|
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย Sornpraram เมื่อ 2014-7-28 09:15
จองถนน ในรามเกียรติ์
มติชนรายวัน ฉบับประจำวันพฤหัสบดีที่ 8 พฤศจิกายน 2555
พระรามจองถนน
ฝ่ายพระรามคิดจะปราบเหล่ายักษ์ให้เสร็จสิ้นไปโดยเร็ว ชามพูวราช ได้ทูลว่า การที่พระรามจะข้ามไปลงกาด้วยฤทธิ์อำนาจที่เหล่าทหารขันอาสานั้นย่อมทำได้ แต่จะทำให้เสียพระเกียรติยศ ควรจะให้ไพร่พลนำเอาหินไปทิ้งเพื่อสร้างถนนในมหาสมุทร พระรามจึงสั่งให้สุครีพพาไพร่พลไปเร่งสร้างถนน โดยให้นิลพัทควบคุมไพร่พลเมืองชมพู หนุมานควบคุมไพร่พลเมืองขีดขิน นิลพัทนั้นแค้นหนุมานมาแต่เดิมแล้ว ได้โอกาสล้างแค้นจึงแสดงฤทธิ์ เอาเท้าคีบเขาหิมวันต์ สองมือชูเขาคิรินทร เหาะมาแล้วบอกให้หนุมานคอยรับ
นิลพัทจึงทิ้งภูเขาลงมาทั้งสองลูกหวังให้ถูกหนุมาน แต่หนุมานรับไว้ได้ จึงคิดแก้ลำบ้าง โดยไปหักยอดเขา และนำหินก้อนมหึมาผูกตามขน แล้วให้นิลพัทรับบ้าง นิลพัทเห็นจึงขอให้หนุมานโยนมาทีละก้อน หนุมานว่า ทีนิลพัทแกล้งทิ้งมาพร้อมกันหวังให้ตาย แล้วทิ้งหินทั้งหมดลง นิลพัทใช้มือและเท้ารับไว้ได้ หนุมานหาว่านิลพัทสบประมาทตน และได้ท้าวความถึงท้าวชมพูที่มีฤทธิ์มาก ตนยังจับมาได้ นับประสาอะไรกับนิลพัท
นิลพัทโกรธท้าหนุมานต่อสู้ดังกึกก้อง พระรามได้ยินคิดว่าเหล่าลิงรบกับยักษ์ ให้พระลักษมณ์ไปดู แล้วจึงพาสุครีพ หนุมาน และนิลพัท เฝ้าพระราม พระรามโกรธ สุครีพจึงทูลแก่พระรามว่า ควรจะแยกทั้งคู่ให้ห่างกัน โดยให้หนุมานอยู่กับพระราม ส่วนนิลพัทให้กลับไปช่วยท้าวชมพูดูแลเมืองขีดขิน ทำหน้าที่ส่งเสบียงให้กองทัพเดือนละครั้ง ถ้าขาดราชการจะประหารเสีย ฝ่ายพระรามได้สั่งให้หนุมานจองถนนไปกรุงลงกาเสร็จภายในเจ็ดวัน หากไม่เสร็จจะประหารชีวิต
เมืองลงกาของทศกัณฐ์เป็นเกาะ (ที่จินตนาการจากโลกจริงคือ ศรีลังกา) มีทะเลล้อมรอบ
กรุงศรีอยุธยามีแม่น้ำล้อมรอบ จึงเปรียบเหมือนกรุงลงกาของทศกัณฐ์ ดังพระราชนิพนธ์เพลงยาวนิราศของกรมพระราชวังบวรฯ ตอนหนึ่งว่า
บริเวณอื้ออลด้วยชลธี ประดุจเกาะอสุรีลงกา
จองถนน ในรามเกียรติ์ หมายถึง ระดมพลทำถนน, สร้างถนน, ตัดถนน (คำว่า จอง มีหลายความหมาย เช่น กำหนดเอาไว้, หมายเอาไว้, ผูก, ฯลฯ)
พระรามโปรดให้กองทัพวานรระดมขนหินถมทะเลทำถนนข้ามมหาสมุทรไปเกาะลงกา ดังกลอนพระราชนิพนธ์ ร.1 ว่า
“ขนศิลาถมท้องสมุทรไท จองถนนข้ามไปเมืองมาร”
เมื่อถนนข้ามทะเลสมุทรไปเกาะเมืองลงกาสำเร็จแล้ว เป็นที่รับรู้ทั่วไปมีในเอกสารไทยเรียกว่า ถนนพระราม แต่แผนที่โลกเรียกถนนเป็นสะพานด้วยชื่อตำนานฝรั่งว่า Adam’s Bridge หมายถึงอะไร? ไม่ทราบ
ไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไร แต่ในทางภูมิประเทศจริงๆคือแนวหินธรรมชาติซึ่งเคยเชื่อมต่อระหว่างปลายแหลมอินเดียใต้กับศรีลังกา ปัจจุบันยังมีแนวให้เห็นเด่นชัด แต่ผู้แต่งรามายณะ(ไทยเรียกรามเกียรติ์) จินตนาการเป็นถนนพระราม แล้วผูกเรื่องขึ้นมา ดังเป็นที่รู้ทั่วกัน
สมณทูตสยามที่ ร.2 โปรดให้ส่งไปสืบพระศาสนาถึงลังกา ได้อาศัยเรือค้าช้างจากเมืองตรังข้ามทะเลอันดามันผ่านเกาะนาควารี(นิโคบาร์)ไปขึ้นฝั่งที่อินเดียใต้ แล้วจาริกเดินบกลงไปทางทิศใต้ถึงเมืองราเมศวรัม ผ่านบริเวณถนนพระราม (แต่มองไม่เห็น) ไปขึ้นเกาะลังกา
มีจดหมายเหตุตอนหนึ่งจดว่า เมื่อคณะสงฆ์ลงเรือถ่อข้ามสมุทรจะไปขึ้นฝั่งเกาะลังกา
“กลับหลังมาแลดูถนนพระรามหาเห็นไม่”
(เรื่องประดิษฐานพระสงฆ์สยามวงศ์ในลังกาทวีป พระนิพนธ์ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2546 หน้า 394)
สุนทรภู่จะเคยเดินทางผ่านถนนพระรามร่วมไปในคณะสงฆ์สมัย ร.2 หรือไม่? ไม่ทราบ แต่ในพระอภัยมณีพาดพิงถึงถนนพระรามบ่อยครั้งอย่างคุ้นเคย เช่น
อุศเรนเตรียมทัพจะยกไปตีเมืองผลึก มีกลอนว่า
แล้วเดินบกยกมาลงท่าข้าม ถนนพระรามเรือแพแซ่สลอน
ยั้งหยุดจัดหัดทหารให้รานรอน ข่าวขจรทั่วทั้งเกาะลังกา
ต่อจากนั้นอุศเรนยกทัพจากถนนพระรามข้ามฟากทะเลอันดามันไปฝั่งตรงข้ามเป็นเมืองผลึก (เมืองถลาง เกาะภูเก็ต) มีกลอนว่า
ฝ่ายลังกาฝรั่งอยู่หลังถนน พอพักพลฝึกทหารชาญสนาม
ออกจากฝั่งวังวนถนนพระราม แล้วยกข้ามฟากมาสิบห้าคืน
ถึงเขตคุ้งกรุงผลึกนึกประหลาด ไม่เห็นลาดตระเวนแขวงมาแข็งขืน
เข้าปากน้ำสำคัญให้ลั่นปืน เสียงปึงปังดังครืนทั้งธรณี
พระรามจองถนน แล้วได้ถนนพระรามข้ามทะเลสมุทรจากปลายแหลมแผ่นดินใหญ่ไปเกาะเมืองลงกา คงเป็นความรู้ที่กระฎุมพียุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ร่วมสมัยสุนทรภู่รู้กันทั่วไป แต่รู้แบบไหน?
ไม่มีใครรู้จนบัดนี้
|
|