นก็อ่อนแอท้อแท้ กลัวไปหมดจะทำอะไรนั่งสมาธิภาวนา จะละความโกรธ ความโลภ ความหลง ก็ไปโดนไปกระทบแต่สังขารที่มันหลอกหลวงกีดกันอยู่

            จงทำลายล้างสังขารมารเหล่านี้ให้หมดสิ้น ไม่ให้มันมาปรุงหลอกต่อไปอีก เรียกว่า เวทิตัพโพ พึงรู้แจ้ง ปัจจัตตัง จำเพาะจิตที่รู้อยู่เห็นอยู่ในปัจจุบันนี้ให้ได้ตลอดไป
            
แล้วผู้ปฏิบัติทั้งหลาย ก็จะมีจิตใจอันเข้มแข็ง สามารถอาจหาญการประพฤติปฏิบัติ ไม่ว่าวันเดือนปี อายุสังขารจะผ่านไป อยู่ในไหนก็ตาม จิตใจอันนั้นจะตั้งมั่น ภาวนาได้ตลอดกาล


                                                                                       
....................................................................

ที่มา http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=7&t=45516

ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้