ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 1942
ตอบกลับ: 3
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

"สาธุ" และ "อนุโมทนา" คืออะไร?

[คัดลอกลิงก์]
"สาธุ" และ "อนุโมทนา" คืออะไร?

++บางท่านเวลาได้ยิน หรือได้รับฟังเกี่ยวกับธรรมะ บ้างจะพูดว่า สาธุบ้างละ อนุโมทนา บ้างละ โดยที่ผู้พูดอาจไม่รู้ความหมายเลย อาจเป็นเพราะได้ยิน หรือพูดตามๆกันมา ซึ่งในบทความนี้จะชี้แจงความหมายของคำว่า สาธุ และคำว่า อนุโมทนาดังรายละเอียดต่อไปนี้ ขอให้ญาติโยมศึกษา(อ่านให้จบจะเข้าใจ เพราะเป็นเรื่องใกล้ตัว แต่บางครั้งการใช้คำยังไม่ถูกต้อง ลื้องอบ)
ความหมายของคำว่า สาธุ

+ข้อมูลส่วนใหญ่เรียบเรียงจาก พระธรรมเทศนา พระธรรมวิสุทธิกวี (พิจิตร ฐิตวณฺโณ) วัดโสมนัสวิหาร กรุงเทพฯ

+สาธุ มาจากรากศัพท์ว่า สาธฺ (หรือ สธฺ) ในความหมายว่า สำเร็จ และประกอบด้วย รู ปัจจัย (สาธ + รู = สาธุ)

ส่วนในคัมภีร์อภิธานัปปทีปิกา ได้จำแนกการใช้คำว่า สาธุ ไว้ 6 นัย กล่าวคือ

สุนทระ หมายถึง ดีงาม
ทัฬหิกัมมะ เป็นการย้ำอีกครั้ง เพื่อให้การกระทำนั้นมั่นคงยิ่งขึ้น
อายาจนะ เป็นคำอ้อนวอนหรือเรียกร้อง เมื่อเริ่มต้นจะพูดอย่างอื่นต่อไป
สัมปฏิจฉนะ เป็นการรับคำหรือยอมรับคำพูดของผู้อื่น
สัชชนะ หมายถึง คนดี
สัมปหังสา เป็นคำแสดงความยินดีหรือพอใจ

+ก่อนจะอธิบายธรรมอธิบายคำว่าสาธุให้ฟังสักหน่อยพวกเราได้ยินแต่ว่าสาธุ ๆ แต่ไม่รู้แปลว่าอะไรสาธุในภาษาไทยมีความหมายอย่างน้อย 5 อย่าง

1.สาธุหมายถึง อนุโมทนา แสดงความยินดี ตกลง เห็นด้วย เช่น เวลาเราเห็นด้วยกับใครตกลง โอเค เราก็บอกสาธุ เห็นด้วย ๆ สมมุติว่าเราเลือกตั้งเห็นคะแนนเสียงเราก็บอกสาธุไม่ต้องปรบมือกราว ๆ เพราะปรบมือเป็นของฝรั่งเขาของไทยคือสาธุเห็นด้วยเหมาะสมแล้ว หรืออาจารย์รู้ว่าลูกศิษย์กราบสวยอาจารย์ก็บอกสาธุดีแล้วอนุโมทนายินดีด้วย

2.สาธุหมายถึง ยังประโยชน์ให้สำเร็จ คือให้สำเร็จประโยชน์ เช่นได้ยินคำว่า มัตตัญยุตตา สทา สาธุ ความรู้จักประมาณให้สำเร็จประโยชน์เสมอ

3.สาธุหมายถึง ขอให้สมพรปากกับคำอวยพรที่ท่านให้ อย่างเช่น อันนะภาระในครั้งสมัยพุทธการเป็นคนยากจนเข็ญใจทำบุญกับพระปัจเจกพุทธเจ้า ได้อธิฐานว่าคำว่าจนอย่าได้มีและจงได้รู้ธรรมอย่างท่านพระปัจเจกพุทธเจ้าได้ให้พรว่า

อิจฉิตัง ปัตถิตัง ตุมหัง ขิปปะเมวะ สะมิชฌะตุ สัพเพ ปูเรนตุ สังกัปปาจันโท ปัณณะระโส ยะถา มะณิ โชติระโส ยะถา
แปลว่า
ขออิฏฐผลที่ท่านปรารถนาแล้วตั้งใจแล้วจงสำเร็จโดยฉับพลัน ขอความดำริทั้งปวงจงเต็มที่เหมือนพระจันทร์วันเพ็ญ เหมือนแก้วมณีอันสว่างไสวควรยินดี ฯ จึงรับว่าสาธุขอให้สมพรปากท่าน

4.สาธุหมายถึง ขอโอกาส อันนี้เป็นสำนวนของพระ อย่างสมมุติว่าจะอาราธนาศีลก็จะขึ้นว่า สาธุ สาธุ มะยัง ภันเต เคยได้ยินบ้างไหม เหมือนกับว่าคนเป็นครูบาอาจารย์จะทำอะไรก็ขอโอกาสพระเถระเสียก่อนเช่น จะเปิดหน้าต่างก็ ขอโอกาสท่านอาจารย์ครับผมจะเปิดหน้าต่าง ทำอะไรต้องบอกผู้ใหญ่เสียหน่อย ไม่ใช้ทำพรวด ๆ ไปขาดความเคารพ การทำขอโอกาสอย่างนี้ท่านเรียกว่าสาธุภาษาบาลี ภาษาไทยว่าขอโอกาส

5.สาธุหมายถึง แสดงความต้อนรับแสดงความยินดีไชโยโห่ร้องกราบไหว้ ยกตัวอย่าง เวลาสมเด็จสังฆราชหรือใครก็ตามเสด็จไปต่างประเทศ ต่างประเทศเช่นเนปาลเขานิยมเวลามาต้อนรับเขาจะร้องสาธุตลอดทางที่มาต้อนรับ สาธุตัวนี้ก็คือขอยินดีต้อนรับ

2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-5-25 20:21 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
+ส่วนคำว่าอนุโมทนา มีความหมายดังรายละเอียดต่อไปนี้

+ศัพท์ธรรมคำวัด : อนุโมทนา มีคำอยู่คำหนึ่งที่ชาวพุทธพูดกันจนติดปาก คำนั้นก็คือ “อนุโมทนา” ความหมายของอนุโมทนาคืออะไร และเมื่อไหร่ที่ควรใช้คำนี้ คำตอบก็คือ...
+ในหนังสือ ‘คำวัด’ โดยพระธรรมกิตติวงศ์ ได้อธิบายความหมายของคำนี้ไว้ว่า

อนุโมทนา หมายถึง การแสดงความชื่นชมยินดีในบุญหรือความดีที่ผู้อื่นทำการอนุโมทนานั้นอาจทำได้ด้วยการพูด เขียนหนังสือ หรือแสดงกิริยาก็ได้ เช่นเมื่อได้ยินเสียงย่ำฆ้องกลองที่วัดในตอนเย็น แสดงว่าพระท่านทำวัตรเย็นจบก็ยกมือขึ้นประนมไหว้ เปล่งวาจาว่าสาธุ เป็นการอนุโมทนาต่อพระสงฆ์ที่วัดหรือมีใครทำบุญ แล้วมาบอกให้ทราบ ทราบแล้วก็ยกมือขึ้นสาธุเป็นการอนุโมทนาบุญของเขาด้วย

เรียกการพูดแสดงความยินดีในความดีของผู้อื่นว่า “อนุโมทนากถา”
เรียกหนังสือรับรองการบริจาคที่วัดออกให้แก่ผู้บริจาคทรัพย์ทำบุญว่า “อนุโมทนาบัตร หรือใบอนุโมทนา”
เรียกบุญที่เกิดจากการอนุโมทนาตามตัวอย่างข้างต้นว่า “อนุโมทนามัยบุญ" และการที่ภิกษุกล่าว สัมโมทนียกถา อันแปลว่า ถ้อยคำอันเป็นที่บันเทิงใจใช้เรียกการที่ภิกษุพูดแสดงความขอบคุณหรือกล่าวถึงประโยชน์และอานิสงส์ของความดี ของบุญกุศล ที่ทายกทายิกาได้ทำ เช่น ถวายอาหาร สร้างกุฏิ สร้างหอระฆัง เป็นต้น ไว้ในบวรพระพุทธศาสนา บางทีเรียกว่า อนุโมทนากถา
ส่วนในหนังสือศาสนพิธี เล่ม ๒ ฉบับมาตรฐาน โดยคณาจารย์แห่งโรงพิมพ์เลี่ยงเชียง ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า
ธรรมเนียมของพระภิกษุสามเณร เมื่อได้รับถวายปัจจัยสี่ไม่ว่าจะเป็นภัตตาหาร หรือทานวัตถุใดๆ ก็ตามจากทายกทายิกาจะต้องทำพิธีอนุโมทนาทานนั้น ไม่ว่าจะได้รับรูปเดียวหรือหลายรูปก็ตามต้องอนุโมทนาทุกครั้ง จะละเว้นเสียมิได้ถือว่าผิดพระพุทธานุญาตต่างแต่ว่าอนุโมทนาต่อหน้าหรือลับหลังเท่านั้น
ธรรมเนียมนี้ปฏิบัติกันมาแต่ครั้งพุทธกาลแล้วฉะนั้นการอนุโมทนาทานจึงเป็น ประเพณีมานานในหมู่สงฆ์การประกอบพิธีอนุโมทนาลับหลังทา ยกทายิกามีวิธีเดียว คือการบิณฑบาตที่ต้องออกรับในสถานที่ต่างๆ ทั่วไปไม่จำกัด กรณีเช่นนี้ไม่ต้องอนุโมทนาต่อหน้าขณะที่รับบิณฑบาต แต่กลับมาถึงวัดฉันอาหารเรียบร้อยแล้วจึงอนุโมทนา หรือยกไปอนุโมทนาในช่วงทำวัตรสวดมนต์ เช้า - เย็นก็ได้

3#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-5-25 20:23 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ส่วนพิธีอย่างอื่นนอกจากนี้ควรจะอนุโมทนาต่อหน้าเสมอไปจึงจะสมควร พิธีอนุโมทนาแบ่งออกเป็นหัวข้อใหญ่ๆ ได้ ๒ หัวข้อคือ

๑. สามัญอนุโมทนา คือ การอนุโมทนาที่นิยมใช้ปฏิบัติกันโดยทั่วไป ไม่จำกัดงานหนึ่งงานใด ก็คงใช้คำอนุโมทนาแบบเดียวกัน

๒. วิสามัญอนุโมทนา คือ การอนุโมทนาด้วยบทสวดพิเศษคือ อนุโมทนาเฉพาะทาน เฉพาะกาล และเฉพาะเรื่อง

สำหรับคำว่า “สาธุ” แปลว่า “ดีแล้วชอบแล้ว” ดังนั้นการเปล่งวาจาว่าสาธุก็เพื่อแสดงความเห็นชอบด้วยชื่นชมหรือยกย่องสรรเสริญ เพื่ออนุโมทนาในบุญ หรือความดีที่ผู้อื่นทำนั่นเอง

ในพระไตรปิฎก ได้พูดเรื่องผลบุญของการอนุโมทนาที่ทำให้ไปเกิดในวิหารวิมานว่า

+ท่านพระอนุรุทธเถระได้ถามนางเทพธิดาตนหนึ่งว่าเหตุใดมีวรรณะงามยิ่งนัก มีรัศมีส่องสว่างไสวไปทั่วทุกทิศสถิตอยู่เหมือนดาวประกายพฤกษ์ มีเสียงอันเป็นทิพย์น่าฟัง รื่นรมย์ใจมีกลิ่นทิพย์อันหอมหวนยวนใจเสียงของเครื่องประดับผมก็ดังเสียงไพเราะดุจเสียงดนตรีแม้พวงมาลัยบนศีรษะก็มีกลิ่นหอมชวนให้เบิกบานใจ หอมฟุ้งไปทั่วทุกทิศ ขอท่านจงบอก นี้เป็นผลแห่งกรรมอะไร ?

+นางเทพธิดาตอบว่า ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ นางวิสาขามหาอุบาสิกาเป็นสหายของดิฉัน อยู่ในเมืองสาวัตถี ได้สร้างมหาวิหารถวายสงฆ์ดิฉันเห็นมหาวิหารนั้น แล้วมีจิตเลื่อมใสอนุโมทนาก็วิมานอันเป็นที่รักนี้อันดิ ฉันได้แล้วเพราะการอนุโมทนาด้วยจิตบริสุทธิ์แต่อย่างเดียวเท่านั้นวิมานนี้เป็นวิมานอัศจรรย์น่าดูน่าชม โดยรอบสูง ๑๖ โยชน์เลื่อนลอยไปในอากาศ ได้ตามความปรารถนาของดิฉัน ดิฉันมีปราสาทเป็นที่อยู่อาศัย อันบุญกรรมจัดแจงเนรมิตให้เป็นส่วนๆงามรุ่งโรจน์ตลอดร้อยโยชน์โดยรอบทิศ วิมานอันมีรัศมีสว่างไสวไปทั่วทุกทิศน่าอัศจรรย์ น่าดูน่าชมเช่นนี้ เกิดแต่ดิฉันเพราะกุศลกรรมทั้งหลายควรทำบุญโดยแท้

สรุปแล้วการอนุโมทนาเป็นสิ่งดี แต่สิ่งที่ดีกว่าก็คือ การลงมือทำความดี สร้างบุญกุศลนั้นๆ ด้วยตนเอง

อ้างอิง http://www.societybit.com/bbs/viewthrea ... a=page%3D1

...........................................................................................

ที่มา http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=23&t=42698

สรุปแล้วการอนุโมทนาเป็นสิ่งดี แต่สิ่งที่ดีกว่าก็คือ การลงมือทำความดี สร้างบุญกุศลนั้นๆ ด้วยตนเอง

สาธุ
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้