ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 1815
ตอบกลับ: 2
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

วิถีแห่งความเจริญ (หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน)

[คัดลอกลิงก์]

ความสุขไม่ว่าทางกายไม่ว่าทางใจเราต้องการ เมื่อต้องการความสุขความเจริญ ไม่ว่าจะเจริญทางจิตใจและเจริญทางโภคทรัพย์สมบัติเงินทอง ต้องเป็นผู้มีความขยันหมั่นเพียร มีความอดความทน หนักก็เอาเบาก็ทำ ไม่ลดละความเพียร ไม่ให้มีความเกียจคร้าน นี่ท่านเรียกว่าธรรม  ประการหนึ่ง

อุฏฐานสัมปทา ให้ถึงพร้อมด้วยความขยันหมั่นเพียร ตื่นดึกลุกเช้า   ทำงานให้ตรงต่อเวล่ำเวลา อย่าโกหกตนเองต่อหน้าที่การงานจะทำให้เคยตัว ท่านสอนอย่างนี้  คนที่มีความขยันหมั่นเพียรจะหาทรัพย์สมบัติประเภทใดย่อมได้ตามใจหวัง

อารักขสัมปทา เมื่อผลของงานเกิดขึ้นจากความขยันหมั่นเพียรที่เราทำได้แล้ว ให้เก็บหอมรอมริบ อย่าเป็นผู้สุรุ่ยสุร่าย จับจ่ายจนหมดไม่มีอะไรเหลืออย่างนี้ เรียกว่าเป็นผู้สุรุ่ยสุร่ายเกินไป ท่านสอนไว้ว่าทรัพย์สมบัติที่ได้มาด้วยความชอบธรรมของเรานั้น จะมากน้อยไม่สำคัญ สำคัญที่ผู้เป็นเจ้าของนั้น จะต้องเก็บรักษาหรือจะจับจ่ายไปทางใดบ้างด้วย ต้องเอาเหตุผลเข้าไปค้ำประกัน คือเราจะจ่ายแม้แต่สตางค์แดงหนึ่งขึ้นไป เราต้องมีเหตุผลว่าจ่ายไปเพราะเหตุไร เท่านั้นบาทเท่านี้สตางค์เราต้องมีเหตุผลไว้เสมอ  ถ้าหากไม่มีเหตุผลแล้วทรัพย์สมบัติมีมากเท่าไรก็ตาม จะหมดไปสิ้นไปโดยไม่กี่วันกี่เวลาเลย

เมื่อกี้นี้ได้อธิบายถึงเรื่องอารักขสัมปทา คือให้ถึงพร้อมด้วยการเก็บรักษาทรัพย์สมบัติที่เกิดขึ้นด้วยความชอบธรรมของตน อย่าเป็นผู้สุรุ่ยสุร่ายจ่ายไปไม่รู้จักประมาณ ทรัพย์หมดไปใจก็เสียไปด้วย ทรัพย์รั่วไหลเนื่องไปจากใจของเราที่รั่ว ไม่มีประมาณในตนเอง นี่เป็นหลักสำคัญ ฉะนั้นการรักษาทรัพย์ภายนอกกับรักษาใจของเราผู้เป็นเจ้าของนี้ การรักษาใจรู้สึกจะเป็นสิ่งสำคัญยิ่งกว่าการรักษาทรัพย์ ถ้าเรารักษาระดับใจของเราให้คงที่ดีงามควรแก่เหตุผลทุกด้านแล้ว การจ่ายทรัพย์แม้จะจ่ายมากน้อย ย่อมเสียไปด้วยมีเหตุผลและเป็นประโยชน์สำหรับตัวของผู้จ่าย แต่ถ้าจ่ายโดยนิสัยที่เป็นคนสุรุ่ยสุร่ายด้วยแล้ว ทรัพย์สมบัติแม้จะเสียไปมากมายเพราะการจับจ่าย แต่ผลประโยชน์ที่จะพึงได้รับไม่ค่อยมี  นี่เราควรจะสำนึกตัวของเราผู้เป็นเจ้าของแห่งสมบัติทั้งมวลไว้ให้มาก

2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-5-20 13:23 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
การรักษาใจให้อยู่ในระดับที่ดีงาม นี่เป็นการรักษาทรัพย์โดยตรง ถ้ารักษาใจได้แล้วจนเคยชินต่อนิสัย ทรัพย์สมบัติมีมากน้อยเก็บไว้ก็อยู่ จ่ายไปก็เป็นประโยชน์  การรักษาใจไม่ให้เป็นคนใจรั่วนี้เป็นการรักษายาก ฉะนั้นขอให้ทุกท่านได้สนใจในการรักษาตัว คนเราจะเสียไปในทางใด เนื่องจากใจที่ได้รับการศึกษาอบรมมากน้อยต่างกัน หรือไม่ได้รับการศึกษาอบรมเลย นี่ก็เป็นข้อที่เราจะควรคิด  การรักษาสิ่งใดไม่เหมือนรักษาตัวของเรา  ถ้ารักษาตัวของเราดีแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างจะค่อยดีไปตาม เป็นเพื่อนหญิงเพื่อนชายที่มาคบค้าสมาคมกับเราก็เป็นคนที่ดี

ในข้อหนึ่งได้อธิบายถึงเรื่องอุฏฐานสัมปทา คือให้มีความขยันหมั่นเพียร อย่าหัดเป็นคนเกียจคร้านต่อหน้าที่การงานที่ควรทำ ข้อที่สองอารักขสัมปทา ให้ถึงพร้อมด้วยการเก็บรักษาทรัพย์ที่เกิดขึ้นมีขึ้นภายในตน ข้อที่สามสมชีวิตา คือการจ่ายทรัพย์ให้พอเหมาะสมกับการใช้สอย คือความเป็นอยู่ของตน วันหนึ่งมีความจำเป็นขนาดไหนเราก็จับจ่ายใช้ทรัพย์เท่าที่ความจำเป็นเท่านั้น ไม่จ่ายให้เลยนั้นไป ท่านเรียกว่าสมชีวิตา การเลี้ยงชีพให้พอเหมาะสมไม่ให้ฝืดเคืองนัก ไม่ให้ฟุ่มเฟือยนัก การฝืดเคืองทั้งๆ ที่ทรัพย์เครื่องสนองมีอยู่ แต่เราไม่ทำให้พอเหมาะพอควรอย่างนี้ ก็เกิดความเดือดร้อนแก่เราและครอบครัวเหมือนกัน  การจ่ายทรัพย์สุรุ่ยสุร่ายจนกลายเป็นเรื่องฟุ่มเฟือยไปในครอบครัวก็ไม่ดี จะเป็นนิสัยที่เรียกว่านิสัยใจรั่ว เก็บอะไรไว้ไม่อยู่

เช่นเดียวกับตะกร้า เราลองเอาไปตักน้ำ ไม่ว่าน้ำในลำคลอง ไม่ว่าน้ำในบึงในบ่อ ไม่ว่าน้ำในมหาสมุทรทะเล ตะกร้าตักลงไปที่ตรงไหน น้ำจะไม่มีขังอยู่ในตะกร้านั้นเลย เพราะตะกร้านั้นรั่วหรือภาชนะรั่วก็เช่นเดียวกัน ใจที่รั่วก็ย่อมเป็นเช่นนั้น เก็บอะไรที่ดีงามไว้ไม่อยู่ นอกจากของชั่วเท่านั้นมีเท่าไรอยู่จนหมด  เราควรจะสนใจในจุดนี้ให้มาก นิสัยของคนที่ใจรั่วแล้วแม้จะได้เงินทองมาวันละหมื่น ละแสน ละล้าน ก็ไม่มีความหมาย เพราะใจมันรั่วได้มาเท่าไรก็หายไปหมดๆ

ความใจรั่วจึงไม่ใช่เป็นของดี จะทำความเดือดร้อนวุ่นวายแก่เราและตัดความเจริญในอนาคตของเราด้วย นอกจากความใจรั่วเกี่ยวกับเรื่องการเก็บทรัพย์แล้ว ยังจะใจรั่วไปทุกแห่งทุกหนตลอดถึงการคบค้าสมาคมกับบุรุษหญิงชายไม่ว่าวัยใด อาจจะเป็นคนใจรั่ว เป็นคนใจง่ายจับจ่ายหายไปโดยไม่มีเครื่องตอบแทนก็เป็นได้ เพราะความใจง่ายนี้ไม่ดี มีอยู่ในผู้ใดผู้นั้นจะเป็นคนด้อยราคา ไม่ค่อยมีคุณค่าเท่าที่ควร และขอเน้นในคำว่าใจรั่วนี้ให้ท่านนักศึกษาทั้งหลายได้ทราบ และเห็นโทษของมัน ให้เราคิดดูว่าหม้อรั่วก็ใช้งานใช้การไม่ได้ แม้แต่ยางรถจักรยานของเรารั่ว ก็ขับขี่ไปไม่ได้ ทุกสิ่งทุกอย่างถ้าขาดถ้ารั่วแล้วก็เริ่มจะทำลายตัวของมัน ใจของเราถ้าเริ่มรั่วก็เรียกว่าจะเริ่มทำลายตัวเองนี่เป็นสิ่งสำคัญ  ถ้ารั่วมากก็ทำลายตัวเองให้ไม่มีคุณค่าในตัวของเรา ฉะนั้นจึงกรุณาได้พากันรักษาระดับจิตของเราไว้ให้ดี

เฉพาะอย่างยิ่งเวลานี้กำลังเข้าหัวเลี้ยวหัวต่อ คนก็มีจำนวนมาก การคบค้าสมาคมก็ต้องเป็นไปโดยลำดับๆ เพราะความจำเป็นบังคับ เนื่องจากหน้าที่การงานเกี่ยวข้องกัน เราจะอยู่โดยลำพังคนเดียวก็ไม่ได้ เพราะชีวิตความเป็นอยู่ทุกด้านต้องเกี่ยวข้องกับสังคม เราจะปฏิบัติอย่างไรให้เข้ากับสังคมได้โดยราบรื่นแต่เราไม่เสียคน นี่เป็นหลักสำคัญที่เราจะต้องนำไปพินิจพิจารณาทุกๆ ท่าน เพื่อให้สังคมเป็นไปเพื่อความราบรื่น ตัวของเราก็เป็นไปเพื่อความปลอดภัยไม่มีอันใดเสีย เพราะหลักวิชาคือ ธรรมะ แทรกสิงภายในหัวใจ  ถ้าเป็นรถก็เรียกว่ามีทั้งเบรก มีทั้งคันเร่ง มีทั้งพวงมาลัย ทำผู้โดยสารให้มีความปลอดภัย

นี่เราก็กำลังดำเนินไปอยู่ทุกๆ ระยะที่เกี่ยวกับการครองชีพ เกี่ยวกับสังคม เราจะปฏิบัติตัวอย่างไร จึงจะเป็นไปเพื่อความปลอดภัย นี่เป็นหลักใหญ่ที่เราจะต้องขบคิด ไม่เช่นนั้นจะเกิดความเดือดร้อนในภายหลัง เราอย่าเห็นสิ่งใดว่ามีคุณค่ายิ่งกว่าตัวของเรา ถ้าหากว่าตัวของเราได้เสียไป แม้เงินจะมีจำนวนล้านๆ ก็ไม่ค่อยมีผล เช่นเดียวกับปลูกบ้านปลูกเรือนให้คนตายอยู่ จะปลูกสักกี่ชั้น ประดับประดาด้วยความสวยงาม ก็ไม่เห็นมีคุณค่าอะไรสำหรับบ้านแห่งคนตายหลังนั้น นี่ก็เหมือนกันสมบัติเงินทองที่มีมาจำนวนมาก ความรู้ที่เรียนมามากๆ แต่มาประดับคนที่ไม่มีคุณค่าคือ คนเหลวไหล คนเหลวแหลก คนใจรั่ว คนหลักลอย ก็ไม่เห็นมีประโยชน์อะไรเช่นเดียวกัน
3#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-5-20 13:24 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
เพราะหลักวิชาที่เรียนมาทุกๆ แขนง ก็เพื่อประดับตัวของเราให้มีความสง่าราศีและความปลอดภัย ความราบรื่นดีงามในการประพฤติปฏิบัติต่อตนเองและสังคม ตลอดความเป็นอยู่คือชีวิตจิตใจให้เป็นไปวันหนึ่งๆ มีความสะดวกสบาย หลักวิชาเป็นเครื่องเสริมคนให้ดีทั้งนั้น ไม่มีหลักวิชาแขนงใดที่เรียนมาแล้วหรือที่สอนให้คนทำความฉิบหายแก่ตนเอง ไม่มี นอกจากจะเสริมคนให้มีความรู้ ความฉลาด ในการปฏิบัติต่อตัวเองเพื่อความปลอดภัยและราบรื่นเท่านั้น

ในข้อที่สามได้อธิบายผ่านไปแล้ว ข้อที่สี่ กัลยาณมิตตตา การเลือกคบเพื่อนหญิงชาย ที่สมควรหรือไม่สมควร ก็เป็นเรื่องสำคัญอันหนึ่ง เพราะคนเราโดยลำพังตัวเองอยู่คนเดียวความเสียหายย่อมมีน้อย ความเจริญก็มีน้อยเหมือนกัน แต่จะให้เกิดความเจริญหรือเสื่อมเสียนั้น ย่อมเกี่ยวกับสังคมคือหมู่เพื่อน การคบค้าสมาคมกับสังคมและหมู่เพื่อนหญิงชาย เราต้องเลือกเฟ้นภายในใจของเราด้วยดี ว่าการคบค้าสมาคมกับใครแล้ว จะเป็นไปเพื่อความเสื่อมเสียเกียรติยศชื่อเสียง หรือจะเป็นไปเพื่อความเจริญรุ่งเรืองต่อไปทั้งตนและผู้มาเกี่ยวข้อง เราต้องเลือกเฟ้นด้วยดี ไม่เช่นนั้นเมื่อหลวมตัวเข้าไปแล้วแก้ไขยากหรืออาจไม่มีทางแก้ไข แล้วถลำไปเลยก็ได้ ท่านจึงสอนว่าให้เลือกเฟ้นในการคบค้าสมาคมกับเพื่อนหญิงชาย อย่าเห็นแก่ว่าเป็นเพื่อนแล้วก็คบไป

เรื่องนิสัยใจคอเป็นสิ่งสำคัญ เมื่อซึมซาบกันไปวันละเล็กละน้อยหรือคละเคล้ากันไปวันละเล็กละน้อยก็กลายเป็นหนึ่งอันเดียวกันได้ ในหลักธรรมท่านสอนไว้ว่า อเสวนา จ พาลานัง ปัณฑิตานัญฺ จ เสวนา อย่าคบคนพาลสันดานหยาบ ให้คบบัณฑิตนักปราชญ์ ซึ่งเป็นทางหนึ่งให้เกิดมงคล ดังนี้  คำว่าคนพาลนั้นมีสองประเภท คือคนพาลได้แก่คนชั่ว ภายนอกดี ความชั่วความคิดที่ไม่ดีไม่งามภายในของตนหนึ่ง คนชั่วอยู่ภายนอกเรายังพอหลบหลีกได้ ความชั่วคือความคิดที่ไม่ดีไม่งาม ผลักดันให้เราคิดหาทางเสื่อมเสียแก่ตนของตนซึ่งเกิดอยู่ตลอดเวลาภายในใจนี้ รู้สึกว่าจะเลือกเฟ้นและหลีกเลี่ยงได้ยากที่สุด ฉะนั้นเราควรจะสนใจในจุดนี้  เรามองเห็นคนไม่ดีภายนอกเรายังไม่พอใจ ไหนจะมาเจอเอาตัวของเราเสียเอง ซึ่งเป็นคนไม่ดีทั้งความประพฤติ กายวาจาใจทุกด้านนั้นไม่สมควรอย่างยิ่ง

พระพุทธเจ้าท่านสอนให้คัดเลือก หรือให้เลือกเฟ้นบุคคลที่จะควรคบค้าสมาคมก่อนแล้วคบค้าสมาคมไป ท่านให้เลือกเฟ้นเสียก่อน ไม่ให้คบค้าสมาคมแบบสุ่มสี่สุ่มห้า อย่างนั้นใช้ไม่ได้จะทำให้เราเสีย  เรื่องอนาคตของเรายังมีคุณค่ามากยิ่งกว่าที่เป็นอยู่นี้ เราจะปรับปรุงตัวของเราเพื่ออนาคตต้องปรับปรุงหลักปัจจุบันไว้ให้ดี คือปรับปรุงตัวของเราในวันนี้ให้ดี วันพรุ่งนี้ก็ให้เป็นคนดีเช่นเดียวกัน เดือนหน้าปีหน้าตลอดอวสาน เมื่อเราปรับปรุงหลักปัจจุบันคือตัวของเราให้อยู่ในกรอบแห่งเหตุผลและศีลธรรมแล้ว เราจะเป็นคนเจริญรุ่งเรืองมั่นคงและเชื่อตนเองได้ตลอดถึงอนาคต ไม่ปรากฏเป็นความเสียหายเกิดขึ้นในหลักปัจจุบันที่รักษาไว้ด้วยดีนี้ได้เลย


ที่มา : http://www.luangta.com/thamma/thamma_ta ... 78&CatID=2                                                                                       
.......................................................................................

ที่มา http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=7&t=46085

ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้