|
สรรพคุณของมะนาว
ชื่อพื้นเมืองอื่นๆ
ส้มมะนาว (ทั่วไป)
โกรยชะม้า (เขมร-สุรินทร์)
ปะนอเกล มะนอเกละ มะเน้าด์เล (กระเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน)
ปะโหน่งกลยาน (กระเหรี่ยง-กาญจนบุรี)
ลีมานีปีห์ (คาบสมุทรมาเลย์)
หมากฟ้า (ชาน-แม่ฮ่องสอน)
ลักษณะทั่วไปของมะนาว
ลำต้น
มะนาวเป็นไม้ผลยืนต้นขนาดเล็ก มีลักษณะเป็นทรงพุ่ม มีความสูงเฉลี่ย 10-20 ฟุต ลำต้นมีลักษณะโค้งงอไม่ค่อยแข็งแรง เปลือกของลำต้นมีสำน้ำตาลปนเทา กิ่งอ่อนของมะนาวมีสีเขียวอ่อน เมื่อแก่ สีจะเข้มขึ้นจนเป็นสีน้ำตาล ส่วนกิ่งที่แก่มากจะเป็นสีเทา การออกของกิ่งก้านไม่ค่อยเป็นระเบียบ บนลำต้นและกิ่งก้านจะมีหนาม หนามมีลักษณะแหลม มีทั้งหนามสั้นและหนามยาว มีสีเขียวเข้มและสีเขียวอมเหลือง ส่วนบริเวณปลายหนามมีสีน้ำตาล เมื่อแก่ขึ้นหนามจะแห้งตายไป
ใบ
ใบของมะนาวมีลักษณะเป็นใบเดี่ยว คือมีแผ่นใบอันเดียว ใบมีขนาดเล็กกว้างประมาณ 3-6 ซม. ยาวประมาณ 6-12 ซม. รูปร่างเป็นแบบรีหรือทรงไข่ ฐานใบมีลักษณะกลม ปลายใบมีรูปแหลม ป้าน ขอบใบเป็นคลื่น หรือเป็นหยักละเอียด ก้านใบสั้น และมีปีกใบแคบหรืออาจไม่มีปีกใบก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพันธุ์มะนาว ใบอ่อนมีสีเขียวจางเกือบเป็นสีขาว ใบแก่มีสีเขียวเข้ม ผิวใบด้านบนละเอียดเป็นมัน ส่วนผิวใบด้านล่างค่อนข้างหยาบและมีสีจางกว่า เมื่อทำการขยี้ใบจะมีกลิ่นแรง
ดอก
ดอกมะนาวอาจเกิดเป็นดอกเดี่ยวหรือช่อก็ได้ มีทั้งที่เป็นดอกสมบูรณ์และไม่สมบูรณ์ ดอกจะออกบริเวณซอกใบและปลายกิ่ง ดอกมะนาวมีขนาดเล็ก ดอกที่ตูมจะมีขนาดความยาว 1-2 ซม. กลีบเลี้ยงมีสีเขียว ส่วนกลีบดอกมีสีขาว และด้านท้องกลีบดอกอาจมีสีม่วงอมแดงเจืออยู่ด้วย กลีบดอกมีลักษณะเป็นรูปถ้วย มีจำนวน 4-5 อัน จำนวนกลีบในและกลีบนอกมีจำนวนเท่าๆกัน แต่ละกลีบมีขนาด 0.8-1.2 ซม. ดอกมะนาวมีเกสรตัวผู้มากมายถึง 20-40 อัน เชื่อมติดกันเป็นกลุ่ม กลุ่มละ 4-8 อัน เกสรตัวเมียมีรังไข่รูปร่างเป็นทรงกระบอก ใน 1 ดอก จะมีรังไข่ประมาณ 9-12 อัน
ผล
ผลมะนาวมีรูปร่างแตกต่างกันไปตามชนิดของพันธุ์ มีทั้งรูปร่างยาวรี รูปไข่ และรูปร่างกลม ที่ก้นผลมีลักษณะเป็นจุกหรือปุ่มเล็กๆ ผลโดยทั่วไปมีขนาดความยาว 3-12 ซม. เปลือกมีลักษณะขรุขระ และมีต่อมน้ำมันที่เปลือกผิว ผิวเปลือกเมื่อยังอ่อนจะมีสีเขียว เมื่อสุกจะมีสีเหลืองหรือสีทอง ใน 1 ผลจะมีกลีบอยู่ 8-10 กลีบ ในกลีบจะมีถุงน้ำที่มีลักษณะเล็ก หัวท้ายแหลม บรรจุอยู่เป็นจำนวนมาก เนื้อมะนาวมีสีเหลืองอ่อน มีรสเปรี้ยวและมีกลิ่นหอม
ถิ่นกำเนิดและการกระจายพันธุ์ของมะนาว
มะนาวมีถิ่นกำเนิดที่ไหนยังไม่ปรากฎหลักฐานแน่ชัด บางคนกล่าวว่าเป็นพืชพื้นเมืองของอินเดีย และประเทศในเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ แต่บางคนกล่าวว่ามะนาวเป็นพืชพื้นเมืองของหมู่เกาะอินเดียตะวันออก แล้วได้แพร่กระจายพันธุ์เข้าสู่แผ่นดินใหญ่ของทวีปเอเชีย อย่างไรก็ตามมะนาวก็ได้แพร่กระจายพันธุ์ไปยังส่วนต่างๆของโลก โดยเฉพาะในเขตร้อนและกึ่งร้อนอย่างกว้างขวาง และได้มีผู้สันนิษฐานไว้ว่า ชาวอาหรับเป็นผู้นำมะนาวจากอินเดียไปปลูกในปาเลสไตน์ เปอร์เซีย อียิปต์ และยุโรป หลังจากนั้นมะนาวก็ได้แพร่กระจายไปยังหมู่เกาะอินเดียตะวันตกและอเมริกา ตั้งแต่ คริสต์ศตวรรษที่ 16 โดยนักสำรวจชาวสเปนและโปรตุเกสนำไปปลูก
สำหรับประเทศไทยนั้นเชื่อว่าการปลูกมะนาวมีมาก่อนสมัยรัตนโกสินทร์ และได้มีการปลูกติดต่อกันมาเรื่อยๆจนถึงปัจจุบัน ในสมัยก่อนมักมีการปลูกมะนาวไว้ในสวนหลังบ้าน เพื่อนำผลมาใช้ประกอบอาหารในครัวเรือนเท่านั้น โดยจะปลูกกันเกือบทุกครอบครัว แต่ยังไม่มีใครคิดจะปลูกมะนาวเป็นการค้าอย่างจริงจัง ต่อมาบ้านเมืองเจริญขึ้น ทำให้พื้นที่ทำการเกษตรมีน้อยลง เนื่องจากนำพื้นที่ไปใช้ในอุตสาหกรรม และด้านอื่นๆ ประกอบกับจำนวนพลเมืองที่เพิ่มมากขึ้น จึงทำให้ความต้องการมะนาวไปใช้ประกอบอาหารในครัวเรือน และใช้มะนาวในอตสาหกรรมต่างๆมีมากขึ้นเป็นเงาตามตัว ดังนั้นจึงมีผู้หันมาปลูกมะนาวในเชิงการค้า โดยใช้พื้นที่ปลูกมากๆ มีการปฏิบัติดูแลรักษาที่ถูกต้อง มีการปรับปรุงระบบการปลูก และวิธีเพิ่มผลผลิตต่อพื้นที่ให้ได้มากที่สุด ซึ่งในประเทศไทยมีแหล่งปลูกที่สำคัญๆ ได้แก่ จังหวัดเพชรบุรี อยุธยา ราชบุรี และนครปฐม
ประโยชน์ของมะนาว
มะนาวเป็นผลไม้พื้นๆที่ใช้บริโภคกันในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว แต่มีน้อยคนนักที่จะรู้ว่ามะนาวลูกเล็กๆนั้น มีประโยชน์ในการรักษาโรคต่างๆได้มากมายหลายโรคด้วยกัน ไม่เพียงแต่คนไทยเท่านั้นที่ใช้มะนาวรักษาโรค ประเทศเพื่อนบ้านของเรา เช่น มาเลเซีย จีน และอินเดีย เขาก็ใช้มะนาวกัน ประเทศเพื่อนบ้านที่ไกลออกไป เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส และประเทศแถบอเมริกาตะวันตกก็ใช้มะนาวแก้ไอและรักษาโรคอื่นๆเช่นเดียวกัน ประโยชน์ของมะนาวในแง่การนำมาใช้เป็นสมุนไพร มีดังนี้
1. แก้ไอออกเลือด (ไอมีเลือดปน)
- ใช้น้ำผึ้ง 1 ช้อนชา มะนาว 4 ลูก เกลือ 1 ช้อน หรือประมาณ 3-4 เม็ด ผสมให้เข้ากันดี ให้มีรสเปรี้ยวเค็มหวาน ใช้จิบทุกครั้งที่ไอ
-.ใช้มะนาว 108 ใบ เบี้ยจั๊กจั่น 11 ตัว ปูนขาวหนักประมาณ 4 บาท
วิธีทำ คั้นน้ำมะนาว ใส่เบี้ยจั๊กจั่นและปูนขาวปนกัน ดองประมาณ 3 คืน รับประทานครั้งละจอกชา แก้ไอออกเลือดดี
2. ต่อมทอนซิลอักเสบ
- เอาน้ำมะนาว น้ำผึ้งและปูนขาวผสมดื่ม แก้ทอนซิลอักเสบ
3.แก้ซาง,ตุ่มในคอเด็ก,เสมหะ
- เมล็ดมะนาวขับเสมหะแก้โรคซางของเด็ก แก้เม็ดยอดในปากโดยเอาเม็ดมะนาวเผาไฟ บดให้ละเอียด ใช้น้ำมะนาวหรือรากของมะนาวฝนกันน้ำเป็นกระสาย ผสมเข้าด้วยกัน แล้วกวาดซางเด็ก
- ให้เอาน้ำมะนาว 1 ช้อนชา แล้วเอารากมะนาวฝนให้ข้นดี แล้วจึงเอาไปล้วงคอเด็กสัก 2-3 ครั้งก็หาย
- ใช้เม็ดมะนาวเคี้ยวกิน ขับเสมหะ ใช้ติดต่อกัน 7 วัน ได้ผลดี
4. แก้เสียงแหบแห้ง
- มะนาวทำให้เสียงไม่แหบแห้ง ตื่นตอนตอนเช้าทุกครั้งให้ผ่ามะนาวครึ่งหนึ่ง จิ้มเกลือบีบน้ำลงคอกลืนกิน ทำทุกเช้าทุกวัน ทำให้เสียงไม่แหบแห้ง
5. ก้างติดคอ
- เมื่อก้างปลาติดคอ เอามะนาว 1 ลูกคั้น เอาแต่น้ำ เติมเกลือ น้ำตาลนิดหน่อยกรอกลงไปให้ตรงก้างที่ติดคอ อมไว้สักครู่ แล้วจึงค่อยกลืน ก้างจะอ่อนตัวหลุดลงไปในกระเพาะ
- ก้างปลาติดคอซึ่งเป็นชิ้นเล็กๆ เมื่อกลืนน้ำลายจะทำให้รำคาญเท่านั้น ให้ผ่ามะนาวแล้วนำมาอมไว้ในปาก อมจนรู้สึกรสเปรี้ยวของมะนาวเจือจางสัก 2-3 หน จะทำให้ก้างหลุดออกไปได้
6. แก้ไข้
- นำใบมะนาวมาหั่นฝอยๆ ชงด้วยน้ำเดือด ดื่มแบบน้ำชาจะช่วยลดไข้และใช้อมกลั้วคอฆ่าเชื้อโรคได้อีกด้วย
- ประเทศในทวีปอาฟริกาตะวันตกนิยมใช้เปลือกรากมะนาวต้มเป็นยาแก้ไข้อย่างดี และใช้ใบทำเป็นยาชงกินแก้ไข้ที่มีอาการตัวเหลืองเล็กน้อย นอกจากนี้ยังใช้น้ำมะนาวดื่มแก้กระหายน้ำ แก้ไข้อีกด้วย
- ที่ประเทศอินเดีย ถ้าเป็นไข้หวัดใหญ่ นิยมรักษาโดยดื่มน้ำมะนาวแล้วพักผ่อน ถ้าเป็นไข้หวัดธรรมดา จะรับประทานผลอินทผลัมและดื่มน้ำมะนาวรักษา
7. แก้ไข้ทับระดู
- เอาใบมะนาว 100 ใบ มาต้มกินแล้วหาย
8. แก้ปวดศีรษะ
- เอามะนาวมาฝานเป็นซีกบางๆ แล้วเอาปูนที่กินกับหมาก ละเลงด้านหน้าของซีกมะนาวนั้นบางๆ แล้วปิดตรงขมับ ทำอยู่ประมาณ 2 อาทิตย์ อาการปวดก็ค่อยหายดีขึ้นทุกวัน
- ใช้น้ำมะนาวผสมกับน้ำตาลสัก 1 แก้ว ดื่มตอนเช้า ช่วยให้หายจากโรควิงเวียนและปวดหัว
- ชาวมาเลเซีย ใช้ใบมะนาวผสมกับน้ำมะนาว บดทำเป็นยาใส่ผมแก้ปวดศีรษะ
- ประเทศในทวีปอาฟริกาตะวันตก ใช้ใบมะนาวตำให้ละเอียดถูศีรษะหรือเคี้ยวรากมะนาวแก้ปวดศีรษะ
|
|